วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นักบุญทั้งหลาย แบบอย่างของคริสตชน



นักบุญทั้งหลาย แบบอย่างของคริสตชน
1 พฤศจิกายน
สมโภชนักบุญทั้งหลาย
ปี C
วว 7:2-4, 9-14
1 ยน 3:1-3
มธ 5:1-12
บทนำ
เรามีนักบุญใหม่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรทุกปี อย่างในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (ค.ศ. 2005-2013) ทรงประกาศแต่งตั้งนักบุญทั้งหมด 45 องค์ เห็นได้ว่าพระศาสนจักรให้เกียรติทุกคนที่เจริญชีวิตเป็นพยานถึงความเชื่อคริสตชนและตายเพื่อพระเจ้าเสมอมา ในช่วงสามร้อยปีแรกของพระศาสนจักร บรรดาคริสตชนถูกเบียดเบียนอย่างหนัก และยอมตายเป็นมรณสักขีโดยไม่ละทิ้งความเชื่อ วีรกรรมและเรื่องราวของมรณสักขีเหล่านี้ ได้กลายเป็นแบบอย่างสำหรับเราคริสตชนในเวลาต่อมา
ในบรรดาคริสตชนเหล่านี้หลายท่านเราทราบเรื่องราวและชื่อเสียงเป็นอย่างดี เพราะพระศาสนจักรได้ประกาศให้เป็นนักบุญเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเรา ที่เราระลึกถึงในพิธีบูชาขอบพระคุณในรอบปีพิธีกรรม บางองค์มีวันฉลองเฉพาะ ส่วนใหญ่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่ชื่อของพวกท่านเป็นที่รับรู้และอยู่ในสวรรค์กับพระเจ้า ซึ่งเราถือว่าพวกท่านเป็น “นักบุญ” แม้จะไม่ได้รับการประกาศก็ตาม เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรดานักบุญไม่มีชื่อเหล่านี้ (ที่สิ้นใจและล่วงหน้าเราไปอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า) พระศาสนจักรจึงกำหนดวันฉลองพิเศษให้คริสตชนได้ระลึกถึงวีรกรรมและแบบอย่างชีวิตของพวกท่าน
วันฉลองนี้มีที่มาจากการฉลองมรณสักขีทั้งหลายในศตวรรษที่ 4 ที่ฉลองในสัปดาห์แรกหลังวันพระจิตเสด็จลงมา ต่อมาพระสันตะปาปาโบนีฟาสที่ 4 (St. Boniface IV: 608-615) ได้บูรณะวิหาร Pantheon ของชาวโรมันให้เป็นวิหารแห่งพระชนนีพระเจ้าและบรรดามรณสักขีผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเก็บรักษาอัฐิของบรรดามรณสักขีและฉลองวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 610 ในอีกร้อยปีต่อมาพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 3 (Gregory III:731-741) ได้สร้างวัดน้อยในมหาวิหารนักบุญเปโตรอุทิศให้นักบุญทั้งหลาย และกำหนดให้ฉลองวันที่ 1 พฤศจิกายน และวันฉลองนี้ได้แพร่หลายไปทั่วพระศาสนจักรในเวลาต่อมา

1.         นักบุญทั้งหลาย แบบอย่างของคริสตชน
มีผู้คนจำนวนมากที่เข้าใจผิด คิดว่านักบุญคือผู้ที่เจริญชีวิตในอาราม ไม่เคยทำบาปหรือความผิดใดๆ ในชีวิต เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง คิดถึงแต่พระเจ้าและผู้อื่นโดยไม่คิดถึงตนเองเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ความจริงนักบุญคือ ผู้ที่มีความพยายามที่จะกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากความมานะพยายามและการต่อสู้เอาชนะน้ำใจตนเองด้วยความเจ็บปวด
การเปลี่ยนแปลงจิตใจที่เราเรียกว่า “การกลับใจ” เป็นสิ่งที่เห็นอย่างเด่นชัดในชีวิตของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ อย่างนักบุญเปโตร นักบุญเปาโล นักบุญเอากุสติน นักบุญฟรังซิสอัสซีซี นักบุญอิกญาซีโอ ฯลฯ บรรดานักบุญเหล่านี้มีช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ได้สัมผัสกับความรักของพระเจ้า และกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเอง สิ่งนี้เองที่ทำให้ชีวิตของนักบุญทั้งหลายท้าทายเรา ทำให้เราคิดถึงความเป็นจริงแห่งชีวิตที่เป็นคนบาปและเป้าหมายสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา ที่ต้องมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ครบครัน นั่นคือการเป็น “นักบุญ”
บรรดานักบุญเป็นผู้ที่เชื่อในข่าวดีเรื่องความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของพระเจ้า จำนนต่อความรักยิ่งใหญ่นี้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนที่ละเล็กละน้อยให้กลายเป็นเหมือนองค์พระคริสตเจ้า พวกท่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้ามีความหมาย โดยยึดเอาคำเทศนาบนภูเขาเรื่อง “บุญลาภ” และเดินตามรอยของพระองค์ พวกท่านจึงเป็นผู้มีพระคุณต่อเรา ที่อธิษฐานภาวนา เสนอวิงวอน และนำพระพรของพระเจ้ามาสู่เรา

