วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

60 ปี บ้านเณรฟาติมาท่าแร่ (2)



2.     60 ปีสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่: ค.ศ. 1954-2014  
สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497)  นับเนื่องถึงปัจจุบันจะมีอายุครบ 60 ปีพอดี  หากเทียบเคียงกับชีวิตคน  60 ปีคือคนวัยเกษียร ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและประสบการณ์หลากหลายรูปแบบทั้งสุขและทุกข์ ที่หลอมรวมกันทำให้แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการเป็นเสาหลักของบุตรหลานและสังคมต่อไป  
สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ ในปัจจุบันดูจะไม่ต่างกันเท่าไรนัก เรื่องราวและเหตุการณ์มากมายในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าและการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น หัวใจ ของพระศาสนจักรภาคอีสานในระยะเริ่มแรก และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในปัจจุบัน
60 ปีที่ผ่านมาของสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ จึงเป็น 60 ปีแห่งพระพรอันล้ำค่าที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับหลายชีวิต ตั้งแต่พระสังฆราช ผู้ให้การอบรม ผู้รับการอบรม บรรดาคริสตชน และทุกสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นสามเณราลัยแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่บทบาทอย่างมากในก้าวย่างที่มั่นคงนี้คือ บรรดาอธิการ รวม 14 องค์  ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
2.1            คุณพ่อยอแซฟ อินทร์  นารินรักษ์: อธิการองค์แรก ค.. 1954-1955
ปี ค.. 1948 (.. 2491) พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ได้ส่งรายงานแจ้งจุดประสงค์ที่จะสร้างอาคารที่พักสามเณรหลังใหม่ในที่ดินของมิสซังทางฝั่งตะวันตกของบ้านท่าแร่  พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนการก่อสร้างผ่านทางองค์การนักบุญเปโตร เป็นเงินจำนวน 50,000.-  ดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายให้ปีละ 10,000.- ดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปี เริ่มจ่ายในปี ค.. 1950 (.. 2493)
ปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) คุณพ่อยอแซฟ อินทร์  นารินรักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการสามเณราลัยและรับผิดชอบการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังหลังพิธีวางศิลาฤกษ์โดย พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.. 1952 (.. 2495) และบรรดาคริสตชนจากหลายวัดได้บริจาคเพื่อการก่อสร้างด้วยใจกว้าง จนกระทั่งแล้วเสร็จ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ สูง 3 ชั้น สร้างด้วยวัสดุที่พอจะหาได้ในท้องถิ่นอีสาน แต่ต้องถือว่าทันสมัยมากในสมัยนั้น

พิธีเสกสามเณราลัยแห่งใหม่เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 13 ตุลาคม ค.. 1954 (.. 2497) โดยพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต ประมุของค์ใหม่ของมิสซังท่าแร่ เป็นประธานในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ และได้ถวายสามเณราลัยแห่งนี้แด่พระมารดาแห่งฟาติมา สามเณราลัยแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า สามเณราลัยฟาติมา   หลังจากนั้นพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ได้เป็นผู้เสกอาคารใหม่  ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มและมีส่วนสำคัญในการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มแรก สามเณราลัยแห่งนี้ได้ใช้เป็นที่อบรมบรรดาสามเณรทั่วภาคอีสานเรื่อยมา รวมถึงสังฆมณฑลเชียงใหม่ด้วยในระยะเริ่มแรก

