วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

วันเดินทาง (แสวงบุญ 1)


พิธีมิสซาก่อนออกเดินทาง โดยคุณพ่อวีรพงศ์ โพธิมล ที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา
ฝรั่งเศส แผ่นดินแม่ทางความเชื่อ


เอ่ยชื่อ “ฝรั่งเศส” เรามักจะนึกถึงหอไอเฟลอันเลื่องชื่อ น้ำหอมชั้นดี ไวน์เลิศรส สินค้าแบรนด์เนมในห้างสรรพสินค้าหรูและแฟชั่นล้ำสมัย แต่สำหรับคริสตชนไทย ฝรั่งเศสยังเป็นแผ่นดินแม่ทางความเชื่อ แม้จะไม่ใช่ชนชาติแรกที่นำคริสต์ศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในประเทศสยาม แต่มิชชันนารีฝรั่งเศส โดยเฉพาะ “คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส” (M.E.P.) เป็นคณะแรกที่เดินทางมาประกาศศาสนาในสยามอย่างเป็นทางการและปลูกฝังความเชื่อให้คริสตชนไทยอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 คือเมื่อ 350 ปีก่อน ดังนั้น หากจะกล่าวว่า “ฝรั่งเศสเป็นแผ่นดินแม่ทางความเชื่อของคริสตชนไทย” คงไม่ผิดนัก




ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป และเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเที่ยวมากที่สุดในโลก แต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 80 ล้านคน อันเนื่องมาจากฝรั่งเศสมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ตั้งแต่ยุคโบราณไล่เรียงมาจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวสมัยใหม่ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม นอกเหนือไปจากการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะศิลปะแขนงต่างๆ ฝรั่งเศสจึงกลายเป็นที่รวมของนักคิด นักเขียน นักปรัชญา และศิลปินเอกของโลกมาโดยตลอด




การได้มาเยือนฝรั่งเศสสักครั้งในชีวิต จึงเป็นยอดปรารถนาของนักท่องเที่ยวทุกคน ที่อยากมาเหยียบดินแดนในฝันนี้กับเขาบ้าง โดยเฉพาะเราคริสตชนไทยซึ่งเป็นหนี้บุญคุณบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสในอดีต การได้มาเยือนแผ่นดินแม่ทางความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่วิเศษสุด เป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ยากจะลืมเลือน เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกเอาไว้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระคุณบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสที่ได้บุกเบิกและก่อตั้งพระศาสนจักรในประเทศไทย




โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต ผู้ก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสและคณะรักไม้กางเขน ซึ่งเดินทางมาแพร่ธรรมที่สยามเป็นคณะแรก พระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม และ คุณพ่อซาเวียร์ เกโก สองผู้บุกเบิกที่นำแสงสว่างแห่งพระวรสารมาประกาศในดินแดนอีสานและก่อตั้ง “มิสซังลาว” และคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ เจ้าอาวาสวัดท่าแร่องค์แรกและผู้ก่อตั้งคณะภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ ซึ่งคณะนี้ได้อนุเคราะห์ให้ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางมากับสมาชิกในการแสวงบุญครั้งนี้




คณะแสวงบุญของเราซึ่งประกอบด้วย ซิสเตอร์ 31 รูป ฆราวาส 6 ท่าน และพระสงฆ์อีก 1 องค์ ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 20.30 น. วันอังคารที่ 26 กันยายน 2012 โดยสายการบินการ์ตาแอร์เวย์ แวะเปลี่ยนเครื่องที่เมืองโดฮา ประเทศการ์ตา ก่อนจะบินต่อด้วยสายการบินเดิมมุ่งหน้าสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึงสนามบินชาร์ลเดอโกลส์ ในเวลา 07.15 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธที่ 27 กันยายน (เวลาที่ประเทศฝรั่งเศสจะช้ากว่าเวลาที่ประเทศไทย 6 ชั่วโมง) แม้จะเป็นการเดินทางที่ยาวนานเหน็ดเหนื่อยและฉุกละหุกบ้างเนื่องจากเป็นคณะใหญ่ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ทุกคนตื่นเต้นและดีใจ จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือโดยมีเป้าหมายที่เมืองลีซีเออ




