วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 38

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 38, วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา

ในพิธีกรรมวันนี้ เราจะได้เห็นถึงคุณค่าที่คริสตชนควรยึดเป็นแนวทางในการเจริญชีวิต และเป็นสิ่งที่ท้าทายชีวิตคริสตชนในปัจจุบันอย่างมาก ในอันที่จะทำให้เราได้พบความสุข ความหวัง ความชื่นชมยินดี และสันติสุขที่แท้จริง ให้เราได้หยุดสักครู่เพื่อพิจารณาถึงคุณค่าที่พระเยซูเจ้าพูดถึงในคำเทศนาบนภูเขาในพระวรสารวันนี้

“บุญลาภ” คือคุณค่าที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเรา ซึ่งต่างไปจากค่านิยมของสังคมที่เราอาศัยอยู่ พระเยซูเจ้าต้องการให้เราได้ยึดพระเจ้าเป็นอันดับแรกในชีวิต พระองค์ทรงเป็นผู้ที่สามารถให้หลักประกันความสุข ความหวัง ความชื่นชมยินดีและสันติสุขแท้จริงที่ใจเราแสวงหา ซึ่งโลกหรือสิ่งที่เราเป็นเจ้าของไม่สามารถตอบสนองได้
การประชุมกลุ่มโฟโกลาเรชาย ของวัดนาบัว 25 มกราคม 2011

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกเศฟันยาห์ 2:3;3:12-13

พูดถึงรูปแบบชีวิตของผู้ที่เดินในหนทางของพระเจ้า เราต้องแสวงหาพระเจ้าด้วยความจริงใจ เพราะพระองค์ทรงพอพระทัยคนที่มีใจสุภาพและจะทรงลงโทษคนหยิ่งยโสที่ภูมิใจในตนเอง ดังนั้น จึงควรแสวงหาความชอบธรรมและความถ่อมตน หากเรารับใช้พระเจ้าเราจะพบกับสันติและความสุขที่เราปรารถนา

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์ฉบับที่ 1  1:26-31

นักบุญเปาโลได้แสดงให้เราเห็นว่า พระเจ้าไม่ได้เลือกคนที่ชาญฉลาด มีอำนาจบารมี หรือมีชาติตระกูล แต่พระองค์ทรงเลือกคนยากจน คนอ่อนแอและต่ำต้อย เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้อาศัยพระองค์ทรงช่วยเหลือ ดังนั้น เราจึงไม่ควรภูมิใจในความสามารถที่เรามี หรือเสียใจในความอ่อนแอของตน แต่เราควรดีใจที่พระเจ้าทรงเหลือกเราอย่างที่เราเป็น

พระวรสาร: นักบุญมัธทิว 5:1-12

ในพระวรสารได้นำเสนอคุณค่าที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและเจริญชีวิต พระองค์ทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์เดินในเส้นทางแห่งความต่ำต้อย ความเมตตากรุณา และการให้อภัย คำเทศนาบนภูเขาเรื่อง “บุญลาภ” จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายใหญ่หลวงและเป็นคำสัญญาที่จะประทานรางวัลยิ่งใหญ่ สำหรับผู้เจริญชีวิตตามคำสอนของพระองค์ นั่นคือ บุญลาภ ความสุขที่แท้จริง
พิธีศีลสมรสระหว่าง เกรโกรีพิพัฒน์ จิตรักษ์กับมารีอาจิราวรรณ พลเสน (29 ม.ค. 2011)
เจ้าบ่าวจากบ้านรุ่งพนาไพร ส่วนเจ้าสาวจากนาบัว (บุตรีของ สมาน-เทิดนารี พลเสน)

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 5 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 6

2) ขอความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ช่วยบอกลูกหลานให้มาวัดเรียนคำสอน เป็นต้นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ที่จะรับศีลมหาสนิทครั้งแรก และนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ที่จะรับศีลกำลัง
โดยมีคุณพ่อสุรพงศ์ นาแว่น เป็นประธานในพิธีร่วมกับคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ

3) ประกาศศีลสมรส ระหว่างนายพิพัฒน์ จิตรักษ์ อายุ 22 ปี บุตรนายสด คณาทิพย์-นางสุลักคณา เมเนอร์ จากบ้านรุ่งพนาไพร กับนางสาวมารีอา จิราวรรณ พลเสน บุตรีนายสมาน-นางเทิดนารี พลเสน จากวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ประกาศครั้งที่ 3

4) ฉลองวัดในอาทิตย์นี้: วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ วัดแม่พระถวายพระกุมารในพระวิหาร จันทร์เพ็ญ มิสซาเวลา 10.00 น.

5) เงินทานวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม ได้ 2,852.- บาท, รับเงินต้นมิสซาแต่งงาน เกรโกรีพิทักษ์ จิตรักษ์ กับ มารีอาจิราวรรณ พลเสน (29 ม.ค.) 1,000.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 340.- บาท

บัญชีรายรับ-รายจ่ายฉลองวัด 22 มกราคม 2011

รายรับ
1) รับเงินบริจาคซื้อดอกไม้จากเจ้ต่อม รัตนาภรณ์ พิมพการ                 3,000.- บาท
2) รับเงินทาน มิสซาเอกวาร                                                                  1,620.- บาท
3) รับเงินทานวันฉลอง                                                                         50,834.- บาท
4) รับเงินผ้าป่า สายป้าพรเพชร หาวงศ์                                                43,269.- บาท
5) รับเงินผ้าป่า สายครูนริศรา นารินรักษ์                                             12,000.- บาท
6) รับเงินผ้าป่า สายกรุงเทพฯ ผ่าน น.ส.กิรตรา ยอดคำอ่อน                 4,320.- บาท
7) รับเงินค่าสนามจากแม่ค้า                                                                     860.- บาท
8) รับเงินบาตรสวรรค์                                                                             3,936.- บาท
9) รับเงินขายข้าว บุญกองข้าว                                                             60,950.- บาท
10) รับเงินขายดอกไม้                                                                            4,040.- บาท
11) รับเงินต้นจากคุ้มต่างๆ                                                                   17,366.- บาท
12) รับเงินชุมนุมสงฆ์ จาก อ.บ.ต. หนองแวงใต้                                  10,000.- บาท
ยอดรวมรายรับ                                            212,195.- บาท

รายจ่าย
1) จ่ายให้นายเจริญ จันทร์สุนีย์ ซื้อสายไมค์และแจ๊ค                            2,000.- บาท
2) จ่ายให้นายเจริญ จันทร์สุนีย์ ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและเช่าหม้อแปรง     7,575.- บาท
3) จ่ายให้นายสำนวน บัวขันธ์ เตรียมงาน                                            10,000.- บาท
4) จ่ายให้นายสำนวน บัวขันธ์ ค่าอาหาร                                             33,113.- บาท
5) จ่ายค่าพิมพ์และถ่ายเอกสารบทเพลงฉลองวัด                                 1,050.- บาท
6) จ่ายให้ครูละม่อม แพงยอด ซื้อดอกไม้สดและดอกไม้กลัดอก          5,250.- บาท
7) จ่ายให้นายเจริญ จันทร์สุนีย์ ซื้อเครื่องดื่ม                                        7,400.- บาท
8) จ่ายให้ครูละม่อม แพงยอด ค่าเช่าชุดการแสดง                               4,300.- บาท
9) จ่ายค่ารางวัลการแสดง                                                                     1,000.- บาท
ยอดรวมรายจ่าย                                           72,888.- บาท

รายรับสูงกว่ารายจ่าย                                139,307.- บาท


วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

บุญลาภ ความสุขที่แท้จริง

บุญลาภ ความสุขที่แท้จริง
สัปดาห์ที่ 4
เทศกาลธรรมดา
ปี A
ศฟย 2:3;3:12-13
1 คร 1:26-31
มธ 5:1-12
บทนำ
ในการสัมมนาพระสังฆราชที่กรุงโรมครั้งหนึ่ง พระสังฆราชองค์หนึ่งจากลัตเวีย ประเทศเล็กๆ ในคาบสมุทรบอลติกทางตอนเหนือของทวีปยุโรปที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระศาสนจักรในลัตเวียขณะอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ ซึ่งปฎิเสธศาสนา ห้ามปฏิบัติศาสนกิจ ห้ามทำมิสซา ห้ามภาวนา ห้ามมีพระคัมภีร์ วัดวาอารามถูกทำลายหรือถูกยึด พระคัมภีร์ถูกเผาทิ้ง
ดังนั้น คริสตชนในลัตเวียจึงแก้ปัญหาด้วยการท่องจำพระคัมภีร์ โดยนำบทสดุดีมาร้องเป็นทำนองทำให้จดจำได้ง่ายขึ้น พระศาสนจักรต้องหลบลงใต้ดิน อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ พระคัมภีร์ถือเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งและเก็บรักษาไว้อย่างดี มิสซาต้องแอบทำตามบ้านและถือเป็นความลับสุดยอดเพื่อไม่ให้ตำรวจรู้  ต้องเปลี่ยนเวลาและสถานที่อยู่เสมอ สามี-ภรรยาต้องผลัดเปลี่ยนกันไปร่วมพิธีมิสซาคนละอาทิตย์ เพื่อว่าหากคนหนึ่งถูกจับจะได้มีคนดูแลลูก เพราะหากถูกจับได้จะถูกขังคุกทันทีหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีการขึ้นศาลเพราะคำสั่งของตำรวจถือเป็นคำสั่งของศาลฎีกา
หากเป็นพระสงฆ์จะถูกคุมขังนานหลายปี วันหนึ่งคุณพ่อวิกเตอร์ถูกจับขณะถวายมิสซาและกำลังอ่านพระวรสาร ท่านถูกทำร้ายและส่งตัวไปยังค่ายกักกันที่ไซบีเรียเป็นเวลา 10 ปี ชีวิตในค่ายกักกันโหดร้ายทารุณมากอากาศหนาวจัดบางคนตายก่อนครบกำหนด ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในค่ายกักกันคุณพ่อได้เฝ้าภาวนาวอนขอพระเจ้าให้สามารถสู้ทนและกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้ง เพื่อถวายมิสซาและอ่านพระวรสารตอนเดิมที่ท่านยังอ่านไม่จบ 
ที่สุด คุณพ่อวิกเตอร์ได้กลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้ง สัตบุรุษเมื่อทราบข่าวได้มารวมตัวกัน ท่านได้ถวายมิสซาและอ่านพระวรสารตอนนั้นอีกครั้ง เป็นพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญมัทธิวเรื่องบุญลาภที่เราได้ฟังในวันนี้ ท่านได้อ่านไปถึงตอนที่ว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรพระเจ้า” ท่านหยุดและบอกกับทุกคนว่าครั้งที่แล้วพ่ออ่านถึงตรงนี้ จากนั้นได้อ่านตอนต่อไปที่ว่า “ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” เมื่อท่านอ่านจบชูพระวรสารขึ้นและบอกว่า “นี่คือพระวาจาของพระเจ้า” ทุกคนที่มาร่วมมิสซาวันนั้นกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะสำนึกว่าเป็นพระวาจาของพระเจ้า ที่ช่วยพวกเขาให้สามารถสู้ทนกับการเบียดเบียนมาได้ตลอดเวลาหลายปี

