วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รำลึก 25 ปีบวชที่นาบัว


รำลึก 25 ปีบวชที่นาบัว

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2013 ที่จะถึงนี้ อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงกำหนดจัดงานหิรัญสมโภช 25 ปีชีวิตสงฆ์ ให้กับ คุณพ่อเบเนดิกต์ กรไกร พิลาจันทร์ และ คุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ แม้จะช้าไป 3 เดือน แต่ก็ยังดีกว่าไม่จัดอะไรเสียเลย ความจริงแล้วคุณพ่อทั้งสองครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2013 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคาบเกี่ยวกับการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงหน้าที่ในอัครสังฆมณฑล จึงทำให้งานเนิ่นช้ามาจนถึงเดือนสิงหาคม บางท่านรอไม่ไหว จึงถือโอกาสจัดงานแบบส่วนตัวในวัดที่เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ก่อนจะย้ายไปรับหน้าที่ใหม่ ถือเป็นการขอบคุณและอำลาพี่น้องสัตบุรุษไปด้วยในตัว

อัครสังฆมณฑลกำหนดให้จัดงาน 25 ปีชีวิตสงฆ์ที่วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่งในสองนั้นเป็นลูกวัดพระคริสตราชา ช้างมิ่งคือ คุณพ่อกรไกร พิลาจันทร์ ส่วนอีกท่านคือ คุณพ่อชำนาญ บัวขันธ์ เป็นลูกวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว เมื่อนาบัวเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันบวชแล้วเมื่อ 25 ปีก่อน จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะจัดที่ช้างมิ่ง เพื่อเป็นการร่วมความยินดีกับคุณพ่อทั้งสอง จึงขอนำเรื่องราวเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ที่พิมพ์ในหนังสือ 125 ปี คริสตชุมชนนาบัว ค.ศ. 1887-2012” หน้า 43-44 มากล่าวถึงอีกครั้ง

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่วัดนาบัวได้รับมอบหมายจากอัครสังฆมณฑล ให้เป็นเจ้าภาพบวชพระสงฆ์ในปีนั้น  เนื่องจากลูกวัดนาบัวคนหนึ่งได้รับเลือกสรรจากพระเจ้าให้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์คือ สังฆานุกรลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ อีกคนคือ สังฆานุกรเบเนดิกต์ กรไกร พิลาจันทร์ ลูกวัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง พิธีบวชพระสงฆ์มีขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ณ ศาลาประชาคมที่ชาวนาบัวได้ร่วมกันสร้างขึ้นด้วยความยากลำบาก โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ผู้เป็นประมุข

เหตุการณ์วันนั้นนับเป็นความภาคภูมิใจและความยินดีของชาวนาบัวทุกคน เนื่องจากเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านที่วัดนาบัวได้จัดพิธีบวชพระสงฆ์ 2 องค์ และหนึ่งในสองผู้สมัครบวชวันนั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวนาบัวเอง คือคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพ่อชาย-แม่สมเพียร บัวขันธ์ นับเป็นบุตรชายคนที่สองที่ชาวนาบัวมอบถวายแด่พระเจ้า หลังจากที่ได้มอบถวายบุตรชายหัวปีคือ คุณพ่อสุรพงศ์ นาแว่น แด่พระเจ้าเมื่อสี่ปีก่อน (11 พฤษภาคม 1984)
 

พิธีบวชพระสงฆ์วันนั้นนับว่ายิ่งใหญ่มาก นอกจากการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างศาลาประชาคมแล้ว ชาวนาบัวยังได้จัดทำรถบุษบกเป็นรูปดอกบัว สัญลักษณ์ของหมู่บ้านเพื่อใช้แห่สังฆานุกรทั้งสองจากปากทางเข้าหมู่บ้านมายังศาลาประชาคม มีขบวนฟ้อนรำต้อนรับยาวเหยียดโดยกลุ่มเด็ก เยาวชนและแม่บ้านชาวนาบัวกว่าร้อยชีวิต มีบรรดาพระสงฆ์และพี่น้องสัตบุรุษจากหมู่บ้านต่างๆ ในสังฆมณฑลและต่างสังฆมณฑลมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

หลังพิธีบวชพระสงฆ์พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน ประธานในพิธีได้ประกาศแต่งตั้ง คุณพ่อเบเนดิกต์ กรไกร พิลาจันทร์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนาบัว ส่วนคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ยังความชื่นชมยินดีแก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน โดยเฉพาะชาวนาบัวที่นอกจากได้พระสงฆ์องค์ที่สองของหมู่บ้านแล้ว ยังได้ได้คุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาสอีกด้วย

