วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม


เวียดนามภาคใต้
(บันทึกการเดินทางไปแสวงบุญเวียดนามใต้ 27-31 กรกฎาคม 2015)
5.         นครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม
เช้าวันที่สี่ของการเดินทาง (30 กรกฎาคม 2015) คณะของเราได้ไปถวายมิสซาที่อาสนวิหารดาหลัดหรือ “อาสนวิหารนักบุญนิโคลัส” อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการของคุณพระเจ้าและขอบคุณคุณพ่อเจ้าอาวาส ที่อำนวยความสะดวกให้พวกเราใช้สถานที่ในการเติมพลังฝ่ายจิตในช่วง 2 วันนี้ บริเวณใต้พระแท่นของอาสนวิหารมีอัฐิของนักบุญมรณสักขีชาวเวียดนามจำนวน 9 องค์ จากจำนวน 117 องค์ที่ได้สละชีวิตเพื่อพระศาสนจักรเวียดนามในศตวรรษที่ 17 ถึง 19 และได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 19  มิถุนายน ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2521)
หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จ พวกเราได้อำลาเมืองดาหลัดเพื่อเดินทางกลับมานครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางมาเวียดนามครั้งนี้ โฮจิมินห์แม้จะเป็นเมืองค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับเมืองอื่นของเวียดนาม เนื่องจากเพิ่งจะฉลองครบรอบ 300 ปีไปเมื่อปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) แต่ถือเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศอยู่เสมอ ดังปรากฏหลักฐานที่คอยย้ำเตือนให้ระลึกถึงเรื่องราวในอดีตอยู่ทั่วไป




นครโฮจิมินห์ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลจีนใต้ 40 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปากแม่น้ำโขง เรียบไปตามแม่น้ำไซง่อน อันเป็นชื่อดั้งเดิมของนครแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1698 (พ.ศ. 2241) ด้วยชัยภูมิที่อยู่ริมแม่น้ำทำให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างประเทศเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสยึดในปี ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมฝรั่งเศสในโคชินจีนและเป็นเมืองท่าสำคัญ ฝรั่งเศสได้สร้างเมืองนี้ให้เหมือนกับเมืองบ้านเกิด แต่แฝงกลิ่นอายแบบตะวันออกเอาไว้
ภายหลังที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟู เวียดนามได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเหนือ-ใต้ ทำให้ไซ่ง่อนกลายเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ แต่ต้องเผชิญกับการรุกรานของเวียดนามเหนือเป็นระยะ ในช่วงสงครามเวียดนามไซ่ง่อนได้กลายเป็นฐานสำคัญของกองทัพสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนเวียดนามใต้ จวบจนเมื่อกองทัพแดงของเวียดนามเหนือบุกยึดเวียดนามใต้ได้ในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ เพื่อรำลึกถึง “ลุงโฮ” ผู้นำการประวัติคนสำคัญของเวียดนาม



ปัจจุบัน นครโฮจิมินห์ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง มีตึกระฟ้าตั้งเรียงราย มีโรงแรมห้าดาว อาคารสำนักงานและห้องพักหรู มีประชากรกว่า 13 ล้านคน มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ อาสนวิหารนอทรอดาม (Notre Dame Cathedral) ที่ทำการไปรษณีย์กลาง ตลาดเบนถั่น พิพิธภัณฑ์สงคราม ทำเนียบประธานาธิบดี และอุโมงค์กู๋จีอันเลื่องชื่อ
ตลาดเบนเท่น ถือเป็นจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการจับจ่ายหาซื้อของฝากและของที่ระลึก ด้านหน้าตรงทางเข้าตลาดมีหอนาฬิกาขนาดใหญ่แปลกตา เสร็จในปี ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457)  โดยชาวฝรั่งเศส มีพื้นที่มากกว่า 11,000 ต.ร.ม. ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในนครโฮจิมินห์ มีของขายเกือบทุกอย่าง มีร้านรวงมากมายนับไม่ถ้วน เดิมเป็นตลาดที่ชาวบ้านมาหาซื้อของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน เป็นแหล่งซื้อขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ผ้าทอมือ ตุ๊กตาไม้ พัดฯลฯ



