วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พุธรับเถ้า วันเริ่มต้นการชำระตน

 พุธรับเถ้า วันเริ่มต้นการชำระตน 
วันพุธรับเถ้า
เทศกาลมหาพรต
1 มีนาคม 2017
ยอล 2:12-18
2 คร 5:20; 6:2
มธ 6:1-6, 16-18
บทนำ
วันพุธรับเถ้า เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต ถือเป็นช่วงเวลาแห่ง การอธิษฐานการภาวนา (Praying) การจำศีลอดอาหาร (Fasting) และ การให้ทาน (Alms Giving) ซึ่งเป็นการเตรียมสำหรับการเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าหรือสมโภชปัสกา วันนี้จึงเป็นวันเริ่มต้น 40 วันแห่งการเลียนแบบพระเยซูเจ้า ที่ทรงจำศีลอดอาหารในถิ่นทุรกันดารและได้รับการทดลองจากปีศาจ ดังนั้น คริสตชนแต่ละคนต้องเลียนแบบพระเยซูเจ้าตลอด 40 วันนี้
เถ้าเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการใช้โทษบาปและการสำนึกผิด เตือนใจเราถึงความไม่เหมาะสมของเราเมื่อยู่ต่อหน้าพระเจ้า อีกทั้ง เตือนใจเราให้ตระหนักว่าพระเจ้าทรงความความเมตตากรุณา ต่อผู้ที่เรียกหาพระองค์ด้วยดวงใจที่สำนึกผิด เราแต่ละคนต่างเป็นคนบาปและได้รับการเรียกให้กลับใจมาหาพระเจ้า การโรยเถ้าบนศีรษะจึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการเป็นทุกข์กลับใจ เสียใจในบาปและความผิดที่ตนเองได้กระทำ
พุธรับเถ้า วันเริ่มต้นการชำระตน
พุธรับเถ้า ถือเป็นวันเริ่มต้นการชำระตนให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากบาป สวมใส่จิตใจใหม่ขององค์พระคริสตเจ้าโดยมีเถ้าเป็นเครื่องหมาย เป็นเวลาแห่งการอธิษฐานภาวนา การจำศีลอดอาหาร และการให้ทานเป็นพิเศษ ซึ่งพระศาสนจักรถือเป็น 3 เสาหลักที่สำคัญในการถวายเกียรติและรับใช้พระเจ้าตลอด 40 วันในเทศกาลมหาพรต โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมจิตใจเราสำหรับการเฉลิมฉลองการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
ประการแรก อธิษฐานการภาวนา เป็นการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้า ยกความคิดและจิตใจของเราขึ้นหาพระเจ้าและสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ เราต้องให้เวลามากขึ้นในการอธิษฐานภาวนาตลอดเทศกาลมหาพรตนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เราเข้าไปในห้องหรือสถานที่สงัดเงียบ ปิดประตูและอธิษฐานภาวนาถึงพระบิดาเจ้าแบบส่วนตัว เพราะพระองค์ทรงล่วงรู้ทุกสิ่งและประทานบำเหน็จให้เรา พึงระลึกว่า “การอธิษฐานภาวนาที่สม่ำเสมอ ช่วยให้เรามีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า”
ประการที่สอง การอดอาหาร เป็นเครื่องช่วยให้เรารู้จักบังคับและควบคุมแตนเอง อีกทั้ง ช่วยให้เราอธิษฐานภาวนาได้ดียิ่งขึ้น ความรู้สึกหิวเตือนใจเราให้กระหายหาพระเจ้า และใส่ใจต่อผู้ที่กำลังหิวโหยเนื่องจากความขัดสน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่อยุติธรรม รวมถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในลักษณะต่างๆ อีกทั้ง ช่วยให้เราได้ตระหนักถึงความทุกข์ยากลำบากที่ผู้คนในโลกกำลังเผชิญอยู่ ประการสำคัญ เราต้องสำนึกเสมอว่า “การอดอาหารที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า”
ประการสุดท้าย การให้ทาน เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพระเจ้าที่ได้ประทานทุกสิ่งแก่เรา เป็นเครื่องหมายว่าเราใส่ใจต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกทั้ง แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ถ่อมตน สำนึกผิด และเมตตาต่อผู้อื่น อันเกิดจากการเจริญชีวิตและความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้น การให้ทานเป็นกิจการแห่งความรักและเป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ของศิษย์พระคริสต เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ที่กำลังเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ มิใช่เพื่อหวังให้คนเห็นหรือยกย่อง
บทสรุป
พี่น้องที่รัก เถ้าที่เราได้รับการโปรยวันนี้ เป็นเครื่องหมายของการกลับใจมาหาพระเจ้าและการเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ละทิ้งกิจการชั่วร้ายและนิสัยไม่ดีต่างๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่และสวมใส่ดวงใจขององค์พระคริสตเจ้า เพื่อเตรียมจิตใจของเราสำหรับการสมโภชปัสกา และกลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเจ้า
ขอให้เราได้ใช้ช่วงเวลาตลอด 40 วันในเทศกาลมหาพรตนี้ ในการปฏิบัติกิจศรัทธา ประกอบกิจเมตตา และทำบุญให้ทานมากกว่าที่เคยกระทำ โดยไม่หวังให้ใครชม แต่เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนพี่น้อง ด้วยการช่วยเหลือแบ่งปันกันสุดความสามารถ เพื่อว่า เทศกาลมหาพรตในปีนี้จะได้เป็นช่วงเวลาของการ “มาหาพระ” เป็นเวลาของการได้พบพระเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้อง อย่างแท้จริง
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
28 กุมภาพันธ์ 2017

