วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 68


สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว

ปีที่ 2  ฉบับที่ 68  วันที่ 28  สิงหาคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
เลขที่ 154 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

รา
พิธีส่งศพยอแซฟวัฒนา วินบาเพชร โดยคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ เมื่อ 22 สิงหาคม
สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา

เรามารวมกันทุกอาทิตย์เพื่อร่วมฉลองกางเขนที่นำความรอดร่วมกับพระเยซูเจ้า พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้เชิญชวนเราให้มุ่งความสนใจไปที่พระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงออกให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์ และช่วยมนุษย์ให้ได้รับความรอดเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์

หนทางที่เราจะได้รับความรอดมีแต่ผ่านทางกางเขนของพระเยซูเจ้า และผ่านทางกางเขนที่เราแต่ละคนต้องแบกในแต่ละวัน ให้เราได้เงียบสักครู่ กราบขอสมาโทษพระเจ้าหากเราไม่ได้ดำเนินชีวิต ในการสละตนเองและแบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ อีกทั้งให้อภัยเพื่อนพี่น้องด้วยใจกว้าง
 ยอแซฟวัฒนา (หรั่ง) บุตรของตู้สมหวัง-จันทร์ไทย วินบาเพชร สิ้นใจเมื่อ 20 สิงหาคม

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกเยเรมีย์    ยรม 20:7-9

ประกาศกเยเรมีย์ไม่อยากเป็นประกาศกอีกต่อไป ถึงขนาดกล่าวว่าพระเจ้าล่อลวงท่าน อันแสดงถึงสายสัมพันธ์แห่งความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้า แต่ถึงกระนั้นก็ยอมถูกล่อลวงและยินดีปฏิบัติตนในฐานะประกาศกต่อไป  ความรักเป็นเหมือนไฟที่ลุกโชติช่วง แต่อาจทำให้เจ็บปวด ซึ่งเรียกร้องความเสียสละ

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวโรม    รม 12:1-2

นักบุญเปาโลได้เตือนใจชาวโรมันและเราให้มีความจริงใจต่อการเรียกของพระเจ้า ไม่ปล่อยให้ตัวเราถูกค่านิยมของโลกครอบงำ แต่ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า “อย่าคล้อยตามความประพฤติของโลกนี้ แต่จงเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการฟื้นฟูความคิดขึ้นใหม่ เพื่อจะได้รู้จักวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า”

พระวรสาร: นักบุญมัทธิว   มธ 16:21-27

พระเยซูเจ้าได้บอกให้ทราบล่วงหน้าถึง พระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในเงื้อมมือของผู้นำศาสนา พระองค์ได้เปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายและการประหารอันน่าสะพรึงกลัว ให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและการให้อภัย เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับเราว่า จำเป็นต้องผ่านทางแห่งไม้กางเขน เพื่อจะได้รับมงกุฎอันรุ่งเรือง
 ฝนที่ตกติดต่อกันทำให้พื้นหน้าบ้านพักเป็นตะไคร่น้ำ จึงต้องอาศัยแรงงานเด็กแบบนี้

°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1)      ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 11 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 12

2)      ขอบคุณสภาอภิบาลที่มาช่วยกันขายข้าววัดและปลูกต้นกล้ายางที่เหลือ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้รับมอบเงินขายข้าวจากสภาอภิบาล จำนวน 60,000.- บาท

3)      ขอเชิญลูกๆ เยาวชนเข้าร่วมงาน รวมพลังเยาวชนฉลองวันเยาวชนแห่งชาติระดับสังฆมณฑลฯ วันเสาร์ที่ 3 กันยายนนี้ ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ลงทะเบียนเวลา 08.30 น.
 บรรดาแม่บ้านที่มาช่วยกันปลูกต้นเข็มด้านข้างวัด เมื่อ 28 สิงหาคม

4)      คณะภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ ขอเชิญร่วมฉลองเทิดทูนกางเขนและฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการปฏิญาณตนของ ซิสเตอร์เทโอโดรา อรมัย คำควร วันเสาร์ที่ 10 กันยายน (มีรถบัสบริการรับ-ส่ง)