วันรุ่งขึ้น ชาวนาบัวได้ร่วมความยินดีอีกครั้งในพิธีมิสซาแรกของคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ ในวัดไม้ของคุณพ่อโกลาส์ ก่อนจะแห่แหนบุตรชายคนที่สองนี้ไปยังบ้านของคุณพ่อบริเวณหน้าวัดเพื่อผูกข้อต่อแขน อันแสดงถึงความยินดีและความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นตามประเพณีท้องถิ่นอีสาน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญของหมู่บ้านและความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของชาวนาบัว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลาประชาคมที่เคยใช้ประกอบพิธีบวชในวันนั้น ถูกพายุพัดพังเสียหายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) จนต้องรื้อถอนทิ้งไปในปีเดียวกัน
เวลาผ่านไปแล้ว 25 ปี แต่พี่น้องที่ไปร่วมงานในวันดังกล่าวคงจำบรรยากาศในวันนั้นได้ดี โดยเฉพาะพี่น้องชาวนาบัวและช้างมิ่ง การมีพระสงฆ์ใหม่เพิ่มขึ้นย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีเสมอสำหรับพระศาสนจักร แต่ที่น่ายินดีมากกว่าคือ การที่คุณพ่อทั้งสองยังยืนหยัดมั่นคงซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียก และทำงานเพื่อพระศาสนจักรและประชาสัตบุรุษมาจนครบ 25 ปีแห่งชีวิตสงฆ์

จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมโมทนาคุณพระเจ้ากับคุณพ่อทั้งสอง ในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2013 ณ วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง พิธีบูชาขอบพระคุณ โดย พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เวลา 10.00 น. โดยพร้อมเพียงกัน แม้เราจะไม่มีบุตรหลานเป็นพระสงฆ์ แต่การสนับสนุนและภาวนาเพื่อพระสงฆ์ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำ มิใช่หรือ

คุณพ่อเบเนดิกต์ กรไกร พิลาจันทร์
 
 คุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์
 
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
29 กรกฎาคม 2013

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การภาวนาอย่างสม่ำเสมอ


การภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
ปี C
ปฐก 18:20-32
คส 2:12-14
ลก 11:1-13

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะที่นักบุญเบเนดิกต์กำลังขี่ม้าไปตามทาง ท่านได้พบชาวนาคนหนึ่งซึ่งได้พูดกับท่านว่า “งานของท่านช่างสบายจริงนะ ผมอยากเป็นเหมือนท่านบ้าง จะได้ขี่ม้าไปไหนมาไหนตามใจชอบ ไม่ต้องทำอะไร” ท่านนักบุญย้อนถามชาวนาว่า “ท่านคิดว่าการภาวนาเป็นงานที่ง่ายหรือ ถ้าอย่างนั้นสวดบทข้าแต่พระบิดาให้ฟังหน่อยสิ หากสวดจบโดยไม่ติดขัดเลย ท่านจะได้ม้าตัวนี้”

ชาวนาตาเบิกโพลง ยิ้มร่า คิดในใจว่าวันนี้จะได้เป็นเจ้าของม้าแล้ว พร้อมกับพูดว่า “เยี่ยมมาก ท่านคงไม่เปลี่ยนใจนะ” จากนั้นก็หลับตา พนมมือและเริ่มภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์... พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” สวดมาถึงตรงนี้เขาหยุด ลืมตาขึ้นและถามท่านนักบุญว่า “ผมจะได้อานม้าและบังเหียนด้วยไหม” ท่านนักบุญหัวเราะและพูดว่า “ท่านจะไม่ได้อะไร เพราะสวดไม่จบ”

 พระวรสารวันนี้ ได้ทำให้เราทราบถึงบทภาวนาที่เป็นแบบแผนของคริสตชนคือ “บทข้าแต่พระบิดา” ซึ่งเป็นบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้ภาวนาตามแนวทางของศาสนาใหม่ที่พระองค์นำมา เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้โดยง่าย ไม่ใช่ในฐานะพระผู้สร้างที่ทรงสรรพานุภาพ แต่เป็นดัง พ่อ (Abba) หรือบิดาที่ใจดีที่เราสามารถวางใจและพูดกับพระองค์ได้อย่างสนิทใจ โดยปราศจากความกลัวใดๆ

บทข้าแต่พระบิดา เป็นบทภาวนาพิเศษสำหรับคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและมอบไว้ให้ ถือเป็นบทภาวนาที่สำคัญและบอกให้รู้ว่า “คริสตชนเป็นใคร” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการภาวนาของชาวฟารีสีและคนต่างศาสนา ที่เน้นการพูดจายืดยาวและรูปแบบภายนอกให้คนชมเท่านั้น ในบทข้าแต่พระบิดา เราเริ่มต้นด้วยคำว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” คือการที่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ให้เราทราบ และเราตอบรับการเผยแสดงนี้ด้วยความเชื่อ ความวางใจ ความรักและการให้อภัย ซึ่งถือเป็นบทสรุปของพระวรสารทั้งหมด

1.     การภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

การภาวนาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตคริสตชน เราต้องภาวนาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ท้อถอย (เทียบ ลก 18:1) ต้องออกแรงและทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด คงเหมือนกับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการผ่านการสอบ แต่ไม่ยอมอ่านหนังสือหรือเตรียมสอบอย่างดี การสวดขอพระเจ้าคงไม่ช่วยอะไร เพราะพระองค์จะไม่ช่วยคนที่ไม่ช่วยตนเอง การภาวนาและการออกแรงทำงานต้องไปด้วยกัน และพระองค์จะสดับฟังคำภาวนาของเราอย่างแน่นอน

เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย ปิตาจารย์ของพระศาสนจักร กล่าวว่า “การภาวนาเป็นการสนทนากับพระเจ้า” ที่แสดงออกถึงความเชื่อและความวางใจในพระเจ้า ผู้เป็นท่อธารแห่งพระพรนานัปการ ดังนั้น การภาวนาจึงไม่ใช่การพูดข้างเดียว ไม่ใช่การส่งเสียงในความมืด แต่เป็นการสนทนาโต้ตอบกัน (Real dialogue) ระหว่างเรากับพระเจ้า

เมื่อพูดถึงการภาวนา เรามักจะคุ้นเคยกับการวอนขอ “จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิดแล้วท่านจะพบ จงเคาะเถิดแล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” (ลก 11:9) ตามที่เราได้ยินในตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าได้แสดงให้เราเห็นว่า พระบิดาเจ้าสวรรค์เป็นองค์แห่งความดีบริบูรณ์และทรงความเมตตากรุณา ที่พร้อมจะประทานสิ่งดีๆและจำเป็นแก่บุตรของพระองค์ทุกคนเสมอ

การภาวนาไม่ใช่การรบเร้าพระเจ้าให้ประทานตามที่เราต้องการ แต่เป็นลักษณะของบุตรที่วอนขอสิ่งที่พระบิดาทรงประสงค์จะประทานให้ ความจริงพระองค์ทรงทราบล่วงหน้าก่อนที่เราจะขอด้วยซ้ำ เงื่อนไขก็คือ “จงขอ... จงแสวงหา... จงเคาะ...” เพราะเมื่อเราขอ พระเจ้าจะทรงสดับฟังคำวอนขอของเรา  เมื่อเราแสวงหาพระเจ้า เราก็จะพบพระองค์ และเมื่อเราเคาะประตูบ้านของพระเจ้า พระองค์ก็จะทรงเปิดรับเรา

2.     บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ประการแรก เราต้องภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พระเยซูเจ้าทรงสอนและมอบแบบอย่างแก่เราในเรื่องการภาวนา ซึ่งเป็นการติดต่อกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิดแบบพ่อกับลูก ให้เราได้ภาวนาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการภาวนาเป็นการช่วยให้ความเชื่อศรัทธาของเรามีชีวิต และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์เพราะชีวิตของเราขึ้นอยู่กับพระเจ้า เราจึงต้องภาวนาโดยไม่หยุดหย่อนเพื่อจะได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระองค์

ประการที่สอง เราต้องให้อภัยความผิดของกันและกัน โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น นี่คือเงื่อนไขและเครื่องหมายสำคัญของการเป็นคริสตชน ดังนั้น พระศาสนจักรจึงให้เราสวด บทข้าแต่พระบิดา ในพิธีบูชาขอบพระคุณก่อนจะรับศีลมหาสนิท เพื่อเตือนใจเราว่าทุกคนเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน เป็นพี่น้องกันโดยไม่แบ่งแยกและได้ให้อภัยความผิดของกันและกันแล้ว หากเรายังไม่ยอมรับว่าทุกคนเป็นพี่น้องและไม่ให้อภัยกันอย่างสนิทใจ ก็เท่ากับว่าเราสวด บทข้าแต่พระบิดา ไม่จบ

ประการที่สาม เราต้องภาวนาร่วมกัน การภาวนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตครอบครัวและหมู่คณะ ครอบครัวใดที่ภาวนาร่วมกันจะไม่มีวันแตกแยก เราต้องหาเวลาภาวนาร่วมกันเพื่อขอบคุณพระเจ้าและวอนขอพระพรอันจำเป็นเพื่อกันและกัน ให้เราปฏิบัติตามคำแนะนำของนักบุญยอห์น มารีย์เวียนเน “ใช้เวลา 3 นาทีในการสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่เรามี ใช้เวลา 3 นาทีในการขอสมาโทษสำหรับบาปที่เรากระทำและวอนขอสิ่งที่เราต้องการ ใช้เวลา 3 นาทีในการอ่านพระคัมภีร์และฟังพระองค์ในความเงียบ และทำเช่นนี้ทุกวัน”

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ใน “บทข้าแต่พระบิดา” พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เรารู้ว่า ทุกคนมีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน ที่ต่างเป็นบุตรและเป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสอนให้เรารู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน เราแต่ละคนล้วนเป็นคนบาป อ่อนแอและบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น แต่ยังสามารถเรียกพระเจ้าว่าเป็น “บิดาของเรา” เมื่อพระเจ้าได้ทรงอภัยบาปของเราอย่างไม่สิ้นสุด เราจึงต้องให้อภัยซึ่งกันและกันด้วย

ประการสำคัญ พระเยซูเจ้าได้ให้ความมั่นใจกับเราว่า “แม้ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดีๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่วอนขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ” (ลก 11:13) ดังนั้น “จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ” เพราะคำภาวนาสามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้และไม่มีคำภาวนาใดที่พระเจ้าไม่ทรงตอบรับ มิใช่การภาวนาที่ทำให้พระเจ้าเปลี่ยนใจ แต่การภาวนาได้เปลี่ยนตัวเราและทำให้เราได้ยินพระองค์ ดังนั้น จงมั่นคงและภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
25 กรกฎาคม 2013

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนจากผึ้ง ข้อคิดจากการได้ฟังพระเทศน์