พวกเราได้มีโอกาสเดินดูโดยรอบ แต่ไม่รู้จะซื้ออะไรนอกจากกระเป๋าสำหรับใส่ของฝากที่ซื้อกันก่อนหน้านี้ จากนั้นได้มารวมตัวกันตรงจุดนัดหมายด้านข้างตลาดตรงประตูที่ 12 บรรดาแม่ค้าทั้งเด็กเล็ก (ขอย้ำว่าเด็กเล็กจริง) แม่ลูกอ่อน เยาวชน จนถึงคนสูงอายุได้นำสินค้ามาเสนอขาย ส่วนใหญ่เป็นของที่ระลึกและของเด็กเล่น เพราะความใจอ่อนและสงสารหลายคนจึงได้ช่วยซื้อ บางคนถึงกับออกปากว่ารู้อย่างนี้ไม่เดินหาซื้อทั่วตลาดให้เหนื่อย
จากนั้นพ่อค้าแม่ขายไม่รู้จากไหนได้นำเสนอสินค้ามาเสนอขาย จนเจ้าหน้าที่เทศกิจต้องออกมาไล่ แต่เมื่อไม่เห็นเจ้าหน้าที่ก็กลับมาอีก พวกเราต้องหลบเข้ามายืนรอภายในตลาด ทำให้ได้เรียนรู้ว่าพวกแม่ค้าเคลื่อนที่เร็วเหล่านี้ไม่สามารถเข้ามาขายภายในตลาดได้ เวลาขึ้นรถแต่ละคนได้เล่าประสบการณ์ของตนในการซื้อของ ไกด์ที่นำทางบอกว่า “ไม่ต้องอ้างว่าใครซื้อได้ถูกกว่า แต่ให้ถือว่าเราได้ทำบุญช่วยคนเวียดนาม” ทำให้พวกเรารู้สึกสบายใจขึ้นและยังพูดติดตลกด้วยว่า “เดี๋ยวนี้เวียดนามพัฒนามีจานดาวเทียมในการค้าขายแล้ว พวกเขาสามารถจับพิกัดที่พักของเราได้ และจะตามมาขายให้ถึงที่” และจริงดังพูดเมื่อรถยนต์เราถึงโรงแรมที่พัก พวกแม่ค้าเหล่านี้ก็เดินทางมาถึงพอดี



การล่องเรือชมแม่น้ำไซ่ง่อน หลังจัดข้าวของเข้าห้องพัก พวกเราได้ถือโอกาสแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ โอกาสวันเกิดครบ 73 ปีล่วงหน้า เนื่องจากพระคุณเจ้าไม่สบายทำให้ไม่สามารถไปล่องเรือกับพวกเราตามกำหนดการได้ พวกเราจึงเดินทางไปยังท่าเรือเบ่งเกวยตามลำพัง เพื่อรับประทานอาหารเย็นและล่องเรือชมทัศนียภาพของนครโฮจิมินต์ยามค่ำคืน ได้ดื่มด่ำกับเสียงเพลง “ลอยกระทง” และ “กุหลาบแดง” ที่จัดให้คณะของพวกเราเป็นพิเศษ นอกเหนือจากรสชาติอาหารเวียดนามบนเรือที่อร่อยและประทับใจ ก่อนจะเดินทางกลับที่พัก เป็นการสิ้นสุดภารกิจของวันนี้



Don Daniele        เรื่อง/ภาพ
Le Duy Hotel, HCMC, VIETNAM
July 30, 2015

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ดาหลัด เมืองวิมานในฝัน


เวียดนามภาคใต้
(บันทึกการเดินทางไปแสวงบุญเวียดนามใต้ 27-31 กรกฎาคม 2015)
4.         ดาหลัด เมืองวิมานในฝัน
ถ้าถามคนเวียดนามว่า เมืองใดของเวียดนามที่น่าเที่ยวมากที่สุดสำหรับคนหนุ่มสาวหรือคู่รักที่เพิ่งจะครองรักกันใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เมืองดาหลัด โดยเฉพาะคู่แต่งงานที่ต้องการไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ หรือต้องการสถานที่และบรรยากาศที่โรแมนติกที่สุด เพื่อเติมเต็มความรักให้เบ่งบานยิ่งขึ้นแล้วละก็ เมืองนี้ใช่เลย น่าจะเป็นเมืองวิมานในฝันสำหรับคู่รักทั้งหลาย ที่อยากมาเยือนสักครั้งในชีวิต
ดาหลัด เป็นเมืองที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีทัศนียภาพที่สวยงามแตกต่างจากเมืองอื่นในเวียดนาม จึงไม่แปลกที่ดาหลัดเป็นเมืองตากอากาศของชาวฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม ที่มักหนีความร้อนอบอ้าวมาพักผ่อนที่เมืองนี้ จนได้ชื่อว่า ปารีสน้อย (Le Petit Paris)”, เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิชั่วนิรันดร์ (City of Eternal Spring)”, เมืองแห่งความรัก (City of Love)”, รวมถึง เมืองแห่งดอกไม้ เนื่องจากเป็นแหล่งที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับและผักที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม


ดาหลัด ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ประมาณ 310 กิโลเมตร ในช่วงสงครามไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายเดินทางมาดาหลัดเพื่อพักผ่อนและฟื้นฟูจิตใจมากกว่า หรือหาข่าวฝ่ายตรงข้าม ต่างจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ดาหลัดจึงยังคงรักษาสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งคฤหาสน์และอาคารรัฐบาลสไตล์ฝรั่งเศส ถือเป็นเมืองตากอากาศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง อาทิ อาสนวิหารดาหลัด สวนพฤกษชาติ น้ำตกดาตัลลา ตำหนักฤดูร้อนของพระเจ้าเบาได๋ หุบเขาแห่งความรักฯลฯ
 
อาสนวิหารดาหลัด คณะของเราเริ่มต้นเช้าวันใหม่วันที่สาม (29 กรกฎาคม 2015) ด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณ ณ อาสนวิหารดาหลัด เพื่อเป็นการขอบคุณและขอพรจากพระเจ้าก่อนจะเริ่มภารกิจของวันนี้ อาสนวิหารแห่งนี้รู้จักกันดีในชื่อ “โบสถ์ไก่” เนื่องจากบนหลังคามีกังหันจับทิศทางลมรูปไก่ติดอยู่ สร้างในช่วงปี ค.ศ. 1931-1942 (พ.ศ. 2474-2485) นับเป็นโบสถ์หลังแรกและเก่าแก่ที่สุดของเมืองดาหลัด มีหอระฆังสูงตระหง่านมองเห็นได้จากระยะไกล
ภายในอาสนวิหารสูงโปร่งและสวยงาม โดยเฉพาะรูปเสาที่รองรับฐานโค้งของโครงหลังคาทั้งสองข้าง มีหน้าต่างเป็นกระจกสีรูปนักบุญต่างๆ ฝีมือหลุยส์ บาลเมต์ แห่งเมืองเกรอะน๊อบ ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นศูนย์กลางของคริสตชนเวียดนามในดาหลัดและชาวฝรั่งเศสที่มาตากอากาศ ตรงข้ามกลางถนนซึ่งเป็นสามแยก มีรูปแกะสลักพระเยซูเจ้านายชุมพาบาลที่ดี ยืนอุ้มแกะหันหน้ามายังอาสนวิหาร
สวนพฤกษชาติดาหลัด ถือเป็นแหล่งพักผ่อนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในเมืองดาหลัด ที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งดอกไม้ เนื่องจากมีไม้ดอกหลากสีนานาพันธุ์กว่า 300 ชนิด ที่อวดโฉม รูปทรงและสีสันแปลกตา ทั้งจากดาหลัดเอง ภูมิภาคอื่นของเวียดนาม และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพืชเมืองหนาว เนื่องจากดาหลัดมีอุณหภูมิที่เย็นตลอดปี  เหมาะสำหรับการปลูกพืชทุกชนิด
ในสวนพฤษชาติดาหลัด มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต มีการจัดสวนหย่อม โรงเรือน ซุ้มไม้ดอกไม้ประดับ และประติมากรรมสัมฤทธิ์สำหรับถ่ายรูปมากมาย สำหรับคนที่ชื่นชอบดอกไม้และการถ่ายรูป คงเต็มอิ่มกับการหามุมสวยๆ เพื่อเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ไกด์บอกพวกเราว่าช่วงนี้เป็นหน้าฝน ดอกไม้จึงไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ หากเรามาช่วงหน้าหนาวดอกไม้จะสวยงามมากกว่านี้


         น้ำตกดาตัลลา อยู่ทางใต้ของดาหลัดราว 5 กิโลเมตร ถือเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในดาหลัด แต่ที่โดดเด่นคือบริการรถรางขนาด 2 ที่นั่งสำหรับนั่งไปชมน้ำตก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเก๋ไก๋ไปอีกแบบ เจ้ารถรางที่ว่านี้ขับไม่ยาก เพียงแค่โยกคันบังคับไปข้างหน้าสำหรับเร่งความเร็วและโยกมาหลังสำหรับเบรก แต่ขากลับรถจะถูกดึงกลับด้วยระบบราง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยบริหารและสามารถสื่อสารบอกวิธีการใช้เป็นภาษาไทยได้

