วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ, ปีที่ 1 ฉบับที่ 7


สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ

ปีที่ 1  ฉบับที่ 7;  อาทิตย์ที่ 1  กรกฎาคม 2018 (2561): http.//dondaniele.blogspot.com

107 หมู่ 6 บ้านดอนม่วย ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130È086-231-3231

รา
สมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
ประชุมพระสงฆ์เขตตะวันตก วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก
โอกาสสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล ศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2018
พี่น้องที่รัก การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลเป็นการฉลองที่เก่าแก่ที่สุด มีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน นักบุญเปโตรได้พลีชีพเป็นมรณสักขีโดยการตรึงกางเขนแบบกลับหัวปี 64 และนักบุญเปาโลถูกตัดศีรษะด้วยดาบปี 67 ทั้งสองเป็นเสาหลักทางความเชื่อของพระศาสนจักร เปโตรเป็นหัวหน้าพระศาสนจักร เสาหลักทางความเชื่อที่เราต้องยึดถือ ส่วนเปาโลเป็นผู้สอนและป้องกันความเชื่อ  เสาหลักทั้งสองนี้มีความสำคัญเพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก
ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังที่ได้สัมผัสกับความรักของพระเยซูเจ้า ความรักของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงใจท่านทั้งสอง ให้กลายเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด และได้เป็นพยานถึงข่าวดีด้วยชีวิตของตน
 พี่น้องชาวดอนทอย-หนองสนุกเลี้ยงอาหารเที่ยงหลังการประชุมพระสงฆ์เขตตะวันตก
บทอ่านแรก หนังสือกิจการอัครสาวกได้เล่าเหตุการณ์ที่นักบุญเปโตรถูกกษัตริย์เฮโรดจับขังคุก เพราะการเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้าอย่างกล้าหาญ กลุ่มคริสตชนได้อธิษฐานภาวนาสำหรับท่าน พระเจ้าได้ส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มาช่วยเปโตรให้เป็นอิสระ อันแสดงถึงการเอาพระทัยใส่ของพระเจ้าต่อพระศาสนจักรในระยะเริ่มแรก
บทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลได้เขียนจดหมายถึงทิโมธี ศิษย์รักของท่านขณะที่ถูกจองจำอยู่ในคุก ท่านทราบว่าวาระสุดท้ายของท่านกำลังใกล้เข้ามา ท่านถือว่าความดีทุกอย่างมาจากพระเยซูเจ้าผู้ประทานพลังให้แก่ท่าน และพระองค์จะอยู่กับท่านจนกว่าจะเข้าสู่พระอาณาจักรสวรรค์
พระวรสาร นักบุญมัทธิวได้เล่าถึงการที่นักบุญเปโตรได้ยืนยันความเชื่อของท่านในนามของเพื่อนอัครสาวก “ท่านเป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” และพระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เห็นมุมมองที่ถูกต้องว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่มความเชื่อนี้และสถาปนาการปกครองของพระเจ้าบนโลกนี้ผ่านทางพระศาสนจักร
 เยี่ยมผู้อาวุโสและเยี่ยมบ้าน วัดดอนม่วย
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1.      จันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2018 มีการส่งศีลมหาสนิทคนป่วยและผู้สูงอายุตามปกติ
2.      ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2018 วันศุกร์ต้นเดือน
3.      เสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2018 สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ขอเชิญร่วมฉลองการสถาปนาสังฆมณฑลเชียงราย พิธีอภิเษกพระสังฆราชยอแซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม และเปิดเตรียมฉลอง 350 ปีมิสซังสยาม
4.      คุณพ่อพรทวี โสรินทร์ได้จัดรถไปร่วมฉลองโอกาสดังกล่าว ออกเดินทาง พฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2018 เวลา 14.00 น. ที่วัดดอนม่วย หลังพิธีอภิเษกที่เชียงราย เสาร์ที่ 7 กรกฎาคม เดินทางกลับ ถึงดอนม่วย อาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2018 เวลา 03.00 น.ค่าเดินทางคนละ 1,200.- บาท โทร. 08 6019 3511
5.      ขอความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองได้บอกบุตรหลานให้มาวัดเรียนคำสอน
6.      เงินทาน อาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2018: ดอนม่วย 1,277.- บาท และ โนนค้อ 1,305.- บาท
7.      ขอบคุณ กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 5-6 ที่มาทำความสะอาดวัด สัปดาห์หน้ากลุ่มที่ 7-8 (โนนค้อ: กลุ่มที่ 3)
 พระชุมพลมารีเปรซิเดียมแม่พระราชินีแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ 28 มิถนายน 2018
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
1
07.00 น.
08.30 น.
สมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล อัครสาวก
สุขสำราญสำหรับพี่น้องชาวโนนค้อ
† สุขสำราญสำหรับพี่น้องชาวดอนม่วย
จันทร์
2
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา