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สารวัดป่าพนาวัลย์, ปีที่ 2 ฉบับที่ 94

Text Box:  สารวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์

ปีที่ 2  ฉบับที่ 94,  อาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560):  http.//dondaniele.blogspot.com

เลขที่ 187 หมู่ที่ 5 บ้านป่าพนาวัลย์ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47230È086-231-3231

รา
สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา
การประชุมกลุ่มคริสตชนพื้นฐานประจำเดือนกุมภาพันธ์
พี่น้องที่รัก ผู้คนในสังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยความหวาดกลัว วิตกทุกข์ร้อน และกังวลใจในหลายสิ่งหลายอย่าง แต่สำหรับเราคริสตชน เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างและผู้ไถ่ของเรา พระองค์ทรงเป็นองค์แห่งความดีบริบูรณ์ ที่ทรงดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูประชากรของพระองค์ ดังนั้น เราจึงควรวางใจในพระองค์  มอบฝากทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
พระเจ้าทรงเชื้อเชิญและเลี้ยงดูเราด้วยพระวาจาที่ทรงชีวิตและพระกายที่นำความรอดของพระองค์ ในพิธีบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ ให้เราได้ตอบสนองและร่วมในพิธีบูชานี้ด้วยความเชื่อไว้ใจ และให้พระองค์เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเรา ให้เราได้กราบขอสมาโทษพระองค์หากเรายังวางใจในสิ่งอื่นภายนอกมากกว่าพระองค์
 การประชุมกลุ่มคริสตชนพื้นฐานที่บ้านนายสมพร วงโพนทอง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2017
บทอ่านที่หนึ่ง ประกาศกอิสยาห์ได้ให้กำลังใจประชากรอิสราแอล ด้วยการให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่าพระเจ้าจะไม่ทอดทิ้งพวกเขา โดยนำเสนอพระเจ้าเป็นดังแม่ที่รักลูก แม้หญิงเหล่านี้จะลืมลูกของนางได้ แต่พระเจ้าจะไม่มีวันลืมเรา สิ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งเจ็บปวดมากที่สุดคือ การถูกลืมดังนั้น ให้เราไปเยี่ยมและช่วยเหลือคนที่ถูกทอดทิ้ง
บทอ่านที่สอง เปาโลได้แสดงให้เห็นว่า ท่านและผู้ร่วมงานของท่านเป็น ผู้รับใช้ ของพระคริสตเจ้า และ ผู้จัดการ เกี่ยวกับธรรมล้ำลึกของพระเจ้า ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่น่าไว้ใจได้สำหรับพันธกิจที่พระองค์ทรงมอบหมาย และไม่ตัดสินเรื่องใดๆ ก่อนจะถึงเวลา มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็นผู้ตัดสินเที่ยงธรรม เพราะพระองค์ทรงทราบถึงส่วนลึกในจิตใจของเรา
พระวรสาร พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงปลุกเร้าเราให้หลีกเลี่ยงความหวาดกลัวและความกังวลเกี่ยวกับสิ่งภายนอกทุกอย่าง แล้วมอบชีวิตของเราในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์ เพราะเรามีความสำคัญและคุณค่ายิ่งใหญ่ต่อหน้าพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้างเรามาตามฉายาของพระองค์ สิ่งที่เราควรทำคือ วางใจในพระองค์
 การประชุมพลมารีย์เปรซิเดียมแม่พระแห่งภูเขาการแมล อาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2017
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1)     ขอบคุณพี่น้องที่ภาวนาให้สำหรับการไปสอนพระคัมภีร์เณรใหญ่ลาว มีเณรใหญ่ชั้นปีเทววิทยาจำนวน 8 คน และปรัชญา 5 คน ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย
2)     วันพุธที่ 1 มีนาคม 2017 วันพุธรับเถ้า เริ่มต้นเทศกาลมหาพรต เทศกาลแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน
3)     วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2017 วันศุกร์ต้นเดือน ส่งศีลมหาสนิทคนป่วยและผู้สูงอายุ และเดินรูปสิบสี่ภาค
4)     วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2017 พิธีบวชสังฆานุกร ขวัญชัย นาอุดม ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
5)     วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2017 พิธีบูชาขอบพระคุณรับศีลหมาสนิทครั้งแรก และพิธีโปรดศีลกำลัง โดย พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เวลา 10.00 น.
6)     วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2017 ขอเชิญร่วมฉลองวัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก พิธีบูชาขอบพระคุณ โดยพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เวลา 10.00 น.
7)     ประกาศศีลสมรส: ระหว่างยวงวิสันต์ พวงเพชร บุตรเปโตรวีระวัฒน์-อันนานิรันดร์ พวงเพชร กับมารีอาจิราภรณ์ วงโพนทอง บุตรียอห์น บั่ปติสต์สมพร วงโพนทอง-มารีอาลัดดา ซงพล ทั้งสองจะเข้าพิธีศีลสมรส วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2017 ประกาศครั้งที่ 2
8)     เงินทานวันอาทิตย์ (19 กุมภาพันธ์) มิสซาเช้า จำนวน 1,118.- บาท มิสซาเย็น 230.- บาท รวม 1,348.- บาท
 บรรยากาศการสอนพระวรสารสหทรรศน์เณรใหญ่ลาว วันที่ 20-24 กุมภาพันธ์  2017
ที่บ้านเณรใหญ่ ยวง มารีย์ เวียเนย์ ท่าแขก สปป ลาว
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
วันอาทิตย์
26
10.00 น.
19.30 น.
สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา
†สุขสำราญ พี่น้องชาวป่าพนาวัลย์

