วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระวรสารทั้งสี่ (1)

 พระวรสารทั้งสี่

เอกสารประกอบการบรรยาย การสัมมนาพระคัมภีร์ ครั้งที่ 2 ของคุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
ในเขตตะวันตก ณ วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2011

บทนำ

“พระวรสารมีความโดดเด่นกว่าหนังสือทุกเล่มในพระคัมภีร์ เป็นความจริงเช่นนั้น เนื่องจากพระวรสารเป็นพยานสำคัญถึงชีวิตและคำสอนของพระวจนาตถ์ที่ทรงรับเอากาย พระผู้ไถ่ของเรา”
(เอกสารสังคายนาวาติกันที่ 2 กฤษฎีกาว่าด้วยการเผยแสดง ข้อ 18)

พระวรสารบอกให้เราทราบเกี่ยวชีวิตและคำสอนของพระเยซูเจ้า พระวรสารได้นำเสนอส่วนที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นั่นคือ การที่พระเจ้าทรงรับเอากายเป็นมนุษย์เพื่อไถ่กู้มนุษยชาติ หากเราต้องการเป็นคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่ ต้องการรักพระเยซูเจ้ามากขึ้นและรับใช้พระองค์ดีขึ้น ต้องการนำพระองค์ไปสู่ผู้อื่นผ่านทางการสอนคำสอนหรืองานแพร่ธรรมอื่น เราต้องศึกษาและอ่านพระวรสารบ่อยๆ เพื่อนำเราให้สัมผัสกับพระเยซูเจ้า ผู้เป็นความจริง ชีวิต และความสุขของเรา

เราคริสตชนทราบดีว่าพระเยซูเจ้ามิได้ทรงเขียนอะไรไว้เลย และบรรดาอัครสาวกไม่มีผู้ใดรีบบันทึกชีวิตหรือคำสอนของพระองค์ไว้ อัครสาวกเมื่อได้รับพระจิตเจ้าแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาเทศน์สอนด้วยปากเปล่า ผู้ได้รับมอบอำนาจให้สอนต่อมาก็คิดแต่จะถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก โดยเน้นส่วนที่เป็นข่าวดีนำความรอดแก่วิญญาณเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะบันทึกอะไรไว้ ครั้นนักบุญเปโตรถูกประหารชีวิตแล้ว ศิษย์คนหนึ่งคือนักบุญมาระโกสำนึกขึ้นมาได้ว่า น่าจะเรียบเรียงชีวิตและคำสอนของพระเยซูเจ้าไว้เป็นหลักฐานก่อนที่ทุกอย่างจะเลือนรางไป

1. ความเข้าใจเบื้องต้น

เราทราบชีวประวัติพระเยซูเจ้าจากพระวรสารทั้งสี่ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ชาวโรมันมองว่าพระองค์เป็นเพียงนักเทศน์ที่เดินทางไปประกาศสั่งสอนตามแคว้นต่างๆ ดังนั้น เรื่องราวของพระองค์จึงไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโรมันเลย ทาซิตุส นักประวัติศาสตร์โรมันกล่าวถึงพระเยซูเจ้าอย่างย่อๆ เพื่ออธิบายความหมายของชื่อ “คริสตชน” ที่ถูกจักรพรรดิเนโรประหารชีวิตเท่านั้น

โจเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิว ซึ่งเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เล่มหนึ่งของชาวยิวในปลายศตวรรษแรกได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เขาบันทึกถึงพระเยซูเจ้าว่า พระองค์กระทำการอัศจรรย์และเป็นพระแมสสิยาห์ ปีลาตได้ประหารพระองค์ แต่ภายหลังได้ปรากฏแก่พวกสาวกอีก อาจารย์ชาวยิว (รับบี) บางคนได้บันทึกเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าว่า พระองค์เป็นนักมายากลหลอกลวงประชาชน ถูกตรึงกางเขนในเทศกาลปัสกา เพราะสอนนอกรีตซึ่งทำให้ประชาชนหลงไป

ดังนั้น หากต้องการศึกษาชีวิตและคำสอนของพระเยซูเจ้า เราควรอ่านและศึกษาข้อมูลใน “พระวรสารทั้งสี่” เท่านั้น หนังสือพระวรสารเขียนขึ้นอย่างเร็วที่สุดเมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ไป 30 ปีแล้ว ก่อนช่วงเวลานั้นบรรดาคริสตชนรักษาและถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ ด้วยวิธีบอกเล่าปากต่อปากและบางส่วนเป็นการบันทึก แต่ได้สูญหายไม่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

1.1 จุดประสงค์ของผู้เขียนพระวรสาร

กลุ่มคริสตชนถ่ายทอดพระวรสารต่อๆ กันมาอย่างระมัดระวังและเชื่อถือได้ และขณะเดียวกันเราควรจำไว้ว่า พระวรสารชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้ามีความหมายต่อคริสตชนอย่างไร เป้าหมายสองประการแรกของผู้เขียนพระวรสารคือ ประกาศข่าวดีเพื่อให้คนกลับใจ และเสริมสร้างความเชื่อของคริสตชน นั่นหมายความว่า พระวรสารไม่ใช่บันทึกทางประวัติศาสตร์เหมือนอย่างชีวประวัติของบุคคลสำคัญทั่วไป