อังคาร
3
06.00 น.
ฉลอง น.โทมัส อัครสาวก

พุธ-เสาร์
4-7
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา

 ร่วมด้วยช่วยกัน บรรยากาศการดำนาของพี่น้องชาวโนนค้อ








เปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร


เปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร
29 มิถุนายน
สมโภช น.เปโตรและน.เปาโล
อัครสาวก
กจ 12:1-11
2 ทธ 4:6-8, 17-18
มธ 16:13-19
บทนำ
การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลเป็นการฉลองเก่าแก่ที่สุด มีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน มีการฉลองนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ 3 แห่งที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียน ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ในห้วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา
พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล รวมถึงอัครสาวกองค์อื่น ๆ ยกเว้นนักบุญยากอบบุตรของเศเบดี (กจ 12:1-2) แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่าทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรม ตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร เปโตรถูกตรึงกางเขนเอาหัวลงปี  64 บนเนินวาติกันที่ตั้งมหาวิหารนักบุญเปโตร เปาโลในฐานะพลเมืองโรมันถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี  67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรมที่ตั้งมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง
นักบุญเอากุสตินได้เทศน์ว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้พลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม” ดังนั้น พระศาสนจักรเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะเป็น ศิลารากฐาน ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระเยซูเจ้าสืบต่อมา สั่งสอนหลักความจริงของพระองค์และสละชีวิตเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น
1.   เปโตร หัวหน้าพระศาสนจักร
เปโตร เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่งในตำบลเบธไซดา  (ลก 5:3; ยน 1:44) ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก สิ่งที่รู้ดีที่สุดคือการจับปลา ต่อมาได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอรนาอุม (มก 1:21-29) แต่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาเช่นเดิม มีน้องชายชื่อ อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำเปโตรให้ติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42)    เป็นไปได้ว่ายอห์นแบปติสต์ เป็นผู้เตรียมจิตใจเปโตรก่อนพบพระเยซูเจ้า และได้ละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระองค์ทันที
พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อจากซีโมนเป็น เคฟาส หรือ เปโตร แปลว่า ศิลา  (มธ 16:17-19) เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลาสำหรับตั้งพระศาสนจักรและเป็นหัวหน้าอัครสาวก (ยน 21:15-17) เปโตรเป็นคนหนึ่งในบรรดาพยานที่พบพระคูหาว่างเปล่า (ยน 20:6) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่เปโตรหลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (ลก 24:34; 1 คร 15:5) เราเห็นชัดว่าเปโตรแม้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนอาชีพ แต่ยังอ่อนแอพลาดพลั้งและท้อถอย เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนพบพระเยซูเจ้าอีกครั้ง
บทเรียนสำหรับเรา ชีวิตของเปโตรสะท้อนธรรมชาติ 2 ลักษณะคือ ธรรมชาติพระเจ้าและธรรมชาติมนุษย์  1) ธรรมชาติมนุษย์ คือ ซีโมน ชื่อเดิม คนเดิม ที่ขี้คุย กลับกลอก และอ่อนแอ, 2) ธรรมชาติพระเจ้า คือ เคฟาส หรือ เปโตรที่ร้อนรน กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ธรรมชาติทั้งสองมีอยู่ในตัวเรา สิ่งที่ทำให้เปโตรเอาชนะธรรมชาติที่เป็นซีโมนได้และกลายเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่คือ การกลับใจ หลังจากปฏิเสธพระเยซูเจ้าและได้ยินเสียงไก่ขัน เปโตรสำนึกได้และออกไปข้างนอกร้องไห้อย่างขมขื่น (ดู มธ 26:69-75) 
2.   เปาโล ผู้สอนและป้องกันความเชื่อ
เปาโล เดิมชื่อ เซาโล เกิดที่เมืองทาร์ซัส แคว้นซิลีเซียในตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าคริสตชน เพราะคิดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้เห็น ขณะเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัสมารับโทษ เปาโลเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนียและกลายมาเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่
เปาโลได้รับเลือกให้เป็นธรรมทูตพร้อมกับบาร์นาบัส ออกเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าอย่างกว้างขวาง เราทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้งของเปาโล จากหนังสือกิจการอัครสาวกตั้งแต่บทที่ 13 เป็นต้นไป เปาโลประกาศพระนามของพระเยซูเจ้าทั้งแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ทำให้เปาโลเป็น อัครสาวกของคนต่างศาสนา เป็นเครื่องมือนำพระนามของพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่ชนต่างศาสนา (เทียบ กจ 9:15) อย่างแท้จริง
บทเรียนสำหรับเรา เปาโลจากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ เปาโลได้กระทำเช่นนั้นตลอดชีวิตและพลีชีพด้วยความกล้าหาญเพื่อพระองค์ การเบียดเบียนพระศาสนจักร หรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ดังนั้น พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้
บทสรุป
พี่น้องที่รัก การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล เป็นการสมโภชเสาหลักสำคัญของพระศาสนจักร นักบุญเปโตรหัวหน้าพระศาสนจักร เป็นเสาหลักทางความเชื่อที่ต้องยึดถือ นักบุญเปาโลผู้สอนและป้องกันความเชื่อ เสาหลักทั้งสองมีความสำคัญเพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากอัครสาวก ความเชื่อเปรียบดังเมล็ดพันธุ์แห่งพระหรรษทานที่หว่านลงในใจเราตั้งแต่วันรับศีลล้างบาป เรามีหน้าที่บำรุงรักษาและทำให้งอกงามเติบโต
ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังได้สัมผัสความรักของพระเยซูเจ้า ทั้งสองให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด พระเจ้าทรงเรียกและเลือกใช้ผู้อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์ ความผิดพลาดในอดีตไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหากคือการกระทำที่ควรยกย่องและเลียนแบบ
การสมโภชวันนี้ เชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าประทานแก่นายชุมพาของพระศาสนจักร มิใช่อำนาจปกครองเยี่ยงกษัตริย์ หรือเจ้านายทั้งหลายในโลก แต่เป็น อำนาจแห่งการรักและรับใช้ ที่ทรงสอนและมอบชีวิตบนไม้กางเขนเพื่อทุกคน ศิษย์พระคริสต์ต้องร่วมมือกับนายชุมพาทุกระดับของตน อธิษฐานภาวนาเพื่อท่านให้สามารถทำหน้าที่ของตนอย่างศักดิ์สิทธิ์ และทำหน้าที่ประจำวันของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดและเกิดผล
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
30 มิถุนายน 2018
ที่มาภาพ : https://www.stfrancisdesales.ca/news/the-solemnity-of-saints-peter-and-paul/

