วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระเยซูเจ้า แบบอย่างของความสุภาพ


พระเยซูเจ้า แบบอย่างของความสุภาพ
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
ปี C
บสร 3:17-19, 27-29
ฮบ 12:18-19, 22-24
ลก 14:1, 7-14
บทนำ
มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศเยอรมันเพื่อชมห้องที่บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven: 1770-1827) นักดนตรีเอกของโลกชาวเยอรมัน เคยอยู่และทำงาน รวมถึงเปียโนตัวที่ใช้ประพันธ์เพลง “มูนไลท์ โซนาต้า” (Moonlight Sonata) เด็กสาวคนหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวได้นั่งลงที่เปียโนและเล่นท่อนหนึ่งของเพลงโซนาต้า เมื่อเธอเล่นจบได้พูดกับมัคคุเทศก์ว่า “ดิฉันเข้าใจว่านักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกคงมาเยี่ยมชมที่นี่ทุกปี” มักคุเทศก์ตอบว่า “ใช่ ท่านเพเดเรฟสกี้ (Ignacy Jan Paderewski: 1860-1941) เพิ่งมาเยี่ยมที่นี่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง”
เด็กสาวรู้สึกภาคภูมิใจและพูดอย่างมั่นใจว่า “ดิฉันแน่ใจว่าเขาต้องทำเหมือนที่ดิฉันทำ คือนั่งลงตรงเปียโนตัวนี้และเล่นเพลงโซนาต้า ใช่ไหมค่ะ” แต่มัคคุเทศก์ตอบว่า เปล่าเลยครับคุณผู้หญิง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนขอร้องให้เขาเล่น แต่เขาบอกว่า ‘ไม่ได้ ผมไม่คู่ควรที่จะทำเช่นนั้น’ เด็กสาวคนนั้นรู้สึกละอายที่ตนได้ถือวิสาสะเล่นเปียโนของบีโธเฟน ขณะที่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวโปแลนด์อย่าง เพเดเรฟสกี้ มีความสุภาพเกินกว่าที่จะเล่นเพลงของบีโธเฟนด้วยเปียโนตัวเดียวกัน
พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้พูดถึงเรื่อง “ความสุภาพถ่อมตน” หนังสือบุตรสิราสอนเราให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เลือกนั่งในที่สุดท้ายในงานเลี้ยง แล้วเราจะได้รับเกียรติ และกระทำดีหรือช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถตอบแทนเราได้ แล้วเราจะได้รับตอบแทนจากพระเจ้าผู้ชอบธรรม คนที่มีความสุภาพถ่อมตน ย่อมเป็นที่รักของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ความสุภาพจึงเป็นเหมือนกับความมืดที่เผยแสดงให้เห็นแสงแห่งสวรรค์
1.         พระเยซูเจ้า แบบอย่างของความสุภาพ
หนังสือบุตรสิราสอนเรา ให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ยิ่งเป็นคนใหญ่โตมากเท่าใด ยิ่งต้องถ่อมตนลงมากเท่านั้น เพื่อว่าเราจะได้เป็นที่รักและโปรดปรานของพระเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระเจ้าทรงได้รับเกียรติจากคนต่ำต้อย มิใช่จากคนเย่อหยิ่งทะนงตน นักบุญเอากุสตินจึงกล่าวว่า “ท่อธารแห่งพระหรรษทานของพระเจ้าจะไม่ไหลผ่านภูเขาแห่งความหยิ่งทะนง แต่ไหลผ่านหุบเหวแห่งความถ่อมตน” เนื่องจากคนที่มีใจสุภาพย่อมเปิดใจของตนต่อพระเจ้า
คนที่ถ่อมตนจะไม่ขัดสู้คนที่ทำร้ายเขา แต่หันแก้มอีกข้างให้  พระเยซูเจ้าคือแบบอย่างแห่งความสุภาพของคริสตชน เพราะเมื่อพระองค์ถูกประจานพระองค์ไม่ได้โต้ตอบ เมื่อพระองค์ถูกทรมานโดยปราศจากความผิดพระองค์มิได้ข่มขู่หรือแก้แค้น แต่เป็นต้นแบบของความสุภาพถ่อมตน “จงเลียนแบบอย่างจากเราเพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (มธ 11:29) พระองค์ยังตรัสกับเราว่า “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มก 10:45)
