วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 25

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 25, อาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231
พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ แวะเยี่ยมและให้กำลังใจค่ายคำสอน วันพุธที่ 27 ตุลาคม 2010

สัปดาห์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารวันนี้ได้สอนเราให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต พระองค์ทรงสอนให้เรารักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ และรักเพื่อนพี่น้องโดยเฉพาะคนยากจน อีกทั้งยอมลำบากเพื่อจะได้รับเกียรติมงคลรุ่งเรืองกับพระเจ้า ประการสำคัญ พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราได้รับความรอดพ้น

เหนือสิ่งอื่นใด ให้เราปรารถนาที่จะพบกับพระเยซูเจ้าอย่างจริงใจเช่นเดียวกับศักเคียส และต้อนรับพระองค์เข้ามาในบ้านของเราด้วยความยินดี เป็นต้นในศีลมหาสนิทในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณที่เรากำลังจะรับ และในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็น ให้เราได้ถามตัวเราเองว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง และลงมือปฏิบัติทันทีเช่นเดียวกับศักเคียสหรือไม่
การเยี่ยมผู้สูงอายุของลูกหลานนักเรียนคำสอน ระหว่างค่ายคำสอนสัญจร
บทอ่านที่ 1: หนังสือปรีชาญาณ ปชญ 11:22; 12:1

พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ในประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นองค์แห่งความดีและความเมตตา พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงชีวิตและประทานความรอดแก่ทุกคนที่แสวงหาพระองค์ ทรงไว้ซึ่งความเมตตาต่อทุกคน ทรงรักทุกคนโดยไม่เลือกหน้า ไม่ทรงประสงค์ที่จะให้ใครถูกทำลาย แต่ปรารถนาที่จะอภัยบาปแก่ผู้ที่สำนึกผิดและกลับมาหาพระองค์
การเยี่ยมคนป่วยของลูกหลานนักเรียนคำสอน ระหว่างค่ายคำสอนสัญจร
บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่สอง 2 ธส 1:11-2:2

เปาโลได้เตือนกลุ่มคริสตชนของท่านให้ระวังประกาศกปลอม ที่ทำนายเกี่ยวกับการพิพากษาในอนาคต ไม่ใช่หน้าที่คริสตชนที่แสวงหาเครืองหมายหรือเชื่อในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะต้องจะต้องดำเนินชีวิตให้เหมาะสมและตระหนักถึงคุณค่าแห่งการเรียกของพระเจ้า โดยชี้ให้เห็นว่าการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าจะยังไม่เกิดขึ้น
ทีมงานค่ายคำสอนสัญจรและบรรดาเด็กๆ ร่วมสวดสายประคำที่บ้านของสมาชิกกลุ่มที่ 2 (หลัก 35 )
พระวรสาร: นักบุญลูกา ลก 19:1-10

พระวรสารวันนี้บอกให้เราทราบถึงการกลับใจของหัวหน้าคนเก็บภาษีผู้มั่งคั่งที่ชื่อศักเคียส เขาได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะเห็นพระเยซูเจ้า และพระเยซูเจ้าทรงตอบสนองความต้องการของเขา โดยเสด็จไปพักที่บ้านของเขาและนำความรอดมาสู่บ้านของเขา ศักเคียสเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่ตั้งตาคอยพระเยซูเจ้าและต้องการการช่วยให้รอดจากพระองค์
ควันหลงค่ายคำสอนสัญจร

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 4 ที่ช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 5 และขอขอบคุณบรรดาผู้ปกครองที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการส่งบุตรหลานเข้าร่วมค่ายคำสอนสัญจรที่ผ่านมา รวมถึงบรรดาสภาอภิบาลและแม่ครัวที่มาช่วยเตรียมอาหารเที่ยง

2) ขอเชิญพี่น้องร่วมแห่พระรูปแม่พระรอบหมู่บ้าน วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม เวลา 19.00 น. และขอเชิญร่วมสมโภชนักบุญทั้งหลาย วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน มิสซาเวลา 07.00 น. และมิสซาที่สุสาน เวลา 19.00 น., วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน มิสซาที่สุสาน เวลา 07.00 น.

3) ขอเชิญสนับสนุนซื้อเทียนจากทางวัดที่บรรดาลูกๆ เยาวชนและเด็กคำสอนนำไปจำหน่ายแก่พี่น้อง รวมถึงสลากการกุศลโอกาสคริสต์มาส เพื่อสนับสนุนงานแพร่ธรรมของอัครสังฆมณฑล

4) มิสซาภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับและเสกสุสานที่โพนสวาง วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 07.30 น. และมิสซาภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับที่ท่าแร่ วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน เวลา 06.00 น.

5) เงินบริจาคสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้: สัตบุรุษวัดบางบัวทอง ผ่านทางคุณเรณู ศรีเพ็ชร์ จำนวน 5,200.- บาท
6) เงินทานวันเสาร์ ได้ 392.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม ได้ 1,353.- บาท, เงินต้นในมิสซาอุทิศให้ เปาโลจันทร์หอม-เยโนเวฟาคุดจันทร์ จันทร์สุนีย์ 2,340.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 260.- บาท
สมาชิกใหม่คนล่าสุดของวัด เทเรซาแห่งอาวีลา มนัญญา วินบาเพชร บุตรีของสัญญา-มยุรา วินบาเพชร

นาบัวปิดค่ายคำสอน

 นาบัวปิดค่ายคำสอน เด็กๆ ตั้งใจจะเป็นเด็กดี


นาบัวค่ายคำสอนสัญจรที่วัดนาบัวประสบผลสำเร็จเกินคาด พระสังฆราชแวะมาให้กำลังใจ บรรดาเด็ก 104 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมตั้งใจจะเป็นเด็กดี และปิดลงด้วยความประทับใจ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2010