2.         บทเรียนสำหรับเรา
การสมโภชนักบุญทั้งหลาย ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราถูกเรียกให้เป็นนักบุญ พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่าการเป็นนักบุญมิใช่ด้วยกิจการพิเศษหรือพระพรเหนือธรรมชาติ แต่ด้วยการเจริญชีวิตเรียบง่ายในความเชื่อต่อพระบิดาเจ้า นั่นคือการฟังพระคริสตเจ้าและติดตามพระองค์ โดยไม่ถอดใจแม้ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก เราแต่ละคนได้รับการเรียกให้เจริญชีวิตในความรักของพระเจ้าและมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ครบครัน เยี่ยงบรรดานักบุญที่เป็นเครื่องหมายแห่งความดี ความรักและพระอาณาจักรของพระเจ้า
ประการที่สอง เราต้องเลียนแบบนักบุญทั้งหลาย บรรดานักบุญคือผู้ที่ทำตามพระประสงค์และรักพระเจ้าอย่างสิ้นสุดจิตใจ พวกท่านได้เป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าและอาณาจักรของพระเจ้าสำหรับเราในปัจจุบัน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่พวกท่านไม่ได้ต่างอะไรจากเรา แต่พวกท่านได้ซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าและนำผู้อื่นมาหาพระองค์ ดังนั้น พวกท่านจึงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา เป็นผู้ช่วยเหลือ และองค์อุปถัมภ์ ที่เราต้องเดินตามรอยเท้าของพวกท่านเพื่อมุ่งสู่ชีวิตนิรันดร
ประการที่สาม เราต้องซึมซับจิตตารมย์ของบรรดานักบุญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักของพระเจ้าต่อเพื่อนพี่น้อง เราแต่ละคนได้รับการเรียกให้เจริญชีวิตในความรักของพระเจ้า และทำให้ความรักของพระองค์ปรากฏในชีวิตประจำวันกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่รอบข้าง ความศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่อภิสิทธิ์สำหรับบางคนแต่เป็นหน้าที่ของคริสตชนทุกคน เราจะมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์เมื่อชีวิตของเราไม่มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่พูดกับการกระทำ” (บุญราศีจอห์น นิวแมน)

บทสรุป
พี่น้องที่รัก วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย เป็นวันฉลองความหวังยิ่งใหญ่ของเรา เนื่องจากเป้าหมายของเราคือการมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ครบครัน เยี่ยงบรรดานักบุญในพระอาณาจักรสวรรค์ การฉลองนี้เป็นเครื่องหมายแสดงความจริงว่า ชีวิตในโลกนี้สั้น ไม่จีรังยั่งยืน สักวันหนึ่งเราต้องผ่านความตายเพื่อกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้า บรรดานักบุญทั้งหลายเป็นแบบอย่างแก่เรา ในการไม่ย่อท้อต่อการทำความดี เจริญชีวิตรักและรับใช้พระเจ้าในเพื่อนพี่น้อง จนบรรลุความสุขกับพระองค์ในสวรรค์
ดังนั้น ให้เราอ้อนวอนพระเจ้าผ่านทางนักบุญทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งบางท่านคือปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องของเราที่เราคุ้นเคยและรู้จักดีเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้ง เลียนแบบอย่างท่านเหล่านี้ ในการเจริญชีวิตคริสตชนตามบทบาทหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ดีที่สุด ทำส่วนของเราอย่างซื่อสัตย์และเต็มที่ เพื่อเราจะได้มีบุญได้ร่วมสุขกับพระเจ้าในพระอาณาจักรสวรรค์ ร่วมกับบรรดานักบุญทั้งหลายเหล่านี้สักวันหนึ่ง เมื่อวาระสุดท้ายของเรามาถึง
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
30 ตุลาคม 2013
ที่มาภาพ: http://wp.production.patheos.com/blogs/deaconsbench/files/2015/10/ognissanti.jpg