จันทร์
27
18.30 น.
สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

วันอังคาร
28
18.30 น.
สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

วันพุธ
1
18.30 น.
วันพุธรับเถ้า อดเนื้ออดอาหาร

วันพฤหัสบดี
2
18.30 น.
วันพฤหัสบดี หลังวันพุธรับเถ้า

วันศุกร์
3
18.30 น.
วันศุกร์ หลังวันพุธรับเถ้า
วันศุกร์ต้นเดือน มีการส่งศีลมหาสนิทคนป่วยและผู้สูงอายุ
วันเสาร์
4
18.30 น.
วันเสาร์ หลังวันพุธรับเถ้า



 บรรยากายามเย็นริมแม่น้ำโขง เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป ลาว


วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชาวสะมาเรียผู้ใจดี

ชาวสะมาเรียผู้ใจดี
คำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี เป็นคำอุปมาที่ให้แนวทางปฏิบัติและให้คำตอบต่อปัญหาในการดำเนินชีวิตมากที่สุด  เป็นต้นความรอดสำหรับชนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิว อันเป็นจุดประสงค์ของลูกาและมีเพียงลูกาคนเดียวเท่านั้นที่บันทึกเรื่องนี้ไว้
1.   ฉากของเรื่อง
ฉากของเรื่องนี้เกิดขึ้นบนถนนสายเยรูซาเล็มไปเมืองเยรีโค  ถนนสายนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นเส้นทางอันตรายสำหรับคนเดินทาง  เนื่องจากเยรูซาเล็มเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,300 ฟุต  ส่วนเมืองเยรีโคตั้งอยู่ใกล้ทะเลตาย ซึ่งเราทราบว่าทะเลตายอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1,300 ฟุต 
ถนนสายนี้จึงเป็นถนนที่ดิ่งจากระดับความสูง 3,600 ฟุต ระยะทางประมาณ 20 ไมล์ หรือ 32 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวและแคบจึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสำหรับโจรในการหลบซ่อนและปล้นสะดมคนเดินทางผ่านไปมา  ในศตวรรษที่ 5 เชอโรม บอกว่าถนนสายนี้ยังคงเรียกกันว่า ทางสีแดงหรือทางเลือด  แม้ในสมัยปัจจุบันคนเดินทางยังต้องจ่ายเงินเพื่อขอความคุ้มครอง
2.   บุคคลในเรื่อง
คนแรก คนเดินทางที่ได้รับบาดเจ็บ อาการสาหัส เกือบสิ้นชีวิต  เราเห็นอย่างหนึ่งคือเขาเป็นคนประมาทและไม่ระมัดระวังตัว  รู้ทั้งรู้ว่าถนนสายนี้เป็นเส้นทางโจรแต่ยังเดินทางคนเดียว  ปกติจะไม่มีใครทำอย่างนั้น
คนที่สอง สมณะหรือปุโรหิต  ซึ่งมีหน้าที่ในการถวายเครื่องบูชาในพระวิหาร  ในรอบหนึ่งปีมีสมณะที่ทำหน้าที่ 24 ชุด  แต่ละชุดจะทำหน้าที่รับใช้ในพระวิหาร 2 ครั้งๆ ละ 1 สัปดาห์  สมณะที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่มีอยู่ในเมืองเยรีโคหลายคน  ดังเช่นสมณะที่กล่าวถึงในเรื่อง
สมณะคนดังกล่าวคงจะกำลังเดินทางไปทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาในพระวิหาร เมื่อเหลือบไปเห็นชายบาดเจ็บ จึงเดินข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งแล้วเดินจากไป  ด้วยกลัวว่าตัวเองจะเป็นมลทิน เพราะชาวยิวมีข้อห้ามว่า ผู้ที่แตะต้องคนตายจะเป็นมลทินอยู่ 7 วัน (กดว 19:11) ซึ่งจะทำให้เขาพลาดการอยู่เวรประจำสัปดาห์ในพระวิหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต 
เขาอาจจะรู้สึกสงสารคนที่บาดเจ็บ แต่ไม่แน่ใจว่าตายหรือยัง จึงไม่กล้าไปตรวจดูเพราะถ้าเกิดชายคนนั้นตายขึ้นมาจริงๆ การไปแตะต้องศพจะทำให้เขาเป็นมลทิน ไม่สามารถทำหน้าที่ในพระวิหารได้  เท่ากับว่าสมณะคนดังกล่าวถือเอาเรื่องการทำหน้าที่ในพระวิหาร สำคัญยิ่งกว่าเสียงเรียกร้องแห่งมนุษยธรรม