Don Daniele, เรื่อง-ภาพ
Lourdes, France
September 29, 2012

เขาไม่ใช่พวกเรา

เขาไม่ใช่พวกเรา


วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา ปี B

กดว 11:16-17,25-29
ยก 5:1-6
มก 9:38-43,47-48

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า ในอาณาจักรโบราณอาณาจักรหนึ่ง ช่างปั้นหม้อคนหนึ่งเกิดความอิจฉาในความร่ำรวยของช่างซักรีด จึงคิดหาทางทำลายโดยออกอุบายจูงใจกษัตริย์ให้ออกประกาศหาคนที่มีความสามารถในการทำความสะอาดช้างทรงของพระองค์ให้ขาวสะอาด ช่างซักรีดอาสารับงานนี้ตามที่ช่างปั้นหม้อคาดการไว้ไม่มีผิด เพียงแต่ขอให้กษัตริย์หาพาชนะขนาดใหญ่ที่สามารถนำช้างลงแช่น้ำ เพื่อเขาจะทำความสะอาดตามหลักวิชาชีพของเขาได้ง่ายขึ้น

กษัตริย์ได้สั่งให้ช่างฝีมือทำพาชนะขนาดใหญ่สำหรับทำความสะอาดช้าง แต่เมื่อช้างก้าวย่างเข้าในพาชนะที่ทำขึ้นนั้น น้ำหนักอันมหาศาลของสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดทำให้พาชนะแตกเป็นชิ้นๆ แม้จะพยายามทำพาชนะขึ้นมาอีกหลายครั้งแต่ก็แตกทุกครั้งไป ช่างซักรีดไม่สามารถทำงานตามความประสงค์ของกษัตริย์ได้ทำให้กษัตริย์ทรงกริ้ว ช่างปั้นหม้อสามารถทำลายชื่อเสียงของช่างซักรีดได้ตามที่เขาต้องการ

บ่อยครั้งความอิจฉาริษยาอาจบดบังตาคนเราให้บอดมืด ทำให้เดินทางผิดและปิดกั้นเรามิให้เติบโตในความดี ความอิจฉาริษยาคือรากและที่มาของการทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดความร้าวฉานและแตกแยก ไม่เพียงในพระศาสนจักรเท่านั้นแต่ในสังคมและครอบครัว ระหว่างพรรคพวกเพื่อนฝูง สามีภรรยา โดยเฉพาะในสังคมไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความแตกแยกรุนแรง มีการแบ่งสีเลือกข้าง จนยากที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้

ในอดีตพระศาสนจักรเคยมีคำสอนที่ว่า “นอกพระศาสนจักรแล้วไม่มีความรอด” (Extra Ecclesiam nulla salus) ซึ่งเป็นความคิดของนักบุญซีเปรียนที่มีอิทธิพลอย่างมากก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2 แต่ในความเป็นจริง เราพบคนที่มีคุณธรรมสูงส่งนอกพระศาสนจักร แม้พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นคริสตชน แต่กลับมีชีวิตที่ดีและน่ายกย่องกว่าคริสตชนเสียอีก ความโน้มเอียงในลักษณะเช่นนี้คือสิ่งที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้

1. เขาไม่ใช่พวกเรา

บรรดาสาวกไม่เข้าใจและรับไม่ได้ ที่เห็นคนหนึ่งขับไล่ปีศาจในพระนามของพระเยซูเจ้า จึงได้ห้ามปรามเพราะ “เขาไม่ใช่พวกเรา” ท่าทีเช่นนี้คือท่าทีของการแบ่งพรรคแบ่งพวก ถือเขาถือเรา ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับทัศนคติของพระเยซูเจ้า พระองค์ตรัสอย่างเด็ดขาดว่า “ไม่มีใครสามารถทำอัศจรรย์ในนามของเรา และต่อมาจะว่าร้ายเราทันทีได้” ทั้งนี้เพราะทรงต้องการให้เราได้ทำงานเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและสันติสุข มิใช่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างอยุติธรรมเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหลายครั้งมาจากความยิ่งยโสและอคติ

พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรามีความอดทนและใจกว้าง ในการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักแก่คนอื่น โดยทรงยืนยันว่า “ผู้ใดที่ไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา” พระองค์ทรงสอนให้เราเป็นคนดีบริบูรณ์เหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ “พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:45) ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก

ในตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสอย่างชัดเจนและหนักแน่น เรื่องความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเราแต่ละคน ทรงเรียกร้องให้เราใช้มาตรการเด็ดขาดในการเอาชนะบาปและความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ เหล่านั้น พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า ชีวิตนิรันดรประเสริฐยิ่งกว่าอวัยวะที่มีประโยชน์ในตัวเรา เช่น มือ เท้า ตา ใครสามารถบังคับควบคุมตนเองได้ กล่าวคือมีมโนธรรมที่บริสุทธิ์ย่อมบรรลุถึงชีวิตนิรันดร

