วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562

พลังของความเชื่อ

 พลังของความเชื่อ 
จันทร์ สัปดาห์ที่ 4
เทศกาลมหาพรต
อสย 65:17-21
ยน 4:43-54
มีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งขึ้นไปบนหน้าผาสูงชัน เพื่อชมพระอาทิตย์ยามเช้าทำให้เขาพลัดตกจากหน้าผา แต่ก่อนร่างร่วงลงสู่ก้นเหว เขาคว้ากิ่งไม้ได้ทันและแขวนอยู่เป็นเวลานาน สักพักเขาได้ยินเสียงเหมือนมีคนกำลังมาจึงร้องว่า “มีใครอยู่ข้างบนไหม ช่วยผมด้วย” มีเสียงตอบกลับมาว่า “เราอยู่นี่ เราเป็นพระเจ้าของเจ้า” ชายคนนั้นพูดด้วยความดีใจว่า “ข้าแต่พระองค์ ลูกดีใจที่พระองค์มา ช่วยลูกด้วย ลูกไม่มีแรงยึดกิ่งไม้ต่อไปอีกแล้ว”
พระเจ้าตรัสกับเขาว่า “ก่อนช่วยเจ้า เราต้องการรู้ว่าเจ้าเชื่อเราไหม” ชายคนนั้นตอบทันทีว่า “ข้าแต่พระองค์ ลูกเชื่อพระองค์ ลูกไปวัดทุกอาทิตย์ อ่านพระคัมภีร์และอธิษฐานภาวนาทุกวัน และให้ทานทุกครั้ง” พระเจ้าตรัสว่า “แต่เจ้าไม่ได้เชื่อเราจริง” ชายนั้นยืนยันหนักแน่นว่า “ข้าแต่พระองค์ ลูกเชื่อพระองค์” พระเจ้าตรัสว่า “ดี งั้นปล่อยมือสิ” เมื่อเห็นเขายังลังเลพระองค์ทรงตรัสว่า “หากเจ้าเชื่อเราจงปล่อยมือซะ” ชายคนนั้นเงียบไปครู่หนึ่งและร้องเสียงดังกว่าเดิมว่า “ยังมีใครอยู่ข้างบนอีกไหม”
เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากในชีวิต เรายังคงเชื่อพระเจ้าไหม พระวรสารวันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของข้าราชการชาวคาเปอรนาอุม ซึ่งเป็นคนต่างศาสนาที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้า และทูนขอให้ไปรักษาบุตรชายของเขาที่กำลังป่วย จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อนำความรอดมาสู่ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา แต่ทรงต้อนรับทุกคน
ข้าราชการคนนั้นต้องการให้พระเยซูเจ้าเสด็จไปบ้านเพื่อรักษาบุตรชายของตน แต่พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเขา “ถ้าท่านทั้งหลายไม่เห็นเครื่องหมายและอัศจรรย์แล้ว ท่านจะไม่เชื่อเลย” (ยน 4:48) พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนั้นเพื่อบอกเราว่า ต้องมีความเชื่อแท้จริง ข้าราชการคนนั้นเชื่อเพียงว่า ถ้าพระองค์ไปกับเขาที่บ้าน เขาคงได้เห็นพระองค์รักษา นี่คือลักษณะของมนุษย์ทุกคนที่อยากเห็นอัศจรรย์ด้วยตาตนเอง
ข้าราชการคนนั้นยังคงคะยั้นคะยอให้พระเยซูเจ้าไปที่บ้าน มิฉะนั้นบุตรของเขาคงสิ้นใจ แต่พระองค์ทรงเรียกร้องความเชื่อแท้จริงจากเขา “ไปเถิด บุตรของท่านพ้นอันตรายแล้ว” (ยน 4:50) พระวาจาของพระองค์คืออัศจรรย์ที่ไม่ต้องมีเครื่องหมายอื่นอีก ชายคนนั้นเชื่อในพระวาจาของพระองค์และกลับบ้าน ผลของความเชื่อทำให้บุตรชายของเขาได้รับการรักษา
พระวรสารวันนี้เตือนเราว่า จำเป็นต้องมีความเชื่อในพระวาจาของพระเจ้า มิใช่มาหาพระองค์เมื่อเราเดือดร้อน หรือต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น การอธิษฐานภาวนาเป็นการสนทนากับพระเจ้าในแต่ละวัน และวางใจพระองค์ว่า ทรงตอบคำภาวนาของเราด้วยวิธีการและสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา เราอธิษฐานภาวนาเช่นนี้บ้างหรือเปล่า เชื่อโดยไม่จำเป็นต้องเห็นเครื่องหมาย หรืออัศจรรย์
ศิษย์พระคริสต์ต้องต้อนรับพระเยซูเจ้าในชีวิตของตนด้วยหัวใจเปิดกว้าง   ไม่เพียงเชื่อในพระวาจาของพระองค์เท่านั้น แต่ต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเชื่อในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ในความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งแยก และในการให้อภัยความผิดของกันและกันด้วยใจกว้าง เทศกาลมหาพรตนี้ขอให้เรามีความเชื่อพระเจ้ามากยิ่งขึ้น ผ่านทางการฟังพระวาจาของพระองค์และการอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอ
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 99-100.
ที่มาภาพ : http://jefe888.blogspot.com/2015/05/healing-from-distance.html

สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ, ปีที่ 1 ฉบับที่ 46


สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ

ปีที่ 1  ฉบับที่ 46;  อาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2019 (2562): http.//dondaniele.blogspot.com

107 หมู่ 6 บ้านดอนม่วย ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130È086-231-3231

สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
หิริญสมโภช 25 ปีชีวิตสงฆ์ คุณพ่อไพศาล ว่องไว และคุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
พี่น้องที่รัก คำอุปมาเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” (The prodigal son) ที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ ถือเป็นคำอุปมาที่กินใจและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบรรดาคำอุปมาของพระเยซูเจ้า แต่ที่ถูกต้องควรเรียกว่า “บิดาผู้ใจดี” เพราะตัวเอกในเรื่องไม่ใช่บุตรที่หนีจากบิดาและล้างผลาญทรัพย์จนหมดสิ้น แต่เป็นบิดาที่ใจดี ที่รักและให้บุตรทุกอย่าง แม้สิ่งที่บุตรคนเล็กขอนั้นจะขัดกับความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์และธรรมเนียมยิว เพราะเป็นการขอมรดกส่วนที่เป็นของตนขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่
กระนั้น บิดายอมแบ่งให้ตามที่บุตรคนเล็กร้องขอ ความรักที่บิดามีต่อบุตรแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดใน การเฝ้าคอย การกลับมาของบุตรคนเล็กอย่างใจจดใจจ่อ เมื่อบุตรคนเล็กล้มเหลวกลับมาก็เปิดใจต้อนรับ เป็นบิดาที่เห็นบุตรคนเล็กก่อนแต่ไกลแล้วรีบวิ่งไปสวมกอดและจูบ คืนทุกอย่างให้บุตรคนเล็กโดยไม่รั้งรอ

ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; 31 มีนาคม 2019
บทอ่านที่ 1 หลังจากเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี ชาวอิสราแอลได้ฉลองปัสกาเป็นครั้งแรกในแผ่นดินพันธสัญญา นั่นหมายความว่าการเป็นทาสของพวกเขาสิ้นสุดลง พระเจ้าทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงสัญญา การเฉลิมฉลองปัสกาเป็นการฉลองการช่วยให้รอดของพระเจ้า
บทอ่านที่ 2 นักบุญเปาโลได้พูดถึงกิจการแห่งการคืนดีของพระเจ้าที่ทรงมีต่อคนบาป ผ่านทางการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า พระเจ้าทรงทำลายบาปและสร้างมนุษย์ให้เป็นคนใหม่ที่มีส่วนในพระหรรษทานของพระองค์ ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ใหม่และสิ่งสร้างใหม่ พระคริสตเจ้าได้ทรงทำลายความตายและคืนชีวิตให้กับเรามนุษย์
บทพระวรสาร คำอุปมานี้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของพระเจ้าต่อคนบาป ประการแรก พระเจ้าทรงต้องการคนบาป แม้มนุษย์จะกระทำชั่วแต่พระเจ้ายังต้องการเขาอยู่ ด้วยการส่งพระบุตรมาไถ่บาปเพื่อให้เขาได้เดินในหนทางแห่งความรอด ประการที่สอง พระเจ้าเฝ้ารอการกลับมาของคนบาป แสดงถึงความรักยิ่งใหญ่และการอภัยไม่สิ้นสุดของพระเจ้า
 พี่น้องชาวดอนม่วยร่วมฉลองวัดแม่พระรับสาร ดงขี้นาก-โนนมาลี 
อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด; 25 มีนาคม 2019
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1.         ทุกวันศุกร์ในเทศกาลมหาพรต มีพิธีเดินรูปสิบสี่ภาคที่วัดดอนม่วย เวลา 19.00 น.
2.         ขอขอบคุณพี่น้องชาวดอนม่วย-โนนค้อทุกคนที่ช่วยกันเตรียมงานฉลองครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ของพ่อและของคุณพ่อไพศาล ว่องไว ได้อย่างยิ่งใหญ่ สมบูรณ์แบบ
3.         ศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2019 ศุกร์ต้นเดือน ระลึกถึงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า
4.         เสาร์ที่ 11 มีนาคม 2019 ฉลองอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่
5.         เงินทาน อาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2019: ดอนม่วย 1,935.- บาท, เงินต้นอุทิศให้ยอแซฟ ผอง บุดดีวงศ์ สมทบสร้างบ้านพักพระสงฆ์ 5,00.- บาท และโนนค้อ 1,360.- บาท
6.         ขอบคุณ กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 3-4 ที่มาทำความสะอาดวัด สัปดาห์หน้ากลุ่มที่ 5-6 (โนนค้อ: กลุ่มที่ 1)
 มิสซาหน้าศพยอแซฟ ผอง บุดดีวงศ์; 25 มีนาคม 2019
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
31
07.00 น.
08.30 น.
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
สุขสำราญพี่น้องชาวโนนค้อ
† สุขสำราญพี่น้องชาวดอนม่วย
จันทร์-พฤหัส
01-04
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต

ศุกร์
05
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
ศุกร์ต้นเดือน
เสาร์
06
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต


 การเข้าเงียบพลมารีย์วัดโนนค้อ; 26 มีนาคม 2019

 การประชุมคณะสงฆ์เขตตะวันตกที่วัดดอนม่วย; 27 มีนาคม 2019

 งานบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับและสุขสำราญครอบครัว "สุวรรณชัยรบ" 28 มีนาคม 2019






วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562

การกลับใจมาหาพระเจ้า

 การกลับใจมาหาพระเจ้า 
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
ปี C
ยชว 5:9, 10-12
2 คร 5:17-21
ลก 15:1-3, 11-32
บทนำ
มหาตะมะ คานธี บิดาผู้สร้างชาติอินเดีย ได้เขียนอัตชีวประวัติเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายเรื่องการขโมยเวลาเป็นเด็กเอาไว้ว่าเมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านได้ขโมยสร้อยข้อมือทองคำหนึ่งข้อของพี่ชาย เพื่อใช้หนี้ประมาณ 25 รูปี (20 บาท) ที่ตนเองได้ก่อขึ้น ท่านรู้สึกเสียใจมากในสิ่งที่ได้กระทำลงไป โดยตั้งใจว่าจะไม่ขโมยอีกเลยในชีวิต ท่านตัดสินใจสารภาพกับบิดาแต่ไม่กล้าบอก จึงได้เขียนคำสารภาพใส่กระดาษยื่นให้บิดาได้อ่านด้วยตนเอง
ในกระดาษแผ่นนั้น นอกจากสารภาพผิดแล้ว ท่านยังได้ขอให้บิดาลงโทษท่านตามสมควรแก่เหตุ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ขโมยอีกเลยในอนาคต ท่านรู้สึกสั่นเทาเมื่อยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้บิดาขณะกำลังไปนอน บิดาคลี่กระดาษออก อ่านเนื้อความทั้งหมดด้วยน้ำตาไหลอาบแก้ม จากนั้นได้ฉีกกระดาษแผ่นนั้นและสวมกอดท่าน ไม่ได้แสดงอาการโกรธ ดุด่า หรือลงโทษแต่อย่างใด น้ำตาของบิดาวันนั้นได้ชำระใจและความผิดที่ท่านได้กระทำ
อุปมาเรื่อง ลูกล้างผลาญ” (The prodigal son) ในพระวรสารวันนี้ ถือเป็นอุปมาที่กินใจและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบรรดาอุปมาของพระเยซูเจ้า แต่ที่ถูกต้องควรเรียกว่า บิดาผู้ใจดี เพราะตัวเอกในเรื่องไม่ใช่บุตรที่หนีจากบิดาและล้างผลาญทรัพย์จนหมดสิ้น แต่เป็นบิดาที่ใจดีที่รักและให้บุตรทุกอย่าง แม้สิ่งที่บุตรคนเล็กขอขัดกับความรู้สึกและธรรมเนียมยิว เพราะเป็นการขอมรดกส่วนที่เป็นของตนขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ กระนั้น บิดายอมแบ่งให้
ความรักที่บิดามีต่อบุตรแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดใน การเฝ้าคอย การกลับมาของบุตรคนเล็กอย่างใจจดใจจ่อ เมื่อบุตรคนเล็กล้มเหลวกลับมาได้เปิดใจต้อนรับ เป็นบิดาที่เห็นบุตรแต่ไกลแล้วรีบวิ่งไปสวมกอดและจูบ คืนทุกอย่างให้บุตรคนเล็กโดยไม่รั้งรอ เสื้อหมายถึงเกียรติยศที่ให้แก่บุตรที่กลับมา แหวนหมายถึงอำนาจในดูแลทรัพย์สิน และรองเท้าหมายถึงฐานะการเป็นบุตร เพราะในครอบครัวยิวมีเพียงบุตรเท่านั้นที่สวมรองเท้า ส่วนคนใช้เดินเท้าเปล่า
1.   การกลับใจมาหาพระเจ้า
บิดาได้ให้อภัยบุตรคนเล็กโดยไม่เอ่ยถึงความผิดพลาดในอดีต หรือดุด่าเลย นี่คือ การให้อภัยอย่างสิ้นเชิง เป็นการให้อภัยที่ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงและให้อภัยจากใจจริง ซึ่งเป็นรูปหมายถึงพระบิดาเจ้าที่รักและให้อภัยไม่สิ้นสุด บุตรคนเล็กไม่เพียงไม่เคารพบิดาแต่ได้ละเลยหน้าที่ของบุตรที่ดีในการเลี้ยงดูบิดา ตรงข้ามเขาได้หันหลังให้บิดา ตัดสัมพันธ์ทุกอย่าง หนีห่างจากบิดาและประพฤติตนเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติจนหมดสิ้น
อุปมาได้แสดงให้เห็นชีวิตตกต่ำถึงขีดสุดของบุตรคนเล็ก เขากลายเป็นคนเลี้ยงหมูซึ่งเป็นสัตว์สกปรก (ลวต 11:7) สำหรับชาวยิวที่เคร่งศาสนาไม่มีวันทำอาชีพนี้โดยเด็ดขาด บุตรคนเล็กสำนึกผิด เสียใจในสิ่งที่ตนเองกระทำ คิดถึงบิดาและตัดสินใจกลับบ้านไปหาบิดา โดยตั้งใจขอให้บิดารับเขาเป็นเหมือนคนใช้ในตำแหน่งที่ต่ำที่สุด แต่เขาไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้น เพราะบิดาสั่งให้คนใช้ต้อนรับเขาด้วยเสื้อที่สวยที่สุด แหวน และรองเท้า (ลก 15:22) และจัดงานเลี้ยงฉลองด้วยลูกวัวตัวที่อ้วนที่สุด