คนที่สาม ชาวเลวี ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ในพระวิหารเช่นกัน กิริยาอาการของเขามีความแตกต่างจากสมณะอยู่บ้าง  เขาเดินผ่านมา และดูเหมือนจะหยุดดูอยู่แวบหนึ่ง ก่อนรีบร้อนเดินจากไปยังอีกฟากหนึ่ง คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้คือ เขาคิดว่าโจรใช้คนเป็นเหยื่อล่อทำเป็นบาดเจ็บ หากหลงกลยอมช่วยเหลืออาจจะถูกปล้นได้  เขาเห็นว่า “เป็นการเสี่ยงมากเกินไป” แม้ว่าอยากจะช่วยก็ตาม
คนสุดท้าย ชาวสะมาเรีย ซึ่งเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว  ทั้งๆ ที่แต่เดิมเป็นชนชาติเดียวกัน  หลังสิ้นกษัตริย์ซาโลมอน อาณาจักรอิสราแอลได้แตกแยกออกเป็น 2 อาณาจักรคือ อาณาจักรเหนือ มีเมืองหลวงอยู่ที่สะมาเรีย และอาณาจักรใต้มีเมืองหลวงคือ เยรูซาเล็ม 
ปี 722 ก่อน ค.ศ. อาณาจักรเหนือได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอัสซีเรีย ได้มีการกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยและนำคนต่างชาติเข้ามาอยู่แทน  พวกที่เหลืออยู่ได้แต่งงานกับคนต่างชาติและหันไปนับถือรูปเคารพของชนต่างชาติ  ชาวยิวทางใต้จึงถือว่าพวกนี้ไม่มีเลือดยิวบริสุทธิ์
ต่อมาปี 587 ก่อน ค.ศ. อาณาจักรใต้ได้ประสบชะตากรรมเดียวกัน และถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน แต่พวกเขายังคงรักษาความเป็นชาติและศาสนาของตนอยู่  เมื่อเปอร์เซียรบชนะบาบิโลน ได้ปลดปล่อยชาวยิวกลุ่มนี้ให้กลับไปสร้างเมืองและพระวิหารที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ (ในสมัยเอสราและเนหะมีย์) 
ชาวสะมาเรียได้เสนอตัวที่จะช่วยเหลือแต่กลับถูกปฏิเสธอย่างดูแคลน เพราะในสายตาของชาวยิวถือว่าชาวสะมาเรียได้เสียสิทธิ์ความเป็นยิวแล้ว  ตั้งแต่นั้นมาทั้งชาวยิวและชาวสะมาเรียก็เป็นศัตรูที่มีความขมขื่นต่อกัน 
ในพระวรสารเราจึงได้ยินเรื่องที่ยากอบและยอห์น ทูลขอไฟจากฟ้ามาเผาพลาญหมู่บ้านชาวสะมาเรีย ที่ไม่ยอมให้ที่พักและต้อนรับพระเยซูเจ้า เมื่อรู้ว่าพระองค์เป็นยิว คือกำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม  ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้านำชาวสะมาเรียเข้ามาในเรื่อง ผู้ฟังรู้ได้ทันทีว่า “ผู้ร้าย” ได้เข้ามาในฉากแล้ว
อันที่จริง เป็นการยากอยู่เหมือนกันที่จะบอกว่าเขาเป็นชาวสะมาเรียโดยเชื้อชาติ แต่สิ่งที่เราทราบอย่างแน่นอนคือ เขาเป็นพ่อค้านักเดินทาง เพราะเขาได้แวะพักที่โรงแรมเป็นประจำ จนคนในโรงแรมจำได้และเชื่อถือว่าเขาจะกลับมา  คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าชายคนนี้เป็นชาวสะมาเรียจริง เขาไปทำอะไรที่กรุงเยรูซาเล็ม ทั้งนี้เพราะชาวยิวไม่คบค้ากับชาวสะมาเรีย  จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวสะมาเรียจะมาทำธุรกิจที่กรุงเยรูซาเล็ม
คำว่า ชาวสะมาเรีย ในที่นี้จึงเป็นคำที่ใช้แสดงความเกลียดชังและเหยียดหยามคนที่ละเมิดบทบัญญัติและคนนอกศาสนา  ใครที่ไม่รักษาธรรมบัญญัติจะถูกตราหน้าว่าเป็น ชาวสะมาเรีย คำอุปมานี้ได้วาดภาพคนเคร่งศาสนาว่าเดินผ่านไปยังถนนอีกฟากหนึ่ง ขณะที่คนนอกรีตที่เขาชิงชังว่าเป็นคนบาป เป็นคนเดียวที่ช่วยชายบาดเจ็บไว้
3.  คำตอบของคำอุปมา
ในจำนวนคำอุปมาทั้งหมดของพระเยซูเจ้า  คำอุปมานี้เกี่ยวข้องกับภาคปฏิบัติมากที่สุด  อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้าก็ว่าได้  และได้ให้คำตอบต่อปัญหาของนักกฎหมาย 2 ข้อด้วยกัน
ข้อแรก ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า คำตอบของคำอุปมานี้คือ ใครก็ได้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สำหรับชาวยิวแล้วเป็นสิ่งที่สะดุดอย่างมาก เพราะพวกเขาจะช่วยเฉพาะชาวยิวด้วยกันเท่านั้น 
ตัวอย่าง กฎวันสะบาโตข้อหนึ่งกำหนดว่า ถ้าในวันสะบาโตเกิดมีกำแพงล้มทับคน ควรมีการขุดรากพอให้ดูรู้ว่าคนเจ็บเป็นยิวหรือต่างชาติ  ถ้าเป็นยิวเขาจะได้รับการช่วยชีวิต แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติจะถูกทิ้งให้ทนทุกข์ต่อไป