ดังนั้น ความสุภาพสำหรับคริสตชนจึงหมายถึงการเจริญชีวิตตามแบบพระคริสตเจ้า ไม่ใช่เพื่อตนเองแต่เพื่อคนอื่น ใช้พระพรต่างๆ ที่เราได้รับมา ไม่ใช่เพื่อเกียรติของตนเองแต่เพื่อคนขัดสนและต้องการความช่วยเหลือ ศิษย์ของพระคริสตเจ้าจะต้องแสดงออกถึงความรักแม้กระทั่งศัตรู ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และไม่คาดหวังว่าเขาจะสำนึกบุญคุณ ดังพระวรสารวันนี้ “เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้” (ลก 14:13-14)
2.         บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องปฏิบัติตนด้วยความสุภาพถ่อมตน ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งที่เรามีล้วนแล้วแต่เป็นของประทานจากพระเจ้า เราแต่ละคนต่างเป็นคนบาปและไม่สมบูรณ์ ไม่มีสิ่งไหนที่คู่ควรแก่การภาคภูมิใจ แต่พระเจ้าทรงเรียกเราให้มีส่วนในการสร้างอาณาจักรของพระองค์ ด้วยพระพรต่างๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ และเลียนแบบอย่างพระคริสตเจ้า ที่ทรงถ่อมพระองค์ลงจนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
ประการที่สอง เราต้องใส่ใจและปฏิบัติต่อผู้ต่ำต้อยด้อยค่าในสังคม พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญเราให้ติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลที่สังคมรังเกียจ อาทิ คนยากจน คนถูกทอดทิ้งและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการปฏิบัติต่อเขาอย่างดีและช่วยเหลือด้วยความรักดุจพี่น้อง เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถจะตอบแทนเราได้ด้วย ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องไม่หยิ่งทะนงตนว่าดีกว่าคนอื่น หรือมองผู้อื่นอย่างเหยียดหยาม
ประการที่สาม เราต้องสำนึกในความต่ำต้อยของตน เราได้รับเชิญให้มาร่วมงานเลี้ยงศักดิ์สิทธิ์แห่งสวรรค์ทุกครั้งที่เรามาร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ เราต่างเป็นคนยากจน คนพิการและทุพลภาพฝ่ายจิตใจ แต่พระเยซูเจ้ายังทรงรักและเชื้อเชิญเรา ให้เราสำนึกในความบาปของตนอย่างนักบุญเปาโลที่เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) หรือนักบุญฟรังซิสอัสซีซี พูดถึงตัวเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” เพราะเมื่อเปรียบเทียบความดีของเรากับพระเจ้าแล้วไม่มีอะไรที่จะต้องอวดตัว
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องผู้ที่ติดตามพระองค์ไม่ให้เลือกที่ที่มีเกียรติในงานเลี้ยง และให้ปฏิบัติต่อผู้ต่ำต้อยที่ไม่สามารถจะตอบแทนเราได้ เราทราบดีว่าท่าทีเช่นนี้ตรงข้ามกับกระแสของโลกและทำได้ยาก เพราะเกียรติยศชื่อเสียงคือยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ทำในสิ่งที่ตรงข้าม สำหรับผู้ที่เป็นศิษย์ของพระองค์ เกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งแต่อยู่ที่ “การรับใช้” ดำเนินชีวิตโดยไม่คิดถึงตนเองและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก ตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า
มีคำกล่าวว่า “พระเจ้ามีสองพระบัลลังก์ คือแห่งหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด อีกแห่งคือในหัวใจที่ต่ำต้อยที่สุด” (D. L. Moody) เพราะเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นว่า เฉพาะผู้ที่มีใจสุภาพเท่านั้นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงแห่งสวรรค์ บางคนถึงกับกล่าวว่า “ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น” ดังนั้น เราจึงต้องมีหัวใจที่สุภาพอย่างแท้จริง ตระหนักว่าตนเองเป็นคนเล็กน้อย และดำเนินชีวิตเลียนแบบอย่างพระองค์ ผู้เป็นต้นแบบแห่งความสุภาพของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
30 สิงหาคม 2013