5)      เงินทานวันเสาร์ 160.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2,760.- าท, เงินต้นมิสซาอุทิศให้ยอแซฟ วัฒนา วินบาเพชร (23 สิงหาคม) 1,020.- บาท, เงินค่าบำรุงโลงเย็นและถ้วยชาม (ยอแซฟ วัฒนา วินบาเพชร) 700.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 332.- บาท
 ชาวโพนสวางกลัวน้อยหน้านาบัว ช่วยกันปลูกต้นยางพารา 600 ต้นรอบบริเวณวัด

พิธีมิสซาและวันฉลองในรอบสัปดาห์

วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
28
07.00 น.
10.00 น.
มิสซาที่นาบัว
มิสซาที่โพนสวาง
สุขสำราญสำหรับพี่น้องชาวนาบัว
สุขสำราญสำหรับพี่น้องชาวโพนสวาง
จันทร์
29
06.00 น.
ระลึกถึงน.ยอห์นบัปติสต์ถูกตัดศีรษะ

อังคาร
30
06.00 น.
เทศกาลธรรมดา สัปดาห์ที่ 22

พุธ
31
06.00 น.
เทศกาลธรรมดา สัปดาห์ที่ 22

พฤหัสบดี
01
06.00 น.
เทศกาลธรรมดา สัปดาห์ที่ 22

ศุกร์
02
06.00 น.
วันศุกร์ต้นเดือน (ส่งศีลคนป่วย)

เสาร์
03
06.00 น.
19.30 น.
ระลึกถึง น.เกรโกรี่
มิสซาแทนวันอาทิตย์






วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กางเขนและมงกุฎ


 กางเขนและมงกุฎ 

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
ปี A
ยรม 20:7-9
รม 12:1-2
มธ 16:21-27

บทนำ

ซิสเตอร์ท่านหนึ่งกำลังอธิบายการเดินรูปสิบสี่ภาคให้เด็กๆ ในชั้นเรียนฟัง ซิสเตอร์ได้อธิบายมาถึงสถานที่ 4 ซึ่งเป็นตอนที่พระเยซูเจ้ากำลังแบกกางเขนสู่เขากัลวารีโอและพบกับพระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ ซิสเตอร์อธิบายว่าการเผชิญหน้ากันในสถานการณ์เช่นนั้น พระนางมารีย์ไม่สามารถสื่อสารกับพระเยซูเจ้าด้วยคำพูดได้ นอกจากสื่อสารกันทางสายตา

ซิสเตอร์จึงถามเด็กในชั้นเรียนว่า “พวกเธอคิดว่าแม่พระและพระเยซูเจ้าสื่อถึงกันว่าอย่างไร” เด็กนักเรียนในชั้นได้ให้คำตอบมากมายแตกต่างกันไป เด็กคนหนึ่งสะท้อนคำพูดของแม่พระว่า “ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ไม่ยุติธรรมเลย” อีกคนบอกว่า “ขอแม่แบกกางเขนแทนได้ไหม” ที่สุดมีเด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่งยกมือขึ้นและพูดกับซิสเตอร์ว่า “ซิสเตอร์คะ หนูรู้ว่าแม่พระบอกพระเยซูว่าอย่างไร เธอบอกพระองค์ว่า จงแบกกางเขนต่อไป ลูก!”

 
ทำไมพระนางมารีย์ถึงบอกให้แบกกางเขนต่อไป เพราะพระนางเข้าใจดีถึงหลักความเชื่อคริสตชนที่ว่า “ไม่มีกางเขน ไม่มีมงกุฎ” พระเยซูเจ้าได้เลือกหนทางแห่งไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ ผ่านทางกางเขนพระองค์จึงได้รับชัยชนะ เราคริสตชนไม่สามารถได้รับเกียรติมงคงรุ่งเรือง หากไม่ผ่านหนทางแห่งไม้กางเขน ดังคติที่ว่า โดยทางกางเขน จะพบความสว่าง (Per Crucem ad Lucem) ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย
1.  กางเขนและมงกุฎ