ค่ายคำสอนสัญจรที่วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ต.หนองแวงใต้ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่ดำเนินการโดยศูนย์คริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและการปลูกฝังความเชื่อทางศาสนา ให้กับเด็กคำสอนวัดพระคริสตประจักษ์นาบัวและวัดพระนามเยซูโพนสวาง ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2010 ได้เดินทางมาถึงวันสุดท้าย และปิดลงด้วยความประทับใจ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2010 โดยคุณพ่อวีระชัย อุตะมะชะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

ค่ายคำสอนสัญจรครั้งนี้ ถือเป็นโครงการใหม่ของ ศูนย์คริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนคาทอลิกได้เรียนรู้คำสอนและคุณธรรมมากขึ้น รวมถึงได้เรียนรู้ ทบทวน และเตรียมตัวรับศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างดี เป็นต้นศีลมหาสนิทและศีลกำลัง อีกทั้ง ได้ฝึกการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รู้จักซึ่งกันและกันมากขึ้น เพื่อจะได้ร่วมมือและทำงานร่วมกันในอนาคต

เจ้าหน้าที่และทีมงานที่มาจัดค่ายคำสอนสัญจรครั้งนี้ประกอบด้วย: ซิสเตอร์ปาริชาติ ราชจำปี, นางสาวแพรวสุดา ยงบรรทม, นางสาวสุนันท์ เทพกรรณ์, นายอิทธิฤทธิ์ ว่องไว, นางสาวนุชนาฏ ทองอันตัง, นางสาววาสนา ทองอันตัง, นางสาวสุภาพร คำปิตะ และนายสุนทร อุปรี รวม 8 คน ส่วนเด็กนักเรียนคำสอนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีทั้งหมด 104 คน แยกเป็นวัดพระคริสตประจักษ์นาบัว 90 คน และวัดพระนามเยซูโพนสวาง 14 คน

กิจกรรมค่ายคำสอนสัญญจรในแต่ละวัน เริ่มด้วยพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในเวลา 06.00 น. ต่อด้วยการอบรมของคุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์ เจ้าอาวาส คำชี้แจงของซิสเตอร์ปาริชาติ ราชจำปี และผู้รับผิดชอบ ก่อนที่จะปล่อยบรรดาเด็กๆ ให้กลับบ้านรับประทานอาหารเช้า เพื่อกลับมาร่วมกิจกรรมอีกครั้งตลอดทั้งวัน ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมนันทนาการ การสอนคำสอนแยกตามระดับชั้น การเยี่ยมบ้าน การบำเพ็ญประโยชน์ และกีฬาสัมพันธ์โดยแยกเป็นสีต่างๆ 6 สี เก็บคะแนนตั้งแต่วันแรกและมอบรางวัลในวันสุดท้าย

ค่ายคำสอนสัญจรครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเกินความคาดหมาย เด็กนักเรียนคำสอนทั้งจากวัดพระคริสตประจักษ์นาบัวและวัดพระนามเยซูโพนสวาง ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องคำสอนและคุณธรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รู้จักซึ่งกันและกัน และร่วมมือกันมากขึ้น ทำให้หลายคนไม่อยากกลับบ้านและรีบมาวัดเพื่อจะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันอย่างสนุกสนาน

ในส่วนของผู้ปกครองได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการส่งบุตรหลานมาเข้ารับการอบรมและร่วมกิจกรรมในแต่ละวัน รวมถึงการมารอรับในตอนกลางคืนที่มีกิจกรรม อีกทั้งมาร่วมเตรียมอาหารกลางวันร่วมกับทางวัด ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าจะมีกิจกรรมอย่างนี้สักสองอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน บ้างว่าจะได้หมดห่วงไม่ต้องคอยตามหาบุตรหลานเหมือนเช่นทุกวัน (เพราะรู้แน่ว่าทำกิจกรรมที่วัด) บ้างว่าจะได้เกี่ยวข้าวด้วยความสบายใจเพราะมีคนดูแลบุตรหลานให้

อนึ่ง ระหว่างค่ายคำสอนสัญจร พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจทีมงานและบรรดาเด็กๆ ขณะที่กำลังบำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดวัด และเก็บขยะรอบบริเวณวัด ทำให้ไม่มีใครทราบว่าพระคุณเจ้ามา นอกจากได้ยินเด็กบางคนมาบอกว่า “คุณพ่อมา” พอถามว่า “ใคร” คำตอบที่ได้คือ “ไม่รู้ครับ แต่ตัวอ้วนเหมือนพ่อช้าง” ไม่รู้ว่าอย่างนี้ พระคุณเจ้าควรจะดีใจที่ตัวใหญ่เหมือนพ่อช้าง หรือพ่อช้างควรจะดีใจที่ตัวเล็กลงเท่าพระคุณเจ้า แต่ที่รู้แน่ๆ คือบรรดาทีมงานและเด็กๆ ดีใจครับ

DON DANIELE รายงาน
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 ตุลาคม 2010

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความรอดของศักเคียส

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 31 เทศกาลธรรมดาปี C
ปชญ 11:22; 12:1
2 ธส 1:11-2:2
ลก 19:1-10

บทนำ

เยรีโค เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นเมืองแรกในดินแดนคานาอันที่ชาวอิสราแอลเข้ายึดครองโดยการนำของโยชูวา หลังจากพ้นจากการเป็นทาสในดินแดนอียิปต์ (ดู ยชว 2; 7) เนื่องจากเยรีโคตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนและเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการค้า ทำให้เยรีโคกลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งที่สุด และเป็นศูนย์กลางการเก็บภาษีที่สำคัญที่สุดในปาเลสไตน์สมัยนั้น

