วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

พลังของสิ่งเล็กน้อย

พลังของสิ่งเล็กน้อย
วันจันทร์
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
อพย 20:1-17
มธ 13:18-23
พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตรัสคำอุปมาสองเรื่อง “เมล็ดมาสตาร์ด” และ “เชื้อแป้ง” เมล็ดมาสตาร์ดเป็นเมล็ดที่เล็กกว่าเมล็ดทั้งหลาย แต่เมื่องอกและโตขึ้นได้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นที่อาศัยของนกและสิ่งมีชีวิตต่างๆ พระวาจาของพระเจ้าและกิจการดีทุกอย่างที่เรากระทำเป็นเหมือนเมล็ดเล็กๆ แต่มีพลังแห่งชีวิตซ่อนอยู่และรอเวลาเจริญเติบโต
เช่นเดียวกับเชื้อแป้งเพียงน้อยนิดที่ใส่ปนลงไปในแป้งสามถัง และทำให้แป้งทั้งหมดฟูขึ้น เราดูภารกิจที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ มองดูภายนอกไม่มีความหมายอะไร ดูบรรดาศิษย์ที่ทรงเลือกและมอบพันธกิจให้สานต่อ ล้วนเป็นชาวประมงที่ไม่ได้มีความรู้อะไร แต่พระเยซูเจ้าทรงมองการณ์ไกล ทรงมองเห็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ ทรงใช้เครื่องมือที่เล็กน้อยและไม่เหมาะสมเพื่อพันธกิจที่ยิ่งใหญ่
จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ท่าแร่ เราเห็นถึงธารน้ำใจที่หลั่งไหลมาช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นคนเล็กน้อยที่ไม่มีใครรู้จัก รวมถึงอาสาสมัครที่มาช่วยงาน บางคนเป็นเด็กคำสอนมาช่วยจัดของแจก บางคนเป็นเยาวชนช่วยนำของแจกไปให้คนที่น้ำท่วม บางคนทำหน้าที่ประสานงาน ส่วนคนที่แข็งแรงทำหน้าที่ขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ขึ้นที่สูงหรือที่ปลอดภัย บางคนเป็นหน่วยเสี่ยงชีวิตไปช่วยในจุดที่น้ำท่วมสูง นี่คือเมล็ดเล็กๆ ที่มีพลังยิ่งใหญ่ และพระศาสนจักรเติบโตมาด้วยพลังเช่นนี้
ศิษย์พระคริสต์ต้องเป็นเหมือนเมล็ดมาสตาร์ดและเชื้อแป้ง แม้จะเป็นคนเล็กน้อยที่ไม่มีใครรู้จักและไม่เป็นที่รับรู้ แต่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไม่ได้และทำให้งานขับเคลื่อน ประการสำคัญ พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นและรับรู้ ทรงทำให้งานสำเร็จและเกิดผล เราได้เป็นเมล็ดมาสตาร์ดที่พร้อมเน่าเพื่องอกเป็นต้นไม้ใหญ่หรือเปล่า เราได้เป็นเชื้อแป้งที่ยอมคลุกเคล้าเข้ากับแป้งเพื่อทำให้สังคมดีขึ้นไหม เราต้องตระหนักว่าอาณาจักรสวรรค์คืองานของพระเจ้าในตัวเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
30 กรกฎาคม 2017
ภาพประกอบ: แจกของผู้ประสบภัยน้ำท่วม, เยาวชนท่าแร่, ชุมชนป่าหว้าน, ท่าแร่ สกลนคร; 2017-07-29

วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สารวัดป่าพนาวัลย์, ปีที่ 3 ฉบับที่ 116

Text Box:  สารวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์

ปีที่ 3  ฉบับที่ 116  อาทิตย์ที่ 30  กรกฎาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560):  http.//dondaniele.blogspot.com

เลขที่ 187 หมู่ที่ 5 บ้านป่าพนาวัลย์ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47230È086-231-3231