บทเรียนจากผึ้ง ข้อคิดจากการได้ฟังพระเทศน์
นานมาแล้วที่ไม่ได้เข้าวัด (พุทธ) และฟังพระเทศน์แบบตัวเป็นๆ เคยแต่ได้อ่านหนังสือธรรมะจากพระนักเทศน์หรือฟังจากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่มากมายตามยุคตามสมัย จะมีเหตุให้เข้าวัดบ้างตามโอกาสก็เพื่อดูความสวยงาม ความร่มรื่น โบราณวัตถุหรือโบราณสถานที่วัดเหล่านั้นครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งมีวัดที่สำคัญและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากมายตามภูมิภาคต่างๆ แต่ไม่มีโอกาสได้ฟังคำเทศนาของพระเลยสักครั้ง

ในอดีตเคยฟังเทปพระพยอม กัลยาโน ที่เทศนาแบบแหวกแนว ปนเสียงฮา สนุกๆ ถึงลูกถึงคนและเข้าใจง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่ สมัยนี้ก็ต้องพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ที่ทำให้ทุกคำพูดเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เป็นพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนารุ่นใหม่และนักบรรยายธรรมที่ทุกคนรู้จัก อย่างรายการ “ธรรมะเดลิเวอร์รี่” หรือ “หลวงพี่มาแล้ว” มีผลงานการบรรยายธรรมเผยแพร่ใน YouTube และเป็นนักเขียนที่ผลิตผลงานและหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอ


เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556 ได้มีโอกาสไปทำบุญและฟังเทศน์โอกาสวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่วัดโนนสวรรค์ (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนนัก) พร้อมกับตัวแทนครูและนักเรียนโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ ทำให้ได้ฟังคำเทศนาของพระมหาทอง วัดมหาธาตุยโสธร ที่เดินทางมาวัดวันนั้นพอดีจึงได้รับเชิญให้ขึ้นธรรมมาสน์เทศนา โดยหยิบยกคุณสมบัติของผึ้งมาเป็นบทเรียนสำหรับคณะครูและนักเรียนที่ไปในวันนั้น เห็นว่ามีแง่คิดหลายอย่างที่เป็นประโยชน์จึงนำมาแบ่งปันและถ่ายทอดอีกครั้ง

พระมหาทอง เริ่มเทศนาด้วยคติที่ว่า “คนขี้เกียจเหมือนแมลงวัน คนขยันเหมือนแมลงผึ้ง” พร้อมกับหยิบยกเอาคุณสมบัติ 5 อย่างของผึ้งมาเป็นบทสอน นั่นคือ
1)      ขยันหากิน
2)      บินไม่สูงนัก
3)      รักความสะอาด
4)      ฉลาดสะสม
5)      นิยมสามัคคี


ขยันทำกิน ผึ้งจะออกจากรังหากินแต่เช้า ไม่ขี้เกียจหรือผัดวันประกันพรุ่ง เหมือนนักเรียนที่ตื่นแต่เช้ามาโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ตั้งใจฟังคุณครูสอน สิ่งไหนไม่เข้าใจยกมือถาม ขยันอ่านหนังสือ ทำการบ้านและทบทวนสิ่งที่เรียนมา ใช้ทุกเวลานาทีให้เกิดประโยชน์และรู้คุณค่า ไม่ปล่อยให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

บินไม่สูงนัก ผึ้งจะบินไม่สูงเพราะต้องแสวงหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ซึ่งอยู่ในระดับพื้นดิน การบินในระดับต่ำทำให้พบเป้าหมายได้ง่าย เหมือนนักเรียนที่ไม่ตั้งความหวังไว้สูงหรือมีความทะเยอทะยานจนเกินฐานะ เช่นบางคนไม่ยอมไปโรงเรียน หากไม่ได้ iPhone 5 หรือมีมอร์เตอร์ไซด์ขับไปโรงเรียน


รักความสะอาด ผึ้งจะแสวงหาแต่แหล่งอาหารที่สะอาดและไม่เป็นพิษ (เกสรดอกไม้) เช่นเดียวกับนักเรียนที่ตื่นเช้ามาล้างหน้า แปรงฟันและอาบน้ำให้ตัวเองสะอาด รักษาความสะอาดทั้งภายนอกและภายในเพื่อจะได้เป็นที่รักของทุกคน ความสะอาดภายนอกคือเสื้อผ้าหน้าผมต้องสะอาดเรียบร้อย ความสะอาดภายในคือใจที่ปราศจากความอิจฉาริษยาและความเห็นแก่ตัว มีน้ำใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ฉลาดสะสม ผึ้งชอบสะสมน้ำหวาน เลือกเอาเฉพาะส่วนที่หวานที่สุดของเกสรดอกไม้ เรานักเรียนต้องรู้จักสะสมความรู้ ความรู้ได้จากห้องสมุดและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทุกคนที่เราพบ ทุกสิ่งที่เราเห็นสามารถเป็นครูและให้ความรู้เราได้ ดังนั้น เราต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต และบันทึกเอาไว้เพื่อกันลืม ทั้งนี้ก็เพราะว่า “ความจำที่ดีที่สุด ยังสู้หมึกเลือนๆ หยดหนึ่งไม่ได้”