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คำนับพระคุณเจ้า



คำนับพระคุณเจ้า
คำกล่าวเนื่องในโอกาสนำคณะครูคำนับพระคุณเจ้าหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์

ณ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2556 
พระคุณเจ้า บิดาที่เคารพยิ่ง
พวกลูกคณะผู้บริหาร คณะครูและนักเรียนโรงเรียนในเครืออัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ทั้ง 7 แห่ง ขอร่วมแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าในวโรกาสฉลองศาสนนามนักบุญหลุยส์ ผู้เป็นแบบอย่างในความเชื่อศรัทธาและการทำหน้าที่ผู้นำที่ดี
คณะครูทั้งหมด 439 คน ที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนโรงเรียนในเครือฯ จำนวน 9,361 คน ขอร้อยรวมดวงใจทั้ง 439 ดวง เป็นกำลังใจสำหรับพระคุณเจ้า ในพันธกิจและภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ บางคนเพิ่งได้มาเห็นพระคุณเจ้าเป็นครั้งแรก ยังไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าเป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไร



พระคุณเจ้าไม่เพียงเป็นผู้นำและประมุขของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง แต่ยังเป็น “ประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ” ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของคริสต์ศาสนาในประเทศไทย ในด้านการศึกษา พระคุณเจ้าไม่เพียงเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนในเครือฯ ทั้ง 7 แห่ง แต่ยังเป็น “ประธานสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย” ซึ่งรับผิดชอบโรงเรียนในเครือคาทอลิกกว่า 300 โรงทั่วประเทศ
พันธกิจและภาระหน้าที่ของพระคุณเจ้าจึงหนักอึ้งและมากมาย พวกลูกทุกคนขอเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระนี้ โดยเฉพาะในการจัดการศึกษาและอบรมสั่งสอนนักเรียนในความดูแล ให้เป็นคนดีและมีคุณภาพของผู้ปกครอง สังคมและประเทศชาติ



ขอท่านนักบุญหลุยส์ ศาสนนามที่พระคุณเจ้ายึดถือ ได้เสนอวิงวอนต่อองค์พระเจ้า ให้พระคุณเจ้ามีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในพันธกิจและหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับท่านนักบุญ
เพื่อนำพาพระศาสนจักรไทย พระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ตลอดจนงานด้านการศึกษา ทั้งในระดับชาติและโรงเรียนในเครือฯ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ขอพระแม่มารีย์ มารดาของพระศาสนจักร ได้เป็นพลังค้ำจุนและช่วยเหลือพระคุณ ในพันธกิจและความรับผิดชอบต่างๆ ให้สำเร็จสมประสงค์ทุกประการ
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา กรุงเทพฯ
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกาฬสินธุ์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟมุกดาหาร
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟนาแก จังหวัดนครพนม
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟศรีสงครม จังหวัดนครพนม
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
25 สิงหาคม 2556

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จะเอาตัวรอดได้อย่างไร


จะเอาตัวรอดได้อย่างไร

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา
ปี C
อสย 66:18-21
ฮบ 12:5-7
ลก 13:22-30

บทนำ

พระอัครสังฆราชฟูลตัน ชีน (Archbishop Fulton J. Sheen: 1895-1979) ชาวอเมริกันซึ่งมีชื่อเสียงในการเทศน์สอนทางโทรทัศน์เล่าว่า เมื่อเราอยู่ในสวรรค์กับพระเจ้า เราจะพบเรื่องที่ทำให้เราประหลาดใจอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก เราจะประหลาดใจที่พบคนที่เราคาดหวังว่าอยู่ในสวรรค์แน่ๆ แต่หาเขาไม่เจอในสวรรค์ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนได้ให้เหตุผลว่าทำไมพวกนี้จึงไม่ได้อยู่ในสวรรค์ “ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา เราจะถูกพิพากษาว่าเราได้รักอย่างไร”

เรื่องที่สอง เราจะประหลาดใจที่พบคนที่เราไม่คาดคิดว่าจะอยู่ในสวรรค์ (เขาต้องอยู่ในนรกตามความคิดของเรา) แต่เราพบเขาอยู่ในสวรรค์ ทั้งนี้เพราะพระเจ้ามิได้ตัดสินตามมาตรฐานของมนุษย์ พระองค์มองดูที่เจตนาและประทานรางวัลตามความยุติธรรม และเรื่องที่สาม เราจะประหลาดใจที่พบว่าตัวเราเองอยู่ในสวรรค์ ทั้งๆ ที่เราเป็นคนบาป เหตุผลเพราะพระเจ้าทรงประสงค์ให้ทุกคนได้อยู่กับพระองค์ในสวรรค์