รา
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
สภาพบ้านเรือนชาวท่าแร่ในหลายชุมชนที่ถูกน้ำท่วม 29 กรกฎาคม 2017
พี่น้องที่รัก เช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2017 หมู่บ้านท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรพระคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เต็มไปด้วยน้ำโดยป้องกันอะไรไม่ได้ เนื่องจากมวลน้ำมหาศาลที่มาพร้อมกับพายุฝน “เซินกา” ที่ตกตลอดทั้งคืน ทำให้ทุกพื้นที่กลายเป็นแอ่งรับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอาสนวิหาร บ้านพักพระสงฆ์ บ้านเณร อาราม ศูนย์คาทอลิก โรงเรียน ถนนทุกสายกลายสภาพเป็นคลอง บ้านคริสตชนได้รับผลกระทบทั่วหน้า รวมถึงเลือกสวนไร่นา
ต่อหน้าสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เราคริสตชนคิดอย่างไร มองเห็นอะไรจากสถานการณ์นี้ ช่างประเหมาะเหลือเกินที่พระวรสารวันนี้พระเยซูเจ้าตรัสถึง “ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในทุ่งนา” และ “ไข่มุกเม็ดงาม” ปาเลสไตน์เป็นดินแดนที่อยู่ในภาวะสงคราม การซ่อนของมีค่าไว้ใต้ดินจึงเป็นเรื่องธรรมดา กล่าวกันว่า “พื้นดินเป็นที่เก็บเงินที่ปลอดภัยที่สุดเพียงที่เดียว” อีกทั้ง “ไข่มุก” เป็นสิ่งที่คนทั่วไปหลงใหลและอยากเป็นเจ้าของ
สำหรับชาวท่าแร่ “ขุมทรัพย์” และ “ไข่มุกเม็ดงาม” ที่พวกเราค้นพบและเป็นเจ้าของคือ “ความเชื่อ” ภัพพิบัติครั้งนี้ต้องทำให้เรามีความเชื่อมากขึ้น ไม่ท้อถอยหรือหมดกำลังใจ ไม่มองว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้า แต่เป็นพระพรและโอกาสที่ทำให้ความเชื่อของเราปรากฏผลในภาคปฏิบัติ ในการร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันภัยธรรมชาติครั้งนี้ สำหรับศิษย์พระคริสต์เช่นกัน เป็นโอกาสที่จะแสดงความเห็นใจชาวท่าแร่มากกว่าคำภาวนา ทำให้ความเชื่อของเราปรากฏผลในความช่วยเหลือ นี่คือขุมทรัพย์และไข่มุกเม็ดงามที่เราเป็นเจ้าของ
 อาศรม 2 หลังด้านทิศตะวันตกที่น้ำท่วมขัง 29 กรกฎาคม 2017
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1)       อัครสังฆมณฑลได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ขึ้น เพื่อระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน วัดเราได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวท่าแร่ ถึงเวลาที่เราจะช่วยพวกเขาบ้าง
2)     พิธีบูชาขอบพระคุณครบ 100 วัน โรซา ทองจันทร์ วิมลจันทร์ และการประชุมกลุ่มคริสตชนพื้นฐานได้เลื่อนไป เนื่องจากเกิดอุทกภัยที่ท่าแร่และบ้านเรา ส่วนเมื่อไหร่จะแจ้งอีกที
3)     เสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2017 ขอเชิญร่วมพิธีบวชสังฆานุกร พิธีแต่งตั้งผู้ช่วยพิธีกรรมและผู้อ่านพระคัมภีร์ ณ อาคารมารดาพระผู้ไถ่ สามพราน ขอคำภาวนาสำหรับสามเณรเปโตร ศีลวัตร ดาลุนพัน ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ด้วย
4)     เสาร์ที่ 12-จันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2017 ขอเชิญร่วมงานมารีอาโปลี 2017 ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เย็นอาทิตย์ที่ 13 มีพาแลงและกิจกรรมบนเวที และจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2017 มีพิธีบูชาขอบพระคุณปิดงานโดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมขอให้แจ้งรายชื่อก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2017
5)     เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2017 ขอเชิญร่วมฉลองวัดพระแม่มารีย์ กาฬสินธุ์ พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.30 น.
6)     ผู้บริจาคเงินทำรั้วรอบสุสาน ครอบครัวนางจีระนันท์ จันทะรังสี 2,000.- บาท
7)     เงินทานอาทิตย์ (23 กรกฎาคม) มิสซาเช้า จำนวน 1,228.- บาท มิสซาเย็น 358.- บาท รวมเป็นเงิน 1,586.- บาท
 สภาพที่นาของตาเกิด บุตรดีด้วงที่ถูกน้ำท่วม
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
วันอาทิตย์
30
10.00 น.
19.30 น.
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
†สุขสำราญ พี่น้องชาวป่าพนาวัลย์
จันทร์
31
18.30 น.
ระลึกถึง น.อิกญาซีโอ เด โลโยลา