นิยมสามัคคี ผึ้งแต่ละตัวต่างรู้หน้าที่และร่วมแรงร่วมใจกันในการทำหน้าที่ของตน บ้างหาอาหาร บ้างทำรัง บ้างตีปีกเพื่อไล่อากาศเสียและนำอากาศดีเข้ามาในรัง เราต้องสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนผึ้ง มีรุ่นพี่รุ่นน้อง รุ่นพี่ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือรุ่นร้อง รุ่นน้องก็ต้องให้ความเคารพรุ่นพี่

ทีสุด พระมหาทอง ได้เน้นย้ำให้คณะครูและนักเรียนจดจำคำสอนและนำบทเรียนจากผึ้ง ไปปฏิบัติในชีวิต อีกทั้ง ขอให้เทียนที่นำมาถวายได้ช่วยส่องสว่างดวงตาแต่ละคนให้เห็นธรรม เพื่อชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรือง “สว่างตาด้วยแสงไฟ สว่างใจด้วยแสงเทียนแสงธรรม” สาธุ!


อนึ่ง ในการจัดกิจกรรมวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในปีนี้ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ได้รับการบริจาคปัจจัยไทยทานจากบรรดาผู้ปกครอง คณะครูและนักเรียนเป็นจำนวนมาก โดยจัดแบ่งไปทำบุญที่วัดสามัคคีธรรมบัวขาว (แผนกอนุบาล), วัดโนนสวรรค์ (แผนกประถม) และวัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพหนองห้าง (คาทอลิก) ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

คุณพ่อขวัญ  ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
21 กรกฎาคม 2556

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การลำดับความสำคัญก่อนหลัง


การลำดับความสำคัญก่อนหลัง

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา
ปี C
ปฐก 18:1-1
คส 1:24-28
ลก10:38-42

บทนำ

ดร. เจมส์ รว๊บ (Dr. James Rueb) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้กล่าวถึงเรื่องการลำดับความสำคัญก่อนหลังว่า หากแบ่งสิ่งที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์ออกเป็น ลำดับ 1-2-3 คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาทั้งหมดในชีวิตกับสิ่งสำคัญลำดับที่สาม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ อย่างแรกเลย ลำดับที่สามง่ายที่จะทำให้สำเร็จ และอย่างที่สอง สร้างความภาคภูมิใจแก่ตนเองว่ากำลังทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จจริงๆ

ในความเป็นจริง เราสรวลอยู่กับสิ่งที่เป็นความสำคัญระดับรองตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้สาระ หาแก่นสารไม่ได้ และไม่เคยใส่ใจหรือไปถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า นี่คือบทเรียนสำคัญที่เราได้จากเรื่องราวของมารีย์และมารธา “อย่าปล่อยให้สิ่งที่ดี (ลำดับรอง) เข้ามาแทนที่สิ่งที่ดีที่สุด (ลำดับแรก)” ซึ่งสิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียวและมารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุด

หัวเรื่องสำคัญของบทอ่านวันนี้คือ การลำดับความสำคัญก่อนหลัง ชีวิตคริสตชนจะต้องแยกให้ได้ว่า “อะไรควรมาก่อน อะไรควรมาหลัง” ซึ่งกุญแจสำคัญของการลำดับความสำคัญก่อนหลังในชีวิตคริสตชนคือ พระคริสตเจ้าต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด วิธีเดียวที่เราจะเข้าใจบทเรียนนี้คือการใช้เวลาทุกวันเฉพาะพระพักตร์พระองค์ ต้อนรับและฟังพระองค์ก่อนการลงมือทำอย่างอื่น

1.  การลำดับความสำคัญก่อนหลัง

พระวรสารบอกให้เราทราบอย่างชัดเจนว่า มารธาเป็นหญิงที่เอาใจใส่เรื่องการบ้านการเรือน คงไม่ใช่งานง่ายนักที่จะจัดเตรียมอาหารสำหรับคน 13 คน ที่ประกอบด้วยพระเยซูเจ้าและอัครสาวกทั้งสิบสอง มารธากระวนกระวายในการเตรียมสำรับกับข้าว ขณะที่มารีย์นั่งอยู่แทบเท้าพระเยซูเจ้า คอยฟังพระองค์ตรัสสอน มารธาจึงบ่นกับพระองค์ถึงความประพฤติไม่เหมาะสม 2 อย่างของน้องสาว อย่างแรก ตามธรรมเนียมยิวผู้หญิงจะไม่ไปนั่งฟังคำเทศน์สอนของอาจารย์ชาวยิว (รับบี) และอย่างที่สอง งานของผู้หญิงคืองานบ้าน เตรียมอาหารอยู่ในครัว

พระเยซูเจ้าได้ใช้โอกาสดังกล่าว บอกให้เราทราบถึงสิ่งที่สำคัญโดยตรัสกับมารธาว่า “สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว” (ลก 10:42) พระเยซูเจ้ามิได้ตำหนิมารธาถึงสิ่งที่เธอทำ เพราะหากไม่มีใครเตรียมอาหาร พระองค์และบรรดาสาวกคงหิวโซ แต่พระองค์ทรงเตือนมารธาและช่วยให้เธอได้ค้นพบความหมายของชีวิตว่า เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์คือ การเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น” (ลก 4:4) “อาหารของเราคือ การทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 4:34)