อย่างที่เราทราบกันในอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลโรมมีวิธีการจัดเก็บภาษีด้วยการกำหนดอัตราภาษีตายตัว หลังจากที่จ่ายภาษีตามจำนวนที่กำหนดให้รัฐบาลโรมันแล้ว คนเก็บภาษีสามารถเก็บส่วนที่เหลือเป็นของตนเองได้ อาชีพเก็บภาษีจึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มหาศาล ทำให้คนเก็บภาษีกลายเป็นที่เกลียดชังของชาวยิวทั่วไป เพราะการฉ้อโกง ขูดเลือดขูดเนื้อ และขายชาติด้วยการทำงานให้กับรัฐบาลโรมัน ชาวยิวจึงจัดคนเก็บภาษีอยู่ในระนาบเดียวกันกับโจร ฆาตกร และหญิงโสเภณี

ศักเคียส เป็นหัวหน้าคนเก็บภาษีที่ด่านเมืองเยรีโค ฐานะของเขาจึงร่ำรวยที่สุดในเยรีโค และเป็นที่เกลียดชังของผู้คนทั่วไป เพราะการเก็บภาษีให้ศัตรูและเก็บส่วนที่เหลือเป็นของตนเอง ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับชื่อของเขา “ศักเคียส” ในภาษาฮีบรูที่แปลว่า “บริสุทธิ์” หรือ “ผู้ชอบธรรม” แต่นักบุญลูกาต้องการเล่นคำเพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมสมชื่อหลังจากได้พบกับพระเยซูเจ้า

ศักเคียส คงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เนื่องจากพระองค์เคยรักษาชายตาบอดชื่อบาทิเมอัสที่เมืองแห่งนี้ (ดู มก 10:46-52) เมื่อทราบว่าพระองค์เสด็จผ่านมาอีกครั้งเขาจึงอยากจะพบพระองค์ แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนเตี้ย กอปรกับมีผู้คนมากมายรายล้อมพระองค์ ทำให้เขาไม่สามารถมองเห็นพระองค์ได้ แต่เขาไม่ละความพยายาม วิ่งนำหน้าไปปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศ เพื่อจะได้เห็นพระองค์สักครั้งในชีวิต

คงเป็นเรื่องน่าอายไม่น้อยที่เศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดแห่งเยรีโคต้องมาปีนต้นไม้ เพื่อจะได้เห็นอาจารย์ชาวยิวคนหนึ่ง (ปกติเราเห็นแต่บรรดาเด็กๆ เท่านั้นที่ทำเช่นนี้) แต่ความต้องการพบพระเยซูเจ้าของเขามีมากกว่าความอาย เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านมา พระองค์มองมาที่เขา ทรงเรียกชื่อและตรัสกับเขาให้รีบลงมา เพราะพระองค์จะไปพักที่บ้านของเขา นี่คือความยินดีล้นเหลือที่เขาไม่เคยได้รับจากใครเช่นนี้มาก่อน

1. ความรอดของศักเคียส

การที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกชื่อศักเคียสและตรัสว่าจะไปพักที่บ้านของเขา คือเหตุการณ์ที่ช๊อกความรู้สึกของชาวยิวเป็นอย่างมาก เพราะการไปพักที่บ้านของชายที่ชาวยิวถือว่าเป็นคนบาปที่สุด เป็นสิ่งที่ชาวยิวทั่วไปไม่มีวันทำและรับไม่ได้ แต่พระเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้าที่มีต่อคนบาป พระองค์มิได้เสด็จมาเพื่อตามหาคนชอบธรรม แต่เพื่อตามหาคนบาปและคนที่หลงไป พระองค์ทรงเรียกชื่อเขาเหมือนผู้เลี้ยงแกะที่ดีซึ่งจำชื่อแกะได้ทุกตัว

พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าศักเคียสเป็นเหมือนกับคนอื่นทั้งหลายที่มีความดีในตัวเอง แต่ความดีนั้นต้องการความรักและความเข้าใจ เพราะศักเคียสเคยชินกับการเป็นคนเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนอื่น สร้างความร่ำรวยให้ตนเองบนความทุกข์ของผู้อื่น และพึงพอใจในความสะดวกสบายที่ตนได้รับ ถึงเขาจะเป็นคนที่ร่ำรวยมาก แต่ในส่วนลึกแห่งจิตใจเขาเป็นคนยากจน สิ่งที่เขาแสวงหามาตลอดชีวิตคือ ความรัก อย่างที่คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตากล่าวเอาไว้ว่า “โรคที่คนส่วนใหญ่เป็นมากที่สุดในปัจจุบันคือโรคขาดความรัก”

ศักเคียส ได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจากพระเยซูเจ้า ซึ่งเขาไม่เคยได้รับเช่นนี้มาก่อน ความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้าสัมผัสใจเขา ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตนเองจากที่เคยเห็นแก่ตัว เป็นคนที่รู้จักให้และแบ่งปันสิ่งที่เขามีกับคนอื่น และชดเชยสิ่งที่ได้โกงใครมาถึงสี่เท่า เขาได้ทำมากกว่าที่กฎหมายกำหนด นี่คือเครื่องหมายแห่งการกลับใจที่ทำให้เขาได้รับความรอด “วันนี้ ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว” (ลก 19:9)

ความรักจึงเป็นพื้นฐานของความเข้าใจ ที่สามารถชนะใจทุกคน หลายครั้งเราพยายามที่จะชนะใจเขาแต่ทำไม่ได้ ใจคนก็เปรียบเหมือนประตูบ้าน การพยายามชนะใจเขาก็เหมือนการพยายามเข้าประตูบ้าน บางคนใช้วิธีทุบ งัด หรือแงะเพื่อให้ประตูเปิด วิธีนี้อาจจะเปิดเข้าได้แต่ประตูพังต้องเสียเงินเสียเวลาซ่อมแซมอีก แต่ถ้าเรามีกุญแจเราก็จะเปิดเข้าได้โดยง่าย กุญแจที่ว่านี้ก็คือ “ความรัก” นั่นเอง

