วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล


 นักบุญเปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร  

29 มิถุนายน
สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล
อัครสาวก
กจ 12:1-11
2 ทธ 4:6-8, 17-18
มธ 16:13-19

บทนำ
การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลถือเป็นการเฉลิมฉลองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องมาจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาได้มีการฉลองนี้ ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ 3 แห่งด้วยกัน คือที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ในช่วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา
พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและเปาโล รวมถึงอัครสาวกองค์อื่นๆ ยกเว้นนักบุญยากอบบุตรของเศเบดี (กจ 12:1-2) แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่า ท่านทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรมตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร (ค.ศ. 54-68) เปโตร ถูกตรึงกางเขนเอาหัวลง ในปี ค.ศ. 64 บนเนินวาติกันอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบัน ส่วน เปาโล ในฐานะที่เป็นพลเมืองโรมัน ถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี ค.ศ. 67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม ที่กลายมาเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมืองในปัจจุบัน
นักบุญเอากุสตินกล่าวเอาไว้ในบทเทศน์ของท่านว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่าจะพลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม” ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะที่เป็น ศิลารากฐาน ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าสืบต่อมา อีกทั้ง ยังสั่งสอนหลักความจริงของพระคริสตเจ้า และสละชีวิตของตนเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น
1.  เปโตร หัวหน้าพระศาสนจักร
เปโตร เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่งในตำบลเบทไซดา  (ลก 5:3; ยน 1:44) ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก สิ่งที่ท่านรู้ดีที่สุดคือการจับปลา ต่อมาได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาร์เปอร์นาอุม (มก 1:21-29) แต่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาเช่นเดิม มีน้องชายชื่อ อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำให้ท่านติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42)    เป็นไปได้ว่า ยอห์น แบปติสต์ คือผู้ที่เตรียมจิตใจท่านสำหรับการพบปะครั้งสำคัญกับพระเยซูเจ้า และท่านได้ละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระองค์ทันที
พระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนชื่อของท่านจาก “ซีโมน” เป็น เคฟาส หรือ เปโตร ซึ่งแปลว่า ศิลา  (มธ 16:17-19) เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลาที่พระองค์จะตั้งพระศาสนจักร และเป็นหัวหน้าของอัครสาวก (ยน 21:15-17) ท่านเป็นคนหนึ่งในบรรดาพยานที่พบพระคูหาว่างเปล่า (ยน 20:6) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ท่านด้วยหลังจากทรงกลับคืนพระชนม์แล้ว (ลก 24:34; 1 คร 15:5) จะเห็นว่า เปโตรแม้จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนอาชีพแล้ว แต่ยังอ่อนแอ พลาดพลั้ง และท้อถอย (เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนได้พบกับพระเยซูเจ้าอีกครั้ง “Quo vadis?: ท่านกำลังจะไปไหน)
บทเรียนที่เราได้จากชีวิตของเปโตร สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์เราแต่ละคนซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ ธรรมชาติที่เป็นพระและที่เป็นคน  1) ธรรมชาติที่เป็นคน คือ ซีโมน ชื่อเดิม คนเดิม ที่ขี้คุย กลับกลอก และอ่อนแอ 2) ธรรมชาติที่เป็นพระ คือ เคฟาส หรือ เปโตรที่ร้อนรน กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ธรรมชาติทั้งสองอย่างนี้มีอยู่ในตัวเราอย่างเต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่ทำให้เปโตรสามารถเอาชนะธรรมชาติที่เป็นซีโมนได้ จนกลายเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่คือ การกลับใจ หลังจากปฏิเสธพระเยซูเจ้าเป็นครั้งที่สามต่อหน้าหญิงรับใช้ที่บ้านของคายาฟาส  เปโตรรู้สึกสำนึกได้ และออกไปข้างนอกร้องไห้อย่างขมขื่น (ดู มธ 26:69-75) 
2.  เปาโล ผู้สอนและป้องกันความเชื่อ
เปาโล เดิมชื่อ เซาโล เกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซิลีเซีย อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าศิษย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งท่านคิดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้ท่านเห็น ขณะที่กำลังเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัสมารับโทษ ท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในพระกายทิพย์ของพระคริสเจ้า ท่านได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนีย และกลายมาเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า
เปาโลได้รับเลือกให้เป็นธรรมทูตพร้อมกับบาร์นาบัส ออกเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าอย่างกว้างขวาง เราทราบรายละเอียดพอสมควร เกี่ยวกับการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้งของท่าน จากหนังสือกิจการอัครสาวกตั้งแต่บทที่ 13 เป็นต้นไป ท่านประกาศพระนามของพระคริสตเจ้าทั้งแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในเมืองต่างๆ ทำให้ท่านเป็น อัครสาวกของคนต่างศาสนา เป็น เครื่องมือนำพระนามของพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่ชนต่างศาสนา (เทียบ กจ 9:15) อย่างแท้จริง
บทเรียนที่เราได้จากชีวิตของเปาโล จากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ และท่านได้กระทำเช่นนั้นตลอดชีวิตด้วยการพลีชีพเพื่อพระเยซูเจ้าด้วยความกล้าหาญ แง่คิดที่เราได้คือ การเบียดเบียนพระศาสนจักรหรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ดังนั้น พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้
บทสรุป

การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล เป็นการสมโภชเสาหลักทางความเชื่อสองต้นของพระศาสนจักร นักบุญเปโตร เป็นหัวหน้าพระศาสนจักร เป็นเสาหลักทางความเชื่อที่เราต้องยึดถือ นักบุญเปาโล เป็นผู้สอนและป้องกันความเชื่อ  เสาหลักทั้งสองนี้มีความสำคัญมาก เพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากอัครสาวก ความเชื่อเปรียบดังเมล็ดพันธุ์แห่งพระหรรษทานที่หว่านลงในใจเราในวันที่รับศีลล้างบาป เราแต่ละคนจึงมีหน้าที่บำรุงรักษาและทำให้งอกงามเติบโต
ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังที่ได้สัมผัสกับความรักของพระเยซูเจ้า ความรักของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงใจท่านทั้งสอง ให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด ดังนั้น พระเจ้าทรงสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์ได้ ความผิดพลาดในอดีตจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหาก คือการกระทำที่ควรยกย่องและเลียนแบบ
นอกนั้น การฉลองในวันนี้ ยังเชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าทรงประทานแก่นายชุมพาในพระศาสนจักร มิใช่อำนาจปกครองเยี่ยงกษัตริย์หรือเจ้านายทั้งหลายในโลก แต่เป็นอำนาจใน การรักและรับใช้ โดยเฉพาะกับคนยากจน ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสอนและปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ด้วยการมอบชีวิตของพระองค์บนกางเขนเพื่อทุกคน ดังนั้น ให้เราร่วมมือกับนายชุมพาของเราทุกระดับและภาวนาเพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายอย่างศักดิ์สิทธิ์ และเกิดผลเป็นรูปธรรมในหมู่บ้านและวัดของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
26 มิถุนายน 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น