“มารธา” เปรียบได้กับคริสตชนที่มากด้วยพลัง  ชอบทำกิจกรรมทุกอย่าง เช่น การอบรม สัมมนา หรือจาริกแสวงบุญที่โน่นที่นี่ ไม่ชอบชีวิตสงบเงียบและภาวนาอยู่ที่บ้าน ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ พวกเขาไม่เข้าใจและรับไม่ได้ที่เห็นคนอีกกลุ่มเอาแต่รำพึงภาวนาอยู่ในอาราม หรือเฝ้าศีลอยู่ในวัด ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่สังคม “มารีย์” เปรียบได้กับคนกลุ่มนี้

พระดำรัสที่ว่า มารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุด (ลก 10:42) มิได้หมายความว่าพระเยซูเจ้าทรงตัดสินว่ามารีย์เป็นฝ่ายถูก พระองค์เพียงต้องการบอกว่า มารีย์รู้และเข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ในชีวิตประจำวันของเราจะต้องหลอมรวมกิจกรรมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งงานหน้าที่ความรับผิดชอบภายนอก และการมาวัดวันอาทิตย์ ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติตาม ดังคำกล่าวของนักบุญเบอร์นาร์ดที่ว่า “คนที่ทำงานก็เหมือนคนที่ภาวนายกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าด้วยแขนทั้งสองของเขา”

2.  บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชน ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันหลายประการ

ประการแรก เราต้องเติมพลังชีวิตฝ่ายจิตของเราทุกวัน ให้เวลากับพระเจ้าเป็นลำดับแรก ในการภาวนาส่วนตัวหรือหมู่คณะ การอ่านพระคัมภีร์และฟังพระวาจาของพระองค์ และตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางเรา เป็นต้นในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เรามาร่วมทุกอาทิตย์ มารธาและมารีย์มีความยินดีในการเสด็จมาเยี่ยมของพระเยซูเจ้า คนหนึ่งแสดงออกด้วยการเตรียมอาหารต้อนรับ อีกคนแสดงออกด้วยการฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสสอน ทั้งสองต่างแสดงให้เห็นถึงความรักของตนที่มีต่อพระองค์

ประการที่สอง การงานและการภาวนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคริสตชนที่ขาดไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องมีที่สำหรับพระเจ้าในงานของเรา มีเวลาทำงานและมีเวลาภาวนามาหาพระ หากเราจัดลำดับสองสิ่งนี้ในชีวิตประจำวันของเราอย่างเหมาะสม ก็เท่ากับว่าเราได้แปลเปลี่ยนพระวาจาของพระเจ้าให้เป็นกิจการ เรากำลังเขียนพระวรสารของแต่ละวันด้วยชีวิตและกิจการที่เรากระทำ วัดและหมู่คณะของเราต้องการคนที่มีพลังเช่นนี้ในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม

ประการที่สาม เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีเช่นเดียวกับมารีย์ สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยปัญหาและความขัดแย้งเพราะไม่มีใครฟังใคร เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีทั้งที่บ้านและที่ทำงาน มารธาคือตัวแทนของคนที่กระตือรือร้นทำโน่นทำนี่จนไม่มีเวลาว่างที่จะเงียบและฟังพระเจ้า คู่ชีวิต เพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่บุตรหลานของตน บางทีฟังแต่ได้ยิน จึงมีคำพูดที่ว่า “ความรักเริ่มที่บ้านและเริ่มจากการฟัง” ยิ่งเราฟังใครคนหนึ่งมากเท่าใด ความรักยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่านั้น

ประการสุดท้าย เราต้องรับใช้พระเจ้าด้วยความเพียรพยายามเช่นเดียวกับมารธา บุคคลสำคัญและยิ่งใหญ่ของโลกมาจากคนที่ตระหนักว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ: โทมัส อัลวา เอดิสัน ต้องทำการทดลองกว่าพันครั้งกว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟได้เป็นครั้งแรกของโลก, โนอา เว็บสเตอร์ ต้องทำงานด้วยความเพียรอดทนกว่า 36 ปีจึงสามารถพิมพ์พจนานุกรมเว็บสเตอร์ได้เป็นฉบับแรก, ชิเชโรต้องฝึกพูดกับเพื่อนทุกวันเป็นเวลา 30 ปีจึงกลายเป็นนักพูดฝีปากกล้า ในการทำงานรับใช้พระเจ้าเราต้องทุ่มเท กระตือรือร้นและเพียรพยายามเช่นเดียวกัน

บทสรุป      

พี่น้องที่รัก พระคริสเจ้าคือศูนย์กลางแห่งชีวิตคริสตชน พระองค์ปรารถนาจะเป็นแขกของกลุ่มคริสตชน ของครอบครัวและของเราแต่ละคน เราจะต้องเชื้อเชิญพระองค์ทุกวัน เพื่อว่าพระองค์จะได้ประทับอยู่กับเราเสมอ ทั้งในเวลาของความยินดีและความยากลำบาก ไม่มีสิ่งไหนที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตคริสตชนของเราเท่ากับการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเรา

“สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว” นั่นคือ การอยู่กับพระคริสตเจ้า ฟังพระองค์ทุกวัน ผ่านทางพิธีบูชาขอบพระคุณที่เรามาร่วมทุกวันอาทิตย์ ในการภาวนาร่วมกัน ทั้งในกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน หมู่คณะและครอบครัวของเรา ให้เราช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเราอีกครั้ง โดยเริ่มจากตัวเรา ครอบครัวและหมู่คณะของเรา ในความรักต่อกันและทัศนคติเชิงบวกที่มองเห็นพระคริสตเจ้าในผู้อื่น เช่นนี้เอง สันติสุขของพระคริสตเจ้าจะบังเกิดขึ้นในใจเรา ครอบครัวและหมู่คณะของเรา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
19 กรกฎาคม 2013

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เราต้องเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดี


เราต้องเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดี

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา
ปี C
ฉธบ 30:10-14
คส 1:15-20
ลก10:25-37

บทนำ

บ๊อบ บัตเลอร์ ได้สูญเสียขาทั้งสองข้างเพราะเหยียบกับระเบิดในสงครามเวียดนามในปี ค.ศ. 1965 และเดินทางกลับบ้านเยี่ยงวีรบุรุษ หลังจากนั้นยี่สิบปีเขาได้พิสูจน์ความเป็นวีรบุรุษนี้อีกครั้ง วันหนึ่งขณะที่เขากำลังทำงานในโรงรถของเขาที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐอลิโซนา เขาได้ยินเสียงกรีดร้องจากในบ้านที่อยู่ใกล้ๆ เขารีบรุดไปยังบ้านหลังนั้นด้วยรถเข็นคู่ชีพ เมื่อไปถึงสระน้ำ เขาพบเด็กหญิงวัยสามขวบคนหนึ่งกำลังจมน้ำ เธอไม่มีแขนทั้งสองข้าง คงพลัดตกลงไปและว่ายน้ำไม่เป็น แม่ของเธอยืนกรีดร้องปิ่มว่าจะขาดใจ

บัตเลอร์กระโจนลงไปในสระนำเด็กหญิงนั้นกลับขึ้นมา หน้าเธอซีด ชีพจรไม่เต้นและไม่มีลมหายใจแล้ว เขารีบทำการผายปอดเพื่อช่วยชีวิต ขณะที่แม่เด็กรีบโทรศัพท์ไปที่หน่วยฉุกเฉินแต่ไม่มีใครอยู่เลย เธอรู้สึกสิ้นหวัง ซบไหล่เขาและสะอื้นไห้ เขาบอกเธอว่า “อย่ากังวลไปเลย ผมได้อุ้มเธอขึ้นมาจากน้ำ เป็นแขนให้เธอ ไม่เป็นไรแล้ว ตอนนี้ผมกำลังเป็นปอดให้เธอ เราต้องทำได้” ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น เด็กหญิงสำลัก รู้สึกตัวและเริ่มร้องไห้ แม่ของเด็กหญิงสวมกอดเขาด้วยความยินดี

แม่ของเด็กถามบัตเลอร์ว่าทราบได้อย่างไรว่า “จะไม่เป็นไร” เขาบอกเธอว่า ความจริงคือเขาไม่รู้ แต่เมื่อขาทั้งสองข้างของเขาขาดเพราะแรงระเบิด ไม่มีใครอยู่บริเวณนั้นนอกจากเด็กหญิงชาวเวียดนามคนหนึ่ง เธอพยายามลากเขาเข้าไปในหมู่บ้านและกระซิบที่หูว่า “ไม่เป็นไรแล้ว คุณยังไม่ตาย หนูจะเป็นขาให้คุณ” คำพูดนี้ทำให้เขามีความหวังและพยายามที่จะทำเช่นเดียวกันกับเด็กหญิงคนนี้ มีบางครั้งในชีวิตที่เราไม่สามารถยืนโดยลำพัง เราต้องการชาวสะมาเรียผู้ใจดี เราต้องการใครสักคนที่เป็นแขน เป็นขาและเป็นเพื่อนเรา

1.  เราต้องเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดี

นักกฎหมายได้ถามคำถามพื้นฐานทางศาสนาคำถามหนึ่งกับพระเยซูเจ้าว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” ในคำตอบพระเยซูเจ้าได้นำความสนใจของนักกฎหมายไปที่พระคัมภีร์ นั่นคือ “รักพระเจ้าและแสดงออกในการรักเพื่อนมนุษย์” แต่สำหรับนักกฎหมายคำว่า “เพื่อนมนุษย์” หมายถึงนักกฎหมายหรือชาวฟาริสีด้วยกัน มิใช่ชาวสะมาเรียหรือคนต่างศาสนา และขอให้พระองค์ขยายความคำว่าเพื่อนมนุษย์ พระองค์จึงได้ตรัสคำอุปมาเรื่อง “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี” ให้เขาฟัง

ในจำนวนคำอุปมาของพระเยซูเจ้า  คำอุปมาเรื่อง “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี” ถือเป็นคำอุปมาที่งดงามและเกี่ยวข้องกับภาคปฏิบัติมากที่สุด  ถือเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้าก็ว่าได้  และได้ให้คำตอบต่อปัญหาของนักกฎหมาย 2 ข้อด้วยกัน

