วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

สิทธิพิเศษของมนุษย์


 สิทธิพิเศษของมนุษย์ 

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา
ปี A
อสย 5:1-7
ฟป 4:6-9
มธ 21:33-43

บทนำ

วันหยุดวันหนึ่งพี่น้องสองคนได้ไปทำงานเก็บไข่ในฟาร์ม คนพี่เกิดนึกสนุกจึงพูดกับน้องชายว่า “พี่จะให้เงินแกห้าสิบบาท หากแกยอมให้พี่ตีไข่ที่หน้าผากสามฟอง” น้องคนเล็กทราบดีว่าหากทำเช่นนั้นคงเจ็บปวดและเปรอะเปื้อน แต่ด้วยความอยากได้เงินห้าสิบบาทจึงยอมตามข้อเสนอของพี่ชาย เมื่อพี่ชายใช้ไข่ฟองแรกตีที่หน้าผากเขารู้สึกเจ็บ จากนั้นพี่ชายได้ใช้ไข่ใบที่สองตีที่หน้าผากอีก เขารู้สึกเจ็บปวดยิ่งกว่าครั้งแรก แต่กัดฟันยอมทนเพื่อเงินห้าสิบบาทและบอกให้พี่ชายตีไข่ใบสุดท้าย แต่พี่ชายหัวเราะและเดินจากไป พร้อมกับบอกน้องว่า “พอแค่นี้แหละ แกจะได้ไม่เจ็บตัวเพิ่มและพี่ก็ไม่ต้องเสียเงินห้าสิบบาท”

เรื่องราวของพี่น้องสองคนนี้ฟังดูเป็นเรื่องขบขัน แต่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม นั่นคือ การบิดพลิ้วไม่ถือตามสัญญา ไม่รักษาสัจจะหรือขาดความรับผิดชอบ  มีผู้คนจำนวนมากที่ดำเนินชีวิตเหมือนพี่คนโตเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เอาเปรียบสังคมหรือแม้แต่พระเจ้า เช่นเดียวกับคำอุปมาเรื่องคนเช่าสวนชั่วร้าย ที่แสวงหาประโยชน์และเอาเปรียบเจ้าของสวน ไม่ยอมจ่ายค่าเช่าหรือผลตอบแทนที่ควรได้แก่เจ้าของสวน ซ้ำยังจับคนใช้ที่เจ้าของสวนใช้มาทุบตีและฆ่าเสีย ไม่เว้นแม้บุตรชายของเจ้าของสวน

การทำสวนองุ่นเป็นวิธีดำรงชีพธรรมดาทั่วไปในดินแดนปาเลสไตน์ แต่สถานการณ์และความยากลำบากในปาเลสไตน์สมัยนั้น (ไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าใดนัก) ทำให้เจ้าของที่ดินไปหาที่อยู่ ณ ดินแดนใหม่ที่สงบสุขมากกว่า โดยปล่อยให้คนเช่าสวนทำประโยชน์และตนเองคอยเก็บค่าเช่า ซึ่งอาจกำหนดเป็นตัวเงินหรือส่วนแบ่งพืชผลที่เก็บได้ตามแต่จะตกลงกัน เหตุการณ์ที่กล่าวถึงในคำอุปมาจึงเป็นไปได้ว่า คนเช่าสวนไม่ยอมจ่ายค่าเช่า ทุบตีและฆ่าผู้แทนเจ้าของสวนด้วยวิธีรุนแรง เพื่อยึดที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน

1.  สิทธิพิเศษของมนุษย์

คำอุปมาเรื่องคนเช่าสวนที่ชั่วร้าย เป็นการเล่าเรื่องคนที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดูแลสวนองุ่น ที่ปฏิบัติไม่ดีต่อคนใช้ของเจ้าของสวน และในต้อนท้ายถึงกับฆ่าลูกชายของเจ้าของ นับเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปที่เกิดขึ้นในสมัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งผู้ฟังต่างเข้าใจสาระสำคัญของเรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง สวนองุ่นหมายถึงชนชาติอิสราแอล เจ้าของสวนคือพระเจ้า ผู้เช่าสวนคือพวกมหาสมณะและผู้ปกครอง คนใช้ที่ถูกส่งมาคือบรรดาประกาศกที่พระเจ้าทรงส่งมา ส่วนบุตรคือพระเยซูเจ้า

คำอุปมานี้บอกให้เราทราบถึง “สิทธิพิเศษของมนุษย์” มัทธิวได้ให้รายละเอียดว่าเจ้าของสวนได้ทำสิ่งที่จำเป็นทุกอย่างสำหรับสวนองุ่น ทำรั้วล้อมป้องกันสัตว์ร้าย สร้างบ่อย่ำองุ่นซึ่งเป็นบ่อหินขุดลึกลงไปในดินเพื่อจะได้ย่ำและสกัดน้ำองุ่น นอกจากนี้ยังสร้างหอเฝ้าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย (มธ 21:33) นั่นหมายความว่า พระเจ้าได้ทำทุกอย่างสำหรับชนชาติอิสราแอลเพื่อเตรียมพวกเขาให้รู้จักพระบุตรที่จะเสด็จมา แต่พวกเขาได้กระทำความผิดและปฏิเสธพระองค์ สิทธิพิเศษนี้จึงถูกเพิกถอนและมอบให้กับคนต่างชาติ