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ความเชื่อของนายร้อย


ความเชื่อของนายร้อย
เสาร์
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
ปฐก 18:1-15
มธ 8:5-17
พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้รับใช้ของนายร้อย เราพบเรื่องนี้ในพระวรสารนักบุญลูกาด้วย (ลก 7:1-10) ทำให้ทราบว่านายร้อยผู้นี้เป็นที่รักของชาวยิว เพราะเขาเคารพศาสนายิวและช่วยสร้างศาลาธรรมที่เมืองคาเปอรนาอุม เขาคงเคยได้ยินเรื่องพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนโรคเรื้อนก่อนหน้านี้ ได้ขอพระองค์รักษาผู้รับใช้ของตนซึ่งเป็นอัมพาต เขาทราบดีว่าพระองค์สามารถรักษาคนป่วยจากระยะไกลด้วยพระวาจาของพระองค์ เหมือนคำสั่งตามสายงานบังคับบัญชาที่เขาคุ้นเคย
เมื่อได้รับการร้องขอจากนายร้อย พระเยซูเจ้าทรงประสงค์เสด็จไปรักษาผู้รับใช้ที่บ้านของเขาทันที แสดงถึงความรักและความเมตตากรุณาของพระองค์สำหรับทุกคน ไม่ว่าชาวยิว หรือคนต่างศาสนา พระองค์ทรงไวต่อความต้องการและพร้อมช่วยเหลือคนเดือดร้อน เราต้องมีท่าทีแบบเดียวกันนี้ ความรักและความเมตตากรุณาของเราต้องเปิดไปสู่ผู้อื่น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือสงวนสิ่งใดไว้สำหรับผู้ที่เรารักเท่านั้น
พระเยซูเจ้าทรงประหลาดพระทัยในความเชื่อลึกซึ้งของนายร้อย แม้ไม่เคยติดตาม หรือมีประสบการณ์ด้วยตนเองกับพระองค์ แต่มีความเชื่อในอำนาจการรักษาของพระองค์ “ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านของข้าพเจ้า แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียวเท่านั้น ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าก็จะหายจากโรค” (มธ 8:8) เขาเชื่อว่าพระองค์สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องพบ หรือสัมผัสตัว นี่เป็นฉากสำคัญที่แสดงว่า พระองค์ทรงอานุภาพเหนือธรรมชาติ
ความเชื่อของนายร้อยได้รับการอ้างถึงในพิธีบูชาขอบพระคุณ หลังพระสงฆ์ชูศีลมหาสนิท และเราได้แสดงความเชื่ออย่างเข้มแข็งถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาประทับอยู่กับข้าพเจ้า โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์” คำกล่าวของนายร้อยยังสะท้อนความสุภาพถ่อมตนของเขา ซึ่งเป็นตัวอย่างสำหรับเราที่ต้องสำนึกในความไม่เหมาะสมของตน
พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกทึ่งในความเชื่อของนายร้อย และได้ใช้โอกาสนั้นสอนประชาชนว่า นี่เป็นความเชื่อที่พระองค์ไม่เคยพบมาก่อนในหมู่ชาวยิวประชากรที่ทรงเลือกสรร ศิษย์พระคริสต์ในในฐานะประชากรของพระเจ้า ต้องดำเนินชีวิตตามความเชื่อเช่นนายร้อย สุภาพถ่อมตน สำนึกในความไม่เหมาะสมของตน และพร้อมช่วยเหลือคนเดือดร้อนด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไขเยี่ยงพระเยซูเจ้า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
29 มิถุนายน 2018
ที่มาภาพ : https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiPxbvR7VX0Nem13C-iha3oC7orZMMdp-CJL_84nFKf0coaGJSchB8v-gnakxSv3blywB3_964FW0k1lRFUSy5yPvfmPGw4fai01qbYVxmy5Z-N1WfZQjn03dm7yL7GuyiJum3jPCX4amCA/s1600/JESUS+E+O+CENTURI%C3%83O.jpg