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความถ่อมตนในการภาวนา



ความถ่อมตนในการภาวนา
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา
ปี C
บสร 35:12-14, 16-18
2 ทธ 4:6-8; 16-18
ลก 18:9-14
บทนำ
ครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวได้ถามคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาว่าเคยถูกผจญในเรื่องความภูมิใจในตนเองไหม แม่เทเรซายิ้มและตอบว่า “ให้ภูมิใจเรื่องอะไรละ” ผู้สื่อข่าวตอบว่า “ก็ภูมิใจในสิ่งดีงามทั้งหลายที่ได้ทำเพื่อคนที่ยากจนที่สุดไง” คุณแม่เทเรซาตอบว่า “ฉันไม่เคยทราบเลยว่าฉันได้ทำอะไร นั่นเป็นงานของพระเจ้าทั้งนั้น ที่ทำงานผ่านทางสมาชิกในคณะและอาสาสมัครของฉัน” ความสุภาพแท้คือสิ่งที่ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างนักบุญกับคนบาป
คำอุปมาเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษี เป็นคำอุปมาที่งดงามอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีแต่เฉพาะในพระวรสารของบุญลูกาเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเล่าถึงลักษณะที่แตกต่างกันในการภาวนาระหว่างฟาริสีกับคนเก็บภาษี
ฟาริสี หมายถึง “คนที่แยกตัวออกจากผู้อื่น” เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในการรักษาความบริสุทธิ์ทางศาสนา มุ่งเน้นการรักษาธรรมบัญญัติและธรรมประเพณีอย่างเคร่งครัดทุกกระเบียดนิ้ว การแยกตัวออกจากคนอื่นทำให้เขาคิดว่า ฉันบริสุทธิ์กว่าคนอื่น (ดีกว่าคนอื่น) ในทัศนะของฟาริสี “ถ้าจะมีคนดีสองคนในโลก คนนั้นคือฉันและลูกชายของฉัน แต่ถ้ามีเพียงคนเดียวคนนั้นคือตัวฉันเอง” ท่าทีแบบนี้ทำให้พวกฟาริสีเป็นที่รังเกียจ ความหยิ่งจองหองและการถือปฏิบัติตามกฎมากกว่าความรักเมตตาต่อผู้อื่น ทำให้พระเยซูเจ้าตำหนิพวกเขาในพระวรสาร
ส่วน “คนเก็บภาษี” เป็นชาวยิวที่เก็บภาษีให้รัฐบาลโรมันและเก็บส่วนที่เหลือไว้เป็นของตน อาชีพเก็บภาษีจึงสร้างรายได้มหาศาล โดยเฉพาะภาษีการใช้สะพาน การใช้ถนนและการเป็นเจ้าของเกวียน สามารถจะเรียกเก็บที่ไหนก็ได้ สำหรับคนจนที่ไม่มีเงินจ่าย คนเก็บภาษีจะจ่ายล่วงหน้าและเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูง คนเก็บภาษีจึงเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป เป็น “พวกขี้ฉ้อ ขูดเลือดขูดเนื้อและขายชาติ” เพราะทำงานให้กับรัฐบาลโรมัน คนเก็บภาษีจึงจัดอยู่ในระนาบเดียวกันกับโจร ฆาตกรและหญิงโสเภณี

