วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กระท่อมฟางข้าว

 กระท่อมฟางข้าว


หากใครผ่านทุ่งนาช่วงนี้จะเห็นกองฟางอยู่ทั่วไป ซึ่งเกิดจากการปั่นข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านมักเรียกรถปั่นข้าวว่า “รถสีข้าว” คงเป็นเพราะต้องนำฟ่อนข้าวป้อนเข้าเครื่องและได้ข้าวเปลือกออกมา (กระบวนการเดียวกันกับโรงสี ต่างกันตรงที่โรงสีจะได้เป็นข้าวสาร) ข้าวเปลือกที่ได้จะบรรจุใส่กระสอบปุ๋ยเตรียมขายหรือเก็บในยุ้งฉางได้ทันที เศษฟางจะถูกพ่นไปรวมกันเป็นกองใหญ่อย่างที่เห็นตามทุ่งนา

ขั้นตอนในการนวดข้าวปัจจุบันนี้สั้นมากเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว นับเป็นผลดีสำหรับเจ้าของไม่ต้องนอนเฝ้าข้าว เกี่ยวเสร็จ รีบปั่น รีบเก็บขึ้นยุ้ง มิฉะนั้นอาจถูกมิจฉาชีพขนเอาไปยามค่ำคืนได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในยุคนี้มีน้อยมาก บางรายออกไปดูข้าวที่นา จากนั้นมาบอกญาติพี่น้องให้ไปช่วยเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น พอไปถึงนาเข่าอ่อนลมจับเพราะข้าวถูกมือดีเกี่ยวไปเรียบร้อยเมื่อคืน เรียกได้ว่าไม่ใช่แต่ขโมยฟ่อนข้าวที่เกี่ยวแล้ว ที่ยังไม่เกี่ยวก็หาความปลอดภัยไม่ได้ เรื่องราว “เจ้าของนายิงแก็งขโมยข้าวดับ 5 ศพ” ในท้องที่จังหวัดอุดรธานี จึงเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนได้ระวังกัน

เวลาเห็นกองฟางทำให้คิดถึง “ลานนวดข้าว” ซึ่งใช้ผืนนาที่ใกล้เถียงนาที่สุด ตัดซังข้าวออกไปและปรับให้เรียบ เอาขี้ควายผสมน้ำละเลงให้ทั่ว ใช้ซังข้าวที่มัดปลายเป็นไม้กวาดปาดน้ำขี้ควายให้ทั่วบริเวณที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นสามารถนำข้าวที่มัดเป็นฟ่อนมาเรียงเป็นตับทั้งสี่ด้านสูงท่วมหัว เตรียมไว้สำหรับการนวดข้าวเมื่อการเก็บเกี่ยวจบลง

สิ่งที่หายไปคือการนวดข้าวด้วยไม้นวด ซึ่งเป็นไม้ขนาดเหมาะมือยาวประมาณ 1 เมตร มีเชือกร้อยตรงปลายสำหรับใช้รัดฟ่อนข้าวฟาดลงบนขอนไม้ หรือไม้กระดานให้เม็ดข้าวหล่นจากฟ่อน ส่วนใหญ่จะนวดกันตอนกลางคืนซึ่งอากาศไม่ร้อน และต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะเสร็จ ใครที่เสร็จก่อน “ข้าวขึ้นเล้า” เป็นที่เรียบร้อยจะมาช่วยคนที่ยังไม่เสร็จ ถือเป็นการพึ่งพากันโดยไม่ต้องไหว้วาน

เวลานวดข้าว ฟ่อนข้าวที่ฟาดเสร็จแล้วจะถูกซัดไปกองรวมกันที่ใดที่หนึ่ง การซัดฟ่อนข้าวยังเป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่าคนนวดเป็น “มืออาชีพ” ใครที่ซัดได้ใกล้และไม่เป็นระเบียบจะถูกข่อนขอดว่า “อ่อนหัด” ส่วนการนำฟ่อนข้าวที่นวดเสร็จแล้วไปมัดเป็นฟ่อนใหญ่ (สำหรับเป็นอาหารสัตว์หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น) ถือเป็นหน้าที่ของผู้หญิง

มัดฟางพวกนี้แหละที่บรรดาเด็กๆ จะนำไปเรียงทำเป็น “กระท่อมฟางข้าว” สามารถป้องกันลมหนาวให้ความอบอุ่นแก่คนนอนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการนวดข้าวต้องใช้เวลานานอย่างที่บอกและเป็นช่วงฤดูหนาว (บางปีย่างเข้าปีใหม่กว่าจะเสร็จ) ดังนั้น การนอนกระท่อมฟางข้าวจึงช่วยป้องกันภัยหนาวได้ดีนัก และเป็นประสบการณ์พิเศษที่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้รับรู้

อย่างไรก็ดี ได้เห็นเด็กที่นาบัวเล่นสนุกสนานที่กองฟางหลังเลิกเรียน พวกเขาเรียนรู้ประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ต่างออกไป กองฟางสำหรับพวกเขาคือที่เล่นซ่อนหา เป็นเบาะยืดหยุ่นขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ ที่พวกเขาสามารถกระโดดจากที่สูง หรือตีลังกา ม้วนหน้า ม้วนหลังได้ตามใจชอบ ช่วงนี้ที่นาบัว ลมหนาวเริ่มมาเยือนแล้ว ทำให้นึกถึง “กระท่อมฟางข้าว” ขึ้นมาจับใจ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 พฤศจิกายน 2010

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อันดรูว์ ชายชาติบุรุษ

 อันดรูว์: ชายชาติบุรุษ

รูปแกะสลักหินอ่อนนักบุญอันดรูว์ ที่มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน กรุงโรม

วันนี้พระศาสนจักรให้เราทำการฉลองนักบุญอันดรูว์ อัครสาวก องค์อุปถัมภ์ของชาวประมงและของประเทศสก๊อตแลนด์ โรมาเนีย และรัสเซีย คำว่า “อันดรูว์” (Andreas) ในภาษากรีกหมายถึง “ชายชาติบุรุษ” (น่าจะตรงกับชื่อ “สมชาย” ในภาษาไทย) หรือ “กล้าหาญ” รวมความแล้ว อันดรูว์จึงหมายถึงคนที่มีความกล้าหาญอย่างชายชาติบุรุษ มีวันฉลองตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปี

อันดรูว์เป็นบุตรของโยนาห์ เป็นน้องชายของเปโตร ซึ่งเป็นชาวประมงจากเบธไซดา (เช่นเดียวกับยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี) ก่อนที่จะมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาเปอร์นาอุม จากพระวรสารของยอห์นทำให้เราทราบว่าอันดรูว์เคยเป็นศิษย์ของยอห์น บัปติสต์ เช่นเดียวกับยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร ก่อนที่จะได้พบกับพระเยซูเจ้า (ยน 1:40) และเป็นผู้ที่ชักนำเปโตร ผู้พี่ชายให้มารู้จักพระเยซูเจ้า “เราได้พบพระแมสิยาห์แล้ว”
ภาพวาดที่ 1 การตรึงกางเขนนักบุญอันดรูว์ (ด้านซ้ายพระแท่น) ในวัดนักบุญอันดรูว์ กรุงโรม

เชื่อกันว่าอันดรูว์ได้ไปประกาศพระวรสารในดินแดนเอเชียไมเนอร์ และเป็นพยานถึงองค์พระเยซูเจ้าด้วยการตรึงกางเขนเป็นรูปกากบาท (X) ที่เมืองปาทราส (Patras) ทางตอนใต้ของประเทศกรีก ต่อมาภายหลังได้เรียกกางเขนในแบบที่อันดรูว์ตรึงว่า “กางเขนของนักบุญอันดรูว์” ซึ่งกางเขนนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในธงชาติของประเทศสก๊อตแลนด์ รวมถึงธง “Union Jack” ของประเทศอังกฤษด้วย