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โรคเรื้อนฝ่ายจิต


โรคเรื้อนฝ่ายจิต
ศุกร์
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
ปฐก 17:1,9-10,15-22
มธ 8:1-4
การอัศจรรย์เป็นเรื่องสำคัญต่อพันธกิจแห่งการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า ซึ่งนักบุญมัทธิวได้รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ต่อจากบทเทศน์บนภูเขา โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระฤทธานุภาพของพระเจ้า ผู้ทรงรับรองความจริงที่พระองค์ตรัส อีกทั้งเป็นเครื่องหมายภายนอกสื่อถึงความหมายลึกซึ้งกว่า พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรครักษาไม่หาย ร่างกายถูกกัดกิน ถูกตัดขาดจากครอบครัวและสังคมเหมือนตายทั้งเป็น
 คนโรคเรื้อนได้แสดงความเชื่อและความสุภาพยิ่งใหญ่ เขามาขอให้พระเยซูเจ้าทรงรักษาและวางใจพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม ด้วยการกราบลงเฉพาะพระพักตร์ “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์พอพระทัย ก็ทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้” (มธ 8:2) เขาได้ร้องขอพระองค์และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ บ่อยครั้งเวลาการอธิษฐานภาวนา เรามักขอสิ่งต้องการและเร่งรัดพระเจ้าให้ประทานตามที่ต้องการ มิได้ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์
พระเยซูเจ้าทรงตอบแทนความวางใจของคนโรคเรื้อน ด้วยการยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขาอย่างไม่รังเกียจ พระองค์ไม่เพียงรักษาเขาให้หายจากโรคเรื้อน แต่ยังทรงรักษาใจของเขาจากความรู้สึกถูกตัดขาด ความโดดเดี่ยว และความสิ้นหวัง เราแต่ละคนเป็นดังคนโรคเรื้อนฝ่ายวิญญาณ  ซึ่งเต็มไปด้วยความเกลียดชัง อิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว อคติและใจแคบ ขอให้เราได้หันมาหาพระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อและสุภาพถ่อมตน มอบทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
เราทุกคนต่างเป็นคนบาป ซึ่งบาปที่เราทำส่งผลต่อวิญญาณของเราเหมือนโรคเรื้อนซึ่งกัดกินร่างกายเรา  และบาปเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัว พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อช่วยเราให้เป็นอิสระจากบาป ดังนั้น เราต้องตระหนักถึงบาปที่เราทำ ยอมรับว่าเราเป็นคนบาปและหาทางเยียวยารักษา  ด้วยการหันมาหาพระองค์ทางศีลแห่งการคืนดี เราไปรับศีลอภัยบาปครั้งสุดท้ายนานแค่ไหนแล้ว
พระเยซูเจ้าทรงให้ความเคารพมนุษย์และงานหน้าที่ของเขา พระองค์ตรัสกับคนโรคเรื้อนให้ไปแสดงตัวต่อหน้าสมณะและถวายเครื่องบูชาตามกฎของโมเสส ศิษย์พระคริสต์ต้องสำนึกในบาปของตน คืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ทางศีลอภัยบาป มอบทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ให้เป็นไปตามพระประสงค์ และแสดงออกต่อผู้อื่นด้วยความรักและความเคารพเช่นเดียวกับพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
28 มิถุนายน 2018
ที่มาภาพ : https://i.pinimg.com/originals/d4/40/58/d44058909f69316df944efe537cbc1f1.jpg