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับเราคริสตชนหลายประการ

ประการแรก เราต้องเป็นผู้สร้างความเป็นหนึ่งเดียว เราสามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โดยเริ่มจากครอบครัวของเรา สังคมรอบข้างและวัดของเรา ไม่ทำตัวเป็นตัวปัญหาที่ขัดขวางความเจริญของส่วนรวม ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะแต่ละคนต่างมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของตน ดังเช่น วอลแตร์ ที่ได้มอบหลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ข้าพเจ้าเกลียดสิ่งที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าจะยอมตายเพื่อให้สิทธิท่านได้พูด”

ประการที่สอง เราต้องเคารพความเชื่อที่แตกต่าง เปิดใจกว้างต่อความจริงในศาสนาอื่น การเคารพความเชื่อที่แตกต่างนำไปสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา รับรู้คุณค่าที่มีในแต่ละศาสนา และร่วมมือกันสร้างสรรค์ภราดรภาพและสันติภาพในสังคม สังคายนาวาติกันที่ 2 ย้ำว่า “พระศาสนจักรพิจารณาด้วยความเคารพอย่างจริงใจในวิธีปฏิบัติและการดำรงชีวิต ตลอดจนกฎและพระธรรมคำสอนเหล่านี้ของศาสนาอื่นๆ ซึ่งถึงแม้จะแตกต่างจากที่พระศาสนจักรสอนหลายประการ แต่บ่อยครั้ง ก็นำแสงสว่างแห่งความจริงมาส่องสว่างให้แก่มนุษย์ทุกคน”

ประการที่สาม เราต้องมีใจหนักแน่นในการเอาชนะบาป พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการต่อสู้และเอาชนะความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ ในตัวเรา ความรอดนิรันดรต้องเป็นเป้าหมายสำคัญและประเสริฐกว่าสิ่งใดๆ ที่เราจะต้องมุ่งไปให้ถึง แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญไปก็ต้องทำ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความจริง ความดีและความถูกต้อง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ในบท “ข้าแต่พระบิดา” เราภาวนาเสมอว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” ดังนั้น เราต้องตระหนักที่จะยอมทนลำบากและปฏิเสธตนเอง เพื่อให้พระประสงค์ของพระเจ้าในโลกนี้สำเร็จ อาศัยการปฏิบัติตนเช่นนี้เท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสันติสุขและความรอดสำหรับเรา

ให้เรามีความยินดีที่จะยอมมอบตนต่อพระประสงค์ของพระเจ้า และมีความเพียรทนในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แบ่งสีเลือกข้าง ถือเขาถือเรา ไม่คิดว่าตนเองคือความถูกต้องหรือดีกว่าคนอื่น ขอให้การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทที่เรามาร่วมทุกอาทิตย์ ได้เปิดตาของเราให้มองเห็นความดีของผู้อื่น จงทำดีแม้ไม่มีใครเห็นหรือให้รางวัล เพื่อเราจะได้สรรเสริญและถวายเกียรติแด่พระเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
Lourdes, France
September 29, 2012

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

สารวัดนาบัว, ปีที่ 3 ฉบับที่ 124




สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว

ปีที่ 3  ฉบับที่ 124  วันที่ 23  กันยายน ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555): http.//dondaniele.blogspot.com
เลขที่ 154 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231
พี่น้องชาวนาบัวร่วมแรงร่วมใจกันยกเสาศาลาบริเวณต้นจามจุรี วันที่ 23 กันยายน
รา

สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา

พี่น้องที่รัก พระวาจาของพระเจ้าวันนี้เชื้อเชิญเราให้กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำด้วยการมอบชีวิตเพื่อรับใช้ผู้อื่น ทรงเรียกร้องการอุทิศตนและรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก นี่คือเครื่องหมายที่แท้จริงของการเป็นคริสตชนและศิษย์ของพระคริสตเจ้า ทั้งนี้เพราะ พันธกิจของพระศาสนจักรและของเราคริสตชนคือ “การรับใช้”

พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า เพื่อจะเป็นใหญ่ที่แท้จริงและบรรลุถึงชีวิตนิรันดรจะต้องถ่อมตัวเองลงรับใช้ทุกคน แม้คนที่เล็กน้อยที่สุดซึ่งไม่มีสถานะทางสังคม เช่น คนต่ำต้อย คนถูกทอดทิ้ง เพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นพระคริสตเจ้าที่ประทับท่ามกลางเรา และชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่อุทิศตนรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
 เริ่มจากการตัดและชักลากไม้ที่ได้รับการบริจาคจากพี่น้องชาวนาบัว วันที่ 17 กันยายน
 ช่วยกันขนมารวมไว้ที่วัดบริเวณพื้นที่ก่อสร้างใต้ต้นจามจุรี