2. บทเรียนสำหรับเรา

ศักเคียส คือรูปแบบของคนในสังคมปัจจุบันที่มีทุกอย่างพร้อมแต่ขาดความรัก ซึ่งได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราหลายอย่าง ดังนี้

ประการแรก ศักเคียสมีความต้องการที่จะพบพระเยซูเจ้าอย่างจริงใจ เขาตระหนักดีว่าเงินไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เงินอาจซื้อทุกอย่างได้แต่ไม่อาจซื้อความรักและความสุขได้ แม้เขาจะเป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป แต่เขาไม่เคยท้อใจที่จะเสาะหาสันติสุขในใจ จนกระทั่งได้พบกับพระเยซูเจ้าที่ทรงอภัยบาปเขา ยอมรับเขา รักเขา และสัญญาจะประทานความรอดแก่ครอบครัวของเขา

ประการที่สอง ศักเคียสได้ขจัดอุปสรรคทุกอย่างเพื่อพบกับพระเยซูเจ้า ไม่มีอะไรหยุดยั้งเขาได้ เขาวิ่งไปข้างหน้าและปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศเพื่อจะได้เห็นองค์พระเยซูเจ้า ดังนั้น ใครที่ต้องการพบพระเยซูเจ้าต้องขจัดอุปสรรคทุกอย่าง และใช้ทุกวิถีทางที่จะพบกับพระองค์ให้ได้

ประการที่สาม ศักเคียสได้กลับใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่กลับไปดำเนินชีวิตเหมือนอย่างที่เขาเคยเป็นอีกต่อไป เขาได้ให้คำมั่นสัญญากับพระเยซูเจ้าว่า “ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนจน และถ้าข้าพเจ้าโกงสิ่งใดของใครมา ข้าพเจ้าจะคืนให้เขาสี่เท่า” (ลก 19:8) เขาได้สำนึกถึงบาปที่ตนเคยกระทำและพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงให้ความมั่นใจกับเขาว่าจะได้รับความรอดนิรันดร

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระวรสารวันนี้ได้สอนเราให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต พระองค์ทรงสอนให้เรารักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ และรักเพื่อนพี่น้องโดยเฉพาะคนยากจน อีกทั้งยอมลำบากเพื่อจะได้รับเกียรติมงคลรุ่งเรืองกับพระเจ้า ประการสำคัญ พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทุกคนได้รับความรอดพ้น ให้เราปรารถนาที่จะพบกับพระเยซูเจ้าอย่างจริงใจเช่นเดียวกับศักเคียส และต้อนรับพระองค์เข้ามาในบ้านของเราด้วยความยินดี เป็นต้นในศีลมหาสนิทในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็น

พระเจ้าคือองค์แห่งความรักหาที่สุดมิได้และทรงเป็นองค์แห่งความดีบริบูรณ์ ที่ทรงรักและให้อภัยเราเสมอ พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งเราแม้ว่าเราจะเป็นคนบาปหรือละทิ้งพระองค์ เราต้องพร้อมที่จะกลับใจและเปลี่ยนแปลงตนเองเช่นเดียวกับศักเคียส ที่เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินชีวิตโดยทันที อีกทั้ง ต้องพร้อมที่จะรักและให้อภัยความผิดของและกันด้วยใจกว้าง เพราะนี่คือเงื่อนไขของการได้รับความรอดนิรันดร

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
29 ตุลาคม 2010

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่ายคำสอนที่นาบัว

ในระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคมนี้ ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง (ศูนย์คำสอน) ภายใต้การนำของคุณพ่อวีระชัย อุตะมะชะ และซิสเตอร์ปาริชาติ ราชจำปี พร้อมกับครูคำสอนและเจ้าหน้าที่อีก 7 ท่าน ได้มาจัดค่ายคำสอนที่วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว เพื่ออบรมและฟื้นฟูคำสอนให้กับบรรดาเด็กๆ ชาวนาบัว และโพนสวาง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพี่น้องสัตบุรุษชาวนาบัวและโพนสวาง มีเด็กมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ประมาณ 100 คน

เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ที่มีกิจกรรมในลักษณะนี้ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกเหตุการณ์และนำภาพบรรยากาศมาแบ่งปันให้ผู้อ่านและพี่น้องชาวนาบัวได้ชม
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

คุณพ่อวีระชัย อุตะมะชะ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลท่าร่-หนองแสง
 โครงการ คำสอนสัญจร (ค่ายคำสอน)