1.         บุญลาภ ความสุขที่แท้จริง
ในพระวรสารวันนี้มัทธิวได้นำเสนอคำเทศนาบนภูเขา ซึ่งเป็นคำสอนด้านศีลธรรมแบบคริสตชนและถือเป็นหัวใจในการดำเนินชีวิตคริสตชน พระเยซูเจ้าได้มอบ “บุญลาภ” แก่เราบนภูเขา ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า สำหรับนักบุญเอากุสติน ภูเขายังหมายถึงบทบัญญัติที่ช่วยให้เราเป็นคนที่ครบครันที่สุด พระองค์ทรงเป็นโมเสสคนใหม่ที่มอบบทบัญญัติใหม่ สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์แห่งความยากลำบาก ให้ได้รับความบรรเทาและความหวัง
พระเยซูได้ได้เสนอคุณค่าที่ตรงข้ามกับค่านิยมของโลก พระองค์ทรงสอนเราว่า เราสามารถสร้างความสุขและความหวัง แม้ในสถานการณ์แห่งความยากลำบาก “ผู้มีใจยากจน... ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า... ผู้มีใจอ่อนโยน... ผู้หิวกระหายความชอบธรรม... ผู้มีใจเมตตา... ผู้มีใจบริสุทธิ์... ผู้สร้างสันติ... ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า ความสุขแท้ไม่ได้มาจากทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จในทางธุรกิจ ความสุขสนุกสนาน แต่อยู่ที่ “ความรักของพระเจ้าและการอยู่กับพระองค์ในอาณาจักรสวรรค์” ที่ทำให้ทุกสถานการณ์ในชีวิตมีความหมาย
บุญลาภที่พระเยซูเจ้าพูดถึง เป็นการรวมสุภาษิตคำพังเพยที่พบในวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณในพันธสัญญาเก่า ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงนำมาสอนประชาชนอีกครั้ง เพื่อเพิ่มพูนความหวังให้กับพวกเขา บุญลาภจึงเป็นการเรียกให้มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้างเรา เป็นการเรียกให้มามีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ได้ให้หลักประกันสำหรับคนยากจน ผู้มีใจอ่อนโยน ใจบริสุทธิ์และถูกเบียดเบียน ว่าเขาจะพบความสุขที่แท้จริง นั่นคือ การอยู่กับพระเจ้า กลายเป็นทายาทแห่งอาณาจักรสวรรค์ นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้านำมาบอกกับประชาชน

2.         บทเรียนสำหรับเรา
เป้าหมายแห่งชีวิตของเราอยู่ที่ไหน อยู่ในโลกนี้และวัตถุภายนอก เช่น เงิน บ้าน รถยนต์ ยศ ตำแหน่งหรือเปล่า สิ่งของในโลกเหล่านี้ไม่อาจทำให้เราพบความสุขที่แท้จริงได้ นอกเสียจากเป้าหมายแห่งชีวิตของเราจะมุ่งไปที่โลกหน้า ด้วยการดำเนินชีวิตตามบุญลาภ 8 ประการที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทาย
1)           ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ความสุขอยู่ที่ความวางใจในพระเจ้า ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองหรือข้าวของที่เรามี
2)           ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ความสุขอยู่ที่การเป็นคนสุภาพถ่อมตนต่อผู้อื่น มิใช่ความหยิ่งทะนง ก้าวร้าว หรือความโหดร้ายรุนแรง
3)           ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ชีวิตของเรามีค่ามากที่สุดผ่านทางความยากลำบาก ที่ทำให้ชีวิตของเราเข้มแข็ง ตรงข้าม “ความสะดวกสบาย ทำลายพระศาสนจักร”
4)           ผู้ที่หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือความถูกต้องชอบธรรม มิใช่อำนาจ ตำแหน่ง หรือความมีชื่อเสียง
5)           ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ความเมตตากรุณาคือพื้นฐานของชีวิตคริสตชน ในการให้อภัยผู้ที่กระทำผิดต่อเราและไม่จดจำความผิด มิใช่การแก้แค้นหรือมุ่งเอาชนะ
6)           ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความสะอาดภายใน มิใช่เสื้อผ้าอาภรณ์หรือความสะอาดภายนอก
7)           ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า ผู้ที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความเข้าใจระหว่างกัน ย่อมนำความสุขใจมาให้ยิ่งกว่าการสร้างความแตกแยก หรือกระจายข่าวไม่ดีต่างๆ
8)           ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข พระเยซูเจ้าบอกเราว่า พระองค์จะอยู่กับคนที่ถูกเบียดเบียนและจะประทานรางวัลแก่เขา คืออาณาจักรสวรรค์