เราทำเช่นนี้บ้างหรือเปล่ากับเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันหรือกับสัตบุรุษที่เราดูแล  ช่วยเฉพาะพวกพ้อง พี่น้องของเรา คนที่เรารู้จักชอบพอ หรือคนที่มีผลประโยชน์สำหรับเรา กี่ครั้งที่เราได้เดินผ่านคนที่ทุกข์ยาก เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ โดยอ้างว่า คนเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรา
ข้อสอง คำอุปมานี้ได้ให้คำตอบที่เป็นนัยต่อคำถามที่ว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนอย่างไร คำตอบก็คือ จงมีความสงสารที่สำแดงออกในรูปของการช่วยเหลือ  ไม่ต้องสงสัยว่าทั้งสมณะและชาวเลวีได้เกิดความสงสารคนบาดเจ็บ แต่เขาไม่ได้กระทำอะไรที่แสดงความสงสารออกมาในรูปของการช่วยเหลือ
นักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา ได้กล่าวเอาไว้ว่า ความเชื่อในภาคปฏิบัติคือ ความรัก และความรักในภาคปฏิบัติคือ การรับใช้ การช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนจึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม
4.  บทเรียนสำหรับเรา
ประการแรก เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าเขาจะประสบความเดือดร้อนเพราะความผิดพลาดของเขาเอง  เราเห็นชัดว่าคนเดินทางที่บาดเจ็บเป็นคนประมาท เดินทางคนเดียวลำพังในเส้นทางที่รู้ดีอยู่แล้วว่าอันตราย  ในความเป็นจริง ไม่มีใครดีพร้อม ไม่เคยผิดพลาดเลย เราเองเป็นคนบาปคนหนึ่ง ผิดพลาดเป็นประจำ  บางครั้งความผิดพลาดนั้นหนัก เกือบสิ้นชีวิต ในสภาพเช่นนี้แหละที่เราต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคน การพึงพาช่วยเหลือกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ประการที่สอง การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเป็นหลักปฏิบัติสำคัญอันดับแรก เราเห็นสมณะมีใจจดจ่อกับการปฏิบัติหน้าที่ตามจารีตพิธีในพระวิหาร ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดเรื่องการเป็นมลทิน จนลืมความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ศาสนาสำหรับเขาจึงเป็นแต่เพียงการถือปฏิบัติตามจารีตพิธีอย่างครบถ้วนไม่มีที่ติ  แต่ขาดมิติของชีวิตคือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้อง
แน่นอนว่าความรับผิดชอบต่อการงานหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญ การถือตามระเบียบกฎเกณฑ์เป็นสิ่งจำเป็น  แต่บางครั้งเราต้องยอมทิ้งสิ่งเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม เพราะนั่นคือพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราขณะนั้น  
ประการที่สาม เราต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนแม้ว่าจะต้องเสี่ยง  ชาวเลวีไม่ยอมเสี่ยงเพราะเกรงว่าตนเองจะติดร่างแหไปด้วย  หากหมอไม่ยอมช่วยคนไข้เพราะกลัวติดโรคจะไม่มีการรักษาเกิดขึ้น  แต่หมอทั้งหลายยอมเสี่ยง  เราเป็นหมอฝ่ายวิญญาณ เป็นบุรุษแห่งความเมตตา ที่บวชมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือ
เหตุผลหนึ่งที่เราไม่กล้าเสี่ยง เป็นเพราะเราไม่อยากเดือดร้อนไปด้วย คิดคำนวณดูแล้วเห็นว่าไม่คุ้ม ทำให้เราเสียงาน เสียอารมณ์ เสียเวลา ที่สำคัญคือ เสียเงิน  แต่พระเยซูเจ้าสอนเราว่า อย่าชั่งน้ำหนัก อย่าคำนวณ แต่จงยอมแพ้ต่อความรัก