เพื่อให้สามเณรได้รับการศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่จึงได้ยื่นขออนุญาตเปิดสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ เป็นโรงเรียนชื่อ โรงเรียนวรธรรมพิทยาคาร  ในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ดังนั้น สามเณรที่เข้าใหม่ในปีนั้นจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ได้เรียนที่โรงเรียนวรธรรมพิทยาคาร โดยมีพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ได้แก่ คุณพ่อหลุยส์  เลอดึก,  คุณพ่อยัง ยักเกอแมง, คุณพ่อแยร์แมง  แบร์ทอลด์ และคุณพ่อโมริส  บริสซอง และครูฆราวาสเป็นผู้สอน  ส่วนชั้นมัธยมปีที่ 4-6  ยังคงเดินไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟตามเดิม 
2.2            คุณพ่อโมริส  บริสซอง: อธิการองค์ที่ 2  .. 1955-1958
คุณพ่อโมริส  บริสซอง เข้ามาประจำที่สามเณราลัยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497)  ปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการองค์ที่ 2 ตามนโยบายของ พระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต ที่ต้องการให้พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสดูแลสามเณราลัย เพื่อจัดระเบียบและวางรากฐานทางการศึกษาให้ก้าวหน้า  หลังรับตำแหน่งอธิการ คุณพ่อบริสซอง ได้ปรับเปลี่ยนหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัยและการศึกษา
ปี ค.ศ.1956 (พ.ศ. 2499) คุณพ่อบริสซอง ได้ส่งสามเณร 2 คน คือ สามเณรพิชิต  ศรีอ่อน และสามเณรวาท  อินทนาม ไปเรียนวิชาปรัชญาที่สามเณราลัยบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ของมิสซังราชบุรี  เนื่องจากปีต่อมาสามเณรชั้นมัธยมปีที่ 5-6 มีน้อย จึงได้ส่งสามเณรรวม 6 คนไปเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์  อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ได้มีการเปลี่ยนแปลงครูใหญ่จากครูบุญถม  หงษ์ทอง เป็นครูนารถ  มุขยวงศ์  พร้อมทั้งได้บรรจุสามเณรรุ่นพี่เป็นครูโรงเรียนราษฎร์ตามกฎหมาย  สอนตามความถนัดของแต่ละคน โดยจัดให้ครูเหล่านี้สอนเรียนในภาคเช้า ส่วนภาคบ่ายให้เรียนวิชาภาษาลาติน, ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส  สามเณรทุกรุ่นหลังเรียนจบจะได้รับการบรรจุเป็นครูหรือลาตินิสต์ (Latinist) เพื่อช่วยสอนสามเณรรุ่นน้องอีกอย่างน้อย 2-4 ปี 
2.3      คุณพ่อยัง ยักเกอแมง: อธิการองค์ที่ 3.. 1958-1965
คุณพ่อยัง ยักเกอแมง เข้ามาเป็นพระสงฆ์ประจำสามเณราลัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 3 กิจการของโรงเรียนวรธรรมพิทยาคารในขณะนั้นก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะความเอาใจใส่และร่วมแรงร่วมใจของคณะสงฆ์ผู้ร่วมงาน บรรดาครูฆราวาส ครูเณร ที่ได้ช่วยกันปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ทุกด้าน ทำให้กิจการของโรงเรียนเจริญรุดหน้าและประสบผลสำเร็จ ผลการเรียนของนักเรียนทุกคนจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของโรงเรียนในสังกัดเขตการศึกษา 9

ปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) เมื่อจำนวนสามเณรเพิ่มมากขึ้น ได้มีการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้นต่อจากอาคารเดิมไปทางทิศตะวันตก เพื่อใช้เป็นวัด ห้องเรียน ห้องพักพระสงฆ์ และห้องนอนสำหรับสามเณรใหญ่ จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จ  มีพิธีเสกและเปิดโอกาสฉลองสามเณราลัยโดย พระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์  พร้อมกับให้ชื่ออาคารใหม่นี้ว่า อาคารนาซาแร็ธ

ปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) คุณพ่อยักเกอแมงได้สร้างถังเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ 3 ถังเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ดื่มตลอดปี  และปรับปรุงอาคารฟาติมาเดิม โดยต่อเติมระเบียงด้านหน้าของชั้นที่สองและสามเป็นบานเกล็ด ติดตั้งเหล็กดัดและมุ้งลวดในชั้นที่สามเพื่อขยายห้องนอนทั้งสองห้องให้กว้างขึ้นให้สามารถรองรับจำนวนเณรได้มากขึ้น   


วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม



กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม
เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” เป็นคำเปรียบเปรยที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อระบบยุติธรรม เพราะการที่ต้องเป็นคดีความฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลย นอกจากจะเสียเงิน เสียเวลา เสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพแล้ว ยังเสียสุขภาพจิตด้วย หากเลือกได้ บางคนอาจยอมกินอาจมดีกว่า
แต่ในความเป็นจริง มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีแม้แต่โอกาสเลือกด้วยซ้ำ พวกเขาไร้ทุกสิ่งที่เป็นปัจจัยอันเอื้อต่อการชนะคดีความ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง โอกาสและความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย ทำให้ตกเป็นเหยื่อของคนโลภและคนที่รู้ช่องกฎหมายมากกว่า นโยบายที่บอกว่า “จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันทางกฎหมาย” จึงไม่มีวันเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ
อย่างกรณีของตายายคู่หนึ่งที่ลูกชายพามาขึ้นศาล คุณตาน่าจะอายุเกิน 80 ปี บุตรชายต้องพยุงเข้ามาในห้องพิจารณาคดีและไม่อยู่ในสภาพที่รับรู้รับฟังอะไรได้ ส่วนคุณยายอายุอ่อนวัยกว่า ยังพอเดินเหินและพูดจาได้ แต่หูไม่ค่อยได้ยินแล้ว ทั้งสองตกเป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินที่ตนเองถือครองและทำกินมาแต่อ้อนแต่ออก
คุณยายยกมือท่วมหัวพูดจาด้วยภาษาถิ่นอีสาน “ข้าแต่ศาลผู้สูงสุด ขอได้ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ข่าแน่เถิด พะยะคะ” พร้อมกับย้อนความหลังว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนยายมีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงได้ไว้วานคนที่ไว้ใจกันให้พาเอาที่ดินไปจำนองธนาคาร เขาได้ขอบัตรประชาชนขึ้นไปเปิดบัญชีธนาคารให้พร้อมกับเงินในบัญชี 5 หมื่นบาท ไม่นานหลังจากนั้น ที่ดิน 10 ไร่ผืนนั้นได้ตกเป็นของอีกคนหนึ่ง ที่ได้ฟ้องร้องให้ยายและครอบครัวย้ายออก ยายมั่นใจว่าที่ดินนี้เป็นของยายจึงไม่ได้ทำอะไร
ผู้พิพากษาได้แสดงคำสั่งศาลให้ยายได้เห็นว่า คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาให้ยายย้ายออกตั้งแต่ปี 2546 เมื่อยายไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา คดีนี้จึงถึงที่สุด ยายต้องออกจากที่ดินสถานเดียว หากยายไม่ออกจะต้องถูกจับขัง แต่ยายก็ยืนยันว่าจะให้ยายออกไปไหน นี่เป็นที่ดินของยาย เขาโกงเอาของยายไป และขอความเมตตาจากศาลได้โปรดให้ความยุติธรรมกับยายด้วย ยายต้องดูแลตาและหลานอีก 4 คน
ผู้พิพากษาดูจะเห็นใจและเข้าใจถึงความอยุติธรรมที่ยายได้รับ แต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากกว่าขอให้โจทก์ได้ให้เวลาแก่ยายในการย้ายออก ทนายฝ่ายโจทก์ได้เสนอให้โจทก์ให้เวลา 2 เดือน พร้อมค่ารื้อถอนบ้าน 2 หมื่นบาท แต่ยายยังยืนยันว่าไม่มีที่ไปแล้ว หลานอีก 4 คนจะให้ไปอยู่ไหน จึงต่อรองขอที่ดินให้ยายได้อยู่กับหลานและทำกิน 5 ไร่ เมื่อโจทก์ไม่ยอม เลยขอ 2 ไร่ โจทก์ยอมตามคำขอ แต่ยายต้องจ่ายค่าที่ดินไร่ละ 7.5 หมื่นบาท ที่สุด ยายได้ขอที่ดิน 1 ไร่เท่านั้น ตรงที่บ้านปลูกอยู่และทำกินเล็กๆ น้อย แต่ก็ไม่ได้รับตามที่ขอ
นี่คือเรื่องราวที่ได้รับรู้ ก่อนที่คดีความขอตนเองจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา (คดีอาญา ฐานความผิด ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, การกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหาย) ถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้มาใส่กุญแจมือ นี่เป็นครั้งแรกที่รับรู้และมีประสบการณ์ของการเป็นผู้ต้องหา ก่อนที่ผู้พิพากษาจะนัดตัดสินคดีในอีก 1 เดือน
จากนั้นได้ถูกควบคุมตัวพร้อมกุญแจมือไปยังห้องควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ได้มาไขกุญแจมือ ก่อนจะนำตัวไปกรมคุมประพฤติเพื่อสืบเจาะข้อมูลประวัติทั้งหมดและเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องรอเพราะเป็นเวลาพักเที่ยงพอดี จึงได้มาพักที่ห้องพักทนายและติดต่อเรื่องประกันตัว ซึ่งต้องหาหลักทรัพย์หรือเงินสดในวงเงิน 1.2 แสนบาทเพื่อประกันตัว หากไม่มีจะต้องถูกคุมขัง ได้เตรียมเงินมาบ้างแต่ไม่นึกว่าจะมากอย่างนี้ จึงได้ติดต่อขอให้สัตบุรุษวัดมุกดาหารได้นำเงินสดมาประกันตัว
ต้องขอขอบคุณสัตบุรุษวัดมุกดาหารท่านนี้เป็นอย่างมากที่รีบมาทันที ไม่เช่นนั้นคงได้มีประสบการณ์ของการนอนห้องกรงเป็นแน่ อีกทั้ง ขอขอบคุณทนายที่ได้ทำหน้าที่ดูแลเป็นอย่างดี ถึงตรงนี้ยังอดคิดถึงเรื่องของคุณยายคนนั้นไม่ได้ ไม่เพียงไม่รู้ข้อกฎหมายแต่ยังไม่มีทนายแก้ต่างให้เลย ความอยุติธรรมในโลกนี้ยังมีอีกมาก ทำให้นึกถึงกล่าวของโทมัส เจฟเฟอร์สันที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านก็กลายเป็นหน้าที่”
รู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้าง เมื่อเห็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใส่กรอบสีทองติดข้างฝาเด่นเป็นสง่าในห้องพักทนาย ที่ทรงพระราชทานแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ว่า
“...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากแต่เป็นเพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเต็มที่ ตรงข้าม คนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต และกฎหมายจะไม่คุ้มครองจนเกินไป เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรจะถือว่า การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย...”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
24 กันยายน 2014

