วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า


 พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า  

01 กรกฎาคม
สมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
ปี A
ฉธบ 7:6-11
1 ยน 4:7-16
มธ 11:25-30

บทนำ

เช้าวันหนึ่งชายชราวัย 80 ปี กุลีกุจอมาหาหมอที่คลินิก บอกให้หมอช่วยทำแผลที่นิ้วหัวแม่มืออย่างรีบเร่ง เพราะมีนัดหมายในเวลา 8.30 น. หมอได้ถอดผ้าพันแผลและทำแผลให้ ก่อนจะพันแผลให้ใหม่ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร หมอสังเกตเห็นชายชราดูรีบร้อน ดูที่นาฬิกาข้อมือบ่อยๆ จึงถามว่า “คุณตามีนัดกับหมอคนอื่นอีกเหรอ ทำไมดูรีบร้อนนัก” ชายชราตอบหมอว่าไม่ได้มีนัดกับใคร แต่ต้องการไปที่บ้านคนชราเพื่อรับประทานอาหารเช้ากับภรรยา

เมื่อหมอถามถึงสุขภาพของภรรยา ชายชราบอกหมอว่าภรรยาย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากป่วยเป็นโรคความจำเสื่อม คุณหมอจึงถามว่า “หากคุณตาไปถึงที่นั่นช้าเพียงเล็กน้อย เธอคงเสียใจมาก” แต่หมอก็ต้องแปลกใจเมื่อชายนั้นยืนยันว่าเธอจำเขาไม่ได้มา 5 ปีแล้ว หมอจึงถามว่า “คุณตาไปที่นั่นทุกเช้า แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่าคุณตาเป็นใครกระนั้นหรือ” ชายชรายิ้ม จับมือหมอและตอบว่า “แม้เธอจะจำผมไม่ได้ แต่ผมรู้ว่าเธอเป็นใคร มีความหมายอย่างไรสำหรับผม”

นี่คือ ตัวอย่างของความรักแท้ที่ชายชราคนนั้นมีต่อภรรยาของเขา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นความรักนี้ยังดำรงคงมั่น ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แม้ว่าอีกฝ่ายจะจำเขาไม่ได้แล้วก็ตาม วันสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นวันที่เราเฉลิมฉลองความรักของพระเจ้า ที่เปิดเผยให้เราทราบผ่านทางดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าที่ถูกทิ่มแทงเพื่อเรา พระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นน้ำพุแห่งพระหรรษทานและความรักที่ไม่เหือดแห้งของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์

1.  พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า

วันนี้เราสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งความเชื่อคริสตชนบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงพระชนม์อยู่และทรงเป็นองค์แห่งความรัก วันฉลองนี้เริ่มขึ้นในพระศาสนจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 โดยการเผยแสดงของพระเยซูเจ้าต่อ นักบุญมาร์การิตา มารีย์ อาลาก๊อก ที่เผยให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ กระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1899 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้มอบถวายมนุษยชาติต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ต่อมาในปี ค.ศ. 1928 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้รับรองการเฉลิมฉลองนี้

“พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า” เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์ “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงหลั่งโลหิตเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์

ความรักของพระเยซูเจ้านั้นไร้ขีดจำกัดและไม่สงวนสิ่งใดไว้สำหรับพระองค์เลย การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน คือเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงรักมนุษย์มาก ทรงให้ได้ทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตและเลือดหยดสุดท้าย สิ่งที่ดีงามทรงให้มนุษย์ทั้งหมดไม่เหลืออะไรไว้สำหรับพระองค์เลย นอกจากสิ่งที่ไม่มีใครเขาอยากได้คือ กางเขนและมงกุฎหนามที่พระองค์ทรงรับไว้