ในพระวรสารวันนี้พระเยซูเจ้าทรงให้คำตอบและเตือนสติชาวยิวและพวกเราแต่ละคนว่า “จะรอดได้อย่างไร” พวกเราจะถูกปฏิเสธหากไม่กลับใจเปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินชีวิต จะมีผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาในอาณาจักรของพระเจ้า ดังนั้น เราควรตระหนักว่าการเป็นคริสตชนหรือการได้รับศีลล้างบาป ไม่ใช่หลักประกันของการเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ นอกเสียจากว่า เราจะดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสารที่พระเยซูเจ้าทรงสอน และเลียนแบบอย่างของพระองค์

1.     จะเอาตัวรอดได้อย่างไร

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับประตูแคบเพื่อตอบคำถามที่ว่า “มีคนน้อยคนใช่ไหมที่รอดพ้นได้” ผู้ที่พยายามติดตามพระองค์เข้าทางประตูแคบ ในการรับใช้อย่างเสียสละและแบ่งปันความรักกับผู้อื่น จะได้ร่วมงานเลี้ยงนิรันดร์กับพระบิดาเจ้า ในขณะที่ผู้ไม่ดำเนินชีวิตตามความเชื่ออยู่ข้างนอก ซึ่งได้แก่ คริสตชนที่ใจเย็นเฉย พวกเขารู้จักเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เคยกินดื่มด้วยกันและคิดว่าตนเองจะได้รับสิทธิพิเศษ แต่เวลานี้พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างนอก ไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้

เป้าหมายแห่งชีวิตคริสตชนคือ การอยู่กับพระคริสตเจ้าทุกเวลาและตลอดนิรันดร ทำไมเราถึงมาวัด คำตอบคงมากกว่าการมาร่วมพิธีมิสซาตามธรรมเนียมที่เราถือปฏิบัติ เรามาที่นี่เพราะต้องการอยู่กับพระเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ไม่ใช่เพียงแค่ชั่วโมงเดียวในหนึ่งอาทิตย์ที่วัด แต่เราจะต้องนำพระองค์กลับออกไปพร้อมกับเราในชีวิตจริงที่บ้าน ในสังคมและในที่ต่างๆ ที่เราจะไป เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดเวลาและพบพระองค์ในบุคคลต่างๆ ที่เราพบเห็น

ทุกวันนี้ คริสตชนถูกท้าทายด้วยกระแสและค่านิยมของโลกหลายรูปแบบ โดยเฉพาะค่านิยมที่ว่า “คนอื่นก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น” เช่น คดโกง เอารัดเอาเปรียบ หรือประพฤติผิดศีลธรรมต่างๆ หากเราทำบ้างคงไม่เป็นไร เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ทำกัน เป็นการง่ายที่จะเข้าทางประตูกว้างหรือทำอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำกัน แต่การเดินสวนกระแสย่อมยากกว่าเสมอ แต่นี่คือการเดินทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเข้าทางประตูแคบ เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทความสัมพันธ์กับพระเจ้า และร่วมส่วนในงานเลี้ยงนิรันดร์กับพระองค์

2.     บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชน ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันหลายประการ

ประการแรก เราต้องละทิ้งหนทางแห่งบาป พระเจ้าทรงให้อิสระแก่เราว่าจะเดินทางสายไหนและเลือกเข้าทางประตูแบบไหน พระเยซูเจ้าตรัสกับเราชัดเจน “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวันและติดตามเรา” (ลก 9:23) นั่นคือการปฏิเสธตนเองและละทิ้งหนทางแห่งบาปที่นักบุญเปาโลจำแนกเป็น “การผิดประเวณี ความลามก การปล่อยตัวตามราคะตัณหา การกราบไว้รูปเคารพ การใช้เวทมนตร์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก...”  (กท 5:19-21)