อีกทั้ง ยังมีกระเช้าไฟฟ้านำนักท่องเที่ยวถึงบริเวณน้ำตกโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องชมว่าเวียดนามก้าวหน้ากว่าประเทศไทยมากในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ประเทศของเรามีแหล่งท่องเที่ยงทางธรรมชาติที่สวยงามยิ่งกว่ามากมาย แต่ไม่สามารถจัดสร้างระบบขนส่งที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมได้ จากนั้นได้รับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารบริเวณทางลงน้ำตก
ตอนบ่ายคณะของเราเริ่มด้วยการไปนั่งกระเช้าไฟฟ้า เพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองดาหลัดจากมุมสูง สามารถมองเห็นตัวเมือง โรงเรือนปลูกพืชผัก ทะเลสาบ ป่าสนเขาได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหมอกตามยอดเขาและทิวสน เป็นภาพที่สวยงามมาก ก่อนจะเดินทางต่อไปชมพระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าเบาได๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนาม
ตำหนักฤดูร้อนของจักรพรรดิเบาได๋ สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1933-1938 (พ.ศ. 2476-2481)  โดยใช้วัสดุจากฝรั่งเศสและเวียดนามภาคกลาง ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ทั้งห้องประชุม ห้องทรงงาน ห้องบรรทม ห้องโถง ฯลฯ รวม 26 ห้อง ปัจจุบัน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังคงเก็บรักษาของเดิมไว้ มีเพียงห้องถ่ายภาพที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สวมชุดราชวงศ์ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก


หุบเขาแห่งความรัก อยู่ห่างจากตัวเมืองดาหลัดไปทางเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นหุบเขาที่ห้อมล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนและทิวสน ถือเป็นจุดหมายปลายทางของคู่รักหรือคู่แต่งงานที่มาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์และเติมความรักให้เต็มล้นที่นี่ พื้นที่ของหุบเขาแห่งความรักแบ่งออกเป็น 9 โซน โซนแรกเป็นสวนดอกไม้ รูปสลักหินอ่อน เสาหิน ร้านอาหาร ร้านเช่าชุดถ่ายรูปและสวนสนุก ดูไม่ต่างจากสวนพฤกษชาติดาหลัดเท่าไรนัก
ที่เด่นสุดคือ จุดสูงสุดของหุบเขานี้ ซึ่งจัดเป็นสวนเอเดน มีรูปอาดัมเอวา เสาหินที่ตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมทั้งมีร้านจำหน่ายและแสดงงานฝีมือ ทั้งงานแกะสลักไม้และงานแกะสลักอัญมณีล้ำค่ารูปนกยูงและมังกร ที่ทำจากทองแดง เงิน ทองคำ และเพชรพลอยฝีมือช่างคนไทย จากนั้นคณะของเราได้เดินทางกลับเพื่อรับประทานอาหารเย็นและกลับโรงแรมที่พัก แต่บางท่านถือโอกาสไปเดินตลาดราตรี เพื่อหาซื้อสิ่งของที่สนใจและต้องการ นับเป็นการสิ้นสุดภารกิจของวันนี้
Don Daniele        เรื่อง/ภาพ
Du Parc Hotel, Dalat City, VIETNAM
July 29, 2015

บ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟ


เวียดนามภาคใต้
(บันทึกการเดินทางไปแสวงบุญเวียดนามใต้ 27-31 กรกฎาคม 2015)
3.         บ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟ
วันที่สองของการเดินทาง (28 กรกฎาคม) พวกเราบางคนตื่นแต่เช้าเพื่อไปเล่นน้ำทะเล บ้างเก็บภาพหรือเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าบริเวณชายหาดเมืองหวู่งต่าว ซึ่งสงบสวยงาม มีชาวเวียดนามพาครอบครัวมาเล่นน้ำทะเลและออกกำลังกายยามเช้าจำนวนมาก กล่าวกันว่ามีสามสิ่งที่หายากที่สุดในเวียดนามคือ 1) สุนัข, 2) กระเทย และ 3) คนอ้วน ซึ่งเป็นความจริงทีเดียว ลองกวาดสาตาดูตามถนนและชายหาดตั้งแต่วันแรกไม่พบสามสิ่งที่ว่านี้ จะพบก็แต่พวกเรากันเองซึ่งมีแต่ประเภทช้างน้อยทั้งนั้น
เป้าหมายของการเดินทางวันนี้คือเมืองดาหลัด โดยมีกำหนดการแวะเยี่ยมบ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟเพียงแห่งเดียวที่เมืองชวนล็อก (Xuan Loc) ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เพื่อร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่วัดของบ้านเณรที่ใหญ่โตและสวยงามมาก พร้อมกับสามเณรกลุ่มหนึ่งโดยมีพระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นประธานในพิธีในแบบภาษาอังกฤษปนไทย มีการแปลเป็นภาษาเวียดนามในเวลาที่พระคุณเจ้ากล่าวและเทศน์ ซึ่งพระคุณเจ้าได้ให้ข้อคิดกับสามเณรและพระสงฆ์ที่ร่วมพิธีตอนหนึ่งว่า