ข่าวดีแห่งพระวรสารได้รับการประกาศแก่เราทุกวัน เราต้องพยายามดำเนินชีวิตแต่ละวันตามข่าวดีเช่นเดียวกับนักบุญอันดรูว์ ที่ได้เป็นพยานถึงข่าวดีนี้ด้วยชีวิต ความซื่อสัตย์ต่อพระวรสารของท่าน แม้ในห้วงเวลาแห่งความตายได้ให้บทเรียนที่ล้ำค่าแก่เราว่า ท่านได้ประกาศพระวรสารจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านได้น้อมรับไม้กางเขนเป็นเหมือนกับบันไดที่นำไปสู่องค์พระคริสตเจ้า
ภาพวาดที่ 2 นักบุญอันดรูกำลังถูกตรึงกางเขนรูปกากบาท (ภาพใหญ่ตรงกลางหลังพระแท่น)

เราแต่ละคนได้รับการเรียกให้มาเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ให้เราได้ร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้า เพื่อพระองค์จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเราให้เป็น “อันดรูว์” ที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงชายชาติบุรุษที่มีความกล้าหาญในการดำเนินชีวิตตามพระวรสาร และมีความร้อนรนในการนำคนอื่นมารู้จักพระคริสตเจ้า (เหมือนที่ทรงเปลี่ยนบรรดาอัครสาวก จากชาวประมงธรรมดาให้เป็นชาวประมงจับมนุษย์)

นี่คือ หนทางเดียวและหลักประกันที่แน่นอนที่สุด ในอันที่จะช่วยเราให้ได้อยู่กับพระเยซูเจ้า พระอาจารย์เจ้าของเราในพระอาณาจักรสวรรค์ พร้อมกันนี้ ของร่วมแสดงความยินดีกับผู้มีนาม “นักบุญอันดรูว์” ทุกคน
ภาพวาดที่ 3 การนำศพนักบุญอันดรูว์ลงจากกางเขน (ด้านขวาพระแท่น) ในวัดนักบุญอันดรูว์ กรุงโรม
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
29 พฤศจิกายน 2010

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 29

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 29, อาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

การเก็บเกี่ยวปีนี้ที่นาบัวเสร็จกันหมดแล้ว นั่นหมายความว่าข้าวเม่าก็หมดด้วย
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

เราเข้าสู่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (Advent) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีพิธีกรรมของพระศาสนจักร (ปี A) ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกนั้น ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอยการเสด็จมาของพระเจ้า ผ่านทางการรำพึงภาวนาด้วยความเชื่อ

เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่พระศาสนจักรให้เรามีเวลาสี่สัปดาห์เพื่อเตรียมรับเสด็จการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า ในพระศาสนจักรออร์ทอด๊อก เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯจะยาวนานถึงสี่สิบวันเหมือนเทศกาลมหาพรต เพื่อเราจะได้เดินในแสงสว่างของพระคริสตเจ้า ให้เราเริ่มต้นด้วยการขออภัยโทษจากพระเจ้า
นักคอมพิวเตอร์ตัวน้อยกับโอกาสที่วัดหยิบยื่นให้

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกอิสยาห์ 2:1-5

ประกาศกอิสยาห์มองเห็นถึงสันติภาพนิรันดรซึ่งประชากรของพระเจ้าจะพบในอาณาจักรของพระเจ้า โดยพูดถึงการกลับใจของชนในชาติ ในความเชื่อเราทุกคนกำลังเดินทางสู่บ้านของพระเจ้า และพระเจ้าจะทรงทำให้ความหวังในสันติภาพของเราสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เราต่างเป็นพี่น้องในความรักและความยุติธรรม

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโรม 13:11-14

เปาโลพูดถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า เวลาได้มาถึงแล้วเราจึงต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ โดยวางหลักศีลธรรมแบบคริสตชนสำหรับเรา ด้วยการละทิ้งนิสัยไม่ดีที่เคยปฏิบัติ เลิกเดินในความมืดและความชั่วร้าย (การกินดื่ม กามารมณ์ ความโลภ ทะเลาะเบาะแว้งและการอิจฉาริษยา) หันมาเปลี่ยนแปลงตนเองเสียใหม่ด้วยการเดินในแสงสว่างของพระคริสตเจ้า

พระวรสาร: นักบุญมัทธิว 24:37-44

พระวรสารวันนี้เตือนเราให้ตื่นเฝ้า เพราะเราไม่ทราบว่าพระเยซูเจ้าจะเสด็จมาเมื่อไร ดังนั้น การเริ่มต้นเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้า ไม่ได้เป็นช่วงเวลาของการเตรียมรับเสด็จการบังเกิดมาเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาของการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง เราต้องไม่ปล่อยตัวไปตามกระแสของโลกและกิจวัตรประจำวัน จนลืมวันที่บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมา
ร่วมด้วยช่วยกัน พัฒนาวัดเรา

 ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 8 ที่ช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 9

2) ขอให้ทุกคุ้มเริ่มทำดาว และประดับตกแต่งบ้านเรือนของตนเพื่อเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า

3) ทางวัดได้ตกลงทำสัญญาก่อสร้างซุ้มประตูใหญ่แบบโรมันบริเวณถนนเข้าหมู่บ้าน กับนายอัครเรศ กิณเรศ (23 พ.ย.) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคุณสุชาดา พิมพการ (เจ้ต่อม) ในราคา 110,000.- บาท

4) ขอเชิญพี่น้องได้สนับสนุนสลากการกุศลคริสต์มาส เพื่อหาทุนสนับสนุนหน่วยงานคาทอลิกในอัครสังฆมณฑลของเรา

5) พี่น้องที่มีลูกหลานทำงานตามที่ต่างๆ ที่ประสงค์จะทำผ้าป่าเพื่อสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้ อนุสรณ์ 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรมของวัดของเรา โอกาสฉลองวัด ในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2011 ติดต่อกับทางวัดได้

6) เงินทานวันเสาร์ ได้ 505.- บาท, วันอาทิตย์ ได้ 3,896.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 370.- บาท
ช่วงนี้ผู้ใหญ่ไปทำงานที่ทุ่งนา การพัฒนาวัดจึงเป็นหน้าที่ของบรรดาเด็กๆ

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี A
อสย 2:1-5
รม 13:11-14
มธ 24:37-44

บทนำ

จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ได้เล่าเรื่องที่มีความหมายมากเรื่องหนึ่ง ในการปราศรัยรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1960 เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้พันดาเวนพอร์ท (Colonel Davenport) โฆษกสมาชิกสภารัฐคอนเนกติกัทซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประชุมสภาในปี ค.ศ. 1789 ขณะที่กำลังประชุมกันอยู่นั้น ได้เกิดท้องฟ้ามืดมัวแบบไม่เคยเป็นมาก่อน สมาชิกสภาบางคนมองผ่านหน้าต่างและคิดว่า นี่คือเครื่องหมายว่าวาระสุดท้ายของโลกได้มาถึงแล้ว

เหตุการณ์วันนั้น ทำให้บรรดาสมาชิกสภาร้องเอ็ดอึงลั่นห้องประชุมขอให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ผู้พันดาเวนพอร์ทยืนขึ้นและกล่าวว่า “ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ วันพิพากษากำลังจะมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ หากยังมาไม่ถึงก็ไม่มีเหตุผลที่พวกเราจะเลื่อนการประชุมออกไป แต่ถ้ามาถึงแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกที่จะตายในหน้าที่ ดังนั้น ข้าพเจ้าขอให้จุดเทียนเพื่อจะได้ประชุมต่อ” ได้มีการนำเทียนมาจุดและเริ่มการประชุมต่อไป

เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ไม่เพียงเป็นการเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระคริสตเจ้า แต่ยังเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เราอยู่ระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกที่เบธเลแฮม กับการเสด็จมาครั้งที่สองในวาระสุดท้ายเพื่อทรงพิพากษาทุกคน เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ไตร่ตรองถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า ด้วยการเชิญเสด็จพระองค์เข้ามาในจิตใจของเราและตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเราและเพื่อนพี่น้องเสมอ

1. การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า

พระวรสารวันนี้พูดถึงการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในวาระสุดท้ายของโลก เราจะเตรียมตัวรับสถานการณ์นี้อย่างไร ในโลกปัจจุบันมีคนสองกลุ่มที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า กลุ่มหนึ่งเตรียมตัวด้วยความวิตกทุกข์ร้อนหวาดระแวง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระวรสารบอกอะไรเราเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโลก และเราจะต้องเตรียมตัวเผชิญกับเหตุการณ์นี้อย่างไร

พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพพจน์สองอย่างเพื่ออธิบายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด (มธ 24:42ข) อย่างแรกคือน้ำวินาศที่กวาดผู้คนที่กำลังกินดื่มสนุกสนานในสมัยของโนอาห์จนหมดสิ้น อีกภาพพจน์หนึ่งคือขโมยที่มาในเวลากลางคืนที่เจ้าของบ้านไม่ได้เฝ้าระวัง การเสด็จมาครั้งที่สองและวาระสุดท้ายของโลกอย่างที่พระเยซูเจ้าบอกเราในพระวรสาร จะเกิดขึ้นโดยทันทีแบบไม่มีใครคาดฝัน ไม่มีการบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

การดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่ต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ด้วยการทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเหมือนอย่างผู้พันดาเวนพอร์ท ที่พร้อมจะตายในหน้าที่ประจำวันที่กำลังทำอยู่ ไม่ตื่นตระหนกไปกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การตื่นเฝ้ายังหมายถึงการเรียนรู้เครื่องหมายแห่งกาลเวลา เพื่อจะได้เข้าใจถึงความหมายที่พระเจ้าต้องการจะบอกเราให้ทราบ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำวันจนถึงที่สุด ดังนั้น การตื่นเฝ้าจึงเป็นการเจริญชีวิตแห่งการรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติและดำรงตนในฐานะแห่งพระหรรษทาน เหมือนคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัด

2. ความหมายสำหรับเรา

การตื่นเฝ้าแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่เป็นศิษย์ ซึ่งมุ่งหวังและรอคอยพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมา การเฝ้าคอยนี้ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญในการรำพึงภาวนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เราต้องฉลองการตื่นเฝ้าด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การทดลอง” (มก 14:38) หรือปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ที่เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาและทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน (ลก 6:12)

ประการสำคัญ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบถึงวาระสุดท้ายของโลกและการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูเจ้า ดังนั้น ชีวิตของเราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระองค์ นี่คือ หน้าที่ที่เราต้องกระทำ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯจึงท้าทายเราด้วยคำถามที่สำคัญสามข้อ: 1) เราจะทำอะไรขณะนี้ เพื่อสร้างอาณาจักรของพระเจ้าในโลก, 2) เราควรจะทำอะไรเวลานี้ และ 3) เราจะเริ่มทำอะไรบ้างตอนนี้ ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้า

ในช่วงเวลาที่กำลังรอคอยการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งนี้ พระคริสตเจ้าทรงเสด็จมาหาเราทุกวันในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน เป็นต้นในคนยากจนและคนต้องการความช่วยเหลือ คริสตชนจะต้องเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ด้วยการเปิดใจเราต้อนรับพระองค์และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนพี่น้อง เวลาใดก็ตามที่เราทำตามหน้าที่ของเราเพื่อพระองค์ พระองค์จะเสด็จมาหาเรา และเวลาใดก็ตามที่เราภาวนาร่วมกันในนามของพระองค์ พระองค์จะประทับอยู่กับเรา

บทสรุป

พี่น้องที่รัก บ่อยครั้งที่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายซื้อของขวัญเพื่อมอบแก่กันและกัน ของขวัญคริสต์มาสที่แท้จริงมีเพียงอย่างเดียวคือ องค์พระคริสต์เจ้า ผู้ทรงเป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าที่ทรงมอบแก่เราในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ และพระบิดาเจ้าปรารถนาจะมอบของขวัญนี้แก่เราเสมอทุกวัน

เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของรื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้า เป็นช่วงเวลาแห่งความเพียรทนในการภาวนาด้วยความเชื่อไว้ใจ และเปิดใจของเราต้อนรับพระองค์ในเพื่อนพี่น้อง เป็นต้นในคนยากจนและต้องการความช่วยเหลือ พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของการก้าวเดินออกจากความมืดด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อเดินในแสงสว่างขององค์พระคริสตเจ้า

พระศาสนจักรให้เราเริ่มต้นปีพิธีกรรมด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เพื่อท้าทายและกระตุ้นเตือนเราให้คิดถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา ในการมุ่งหน้าไปพบพระเจ้าที่กำลังเสด็จมา ด้วยการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ในการทำให้พระคริสตเจ้าปรากฏเป็นจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อพระองค์ คริสตชนแต่ละคนจะต้องถอดแบบพระคริสตเจ้าในความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้อง “ป่วยการที่จะแสวงหาพระเจ้าในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากเราได้สูญเสียพระองค์ไปจากใจเรา” (Anthony de Mello)

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
26 พฤศจิกายน 2010

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฆาตกรรมเด็กทารก 2002 ศพ

 ฆาตกรรมเด็กทารก 2002 ศพ


“ถ้าคุณรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเธอกำลังตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน มีลูกอยู่แล้ว 8 คน ลูก 3 ใน 8 คนนั้นหูหนวก อีก 2 คนตาบอด และ 1 ใน 8 คนนั้นมีอาการทางสมอง (Mentally Retard) และตัวเธอเองก็ป่วยเป็นโรคทางเพศ (Syphilis) คุณจะแนะนำให้เธอทำแท้งหรือไม่” นี่คือส่วนหนึ่งของฟอร์เวิร์ดเมลที่ได้รับ และคำตอบที่เฉลยให้ทราบคือ “หากใครคิดแนะนำให้หล่อนไปทำแท้งแล้วล่ะก็ หมายความว่าคุณเพิ่งตัดสินใจฆ่า บีโธเฟ่น (Ludwig van Beethoven: 1770-1827) คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกไปเสียแล้วล่ะ”

แต่ในความเป็นจริง มีเด็กเป็นจำนวนมากที่ถูกทำแท้งก่อนที่จะได้มีโอกาสลืมตามาดูโลก เด็กเหล่านี้กำลังจะเกิดมา เขาบริสุทธิ์และไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลย แต่ต้องมารับกรรมในสิ่งที่คนสองคนก่อขึ้น เขาถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตโดยไม่มีทางสู้และป้องกันตนเอง เป็นเสียงกรีดร้องที่ไม่มีใครได้ยิน ข่าวการค้นพบซากทารกที่ถูกทำแท้งเถื่อนรวม 2,002 ศพ บริเวณช่องเก็บศพวัดไผ่เงินโชตนาราม ถนนจันทน์ ซอย 43 แยก 22 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ (16 พฤศจิกายน) คือสิ่งที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคมและประจานความฟอนเฟะของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

นี่คือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของสังคมไทย ที่ไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายประเทศเท่าใดนัก ประการสำคัญ เด็กเหล่านี้คือผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองอะไรใครและไม่มีทางสู้ แต่ต้องมาถูกทำลายด้วยน้ำมือของคนที่เป็นแม่และพ่อที่ไม่รับผิดชอบ ซึ่งบีบบังคับให้เธอต้องทำเช่นนั้น ยิ่งได้อ่านความคิดของเด็กด้วยกันแล้วยิ่งสลดใจ ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนวัดไผ่เงิน กล่าวว่า “รู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่รู้เหมือนกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมพวกผู้ใหญ่ถึงได้ใจร้ายขนาดนี้”

ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า นับตั้งแต่มนุษย์ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา จนถึงเวลาที่ลืมตามาดูโลก สำหรับเราคริสตชน ชีวิตมีความหมายมากกว่านั้น เพราะเป็นของประทานจากพระเจ้า ที่ทรงสร้างเรามาตามฉายาของพระองค์ ให้มีความคิด สติปัญญา และน้ำใจอิสระที่จะดำเนินชีวิตตามที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นเจ้าของชีวิต มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ทำลายชีวิตของตนหรือของผู้อื่น

เราจะมีส่วนชดเชยบาปของสังคมเหล่านี้ได้อย่างไร วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ขอเชิญร่วมพิธี “ตื่นเฝ้าเพื่อชีวิตมนุษย์ทุกคนที่จะเกิดมา” (Vigil for All Nascent Human Life) ซึ่งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 จะเสด็จเป็นองค์ประธาน ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร และร่วมสวดทำวัตรเย็น ของวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

สมเด็จพระสันตะปาปายังทรงขอร้องบรรดาพระสังฆราชทุกสังฆมณฑล และทุกวัดให้ร่วมภาวนาพร้อมกับบรรดาสัตบุรุษเพื่อจุดประสงค์นี้ในวัดของตน รวมถึงในคณะนักบวช สมาคม หรือกลุ่มต่างๆ ซึ่งทุกแห่งสามารถทำได้ ด้วยการสวดทำวัตรเย็น สายประคำ และอวยพรศีลมหาสนิท หากคริสตชนทุกคนสวดพร้อมกันทั่วโลก ลองคิดดูว่าจะมีพลังมากขนาดไหน

สามารถดาวโหลดบทภาวนาได้ที่ http://www.catholic.or.th/service/inform/bookfold_4.doc

ขอบคุณ “คุณสัม” Kakanand Srungboonmee ที่จุดประกายความคิด

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
23 พฤศจิกายน 2010

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 28

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 28, อาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
มิสซาหน้าศพ มารีอาสุพัตรา ลามุงคุณ อายุ 22 ปี ที่เสียชีวิตจากฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบที่ยะลา (15 พ.ย.)