ทางแห่งไม้กางเขน คือเป้าหมายของพระเยซูเจ้าในการเสด็จมาในโลก พระองค์ตรัสกับบรรดาสาวกว่า พระองค์จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม จะถูกมอบแก่ผู้มีอำนาจและถูกทรมานอย่างแสนสาหัส “จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เป็นเรื่องเข้าใจยากว่าทำไมพระเจ้าต้องเลือกการทรมานเพื่อช่วยเรามนุษย์ให้รอด พระองค์สามารถเลือกวิธีที่ง่ายกว่านี้ได้โดยไม่ต้องมีการทรมานใดๆ เพื่อจะเข้าใจความจริงข้อนี้ เราต้องเชื่อในความรักของพระเจ้าที่มีต่อเราว่าเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความรักย่อมอยู่เหนือความเข้าใจและเหตุผลทางโลกเสมอ

บ่อยครั้งในชีวิต เรามักเข้าใจว่ากางเขนคืออุปสรรค เป็นสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงหรือกำจัดทิ้ง เหมือนอย่างเปโตรที่พยายามขัดขวางพระเยซูเจ้า “ขอเถิด พระเจ้าข้า เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” (มธ 16:22) ซึ่งไม่ต่างกับคนอื่นทั้งหลายที่หวังว่าพระเยซูเจ้าจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาว ผู้มากอบกู้ชาติ แต่ภายหลังเปโตรได้เข้าใจว่า การทรมานและความตายมิใช่จุดจบของทุกสิ่ง แต่เป็นหนทางสู่ชีวิต เมล็ดพืชต้องเน่าเปื่อยไปเพื่อจะได้เกิดต้นใหม่ ผลิดอกและออกผล ด้วยการตายต่อตัวเองเท่านั้น เราถึงจะได้ชีวิตนิรันดร

พระดำรัสของพระเยซูเจ้าชัดเจนและทรงอำนาจ “ถ้าผู้ใดอยากตามเรามา ก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ 16:24) บนไม้กางเขนพระองค์ได้แสดงให้เราเห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของพระเจ้าและมนุษย์ของพระองค์ ในความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ พระองค์ได้เปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายและการประหารอันน่าสะพรึงกลัว ให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและการให้อภัย “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)

2.  บทเรียนสำหรับเรา

เมื่อเรามองดูกางเขนของพระเยซูเจ้า ได้ให้บทเรียนที่สำคัญอะไรเราบ้าง

ประการแรก  จงเลิกนึกถึงตนเอง นั่นหมายความว่า เราต้องปฏิเสธตัวเองและตอบรับต่อพระเจ้า  ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือสำคัญผิดว่าตัวเองคือความถูกต้อง แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้นส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง (ยน 3:30) เพราะเมื่อเปรียบเทียบความดีของเรากับพระเจ้าแล้วไม่มีอะไรที่จะต้องอวดตัว นอกจากจะกล่าวเหมือนเปโตรว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8)

ประการที่สอง จงแบกไม้กางเขนของตน เราแต่ละคนมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องแบกในชีวิต นี่คือกางเขนที่เราแต่ละคนจะต้องแบกในแต่ละวัน ต้องละทิ้งความสุขสบายส่วนตัว สิทธิพิเศษ ชื่อเสียงและเกียรติยศเพื่อเห็นแก่พระคริสตเจ้า เราต้องติดตามพระองค์ด้วยหัวใจทั้งครบบนหนทางแห่งไม้กางเขน ในทุกสถานการณ์แห่งชีวิต เพราะหากไม่มีกางเขน ก็ไม่มีมงกุฎ ผ่านทางการแบกไม้กางเขนเท่านั้น เราถึงจะได้รับเกียรติมงคล