บทสรุป
พี่น้องที่รัก “บุญลาภ” เป็นคำสอนแรกใน “คำเทศนาบนภูเขา” ของพระเยซูเจ้าในพระวรสารของนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าได้มอบกฎทองนี้เพื่อช่วยให้เราพบความสุขที่แท้จริงและความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิตคริสตชน ในอันที่จะช่วยเราให้กลับใจและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง บุญลาภจึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เป็นสากลและยั่งยืน ที่จะช่วยให้เราพบความสุขแท้ ในความรักของพระเจ้าและการอยู่กับพระองค์ในอาณาจักรสวรรค์
“บุญลาภ” ยังเป็นคุณค่าแห่งชีวิตคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและเจริญชีวิต พระองค์ทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์เดินในเส้นทางแห่งความต่ำต้อย ความเมตตากรุณา และการให้อภัย คำเทศนาบนภูเขาเรื่อง “บุญลาภ” จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายใหญ่หลวงและเป็นคำสัญญาที่จะประทานรางวัลยิ่งใหญ่ สำหรับผู้เจริญชีวิตตามคำสอนของพระองค์ “จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก” (มธ 5:12)
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
28 มกราคม 2011

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

แสวงบุญเวียดนาม (จบ)

6. คารวะศพโฮจิมินท์


วันที่ 13 มกราคม เป็นวันสุกดิบก่อนเดินทางกลับ คณะของเรามีนัดหมายหลายที่ด้วยกัน เริ่มจากการเยี่ยมภคินีรักกางเขนแห่งฮานอยเพื่อร่วมถวายมิสซา โดยมีพระคุณเจ้าชูศักดิ์ สิริสุทธิ์เป็นประธานเหมือนเช่นทุกวัน แต่ที่ต่างออกไปคือวันนี้ไม่มีสัตบุรุษ มีแต่ภคินีล้วนๆ ทำให้พระคุณเจ้าชูศักดิ์และบรรดาพระสงฆ์ดูตื่นเต้นเป็นพิเศษ เห็นได้จากพระคุณเจ้าเทศน์แบบต่อเนื่อง ไม่มีการแปลประโยคต่อประโยคเหมือนเช่นทุกวัน พร้อมทั้งพูดติดตลกว่า “ขอให้พระจิตเจ้าได้ทำงานในตัวคุณพ่อแอนโทนี เล ดึก (ล่ามประจำคณะของเรา) เพื่อจะได้เทศน์อย่างดีในต้อนท้าย” ดูเหมือนคุณแม่อธิการจะตื่นเต้นไม่แพ้กัน เวลารับมอบพระธาตุบุญราศีแห่งสองคอน จึงบอกสมาชิกในคณะว่า “นี่เป็นพระธาตุมรณสักขีแห่งเวียดนาม”

จากนั้น พวกเราได้ไปที่สุสานโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh’ s Mausoleum) ซึ่งเป็นไฮไลท์ของการเดินทางมาเวียดนามครั้งนี้ สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) บริเวณจัตุรัสบาดิงห์ (Ba Dinh) ที่โฮจิมินท์ใช้ประกาศอิสราภาพเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีระหว่าง ค.ศ. 1973-1975 (พ.ศ. 2516-2518) เพื่อใช้เก็บร่างของโฮจิมินท์ อดีตผู้นำและวีรบุรุษของชาวเวียดนาม ความจริงโฮจิมินท์ได้กำชับก่อนอสัญกรรมว่า ให้ทำพิธีศพของท่านอย่างเรียบง่ายและฌาปนกิจตามธรรมเนียมเหมือนคนทั่วไป แต่ทางการกลับเก็บร่างของท่านไว้และดำเนินการตามแบบของเลนินเพื่อให้สมเกียรติรัฐบุรุษ ในแต่ละปีจะปิดสุสานนี้ประมาณ 2 เดือน เพื่อนำร่างของท่านไปบำรุงรักษาที่ประเทศรัสเซีย (ปัจจุบันทีมแพทย์เวียดนามสามารถทำเองได้)

