วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เราเป็นประตูคอกแกะ

 

เราเป็นประตูคอกแกะ

จันทร์

สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา

กจ 11:1-8

ยน 10:1-10

ภาพพจน์เรื่องนายชุมพาและฝูงแกะ เป็นภาพพจน์ที่รู้จักแพร่หลายในพระคัมภีร์ ชาวยิวมองว่า พระเจ้าคือนายชุมพาที่ทรงเลี้ยงดูพวกเขาดุจลูกแกะ (สดด 23) ในเวลาต่อมาคำว่า นายชุมพา หรือ ผู้เลี้ยงแกะ ได้ใช้หมายถึงผู้นำชาวยิวซึ่งเป็นตัวแทนของพระเจ้าในโลก แต่ไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ในพันธสัญญาใหม่พระเยซูเจ้าทรงเรียกผู้ติดตามและฟังพระองค์ว่า ฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง (มก 6:34) และได้เปิดเผยว่าพระองค์เป็น ผู้เลี้ยงแกะที่ดี (ยน 10:11)

พระวรสารวันนี้พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นทั้ง ผู้เลี้ยงแกะ และ ประตูคอกแกะ การเป็นผู้เลี้ยงแกะแสดงถึงความเป็นเจ้าของแกะที่ต่างจากคนรับจ้างทั่วไป ทรงรู้จักแกะแต่ละตัวและเรียกชื่อได้ถูกต้อง แกะเหล่านั้นจำเสียงของพระองค์ได้ ประการสำคัญ พระองค์ทรงยอมตายเพื่อฝูงแกะ

การเป็น ประตูคอกแกะ แสดงถึงความเป็นผู้นำของพระเยซูเจ้าที่นำฝูงแกะไปหาพระบิดาเจ้า และทรงปกป้องคุ้มครองแกะให้ปลอดภัย ผู้ที่ไม่เข้าคอกแกะทางประตู แต่ปีนเข้าทางอื่น ก็เป็นขโมยและโจร (ยน 10:1) ได้แก่ บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี เพราะพวกเขาเป็นผู้นำทางตาบอดและไม่ยอมฟังเสียงของพระเจ้า

พระเยซูเจ้าทรงย้ำว่า เราเป็นประตูคอกแกะ (ยน 10:7) ประตู หมายถึงความรอด ทุกคนที่มาก่อนหน้าเราเป็นขโมยและโจร ทรงหมายถึงบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี เราเป็นประตู ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น (ยน 10:9) นั่นหมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนทางที่นำไปสู่ชีวิตสมบูรณ์ครบครัน ทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ และทรงเชื้อเชิญเราให้เดินตรงไปยังพระองค์ ผ่านทางพระองค์เราได้รับการช่วยให้รอด

เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องเป็นแกะที่ดีในฝูงแกะของพระเยซูเจ้า ด้วยการฟังเสียงผู้เลี้ยงของเรา ได้แก่ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เจ้าอาวาส หรือพระสังฆราชของเรา ศิษย์พระคริสต์ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและร่วมมือกับผู้เลี้ยงซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้ดูแล ทำหน้าที่ของตนซึ่งได้รับมอบหมายด้วยความรับผิดชอบ และฟังเสียงของท่าน ไม่หลงไปตามเสียงอื่นที่ชักนำเราให้หลงไป

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

https://dondaniele.blogspot.com/

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
8 พฤษภาคม 2022

ที่มาภาพ : https://branham.org/branham/articles/12182019_DidYouKnowTheSheepfold

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น