บทอ่านแรก หนังสือปรีชาญาณได้สะท้อนชีวิตชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่กอปรไปด้วยวัฒนธรรมกรีกอันสลับซับซ้อน ชาวยิวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมีศัตรูมากเพราะวิถีชีวิตของพวกเขาที่เคร่งครัดและซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติ พระศาสนจักรเริ่มแรกได้ประยุกต์พระวาจาตอนนี้กับพระเยซูเจ้าที่รับทุกข์ทรมานเพื่อรับใช้ผู้อื่น

บทอ่านที่สอง นักบุญยากอบพูดถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในทุกที่ทุกแห่ง นั่นคือความอิจฉาและการทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งเป็นสาเหตุของความวุ่นวายและความชั่วร้ายนานาชนิด “เมื่อท่านมักได้แต่ไม่สมหวัง ท่านก็ทะเลาะวิวาททำสงครามกัน” หนทางที่จะนำมาซึ่งสันติสุขคือแนวทางที่พระเยซูเจ้าทรงวางไว้ให้ในพระวรสาร

พระวรสาร พระเยซูเจ้าได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับบรรดาสาวกและเราแต่ละคน ใครที่รับใช้ด้วยความสุภาพและความรักคือคนที่เป็นใหญ่ที่สุด “ถ้าใครอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้ายและเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” (มก 9:35) คนที่เป็นใหญ่ที่แท้จริงคือคนที่รับใช้คนอื่นด้วยความสุภาพและความรัก
 ช่างกำลังตีผังขุดหลุมและเทฐานเสา วันที่ 21-22 กันยายน
 หลังมิสซาวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน มีพิธีเสกพื้นที่ก่อสร้าง

°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1)       ขอบคุณกลุ่มวิถีชุมชนวัดกลุ่มที่ 6 ที่ช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 7

2)       ในการประชุมสภาอภิบาลเมื่อวันจันทร์ที่  17 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงการสวดเดือนแม่พระและวันเสกสุสาน วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม เปิดเดือนแม่พระ แห่แม่พระจากบ้านยายกลมรีมายังวัด มีมิสซาที่วัด และขอให้แต่ละกลุ่มได้สวดสายพระคำตามบ้านในกลุ่มในคุ้มของตนเอง เงินสวดเดือนแม่พระในปีนี้จะเป็นทุนสร้างถนนคอนกรีตหน้าวัดไม้

3)       วันปิดเดือนแม่พระ วันพุธที่ 31 ตุลาคม มีแห่แม่พระรอบหมู่บ้าน เริ่มเวลา 18.30 น. และมีมิสซาปิดที่วัดเวลา 19.30 น.

4)       วันสมโภชนักบุญทั้งหลายและวันภาวนาอุทิศให้ผู้ล่วงลับ (เสกสุสาน) คือ วันพฤหัสบดีที่ 1 และศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2012 เย็นวันที่ 1 พฤศจิกายน มีมิสซาอุทิศให้ธรรมทูต ผู้แพร่ธรรมและคุณพ่อเจ้าอาวาสที่ล่วงลับไปแล้วที่สุสาน
 ตอนสายวันอาทิตย์ที่ 23 ร่วมแรงร่วมใจกันขนย้ายเสาเตรียมตั้ง
 เสาขนาดใหญ่เมื่อทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันก็เคลื่อนย้ายได้โดยง่าย

5)       วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคมนี้ ขอเชิญร่วมฉลองบ้านเณรฟาติมาท่าแร่และบวชพระสงฆ์ สังฆานุกร เทพณรงค์ พุดษา ลูกวัดท่าแร่ กับ สังฆานุกร ทินกร เหลือหลาย ลูกวัดดอนม่วย โดยพระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ มิสซาเวลา 10.00 น.