1)        ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า คำตอบของคำอุปมาคือ ใครก็ได้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สำหรับชาวยิวถือเป็นสิ่งที่สะดุดอย่างมาก เพราะพวกเขาจะช่วยเฉพาะชาวยิวด้วยกันเท่านั้น   เช่น ถ้าในวันสะบาโตเกิดมีกำแพงล้มทับคน เขาจะขุดรากพอให้ดูรู้ว่าคนเจ็บเป็นยิวหรือต่างชาติ  ถ้าเป็นยิวเขาจะได้รับการช่วยชีวิต แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติจะถูกทิ้งให้ทนทุกข์ต่อไป

2)        ข้าพเจ้ามีหน้าที่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนอย่างไร คำตอบของคำอุปมาคือ จงมีความสงสารที่สำแดงออกในรูปของการช่วยเหลือ คงไม่ต้องสงสัยว่าทั้งสมณะและชาวเลวีได้เกิดความสงสารคนบาดเจ็บเจียนตาย แต่เขาไม่ได้กระทำอะไรที่แสดงความสงสารออกมาในรูปของการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมเลย

2.  บทเรียนสำหรับเรา

คำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจได้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ประการแรก เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น (แม้จะเกิดจากความผิดพลาดของเขาเอง)  เราเห็นชัดว่าคนที่บาดเจ็บเป็นคนประมาท เดินทางโดยลำพังในเส้นทางที่อันตราย เส้นทางจากเยรูซาเล็มสู่เยรีโคคือเส้นทางสู่บ้าน วัด โรงเรียนและที่ทำงานที่เราพบคนที่ถูกโจรปล้น ถูกกดขี่และเดือดร้อนที่ต้องการความช่วยเหลือเสมอ บางที่อาจเป็นในบ้านของเราเองที่เราพบคนกำลัง “บาดเจ็บ” เพราะคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ ดุด่า เฉยเมยเย็นชา หรือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เกินขอบเขตของเรา เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์คือ ให้เราแสดงความรักต่อผู้อื่น

ประการที่สอง การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนคือหลักปฏิบัติสำคัญอันดับแรก เราเห็นสมณะมีใจจดจ่อกับการปฏิบัติหน้าที่ตามจารีตพิธีในพระวิหาร ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องการเป็นมลทินอย่างเคร่งครัด จนลืมความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  เราได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นคนใจกว้าง ใจดีและมีเมตตากรุณาต่อผู้ที่กำลังเดือดร้อน รอยยิ้ม คำทักทาย คำพูดที่ให้กำลังใจและคำขอบคุณที่จริงใจ สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจคนเหล่านี้ได้

ประการที่สาม เราต้องช่วยเหลือคนเดือนร้อนแม้ว่าจะต้องเสี่ยง ชาวเลวีไม่ยอมเสี่ยง เพราะเกรงว่าตนเองจะติดร่างแหไปด้วย  เหตุผลที่เราไม่กล้าเสี่ยงเพราะไม่อยากเดือดร้อน คิดคำนวณดูแล้วไม่คุ้ม ทำให้เสียงาน เสียเวลาและเสียเงิน  แต่พระเยซูเจ้าสอนเราว่า อย่าชั่งน้ำหนัก อย่าคำนวณ แต่จงยอมแพ้ต่อความรัก และถือทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา เพราะทุกคนต่างเป็นฉายาของพระเจ้าและได้รับการไถ่ด้วยพระโลหิตของพระองค์เหมือนกัน

ประการสุดท้าย เราต้องเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดี  ที่กระทำในสิ่งที่คนเคร่งศาสนา ชื่อเสียงดี มีเกียรติภูมิไม่ทำกัน เขาเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีชื่อ เป็นคนต่างถิ่นที่เดินทางตามลำพัง ไม่ได้มีทรัพย์สินมาก  แต่ ตาของเขาช่างสังเกต และหัวใจของเขาเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า เขาเป็นคนแปลกหน้า แต่ได้ช่วยเหลือคนบาดเจ็บและทำตัวเป็นผู้ดูแลดุจพี่น้อง เขาตีความพระบัญญัติประการที่ 5 อย่าฆ่าคนว่าหมายถึง ท่านต้องทำสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ต่อไป

บทสรุป      

พี่น้องที่รัก ขอให้เราดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยการเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดี ที่มีดวงตาและหูที่เปิดกว้าง โดยมีเข็มทิศแห่งความเมตตาเป็นเครื่องนำทาง ยอมให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า เพื่อเราจะตัดสินได้ว่า มีสิ่งไหนที่เราสามารถทำได้ ในอันที่จะช่วยคนที่ เกือบสิ้นชีวิต ที่เราพบในแต่ละวันได้มีชีวิตอยู่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเห็นแก่ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

ที่สุด ขอให้คำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า จงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด ปลุกเร้าหัวใจเราให้ทำเช่นเดียวกัน การเป็นคริสตชนไม่เพียงรู้ถึงความรักของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แต่ต้องแสดงความรักนี้ออกมาในภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่เดินผ่านเลยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพี่น้องที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่ใจได้ว่า เส้นทางสายชีวิตนิรันดร ได้เปิดกว้างอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
12 กรกฎาคม 2013