ประการที่สอง เราต้องเลือกเดินในหนทางที่ถูกต้องชอบธรรม นักบุญเปาโลได้พูดถึงกิจการดีที่หมายถึง “ทางแคบ” หรือ “ประตูแคบ” ที่เราจะต้องเลือก ซึ่งเป็นผลงานของพระจิตเจ้านั่นคือ “ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยนและความรู้จักควบคุมตนเอง” (กท 5:22-23) ในอีกด้านหนึ่ง ทางแคบหรือประตูแคบยังหมายถึง การดำเนินชีวิตประจำวันในความสัมพันธ์กับพระเจ้าและผู้อื่น

ประการที่สาม เราต้องประเมินและพิจารณาตนเองทุกวัน คำอุปมาเรื่องประตูที่ปิดอยู่เตือนเราว่าเวลานั้นสั้น แต่ละวันจะผ่านไปและโอกาสจะไม่กลับมาอีก เราได้ตอบรับโอกาสในการเป็นพยานถึงพระนามของพระเยซูเจ้าอย่างไร ในการให้อภัย การแบ่งปันอาหาร เสื้อผ้าและความรักแก่ผู้ที่เข้ามาในชีวิตเราในแต่ละวัน เราได้พยายามที่จะเข้าทางประตูแคบมากน้อยแค่ไหน ในการไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพระพรและความรักของพระเจ้า

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รอดและอยู่กับพระองค์อย่างมีความสุขตลอดไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน พระเจ้าทรงให้อิสระกับเราที่จะเลือกหรือปฏิเสธ (ความรอด) ดังนั้น ความรอดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าเท่านั้น แต่ขึ้นกับเราและเป็นหน้าที่ของเราด้วย เราจะต้องทำส่วนของเราให้ดีที่สุดขณะที่ยังมีเวลาและชีวิตอยู่ หากเราซื่อสัตย์ต่อหน้าที่คริสตชนและดำเนินชีวิตตามแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นต้น ในความรักต่อกัน ความยินดีในสวรรค์จะเป็นของเรา

แน่นอนว่าไม่มีทางลัดสำหรับการไปสวรรค์ “อาณาจักรสวรรค์ต้องการความอดทนและความพยายาม ผู้ที่ใช้ความอดทนและความพยายามเท่านั้น จึงจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ได้” (มธ 11:12) ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตคือการตีสอนของพระเจ้า อย่างที่จดหมายถึงชาวฮีบรูบอกเราในวันนี้ นักบุญเปาโล เป็นตัวอย่างสำหรับเราในเรื่องนี้ “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทม 4:7) ดังนั้น เราจึงไม่ควรท้อถอยในการทำความดีและและทำหน้าที่คริสตชน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
23 สิงหาคม 2013

ถ้อยแถลง สภาการศึกษาคาทอลิก


ถ้อยแถลงการประชุมสัมมนาประจำปี 2556
ของสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 43
หัวข้อ โรงเรียนคาทอลิกในมาตรฐานสากล
วันที่ 18-21 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมเอเชีย พัทยา จังหวัดชลบุรี
 
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมสัมมนาประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างปีแห่งความเชื่อ และเป็นปีที่บรรดาคาทอลิกทั่วโลก รู้สึกปีติยินดีที่ได้มี  พระประมุของค์ใหม่ คือ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ผู้ซึ่งนอกจากเป็นพระประมุขที่ทรงมีชีวิตเป็นพยานถึงองค์พระคริสต์แล้ว ยังเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเคมี และนักบริหารการศึกษาคาทอลิกอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย
 