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การลงมือปฏิบัติ


การลงมือปฏิบัติ
พฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
2 พกษ 24:8-17
มธ 7:21-29
พระวรสารวันนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นย้ำความสำคัญของการกระทำหรือการลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า การอธิษฐานภาวนา การฟังพระวาจา และการปฏิบัติตาม เป็นสามสิ่งที่สำคัญในชีวิตคริสตชน แต่การนำไปปฏิบัติทำให้ทุกอย่างมีคุณค่า “คนที่กล่าวแก่เราว่า พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า นั้นมิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้” (มธ 7:21)
สำหรับคริสตชนการฟังและเข้าใจพระวาจาของพระเยซูเจ้าเท่านั้นยังไม่พอ ต้องนำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในชีวิตด้วย กิจการย่อมดังกว่าคำพูดเสมอ การนำพระวาจา หรือคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ ย่อมดีกว่าการขับไล่ปีศาจ หรือการทำอัศจรรย์ในนามของพระองค์ ความรักแท้จริงต้องแสดงออกในการกระทำ คนที่เอาแต่อธิษฐานภาวนา หรือประกาศพระวาจาของพระเจ้า แต่ขาดความรักในกิจการย่อมเป็นชีวิตที่ไร้ความหมาย
พระเยซูเจ้าทรงตรัสกับเราชัดเจนว่า คนนำพระวาจาของพระองค์ไปปฏิบัติเปรียบเหมือนคนสร้างบ้านไว้บนหิน ซึ่งมีรากฐานมั่นคงไม่หวั่นกลัวภยันตรายใด ๆ ส่วนคนไม่นำพระวาจาไปปฏิบัติ เปรียบเหมือนคนสร้างบ้านไว้บนทรายไม่มั่นคงแข็งแรง พร้อมพังทลายทันทีเมื่อภัยพิบัติมาเยือน “มีวิธีเดียวที่นำสันติมาสู่หัวใจ ความยินดีมาสู่จิตใจ และความงามสู่ชีวิต นั่นคือการยอมรับและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (วิลเลียม บาร์กเลย์)
สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า พระเยซูเจ้าทรงให้ความสำคัญและยอมรับผู้เชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าเท่านั้น ส่วนผู้ไม่นำพระวาจาไปปฏิบัติ พระองค์กล่าวแก่เขาว่า “เราไม่เคยรู้จักท่านทั้งหลาย ท่านผู้ทำความชั่ว จงไปให้พ้นหน้าเรา” (มธ 7:23) แม้เป็นคำพูดรุนแรง แต่ประชาชนที่ได้ฟังต่างยอมรับ เพราะพระองค์ทรงสอนอย่างผู้มีอำนาจ สอนสิ่งที่ได้ปฏิบัติและปฏิบัติตามสิ่งที่สอน
ในบทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงบทบัญญัติหลายประการ ทรงอธิบายและทำให้สมบูรณ์ขึ้น ทรงให้ความหมายแท้จริงแก่บรรดาศิษย์ในการนำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตคริสตชน เราต้องไม่สงสัยเพราะทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6) ศิษย์พระคริสต์ต้องนำพระวาจาของพระเจ้าลงสู่การปฏิบัติ ทำให้ความเชื่อที่มีปรากฏเป็นจริงในกิจการ ในความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ในชีวิตประจำวัน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
27 มิถุนายน 2018
ภาพ : การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม, ท่าแร่, สกลนคร; 2017-08-02