สุสานแห่งนี้เป็นอาคารหินอ่อนและหินแกรนิต รวมถึงไม้เนื้อดีจากทั่วประเทศ มีความโดดเด่น สง่างามและเป็นสัญลักษณ์ของฮานอย ต้องขอบคุณการประสานงานของไกด์และบริษัทนำเที่ยว ที่นำพวกเราเข้าชมวีดิทัศน์ประวัติการต่อสู้ของโฮจิมินท์ และคารวะร่างอันไร้วิญญาณของท่านในฐานะ “ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” จากประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องเข้าคิวยาวเป็นกิโลเมตรเหมือนคนอื่นทั่วไป มีทหารในเครื่องแบบเต็มยศ 4 นายนำพวกเราเดินแถวตอนเรียงสองเข้าวางพวกมาลาประหนึ่งผู้นำประเทศ และเดินขึ้นบันไดไปยังห้องโถงที่มีร่างของท่านนอนอยู่ มีแสงไฟสีนวลส่องให้พวกเรายืนโค้งคำนับทำความเคารพ ทำให้ผู้เขียนถึงกับขนลุกซู่ด้วยความปลื้มปีติที่ครั้งหนึ่งได้มาคารวะมหาบุรุษคนหนึ่งของโลก ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของท่าน ในการต่อสู้และความเสียสละเพื่อประเทศชาติ

ไม่ไกลจากสุสานคือตึกเหลือง ซึ่งเคยเป็นบ้านพักข้าหลวงและกองบัญชาการของฝรั่งเศสสมัยยึดครองอินโดจีน หลังประกาศอิสรภาพโฮจิมินท์ ได้ใช้ตึกเหลืองนี้เป็นบ้านพักรับรองแขกบ้านแขกเมือง ส่วนตัวท่านไปอาศัยบ้านไม้สองชั้นที่เคยเป็นเรือนคนรับใช้ของข้าหลวง โฮจิมินห์ มีชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ถือเป็นวีรบุรุษที่อยู่ในหัวใจของชาวเวียดนามตลอดกาล เพราะวีรกรรมในการปลดปล่อยเวียดนามจากการยึดครองของฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นผู้รวมเวียดนามเหนือ-ใต้ให้กลายเป็นเวียดนามหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ ในการทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร แม้ว่าท่านจะมิได้อยู่ชื่นชมชัยชนะในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เนื่องจากถึงแก่อสัญกรรมตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ท่านประกาศอิสรภาพเมื่อ 34 ปีก่อน และเป็นวันชาติของประเทศเวียดนาม แต่นั่นคือความปรารถนาสุดท้ายของท่าน

ปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ประกาศว่าโฮจิมินห์ เสียชีวิตในวันที่ 3 กันยายาน 1969 (พ.ศ. 2512) เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศในการเฉลิมฉลองวันชาติ และผลการประชุมใหญ่คณะกรรมการพรรคในวันที่พวกเราไป ได้ลงมติแต่งตั้ง นายเหวียน เติ๋น หยุง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระที่สอง ต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกัน ได้เปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดี โดยนายเหวียน ฝู จ็องได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคและนายเจือง เติ๋น สั่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ตามลำดับ

7. เยี่ยมบ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟ

หลังคารวะศพลุงโฮและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้ว พวกเราได้ไปเยี่ยมบ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟ และรับประทานอาหารเที่ยงที่นั่น โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระอัครสังฆราชเปโตร เหงียน วัน โยน คณะผู้ให้การอบรมและบรรดาสามเณรใหญ่ระดับเทววิทยา มีการขับร้องเพลงและการแสดงวิธีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยเหล้าตามธรรมเนียมเวียดนาม พิธีการเริ่มด้วยพระคุณเจ้าเหงียนกล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ การกล่าวรายงานเกี่ยวกับบ้านเณรของอธิการ และการกล่าวตอบของพระคุณเจ้าชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ พร้อมกับมอบของที่ระลึกคือพระธาตุบุญราศีแห่งสองคอนและปัจจัยที่พวกเราเรี่ยไรกัน

พระคุณเจ้าเหงียน ได้กล่าวขอบคุณพระศาสนจักรไทยที่ได้ให้ความอนุเคราะห์และช่วยเหลือคริสชนชาวเวียดนามที่อพยพหนีภัยสงครามไปตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยและประเทศที่สาม พระคุณเจ้าชูศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณในการต้อนรับอันอบอุ่นและกล่าวถึงจุดประสงค์ในการเดินทางมาครั้งนี้ รวมถึงสภาพความเป็นจริงของพระศาสนจักรไทย ซึ่งมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสะดวกสบายมากกว่า แต่คริสตชนมีความร้อนรนน้อยกว่าพระศาสนจักรเวียดนามมาก อีกทั้งได้กล่าวแนะนำบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้อพยพชาวเวียดนามในการเดินทางไปประเทศที่สามและการส่งเงินกลับประเทศ ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีคือ คุณพ่อประยูร นามวงศ์ จากสังมณฑลนครราชสีมา

บ้านเณรนักบุญยอแซฟ เป็นบ้านเณรใหญ่ระดับเทววิทยาของ 8 สังฆมณฑลทางภาคเหนือของเวียดนาม มีสามเณรใหญ่ 160 คน และผู้ให้การอบรม 12 คน ส่วนบ้านเณรใหญ่ระดับปรัชญาซึ่งอยู่ห่างออกไป 15 กิโลเมตร มีสามเณรใหญ่ 150 คน รวมบ้านเณรสองแห่งนี้มีสามเณรกว่า 300 คน ผู้ให้การอบรม 20 องค์ และบรรดาอาจารย์จากส่วนต่างๆ ของประเทศ 20 ท่าน ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการที่เป็นพระสังฆราชองค์หนึ่ง