1. หลักการและเหตุผล
คุณพ่อ ซิสเตอร์ ครูคำสอนและทีมงาน ประชุมเตรียมงานเปิดค่าย (24 ต.ค.2010)
พระศาสนจักรเห็นความสำคัญของบรรดาเด็กๆ เสมอมา เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่กำลังเตรียมตัวจะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เราจึงต้องประกาศพระเยซูคริสต์ให้แก่พวกเขา เพื่อจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งลึกซึ้งขึ้นกับพระองค์และคำสอนของพระองค์ เราต้องทำให้เด็กๆ เข้าใจความหมาย ความสำคัญ สิ่งจำเป็นพื้นฐาน กฎแห่งความรัก คำสัญญา และความหวังในพระอาณาจักรที่พระเป็นเจ้าทรงประทานและสถาปนาขึ้น
บรรยากาศการเริ่มกิจกรรมค่าย ณ วัดไม้ที่อยู่ในโครงการบูรณะเพื่อฉลอง 125 ปี (วัดเก่า)
ดังนั้น การสอนคำสอนของเด็กในวัยนี้อยู่ในระดับการนำเสนอพื้นฐานเรื่องความเชื่อ เป้าหมายหลังคือ การเสริมสร้างทัศนคติในการปลูกฝังเรื่องของศาสนา ให้ได้สัมผัสกับพระเจ้าในแบบที่เป็นรูปธรรม ชี้ให้เห็นว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นเพื่อน ผู้นำ และแบบอย่าง ให้เขาเป็น “แสงสว่าง” และ “เกลือ” เพื่อความยินดีส่วนตัวและเพื่อรับใช้ผู้อื่น
มีเด็กคำสอนจากบ้านนาบัวและโพนสวางเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน
ฉะนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์และเรียนรู้เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของความเชื่อ และการเรียนรู้ทางสังคมให้มากขึ้น โดยยึดพระคัมภีร์เป็นหลัก ศูนย์คริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเรียนรู้ เพื่อรักในพระเยซูคริสตเจ้าในบรรดาเด็กๆ ให้เขาเป็นผู้ที่มีคุณค่าที่จะสร้างพระศาสนจักรและสร้างสังคมมนุษย์ต่อไป (เทียบ คู่มือแนะแนวการสอนคำสอนในประเทศไทย ข้อ 41-43, 49)
ซิสเตอร์ปาริชาติ ราชจำปีและทีมงานทั้ง 8 ท่านกล่าวแนะนำตัว

2. วัตถุประสงค์

1) เพื่อนักเรียนคาทอลิกจะได้เรียนรู้คำสอน คุณธรรม เพิ่มเติมและเข้มข้นมากขึ้น

2) เพื่อนักเรียนคาทอลิกที่ยังไม่ได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นศีลมหาสนิท และศีลกำลัง จะได้เรียนรู้ ทบทวน เตรียมตัว และรับศีลมหาสนิทอย่างดี

3) เพื่อนักเรียนที่เข้าร่วมในค่ายคำสอนจะได้ฝึกการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รู้จักกันและกันมากขึ้น เพื่อความร่วมมือกัน และทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป

3. ผู้รับผิดชอบ ศูนย์คริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง

4. กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนคำสอนวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว และวัดพระนามเยซู โพนสวาง

5. ระยะเวลา วันที่ 24-29 ตุลาคม 2010

6. สถานที่ วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ต.หนองแวงใต้ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
กิจกรรมกลุ่มก่อนแยกย้ายกันไปตามลำดับชั้น

7. ขั้นตอนการดำเนินงาน

1) ประชุมวางแผนจัดทำโครงการ

2) นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการบริหาร

3) แจ้งรายละเอียดไปยังคุณพ่อเจ้าอาวาสและกลุ่มเป้าหมาย

8. งบประมาณ 8,000.- บาท
กลุ่มชั้นอนุบาลและประถมปีที่ 1-2 ในความดูแลของครูนุชนาฏ-ครูวาสนา ทองอันตัง และครูสุภาพร คำปิตะ

9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) นักเรียนในค่ายคำสอนได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องคำสอน คุณธรรมเพิ่มเติมและเข้มข้นมากขึ้น

2) นักเรียนในค่ายคำสอนที่ยังไม่ได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นศีลมหาสนิท และศีลกำลัง ได้เรียนรู้ ทบทวน เตรียมตัว เพื่อรับศีลศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างดี

3) นักเรียนในค่ายคำสอนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นอย่างดี รู้จักกันมากขึ้น สามารถร่วมมือกัน และทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไปได้

4) ทำให้บรรยากาศการเรียน การสอนคำสอนมีชีวิตชีวามากขึ้น

5) เป็นการกระตุ้นผู้ปกครอง และสัตบุรุษในหมู่บ้านที่มีการจัดค่ายคำสอน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งบุตรหลานให้เข้ารับการอบรมและการเรียนคำสอน ทั้งยังกระตุ้นการมีส่วนร่วมกับกิจการของพระศาสนจักร
กลุ่มชั้นประถมปีที่ 3 ในความดูแลของครูสุนันท์ เทพกรรณ์
กลุ่มชั้นประถมปีที่ 4 ในความดูแลของครูอิทธิฤทธิ์ ว่องไว
กลุ่มชั้นประถมปีที่ 5 ในความดูแลของครูแพรวสุดา ยงบรรทม
กลุ่มชั้นประถมปีที่ 6 ในความดูแลของซิสเตอร์ปาริชาติ ราชจำปี

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 24

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 24, อาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120086-231-3231
บรรยากาศการสวดสายประคำของกลุ่มที่ 9 ที่บ้านของ ส.อบต. ชาญชัย นาแว่น (ชาญ B)

 สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารในอาทิตย์นี้ได้แสดงให้เห็นท่าทีที่ถูกต้องเมื่อจะต้องภาวนา พระเยซูเจ้าทรงเล่าให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างการภาวนาของฟาริสีกับคนเก็บภาษี ฟาริสีภูมิใจว่าตนเองเป็นคนชอบธรรมและดูหมิ่นคนอื่น ขณะที่คนเก็บภาษีสำนึกว่าตนเป็นคนบาป ตระหนักถึงความต่ำต้อยของตนและต้องการการเยียวยารักษาจากพระเจ้า

ในตอนต้นของพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเราเริ่มด้วยการสารภาพผิดว่าเราเป็นคนบาป เราสารภาพว่าเราได้กระทำความผิดทางความคิด วาจา และกิจการ เราได้สำนึกในความไม่มีอะไรของเราต่อหน้าพระเจ้ามากน้อยแค่ไหน และได้คืนดีกับพระเจ้าครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ให้เราถ่อมจิตใจลงสำนึกถึงบาปที่เราได้กระทำ เพื่อเราจะได้รับการเยียวยารักษาจากพระเจ้า
บรรยากาศการสวดสายประคำของกลุ่มที่ 6 ที่บ้านของป้าวา (บ้านของ บร.อนุวัฒน์ อาศัยรัตน์)