2.  บทเรียนสำหรับเรา

วันนี้ให้เราได้แสดงความรักต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษ ด้วยความเชื่อวางใจในพระองค์ มอบปัญหาและความต้องการต่างๆ ไว้กับพระองค์ ดวงพระหฤทัยที่รักเราอย่างหาที่สุดมิได้จะปกป้อง คุ้มครองเรา และประทานสันติสุขให้แก่เรา พระเยซูเจ้าได้ให้คำมั่นสัญญาในการปรากฏพระองค์ให้แก่นักบุญมาร์การิตา มารีย์ว่า จะประทานพระหรรษทานที่ล้นเหลือสำหรับผู้ที่ศรัทธาภักดีต่อดวงพระหฤทัยของพระองค์

พระหฤทัยของพระเยซูเจ้าคือบทสรุปของพระวรสาร “จงเลียนแบบจากเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (มธ 11:29) คำสอนทั้งหมดของคริสตศาสนาสามารถพบได้ในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยน เมตตากรุณา บริสุทธิ์ และอดทนต่อการทรมานทุกอย่าง ให้เราได้เลียนแบบและปล่อยให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า เพื่อเราจะรู้ว่ามีสิ่งไหนที่ควรกระทำเพื่อทำให้โลกและสังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ประการสำคัญ การรักซึ่งกันและกัน “ถ้าพระเจ้าทรงรักเราเช่นนี้ เราก็ควรจะรักกันด้วย (1 ยน 4:11) การรักซึ่งกันและกันจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรารักพระเจ้า หัวใจของเราจะต้องเร่าร้อนด้วยไฟแห่งความรักเหมือนพระเยซูเจ้า รักเหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงรัก “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน.15:12) และรักแม้พระทั่งศัตรู “จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน” (ลก 6:27-28)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก วันสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเตือนใจเราว่า พระเจ้าทรงรักเรา ปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิดกับเรา เมื่อเรารับศีลมหาสนิท เราก็เป็นหนึ่งเดียวและชิดสนิทในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงรักเราและสัญญาจะอวยพรเรา ความรักของเราต้องมีลักษณะเดียวกันกับความรักของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติต่อเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเราตระหนักว่าพระเจ้าทรงรักเราถึงเพียงนี้ เราก็ควรรักซึ่งกันและกันด้วย สิ่งนี้แหละคือเครื่องหมายว่าเราเป็นศิษย์ของพระองค์ อีกอย่าง ในเวลาที่เราเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากในชีวิต ให้มองดูพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าและไม้กางเขนของพระองค์ เราจะได้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตและร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์ ที่สุด ขอให้ความรักแบบเดียวกับพระเยซูเจ้า เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราในการดำเนินชีวิตในวันนี้

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 มิถุนายน 2011

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล


 นักบุญเปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร  

29 มิถุนายน
สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล
อัครสาวก
กจ 12:1-11
2 ทธ 4:6-8, 17-18
มธ 16:13-19