ในสัปดาห์สุดท้ายของปีพิธีกรรม พระศาสนจักรให้เราสมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลและจักรวาล เราสามารถถวายเกียรติและช่วยให้อาณาจักรของพระองค์แพร่ขยายไปทั่วโลกได้ ผ่านทางการเจริญชีวิตในความรักต่อกัน ในสันติสุข และในการแบ่งปันสิ่งที่เรามีกับคนอื่น ทั้งในฐานะสมาชิกของพระศาสนจักรหรือในฐานะบุคคล

พระเยซูเจ้าต้องการให้เราเป็นผู้นำข่าวดีแห่งความรักของพระองค์ไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะกับคนยากจนและคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เราได้เป็นผู้นำข่าวดีของพระองค์ในแบบไหน ให้เราเงียบสักครู่เพื่อขอให้พระองค์ได้ทรงอภัยบาปของเรา เหมือนที่ทรงให้อภัยโจรที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์
มารีอาสุพัตราเป็นบุตรีของนายแสวง-นางลาวรรณ ลามุงคุณ แต่งงานกับนายปิยะ กุดพรมมา มีบุตร 1 คน

บทอ่านที่ 1: หนังสือซามูแอล ฉบับที่สอง 5:1-3

ในหนังสือซามูแอล ดาวิดได้กลายเป็นกษัตริย์ของอิสราแอล แต่ดาวิดทราบดีว่าเป็นพระเจ้าที่เลือกสรรเขาให้มาเป็นผู้นำประชากรของพระองค์ เพื่อช่วยพวกเขาให้ได้รับความปลอดภัยจากศัตรู อาณาจักรของดาวิดในโลกนี้มีวันสิ้นสุด แต่อาณาจักรของพระคริสตเจ้าคงอยู่ตลอดไปไม่มีวันเสื่อมสลาย (อสย 9:6)

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสี 1:12-20

เราถวายเกียรติแด่พระคริสตเจ้าในฐานะผู้ปกครองสูงสุดของสิ่งสร้างทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นหัวใจของการไถ่กู้มนุษยชาติ ทุกสิ่งและทุกคนรวมเป็นหนึ่งเดียวในพระองค์ นักบุญเปาโลได้แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนได้รับความรักและการช่วยให้รอดจากพระองค์ การปกครองของพระองค์นำมาซึ่งการให้อภัยบาปและประกาศยุคแห่งความรอด
การทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวนาบัว ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงมาก จึงมีหลายกลุ่มหันมาช่วยเหลือกัน

พระวรสาร: นักบุญลูกา 23:35-43

ในพระวรสารวันนี้ นักบุญลูกาได้นำเสนอภาพที่ควรค่าแก่การจดจำคือฉากการตรึงกางเขน เหนือศีรษะของพระเยซูเจ้ามีข้อความว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว” ผู้นำชาวยิวและทหารเห็นว่านี่คือคือคำเยาะเย้ย แต่ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์รับรู้ถึงความจริงนี้ “โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระองค์เสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” และเขาได้รับการช่วยให้รอด
บรรยากาศการลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวนาบัว เพื่อต่อสู้กับค่าแรงที่ตอนนี้ขึ้นไปถึง 270 บาทต่อวัน

 ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 7 ที่ช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 8

2) อาทิตย์หน้า (28 พฤศจิกายน) เราจะเข้าสู่ปีพิธีกรรมของพระศาสจักร ปี A ซึ่งเริ่มด้วย สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ถือเป็นช่วงเวลาของการเตรียมฉลองวันพระคริสตสมภพ ขอให้ทุกคุ้มเริ่มทำดาว และประดับตกแต่งบ้านของตน

3) ขอบคุณบรรดานักการเมืองท้องถิ่นคริสตชน ที่ไปร่วมการสัมมนาบทบาทของนักการเมืองคริสตชน ในวันเสาร์ที่ผ่านมา และขอพี่น้องได้สนับสนุนสลากการกุศลคริสต์มาส เพื่อหาทุนสนับสนุนหน่วยงานคาทอลิกในอัครสังฆมณฑลของเรา

4) พี่น้องที่มีลูกหลานทำงานตามที่ต่างๆ ที่ประสงค์จะทำผ้าป่าเพื่อสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้ อนุสรณ์ 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรมของวัดของเรา โอกาสฉลองวัด ในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2011 ติดต่อกับทางวัดได้

5) เงินทานวันเสาร์ ได้ 497.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน ได้ 1,300.- บาท, เงินต้นในมิสซาปลงศพ มารีอาสุพัตรา ลามุงคุณ (18 พ.ย.) ได้ 4,200.- บาท, เงินบำรุงโลงเย็นและถ้วยชาม 700.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 252.- บาท
ข้าวสุกเต็มท้องนา แต่เมื่อร่วมแรงร่วมใจกันก็เสร็จภายในวันเดียว

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

วันอาทิตย์ สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ปี C
2ซมอ 5:1-3
คส 1:12-20
ลก 23:35-43

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า ทหารอเมริกันคนหนึ่งขณะกำลังนั่งรถโดยสารประจำทางในประเทศสวีเดน ได้บอกกับชายที่นั่งถัดจากเขาว่า “สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ที่อเมริกาประชาชนทั่วไปสามารถไปพบประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาวได้ และสามารถพูดจาถกเถียงกับประธานาธิบดีได้ทุกเรื่อง” ชายที่นั่งติดกันกับเขาพูดขึ้นบ้างว่า “นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ในประเทศสวีเดนกษัตริย์และประชาชนเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถประจำทางคันเดียวกัน”

เมื่อทหารอเมริกันคนนั้นลงจากรถโดยสาร ผู้โดยสารที่เห็นเหตุการณ์ได้บอกให้เขาทราบว่า ชายที่นั่งติดกับเขาและพูดกับเขาคือ กษัตริย์กุสตาฟ อด๊อฟ ที่ 6 (Gustaf VI Adolf: 1882-1973) แห่งประเทศสวีเดน ปัจจุบันระบอบกษัตริย์ในประเทศยุโรป ได้เสื่อมความนิยมลงและหมดความสำคัญไป คงเหลือเพียงไม่กี่ประเทศ และที่เหลืออยู่ก็เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเช่นอดีต

นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยเรา ที่สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เนื่องจากพระองค์ทรงไว้ซึ่งทศพิศราชธรรม “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ประชาชนไทยทุกคนประจักษ์ชัดถึงพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ทำให้เราคริสตชนไทยเข้าใจความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรให้เราทำการฉลองในสัปดาห์สุดท้ายของปีพิธีกรรม ได้ดียิ่งขึ้น

1. ราชันแห่งราชาทั้งหลาย

แม้ว่าพระคัมภีร์จะกล่าวถึงความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าอย่างชัดแจ้ง เช่น การสืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด การที่โหราจารย์จากทิศตะวันออกเดินทางมานมัสการกษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติ หรือคำตอบที่พระองค์ที่พระองค์ให้กับปีลาโตเมื่อถูกถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์หรือ” แต่ต้องรอถึงปี ค.ศ. 1925 พระศาสนจักรจึงได้กำหนดให้มีวันฉลองการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า โดยพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 ทั้งนี้เพื่อเป็นคำตอบสำหรับประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของบรรดากษัตริย์ในต้นศตวรรษที่ 20