อุปมานี้เกิดขึ้นจากสถานการณ์ ที่พระเยซูเจ้าถูกวิจารณ์ว่าเป็นมิตรกับคนเก็บภาษีและคนบาป เราได้เห็นพฤติกรรมของบุตรคนโตที่รู้สึกโกรธเมื่อเห็นน้องชายกลับบ้าน บุตรคนโตหมายถึงพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีที่ถือตัวว่าชอบธรรม ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย แต่ในความเป็นจริง ความผิดพลาดยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเราคือการไม่สำนึกว่าตนเองมีความผิดอะไร การถือตัวว่าเป็นคนชอบธรรมและดีกว่าคนอื่นไม่เพียงตัดเขาจากพระเจ้า แต่ยังตัดเขาจากเพื่อนพี่น้องด้วย
2.    บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องกลับใจกลับมาหาพระเจ้า เราอาจเป็นบุตรคนเล็กที่เป็นคนบาปและหนีห่างจากพระเจ้า เราต้องกลับมาหาพระองค์ทุกวัน การเดินทางกลับบ้านคือการเดินทางฝ่ายจิตที่แสดงถึงการกลับใจอย่างแท้จริง ละทิ้งบาปและความทุกข์ที่เป็นผลของบาป อุปมาได้แสดงให้เห็นว่าบิดาไม่เคยละทิ้งบุตร แต่ตั้งตาคอยและเฝ้ารอการกลับมาของบุตรทุกวัน เช่นเดียวกับพระเจ้าที่ปรารถนาให้คนบาปกลับใจมาหาพระองค์ ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดเสียไปแม้สักคนเดียว
ประการที่สอง เราต้องให้อภัยเพื่อนพี่น้องด้วยใจกว้าง เราอาจเป็นบุตรคนโตที่ไม่เคยหนีห่างจากบิดา ทำตามใจบิดาทุกอย่าง มาวัดทุกสัปดาห์ไม่เคยขาด แต่เกลียดชังและไม่ยอมให้อภัยพี่น้องของตน ถือตัวว่า ตนเองเป็นคนชอบธรรมกว่าคนอื่น พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรายอมรับเพื่อนพี่น้องและให้อภัยเขาด้วยใจกว้าง ด้วยการสำนึกว่าเราทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า
ประการที่สาม เราต้องมาร่วมงานเลี้ยงศักดิ์สิทธิ์ด้วยความยินดี พระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราทรงเฝ้าคอยเราที่ประตู ให้เราได้ใช้ช่วงเวลาพิเศษในเทศกาลมหาพรตนี้ กลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิต คืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เป็นต้น ในการมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องอย่างแน่นแฟ้น
บทสรุป
พี่น้องที่รัก อุปมานี้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของพระเจ้าต่อคนบาป ประการแรก พระเจ้าทรงต้องการคนบาป แม้มนุษย์กระทำชั่วแต่พระเจ้ายังต้องการเขาอยู่ ด้วยการส่งพระบุตรมาไถ่บาปเพื่อให้เขาได้เดินในหนทางแห่งความรอด ประการที่สอง พระเจ้าเฝ้ารอการกลับมาของคนบาป แสดงถึงความรักยิ่งใหญ่และการอภัยไม่สิ้นสุดของพระเจ้าที่ไม่จดจำความผิด แต่เพียรทนรอคอยวันที่เขากลับใจมาหาพระองค์
เราทุกคนเป็นคนบาป ทั้งแบบเปิดเผยอย่างบุตรคนเล็กและแบบปิดบังซ่อนเร้นอย่างบุตรคนโต พระวาจาของพระเจ้าวันนี้เชื้อเชิญเราให้กลับใจมาหาพระเจ้า ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบบุตรคนเล็กที่ยอมเปลี่ยนแปลงชีวิตกลับมาหาบิดา ร่วมรับผิดชอบและเคารพเชื่อฟังบิดา อีกทั้ง ยอมละทิ้งอคติ ความใจแคบและความโกรธเยี่ยงบุตรคนโต เพื่อยอมรับ ให้อภัย และรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก เป็นต้น ในครอบครัว หมู่คณะ และชุมชนวัดของเรา
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 95-98.
ภาพ : การรับศีลอภัยบาป, วัดบ้านโนนป่าก่อ, ดงหลวง, มุกดาหาร; 1999-12-26