ผู้เข้าสัมมนาจำนวน 447 คน ได้ร่วมกันพิจารณาไตร่ตรองการแบ่งปันของวิทยากร และ พบว่า สถานการณ์สังคมในปัจจุบันมิใช่เพียงแตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงเท่านั้น  แต่ยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอีกด้วย เป็นสังคมโลกยุคดิจิตอลและยุคโลกาภิวัตน์ ที่แม้ว่าได้เสนอสิ่งดีงามและสร้างสรรค์มากมาย  แต่ขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดวิกฤตด้านคุณค่าในกระแสค่านิยมต่างๆ โดยเฉพาะโลกียนิยม ซึ่งปฏิเสธความจริงและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์  อีกทั้งยังส่งผลให้มีวิกฤตด้านความเชื่อ ทำให้ผู้คนไม่ยอมรับ ไม่เชื่อถือ และไม่เห็นคุณค่าความเชื่อ   คริสตชนและธรรมะศาสนาต่างๆ   ผลงานวิจัยเกี่ยวกับคนไทยได้สะท้อนให้เห็นผลของภาวะการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า คนไทยมีความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา      อันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติด อาชญากรรมและคอร์รัปชั่น ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  ความใกล้ชิด    การใช้เวลาร่วมกัน และความสัมพันธ์ในครอบครัวล่มสลาย การศึกษาที่ดูเหมือนมีความสำเร็จเพิ่มขึ้น แต่โอกาสพัฒนาตัวเองที่ลงลึกถึงจิตวิญญาณกลับลดลง ผลการวิจัยยังทำให้ตระหนักอีกว่า ในขณะนี้สังคมไทยฝากความหวังและอนาคตไว้กับโรงเรียน ที่จะสร้างทักษะและสมรรถนะต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าศาสนา พร้อมทั้งจัดการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรอง เพื่อเปลี่ยนชีวิตให้มีคุณค่าและความหมายที่แท้จริง


ขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนคาทอลิกเห็นความจำเป็น ที่จะต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรองนี้ เพื่อนักเรียนไม่เพียงแต่รู้ว่า ฉันได้เรียนรู้อะไร แต่ยังรู้ด้วยว่า ฉันเข้าใจได้อย่างไร และ ทำไมฉันจึงต้องเรียนเรื่องนี้ จนกระทั่งในบางโอกาสสามารถสัมผัสความน่าพิศวงของกลไกธรรมชาติ ที่พระผู้สร้างประทานให้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเปลี่ยนชีวิตจากภายใน   ของตน และสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ทั้งนี้ โดยมีครูเป็นต้นแบบและเพื่อนร่วมทางของนักเรียนบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ นอกนั้นโรงเรียนคาทอลิกยังต้องให้ความสำคัญในการมีวิชา หลักสูตร และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้เท่าทันเทคโนโลยีและสื่อ ครูมีโอกาสพัฒนาการใช้สื่อดิจิตอลในการเรียนรู้และถ่ายทอด อีกทั้งทำงานร่วมกันเป็นชุมชนในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นอยู่เสมอ เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมที่จะมีชีวิตการทำงานในยุค    โลกาภิวัตน์อย่างมีศักดิ์ศรี

ในการนำอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก สู่ภาคปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์  โรงเรียนคาทอลิกในมาตรฐานสากลยังต้องมุ่งมั่น ที่จะปฏิรูปโรงเรียนให้เป็นสนามแห่งการอบรม และเป็นฐานแห่งการประกาศข่าวดีอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งต้องเป็นการประกาศข่าวดีใหม่ ด้วยชีวิตก่อนและติดตามด้วยวาจา มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสติปัญญาของนักเรียน ให้รับรู้ถึงสิ่งที่เป็นความจริง ความดี และความงาม รวมทั้งด้านความเป็นมนุษย์ บนพื้นฐานของคุณค่าสำคัญสองประการคือ อิสรภาพและการรับใช้ เพื่อให้นักเรียนมีอิสรภาพด้วยการรู้จักไตร่ตรอง ก่อนการเลือกและตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามอย่างกล้าหาญและรับผิดชอบ พร้อมทั้งเปิดตัวออกจากตนเอง เพื่อรับใช้ผู้อื่น ชุมชน และสังคมโลก

เนื่องด้วยภารกิจในถ้อยแถลงดังกล่าวนี้ เป็นกระบวนการที่เรียกร้องให้นักการศึกษาคาทอลิกทุกคนทุ่มเทและอุทิศตนอย่างจริงจัง ผู้เข้าร่วมสัมมนาจึงตั้งปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรองและเพื่อการเปลี่ยนชีวิต ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง อีกทั้งทำให้ทุกคนได้ทราบข่าวดีของพระเยซูคริสต์เจ้า โดยตระหนักดีว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รู้จักและสัมผัสความรักของพระองค์ ดังที่พระองค์ได้เคยตรัสว่า  ท่านทั้งหลายก็จะเป็นพยานให้เราด้วย เพราะท่านอยู่กับเราตั้งแต่แรกแล้ว (ยอห์น 15:27)