บรรดากษัตริย์เหล่านั้นได้ปกครองประชาชนด้วยอำนาจเผด็จการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และมองข้ามบทบาทของพระเจ้าในการนำทางชีวิตของประชาชน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร พระศาสนจักรได้แสดงให้เห็นว่า อาณาจักรไม่ได้มีอำนาจสูงสุดแต่อย่างใด มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่มีอำนาจสูงสุด และในฐานะคริสตชนเราทราบว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นราชันแห่งราชาทั้งหลาย ซึ่งนักบุญเปาโลได้ย้ำในบทอ่านที่สองว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของสิ่งสร้างทั้งหลาย ทุกสิ่งถูกสร้างมาผ่านทางพระองค์และเพื่อพระองค์

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้ามีลักษณะแตกต่างจากบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ไม่มีข้าทาสบริวาร ไม่มีวังที่ประทับ ไม่มีคทาที่แสดงถึงการเป็นกษัตริย์ ในทางกลับกัน พระองค์มีมงกุฎหนามสวมพระเศียร ร่างกายเปลือยเปล่า พระพักตร์ชุ่มไปด้วยเลือด พระองค์ถูกทิ้งให้อยู่โดยลำพัง ขณะที่คนที่เคยติดตามพระองค์ต่างหนีเอาตัวรอด พระองค์ถูกสบประมาทและเยาะเย้ยจากผู้นำชาวยิวและทหาร

2. กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า ได้เผยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเวลาที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน นี่คือ ฉากสำคัญที่นักบุญลูกาได้แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ในพระวรสารวันนี้ บนไม้กางเขนเหนือศีรษะของพระองค์มีข้อความเขียนเป็นภาษากรีก ลาตินและฮีบรูว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว” พระองค์ทรงครองราชย์ ณ เชิงเขากัลวารีโอ โดยมีโจรสองคนเป็นพยาน (ตามกฎของโมเสส) โจรคนหนึ่งได้พูดจาดูหมิ่นพระองค์ แต่อีกคนหนึ่งคัดค้าน “สำหรับเราก็ยุติธรรมแล้ว... แต่ท่านผู้นี้ไม่ได้ทำผิดเลย”

พระเยซูเจ้าทรงปกครองจากไม้กางเขน ขณะที่พระองค์กำลังสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอภัยบาปโจรคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ เพราะเขาสำนึกผิดและประกาศว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์ทรงสัญญาจะประทานความรอดให้เขา “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” พระองค์ไม่เพียงให้อภัยโจรที่สำนึกผิด แต่ยังทรงวอนขอพระบิดาให้อภัยคนที่ประหารพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรลงไป” (ลก 23:33)

อาณาจักรของพระเยซูเจ้าจึงเป็นอาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัย อำนาจปกครองที่พระองค์มีคือ ความรักที่พร้อมจะให้อภัยเสมอ (Forgiving love) ดังคำกล่าวของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope: 1688-1744) นักประพันธ์ชาวอังกฤษที่ว่า “ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า” (to err is human, to forgive divine.) พระองค์ไม่ทรงจดจำความผิดหรือแก้แค้นใคร แต่ทรงให้อภัยโดยไม่มีขอบเขต เพื่อทุกคนจะเข้าในอาณาจักรของพระเจ้าได้

บทสรุป

พี่น้องที่รัก กษัตริย์ในบริบทของชาวยิว แตกต่างจากกษัตริย์ในบริบทของชนชาติอื่น พระเจ้าทรงกำหนดให้กษัตริย์ที่ปกครองประชากรที่ทรงเลือกสรรในนามของพระองค์นั้น ต้องเป็นทั้งผู้เลี้ยงแกะและผู้ปกครอง และพระเยซูเจ้าได้ทรงสืบทอดเจตนารมณ์นี้ ทรงยืนยันความเป็นกษัตริย์ของพระองค์บนไม้กางเขนขณะที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีที่ยอมสละชีวิตเพื่อฝูงแกะของพระองค์

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าแตกต่างจากบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่รักโดยไม่มีเงื่อนไข รักแม้กระทั่งศัตรู ทรงเป็นกษัตริย์ที่รับใช้และมอบชีวิตเพื่อคนอื่น มิใช่ให้คนอื่นรับใช้ และทรงเป็นกษัตริย์ที่ให้อภัยเสมอ ให้อภัยแม้คนที่ประหารพระองค์ อาณาจักรของพระองค์จึงเป็น อาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัย

พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ของเราทุกคน ที่จะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ในวาระสุดท้าย ทุกครั้งและทุกแห่งที่เราทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ในการรัก รับใช้ และให้อภัยซึ่งกันและกัน อาณาจักรของพระองค์อยู่ที่นั่น และที่ไหนที่พระเจ้าทรงปกครอง ที่นั่นจะมีแต่ความยุติธรรม สันติภาพ และความสุข ดังนั้น ขอให้เราได้ดำเนินชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีในอาณาจักรของพระองค์ ในความรัก การรับใช้ และการให้อภัยซึ่งกันและกันด้วยใจกว้าง เป็นต้น ในครอบครัว ในที่ทำงาน และในหมู่บ้านของเรา

ดอกผักสะแงง ซึ่งพระเยซูเจ้าเปรียบว่ากษัตริย์ซาโลมอนในวันที่ทรงเครื่องยศกษัตริย์ ยังงดงามสู้ดอกหญ้าไม่ได้

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
19 พฤศจิกายน 2010

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เก็บตกจากการเข้าเงียบ

 เก็บตกจากการเข้าเงียบ(ประจำปี)




การเข้าเงียบประจำปีของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ประทับใจทั้งผู้เทศน์ (คุณพ่อโจวันนี โครแปลลี) และผู้ฟังเทศน์ แม้ว่าวันแรกออกจะเข้มข้น ดูจริงจัง เนื้อหาล้วนๆ ตามแบบฉบับของกาปูชินที่มีความลึกซึ้งเรื่องชีวิตภายในอยู่แล้ว อีกทั้งผู้เทศน์ยังมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าคณะภราดาน้อยกาปูชินด้วย

ดูเหมือนคุณพ่อโจวันนี ที่เรียกสั้นๆ ว่า “พ่อโจ” จะเป็นกังวลบ้าง แต่เมื่อวันแรกผ่านพ้นไป ทุกอย่างก็เริ่มผ่อนคลาย ประกอบกับการได้เริ่มรู้จักธรรมชาติของพระสงฆ์ท่าแร่ที่สบายๆ แม้ในเรื่องชีวิตจิตก็ชอบที่จะก้าวเดินไปทีละก้าวแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมียกเว้นบ้างก็แต่พระคุณเจ้าจำเนียร (สันติสุขนิรันดร์) ที่ความร้อนรนเป็นที่ประจักษ์ หากการเป็นนักบุญคือเส้นชัยที่ต้องไปให้ถึง พระคุณเจ้าอยากไปถึงตั้งแต่เริ่มก้าวแรก

เมื่อได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้ความเป็นศิลปินของพ่อโจได้แสดงออกอย่างเต็มที่ กีตาร์ตัวเล็ก (กว่าขนาดปกติ ซึ่งออกจะขัดแย้งกับเจ้าตัวซึ่งสูงโปร่ง หนวดเครายาว) จึงกลายเป็นเครื่องดนตรีที่ขาดไม่ได้ในการเริ่มต้นบทเทศน์ และสอนพวกเราให้ขับร้องบทเพลงเพื่อยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า ก่อนการเริ่มบทเทศน์แต่ละครั้ง

เรื่องเล่า หรือ “นิทานก้อม” ตามสำนวนของคุณพ่อสุรพงศ์ (นาแว่น) เริ่มได้ยินจากปากของพ่อโจบ้างเมื่อย่างเข้าสู่วันที่สองของการเข้าเงียบ ยิ่งเมื่อได้เห็นการตอบรับเป็นอย่างดี จึงมีเรื่องที่สอง ที่สามตามมา รวมถึงทำให้พวกเราได้รับทราบว่า สาเหตุที่กาปูชินไว้หนวดเครายาว เพื่อเป็นการถือความยากจน ไม่ติดยึดอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก ตามจิตตารมย์ของนักบุญฟรังซิสอัสซีซี ที่เน้นความงดงามจากภายใน