วันอังคาร
01
18.30 น.
ระลึกถึง น.อัลฟองโซ เด ลีกวอรี

วันพุธ
02
18.30 น.
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา

วันพฤหัสบดี
03
18.30 น.
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา

วันศุกร์
04
18.30 น.
ระลึกถึง น.ยอห์น มารีย์ เวียนเนย์

วันเสาร์
05
18.30 น.
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา


 พื้นที่วัดป่าพนาวัลย์ที่เต็มไปด้วยน้ำ 28 กรกฎาคม 2017









อาณาจักรพระคริสต์

อาณาจักรพระคริสต์
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
ปี A
1 พกษ 3: 5, 7-12
รม 8: 28-30
มธ 13: 44-52
บทนำ
เช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2017 หมู่บ้านท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรพระคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เต็มไปด้วยน้ำโดยป้องกันอะไรไม่ได้ เนื่องจากมวลน้ำมหาศาลที่มาพร้อมกับพายุฝน “เซินกา” ที่ตกตลอดทั้งคืน ทำให้ทุกพื้นที่กลายเป็นแอ่งรับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอาสนวิหาร บ้านพักพระสงฆ์ บ้านเณร อาราม ศูนย์คาทอลิก โรงเรียน ถนนทุกสายกลายสภาพเป็นคลอง บ้านคริสตชนได้รับผลกระทบทั่วหน้า รวมถึงเลือกสวนไร่นา
ต่อหน้าสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เราคริสตชนคิดอย่างไร มองเห็นอะไรจากสถานการณ์นี้ ช่างประเหมาะเหลือเกินที่พระวรสารวันนี้พระเยซูเจ้าตรัสถึง “ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในทุ่งนา” และ “ไข่มุกเม็ดงาม” ปาเลสไตน์เป็นดินแดนที่อยู่ในภาวะสงคราม การซ่อนของมีค่าไว้ใต้ดินจึงเป็นเรื่องธรรมดา กล่าวกันว่า “พื้นดินเป็นที่เก็บเงินที่ปลอดภัยที่สุดเพียงที่เดียว” อีกทั้ง “ไข่มุก” เป็นสิ่งที่คนทั่วไปหลงใหลและอยากเป็นเจ้าของ
สำหรับชาวท่าแร่ “ขุมทรัพย์” และ “ไข่มุกเม็ดงาม” ที่พวกเราค้นพบและเป็นเจ้าของคือ “ความเชื่อ” ภัพพิบัติครั้งนี้ต้องทำให้เรามีความเชื่อมากขึ้น ไม่ท้อถอยหรือหมดกำลังใจ ไม่มองว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้า แต่เป็นพระพรและโอกาสที่ทำให้ความเชื่อของเราปรากฏผลในภาคปฏิบัติ ในการร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันภัยธรรมชาติครั้งนี้ สำหรับศิษย์พระคริสต์เช่นกัน เป็นโอกาสที่จะแสดงความเห็นใจชาวท่าแร่มากกว่าคำภาวนา ทำให้ความเชื่อของเราปรากฏผลในความช่วยเหลือ นี่คือขุมทรัพย์และไข่มุกเม็ดงามที่เราเป็นเจ้าของ
1.        อาณาจักรพระคริสต์
คำอุปมาบอกให้เราทราบถึงคุณค่าของความเชื่อ และความชื่นชมยินดีเมื่อใครคนหนึ่งได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในทุ่งนาและไข่มุกเม็ดงาม มีความแตกต่างและความสอดคล้องกัน คนที่พบขุมทรัพย์ถือเป็นเรื่องบังเอิญ ส่วนพ่อค้าที่พบไข่มุกต้องใช้เวลาแสวงหาตลอดชีวิต การค้นพบความเชื่อเป็นได้ทั้งเรื่องบังเอิญหรือต้องแสวงหาตลอดชีวิต
พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อประกาศอาณาจักรพระคริสต์ในโลก “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15) พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลีเพื่อประกาศเรื่องพระอาณาจักร (มธ 4:23) ซึ่งแตกต่างจากอาณาจักรของโลกนี้ อาณาจักรพระคริสต์แสดงถึงการปกครองของพระเจ้าในโลก และการประทับอยู่ของพระคริสต์ในหัวใจ ในชีวิต ในบ้าน ในสังคม และในโลกของเรา