ประการที่สาม จงให้อภัยซึ่งกันและกัน บนกางเขนพระเยซูเจ้าได้ให้อภัยผู้ที่กำลังประหารพระองค์  ทุกครั้งที่เรามองดูกางเขนหรือทำสำคัญมหากางเขน ต้องเตือนตัวเราให้เลียนแบบพระองค์ในการให้ภัยความผิดของกันและกัน เวลาที่เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยนั่นคือจุดเริ่มต้นของสันติสุข ดังสุภาษิตแอฟริกาที่ว่า “ผู้ที่ให้อภัยยุติความขัดแย้ง” (He, who forgives, ends the quarrel.) สำหรับเราคริสตชน การให้อภัย หมายถึง การลืม ไม่จดจำความผิด และยกโทษด้วยใจจริง การลืมคือการรักผู้ที่ทำผิดต่อเรามากกว่าเดิม ต้อนรับเขาด้วยใจกว้างและปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาไม่เคยทำอะไรผิดต่อเรามาก่อน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก “ไม้กางเขน เป็นบันไดที่นำไปสู่สวรรค์” (The cross is a ladder leads to heaven) ถือเป็นสิ่งที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อคริสตชน เพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระเจ้าผ่านทางการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าที่ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ และทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายในสมัยนั้นให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก การให้อภัยและความรอดนิรันดร

เราได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าเช่นเดียวกับเยเรมีย์ เปาโลและบรรดาสาวก เราจะต้องไม่เป็นเครื่องกีดขวางวิถีทางของพระเยซูเจ้า แต่ต้องเป็นพยานถึงพระองค์ในวิถีทางดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน ไม่คิดถึงตนเองและแบกไม้กางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ประการสำคัญให้เราปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์บนกางเขน ที่ทรงวอนขอพระบิดาได้ให้อภัยคนที่ประหารพระองค์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การให้อภัยนำสันติสุขแท้มาสู่จิตใจของผู้ให้อภัยและผู้ได้รับการอภัย

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
26 สิงหาคม 2011

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บริการด้านการพัฒนามนุษย์

"สมณสาส์นพระศาสนจักรในเอเชีย" (Ecclesia in Asia) เป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากสมัชชาพระสังฆราชแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 18 เมษายน-14 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ลงนามโดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ได้รับมอบหมายให้ศึกษาบทที่ 6 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "การบริการด้านพัฒนามนุษย์" เห็นว่ามีแง่คิดและมุมมองเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์หลายประการที่น่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้รับรู้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
 การบริการด้านพัฒนามนุษย์ 

1.  คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

พระศาสนจักรมุ่งมั่นที่จะรับใช้มวลมนุษย์ ด้วยการให้ความช่วยเหลือให้แก่ชายหญิงทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกันในการเสริมสร้างอารยธรรมแห่งความรัก บนพื้นฐานแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม ความเป็นปึกแผ่นและเสรีภาพ ซึ่งจะสำเร็จได้ในองค์พระคริสตเจ้า ดังนั้น พระศาสนจักรในเอเชียได้รับการเชื้อเชิญให้เจริญชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการรับใช้ผู้ยากจนและคนไร้ที่พึ่งด้วยความรัก

ที่ผ่านมา คำสอนของพระศาสนจักรได้เน้นให้มีการพัฒนาบุคคลอย่างถูกต้อง และทั้งครบมากขึ้นเพื่อตอบสนองสถานภาพอันแท้จริงของประชากรโลก มิใช่การกระทำของบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงโครงสร้างของชีวิตสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ก่อให้เกิดช่องว่างที่ไม่เป็นธรรม หรือใช้ความเจริญก้าวหน้าเป็นเครื่องมือ

คำสอนเกี่ยวกับสังคมของพระศาสนจักร เป็นมาตรฐานเพื่อการตัดสินใจและเป็นแนวปฏิบัติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจการแพร่ธรรม โดยเน้นความสำคัญของการให้บรรดาสัตบุรุษได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นในเรื่องคำสอนที่เกี่ยวกับสังคม โดยเฉพาะในบ้านเณรและสถานอบรม ในหมู่ฆราวาส เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพวกเขาในการช่วยให้โลกมีชีวิตชีวามากขึ้น และดำเนินชีวิตเป็นเชื้อแป้งแห่งพระวรสาร

