วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

กิจการสำคัญกว่าคำพูด

สัปดาห์ที่ 9 เทศกาลธรรมดา ปี A
ฉธบ 11:18, 26-28
รม 3:21-25, 28
มธ 7:21-27

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตนานมาแล้วพระสันตะปาปาองค์หนึ่งทรงประชวร คณะแพทย์แนะนำพระองค์ให้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและพระองค์ทรงตอบรับ เลขานุการของพระองค์จึงประกาศข่าวนี้ให้ผู้ชุมนุมที่มาฟังข่าวการประชวรของพระองค์ และขออาสาสมัครชายที่ต้องการบริจาคหัวใจของตนให้แก่พระสันตะปาปา มีชายที่อยู่ในลานมหาวิหารนักบุญเปโตรหลายร้อยคนยกมือขึ้น

เมื่อเห็นว่าผู้อาสาบริจาคหัวใจมีเป็นจำนวนมาก เลขานุการจึงขอให้ผู้อาสาทุกคนมายืนรวมกลุ่มกันใต้ระเบียง เพื่อจะได้ปล่อยขนนกพิราบหนึ่งก้านให้ให้ลอยลงมา ถ้าขนนกนี้ตกลงที่อาสาสมัครท่านใด ให้ถือว่าพระสันตะปาปาได้เลือกหัวใจของชายคนนั้นให้คณะแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้พระองค์ กล่าวเสร็จก็ปล่อย ขนนกพิราบให้ลอยลงไปท่ามกลางกลุ่มอาสาสมัครเหล่านั้น

ขนนกค่อยๆ หมุนลอยต่ำลง พอลอยต่ำใกล้ศีรษะ ปรากฏว่าอาสาสมัครกลุ่มนั้นได้เป่าขนนกลอยสูงขึ้นไปให้พ้นจากตัวเอง และเปลี่ยนทิศทางไปยังคนอื่น เมื่อขนนกลอยต่ำลงใกล้ถึงตนเองที่ไร ทุกคนต่างทำแบบเดียวกัน รีบเป่าลมอย่างแรงให้ขนนกลอยไปที่อื่น จนขนนกลอยไปตกลงบนพื้นลานมหาวิหารนักบุญเปโตร (เสียดายที่นักบุญเปโตรอยู่บนสวรรค์กับพระบิดาแล้ว จึงไม่สามารถมอบหัวใจของตนให้พระสันตะปาปาได้)

ความตั้งใจดีของมนุษย์จะได้รับการพิสูจน์ถึงแก่นแท้ว่าดีจริงไหม เมื่อถึงเวลาที่ต้องกระทำตามที่ตั้งใจไว้ว่าสามารถทำได้ตามที่พูดไหม เราจึงมักจะได้ยินสำนวนไทยที่ว่า “กิจการดังกว่าคำพูด” ต่อให้ความคิด หลักคำสอน หรือนโยบายดีแค่ไหน หากไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ก็จะเป็นแต่เพียงลมปากที่เลื่อนลอย การโฆษณาชวนเชื่อ หรือคำพูดที่สวยหรู แต่ไม่มีประโยชน์ใดๆ

1. กิจการสำคัญกว่าคำพูด

ในพระวรสารอาทิตย์นี้ เป็นตอนสุดท้ายของคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงท้าทายและให้ข้อคิดแก่ผู้ฟังและเราซึ่งเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ ทรงเชื้อเชิญเราให้นำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติ เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น นักบุญมัทธิวได้นำเสนอหลักคิดที่สำคัญของพระเยซูเจ้าเป็นเชิงคำถาม ความเชื่อที่ไม่มีกิจการจะเป็นความเชื่อที่แท้จริงได้หรือไม่ นักบุญเปาโลได้ลงท้ายจดหมายในลักษณะเดียวกัน โดยเรียกร้องให้คริสตชนประพฤติตนให้สอดคล้องกับหลักศีลธรรมและความเชื่อ

พระเยซูเจ้าตรัสอย่างชัดเจนว่า “คนที่กล่าวแก่เราว่า พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า นั้นมิใช่ทุกคนจะได้เข้าอาณาจักรสวรรค์” (มธ 7:21) พระเยซูเจ้าทรงตำหนิคนหน้าไหว้หลังหลอก คนเทียมใจบุญที่เสแสร้งมาวัด สวดภาวนา และปฏิบัติศาสนกิจเหมือนเป็นคนศรัทธา แต่การกระทำของเขาไม่สอดคล้องกับคำพูด เข้าทำนอง “ทำบุญเอาหน้า ภาวนากันตาย” หรือ “เฮ็ดให้มันคือบ้านคือเมือง” (ทำให้เหมือนคนอื่น)

พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้ “คำพูด” กับ “การกระทำ” นั่นคือ ความเชื่อที่เราประกาศทุกอาทิตย์กับการปฏิบัติในชีวิตจริงของเราสอดคล้องกัน “แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้” ดังนั้น การมาวัดทุกวันอาทิตย์จึงยังไม่พอ หากเรากลับไปแล้วยังนินทาว่าร้าย ทะเลาะเบาะแว้ง เห็นแก่ตัว คดโกง โลภหรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระเยซูเจ้าทรงย้ำ “การกระทำ” ถึง 11 ครั้งในตอนท้ายของคำเทศนาบนภูเขา (มธ 7:21-27) ทรงเชื้อเชิญให้เราปลูกฝังความเชื่อในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในหมู่คณะ ในแวดวงธุรกิจ สังคม และการเมือง ในการปฏิบัติตาม “พระประสงค์ของพระบิดาของเรา” เหมือนอย่างพระองค์ที่นอบน้อมเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34)

พระเยซูเจ้าทรงหลอมรวมน้ำใจของพระองค์ให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระบิดา และปฏิบัติทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระบิดา “เรามิได้แสวงหาที่จะทำตามใจของเรา แต่ทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 5:30) พระองค์ต้องการให้เราเจริญชีวิตตามพระประสงค์ของพระบิดาเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนอย่างชาวโลก ที่เป็นสังคมแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”, “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือการทำตามอย่างคนอื่น เราคงได้ยินคำกล่าวในลักษณะที่ว่า “คนทั่วไปทำอย่างนี้กันทั้งนั้น เราทำบ้างคงไม่เป็นไร” ซึ่งเป็นค่านิยมที่อันตรายและขัดแย้งกับคุณค่าพระวรสาร

เราอาจมาวัดทุกอาทิตย์ไม่เคยขาด ฟังพระวาจาของพระองค์ทุกวัน นั่นไม่ได้หมายความว่า เราอยู่บนหนทางของความครบครัน การฟังและการตอบสนองต่อพระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็นคนละอย่างกัน สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องจากเรานั้นธรรมดามาก นั่นคือ พระองค์ต้องการให้เราเป็น “ผู้กระทำ” มากกว่าการเป็น “ผู้ฟัง” เฉยๆ หากเราได้ยินแล้วไม่ปฏิบัติตามก็เหมือนการสร้างบ้านบนทราย ซึ่งจะพังทลายทันทีเมื่อเจอลมกล้าและพายุฝน

พระเยซูเจ้าต้องการให้เราเป็นคนหนักแน่น วางรากฐานของชีวิตบนหินโดยการฟังพระวาจาและนำมาปฏิบัติ การเชื่อฟังพระเยซูเจ้าและปฏิบัติตามพระวาจาของพระองค์มีความหมายอย่างไรสำหรับเรา เพื่อจะสามารถสร้างชีวิตที่มั่นคงบนหิน มีเงื่อนไขที่สำคัญดังนี้ ประการแรก เราต้องวางใจในทุกสิ่งที่พระเจ้าตรัส และยึดมั่นในคำสอนของพระองค์ ประการที่สอง เราต้องมีความกล้า เพราะมนุษย์มีอิสระที่จะปฏิบัติตามพระวาจาของพระองค์ด้วยความกล้าแข็ง ต้องสร้างบ้านฝ่ายจิตบนหินเพื่อจะสู้กับลมกล้าและพายุได้

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราแปลเปลี่ยนความรู้เป็นกิจการ นำพระวาจาของพระองค์ไปปฏิบัติในชีวิตจริง ความรู้ทางศาสนาจะต้องกลายเป็นชีวิตของเรา ผู้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ไม่เพียงเป็น “ผู้ฟัง” “ผู้รู้” เกี่ยวกับพระวาจา แต่จะต้องเป็น “ผู้ปฏิบัติ” ตามพระวาจาในชีวิตประจำวัน นั่นคือ การรำพึงตามพระวาจา นำพระวาจามาสู่ใจ แล้วไตร่ตรองหาวิธีประยุกต์ใช้ในชีวิต

“สิ่งสำคัญคือการเป็นคนสุภาพ มากกว่าการรู้คำจำกัดความของความสุภาพ” (It’s more important to be humble than it is to know the definition of humility: Thomas A. Kempis) เช่นเดียวกับเมื่อเราได้ยินพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกันเหมือนอย่างที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) เราต้องนำพระวาจานี้มาพิจารณาไตร่ตรอง และหาวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ในการรักเพื่อนพี่น้องเหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา นี่แหละจะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า ความหมาย และความสุขที่แท้จริง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
4 มีนาคม 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น