ความเชื่อมีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อครอบครองอาณาจักรนี้ต้องละทิ้งทุกสิ่ง ชายที่พบขุมทรัพย์ในทุ่งนาและพ่อค้าที่พบไข่มุกเม็ดงาม รีบกลับไปขายทุกสิ่งที่มีเพื่อซื้อที่นาและไข่มุกเม็ดนั้น ใครที่แสวงหาและปรารถนาขุมทรัพย์แห่งอาณาจักรพระคริสต์ จะพบกับความยินดีหาที่สุดมิได้ เป็นความสุขแห่งการได้พบและอยู่กับพระเจ้า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตคือ ความเชื่อในพระคริสต์และดำเนินชีวิตตามความเชื่อ
2.        บทเรียนสำหรับเรา
คำอุปมานี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ หากเราต้องการพบขุมทรัพย์แห่งอาณาจักรพระคริสต์และพบความยินดีหาที่สุดมิได้
ประการแรก ต้องแสวงหาพระเยซูเจ้าให้พบ  เมื่อเราค้นพบพระคริสต์และพันธกิจของพระองค์ สิ่งอื่นทั้งหลายจะกลายเป็นเรื่องรอง นักบุญเปาโลเป็นตัวอย่างสำหรับเรา “ข้าพเจ้าคิดว่าการมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า และการตายก็เป็นกำไร” (ฟป 1:21) เพื่อกล่าวเช่นนั้นได้ต้องมีประสบการณ์ส่วนตัวและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ ผู้เป็นขุมทรัพย์แท้จริงสำหรับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การภาวนาและการดำเนินชีวิตตามพระวาจา
ประการที่สอง ต้องยอมสละทุกสิ่ง เพื่อจะได้สิ่งที่ดีที่สุดเราต้องยอมสละสิ่งที่ดีรองลงมา เช่น ความสะดวกสบาย เราต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตนเองและสละน้ำใจของตน เพื่อจะได้พบและอยู่ในอาณาจักรพระคริสต์ตลอดไป ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้นคนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการแบ่งปันสิ่งที่เรามีช่วยพวกเขา พระเยซูเจ้ามิได้ตำหนิการมีทรัพย์สมบัติมาก แต่ทรงประณามการใช้ทรัพย์สมบัติอย่างเห็นแก่ตัว
ประการที่สาม ต้องดำเนินชีวิตมุ่งไปยังเป้าหมายที่สูงค่า เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแสวงหาขุมทรัพย์ที่จอมปลอม เช่น เงินทอง การยอมรับ สถานะทางสังคม หรือความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม เราต้องแสวงหาสิ่งที่สูงค่ากว่าคือ ความเชื่อและความรอดนิรันดร ดำเนินชีวิตตามแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า ทำให้ความเชื่อปรากฏเป็นจริงในโลกนี้ ในรูปของความรัก ความเมตตากรุณา และการแบ่งปันช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน
บทสรุป
พี่น้องที่รัก คำอุปมาที่พระเยซูเจ้าเล่าบอกให้เราทราบว่า “ไม่มีสิ่งไหนในโลกที่มีค่าและสำคัญมากไปกว่าความเชื่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้อาณาจักรพระคริสต์มีชีวิต เป็นอาณาจักรแห่งความเมตตากรุณาและยุติธรรม อาณาจักรแห่งความรักและสันติสุข อาณาจักรแห่งการแบ่งปันและช่วยเหลือ ทรงเชื้อเชิญเราให้สร้างอาณาจักรพระคริสต์และทำให้ปรากฏเป็นจริง
อาณาจักรพระคริสต์เห็นได้อย่างเด่นชัดในพระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าที่เสด็จมาเพื่อ “รับใช้ผู้อื่นและมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” (มก 10:45) ทรงท้าทายและมอบแบบอย่างนี้แก่เรา ทำให้อาณาจักรพระคริสต์เริ่มตั้งแต่ในโลกนี้ ในเวลาที่เราดำเนินชีวิตในความรักต่อกัน แบ่งปันและช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนและประสบภัยน้ำท่วมขณะนี้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
บ้านแม่ฮ้อม, นาโพธิ์ กุสุมาลย์
29 กรกฎาคม 2017
ภาพประกอบ: เด็กสาวกำลังลากถังขยะที่ถูกน้ำพัดขวางถนนเข้าข้างทาง, ถนนราษฎร์เจริญ, ท่าแร่ สกลนคร; 2017-07-28