ประการสุดท้าย บทเรียนและแง่คิดของชาวสะมาเรีย  ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวสะมาเรียโดยเชื้อชาติที่ชาวยิวถือว่าเป็นคนบาป หรือเป็นคนนอกรีต คนใช้ชีวิตเสเพล ที่ไม่ถือตามบทบัญญัติ ชื่อเสียงไม่ดี ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ  แต่เขาได้กระทำในสิ่งที่คนเคร่งศาสนา ชื่อเสียงดี มีเกียรติภูมิไม่ทำกัน
พระเยซูเจ้าทรงบรรยายว่าเขาเป็นคนที่ช่วยเหลือชายบาดเจ็บที่เกือบสิ้นชีวิต  เขากระทำในสิ่งที่ให้ชีวิต  เข้าไปหาชายบาดเจ็บ ปลอบโยน พันแผลให้ ช่วยพยุงขึ้นหลังสัตว์ เป็นธุระจัดการเรื่องที่พัก และจัดหาคนดูแล
เขาปรากฏตัวขึ้นอย่างคนธรรมดาที่ไม่มีชื่อ ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งอำนาจ ที่จะช่วยให้เขาได้รับสิทธิพิเศษ  เขาเป็นคนต่างถิ่นที่เดินทางตามลำพัง ไม่ได้มีทรัพย์สินมาก ไม่มีสิ่งใดนอกจากถุงอานม้าและสัตว์ที่เขาขี่มา  แต่ ตาของเขาช่างสังเกต และหัวใจของเขาเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า
เขาได้กระทำในสิ่งที่เล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่ ด้วยการเดินไปหาคนที่บาดเจ็บ เขารู้สึกสงสารและรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของคนบาดเจ็บคนนี้  การที่ต้องดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทำให้แผนการของเขาหยุดชะงัก รวมทั้งโครงการทั้งหมดของเขา  แต่ความห่วงใยในชีวิตของผู้อื่นที่กำลังตกอยู่ในอันตรายมีความสำคัญเหนือแผนการของเขา
เขาเป็นคนแปลกหน้า มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือชาติพันธุ์ที่บังคับให้เขาต้องทำอย่างนั้น  แต่เขาได้ช่วยเหลือคนบาดเจ็บและทำตัวเป็นผู้ดูแลดุจพี่น้องของเขา  เขาตีความพระบัญญัติประการที่ 5 อย่าฆ่าคน ว่าหมายถึง ท่านต้องทำสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ต่อไป
ในความเป็นจริงไม่ว่ายุคใด คนอย่างชาวสะมาเรียได้กระทำในสิ่งที่น่ายกย่อง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อสังคม ประเทศชาติ และพระศาสนจักร  จึงขอให้กำลังใจพวกเราทั้งหลาย เป็นต้นคนที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกมองว่าไม่ดี อย่าได้ท้อใจ เพราะพระเจ้าทรงเลือกคนบาปเช่นนี้แหละให้ทำในสิ่งที่คนดีไม่ทำ เพื่อจะได้เข้าใจคนบาปด้วยกันและชักนำพวกเขาให้กลับมาหาพระเจ้า
บทสรุป       
ชาวสะมาเรียผู้ใจดีคือภาพที่ชัดเจของ “พระเยซูเจ้า ชาวสะมาเรียผู้ยิ่งใหญ่” ผู้เสด็จมาเพื่อตามหาคนบาป ช่วยเหลือคนทุกข์ยากเดือดร้อน และยอมรับความตายบนไม้กางเขนเพื่อช่วยทุกคนให้รอด ให้เราก้าวเดินไปพร้อมกับพระองค์ ในเส้นทางแห่งการรับใช้ที่เราได้เลือก ด้วยดวงตาและหูที่เปิดกว้าง โดยมีเข็มทิศแห่งความเมตตาเป็นเครื่องนำทาง
ให้เรายอมให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเยซูเจ้า เพื่อเราจะตัดสินได้ว่ามีสิ่งไหนที่เราสามารถทำได้ เพื่อทำให้คนที่ เกือบสิ้นชีวิต ที่เราพบในชีวิตประจำวันได้มีชีวิตอยู่ต่อไป เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ รู้จักแบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่นลำบากเดือดร้อน ทั้งนี้เพราะ “หัวใจที่มีความสุขมากที่สุดคือ หัวใจที่เต้นเพื่อผู้อื่น”
ขอให้คำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า จงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด ปลุกเร้าหัวใจของเรา ให้ทำเช่นเดียวกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่ใจได้ว่า เส้นทางสายชีวิตนิรันดรได้เปิดกว้างอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว  ปัญหาก็อยู่ตรงที่ว่า เราจะเลือกเดินตามเส้นทางสายนี้หรือไม่
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
Majus Seminarium, J.M. Vianne, Thakhaek
23 กุมภาพันธ์ 2017