1.         ความถ่อมตนในการภาวนา
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมาเกี่ยวกับชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีที่เข้าไปภาวนาในพระวิหารเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความถ่อมตนในการภาวนา พระองค์ทรงหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของชาวยิวที่ภาวนาวันละ 4 ครั้ง ได้แก่ เวลาเก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมงและหกโมงเย็น จากวิธีภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษีได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์
ฟาริสีได้ยืนขึ้นภาวนากับตนเอง ดูเหมือนเขากำลังขอบคุณพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงขอบคุณตนเอง ที่ไม่ได้เป็นขโมยหรือล่วงประเวณี เขารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิเศษ เช่น การอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน (วันจันทร์กับวันพฤหัสบดีซึ่งมีตลาดนัดเพื่อให้คนเห็น) และได้ถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมด (ทำมากกว่าที่กฎหมายกำหนด) เขามีเจตนาที่จะเปรียบเทียบความดีของตนกับข้อเสียของคนอื่น เขาจึงไม่ใช่คนที่น่ายกย่อง เขามิได้ภาวนาถึงพระเจ้า แต่กำลังสรรเสริญตนเอง โอ้อวดและดูหมิ่นคนอื่น
ส่วนคนเก็บภาษีซึ่งเป็นคนบาปสาธารณะและเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว เขารู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองและสำนึกผิด เขาจึงยืนอยู่ห่างๆ ไม่กล้าเงยหน้า ได้แต่ตีอกชกตัวและกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” (God, have mercy on me, a sinner) นี่คือคำภาวนาที่สั้นที่สุดในพระคัมภีร์ และเป็นคำภาวนาที่ลึกซึ้งที่สุดด้วย เพราะคนเก็บภาษีสำนึกในความบาปผิดของตน เขาตระหนักในความรักเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า 

2.         บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องถ่อมตนในการภาวนา คนเก็บภาษีภาวนาด้วยความถ่อมตนและพระเจ้าทรงฟังคำภาวนาของเขา ซึ่งตรงข้ามกับชาวฟาริสี “เพราะว่าผู้ใดยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น” (ลก 18:14) โดยทั่วไปเรามักจะภาวนาด้วยการวอนขอสิ่งที่จำเป็นจากพระเจ้า แต่เราลืมที่จะถวายเกียรติ สรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพรแห่งชีวิต สุขภาพ หน้าที่การงานและชีวิตที่ราบรื่นในแต่ละวัน บ่อยครั้งเรามักลืมขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งเหล่านี้
ประการที่สอง เราต้องสำนึกผิดในความไม่ดีที่ได้กระทำ คำอุปมานี้สอนเราว่า คนที่สำนึกในความผิดของตนจะได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์กลับเป็นคนที่สำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) นักบุญฟรังซิส อัสซีซี พูดถึงตัวท่านเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชังและน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” คนหยิ่งจองหองและดูหมิ่นคนอื่นไม่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้
ประการที่สาม เราต้องตระหนักในความรักเมตตาและการให้อภัยของพระเจ้า คนเก็บภาษีเข้าใจอย่างถ่องแท้ เขาตระหนักในความรักเมตตาอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ด้วยเหตุนี้เราจึงมารวมตัวกันทุกวันอาทิตย์ในพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อขอบคุณสำหรับความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และร่วมส่วนในการถวายบูชาบนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า แด่พระบิดาเจ้าเพื่อลบล้างบาปเราทั้งหลาย อีกทั้ง ดำเนินชีวิตเป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่ไม่มีเงื่อนไขนี้ในชีวิตประจำวัน

บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระวรสารวันนี้สอนเราถึงท่าทีที่ถูกต้องที่เราควรมีเมื่อภาวนา เราจะต้องมีความถ่อมตนและสำนึกในความผิดของเราเหมือนคนเก็บภาษี ที่ตระหนักในความผิดของตนเองโดยไม่เปรียบเทียบ ดูหมิ่นดูแคลน หรือกล่าวโทษคนอื่น อีกทั้งไม่ยกตนและสรรเสริญความดีของตนเองเหมือนฟาริสี เพราะเราแต่ละคนต่างเป็นคนบาปที่ต้องการการให้อภัยจากพระเจ้าด้วยกันทั้งนั้น
คำอุปมาของพระเยซูเจ้าสอนเราว่า เราควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อตนเอง ต่อพระเจ้า และต่อเพื่อนพี่น้อง ความหยิ่งจองหองและความภูมิใจในความชอบธรรมของตนเอง เป็นอุปสรรคขวางกั้นระหว่างเรากับพระเจ้า และระหว่างเรากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีคำกล่าวว่า ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น ฉะนั้น ขอให้เรามีความถ่อมตน สำนึกว่าเราเป็นคนบาป ไม่กล่าวโทษหรืออวดตัวว่าดีกว่าคนอื่น
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
24 ตุลาคม 2013