2.  ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล

จุดมุ่งหมายแรกและจุดหมายปลายทางการพัฒนาคือ “มนุษย์”  ในความเป็นบุคคลทั้งครบที่สร้างมาตามพระฉายาของพระเจ้า และได้รับพระพรแห่งศักดิ์ศรีและเสรีภาพที่พระเจ้าทรงประทานให้ อันเป็นที่มาของการประกาศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน น่าเสียดายที่คนเป็นจำนวนมากยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ตกเป็นทาสของผู้ที่มีอิทธิพลมากกว่า ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ด้านวิทยาศาสตร์ หรือสื่อมวลชน บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชาตระหนักดีถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องมีส่วนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ โดยเฉพาะในเอเซียที่ถูกข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบและความยากจน

3.  เลือกรักผู้ยากจน

พระศาสนจักรได้แสดงให้เห็นถึงการเลือกรักผู้ยากจน และผู้ที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เพราะคนเหล่านี้คือพระคริสตเจ้านั่นเอง (ดู มธ 25:40) การเลือกรักผู้ยากจน รวมไปถึงประชาชนที่หิวกระหาย ขัดสน ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ที่ไม่สมารถรับการรักษาพยาบาล ผู้ที่สิ้นหวัง พระศาสนจักรในเอเซียจะต้องพยายามที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนเกี่ยวกับผู้ยากจน อย่างจริงจังทั้งในวาจาและกิจการ

ความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ยากจน จะเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น หากคริสตชนเจริญชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามแบบฉบับของพระคริสตเจ้า ชีวิตที่เรียบง่าย ความเชื่ออันลึกซึ้งและความรัก ที่ไม่แสแสร้งต่อมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและถูกสังคมรังเกียจ ล้วนเป็นเครื่องหมายที่แจ่มชัดของพระวรสารในภาคปฏิบัติ เพื่อพระศาสนจักรเองจะได้เป็นพระศาสนจักรของคนจนและเพื่อคนจน

ด้วยความรักที่มีต่อคนจน พระศาสนจักรจึงให้ความสนใจกับผู้อพยพ ชนพื้นเมืองและชนเผ่าต่างๆ ตลอดจนสตรีและเด็กเป็นพิเศษ เหตุว่าบุคคลเหล่านั้นมักจะเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบที่เลวร้าย อีกทั้งถูกสังคมรังเกียจ เนื่องจากวัฒนธรรม เชื้อชาติ สีผิว ชั้น วรรณะ สภาพเศรษฐกิจหรือเพราะแนวคิดของพวกเขา รวมถึงผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อความเกลียดชัง เพราะการนับถือคริสตศาสนาด้วย

ในปัจจุบัน เอเซียกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐานและคนงานโพ้นทะเลเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้มักจะไม่มีเพื่อน อยู่ในท่ามกลางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ ด้อยโอกาสเนื่องจากภาษา ปัญหาด้านเศรษฐกิจ คนเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนและการดูแล เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรี มรดกทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา เหตุว่าในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้านั้นไม่มีใครเป็นคนแปลกหน้า (ดู มธ 11:28-29)

ชุมชนคาทอลิกควรขยายงานอภิบาลชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมเมือง ดูแลปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เคารพนับถือศาสนาดั้งเดิมและค่านิยมของพวกเขา ด้วยการช่วยพวกเขาให้ช่วยตัวเอง เพื่อเขาจะได้กลายเป็นผู้แพร่ธรรมในกรอบวัฒนธรรมและสังคมของพวกเขาเอง นอกนั้น ยังพูดถึงเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรง พระศาสนจักรจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและชักจูงเด็กเหล่านี้ให้รู้จักความรักของพระเยซูเจ้า เหตุว่าพระอาณาจักรพระเจ้าเป็นคนของเด็กๆ เหล่านี้ (ดู ลก 18:16)