พ่อโจบอกว่า เอกลักษณ์ของกาปูชินนอกจากหนวดเครายาวแล้ว เคราต้องเป็นสีเหลืองซึ่งเกิดจากการกินซุบ ดูเหมือนเคราของพ่อโจจะเริ่มเป็นสีดอกเลา แต่ยังแลดูสวยงาม ขัดกับผมทรงสกินเฮดที่พ่อบอกว่าสร้างความคลางแคลงใจให้ผู้พบเห็นเสมอ เพราะมักจะถูกถามว่า “พระนิกายไหน” แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะพ่อบอกเสมอว่า ใจสำคัญมากกว่า

ที่สุด วันสุดท้ายของการเทศน์ก็มาถึง ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียดาย สามวันสั้นไป” รวมถึงพ่อโจที่กำลังสนุกกับการเทศน์ เป็นบรรยากาศที่คุณพ่อพูดเสมอว่า “ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน หากเทศน์ที่กรุงเทพฯ คงทำอย่างนี้ไม่ได้” วันสุดท้ายเราจึงได้ยินเรื่องราวชีวิตล้วนๆ ของคุณพ่อในบทเทศน์ สามสี่วันที่อยู่ด้วยกัน ทำให้ได้รู้จักพระสงฆ์ท่าแร่มากขึ้น รวมถึงพระคุณเจ้าจำเนียร ซึ่งไม่เหมือนกับที่ได้ยินมา คุณพ่อยืนยันเช่นนั้น (บางคนบอกว่า หากอยู่นานกว่านี้ความคิดอาจเปลี่ยนก็เป็นได้)

ไฮไลท์ของการเทศน์เข้าเงียบปีนี้ ดูเหมือนจะอยู่ที่ตอนจบของการเทศน์ ซึ่งพ่อโจได้สอนพวกเราให้ขับร้องบทเพลง “สันติภาพจากเบื้องบน” และแสดงท่าประกอบ โดยเลือกผู้นำอย่าง คุณพ่อสุพล (ยงบรรทม), คุณพ่อสุรพงศ์ (นาแว่น) และพระคุณเจ้า ออกไปเป็นต้นแบบในการแสดงท่าประกอบ ซึ่งเรียกเสียงฮาจากทุกคน

เนื้อหาของบทเพลงสันติภาพจากเบื้องบนมีดังนี้: สันติภาพ มาจากเบื้องบน เข้ามาสู่ดวงใจ และปรากฏบนใบหน้า ตอนนี้ ฉันจับมือเธออยู่นะ ฉันไม่ได้อยู่เดียวดาย เธอไม่ได้อยู่ห่างไกล..... ไกล (รับ)
     1) สันติภาพแท้จริง จะพบได้ถ้าต้องการ นั่นคือพระเจ้า ในท่ามกลางพวกเรา (รับ)
     2) มิตรภาพนี้ ที่ล้อมรอบองค์พระเจ้า เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และจะไม่มีวันสิ้นสูญ

ทุกครั้งที่ฮัมเพลงนี้ ก็จะนึกถึงดวงหน้าและแววตาอันเปี่ยมสุขและร่าเริงยินดีของพ่อโจ รวมถึงพรีเซนเตอร์ทั้งสามอย่างคุณพ่อสุพล, คุณพ่อสุรพงศ์ และพระคุณเจ้า บางคนยังนึกเสียดาย บอกว่าน่าจะเชิญคุณพ่อประยูร (พงษ์พิศ) ไปร่วมแสดงท่าประกอบอีกคน จะได้ครบองค์คณะ “ตราเด็กสมบูรณ์” กระนั้นก็ดี แค่นี้ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอัครสังฆมณฑลฯ แล้ว (ว่าอย่างนั้น)

บทสรุปที่ได้จากการแบ่งปันของแต่ละกลุ่ม จึงสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกประทับใจในบทเทศน์ที่มาจากชีวิตและการปฏิบัติของคุณพ่อ ที่ได้แสดงให้เห็นว่า พระคัมภีร์คือขุมทรัพย์ที่ไม่มีวันเหือดแห้ง ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เสมอ ประการสำคัญ กระแสเรียกการเป็นสงฆ์ซึ่งเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า จะต้องได้รับการรื้อฟื้นทุกวัน โดยมีความรักเมตตาและการให้อภัยเครื่องนำทาง พระสงฆ์จะต้องเป็นเหมือนสะพานที่นำทุกคนมาหาพระเจ้า

ขอบคุณ “พ่อโจ” ด้วยจริงใจ สำหรับบทเทศน์และแบบอย่างชีวิตที่ดังยิ่งกว่าคำพูด จริงอย่างบทเพลงที่คุณพ่อสอน “มิตรภาพ... เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ และไม่มีวันสิ้นสูญ” คุณพ่อจะอยู่ในใจและคำภาวนาของพวกเรา ตลอดไป
DON DANIELE
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
14 พฤศจิกายน 2010


วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 27

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 27, อาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231
การขายข้าวเม่า ถือเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของพี่น้องชาวนาบัว มีเพิงขายแบบนี้หลายจุด
 สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา

ในสัปดาห์ก่อนสุดท้ายของปีพิธีกรรม พระศาสนจักรเรียกร้องให้เราได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้าย วันสิ้นโลก และความสำคัญของความเพียรทน ในพระวรสารพระเยซูเจ้าได้ให้ความมั่นใจกับบรรดาอัครสาวกว่า พระองค์จะอยู่กับพวกเขาตลอดไปในเวลาของความยากลำบาก ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาและความสับสนวุ่นวาย

พระเยซูเจ้าทรงสอนพวกเขาให้ดำเนินชีวิตคริสตชนในการเป็นพยานถึงพระองค์ในโลกนี้ด้วยความซื่อสัตย์ เราได้เป็นแสงสว่างแห่งความจริงและความรักของพระคริสตเจ้ามากน้อยแค่ไหนในชีวิตประจำวันของเรา หรือหลงไปกับกระแสค่านิยมของโลก ให้เราได้เงียบสักครู่หนึ่งเพื่อขอสมาโทษพระองค์
กว่าจะเป็นข้าวเม่า ต้องเกี่ยวข้าวเขียวที่กำลังพอเม่า แล้วนำมาคั่วให้สุกแบบนี้
บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกมาลาคี 4:1-2ก

ประกาศกมาลาคีเห็นถึงความอยุติธรรมในสังคม จึงได้เตือนคนที่ไม่เชื่อพระเจ้าและให้กำลังใจผู้ที่เชื่อ โดยย้ำถึงการเสด็จมาของพระเจ้าเพื่อพิพากษาคนที่กระทำความชั่ว ดังไฟที่เผาผลาญซังข้าวในทุ่งนา แต่สำหรับคนที่มั่นคงในความเชื่อและเป็นคนชอบธรรมจะเป็นวันที่พวกเขาได้รับความรอดจากพระเจ้า ผู้เป็นดวงอาทิตย์แห่งความยุติธรรม

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาถึงชาวเธสะโลนิกาฉบับที่สอง 3:7-12

เปาโลได้ตักเตือนคริสตชนให้รอคอยการเสด็จมาของพระเจ้าด้วยการทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างซื่อสัตย์ โลกที่เราอยู่คือสิ่งสร้างของพระเจ้าที่เราต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง ไม่ใช่เกียจคร้านนั่งงอมืองอเท้าโดยไม่ทำอะไร อีกทั้ง จะต้องกระทำความดีหลีกเลี่ยงความชั่วร้ายที่อยู่รอบตัวเรา เพื่อเตรียมสำหรับการเข้าในอาณาจักรของพระองค์
จากนั้นนำไปตำในครกกระเดื่อง ที่ดัดแปลงโดยใช้รถไถนาแบบเดินตามเป็นตัวดันกระเดื่อง
พระวรสาร: นักบุญลูกา 21:5-19