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

60 ปี บ้านเณรฟาติมาท่าแร่ (1)



สามเณราลัยฟาติมาท่าแร่: 60 ปีแห่งพระพร
คุณพ่อดาเนียล ขวัญ  ถิ่นวัลย์
ความนำ
            แม้ธรรมชาติและกาลเวลาจะกลืนกินทุกสิ่ง อันเป็นสัจธรรมที่ทุกคนยอมรับ  แต่ในขณะเดียวกัน กาลเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้าง บ่มเพาะ และพัฒนาคุณภาพของบุคคลหรือสถาบัน ให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและเติบโตยิ่งขึ้นอย่างมีคุณค่า มิให้เสื่อมสลายไปตามเงื่อนไขแห่งกาลเวลา
สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ เป็นสถาบันหนึ่งที่ได้ผ่านการบ่มเพาะของกาลเวลามาครบ 60 ปีพอดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่เป็น แหล่งเพาะชำพืชพันธุ์  (Seminarium) แห่งกระแสเรียกการเป็นคริสตชนและพระสงฆ์ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของสถาบันแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี 
นี่คือความมุ่งหมายและที่มาของบทความนี้  เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ ความทรงจำที่ดีงาม และประสบการณ์อันทรงคุณค่าของบรรดา ลูกฟาติมา ในแต่ละยุคสมัยไว้มิให้เลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา  อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ภาคภูมิใจ และตอบรับกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น
1.          ภูมิหลังก่อนจะมาเป็นสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่
ความเป็นมาของสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผยแผ่คริสต์ศาสนาเข้ามาในภาคอีสานในสมัยพระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis VEY) ที่ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดม (Constant Jean PRODHOMME)  และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก (Xavier GUEGO)   เข้ามาแพร่ธรรมในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) โดยยึดเอาอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลาง  การแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรกก้าวหน้ามาก จึงมีความพยายามที่จะตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อผลิตครูคำสอนและผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์สำหรับช่วยงานพระศาสนจักรท้องถิ่นใหม่ ดังนั้นเราจึงได้เห็นการถือกำเนิดขึ้นของสามเณราลัยหลายแห่ง ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โปรดม
1.1              สามเณราลัยดอนโดน: ค.ศ. 1891-1901
มิชชันนารีรุ่นแรกภายใต้การนำของคุณพ่อโปรดม มองเห็นความจำเป็นเรื่องการเตรียมครูคำสอนเป็นการเฉพาะ  ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี ค.. 1891 (.. 2434) จึงได้ตั้งโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่เกาะดอนโดน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำโขงเหนือตัวเมืองนครพนมขึ้นไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร  โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสถานที่เตรียมผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์ด้วย