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

ความสุภาพในการอธิษฐานภาวนา

 ความสุภาพในการอธิษฐานภาวนา 
เสาร์ สัปดาห์ที่ 3
เทศกาลมหาพรต
ฮซย 6:1-6
ลก 18:9-14
มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศเยอรมันเพื่อชมห้องที่บีโทเฟน (นักดนตรีเอกของโลกชาวเยอรมัน) เคยอยู่และทำงาน รวมถึงเปียโนตัวโปรดที่ใช้ประพันธ์เพลงมูนไลท์ โซนาต้า (Moonlight Sonata) เด็กสาวคนหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวได้นั่งลงที่เปียโนและเล่นท่อนแรกของเพลงโซนาต้า เมื่อเธอเล่นจบ มัคคุเทศก์ได้กล่าวว่า “คุณคงสนใจหากรู้ว่าท่านเพเดรอสกี้ (นักดนตรีเอกชาวโปแลนด์) ได้มาเยี่ยมที่นี่เมื่อสัปดาห์ก่อน”
เด็กสาวคนนั้นพูดว่า “ดิฉันพนันได้ว่าเขาต้องทำเหมือนดิฉัน ด้วยการนั่งลงและเล่นเพลงโซนาต้าใช่ไหมค่ะ” แต่มัคคุเทศก์ตอบว่า “เปล่าเลยครับคุณผู้หญิง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น แม้ว่าทุกคนขอร้องให้เขาเล่น แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ผมไม่คู่ควรเลย’” เด็กสาวผู้มีความมั่นใจในตัวเองได้เล่นเพลงของบีโทเฟ่น แต่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่กลับมีความสุภาพถ่อมตนเกินกว่าจะเล่นเพลงที่เปียโนของบีโทเฟ่นได้
พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องการอธิษฐานภาวนาของชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีในพระวิหาร เพื่อสอนความสุภาพถ่อมตนในการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของชาวยิวที่อธิษฐานภาวนาวันละ 4 เวลา ได้แก่ เวลาเก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมง และหกโมงเย็น วิธีอธิษฐานภาวนาของชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีสะท้อนความสัมพันธ์ที่มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์
ชาวฟาริสียืนขึ้นอธิษฐานภาวนากับตนเอง เขามิได้สรรเสริญพระเจ้าแต่กำลังยกย่องตนเอง แม้เขาขอบคุณพระเจ้าแต่พูดถึงแต่ความดีของตนที่ไม่ได้เป็นขโมย หรือล่วงประเวณี เขารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิเศษ เช่น การอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และได้ถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมด เขามีเจตนาเปรียบเทียบความดีของตนกับข้อเสียของคนอื่น เขาไม่ใช่คนที่น่ายกย่องอะไร เขาเป็นคนหยิ่งยโส ภูมิใจในตนเองและดูหมิ่นคนอื่น
ส่วนคนเก็บภาษีเป็นคนบาปสาธารณะและเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว (เพราะเก็บภาษีให้โรมันและเก็บส่วนเกินเป็นของตนเอง) เขาตระหนักในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า รู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองและสำนึกผิด ยืนอยู่ห่าง ๆ ไม่กล้าเงยหน้า ได้แต่ตีอกชกตัวและกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาป ด้วยเถิด” (ลก 18:13) คำภาวนาของเขาเป็นคำภาวนาที่ดีที่สุดเพราะสำนึกในความบาปของตน และตระหนักในความรักเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า
อุปมาได้ให้บทเรียนแก่เราเรื่องการอธิษฐานภาวนาด้วยความสุภาพถ่อมตน และการสำนึกผิดในบาปที่ตนเองทำ อีกทั้ง ตระหนักในความอ่อนแอของตนที่ได้ทำบาป มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นสามารถอภัยบาปเราได้ เราต้องหมั่นมาหาพระองค์บ่อย ๆ ทางศีลอภัยบาป การให้อภัยของพระองค์ช่วยฟื้นฟูชีวิตเราให้กลับเป็นลูกของพระองค์ และเปิดหนทางสู่ชีวิตนิรันดรอีกครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นคนสำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) นักบุญฟรังซิส อัสซีซีพูดถึงตัวเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่น่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” มีคำกล่าวว่า “ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้ เว้นแต่คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น” ดังนั้น ศิษย์พระคริสต์ต้องมีความสุภาพถ่อมตน สำนึกว่าตนเป็นคนบาป ไม่กล่าวโทษ หรืออวดตัวว่าดีกว่าคนอื่น
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 85-86.
ที่มาภาพ : http://dustoffthebible.com/Blog-archive/2016/10/07/daily-bible-reading-devotional-luke-189-14-october-7-2016/