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ต้องเป็นดินดี

ต้องเป็นดินดี
วันศุกร์
สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา
อพย 20:1-17
มธ 13:18-23
พระเยซูเจ้าทรงสอนด้วยคำอุปมา แต่มิได้อธิบายคำอุปมาทุกเรื่อง นอกจากคำอุปมาเรื่อง “ผู้หว่าน” พระวรสารวันนี้ ทรงบอกชัดเจนว่า เมล็ดพืช ได้แก่ พระวาจา พระประสงค์ หรือบทบัญญัติของพระเจ้า และดินคือใจของมนุษย์ คำอธิบายได้เน้นถึงชนิดของใจหลายแบบที่ปฏิเสธพระวาจาพระเจ้า ในความเป็นจริง เราแต่ละคนคือตัวแทนของดินสี่ประเภทที่แตกต่างกัน
1) ดินตามทางเดิน หมายถึง “ใจที่แข็งกระด้าง” แสดงถึงหัวใจที่ปิดสนิท ความจริงไม่สามารถทะลุเข้าไปได้ เป็นใจที่มองพระวาจาหรือบทบัญญัติเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล ตกยุค และล้าสมัย ค่านิยมของโลกได้ขโมยพระวาจาไปจากใจคนประเภทนี้
2) ดินบนหิน หมายถึง “ใจที่มีความเชื่อตื้นเขิน” เหมือนดินที่ปกคลุมพื้นหิน เมล็ดพืชไม่สามารถหยั่งรากลึกได้และเหี่ยวเฉาไปเมื่อแดดจัด คนจำนวนมากเป็นเช่นนี้ เป็นคริสตชนแต่ในทะเบียนบ้าน มาวัดเพื่อให้เหมือนคนอื่น เมื่อเผชิญปัญหาหรือความยากลำบากได้ละทิ้งไป
3) ดินในกอหนาม หมายถึง “ใจที่หมกมุ่นกับหลายสิ่ง” ไม่มีเวลามาวัด อ่านพระคัมภีร์ หรืออยู่เงียบๆ กับพระเจ้า การปล่อยตัวตามความสะดวกสบายและลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ทำให้จิตใจถูกครอบงำ ไม่สามารถอุทิศตัวเพื่อพระเจ้าได้ เช่น ยูดาสที่เอาชนะความโลภในใจไม่ได้
4) ดินดี หมายถึง “ใจที่เปิดกว้าง” พร้อมรับฟังพระวาจาอย่างข้าใจ และนำมาปฏิบัติในชีวิตจริงด้วยความร้อนรน จนเกิดผลในจิตใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างแท้จริง
เราเป็นดินประเภทไหนใน 4 ชนิดนี้ พระวาจาพระเจ้าช่วยเราให้พบพระองค์ไหม เราพร้อมติดตามพระองค์ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากหรือเปล่า เราได้พยายามหันหลังให้บาปและความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติที่ครอบงำจิตใจเพียงใด ให้เราได้กลับใจมาหาพระเจ้า ให้พระองค์พรวนดินรดน้ำดินที่แข็งให้ร่วนซุย ขุดหินขึ้นมาและตัดหนามทิ้งไป เพื่อใจเราจะได้กลายเป็นเนื้อดินดีและเกิดผล
ศิษย์พระคริสต์ไม่เพียงมาวัดฟังพระวาจาพระเจ้าสัปดาห์ละครั้ง แต่ต้องตอบสนองด้วยหัวใจทั้งครบ รำพึงถึงพลังและความหมายของพระวาจา เจริญชีวิตตามพระประสงค์และบทบัญญัติ และประกาศแก่ทุกคนผ่านทางแบบอย่างชีวิต เราต้องเป็นดินดีที่ทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจาหยั่งรากลึกในใจ เติบโตอย่างมั่นคงและเกิดผลอย่างสมบูรณ์ในชีวิต
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
27 กรกฎาคม 2017
ภาพประกอบ: การดำนาของชาวนาบัว, วานรนิวาส สกลนคร; 2012-06-12