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตรัสถึงการล่มสลายของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มจนไม่เหลือหินซ้อนกัน ทรงเตือนบรรดาศิษย์ให้ระวังประกาศกเทียม และพร้อมที่จะเผชิญกับการเบียดเบียนในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์จะอยู่กับพวกเขาตลอดไป
เมื่อเห็นข้าวที่ตำกระเทาะจนแหลก แม่บ้านก็จะนำมาฝัดด้วยกระด้ง เพื่อแยกแกลบแบบนี้
 ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 6 ที่ช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 7 และขอให้แต่ละกลุ่มได้นำเอกสารประกอบการประชุมเดือนนี้ เพื่อนำไปใช้ในการประชุมกลุ่มของตน

2) ขอบคุณพี่น้องที่ภาวนาเพื่อการเข้าเงียบประจำปีของบรรดาพระสงฆ์ ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

3) ขอเชิญนักการเมืองท้องถิ่นคริสตชน ได้แก่ นายกเทศมนตรี, นายก อบต., ส.อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยฯ และกรรมการหมู่บ้าน เข้าร่วมการสัมมนานักการเมืองท้องถิ่นคริสตชน วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ที่ห้องประชุมโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร

4) พี่น้องที่มีลูกหลานทำงานตามที่ต่างๆ ที่ประสงค์จะทำผ้าป่าเพื่อสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้ อนุสรณ์ 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรมของวัดของเรา โอกาสฉลองวัด ในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2011 ติดต่อกับทางวัดได้

5) เงินทานวันเสาร์ ได้ 1,130.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน ได้ 1,663.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 252.- บาท

ตำและฝัดอยู่ 3-4 เที่ยวจนแน่ใจว่าไม่มีแกลบปนอยู่ก็จะได้ข้าวเม่าที่หอมพร้อมขาย
ผ่านไปทางนาบัว อย่าลืมไปช่วยอุดหนุนด้วยนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วาระสุดท้ายและวันของพระเจ้า

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา ปี C
มลค 4:1-2ก
2 ธส 3:7-12
ลก 21:5-19

บทนำ

ปลายปีที่แล้ว (2009) ได้มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ “2012 วันสิ้นโลก” เป็นภาพยนตร์แนวหายนะเกี่ยวกับวันสิ้นโลก ที่นำเสนอปรากฏการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในโลก โดยชี้ให้เห็นว่ามหันตภัยที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่จุดจบของโลกตามปฏิทินของชาวมายา ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) อันเป็นวันสิ้นสุดของเวลาตามปฏิทินของชาวมายา

ชาวมายาเป็นชนเผ่าโบราณในดินแดนยูคาทาน ในเม็กซิโกและกัวเตมาลาในราวศตวรรษที่ 3-16 ก่อนคริสตกาล เป็นชนชาติที่มีความเป็นเลิศด้านการคำนวณและดาราศาสตร์ การกำหนดวันสิ้นสุดของโลกตามปฏิทินของพวกเขาในวันดังกล่าว ได้กลายเป็นจุดขายให้บริษัทโคลัมเบียพิคเจอร์นำไปสร้างภาพยนตร์ โกยเงินเข้ากระเป๋า และก่อให้เกิดกระแสเรื่อง “อวสานของโลก” ให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

ความจริง กระแสเรื่องวันสิ้นโลกมีมาช้านานแล้ว หากเรายังจำกันได้ก่อนเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 คนทั่วโลกต่างหวาดกลัวกันมากว่าอวสานของโลกได้มาถึงแล้ว เพราะ “นอสตราดามุส” ได้ทำนายเอาไว้ว่าความพินาศจะเกิดขึ้นกับโลกในปี ค.ศ. 2000 จะเกิดมหันตภัยร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์ และสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ฟังดูน่าสะพรึงกลัว แต่โลกยังอยู่มาถึงทุกวันนี้

ในสัปดาห์ก่อนสุดท้ายของปีพิธีกรรมของพระศาสนจักร เป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรเรียกร้องให้เราได้พิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้าย การสิ้นสุดของโลกและของมนุษย์แต่ละคน พระคัมภีร์บอกเราว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด แต่ที่เรารู้อย่างแน่นอนไม่มีใครปฏิเสธคือ วาระสุดท้ายของเราในโลกจะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อเราจบชีวิต (ตาย)

1. วาระสุดท้ายและวันของพระเจ้า

ประกาศกมาลาคีเห็นถึงความอยุติธรรมในสังคมที่อยู่รอบตัวท่าน และได้พูดถึง “วันของพระเจ้า” ที่จะมาถึง ซึ่งเป็นวันที่พระยุติธรรมของพระเจ้าจะฉายแสง อันเป็นความหวังสำหรับประชากรอิสราแอลในพันธสัญญาเก่าที่ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบว่า ที่สุดแล้วพวกเขาจะได้รับความยุติธรรมจากพระเจ้าเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง เป็นการให้กำลังใจพวกเขาที่กำลังทนทุกข์ให้มีกำลังใจและความหวัง ไม่มีใครทราบว่าวาระสุดท้ายของโลกจะมาถึงเมื่อไร แต่วันนั้นจะมาถึงอย่างแน่นอน

ต่อมาภายหลังได้ประยุกต์ความคิดเกี่ยวกับวาระสุดท้ายและวันของพระเจ้ากับ “การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า” ผู้ทรงเป็นดวงอาทิตย์แห่งความยุติธรรม ตามความเชื่อที่เราประกาศทุกอาทิตย์ว่า “พระองค์จะเสด็จมาอีกด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย” อันเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรนิรันดรของพระเจ้า และเป็นความหวังสำหรับเราคริสตชนในปัจจุบัน

นักบุญเปาโลและคริสตชนในระยะเริ่มแรกเข้าใจว่า วันของพระเจ้าและการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า บางคนจึงอยู่อย่างเกียจคร้าน ไม่คิดจะทำอะไร แต่นักบุญเปาโลได้เตือนสติพวกเขาไม่ให้ตื่นตระหนก แต่ให้ทำงานอย่างสงบ ทำให้โลกนี้เป็นบ้าน (ชั่วคราว) ที่น่าอยู่สำหรับตัวเราเอง และสำหรับเพื่อนพี่น้องของเรา เหมือนอย่างที่ท่านได้ทำเป็นตัวอย่าง ไม่ยอมเป็นภาระแก่ใคร และได้กำชับว่า “ถ้าใครไม่อยากทำงานก็อย่ากิน” เพราะมีบางคนไม่ยอมทำอะไร แต่ชอบไปยุ่งเกี่ยวกับธุระของคนอื่น

ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงสอนถึงการสิ้นสุดของโลกและของมนุษย์แต่ละคน โดยโยงไปถึงการล่มสลายของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่ทรงเห็นล่วงหน้าถึงจุดจบที่น่าอนาถ พระองค์ไม่ทรงต้องการให้มนุษย์กังวลถึงการสิ้นสุดของโลก แต่ทรงสอนให้เตรียมตัวไปถึงเวลานั้นด้วยความเชื่อและความซื่อสัตย์ พระองค์ได้ให้ความมั่นใจกับเราว่าจะอยู่กับเราตลอดไป (มธ 28:20) แม้ว่าร่างกายจะต้องถึงจุดจบในรูปแบบต่างๆ กัน แต่ความเชื่อและความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจะนำวิญญาณเราไปสู่ความรอด

2. ความหมายสำหรับเรา

เราไม่ทราบว่าวาระสุดท้ายของโลกจะมาถึงเมื่อไหร่ อีกทั้งไม่รู้วันตายของเราด้วย แต่เราแน่ใจว่าวันสิ้นโลกจะมาถึงอย่างแน่นอน ชาวอเมริกันตะวันตกมีสุภาษิตบทหนึ่งว่า “เขาตายพร้อมกับรองเท้าบูทของเขา” (He died with his boots on.) นั่นหมายความว่า บุคคลนั้นตายขณะกำลังทำหน้าที่ เขาได้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าจนถึงวาระสุดท้ายในโลก ให้เราได้คิดถึงพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงรักซึ่งกันและกัน” “จงมีความเมตตากรุณาเหมือนที่พระบิดาทรงมี” “จงให้อภัยซึ่งกันและกันด้วยใจกว้าง” นี่คือ การวางแผนที่จะตายพร้อมกับรองเท้าบูทด้วยการเดินตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า