บทนำ
การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลถือเป็นการเฉลิมฉลองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องมาจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาได้มีการฉลองนี้ ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ 3 แห่งด้วยกัน คือที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ในช่วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา
พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและเปาโล รวมถึงอัครสาวกองค์อื่นๆ ยกเว้นนักบุญยากอบบุตรของเศเบดี (กจ 12:1-2) แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่า ท่านทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรมตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร (ค.ศ. 54-68) เปโตร ถูกตรึงกางเขนเอาหัวลง ในปี ค.ศ. 64 บนเนินวาติกันอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบัน ส่วน เปาโล ในฐานะที่เป็นพลเมืองโรมัน ถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี ค.ศ. 67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม ที่กลายมาเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมืองในปัจจุบัน
นักบุญเอากุสตินกล่าวเอาไว้ในบทเทศน์ของท่านว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่าจะพลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม” ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะที่เป็น ศิลารากฐาน ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าสืบต่อมา อีกทั้ง ยังสั่งสอนหลักความจริงของพระคริสตเจ้า และสละชีวิตของตนเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น
1.  เปโตร หัวหน้าพระศาสนจักร
เปโตร เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่งในตำบลเบทไซดา  (ลก 5:3; ยน 1:44) ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก สิ่งที่ท่านรู้ดีที่สุดคือการจับปลา ต่อมาได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาร์เปอร์นาอุม (มก 1:21-29) แต่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาเช่นเดิม มีน้องชายชื่อ อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำให้ท่านติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42)    เป็นไปได้ว่า ยอห์น แบปติสต์ คือผู้ที่เตรียมจิตใจท่านสำหรับการพบปะครั้งสำคัญกับพระเยซูเจ้า และท่านได้ละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระองค์ทันที
พระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนชื่อของท่านจาก “ซีโมน” เป็น เคฟาส หรือ เปโตร ซึ่งแปลว่า ศิลา  (มธ 16:17-19) เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลาที่พระองค์จะตั้งพระศาสนจักร และเป็นหัวหน้าของอัครสาวก (ยน 21:15-17) ท่านเป็นคนหนึ่งในบรรดาพยานที่พบพระคูหาว่างเปล่า (ยน 20:6) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ท่านด้วยหลังจากทรงกลับคืนพระชนม์แล้ว (ลก 24:34; 1 คร 15:5) จะเห็นว่า เปโตรแม้จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนอาชีพแล้ว แต่ยังอ่อนแอ พลาดพลั้ง และท้อถอย (เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนได้พบกับพระเยซูเจ้าอีกครั้ง “Quo vadis?: ท่านกำลังจะไปไหน)
บทเรียนที่เราได้จากชีวิตของเปโตร สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์เราแต่ละคนซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ ธรรมชาติที่เป็นพระและที่เป็นคน  1) ธรรมชาติที่เป็นคน คือ ซีโมน ชื่อเดิม คนเดิม ที่ขี้คุย กลับกลอก และอ่อนแอ 2) ธรรมชาติที่เป็นพระ คือ เคฟาส หรือ เปโตรที่ร้อนรน กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ธรรมชาติทั้งสองอย่างนี้มีอยู่ในตัวเราอย่างเต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่ทำให้เปโตรสามารถเอาชนะธรรมชาติที่เป็นซีโมนได้ จนกลายเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่คือ การกลับใจ หลังจากปฏิเสธพระเยซูเจ้าเป็นครั้งที่สามต่อหน้าหญิงรับใช้ที่บ้านของคายาฟาส  เปโตรรู้สึกสำนึกได้ และออกไปข้างนอกร้องไห้อย่างขมขื่น (ดู มธ 26:69-75) 
2.  เปาโล ผู้สอนและป้องกันความเชื่อ
เปาโล เดิมชื่อ เซาโล เกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซิลีเซีย อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าศิษย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งท่านคิดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้ท่านเห็น ขณะที่กำลังเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัสมารับโทษ ท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในพระกายทิพย์ของพระคริสเจ้า ท่านได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนีย และกลายมาเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า
เปาโลได้รับเลือกให้เป็นธรรมทูตพร้อมกับบาร์นาบัส ออกเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าอย่างกว้างขวาง เราทราบรายละเอียดพอสมควร เกี่ยวกับการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้งของท่าน จากหนังสือกิจการอัครสาวกตั้งแต่บทที่ 13 เป็นต้นไป ท่านประกาศพระนามของพระคริสตเจ้าทั้งแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในเมืองต่างๆ ทำให้ท่านเป็น อัครสาวกของคนต่างศาสนา เป็น เครื่องมือนำพระนามของพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่ชนต่างศาสนา (เทียบ กจ 9:15) อย่างแท้จริง
บทเรียนที่เราได้จากชีวิตของเปาโล จากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ และท่านได้กระทำเช่นนั้นตลอดชีวิตด้วยการพลีชีพเพื่อพระเยซูเจ้าด้วยความกล้าหาญ แง่คิดที่เราได้คือ การเบียดเบียนพระศาสนจักรหรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ดังนั้น พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้
บทสรุป

การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล เป็นการสมโภชเสาหลักทางความเชื่อสองต้นของพระศาสนจักร นักบุญเปโตร เป็นหัวหน้าพระศาสนจักร เป็นเสาหลักทางความเชื่อที่เราต้องยึดถือ นักบุญเปาโล เป็นผู้สอนและป้องกันความเชื่อ  เสาหลักทั้งสองนี้มีความสำคัญมาก เพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากอัครสาวก ความเชื่อเปรียบดังเมล็ดพันธุ์แห่งพระหรรษทานที่หว่านลงในใจเราในวันที่รับศีลล้างบาป เราแต่ละคนจึงมีหน้าที่บำรุงรักษาและทำให้งอกงามเติบโต
ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังที่ได้สัมผัสกับความรักของพระเยซูเจ้า ความรักของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงใจท่านทั้งสอง ให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด ดังนั้น พระเจ้าทรงสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์ได้ ความผิดพลาดในอดีตจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหาก คือการกระทำที่ควรยกย่องและเลียนแบบ
นอกนั้น การฉลองในวันนี้ ยังเชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าทรงประทานแก่นายชุมพาในพระศาสนจักร มิใช่อำนาจปกครองเยี่ยงกษัตริย์หรือเจ้านายทั้งหลายในโลก แต่เป็นอำนาจใน การรักและรับใช้ โดยเฉพาะกับคนยากจน ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสอนและปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ด้วยการมอบชีวิตของพระองค์บนกางเขนเพื่อทุกคน ดังนั้น ให้เราร่วมมือกับนายชุมพาของเราทุกระดับและภาวนาเพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายอย่างศักดิ์สิทธิ์ และเกิดผลเป็นรูปธรรมในหมู่บ้านและวัดของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
26 มิถุนายน 2010

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 59

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 2  ฉบับที่ 59 วันที่ 26  มิถุนายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. มือถือ 086-231-3231
รา
การสัมมนา "การพัฒนาชุมชนคาทอลิกแบบบูรณาการ" ที่นาบัว เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2011
สมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า

วันนี้พระศาสนจักรให้เราสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า ที่ได้มอบชีวิตของพระองค์ทั้งครบเพื่อความรอดของเรามนุษย์ อักทั้ง ได้สั่งให้บรรดาศิษย์กระทำสืบต่อมาเพื่อระลึกถึงพระองค์ การฉลองนี้เริ่มขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1230 โดยบุญราศีจูเลียน่า และพระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 4 ได้ประกาศให้ทำการเฉลิมฉลองทั่วพระศาสนจักรในปี ค.ศ. 1264
การสมโภชนี้ได้ประกาศความจริง 3 ประการคือ 1) พระเจ้าทรงประทับอยู่ในพระบุคคลของพระเยซูเจ้า พระเจ้าแท้และมนุษย์แท้, 2) พระเจ้าทรงประทับอยู่ในประชากรของพระองค์ ที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าในพระศาสนจักร แล3) พระเจ้าทรงประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น ในพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน
 บรรยากาศการลงทะเบียนและการสัมมนา มีผู้เข้าร่วมจากนาบัวและโพนสวางร่วม 40 คน

บทอ่านที่ 1: หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ                                                              ฉธบ 8:2-3, 14-16

โมเสสเตือนประชากรของพระเจ้าถึงของประทานมากมายที่พระเจ้าทรงประทานให้ โดยเฉพาะมานนาแก่บรรพบุรุษของพวกเขาระหว่างที่เดินทางผ่านถิ่นกันดารในทะเลทราย “มานนา” จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเอาพระทัยใส่ของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ ซึ่งเป็นภาพล่วงหน้าถึง “ปังที่แท้จริงจากสวรรค์” ใครที่มีส่วนในปังนี้จะไม่หิวอีกต่อไป