บทอ่านที่ 1: หนังสือบุตรสิรา บสร 35:12-14, 16-18

โลกทุกวันนี้ถือเงินตรา อำนาจ และตำแหน่งเป็นใหญ่ ทำให้สังคมไร้ความยุติธรรมและความชอบธรรม แต่พระเจ้าไม่ได้วัดคุณค่าของคนที่ความร่ำรวยทางวัตถุ พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงและเลือกที่รักมักที่ชัง แต่ทรงฟังคำภาวนาของผู้อ่อนแอ ต่ำต้อย และถูกข่มเหง

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่สอง 2 ทธ 4:6-8; 16-18

เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะถูกจองจำที่กรุงโรมด้วยความรู้สึกว่าเวลาของท่านใกล้เข้ามาแล้ว แต่ความตายที่กำลังจะมาถึงไม่ได้ทำให้ท่านหวาดกลัว ยังคงเชื่อไว้ใจในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม เพราะรู้ว่าหากท่านตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า ท่านจะกลับคืนชีพรับชีวิตนิรันดรพร้อมกับพระองค์ เนื่องจากท่านได้ต่อสู้มาจนถึงที่สุดและมั่นใจในมงกุฎแห่งความชอบธรรมที่จะได้รับ
บรรยากาศการสวดสายประคำที่บ้านลุงฉลอง-ป้านะรัตน์ พิมพการ

พระวรสาร: นักบุญลูกา ลก 18:9-14

คำอุปมาเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษี เป็นคำอุปมาที่งดงามอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีแต่เฉพาะในพระวรสารของนักบุญลูกาเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเล่าถึงลักษณะที่แตกต่างกันในการภาวนาระหว่างฟาริสีกับคนเก็บภาษี ฟาริสีทะนงตนว่าเขาไม่เหมือนคนอื่น นั่นหมายความว่าเขาไม่เป็นคนบาป ขณะที่คนเก็บภาษีสำนึกว่าตนเป็นคนบาป ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้า
สถานที่ก่อสร้างยุ้งข้าวใหม่ บริเวณคูน้ำสระใหญ่ ใกล้กับโรงครัว

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 3 ที่ช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 4

2) ขอเชิญพี่น้องทุกกลุ่ม ทุกคุ้ม ร่วมแห่พระรูปแม่พระรอบหมู่บ้าน วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม เวลา 19.00 และขอเชิญร่วมสมโภชนักบุญทั้งหลาย วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน มิสซาเวลา 07.00 และเวลา 19.00 ภาวนาที่สุสาน, วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน มิสซาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับที่สุสาน เวลา 07.00 น. จะมีการบริการศีลอภัยบาป 3 วัน ในวันเสาร์ที่ 30 อาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม และจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน ในเวลา 16.00-1700 น. ขอเชิญพี่น้องมาคืนดีกับพระเจ้าตามวันและเวลาดังกล่าว

3) ศูนย์คำสอนฯ จะมาจัดค่ายคำสอนที่วัดของเรา ระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคมนี้ ขอเชิญเด็กนักเรียนคำสอนทุกคนเข้าร่วม ตามวันและเวลาดังกล่าว ส่วนค่ายกระแสเรียกของคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม ณ อารามรักกางเขนฯ ท่าแร่
ยุ้งข้าวขนาด 3 x 6 เมตร เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2010

4) ยุ้งข้าวใหม่สร้างเสร็จแล้ว รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 30,670.- บาท แยกเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ 22,670.- บาท และค่าแรง 8,000.- บาท

5) เงินทานวันเสาร์ ได้ 427.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม ได้ 2,556.- บาท, เงินต้นมิสซาอุทิศให้ เปโตรสดศรี กุมพรมมา (20 ตุลาคม) 3,100.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 388.- บาท
ยุ้งข้าวใหม่เมื่อสร้างเสร็จ (21 ตุลาคม) หน้าตาเป็นอย่างนี้

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษี

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา ปี C
บสร 35:12-14, 16-18
2 ทธ 4:6-8; 16-18
ลก 18:9-14

บทนำ

คำอุปมาเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษี เป็นคำอุปมาที่งดงามเรื่องหนึ่งของพระเยซูเจ้า ซึ่งมีแต่เฉพาะในพระวรสารของนักบุญลูกาเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเล่าถึงลักษณะที่แตกต่างกันในการภาวนาระหว่างฟาริสีกับคนเก็บภาษี

ฟาริสี หมายถึง “คนที่แยกตัวออกจากผู้อื่น” เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในการรักษาความบริสุทธิ์ทางศาสนา สิ่งที่พวกเขาเน้นมากที่สุดคือ การรักษาธรรมบัญญัติและธรรมประเพณีอย่างเคร่งครัดทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าตัดสินตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว พวกเขาคือแบบอย่างที่ดีของชาวยิวทั้งหลาย (เปาโลเองเคยเป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าที่เบียดเบียนกลุ่มคริสตชน: ดู ฟป 3:5-6) การแยกตัวออกจากคนอื่นเช่นนี้ ทำให้เขาคิดว่า “ฉันบริสุทธิ์กว่าคนอื่น” (ดีกว่าคนอื่น) อย่างช่วยไม่ได้