ที่ประชุมสมัชชากล่าวถึงความห่วงใยเป็นพิเศษสำหรับสถานภาพของสตรีในเอเชีย ที่ยังมีการเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งจะพบได้ในบ้าน ในที่ทำงาน แม้กระทั่งในระบบกฎหมาย หลายคนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องบำเรอในสภาพของโสเภณี พระศาสนาจักรท้องถิ่นในเอเซีย ควรส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในนามของสตรี เชิดชูศักดิ์ศรีและเสรีภาพของสตรีให้ปรากฏชัดและมีผลมากขึ้น โดยสนับสนุนบทบาทสตรีในชีวิตของพระศาสนจักร ในพันธกิจแห่งความรักและการรับใช้

4.  พระวรสารทรงชีวิต

ชีวิตเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่ที่พระเป็นเจ้าทรงมอบไว้กับเรา ดังนั้นเราจึงต้องเป็นผู้พิทักษ์ชีวิต ทั้งนี้เพราะการปฏิสนธิชีวิตมนุษย์เกี่ยวโยงกับการเนรมิตสร้างของพระเจ้า และเป็นสายสัมพันธ์พิเศษกับพระผู้สร้าง ผู้ทรงเป็นแหล่งที่มาและจุดจบของชีวิต การพัฒนาที่แท้จริง อารยธรรมที่แท้จริง และการส่งเสริมมนุษยชนอย่างจริงจังจะมีขึ้นไม่ได้ หากไม่เคารพต่อชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเสียงในการปกป้องตัวเอง

สมณสาสน์เรื่อง พระวรสารแห่งชีวิต ได้กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ เนื่องจากปัญหาเรื่องประชากร ทำให้มักอ้างว่าจำเป็นต้องมีการคุมกำเนิดโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พระศาสนจักรต้องต่อต้าน วัฒนธรรมแห่งความตายจะต้องส่งเสริมและมีส่วนในแผนการที่จะปกป้องชีวิตของผู้ไม่สามารถป้องกันตนเองได้

5.  ดูแลด้านสุขภาพ

พระศาสนจักรในเอเซียดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงมีพระเมตตาต่อทุกคนและ ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิด (มธ 9:35) เพราะว่านี่คือพันธกิจอันสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งในการมอบพระหรรษทานแห่งความรอดให้แก่คนทั้งครบ ตามแบบอย่างของชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ดู ลก 10:29-37) พระศาสนจักรมีความปรารถนาที่จะดูแลคนเจ็บป่วยและผู้พิการอย่างเป็นรูปธรรม

คริสตชนผู้ดูแลสุขภาพถูกเรียกร้องมากขึ้นให้มีใจกว้างขวาง และอุทิศตนในการดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดและโรคเอดส์ ซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคมและถูกทอดทิ้ง บรรดาผู้ดูแลสุขภาพเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในความดีที่เขากำลังทำอยู่ เพื่อว่าการอุทิศตนของพวกเขาสามารถทำให้คุณค่าและคริสตศาสนธรรมซึมซาบเข้าไปในการดูแลรักษา

6.  การศึกษา

ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษยชาติ พระศาสนจักรจำต้องเสวนากับชนทุกชาติ ทุกกาลเวลาและสถานที่ เพื่อตอบสนองพันธกิจที่ได้รับไว้ พระศาสนจักรจึงออกไปพบปะกับประชาชนในโลก เนื่องจากพระศาสนจักรเป็น ฝูงแกะน้อยๆ” ในท่ามกลางมนุษยชาติ (ดู ลก 12:32) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเชื้อแป้งในโลก (ดู มธ 13:33) โดยมุ่งไปยังบรรดาผู้ที่เชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระจ้าและผู้ไถ่ เป็นอันดับแรกและขยายไปสู่ผู้นับถือศาสนาอื่น