6)       วันที่ 24 กันยายน ถึงวันที่ 13 ตุลาคม คุณพ่อจะไปแสวงบุญที่ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ระหว่างที่คุณพ่อไม่อยู่ คุณพ่อธีรพงษ์ นาแว่น จะมาทำหน้าที่แทน

7)       เงินทานวันเสาร์ 503.- บาท, เงินทานวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 6,597.- บาท

8)       วัดโพนสวาง เงินทานวันอาทิตย์ 620.- บาท; นางคำเบา วงศ์บัว สมทบทุนสร้างหอระฆัง 500.- บาท
 เด็กๆ ขอมีส่วนร่วมด้วยการโยนเงินเหรียญลงหลุมตามธรรมเนียมเมื่อเริ่มการก่อสร้าง
 ผู้ใหญ่ชาญชัย นาแว่น ทำพิธีผูกเสาเอกตามประเพณี

พิธีมิสซาและวันฉลองในรอบสัปดาห

วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
23
07.00 น.
10.00 น.
มิสซาที่นาบัว
มิสซาที่โพนสวาง
สุขสำราญ สำหรับพี่น้องชาวนาบัว
สุขสำราญ สำหรับพี่น้องชาวโพนสวาง
จันทร์-พุธ
24-26
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
 
พฤหัส
27
06.00 น.
ระลึกถึง น.วินเซนต์ เดอ ปอล
 
ศุกร์
28
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
 
เสาร์
29
06.30 น.
19.30 น.
ฉลองอัครทูตสวรรค์
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
 
 ทั้งพ่อบ้าน แม่บ้านและเยาวชนช่วยกันตั้งเสาต้นแรก
 ทุกคนอยากมีส่วนร่วม ศาลาหลังนี้จึงควรได้ชื่อ "ศาลารวมใจ"
 เป็นศาลาขนาดย่อม กว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร
 มีเสาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-70 เซนติเมตร จำนวน 6 ต้น
 เสาทั้ง 6 ต้น สามารถตั้งได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง
 และใช้แรงของพี่น้องชาวนาบัวล้วนๆ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรกล

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

การรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก


การรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 25
เทศกาลธรรมดา
ปี B
ปชญ 2:12, 17-20
ยก 3:16-4:3
มก 9:30-37

บทนำ

 มีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งได้ถามองค์พระเจ้าเกี่ยวกับนรกและสวรรค์ พระเจ้าจึงตรัสกับชายนั้นว่า “เชิญมา เราจะพาท่านไปดูนรก” พระเจ้าได้พาชายนั้นเข้าไปในห้องซึ่งมีกลุ่มคนผอมโซนั่งรอบโต๊ะที่มีหม้ออาหารเลิศรสอยู่ตรงกลาง ทุกคนในห้องกำลังหิวโซ แต่ละคนมีช้อนที่ยาวกว่าแขนของพวกเขาเอง ทำให้พวกเขาไม่สามารถตักอาหารเข้าปากตนเองได้ นับเป็นการทรมานที่โหดร้ายมาก

จากนั้น พระเจ้าได้พาชายนั้นไปยังสวรรค์ เข้าไปในอีกห้องหนึ่งซึ่งคล้ายกับห้องแรก หม้ออาหารเลิศรสวางอยู่ตรงกลาง ผู้คนในห้องมีช้อนที่ยาวแบบเดียวกัน แต่ทุกคนในห้องต่างอิ่มหนำสำราญ “ผมไม่เข้าใจ” ชายคนนั้นถามพระเจ้า ทำไมคนในห้องนี้จึงมีความสุข ขณะที่อีกห้องหนึ่งหิวโซ ทั้งๆ ที่มีทุกอย่างเหมือนกัน” พระเจ้าตรัสกับเขาว่า “ในห้องนี้ทุกคนเรียนรู้ที่บริการรับใช้ซึ่งกันและกัน”

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้เชื้อเชิญเราให้กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำด้วยการมอบชีวิตเพื่อรับใช้ผู้อื่น ทรงเรียกร้องการอุทิศตนและรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก นี่คือเครื่องหมายที่แท้จริงของการเป็นคริสตชนและศิษย์ของพระคริสตเจ้า ทั้งนี้เพราะ พันธกิจของพระศาสนจักรและของเราคริสตชนคือ “การรับใช้”

1.           การรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตรัสถึงพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นครั้งที่สอง แต่บรรดาอัครสาวกไม่เข้าใจและรับไม่ได้ เพราะพวกเขาต่างคาดหวังว่าพระองค์จะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดทางการเมือง เมื่อถึงเวลานั้นพวกเขาแต่ละคนต้องมีตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งอย่างแน่นอน พวกเขาจึงถกเถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่ที่สุดในหมู่พวกเขา