ในทัศนะของฟาริสี “ถ้าจะมีคนดีสองคนในโลก คนนั้นคือฉันและลูกชายของฉัน แต่ถ้ามีเพียงคนเดียวคนนั้นคือตัวฉันเอง” ท่าทีแบบนี้ทำให้พวกฟาริสีเป็นที่รังเกียจ ความหยิ่งจองหองเกิดจากการทำตามกฎบัญญัติอย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นว่าการปฏิบัติตามกฎสำคัญกว่าความรักและความเมตตาต่อผู้อื่น นี่คือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาขัดแย้งกับพระเยซูเจ้าในพระวรสาร พระองค์ไม่ได้ตำหนิคำสอนของพวกเขา แต่ตำหนิที่พวกเขาหยิ่งจองหอง เย็นชา และขาดความรัก

ส่วน “คนเก็บภาษี” เป็นชาวยิวที่เก็บภาษีให้รัฐบาลโรมัน โรมมีวิธีเก็บภาษีโดยการกำหนดอัตราภาษีตายตัวและให้มีการประมูลราคากันเอง ตราบใดที่คนเก็บภาษีจ่ายเงินให้รัฐบาลโรมันตามที่ตกลงกัน เขาสามารถเก็บส่วนที่เหลือไว้เป็นของตน อาชีพเก็บภาษีจึงสร้างรายได้มหาศาล โดยเฉพาะภาษีการใช้สะพาน การใช้ถนน และการเป็นเจ้าของเกวียน สามารถจะเรียกเก็บที่ไหนก็ได้ (เหมือนส่วยทางหลวงบ้านเรา)

สำหรับคนจนที่ไม่มีเงินจ่าย คนเก็บภาษีจะจ่ายล่วงหน้าให้ก่อน และเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ทำให้คนนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของเขา คนเก็บภาษีจึงเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป โดยขนานนามว่าเป็น “พวกขี้ฉ้อ ขูดเลือดขูดเนื้อ และเป็นพวกขายชาติ” เพราะทำงานให้กับรัฐบาลโรมัน คนเก็บภาษีจึงจัดอยู่ในระนาบเดียวกันกับโจร ฆาตกร และหญิงโสเภณี

1. การภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษี

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมาเกี่ยวกับฟาริสีและคนเก็บภาษีที่เข้าไปภาวนาในพระวิหารเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความถ่อมตนในการภาวนา พระองค์ทรงหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของชาวยิวที่ภาวนาวันละ 4 ครั้ง ได้แก่ เวลาเก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมง และหกโมงเย็น จากวิธีภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษีได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์

ฟาริสีได้ยืนขึ้นภาวนากับตนเอง ดูเหมือนเขากำลังขอบคุณพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงเขากำลังขอบคุณตนเอง ที่ไม่ได้เป็นขโมยหรือล่วงประเวณี เขารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิเศษ เช่น การอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน (วันจันทร์กับวันพฤหัสบดีซึ่งมีตลาดนัดเพื่อให้คนเห็น) และได้ถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมด (ทำมากกว่าที่กฎหมายกำหนด) เขามีเจตนาที่จะเปรียบเทียบความดีของตนกับข้อเสียของคนอื่น เขาจึงไม่ใช่คนที่น่ายกย่อง เขามิได้ภาวนาถึงพระเจ้า แต่กำลังสรรเสริญตนเอง โอ้อวด และดูหมิ่นคนอื่น

ส่วนคนเก็บภาษีซึ่งเป็นคนบาปสาธารณะและเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว เขารู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองและสำนึกผิด เขาจึงยืนอยู่ห่างๆ ไม่กล้าเงยหน้า ได้แต่ตีอกชกตัวและกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาป ด้วยเถิด” (God, have mercy on me, a sinner) นี่คือคำภาวนาที่สั้นที่สุดในพระคัมภีร์ และเป็นคำภาวนาที่ลึกซึ้งที่สุดด้วย เพราะคนเก็บภาษีสำนึกในความบาปผิดของตน เขาตระหนักในความรักและความเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระเยซูเจ้าทรงสรุปคำอุปมาของพระองค์ ด้วยการกลับคำตัดสินของทุกคนที่มีต่อคนเก็บภาษี “เราบอกท่านทั้งหลายว่าคนเก็บภาษีกลับไปบ้าน ได้รับความชอบธรรม แต่ชาวฟาริสีไม่ได้รับ เพราะว่าผู้ใดยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น” (ลก 18:14) คำอุปมานี้ให้บทเรียนแก่เราในเรื่องความถ่อมตน และการสำนึกในความผิดที่ตนเองกระทำ

คำอุปมานี้สอนเราว่า ความถ่อมใจนำไปถึงความรู้ หากเราต้องการความรู้เพิ่ม เราต้องถ่อมใจลงเหมือนไม่รู้อะไร คนที่ได้ชื่อว่ารู้ทุกสิ่งแล้วไม่อาจเรียนรู้อะไรได้อีกเลย พลาโต้ (Plato: 427-347 BC) นักปรัชญากรีกโบราณกล่าวว่า “คนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด คือคนที่รู้ว่าตัวเขาเองยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายนัก” ยิ่งรู้มากเท่าใด ยิ่งตระหนักถึงความไม่รู้ของตนเองมากขึ้นเท่านั้น

นอกนั้น คำอุปมานี้ยังสอนเราว่า คนที่สำนึกในความผิดของตนจะได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่กลับเป็นคนที่สำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) เช่นเดียวกับนักบุญฟรังซิส อัสซีซี พูดถึงตัวท่านเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” ตรงข้าม คนหยิ่งจองหองและดูหมิ่นคนอื่นไม่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระวรสารวันนี้สอนเราถึงท่าทีที่ถูกต้องที่เราควรมีเมื่อภาวนา เราจะต้องมีความถ่อมใจและสำนึกในความผิดของเราเหมือนคนเก็บภาษี ที่มองแต่ความผิดของตนเองโดยไม่เปรียบเทียบ ดูถูก หรือกล่าวโทษคนอื่น อีกทั้งไม่ยกตนและสรรเสริญความดีของตนเองเหมือนฟาริสี เพราะเราแต่ละคนต่างเป็นคนบาปที่ต้องการการให้อภัยจากพระเจ้าด้วยกันทั้งนั้น