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวโครินทร์  ฉบับที่ 1                   1 คร 10:16-17

นักบุญเปาโลได้เตือนคริสตชนชาวโครินทร์และคริสตชนในปัจจุบันว่า เราได้รับพระเยซูเจ้าภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวและเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า เราจึงต้องเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้อง เพราะคริสตชนทุกคนต่างเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า

พระวรสาร: นักบุญยอห์น                                                                                            ยน 3:16-18

นพระวรสารวันนี้ แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการทวีขนมปังอย่างอัศจรรย์ พระเยซูเจ้าได้ประกาศว่า พระองค์ทรงเป็นปังทรงชีวิต ใครที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร “เนื้อและเลือด” หมายถึงบุคคลทั้งครบของพระเยซูเจ้าที่ทรงมอบเพื่อเรา ให้เราได้ดำเนินชีวิตในความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและผู้อื่น
 มีคุณพ่อธัญญา ศรีอ่อน คุณพ่อไพศาล ว่องไว และทีมงามเป็นผู้ให้ความรู้

°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1)      ขอบคุณคุณพ่อไพศาล ว่องไว รองผู้อำนวยการชุมชนคริสตชนพื้นฐาน ที่มาถวายมิสซาที่วัดของเราเมื่อวานนี้และวันนี้ ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 2 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 3

2)      ขอบคุณสภาอภิบาล กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน และกลุ่มส่งเสริมชีวิตครอบครัวที่มาช่วยเตรียมงานและเข้าร่วมการสัมมนา “การพัฒนาชุมชนคาทอลิกแบบบูรณาการ” ในวันเสาร์ที่  25 มิถุนายนนี้ ที่ผ่านมา

3)      กล้ายางของเรายังไม่ได้ปลูก ขอบคุณพี่น้องที่พากันมาในอาทิตย์ที่ผ่านมา คิดว่าคงจะสามารถปลูกได้ในไม่ช้า ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่จะแจ้งให้พี่น้องทราบอีกที
 ผู้นำกลุ่มและตัวแทนกลุ่มคริสตชนพื้นฐานที่เข้าร่วมการสัมมนา

4)      วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ขอให้พี่น้องทุกคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพียงกัน เพราะนี่เป็นหน้าที่หนึ่งตามพระบัญญัติประการที่สี่ “จงนับถือบิดามารดา” ใช้สิทธิของเราในการเลือกคนดีเข้าไปบริหารชาติบ้านเมือง อย่าเลือกเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้างที่ใครมาหยิบยื่นให้

5)      ขอเชิญสมาชิกกลุ่มโฟโกลาเรทั้งชายและหญิง ร่วมประชุมกันวันนี้ (อาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน) เวลา 10.00 น. ที่วัดของเรา

6)      เงินทานวันเสาร์ 358.- บาท, อาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 8,549.- บาท, เงินทานวัดโพนสวาง 338.- บาท
 การสัมมนาช่วยสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกผู้เข้าร่วมทุกคน

 

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต


 พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต  

วันอาทิตย์
สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
ปี A
ฉธบ 8:2-3, 14-16
1 คร 10:16-17
ยน 6:51-58

บทนำ



 มีเรื่องเล่าว่า ลูกศิษย์คนหนึ่งได้ถามอาจารย์โอโช รัชนีช (Osho Rajneesh) นักบวชและนักปรัชญาชาวฮินดูถึงความแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระเยซูเจ้า อาจารย์รัชนีชได้เล่าเรื่องหนึ่งให้ลูกศิษย์ฟังว่า “เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังจะละสังขาร พระอานันต์ได้ถามพระองค์ว่าจะมอบอะไรไว้ให้บรรดาศิษย์ได้จดจำ พระพุทธองค์ได้มอบดอกจัสมินให้พระอานันต์ ไม่นานดอกไม้นี้ก็แห้งเหี่ยวไม่อยู่ในสภาพเดิมอีกต่อไป”