โรงเรียนที่ตั้งขึ้นที่ดอนโดนจึงเป็นทั้งสามเณราลัย และโรงเรียนฝึกอบรมครูคำสอนในเวลาเดียวกัน    ภายใต้การดูแลของคุณพ่อเดอลาเล็กซ์ (DELALEX)  น่าเสียดายที่ สามเณราลัยดอนโดน หรือ โรงเรียนดอนโดน ดำเนินการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์และครูคำสอนได้ไม่นานก็พังทลายลงเพราะพายุไต้ฝุ่น  ในราวเดือนเมษายน ปี ค.. 1901 (.. 2444)  
อย่างไรก็ดี สามเณราลัยแห่งนี้ได้ผลิตพระสงฆ์พื้นเมืององค์แรกและองค์เดียวให้แก่พระศาสนจักรท้องถิ่นคือ คุณพ่ออันตน หมุน ธารา จากอุบลราชธานี และได้ผลิตครูคำสอนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานแพร่ธรรมของมิสซังตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก
คุณพ่อซาเวียร เกโก
1.2               สามเณราลัยนาซาแร็ธ นครพนม: ค.ศ. 1902-1908
เมื่อสามเณราลัยดอนโดนถูกพายุพัดพังทลายจนยากที่จะซ่อมแซมได้  พระสังฆราชยอแซฟ มารีย์ กืออ๊าส (Joseph Marie CUAZ) ได้สร้างสามเณราลัยแห่งใหม่ในที่ดินที่ผู้มีน้ำใจดียกถวายให้มิสซัง โดยมอบหมายให้คุณพ่อโปรโดม เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในปี ค.. 1902 (.. 2445) และได้เปิดใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.. 1903 (.. 2446) พร้อมกับตั้งชื่อสามเณราลัยแห่งใหม่นี้ว่า สามเณราลัยนาซาแร็ธ โดยมีคุณพ่อลาซาร์ (LAZARE) เป็นอธิการ
ปี ค.. 1908 (.. 2451) พระสังฆราชกืออ๊าส ได้ขออนุญาตจากสันตะสำนักเลิกใช้สามเณราลัยนาซาแร็ธ แต่ได้ใช้เป็นโรงเรียนฝึกอบรมครูคำสอนเพียงอย่างเดียว  สามเณรที่ผ่านการอบรมจากสามเณราลัยนาซาแร็ธ ไม่มีใครได้บรรลุถึงขั้นศักดิ์สงฆ์  
อย่างไรก็ดี สามเณราลัยแห่งนี้ได้ผลิตครูคำสอนและผู้นำคริสตชนที่ดีมากมายแก่พระศาสนจักร  หลังจากนั้นได้ส่งสามเณรไปเรียนที่สามเณราลัยบางช้าง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตามลำดับ เป็นเวลา 24 ปี
พระสงฆ์มิชชันนารี สมัยพระสังฆราชยอแซฟ มารีย์ กืออ๊าส ปี ค.ศ. 1903
1.3               สามเณราลัยพระหฤทัย หนองแสง: ค.ศ.1938-1940
การส่งสามเณรไปเรียนในที่ไกลๆ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนเช่นปัจจุบัน พระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง (Angelo Marie GOUIN) ได้ตัดสินใจเปิดสามเณราลัยขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.. 1938 (.. 2481)ในที่ดินของมิสซังที่หนองแสง โดยมีคุณพ่อยวง แฟรซ์ เป็นอธิการ มีสามเณรในปีแรกจำนวน 16 คน และผู้เตรียมเป็นสามเณรอีก 17 คน   
 ปี ค.. 1940 (.. 2483) เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน  พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสในภาคอีสานถูกขับไล่ออกนอกประเทศทั้งหมด วัดวาอารามถูกปิด รวมทั้งสามเณราลัยแห่งนี้ด้วย  สามเณรต้องถูกส่งตัวกลับบ้านไปอยู่กับบิดามารดา  กรณีพิพาทครั้งนั้นทำให้อาคารสามเณราลัย 2 หลังที่เพิ่งสร้างเสร็จถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง
สามเณรของบ้านเณรพระหฤทัย หนองแสง ประมาณปี ค.ศ. 1938 (แถวนั่ง คนแรกจากซ้ายคือ สามเณรคายน์ แสนพลอ่อน)