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การนำพระวาจามาปฏิบัติ

การนำพระวาจามาปฏิบัติ
วันพฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา
อพย 19:1-2, 9-11, 16-20
มธ 13:10-17
พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักเทศน์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ตรัสด้วยภาษาที่ผู้คนเข้าใจง่าย ทรงใช้เรื่องราว การเปรียบเทียบ และหยิบยกตัวอย่างจากชีวิตจริงมาเทศน์สอน บางครั้งพระองค์ทรงใช้คำอุปมาที่ค่อนข้างเข้าใจยากซึ่งเป็นภาษาเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้ผู้ฟังได้คิดและไตร่ตรองความหมายที่ซ่อนอยู่ พระวรสารวันนี้ บรรดาศิษย์จึงถามพระองค์ว่า “ทำไมพระองค์ตรัสแก่เขาเป็นคำอุปมาเล่า” (มธ 13:10)
คำตอบของพระเยซูเจ้าแสดงให้เห็นว่าทรงต้องการให้ผู้ฟังพระองค์ ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง คำอุปมาได้เปิดเผยธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรพระเจ้าแก่ผู้ที่เปิดใจรับฟัง ใครที่ไม่เปิดใจรับฟังจะไม่เข้าใจความหมาย สิ่งสำคัญคือการตอบรับส่วนบุคคล หากใจไม่เปิดรับและไม่ตอบรับ ข่าวดีนั้นจะผ่านไป เข้าทำนอง “เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา”
พระเยซูเจ้าตรัสกับมนุษย์ทุกคน ทรงเรียกทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง พระวาจาของพระเจ้ามิใช่ความรู้ระดับสติปัญญา แต่เป็นความรู้ระดับปฏิบัติ นอกจากเปิดใจรับฟังแล้ว ยังต้องนำมาปฏิบัติในชีวิต พระคัมภีร์อาจทำให้เราเข้าใจยากและคลุมเครือ หากเราอ่านด้วยจิตใจที่ตื้นเขิน ไม่ลึกซึ้ง เราต้องอ่านด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง พร้อมที่จะรับสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยแก่เรา
เมื่ออ่านพระคัมภีร์ซึ่งเป็นพระวาจาของพระเจ้า ต้องเปิดใจต่อสิ่งที่ทรงประสงค์จะตรัสกับเรา ผ่านทางการไตร่ตรองและการภาวนาด้วยความเชื่อ มองผ่านสิ่งที่ปรากฏภายนอก เพื่อพบความหมายภายในที่พระองค์ต้องการจะบอก และนำไปปฏิบัติในชีวิตซึ่งจะทำให้เราพบความจริง “ตาของท่านเป็นสุขที่มองเห็น และหูของท่านเป็นสุขที่ได้ฟัง” (มธ 10:16)
ศิษย์พระคริสต์ต้องเจริญชีวิตด้วยพระวาจาพระเจ้า เราแต่ละคนได้รับการเชื้อเชิญให้อ่านพระวาจา ไตร่ตรองเพื่อเข้าใจความหมายและพระประสงค์ของพระองค์ และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เรามีความจริงใจที่จะรู้จักพระเจ้า ฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิตของเรา และตอบสนองต่อพระหรรษทานและความรักของพระองค์ไหม “ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดเปิดใจลูก เพื่อฟังพระวาจาพระองค์ และนำสู่การปฏิบัติเทอญ”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
26 กรกฎาคม 2017
ภาพประกอบ: พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน, เทศน์เข้าเงียบครั้งสุดท้าย, วัดน้อยสำนักมิสซัง; 2007-04-03