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

บัญญัติแห่งความรัก

 บัญญัติแห่งความรัก 
ศุกร์ สัปดาห์ที่ 3
เทศกาลมหาพรต
ฮซย 14:2-10
มก 12:28-34
บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีได้ออกกฎเกณฑ์มากมายขยายความบทบัญญัติ ในสมัยพระเยซูเจ้ามีธรรมบัญญัติมากถึง 613 ข้อ ในหมู่ชาวยิวมีการถกเถียงกันมาช้านานว่า ธรรมบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด สำนักของอาจารย์ฮิลเลล (Hillel) พูดอย่างหนึ่ง ขณะที่สำนักของอาจารย์กามาลิเอล (Gamaliel) พูดอีกอย่าง พระวรสารวันนี้ธรรมาจารย์คนหนึ่งได้ถามพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำตอบของพระองค์ทำให้ทุกคนตาสว่างและเข้าใจถึงแก่นแท้ของบทบัญญัติ
พระเยซูเจ้ามิได้อ้างบทบัญญัติข้อใดข้อหนึ่งเพราะทุกข้อล้วนสำคัญ แต่พระองค์ทรงอ้างหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 และหนังสือเลวีนิติ 19:18 “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน... และท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” นี่เป็นบทบัญญัติที่ประทานแก่ชาวอิสราเอล และสรุปในบทบัญญัติสิบประการที่ประทานแก่พวกเขาผ่านทางโมเสส
นี่คือบทสรุปของพระวรสาร หรือหลักคำสอนสำคัญของพระเยซูเจ้า แก่นแท้ของบทบัญญัติที่ประองค์ประกาศคือ รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลัง และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง (มก 12:30-31) พระองค์ทรงสรุปบทบัญญัติของพระเจ้าให้เหลือเพียงสองประการ และทรงยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองประการนี้
หากเรารักพระเจ้าอย่างที่พระเยซูเจ้าบอก เราต้องทำทุกอย่างเพื่อพระองค์ แต่อะไรสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เราได้ทำทุกอย่างในแต่ละวันเพื่อพระเจ้าบ้างไหม การรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองเช่นกัน บ่อยครั้งเราคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าเพื่อนมนุษย์หรือเปล่า เราได้ปฏิบัติกิจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือหรือไม่
พระเยซูเจ้าทรงวางบทบัญญัติสองประการเข้าด้วยกัน ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ โดยทรงขยายความหมายของคำว่า “เพื่อนมนุษย์” ให้กว้างออกไปสู่มนุษย์ทุกคน เพราะทุกคนคือลูกของพระเจ้าที่ทรงรักโดยไม่แบ่งแยก ชีวิตมนุษย์ในโลกเป็นของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้เราสามารถเติบโตในความรักของพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของบทบัญญัติและต้องไปด้วยกันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน
นักบุญยอห์นอัครสาวกเป็นผู้ที่เข้าใจ และอธิบายความสัมพันธ์ของบทบัญญัติสองประการนี้ได้ดี โดยยืนยันกับศิษย์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “จงรักกันและกัน” เพราะการรักเพื่อนมนุษย์เป็นหนทางนำไปสู่ความรักต่อพระเจ้า “หากผู้ใดกล่าวว่าข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่จงเกลียดจงชังพี่น้องของตน ผู้นั้นเป็นคนโกหก เพราะผู้ที่ไม่รักพี่น้องผู้ที่เขามองเห็นได้ก็จะไม่สามารถรักพระเจ้าผู้ที่เขามองไม่เห็น” (1 ยน 4:20)
พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักบนไม้กางเขน “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)  ศิษย์พระคริสต์ถูกเรียกร้องให้รักกันตามมาตรฐานของพระเยซูเจ้า เพื่อใกล้ชิดและเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ เทศกาลมหาพรตเป็นเวลาของการเดินในหนทางแห่งความรัก มองเห็นพระเจ้าในผู้อื่นและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระองค์
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 83-84.
ที่มาภาพ : http://www.heartjava.com/2015/10/