พระคุณเจ้าซึ่งเป็นอธิการได้กล่าวว่า นับเป็นพระพรของพระเจ้าและงานที่หนักในการอบรมผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์เหล่านี้ เพื่อให้พร้อมสำหรับทำงานประกาศพระวรสารกับชาวเวียดนามอีก 93% ที่ยังไม่ได้รับข่าวดี รวมถึงคริสตชนชาวเวียดนามที่ต้องการการประกาศพระวรสารใหม่อีกครั้งหนึ่ง ข่าวที่น่ายินดีคือปลายปีการศึกษานี้จะมีพิธีบวชสังฆานุกรมากถึง 70 องค์ มีพระสงฆ์ประมาณ 400 องค์ซึ่งเป็นผลผลิตจากบ้านเณรแห่งนี้

จากนั้นพวกเราได้เดินทางกลับเมืองวิงห์ เมื่อเดินทางถึงที่พัก ได้มีการจัดงาน Family Night เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของการแสวงบุญในครั้งนี้ มีการกล่าวรายงานของ คุณพ่อณัฐพล ศรีมะณี เลขาธิการหน่วยงานสงฆ์อีสาน จากนั้นคุณพ่อวีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราชของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้มอบธงให้คุณพ่อสมนึก สุทธิ ตัวแทนสังฆมณฑลอุดรธานี เพื่อเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไป วันรุ่งขึ้น (14 มกราคม) คณะของพวกเราได้ไปถวายมิสซาที่วัดอีกแห่งหนึ่ง มีคริสตชนชาวเวียดนามมาร่วมพิธีล้นวัดเหมือนวันแรก เป็นความประทับใจตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ก่อนจะเดินทางออกจากเวียดนามผ่านประเทศลาวกลับสู่ประเทศไทย

บทส่งท้าย

“ทัวร์แสวงบุญ 5 วัน 4 คืน ณ ประเทศเวียดนาม” ได้เดินทางมาถึงวันสุดท้าย พร้อมกับข้อเขียนตอนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จและความประทับใจบางส่วนของคณะพระสงฆ์สี่สังฆมณฑลอีสาน กับอีกหลายอย่างในใจที่ไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ อย่างน้อย คงทำให้ผู้อ่านและพี่น้องคริสตชนไทยได้เห็นถึงความเชื่อเข้มแข็งและความศรัทธาร้อนรนของพี่น้องคริสตชนเวียดนาม ในอันที่จะช่วยให้เราย้อนมองดูตัวเองและหาทางช่วยคริสตชนและพระศาสนจักรไทย ให้มีความเชื่อเข้มแข็งและความศรัทธาร้อนรนเช่นพระศาสนจักรเวียดนามบ้าง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราคงไม่ปล่อยให้โอกาสและความสะดวกสบายที่มีพร้อมทุกอย่างทำลายพระศาสนจักร แต่ต้องช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นและอุทิศตนมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรของพระศาสนจักรอย่างเราพระสงฆ์ ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนในการจัดทัวร์แสวงบุญครั้งนี้ โดยเฉพาะคริสตชนและพระศาสนจักรเวียดนามที่ช่วยจุดประกายความหวังให้บังเกิดขึ้น เพื่อว่าคริสชนและพระศาสนจักรไทยจะได้ไปถึงความเชื่อที่เติบโตเช่นนั้นบ้าง “ตามเบียดเวียดนาม” (ลาก่อน เวียดนาม)
Don Daniele ภาพ/เรื่อง
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
24 มกราคม 2011

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 37

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 37, วันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

 การฉลองความเชื่อประจำปี 2011

124 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรม

บรรพบุรุษของชาวนาบัวอพยพมาจากเขมราฐและยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวที่อพยพมาครั้งนั้น ได้แก่ ครอบครัวพ่อแม่ของนายสา นาแว่น ต้นตระกูลนาแว่น ครอบครัวของหลวงไชยเพชร ต้นตระกูลวินบาเพชร ครอบครัวของนายทิดนนท์และนายสังข์ แพงยอด ต้นตระกูลแพงยอด ครอบครัวของนายเชียงบา จันสุนีย์ ต้นตระกูลจันสุนีย์ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูคำสอน เมื่อมาถึงบ้านนาบัว ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ปะปนกับชาวบ้านเดิมที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วคือครอบครัวของนายเชียงผง ทองใส ต้นตระกูลทองใส ครอบครัวของพ่อของนายน้อย พิมพา ต้นตระกูลพิมพา ครอบครัวของพ่อผู้ใหญ่เพีย พิมพ์นาจ ต้นตระกูลพิมพ์นาจ ครอบครัวของพ่อของนายบัวพา บัวขันธ์ ต้นตระกูลบัวขันธ์
การตั้งเสาไม้หน้าวัดไม้ และซุ้มประตูไม้ทางเข้าวัดด้านบ้านผู้ใหญ่ชาญชัย นาแว่น