พระเยซูเจ้าได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับพวกเขา ใครที่รับใช้ด้วยความสุภาพและความรักคือคนที่เป็นใหญ่ที่สุด “ถ้าใครอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้ายและเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” (มก 9:35) คนที่เป็นใหญ่ที่แท้จริงคือคนที่รับใช้คนอื่นด้วยความสุภาพและความรัก ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและความถูกต้อง แต่ตอบสนองต่อความต้องการของคนอื่นด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ

เงื่อนไขของการเป็นใหญ่ที่แท้จริงที่พระเยซูเจ้าหมายถึงคือ การรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก ถือเป็นกระแสเรียกของพระศาสนจักรทั้งมวลและของสมาชิกแต่ละคน นั่นหมายความว่า คริสตชนแต่ละคนจะต้องเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าผ่านทางการรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราว่า เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกของพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า เพิกเฉยต่อการเรียกเพื่อรับใช้นี้ พระศาสนจักรจะต้องทนทุกข์

พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้บรรดาสาวกเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ซึ่งมีจิตใจที่ใสซื่อ สุภาพ และไร้เล่ห์มารยา เด็กเป็นตัวแทนของคนที่ไร้อำนาจที่สุดในทุกสังคม ไม่มีอิทธิพลใดๆ เชื่อง่าย จนกลายเป็นเครื่องมือของการถูกล่วงละเมิดหรือทำให้เสียคน พระเยซูเจ้าทรงนำเด็กมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เราได้ตระหนักว่า ในการรับใช้นั้นราต้องรับใช้แม้คนที่เล็กน้อยที่สุด ซึ่งไม่มีสถานะทางสังคม เช่น คนบาป คนถูกทอดทิ้ง พวกเหล่านี้เป็นพระคริสตเจ้าท่ามกลางเรา

2.           บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับเราคริสตชนหลายประการ

ประการแรก เราต้องรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือเป็นที่ต้องการ ด้วยเหตุผลเรื่องชนชั้น สีผิว ศาสนาและวัฒนธรรม ต้องตระหนักว่าอำนาจหน้าที่ที่เราได้รับมามิใช่มีไว้เพื่อใช้บังคับหรืออยู่เหนือคนอื่น แต่เพื่อการรับใช้ตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า ที่ทรงมอบแบบอย่างนี้แก่เราในการล้างเท้าอัครสาวก การรับใช้จึงเป็นเครื่องหมายที่แท้จริงของการเป็นศิษย์ เป็น “ความรักในภาคปฏิบัติ” ที่สามารถมองเห็นได้

ประการที่สอง เราต้องกล้าที่จะลงมือปฏิบัติมากกว่าพูด เพื่อจะเป็นใหญ่ที่แท้จริง พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเราด้วยเงื่อนไข 4 ประการ เราจะต้องพร้อมที่จะ 1) เป็นคนสุดท้าย, 2) รับใช้ทุกคน, 3 ต้อนรับคนที่ต่ำต้อยและไร้ค่าด้วยความรัก และ 4) กระทำโดยไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน

ประการที่สาม เราต้องเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการรับใช้ ให้เราได้วอนขอพระจิตเจ้าในพิธีบูชาขอบพระคุณนี้ เพื่อขอพระองค์ได้ช่วยเราให้กลายเครื่องมือในการรับใช้ด้วยความสุภาพและความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เหมือนอย่างบุญราศีแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา ที่ได้แสดงให้เห็นถึงพระทัยดีของพระเจ้าในการรับใช้คนยากจนและถูกทอดทิ้ง ที่ทุกคนสามารถเห็นถึงพระทัยดีของพระเจ้าผ่านทางใบหน้า แววตา รอยยิ้มและการทักทายที่อบอุ่น

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญเราให้กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เหมือนทรงเรียกบรรดาสาวกให้มาเข้าใจพระบุคคลและพันธกิจของพระองค์คือ การรับใช้ด้วยความสุภาพและความรัก ซึ่งเป็นหนทางสู่การเป็นใหญ่ที่แท้จริง คริสตชนแต่ละคนจะต้องเป็นพยานถึงองค์พระคริสตเจ้าผ่านทางการรับใช้ทุกคน

พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า เพื่อจะเป็นใหญ่ที่แท้จริงและบรรลุถึงชีวิตนิรันดรจะต้องถ่อมตัวเองลงรับใช้ทุกคน แม้คนที่เล็กน้อยที่สุดซึ่งไม่มีสถานะทางสังคม เช่น คนต่ำต้อย คนถูกทอดทิ้ง เพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นพระคริสตเจ้าที่ประทับท่ามกลางเรา และชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่อุทิศตนรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
21 กันยายน 2012