1.4               สามเณราลัยชั่วคราว ท่าแร่: ค.ศ.1947-1954
เมื่อสงครามและการเบียดเบียนศาสนาสงบลง คุณพ่อเกลาดิอุส บาเย (Glaudius BAYET), คุณพ่อเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล และคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรี ได้ปรึกษากันจะตั้งสามเณราลัยแห่งใหม่ขึ้น โดยเห็นพ้องกันว่า สถานที่เก่าที่หนองแสงไม่เหมาะที่จะสร้างสามเณราลัยอีกเพราะตลิ่งแม่น้ำโขงถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงทุกปี จึงได้ตัดสินใจย้ายไปสร้างที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร
เดือนพฤษภาคม ค.. 1947 (.. 2490) คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ได้ยื่นขออนุญาตเปิดโรงเรียนเซนต์ยอแซฟเป็นครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาอบรมแก่สามเณรและเณรีโดยเฉพาะ  แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับนักเรียนในพื้นที่  มีสามเณรจากทั่วภาคอีสานสมัครเข้าสามเณราลัยในปีแรกจำนวน 32 คน  โดยใช้อาคารของโรงเรียนเป็นที่พักอาศัย มีคุณพ่อเปโตร วันดี  พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นอธิการ  โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นทั้งโรงเรียนและสามเณราลัยในเวลาเดียวกัน  
กิจการของโรงเรียนเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนสามเณรที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  ทำให้คณะผู้บริหารของมิสซังคิดที่จะเปิดสามเณราลัยแห่งใหม่ในที่ดินของมิสซังทางทิศตะวันตกของบ้านท่าแร่แยกจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ   อีกอย่างจำนวนสามเณรก็มากพอที่จะเปิดเป็นโรงเรียนใหม่ได้