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การภาวนาโดยไม่ท้อถอย



การภาวนาโดยไม่ท้อถอย
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา
ปี C
อพย 17:8-13
2 ทธ 3:14; 4:2
ลก 18:1-8
บทนำ
นานมาแล้ว มีเด็กชายจากรัฐอิลลินอยส์คนหนึ่ง ได้เข้าเรียนในระบบโรงเรียนเพียง 6 เดือน จากนั้นได้ออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้านโดยมีแม่คอยสอนให้มีความฝัน และความมานะพยายามที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นความจริง ด้วยพลังของการภาวนาไม่หยุดหย่อน แรกทีเดียวเขาเข้าสอบแข่งขันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแต่ประสบความพ่ายแพ้ ต่อมาทำธุรกิจแต่ล้มเหลวและต้องใช้เวลาถึง 17 ปีในการใช้หนี้ที่หุ้นส่วนของเขาเป็นคนก่อ เมื่อโตเป็นหนุ่มเขาตกหลุมรักและหมั้นกับหญิงสาวที่มีเสน่ห์คนหนึ่ง แต่เธอมาด่วนจากไปก่อนที่จะได้แต่งงานกัน
ต่อมาเขาได้เข้าแข่งขันเป็นสมาชิกรัฐสภาและพ่ายแพ้ เขาจึงหันมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ด้วยความเชื่อในพลังของการภาวนา เขาสมัครเป็นรองประธานาธิบดีและพ่ายแพ้ สองปีต่อมาเขาสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาและพ่ายแพ้อีกครั้ง กระทั่งเขาตัดสินใจลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา นาม อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ความฝันของเขากลายเป็นความจริงได้ด้วยการภาวนาที่ไม่ท้อถอย
เช่นเดียวกัน วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ต้องใช้เวลา 3 ปีในการเรียนเกรด 8 ในโรงเรียน เนื่องจากสอบไม่ผ่านวิชาภาษาอังกฤษ หลายปีต่อมาเขาได้รับเชิญให้ไปแสดงปาถกถาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ในฐานะผู้ที่ประสบผลสำเร็จทางการศึกษา สุนทรพจน์ของเขาในวันนั้นประกอบด้วยคำ 3 คำ “ไม่ท้อถอย” (Never give up) และนี่คือสารจากคำอุปมาเรื่องหญิงม่ายยากจนกับผู้พิพากษาอยุติธรรม ที่บอกกับเราในพระวรสารวันนี้