“ดิโอเจเนส นักปรัชชากรีกผู้มีชื่อเสียง วันหนึ่งได้จุดตะเกียงเดินไปมาตอนกลางวันแสกๆ คนที่พบเห็นเลยถามว่า เหตุใดท่านจึงจุดตะเกียงกลางวันเช่นนี้ ดิโอเจเนสตอบว่า เพื่อมองหามนุษย์ที่แท้จริงที่ไม่ทุจริตคดโกง ตามความเห็นของดิโอเจเนสในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เหมือนอุปมาเรื่องเมล็ดพันธุ์ดีกับวัชพืชที่ขึ้นปะปนกันตามที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ เราพระสงฆ์และสามเณรต้องดำเนินชีวิตเป็นคนดีท่ามกลางคนไม่ดี ต้องมั่นคงในการทำความดีเพื่อจะได้มีอิทธิพลและเปลี่ยนคนไม่ดีให้กลายเป็นคนดี มิฉะนั้นเราอาจจะถูกคนชั่วดูดกลืนเป็นคนไม่ดีไปด้วย”



บ้านเณรนักบุญยอแซฟชวนล็อก เป็นบ้านเณรใหญ่ของหลายสังฆมณฑลทางภาคใต้ มีสามเณรใหญ่ทั้งปรัชญาและเทววิทยากว่า 400 คน พระสงฆ์ประจำบ้านเณร 20 องค์ และอีก 30 องค์เป็นอาจารย์สอนแต่ไม่ได้พักประจำ หลังมิสซาทางบ้านเณรได้เลี้ยงอาหารเที่ยงคณะของพวกเรา นับเป็นการต้อนรับที่อบอุ่นและประทับใจ พร้อมกับถือโอกาสแสดงความยินดีกับคุณพ่อธีระยุทธ อนุโรจน์และคุณพ่อสุริยา ผันพลี โอกาสครบรอบวันเกิดวันนี้พอดี ก่อนที่พระคุณเจ้าจะกล่าวขอบคุณและมอบปัจจัยสนับสนุนกระแสเรียกและกิจการของบ้านเณร



จากนั้นคณะของพวกเราได้เดินทางมุ่งหน้าสู่ดาหลัด มีการแวะตามจุดพักรถเป็นระยะๆ บางที่ไม่มีจุดพักรถยนต์จึงต้องอาศัยข้างทาง ช่วยรถน้ำต้นกาแฟชาวบ้านข้างทาง หญิงเจ้าของต้นกาแฟออกมาถามไถ่ แต่ไม่ได้ว่าอะไรแถมใจดีนำน้ำชาร้อนๆ มาบริการอีกต่างหาก แม้ระยะทางไปดาหลัดจะไม่ไกลมาก ราว 280 กิโลเมตรแต่ใช้เวลาเดินทางกว่า 6 ชั่วโมง เนื่องจากรถยนต์โดยสารในเวียดนามจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้ง เป็นเส้นทางขึ้นภูเขาเพราะดาหลัดตั้งอยู่บนความสูง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
เวลาที่พวกเราเดินทางถึงดาหลัดแม้จะเป็นเวลามืดค่ำแล้ว แต่สังเกตได้ถึงสีสันยามค่ำคืนของเมืองตากอากาศแห่งนี้ และสัมผัสได้ถึงฤดูกาลซึ่งไกด์ชาวเวียดนามบอกเราว่าวันหนึ่งมี 4 ฤดู หลังรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารซึ่งเคยเป็นที่พักของชาวฝรั่งเศส บริษัททัวร์ที่นำพวกเรามาเวียดนามครั้งนี้ ได้จัดหาเค้กและดอกไม้แสดงความยินดีกับคุณพ่อที่เกิดในวันนี้อีกครั้ง   ก่อนจะเข้าพักที่โรงแรม Du Parc Hotel เป็นการสิ้นสุดภารกิจวันที่สอง




Don Daniele        เรื่อง/ภาพ
Du Parc Hotel, Dalat City, VIETNAM
July 28, 2015