พระวรสารจึงไม่ได้เสนอรายละเอียดของชีวิตพระเยซูเจ้าโดยเรียงตามลำดับเวลา เห็นได้จากไม่มีบันทึกข้อมูลของพระเยซูเจ้าในช่วงวัยเด็กจนถึงอายุ 30 และแม้ภารกิจของพระองค์ก็ไม่ได้บันทึกไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจบันทึกเป็นชีวประวัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สนใจประวัติศาสตร์เลย ในบทนำของพระวรสารนักบุญลูกา (ลก 1:1-4) ชี้ให้เห็นว่าลูกาใช้ข้อมูลจากสักขีพยานและถือประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ

ผู้เขียนพระวรสารคนอื่นๆ คิดแบบนี้เช่นเดียวกัน พวกเขาเขียนพระวรสารเพื่อประกาศพระวรสาร ชี้ให้คนทั้งหลายเห็นว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระแมสซิยาห์ พระบุตรของพระเจ้า (มก 1:1) และเพื่อให้คนอ่านได้เชื่อในพระองค์และมีชีวิตนิรันดร (ยน 20:31) พวกเขาแสดงพระเยซูเจ้าให้คนอื่นได้เห็นเหมือนอย่างที่พวกเขาได้เห็น และมีประสบการณ์โดยตรงกับพระองค์

1.2 ภาพของพระเยซูเจ้า 4 ด้าน

ผู้เขียนพระวรสารแต่ละคนเสนอเรื่องราวของพระเยซูเจ้าตามลักษณะของตนเอง ความยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้าไม่สามารถบรรจุในภาพๆ เดียว ดังนั้น เราจึงมีภาพของพระเยซูเจ้าถึง 4 ด้าน โดยแต่ละคนได้ดึงเอาลักษณะที่สำคัญของพระเยซูเจ้ามาอธิบาย

1.2.1 มัทธิว

เน้นถึง ความสัมพันธ์ของพระเยซูเจ้ากับความเชื่อของชาวยิว โดยแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้ามาเพื่อทำให้พันธสัญญาเก่าสำเร็จ และเพื่อพิพากษาชาวยิวเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์ของพวกเขา เราจึงเห็นมัทธิวตำหนิพวกฟาริสีอย่างรุนแรงกว่าพระวรสารเล่มอื่น มัทธิวเรียกร้องให้ชาวยิวยอมรับว่า พระเยซูเจ้าคือพระแมสสิยาห์ที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด ซึ่งพระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ และถ้าพวกเขาไม่ยอมรับพระเยซูเจ้า พวกเขาจะถูกพิพากษา

1.2.2 มาระโก

เน้น ภาพของพระเยซูเจ้าในด้านการกระทำมากกว่าคำสอน โดยเน้นวิธีที่พระเยซูเจ้าสอนสาวก บอกสาวกว่าบุตรมนุษย์จะต้องรับทุกข์ทรมานและถูกปฏิเสธ และสาวกต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญสิ่งนี้ คนที่ไม่มองพระเยซูเจ้าว่าเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ต้องเป็นเครื่องบูชา ย่อมไม่เข้าใจมาระโก เพราะชาวยิวหวังว่าพระแมสสิยาห์จะต้องเป็นผู้นำทางการเมืองและเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ขณะที่พระเยซูเจ้ามาในลักษณะของผู้รับใช้และตายอย่างนักโทษ แต่เมื่อพระองค์กลับมาครั้งที่สองนั้น พระองค์จะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์เยี่ยงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

1.2.3 ลูกา

เน้น พระพรแห่งความรอดของพระเยซู และหมายสำคัญของการเสด็จมาของพระแมสสิยาห์ ซึ่งได้มีคำทำนายไว้ในพระธรรมเก่า โดยฉายให้เห็นภาพของพระเยซูที่รักษาคนเจ็บป่วย และประกาศข่าวดีแก่คนยากจน คนไร้ที่พึ่ง พระวรสารนักบุญลูกาทำให้เห็นถึงพระเมตตาของพระเจ้าชัดเจน โดยเฉพาะต่อหญิงคนบาป คนเก็บภาษีซึ่งไม่สมควรได้รับข่าวดีเลย

1.2.4 ยอห์น

ได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ที่พระบิดาส่งเข้ามาในโลก เพื่อเป็นพระผู้ช่วยมนุษย์ให้รอด พระองค์มีฤทธิ์อำนาจเท่าเทียมพระบิดา ใกล้ชิดกับพระบิดาเพราะพระองค์เป็นพระบุตร ยอห์นเจาะลึกไปถึงที่สุดของการสำแดงของพระเจ้าเพื่อตีแผ่ความจริงที่ว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้าในสภาพมนุษย์ที่เสด็จมาในโลก เพราะความรักที่มีต่อมนุษย์
(ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น