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

นักบุญโยอากิมและอันนา

นักบุญโยอากิมและอันนา
26 กรกฎาคม
ระลึกถึง น.ยออากิมและอันนา
บสร 44:1, 10-15
มธ 13:16-17
บทนำ
นักธุรกิจคนหนึ่งได้แบ่งปันชีวิตวัยเด็กว่า แม่ของเขาเป็นคริสตชนที่ศรัทธาและเข้มแข็ง ได้ถ่ายทอดความเชื่อแก่ลูกทุกคน ลูกแต่ละคนดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนที่ดีตามคำแม่สอน เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่พอถึงรุ่นลูก เขารู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำอย่างแม่ได้ เขามีลูกสามคนส่งเสียให้มีการศึกษาสูง แต่ทุกคนละทิ้งศาสนาหมด ไม่เชื่อพระเจ้าอีกต่อไป ลูกชายคนเล็กไปบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
ในทวีปยุโรปเวลานี้คนรุ่นใหม่ไม่มีศาสนาแล้ว นี่คือสิ่งที่ท้าทายศิษย์พระคริสต์ในยุคสมัยของเรา นักบุญโยอากิมและอันนาที่พระศาสนจักรระลึกถึงวันนี้ เป็นแบบอย่างของคนที่มีความเชื่อ และได้ถ่ายทอดความเชื่อสู่บุตรสาว เลี้ยงดูและอบรมบ่มเพาะพระนางมารีย์ให้มีความเชื่อในพระเจ้า เราจึงมีความศรัทธาต่อท่านทั้งสองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักบุญอันนา
1.        นักบุญโยอากิมและอันนา
พระศาสนจักรไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบิดามารดาของพระนางมารีย์เลย นอกจากธรรมประเพณีที่สอนว่า บิดามารดาของพระนางสำคัญ เพราะพระนางมารีย์มีบทบาทสำคัญในงานไถ่กู้และในความเชื่อของพระศาสนจักร ดังนั้น บิดามารดาของพระนางมารีย์ หรือคุณตาคุณยายของพระเยซูเจ้าต้องมีความสำคัญด้วยเช่นกัน อีกทั้ง เป็นคุณตาคุณยายของเราทุกคน
ชื่อ “โยอากิมและอันนา” มีที่มาจากเอกสารโบราณ “พระวรสารนักบุญยากอบ” ที่ไม่ถือว่าเป็นพระคัมภีร์ เป็นเพียงตำนานเล่าชีวิตของพระนางมารีย์ในวัยเด็กที่บอกให้เราทราบว่า ทูตสวรรค์ได้ปรากฏแก่นักบุญโยอากิมและอันนา แจ้งข่าวแก่ทั้งสองว่าจะให้กำเนิดบุตร และนักบุญอันนาได้สัญญาจะยกถวายบุตรให้กับพระเจ้า แสดงว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้า ให้อยู่ในแผนการแห่งความรอดด้วย
พระศาสนจักรให้เกียรตินักบุญโยอากิมและอันนาเสมอมา เพราะทั้งสอง เป็นบิดาและมารดาของพระนางมารีย์ ผู้เป็นมารดาของพระเจ้า นอกจากให้กำเนิดแล้ว ยังได้เลี้ยงดู และอบรมบ่มเพาะความเชื่อแก่พระนางมารีย์ เมื่อพระศาสนจักรรักและให้เกียรติพระนางมารีย์มาก จึงไม่แปลกที่จะรักและศรัทธานักบุญโยอากิมและอันนาด้วย โดยเฉพาะ การที่พระนางมารีย์ตอบรับต่อแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความสุภาพ แสดงถึงความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมของผู้ที่ได้รับการอบรมมาดี