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประกาศกเทียม


ประกาศกเทียม
พุธ
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
2 พกษ 22:8-13; 23:1-3
มธ 7:15-20
เรามักรู้สึกผิดหวังและเสียใจมากหากทราบว่า สินค้า หรือสิ่งของที่ซื้อมาเป็นของปลอม หรือของเลียนแบบ ไม่ใช่ของแท้และใช้ประโยชน์ไม่ได้จริงตามโฆษณา ทำให้ต้องส่งเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟ้องร้อง หรือหาวิธีเอาผิด เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบ หรือชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น บางคนใช้วิธีส่งต่อพฤติกรรม หรือเรื่องราวความเสียหาย เพื่อบอกสังคมให้รับรู้และหาทางป้องกันมิให้ใครตกเป็นเหยื่อ
ขอบปลอม หรือของเลียนแบบไม่มีใครชอบ ในทางศาสนาเช่นกันพระเยซูเจ้าทรงเตือนเราให้ระวังประกาศกเทียม คนเสแสร้งแกล้งทำเป็นคนดี หรือสร้างภาพให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นคนดี เช่น บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีในสมัยของพระองค์ ซึ่งทำดีเพื่อให้คนเห็น หรือหวังคำชมเชย เป็นดังประกาศกเทียมที่ต้องระวัง พระองค์ทรงบอกว่า เรารู้จักคนเหล่านี้ได้จากผลงานของเขา “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน”
พระเยซูเจ้าทรงบอกบรรดาศิษย์และเราแต่ละคนให้ระวังประกาศกเทียม ซึ่งได้แก่ผู้สอนและนำเราให้เดินผิดทาง ภายนอกดูเหมือนเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ศรัทธาน่าไว้ใจ แต่ในความเป็นจริงเป็นดังสุนัขป่าดุร้าย เราต้องรู้จักแยกแยะและพิจารณาจากสิ่งปรากฏภายนอก ทั้งคำพูดและการกระทำของเขา จากสิ่งที่เห็นด้วยตาตนเองและฟังจากผู้อื่น คนดี หรือประกาศกแท้เปรียบได้กับต้นไม้พันธุ์ดีย่อมให้ผลดีเสมอ
ความดี หรือแบบอย่างดีเป็นสิ่งดึงดูดใจและมีอิทธิพลต่อคนอื่นเสมอ เรามักมองหาคนประพฤติดีมีคุณธรรมเป็นต้นแบบสำหรับเราและบุตรหลาน พระเยซูเจ้าทรงเป็นต้นแบบดีสำหรับเรา พระองค์เสด็จไปที่ไหนทรงกระทำแต่กิจการดีทั้งนั้น เราต้องเลียนแบบพระองค์ ประการสำคัญ ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”  อีกทั้ง ต้องหลีกเลี่ยงบาปและการกระทำไม่ดี เพราะเป็นตัวอย่างไม่ดีสำหรับคนอื่น
โดยทางศีลล้างบาปเราได้เกิดใหม่ในพระคริสตเจ้า และได้รับเลือกให้ทำหน้าที่พระสงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์ของพระองค์ ศิษย์พระคริสต์ต้องดำเนินชีวิตเป็นประกาศกแท้ ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ สามารถแยกแยะระหว่างความจริงกับสิ่งจอมปลอมได้ ชีวิตของเราต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงที่เราเชื่อ สอนผู้อื่นในสิ่งที่เราเชื่อ และปฏิบัติตามที่เราสอน เป็นแบบอย่างดีงามสำหรับผู้อื่น
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
26 มิถุนายน 2018
ที่มาภาพ : http://lyricmessages.blogspot.com/2016/06/22-june-dark-fantasies-cf-matthew-7-15.html