ข่าวดีที่พระเยซูเจ้าต้องการจะบอกเราคือ เราจะต้องไม่กลัวการสิ้นโลก หรือการจบชีวิตจากโลกนี้ หากเราได้ดำเนินชีวิตอย่างชื่อสัตย์และทำหน้าที่ของเราอย่างดีและรับผิดชอบ เราจะต้องไม่ตื่นตระหนกเพราะพระเจ้าจะทรงพิพากษาเราด้วยความเมตตากรุณา และนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดร นักบุญเปาโลบอกเราว่า “หากเราตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า เราจะกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์” เหตุการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือเครื่องหมายที่บอกให้รู้ว่าวาระสุดท้ายกำลังมาถึง แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากพระเจ้าไม่ทรงอนุญาต

ประกาศกมาลาคีได้แสดงให้เห็นว่า ใครที่ทำหน้าที่ในแต่ละวันเพื่อเห็นแก่เพื่อนพี่น้อง และได้ต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อและความหวังในการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า เขาจะไม่มีความหวาดกลัวเมื่อเห็นภัยพิบัติและหายนะต่างๆ วาระสุดท้ายจะยังมาไม่ถึงทันที พระเยซูเจ้ายืนยันชัดเจนว่า ไม่มีใครทราบว่าบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาเมื่อไหร่ ดังนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือการเป็นพยานถึงความเชื่อคริสตชนของเรา แม้ในห้วงเวลาของความทุกข์ลำเค็ญ ด้วยการรักษาธรรมบัญญัติของพระเจ้าด้วยความเพียรทน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก แน่นอนว่าโลกจะถึงกาลอวสานในวันหนึ่ง ซึ่งมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้วันเวลาที่แน่ชัด สิ่งที่เราควรกระทำคือ ใช้วันเวลาที่เรามีให้เกิดประโยชน์สำหรับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เชื่อและไว้ใจพระเมตตาและคำสัญญาแห่งรักขององค์พระเจ้าผู้ได้สิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายเพื่อเรา และเมื่อวาระสุดท้ายของเรามาถึง เราจะพร้อมที่จะไปพบพระองค์

เราจะต้องไม่กลัวและกังวลใจถึงอนาคต แต่จะต้องใส่ใจในปัจจุบัน ขณะนี้ เวลานี้ นักบุญเปาโลได้เตือนชาวเธสะโลนิกาและเราแต่ละคนให้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ รับผิดชอบต่อผู้อื่น ไม่ใช่อยู่เฉยๆ โดยไม่ทำงานหรือชอบไปยุ่งเรื่องของคนอื่น สำหรับคนที่เชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง เวลาปัจจุบันคือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

เราถูกเรียกร้องให้แสวงหาและพบพระเจ้าในทุกสิ่ง ในบุคคลแต่ละคน ในทุกสถานที่ และทุกสถานการณ์ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราคือการเตรียมตัวเผชิญกับวาระสุดท้ายของโลกและของชีวิตเรา ด้วยการรักและรับใช้พระเจ้าในผู้อื่นในทุกช่วงเวลาของชีวิตในแต่ละวัน ด้วยความไว้ใจในพระเจ้าและด้วยความเพียรทนจนถึงวาระสุดท้าย

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง
12 พฤศจิกายน 2010

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เข้าเงียบประจำปี

 สงฆ์ท่าแร่ฯ เข้าเงียบประจำปี

คุณพ่อโจวันนี โครแปลลี ผู้เทศน์
สกลนคร  พระสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เข้าเงียบประจำปี ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน ณ สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง โดยมีคุณพ่อโจวันนี โครแปลลี เจ้าคณะภราดาน้อยกาปูชิน เป็นผู้เทศน์ พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำคุณพ่อผู้เทศน์ ก่อนที่จะมีวจนพิธีกรรมเปิดการเข้าเงียบ ในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 8พฤศจิกายน

พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ทุกเดือนเรามีการเข้าเงียบประจำเดือน แต่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาพิเศษที่เราจะได้ภาวนาและพิจารณาตัวเอง ถึงความสัมพันธ์ที่เรามีต่อพระเจ้า ขอให้เราได้ใช้ช่วงเวลาตลอดการเข้าเงียบประจำปีนี้อย่างดี ร่วมมือกับคุณพ่อผู้เทศน์และพระหรรษทานของพระเจ้า เพื่อการเข้าเงียบครั้งนี้จะได้เกิดผลสำหรับชีวิตของเราอย่างแท้จริง

คุณพ่อโจวันนี โครแปลลี ได้เริ่มต้นบทเทศน์โดยกล่าวว่า คุณพ่อดีใจที่ได้รับเชิญให้มาเทศน์ ไม่ได้รู้สึกหนักใจหรือตื่นเต้นอะไร เพราะอย่างน้อยแน่ใจว่ามีบรรดาภราดาที่กำลังภาวนาเพื่อการเทศน์เข้าเงียบของคุณพ่อ คุณพ่อกล่าวด้วยความสุภาพว่าไม่ได้มีปริญญาหรือชีวิตที่ดีเด่นอะไร มีแต่ชีวิตพระวรสารที่พยายามศึกษาและเจริญชีวิตจะมาแบ่งปัน โดยได้หยิบยกพระวาจาเรื่อง “ช่างปั้นหม้อ” จากหนังสือประกาศกเยเรมีย์ (ยรม 18:1-6) เป็นข้อคิดสำหรับการเริ่มต้นการเข้าเงียบ

คุณพ่อได้ย้ำว่า เราแต่ละคนจะต้องเป็นดินเพื่อให้ช่างปั้นหม้อคือพระเจ้า ได้ปั้นเป็นรูปต่างๆ ตามที่พระองค์ทรงต้องการ ประการสำคัญ ต้องยอมให้พระองค์ปั้น และยอมให้พระองค์ชำระให้บริสุทธิ์ เหมือนช่างปั้นหม้อที่เก็บเศษไม้ เศษสิ่งวัตถุที่ไม่มีประโยชน์สำหรับการปั้นออกไป บางครั้งช่างปั้นต้องทุบแรงๆ เพื่อให้ดินขึ้นรูป เราจึงต้องยอมเจ็บปวดและยอมลำบากบ้างเพื่อให้ผลงานที่ออกมานั้นดี ก่อนจะตั้งคำถามทิ้งท้ายให้แต่ละคนได้นำกลับเอาไปคิด นั่นคือ “เราเป็นพระสงฆ์เพื่ออะไร”

อนึ่ง คุณพ่อโจวันนี โครแปลลี ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะภราดาน้อย กาปูชิน อายุ 50 ปี เกิดที่เมืองเบรสชา (Brescia)แคว้นลอมบาเดีย (Lombardia) ทางภาคเหนือของประเทศอิตาลี คุณพ่อเป็นลูกคนโตของครอบครัว มีน้องสาวหนึ่งคน เข้ามาเมืองไทยได้ 9 ปี และบวชเป็นพระสงฆ์ได้ 15 ปี ก่อนหน้าที่จะมาเมืองไทยเคยไปทำงานที่ประเทศคาเมรูน ได้สอนชาวบ้านให้รู้จักการเลื่อยไม้

ส่วนคณะภราดาน้อยกาปูชินเกิดมาจากคณะฟรังซิสกัน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1525 (พ.ศ. 2068) พันธกิจของคณะ คือ “ชีวิตฝ่ายจิต ภาวนา ทำงานอภิบาลกับคนยากจน เจริญชีวิตฉันพี่น้อง เพื่อรับใช้พระศาสนจักรท้องถิ่น และสวดด้วยกัน ทำงานด้วยมือ ในคณะไม่มีคนงาน” มีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 12,000 คน ทำงานอยู่ใน 107 ประเทศ

คณะภราดาน้อยกาปูชินเข้ามาทำงานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดนักบุญมาร์การิตาอาลาก๊อก หนองบัวทอง ปัจจุบัน มีภราดาที่ทำงานในอัครสังฆมณฑล 3 คน ขอคำภาวนาจากพี่น้องสัตบุรุษเพื่อการเข้าเงียบของบรรดาพระสงฆ์ด้วย

DON DANIELE รายงาน
danielkhuan@hotmail.com
สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง
8 พฤศจิกายน 2010