2.        บทเรียนสำหรับเรา
นักบุญโยอากิมและอันนาได้ให้แบบอย่างแก่เราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก แบบอย่างแห่งความศรัทธาต่อพระเจ้า ท่านทั้งสองเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ แบบอย่างชีวิต และพละกำลังที่ทำให้พระนางมารีย์ได้ตอบรับต่อแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้าจนถึงเชิงกางเขน เราต้องเป็นตัวอย่างดีแก่บุตรหลานในชีวิตประจำวัน ในการปฏิบัติศาสนา พาบุตรหลานไปวัด ในการภาวนาร่วมกัน เพื่อบ่มเพาะความเชื่อศรัทธาในตัวเขาตั้งแต่ยังเด็ก
ประการที่สอง แบบอย่างของการอบรมบุตรหลาน ท่านทั้งสองได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่างของบิดามารดาทั้งหลาย เป็นตัวอย่างของปูย่าตายายที่สอนบุตรหลานให้มีความเชื่อ พระนางมารีย์คงได้สอนพระเยซูในวันเด็กด้วยคำสอนของท่านทั้งสอง เราต้องอบรมรมบุตรหลานของเราให้มีความเชื่อในพระเจ้า เป็นครูคนแรกที่สอนพวกเขาให้รู้จักพระเจ้า พาบุตรหลานไปวัด หรือสวดภาวนา
ประการสุดท้าย แบบอย่างแห่งความรัก ไม่ต้องสงสัยว่า ปู่ย่าตายายรักบุตรหลานมาก คนอีสานมีสำนวน “แพงลูกซ่ำหมากตาล แพงหลานซ่ำหมากพร้าว” ความหมายคือ รักหลานมาก อุปมาความรักลูกเท่ากับผลตาล แต่ความรักหลานเท่ากับลูกมะพร้าว นี่คือประสบการณ์ที่เราสัมผัสได้ ปู่ย่าตายายมีอะไรดี ๆ มักเก็บไว้ให้หลานเสมอ หากพ่อแม่ลงโทษลูก ปู่ย่าตายาย มักไม่ยอม
บทสรุป
พี่น้องที่รัก นักบุญโยอากิมและอันนาสืบเชื้อสายและความเชื่อมาจากอับราฮัม นักบุญอันนาเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาคริสตชนที่เป็นมารดา และองค์อุปถัมภ์ของสตรีที่คลอดบุตร ชื่อ อันนา (Anne) ภาษาฮีบรู “Hannah” แปลว่า พระหรรษทาน หรือ ความโปรดปราน ส่วนชื่อโยอากิม (Joachim) ภาษาฮีบรู “Jehoyaqim” แปลว่า พระยาห์เวห์ทรงยกขึ้น” หรือ “พระยาเวห์ผู้ช่วยให้รอด
ขอนักบุญโยอากิมได้ทูนขอพระเจ้าให้ทรงยกเราขึ้น และนักบุญอันนาผู้เป็นความโปรดปรานของพระเจ้าได้อวยพรเรา  ให้มีความเชื่อเข้มแข็งและร้อนรนในการเป็นคริสตชน ศิษย์พระคริสต์ต้องดำเนินชีวิตในความศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงนักบุญโยอากิมและอันนา ในความเชื่อต่อพระเจ้า ในการทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน และในความรักต่อเพื่อนมนุษย์ในชีวิตประจำวัน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์, สกลนคร
25 กรกฎาคม 2017
ภาพ : นักบุญอันนาและแม่พระ, สักการสถานนักบุญอันนา, ปีนัง มาเลเซีย; 2016-07-30