หลังจากอยู่ที่นาบัวได้ระยะหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านร้างทางทิศใต้ของนาบัว ซึ่งเป็นหมู่บ้านขอมหรือข่า เนื่องจากเห็นว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำคือห้วยม่วง แต่เมื่อเห็นว่าบริเวณดังกล่าวทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของผีร้าย จึงได้พากันกลับมาอยู่ที่นาบัวเช่นเดิม กระทั่งทราบข่าวว่ามีหมอสอนศาสนาฝรั่งไม่กลัวผี ยิ่งกว่านั้นถ้าใครได้เข้ารีตกับฝรั่ง ผีไม่สามารถทำอันตรายหรือรบกวนได้เลย จึงเกิดความสนใจและส่งคนไปติดต่อกับคุณพ่อธรรมทูตที่บ้านกุดจอกใหญ่ ตำบลวาใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก
กว่าจะมาเป็นเสาไม้และซุ้มประตู

จากบันทึกประวัติวัดนักบุญยอแซฟคำเกิ้ม นครพนม ของคุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ รองแดล เจ้าอาวาสในสมัยนั้นพบว่า คุณพ่อได้รับสมัครผู้กลับใจจากบ้านนาบัวและบ้านกุดจอกในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จึงแน่ใจได้ว่าคริสตศาสนาเข้ามาที่นาบัวในปีดังกล่าว บันทึกปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) บอกให้เราทราบว่าหมู่บ้านทั้งสองทำให้คุณพ่อรองแดล รู้สึกหนักใจมาก เพราะต้องเดินทางขี่ม้าจากบ้านคำเกิ้มเป็นเวลาสองวันกว่าจะถึง จึงอยากให้มีผู้อยู่ประจำสำหรับเอาใจใส่ดูแลบ้านทั้งสองนี้ ที่สุดได้ เปโตร จานพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นพระภิกษุก่อน โดยมอบหมายให้จานพิมพ์ไปสอนคำสอนแก่ผู้กลับใจที่นาบัวและกุดจอก ดังบันทึกศีลล้างบาปแรกที่นาบัว ลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433)
การซ้อมใหญ่และเตรียมฉลองวัด 21 มกราคม

นับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ชุมชนคริสตชนวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว มีอายุครบ 124 ปี จะฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรมในอีกหนึ่งปีข้างหน้าคือ ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ข้อมูลวัดนาบัวปัจจุบัน: จำนวนคริสตชน 1,569 คน แยกเป็น ชาย 741 คน หญิง 828 คน, กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน 12 กลุ่ม, พลมารี 4 เปรสิเดียม, เด็กคำสอน 129 คน แยกเป็น ชาย 59 คน หญิง 70 คน, ครูคำสอน 5 คน, พระสงฆ์ลูกวัด 8 องค์ แยกเป็นอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง 6 สังฆมณฑลอุดรธานี 1 และคณะพระมหาไถ่ 1 องค์, ภคินี 4 รูป, สามเณร 15 คน แยกเป็น สามเณรใหญ่ 4 คน และสามเณรเล็ก 11 คน, ผู้ฝึกหัด 14 คน แยกเป็น คณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ 12 คน และคณะเซนต์ปอล เดอ ชาตร์ 2 คน
เอกวารเตรียมจิตใจก่อนฉลองวัด โดยคุณพ่อสุพล ยงบรรทม 21 มกราคม

ในรอบ 124 ปีที่ผ่านมา วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว มีพระสงฆ์เจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 30 องค์ ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับพระสงฆ์เจ้าอาวาส คือมีพระสงฆ์เจ้าอาวาส 2 องค์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ได้แก่ พระสังฆราชแยร์แมง แบร์ทอลด์ แห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี เป็นเจ้าอาวาสปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เป็นผู้ก่อตั้งคณะพลมารีที่นาบัว และพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ แห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นเจ้าอาวาสปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) เป็นผู้รื้อฟื้นคณะพลมารีให้มั่นคงและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
คุณพ่อปีแอร์ โกลาส์ ผู้วางรางฐานด้านความเชื่อและสร้างวัดไม้ที่กำลังบูรณะ

24 ปีแห่งมรณกรรมของคุณพ่อปิแอร์ โกลาส์

คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสคณะช่วยมิสซัง (SAM.) เป็นผู้ที่มีคุณูปการใหญ่หลวงสำหรับวัดนาบัว ในฐานะที่เป็นผู้วางรากฐานความเชื่อและนำความเจริญมาสู่นาบัวทุกด้าน โดยเฉพาะในการสร้างวัดไม้หลังที่สี่ ที่สร้างได้อย่างประณีต สวยงามมาก คุณพ่อเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือจากชาวนาบัวที่ร่วมแรงร่วมใจกันในการก่อสร้างอย่างเต็มที่จนแล้วเสร็จ กลายเป็นวัดไม้ที่สวยงาม ไม่มีเสากลาง ไม่มีการใช้ตระปูเหมือนอาคารไม้ทั่วไป แต่ใช้นอตและตระปูเกลียวขันทั้งหมด วัดไม้หลังนี้จึงแปลกกว่าวัดไม้อื่นทั่วไป อีกทั้งยังเป็นอนุสรณ์แห่งความเชื่อและความสมัครสมานสามัคคีของชาวนาบัวทั้งหมู่บ้าน นอกนั้นคุณพ่อยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์และบ้านพักภคินี ที่ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
การต้อนรับพระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ โอกาสฉลองวัด 22 มกราคม