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร
นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร เป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดของนักบุญเปาโล และผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวก ที่เล่าถึงการประกาศข่าวดีของบรรดาอัครสาวกในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะของนักบุญเปโตรและเปาโล ลูกาเป็นคนที่มีความรู้สูงเนื่องจากมีอาชีพเป็นนายแพทย์ และมีความสามารถหลายอย่าง เช่น การวาดภาพ ที่มีชื่อเสียงคือภาพวาดแม่พระ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิหารแม่พระ (Santa Maria Maggiore) ที่กรุงโรม ลูกาจึงได้ชื่อเป็นองค์อุปถัมภ์ของนายแพทย์ ศิลปิน และจิตกร
ลูกาเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด เกิดที่เมืองอันทิโอก (กจ 11:19-21) ประเทศซีเรีย  ในครอบครัวคนต่างศาสนา ภายหลังได้กลับใจเป็นคริสตชน เป็นศิษย์ของอัครสาวก และกลายเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของนักบุญเปาโลในการประกาศข่าวดี (กจ 16:10) ได้ร่วมเดินทางไปกับเปาโลในการเดินทางไปแพร่ธรรมครั้งที่สาม (กจ 20:5-21:16) ในการไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่โตรอัส มิเลทัส เอเฟซัส ไทระ และเชซาเรีย อีกทั้งได้อยู่กับเปาโลในการเดินทางที่ยากลำบากตอนถูกส่งตัวไปกรุงโรมในฐานะนักโทษ  และต้องเผชิญกับเรือแตกที่มอลต้า (กจ 27:1-28:14)
 ลูกาได้ช่วยงานของเปาโลที่กรุงโรม ซึ่งเปาโลได้เขียนจดหมายถึงฟิเลโมนว่าลูกาเป็นเพื่อนร่วมงานของท่านคนหนึ่ง (ฟม 24) และในคำทักทายและคำอวยพรในจดหมายเขียนถึงชาวโคโลสี  (คส 4:14) ในห้วงเวลาที่เปาโลถูกคุมขังครั้งที่สองที่กรุงโรม ลูกาได้อยู่กับท่านและน่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานคนเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากการพลีชีพเป็นมรณสักขีของเปาโล ลูกาเปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้าและได้อุทิศตนรับใช้องค์พระเจ้าโดยไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าได้พลีชีพเป็นมรณสักขีในวัย 84 ปี ที่โบเอโอเทีย (Boeotia) มีวันฉลองตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม
ลูกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพราะได้เขียนพระวรสารฉบับที่สาม ระหว่าง ค.ศ. 70-80 ใกล้กับเมืองอาเคอา (Achea) ใกล้กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ลูกาแตกต่างจากผู้นิพนธ์พระวรสารท่านอื่น เนื่องจากท่านไม่ใช่ชาวยิว แต่เป็นชาวอันติโอกที่กลับใจ เป็นคนชั้นสูงที่มีการศึกษาเนื่องจากเป็นนายแพทย์ และเขียนพระวรสารท่ามกลางวัฒนธรรมกรีก ท่านได้รับรู้เรื่องราวของพระเยซูเจ้าจากเปโตร และประสบการณ์งานอภิบาลจากเปาโล
เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria: 150-215 A.D.) แตร์ตูเลียน (Tertulian: 160-240 A.D.) และออริเจน (Origen: 186-254 A.D.) กล่าวว่าลูกาไม่ได้เห็นภารกิจของพระเยซูเจ้าด้วยตาตนเอง แต่ท่านใส่ใจมากในการค้นหาข้อเท็จจริงจากบรรดาอัครสาวกและผู้ที่ได้เห็นองค์พระเจ้า บางธรรมประเพณีถือว่าลูกาเขียนพระวรสารในห้วงเวลาที่ไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่กรีซ ค.ศ. 65 หรือหลังมรณกรรมของเปาโล จากนั้นไม่นานได้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวกซึ่งเป็นภาคต่อของพระวรสาร
จากงานเขียนทั้งสองได้แสดงให้เห็นว่าลูกาเป็นคนที่มีการศึกษาสูง โดยเฉพาะพระวรสารของลูกามีลักษณะเด่นที่การใช้คำและเรียบเรียงอย่างประณีต ถ่ายทอดเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูเจ้าในรายละเอียดมากที่สุด โดยรวบรวมเนื้อหาอย่างระมัดระวังจากแหล่งข้อมูลที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง เพื่อค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์สมัยพระเยซูเจ้า โดยมีจุดประสงค์สำคัญ 5 ประการ:
ประการแรก ต้องการเน้นไปที่คำสอนของพระเยซูเจ้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็น “ความรอดของมนุษยชาติ” (Salvation of mankind) การรับเอากายของพระองค์เป็นศูนย์กลางของพระวัติศาสตร์โลก โดยชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยได้ลำดับวงศ์วานของพระเยซูเจ้าย้อนไปจนถึงอาดัม บรรพบุรุษของมนุษยชาติ (ลก 3:23-38) นั่นคือตั้งแต่สร้างโลก เพื่อบอกให้ทราบว่าการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก 
ประการที่สอง ต้องการบันทึกเรื่องราวในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ของพระเยซูเจ้า (ลก 2:21-51) ซึ่งไม่มีพระวรสารเล่มใดบันทึกไว้ เพื่อย้ำว่าการบังเกิดมาของพระองค์มิใช่นำสันติมาให้ชาวยิวเท่านั้น แต่สำหรับมนุษยชาติ ดังบทเพลงที่ทูตสวรรค์ขับร้อง “สันติจงมีแก่มนุษย์ที่พระองค์โปรดปราน” (ลก 2:14) และบทเพลงที่สิเมโอนกล่าว “เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น ผู้ซึ่งพระองค์ได้จัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” (ลก 2:30-31)
ประการที่สาม ต้องการเน้นให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง และคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม โดยการเสนอภาพความรักที่พระเยซูเจ้ามีต่อคนบาป (ลก 15) ทรงให้อภัยคนบาป (ลก 7:36-50; 15:11-32; 19:1-10) ทรงเมตตาคนยากจนและประณามคนมั่งมีและเอาเปรียบผู้อื่น (ลก 1:51-53; 6:20-26; 12:13-21) ลูกาได้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาของพระเจ้า โดยเฉพาะต่อหญิงคนบาป (ลก 7:37-38) และคนเก็บภาษี (ลก 19:1-10)
ประการที่สี่ ต้องการให้ความสำคัญกับผู้หญิง ซึ่งสมัยนั้นถูกมองข้ามและไม่มีบทบาทในสังคม โดยเน้นบทบาทของแม่พระ การแจ้งข่าวของทูตสวรรค์ การเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ (ลก 1:26-56) และการประสูติของพระเยซูเจ้า (ลก 2:1-20) นอกนั้น ลูกายังได้บันทึกเรื่องราวของหญิงม่าย (ลก 7:11-17; 21:1-4) และบทบาทของผู้หญิงผู้ติดตามพระเยซูเจ้า (ลก 8:1-3) และในหมู่สาวก (ลก 24:10)
ประการที่ห้า ต้องการให้ผู้อ่านทราบว่าข่าวดีของพระเยซูเจ้าเป็นสากล (ลก 4:43) มาถึงคนทุกชาติ ไม่ใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง (ลก 6:17) โดยเน้นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้า ดังปรากฏในคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:25-37) ซึ่งเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้า
ดังนั้น พระวรสารของนักบุญลูกาจึงมีความหมายสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งลูกาได้แสดงพระองค์เป็นความรอดและแสงสว่างสำหรับนานาชาติ โดยอ้างประกาศกอิสยาห์มากกว่าที่มัทธิวและมาระโกอ้าง “แล้วมนุษย์ทุกคนจะเห็นความรอดพ้นจากพระเจ้า” (ลก 3:6) อีกทั้งได้ย้ำคำแนะนำสุดท้ายของพระเยซูเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก “จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47)
นักบุญลูกาได้แสดงให้เราเห็นว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องพร้อมแบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ในการเป็นเครื่องมือแห่งความรักและความเมตตาของพระองค์ในการประกาศข่าวดี และท่านได้เป็นพยานถึงข่าวดีนี้ด้วยชีวิตของท่าน เราแต่ละคนถูกส่งออกไปประกาศข่าวดีนี้เช่นเดียวกัน  ให้เราวิงวอนท่านนักบุญลูกา เพื่อให้เราสามารถเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้นกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
Majus Seminarium, J.M. Vianne, Thakhaek
22 กุมภาพันธ์ 2017