7.  ส่งเสริมสวัสดิภาพ

หลังศตวรรษที่ยี่สิบ โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งและภาวะสงคราม มีการแบ่งแยกด้านสังคม วัฒนธรรม การเมืองและศาสนา มีการใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล พระศาสนจักรถูกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ ความยุติธรรมและการคืนดีกัน โดยเน้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจา มิไม่ด้วยกำลังทหาร การเสวนาคือวิถีทางเดียวที่จะก่อให้เกิดการตกลงและคืนดีกัน

สิ่งที่น่าห่วงใยเป็นพิเศษในเอเชียคือ การแข่งกันในการแสวงหาขีปนาวุธที่สามารถทำลายคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงกับระเบิดซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องพิการหรือเสียชีวิต และทำให้พื้นดินอันอุดมถูกทำลาย สมัชชายังได้เรียกร้องให้หยุดการผลิต ขาย หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมีและอาวุธเชื้อ อีกทั้งได้ย้ำถึงความทุกข์ของชาวอิรัก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เสียชีวิตเพราะขาดแคลนยาและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน

8.  โลกาภิวัตน์

สมัชชายอมรับถึงความสำคัญของเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะต่อผู้ที่ยากจน นำสังคมเอเซียเข้าสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยม ซึ่งมุ่งไปทางโลกและวัตถุนิยม ส่งผลให้สถาบันครอบครัวแตกสลาย พระศาสนจักรต้องมีบทบาทในการออกมาตรการทางด้านศีลธรรมและข้อกำหนดที่จะควบคุมการค้าอย่างเสรีในโลกและสื่อมวลชน

9.  หนี้ต่างประเทศ

ประเทศที่ร่ำรวยกว่าต้องสนับสนุนให้องค์กรการเงินนานาชาติและธนาคารต่างๆ ให้แสวงหาหนทางที่จะผ่อนปรนหนี้สินของประเทศต่างๆ ด้วยการลดหนี้หรือปลดหนี้โดยสิ้นเชิง โดยเตือนประเทศเหล่านี้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเศรษฐกิจที่ถูกต้อง โปร่งใสและการดำเนินงานที่ดี อีกทั้งเชิญชวนให้ต่อสู่กับการฉ้อราษฎรบังหลวงอย่างจริงจังและประณามการคดโกงในทุกรูปแบบ

10. สภาพแวดล้อม

เมื่อใดที่ความก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ไม่ควบคู่ไปกับความห่วงใยเรื่องความสมดุลของระบบเศรษฐกิจ โลกของเราก็เสี่ยงต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่ของคริสตชนและบรรดาผู้มองพระเจ้าว่าทรงเป็นพระผู้สร้าง ที่จะช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อม ทุกคนมีหน้าที่ทางด้านศีลธรรมที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมมิใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อชนรุ่นหลัง

สมัชชาได้สรุปด้วยคำพูดของนักบุญยอห์น คริสซอสโตมที่ว่า ท่านปรารถนาจะให้เกียรติแก่พระกายของพระคริสตเจ้าหรือ? ถ้าเช่นนั้น ท่านก็อย่ามองข้ามพระองค์ไป เมื่อท่านเห็นว่าพระองค์ทรงไร้เครื่องนุ่งห่ม อย่าถวายเกียรติพระองค์ด้วยผ้าไหมในพระวิหารเท่านั้น แต่แล้วกลับไม่สนใจพระองค์ เมื่อพระองค์ต้องเผชิญกับความหนาวและไร้เครื่องนุ่งห่มอยู่ข้างนอก พระองค์ผู้ตรัสว่า นี่คือกายของเรา คือพระองค์เดียวกับผู้ที่ตรัสไว้ว่า ท่านเห็นเราหิว แต่ท่านมิได้ให้อาหารแก่เรา ...จะมีประโยชน์อะไร ถ้าพระแท่นบูชาหนักด้วยกาลิกส์ทอง ในเมื่อพระคริสตเจ้ากำลังสิ้นพระชนม์ด้วยความหิว? จงเริ่มต้นด้วยการกำจัดความหิวของพระองค์ และแล้วสิ่งที่เหลืออยู่ ท่านอาจนำเอาไปประดับประดาพระแท่นได้