คุณพ่อโกลาส์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ที่ประเทศฝรั่งเศส บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 29มิถุนายน ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ในคณะธรรมทูตช่วยมิสซัง หลังจากนั้นสองปีคือ ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ได้เดินทางมาเป็นธรรมทูตที่ประเทศไทย ภายหลังเรียนภาษาไทยจนสามารถใช้งานได้ พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้มอบหมายให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวในช่วงปี ค.ศ. 1966-1978 (พ.ศ. 2509-2521) วัดแม่พระไถ่ทาส สองคอน ปี ค.ศ. 1978-1981 (พ.ศ. 2521-2524) วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย ปี ค.ศ. 1981-1884 (พ.ศ. 2524-2527) และวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ ปี ค.ศ. 1984-1986 (พ.ศ. 2527-2529) ตามลำดับ
พิธีมิสซาวันฉลอง และสัตบุรุษจากที่ต่างๆ ที่มาร่วมฉลอง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ คุณพ่อโกลาส์ ได้ล้มป่วย ทางอัครสังฆมณฑลได้ส่งไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ แพทย์ลงความเห็นว่าคุณพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิต กินอยู่แบบชาวบ้านทั่วไปในช่วงเวลาหลายปีที่ทำงานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่สุด คุณพ่อได้ขอกลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส และมอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้าอย่างสงบท่ามกลางญาติพี่น้อง เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) สิริอายุ 53 ปี ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่ญาติมิตรและมวลสัตบุรุษที่คุณพ่อเคยดูแล โดยเฉพาะชาวนาบัวที่มีความผูกพันกับคุณพ่อมาก เนื่องจากคุณพ่อได้ทำหน้าที่เทศน์สอนและสร้างคุณประโยชน์มากมายตลอดเวลา 12 ปีที่ทำหน้าที่เจ้าอาวาส
คณะสงฆ์ที่มาร่วมฉลองกว่า 40 องค์

ดังนั้นชาวนาบัวจึงเลือกที่จะฉลองความเชื่อประจำปีในปีนี้ ในวันที่คุณพ่อโกลาส์มอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้า คือวันที่ 22 มกราคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 24 ปีแห่งมรณกรรมของพ่อที่อยู่ในดวงใจของชาวนาบัวเสมอ นาม “คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์” ขอให้คุณพ่อได้รับการพักผ่อนนิรันดรกับพระเจ้า เทอญ
การแข่งขันฟุตบอลคู่พิเศษระหว่างทีมพระสงฆ์กับเยาวชนนาบัว

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องชาวนาบัวทุกกลุ่มทุกคุ้มที่ช่วยกันเตรียมฉลองวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 5

2) รายนามผู้ใจบุญประสงค์จะทำโรงทานโอกาสฉลองวัดวันที่ 22 มกราคม: (1) ครอบครัวนายประสิทธิ์-นางสุดใจ ช่วยลือไทย, (2) นางบำเพ็ญ ยอดคำอ่อน, (3) กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่ม, (4) แม่พินิจ คอมแพงจันทร์กับแม่สมร กุลนาม, (5) นางพรเพชร หาวงศ์

3) อารามรักกางเขนแห่งท่าแร่จะมาแผ่ข้าวที่วัดของเรา ในวันพุธที่ 26 มกราคมนี้ ขอให้พี่น้องได้สนับสนุนอารามด้วย
การแห่ต้นเงินของแต่ละคุ้มเพื่อนำมามอบให้วัด

4) ประกาศศีลสมรส ระหว่างนายพิพัฒน์ จิตรักษ์ อายุ 22 ปี บุตรนายบรักลี เมเนอร์-นางสุลักคณา เมเนอร์ จากบ้านรุ่งพนาไพร กับนางสาวมารีอา จิราวรรณ พลเสน บุตรีนายสมาน-นางเทิดนารี พลเสน จากวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ทั้งคู่จะเข้าพิธีสมรสในวันเสาร์ที่ 29 มกราคมนี้ ประกาศครั้งที่ 3

5) ฉลองวัดในอาทิตย์นี้: (1) วันศุกร์ที่ 28 มกราคม เสก-เปิดศูนย์พหุวิทยา ร.ร.เซนต์ยอแซฟ กาฬสินธุ์ เวลา 09.00 น., (2) วันเสาร์ที่ 29 มกราคม ฉลองวัดนักบุญกาทารีนา ทุ่งมน มิสซาเวลา 10.00 น.

6) รายนามผู้บริจาคสมทบทุนโครงการบูรณะวัดไม้และหอระฆัง: (1) น.ส.กิรตรา ยอดคำอ่อน 10,000.- บาท, (2) ครอบครัวนายศรีอุดม-นางรำไพ เมาบุดดา 5,000.- บาท

7) เงินทานวันเสาร์ 371.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม ได้ 1,616.- บาท, รับเงินบริจาคซื้อดอกไม้จากเจ้ต่อม รัตนาภรณ์ พิมพการ 3,000.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 371.- บาท
บรรยากาศการแห่กันหลอน หลังวันฉลองวัด 23 มกราคม