1.         การภาวนาโดยไม่ท้อถอย
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าได้หยิบยกคำอุปมาเรื่องหญิงม่ายกับผู้พิพากษาอยุติธรรม เพื่อสอนว่า “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” (ลก 18:1) พระเยซูเจ้าได้นำเสนอเรื่องราวของหญิงม่ายคนหนึ่งที่ต้องการให้คดีความของตนได้รับการพิจารณาจากผู้พิพากษา นางไปหาผู้พิพากษาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง ความเพียรพยายามของเธอทำให้ผู้พิพากษาหมดความอดทน ยอมพิจารณาตัดสินคดีความให้ในที่สุด (เพื่อนางจะได้ไม่มารบกวนให้รำคาญใจอีก)
ในสังคมอิสราแอลโบราณ หญิงม่ายถือเป็นคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคม เป็นตัวแทนของคนยากจน ไม่มีที่พึ่งและปกป้องตัวเองไม่ได้  พระเจ้าจึงทรงเอาพระทัยใส่พวกนางเป็นพิเศษโดยตรัสว่า ท่านจะต้องไม่ข่มเหงหญิงม่ายหรือลูกกำพร้า... เราจะฟังเสียงร้องขอของเขาอย่างแน่นอน (อพย 22:22-23) หญิงม่ายที่ปรากฏในคำอุปมาถูกคนกลั่นแกล้งต่างๆ นานา จึงต้องมาร้องขอความยุติธรรมจากผู้พิพากษา
คำอุปมาเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างพระเจ้ากับผู้พิพากษาอธรรม:
ประการแรก ผู้พิพากษาเป็นคนโลภ รับสินบน บิดเบือนความจริง และหากินบนความทุกข์ของคนอื่น ส่วนพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความรักและความเมตตากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงปฏิบัติต่อทุกคนอย่างยุติธรรมและเท่าเสมอกัน
ประการที่สอง ผู้พิพากษาไม่รู้จักหญิงม่ายยากจนคนนี้มาก่อน จึงไม่มีความผูกพันกัน ส่วนพระเจ้ารู้จักเราตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนที่จะเกิดมาด้วยซ้ำ (เทียบ ยรม 1:4) พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเราซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ ในเมื่อผู้พิพากษาอธรรมยังยอมให้ความยุติธรรมแก่หญิงม่าย แล้วพระเจ้าผู้เป็นองค์ความดีบริบูรณ์ จะประทานยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด (ดู ลก 11:5-8)
2.         บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย การภาวนาคือเครื่องพิสูจน์ที่ดียิ่งสำหรับผู้ที่อุทิศตนเพื่อพระคริสตเจ้า และเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่จะช่วยเราให้สามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่าง เราภาวนาบ่อยแค่ไหนในชีวิตของเรา และสาระสำคัญในการภาวนาของเราแต่ละครั้งคืออะไร ประการสำคัญ เราควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการภาวนา ดังนี้:
1)            พระเจ้าทรงทราบทุกอย่างว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา หลายครั้งเด็กๆ มักจะขอสิ่งที่ทำร้ายตัวเอง เช่น อยากเล่นไฟ ของมีคมหรืออยากกินสิ่งที่เป็นอันตราย พ่อแม่ที่รักลูกย่อมไม่ให้ตามที่เขาต้องการ พระเจ้าเช่นเดียวกันย่อมประทานสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรของพระองค์
2)            พระเจ้าทรงเห็นกาลเวลาทั้งหมด เราเป็นเหมือนคนที่ไปดูหนังตอนกลางเรื่อง ไม่ได้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ เราเห็นแต่ปัจจุบันซึ่งเป็นเหตุการณ์เพียงสั้นๆ เราจึงภาวนาวอนขอพระเจ้าด้วยความโง่เขลา พระเจ้าไม่ทรงตอบคำขอของเรา เพราะพระองค์มีสิ่งที่ดีกว่ารอเราอยู่
3)            การภาวนาต้องมาจากน้ำใสใจจริง ความเพียรพยายามของหญิงม่ายในคำอุปมา พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจของเธอ การที่พระเจ้าจะทรงตอบคำภาวนาของเรา ขึ้นอยู่กับความปรารถนาอันแรงกล้าของเรา
ประการที่สอง เราต้องทำส่วนของเราให้ดีที่สุด พระเจ้าจะไม่ช่วยคนที่ไม่ช่วยตัวเอง เช่น หากเราต้องการผ่านการสอบ คำภาวนาอย่างเดียวไม่พอ เราต้องเตรียมตัวสอบอย่างดีด้วย หรือหากเราต้องการหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ต้องร่วมมือกับหมอ กินยาและปฏิบัติตนตามคำสั่งหมอย่างเคร่งครัด
ประการที่สาม เราต้องขอบคุณและแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า คำภาวนาที่ดีที่สุดยาวเพียงสองพยางค์คือคำว่า “ขอบคุณ” การภาวนาที่ดีจึงมิใช่การพูดจายืดยาว หรือการขอสิ่งต่างๆ จากพระเจ้า แต่เป็นการขอบคุณและแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า เราจะต้องภาวนาอย่างพระเยซูเจ้า ณ สวนเกทเสมนีที่ว่า “ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (มธ 26:42)

บทสรุป
พี่น้องที่รัก คำอุปมาในพระวรสารวันนี้สอนเราว่าจำเป็นจะต้องภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย ไม่ว่าในเรื่องใดคนเราจะบรรลุถึงเป้าหมายได้ด้วยความเพียรพยายามเท่านั้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” อีกทั้งยังให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราว่า เราสามารถเข้าถึงพระบิดาเจ้าของเรา ผู้พร้อมจะประทานสิ่งที่ดีงามแก่เรา เกินกว่าที่เราวอนขอเสียอีก
การภาวนาคือการยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า ดำรงตนในความรักต่อพระองค์ และทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิด การภาวนาจะมีความหมายและปรากฏเป็นจริง เมื่อเราได้พยายามออกแรงทำส่วนของเราให้ดีที่สุด ดังนั้น เราจึงต้องภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอยหรือสิ้นหวัง เพราะ “การภาวนาคือน้ำมันที่ทำให้ตะเกียงแห่งความเชื่อของเราลุกโชนอยู่เสมอ” (บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา) ประการสำคัญ เราภาวนามิใช่เพื่อเปลี่ยนพระประสงค์ของพระเจ้า แต่เพื่อแสวงหาและทำตามพระประสงค์ของพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
18 ตุลาคม 2013