คำอุปมาของพระเยซูเจ้าสอนเราว่า เราควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อตนเอง ต่อพระเจ้า และต่อเพื่อนพี่น้อง ความหยิ่งจองหองและความภูมิใจในความชอบธรรมของตนเอง เป็นอุปสรรคขวางกั้นระหว่างเรากับพระเจ้า และระหว่างเรากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีคำกล่าวว่า ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น ฉะนั้น ขอให้เรามีความถ่อมตน สำนึกว่าเราเป็นคนบาป ไม่กล่าวโทษหรืออวดตัวว่าดีกว่าคนอื่น


ต้นจามจุรียักษ์ อายุกว่าร้อยปีที่กล่าวกันว่ามีมาก่อนตั้งหมู่บ้านนาบัว

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
22 ตุลาคม 2010

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

 นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

รูปปั้นนักบุญลูกา ที่สักการสถานแม่พระแห่งนักบุญลูกา ที่โบโลนญา อิตาลี

วันนี้ (18 ตุลาคม) พระศาสนจักรให้เราทำการฉลองนักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้ร่วมงานใกล้ชิดของนักบุญเปาโล และผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวก (ที่เล่าถึงการประกาศข่าวดีของบรรดาอัครสาวกในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะนักบุญเปโตรและเปาโล) นอกนั้น ลูกายังเป็นองค์อุปถัมภ์ของแพทย์ ศิลปิน และจิตกร อันเนื่องมาจากอาชีพและความสามารถพิเศษของท่าน

ลูกาเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด เกิดที่เมืองอันทิโอก ประเทศซีเรีย ในครอบครัวคนต่างศาสนา ภายหลังได้กลับใจเป็นคริสตชนและกลายเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของนักบุญเปาโลในการประกาศพระวรสาร ด้วยความที่มีอาชีพเป็นแพทย์จึงเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถพิเศษหลายอย่าง เช่น การวาดภาพ ที่มีชื่อเสียงคือภาพวาดแม่พระ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิหารแม่พระ (Santa Maria Maggiore)
ภาพวาดแม่พระ ที่เชื่อกันว่าเป็นผลงานของนักบุญลูกา ที่อาสนวิหาร Santa Maria Maggiore
ลูกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพราะได้เขียนพระวรสารฉบับที่สาม (ราวปี ค.ศ. 63) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การใช้คำและเรียบเรียงอย่างประณีต ถ่ายทอดเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูเจ้าในรายละเอียดมากที่สุด โดยรวบรวมเนื้อหาอย่างระมัดระวังจากแหล่งข้อมูลที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง เพื่อค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์สมัยพระเยซูเจ้า โดยมีจุดประสงค์สำคัญ 5 ประการ:

ประการแรก ต้องการชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเป็นบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์โลก โดยได้ลำดับวงศ์วานของพระเยซูเจ้าย้อนไปจนถึงอาดัม (ลก 3:23-38) นั่นคือตั้งแต่สร้างโลก เพื่อบอกให้ทราบว่าการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก

ประการที่สอง ต้องการบันทึกเรื่องราวในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ของพระเยซูเจ้า (ลก 2:21-51) ซึ่งไม่มีพระวรสารเล่มใดบันทึกไว้

ประการที่สาม ต้องการเน้นให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง และคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม โดยการเสนอภาพความรักที่พระเยซูเจ้ามีต่อคนบาป (ลก 15) ทรงให้อภัยคนบาป (ลก 7:36-50; 15:11-32; 19:1-10) ทรงเมตตาคนยากจนและประณามคนมั่งมีและเอาเปรียบผู้อื่น (ลก 1:51-53; 6:20-26; 12:13-21) ลูกาได้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาของพระเจ้า โดยเฉพาะต่อหญิงคนบาป (ลก 7:37-38) และคนเก็บภาษี (ลก19:1-10)

ประการที่สี่ ต้องการให้ความสำคัญกับผู้หญิงซึ่งสมัยนั้นถูกมองข้ามและไม่มีบทบาทในสังคม โดยเน้นบทบาทของแม่พระ การแจ้งข่าวของทูตสวรรค์ การเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ (ลก 1:26-56) และการประสูติของพระเยซูเจ้า (ลก 2:1-20) นอกนั้น ลูกายังได้บันทึกเรื่องราวของหญิงม่าย (ลก 7:11-17; 21:1-4) และบทบาทของผู้หญิงที่ติดตามพระเยซูเจ้าและในหมู่สาวกของพระองค์ (ลก  8:1-3; 24:10)

ประการที่ห้า ต้องการให้ผู้อ่านทราบว่า ข่าวดีของพระเยซูเจ้าเป็นสากล (ลก 4:43) มาถึงคนทุกชาติ ไม่ใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง (ลก 6:17) โดยเน้นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้า ดังปรากฏในคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:25-37) ซึ่งเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้า

ลูกาได้แสดงให้เราเห็นว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องพร้อมที่จะแบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ในการเป็นเครื่องมือแห่งความรักและความเมตตาของพระองค์ในการประกาศข่าวดี และท่านได้เป็นพยานถึงข่าวดีนี้ด้วยชีวิตของท่าน เราแต่ละคนถูกส่งออกไปประกาศข่าวดีนี้เช่นเดียวกัน ให้เราวิงวอนท่านนักบุญลูกา เพื่อเราจะสามารถเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้นกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
17 ตุลาคม 2010