อาจารย์รัชนีชกล่าวต่อไปว่า “แต่พระเยซูเจ้า แม้ไม่มีใครร้องขอ ได้มอบความทรงจำสุดท้ายด้วยการมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น (ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย) และสั่งให้บรรดาศิษย์ได้แบ่งปันสภาวะพระเจ้าของพระองค์ด้วยการกระทำพิธีนี้สืบต่อไป ดังนี้ พระเยซูเจ้าจึงยังทรงประทับอยู่กับบรรดาผู้ติดตามพระองค์ ขณะที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น”

เราภาวนาทุกวันว่า “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพ ในพระคัมภีร์จึงใช้ภาพพจน์ของงานเลี้ยง เพื่อแสดงถึงความสำพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกัน เรามาจากหลายครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระองค์ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเรา ทรงต้อนรับเรา รักเรา และประทานพระองค์เป็นอาหารเลี้ยงชาวเรา


1.  พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต



เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์” พระองค์ทรงหมายถึง ศีลมหาสนิท ศีลแห่งความรัก ที่พระองค์ทรงประทับอยู่กับเราอย่างแท้จริงและปรารถนาจะอยู่กับเราตลอดไป “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” ในศีลมหาสนิททำให้เรามีประสบการณ์ถึงความรักที่เปี่ยมล้นของพระเจ้าที่มีต่อเรา พระองค์ทรงเลี้ยงเรา รักษาเรา และทำให้เราเข้มแข็งด้วยชีวิตของพระองค์เอง ศีลมหาสนิทจึงเป็นบ่อเกิดและพลังแห่งชีวิตคริสตชน อีกทั้ง เป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงประชากรของพระองค์

ในศีลมหาสนิทเราได้มีประสบการณ์ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า ที่มอบพระองค์เองเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเรา และมีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับเรา “ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ดังนั้น การที่ใครคนหนึ่งมีประสบการณ์ความรักของพระเจ้า เขาจึงไม่สามารถอยู่โดยลำพัง แต่ได้รับมอบพันธกิจในการนำข่าวดีและเป็นพยานถึงพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

ในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าได้ประทาน “ปังทรงชีวิต” ทำให้เราได้มีส่วนในชีวิตของพระเจ้าและลิ้มรสล่วงหน้าถึงถึงชีวิตนิรันดร “ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเราเพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:51) ศีลมหาสนิทจึงเป็นศูนย์กลางชีวิตคริสตชน และหล่อเลี้ยงชีวิตของพระศาสนจักรให้เติบโต จึงมีคำกล่าวในลักษณะที่ว่า “พระศาสนจักรก่อให้เกิดศีลมหาสนิท และศีลมหาสนิทก่อให้เกิดพระศาสนจักร(Henri de Lubac: 1896-1991)

2.  บทเรียนสำหรับเรา


การสมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและข่าวดีแห่งพระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนอะไรสำหรับเรา

ประการแรก ความรักและความเป็นหนึ่งเดียว ศีลมหาสนิทสอนเราถึงความสำคัญของหมู่คณะ ขนมปังทำจากแป้งจำนวนมากที่นำมานวดเป็นก้อน เช่นเดียวกับเหล้าองุ่นที่ทำจากผลองุ่นจำนวนมากที่นำมารวมในบ่อย่ำ ดังนั้น เราจึงกลายเป็นหนึ่งเดียวในเครื่องบูชานี้ ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์และผู้อื่น ด้วยการใช้เวลาและความสามารถต่างๆ ที่เรามีเพื่อเพื่อนพี่น้อง ศีลมหาสนิทที่เรารับต้องทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวและความรักที่เรามีต่อกัน เข้มแข็งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประการที่สอง การคืนดีและการให้อภัย เรามีธรรมเนียมในการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิทด้วยการคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ผ่านทางศีลแห่งการคืนดีเพื่อเราจะได้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมสำหรับการรับองค์พระเจ้าเข้ามาในจิตใจของเรา และเรายืนยันถึงท่าทีนี้อีกครั้งก่อนจะรับศีลมหาสนิท ด้วยการมอบสันติสุขของพระคริสตเจ้าแก่กันและกัน เราต้องตระหนักถึงคำเตือนของนักบุญเปาโลที่ว่า “ดังนั้น ผู้ที่กินปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ก็ผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 คร 11:27-29) ให้เรารับศีลมหาสนิทด้วยความเคารพ ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์และถ่อมตน
ประการที่สาม การนำพระเยซูเจ้าไปสู่ผู้อื่น เมื่อเรารับศีลมหาสนิทเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าและเป็นผู้นำพระองค์ไปสู่ผู้อื่น เราจะต้องไม่ทิ้งพระองค์ไว้ที่วัด แต่ต้องนำพระองค์ออกไปในชีวิตจริงของเราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ชีวิตของเราจะต้องเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ ด้วยการดำเนินชีวิตในความรัก ความเมตตา การให้อภัย และการรับใช้ตามแบบอย่างของพระองค์ เพื่อเราจะสามารถกล่าวได้อย่างนักบุญเปาโลที่ว่า ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสต์ทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า (กท 2:20)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ศูนย์กลางของศีลมหาสนิทคือ พระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า คำว่า "มหาสนิท" หมายถึงเอกภาพหนึ่งเดียว ที่ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า ดังนั้น การไปรับศีลมหาสนิทและตอบรับว่า "อาแมน" จึงเป็นการประกาศถึงเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของหมู่คริสตชน ที่ทุกคนต่างรับปังจากก้อนเดียวกันและดื่มโลหิตจากถ้วยเดียวกันของพระคริสตเจ้า

ศีลมหาสนิทจะยังคงเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ระลึกถึงการกระทำของพระเยซูเจ้าเมื่อสองพันปีก่อน หากศีลมหาสนิทไม่ได้กลายเป็นชีวิตที่แท้จริงของคริสตชน ที่นำเราไปสู่ความรักที่ไม่แบ่งแยกและความเป็นเอกภาพที่เป็นหนึ่งเดียวตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า ไม่มีการแบ่งสีเลือกข้าง ถือเขาถือเราอย่างที่เคยเป็นมา นี่คือความหมายของการสมโภชพระกายและพระโลหิตที่เราฉลองในวันนี้

ดังนั้น ทุกครั้งที่เรารับศีลมหาสนิทจึงเป็นการย้ำว่า ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันและพี่น้องกัน เราต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่าในฐานะที่เป็นคริสตชน ทุกคนที่สัมผัสชีวิตของเราได้พบกับความรักของพระเยซูเจ้าในตัวเราหรือเปล่า เราได้กลายเป็นเครื่องมือที่มองเห็นได้แห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกับกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมากน้อยแค่ไหน ในชีวิตของเรา ครอบครัว หมู่คณะ และในหมู่บ้านของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
24 มิถุนายน 2011

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 58

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 2 ฉบับที่ 58 วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

พิธีปลงศพเปโตร สัมฤทธิ์ บัวมณี วัย 72 ปี โดยคุณพ่อสุรพงศ์ นาแว่น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2011
 สมโภชพระตรีเอกภาพ

วันนี้พระศาสนจักรให้เราสมโภชพระตรีเอกภาพ พระบิดา พระบุตร และพระจิต พระเจ้าสามพระบุคคลรวมเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว อันเป็นความเชื่อพื้นฐานของเราคริสตชน ในชีวิตคริสตชนเราคุ้นเคยกับการออกนามพระเจ้าสามพระบุคคล ด้วยการทำสำคัญมหากางเขน เป็นต้นในการภาวนาและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นสิ่งที่เข้าใจยากด้วยภาษาของมนุษย์ เรามักจะเข้าใจพระบิดาเจ้าในฐานะพระผู้สร้าง พระบุตรในฐานะพระผู้ไถ่ และพระจิตในฐานะพระผู้บรรเทาและทำให้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ทั้งสามพระบุคคลเท่าเสมอกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้เราเงียบสักครู่และกราบขอสมาโทษพระเจ้า หากเราขาดความเชื่อและความไว้ใจพระองค์
 มิสซาหน้าศพเปโตร สัมฤทธิ์ บัวมณี ที่บ้านเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน

บทอ่านที่ 1: หนังสืออพยพ 34:4ข-6, 8-9

พันธสัญญาเดิมแม้ไม่ได้เผยถึงพระตรีเอกภาพโดยตรงแต่บ่งชี้ถึงพระตรีเอกภาพ พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่โมเสสบนภูเขาซีนาย ว่าทรงเป็นพระเจ้าที่มีความรูสึกเหมือนมนุษย์ที่ทรงซื่อสัตย์และพร้อมที่จะให้อภัย ก่อให้เกิดการตอบสนองขึ้นในดวงใจของโมเสส ด้วยการกราบลงนมัสการพระองค์ ให้ช่วยนำทางประชากรของพระองค์สู่แผ่นดินพระสัญญา

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์ฉบับที่ 2 13:11-13

นักบุญเปาโลได้เตือนคริสตชนชาวโครินทร์ถึงความรักของพระบิดาเจ้า โดยการส่งพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์และประทานพระหรรษทานของพระองค์ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ช่วยให้เราได้รับสิทธิพิเศษในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระจิตเจ้า ผ่านทางศีลล้างบาปที่เราได้รับ

พระวรสาร: นักบุญยอห์น 3:16-18

ในพระวรวารวันนี้ พระเยซูเจ้าได้แสดงให้นิโคเดมัสได้เข้าใจว่า พระเจ้าสามพระบุคคลได้เริ่มงานไถ่กู้มนุษย์ให้รอดด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ “ความรัก” ที่มีต่อมนุษยชาติ “พระเจ้า องค์ความรัก” จึงเป็นศูนย์กลางของข่าวดีแห่งพระวรสารวันนี้ พระเจ้าทรงรักเราทุกคนและทรงรักโลกจึงได้ประทานพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์
ตู้สัมฤทธิ์เป็นชาวอำเภอโนนสังข์ แต่งงานกับมารีอา เทวี บัวมณี มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 2

2) ขอเชิญสภาอภิบาล สมาชิกทุกกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน และกลุ่มส่งเสริมชีวิตครอบครัวเข้าร่วมการสัมมนา “การพัฒนาชุมชนคาทอลิกแบบบูรณาการ” ในวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายนนี้ ที่วัดของเรา
 คบเด็กสร้างบ้าน เด็กๆ ชาวนาบัวนอกจากมาเล่นที่วัดแล้ว ยังช่วยงานวัดจนมืดค่ำ

3) ขอแรงพี่น้องชาวนาบัวช่วยปลูกยางในบริเวณวัดของเราวันนี้ (19 มิถุนายน) และช่วยกันพัฒนาวัดของเราให้สะอาดสวยงาม เพื่อเตรียมสถานที่สำหรับการสัมมนาในวันเสาร์ที่จะถึง

4) อาทิตย์หน้า (26 มิถุนายน) สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า

5) เงินทานวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 7,953.- บาท, เงินต้นมิสซาปลงศพ เปโตร สัมฤทธิ์ บัวมณี (14 มิ.ย.) 4,520.- บาท, เงินทานวัดโพนสวาง 321.- บาท และเงินต้นมิสซา ออกัสติน วน นาแว่น (3 มิถุนายน) 1,020 บาท
 คุณพ่อวีระศักดิ์ สุภาเพิ่ม เลขานุการพระสังฆราชลือชัย ธาตุวิสัย แวะมาเยี่ยม (18 มิ.ย.)