เราในฐานะคริสตชนได้รับสิทธิพิเศษของการเป็นบุตรพระเจ้า เราทุกคนเป็นลูกของพระบิดาองค์เดียวกัน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเสมอกันต่อหน้าพระเจ้า การเดินทางไปแดนไกลของเจ้าของสวนคือ เครื่องหมายว่าพระเจ้าทรงมอบหมายงานและความรับผิดชอบให้แก่เราด้วยความเชื่อใจ ดังนั้น เราจึงมีอิสรภาพที่จะร่วมมือกับพระเจ้าหรือต่อต้านพระองค์ และมีอิสระในการเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ นี่คือสิทธิพิเศษที่มนุษย์ได้รับ

นอกนั้น คำอุปมานี้ยังแสดงให้เห็นถึง “ความอดทนของพระเจ้า” ที่มีต่อความผิดพลาดของมนุษย์ เจ้าของสวนองุ่นได้ให้โอกาสคนเช่าสวนครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยหวังว่าเขาจะปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ พระเจ้าได้ให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ทรงลงโทษใครในทันที แต่ทรงให้เวลาและรอคอยด้วยหวังว่าเขาจะกลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิต หันกลับมาหาพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ความอดทนของพระเจ้าจึงเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ในทางกลับกัน หากพระเจ้าทรงเป็นมนุษย์และทรงกระทำอย่างมนุษย์ โลกและมนุษย์คงถูกทำลายย่อยยับไปนานแล้ว

2.  บทเรียนสำหรับเรา

คำอุปมาเรื่องคนเช่าสวนที่ชั่วร้ายในพระวรสาร ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนในการดำเนินชีวิตหลายประการ

ประการแรก จงรับผิดชอบต่อสิทธิพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานให้ การเป็นคริสตชนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นแผนการของพระเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก อาณาจักรของพระเจ้าถูกมอบหมายให้เราดูแลด้วยความไว้วางใจ เราควรใช้สิทธิพิเศษแห่งการเป็นบุตรพระเจ้าที่เราได้รับด้วยความรับผิดชอบ ดำเนินชีวิตด้วยสำนึกในความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าทุกวัน มิฉะนั้นแล้ว สิทธิพิเศษนี้จะถูกมอบแก่คนอื่น

ประการที่สอง จงอดทนต่อความผิดของกันและกัน เมื่อพระเจ้าทรงอดทนและให้โอกาสเราแต่ละคนครั้งแล้วครั้งเล่า  เราจึงต้องอดทนต่อความผิดบกพร่องของกันและกัน ไม่พิพากษาหรือตัดสินคนอื่นโดยเบาความ แต่ปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและให้โอกาสคนที่หลงผิดให้ได้กลับตัวกลับใจ เป็นต้นในครอบครัว สังคมและหมู่คณะของเรา หินที่ช่างก่อสร้างขว้างทิ้ง อาจกลายเป็นศิลาหัวมุม เหมือนอย่างพระเยซูเจ้าที่เป็นศิลาหัวมุมของพระศาสนจักร ที่ทำให้พระศาสนจักรเติบโตและมั่นคง

ประการที่สาม จงทำให้เกิดผล เราเป็นคนงานในสวนองุ่นของพระเจ้า มิใช่เจ้าของสวน เราจึงไม่มีอะไรที่จะต้องโอ้อวดหรือภาคภูมิใจ เราต้องใช้โอกาสและพระพรมากมายที่ได้รับจากพระเจ้าในแต่ละวันให้เกิดผล นั่นคือ การทำตามหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน จนลืมนึกถึงความรักต่อเพื่อนพี่น้อง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เราเป็นประชากรของพระเจ้า เป็นคนงานในสวนองุ่นของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงคาดหวังให้เราเกิดผลที่ยั่งยืน ทุกอาทิตย์เราได้รับการเชื้อเชิญให้มารอบโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ เพื่อฟังพระวาจาของพระองค์และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราได้รับการเรียกให้เป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มคริสตชนและพระศาสนจักร ผ่านทางพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าที่เราได้รับ

เราได้รับสิทธิพิเศษผ่านทางศีลล้างบาปให้มาทำงานในสวนองุ่นของพระเจ้า ซึ่งสิทธิพิเศษนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบเสมอ ดังนั้น เราจึงต้องรับผิดชอบต่องานและหน้าที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย และตระหนักว่าเราไม่ได้ทำงานโดยลำพัง พระเยซูเจ้า ผู้เป็นศิลาหัวมุมของพระศาสนจักร พร้อมยื่นมือออกช่วยเหลือให้บังเกิดผลสมบูรณ์ ขอเพียงเราตระหนึกถึงการประทับอยู่และร่วมมือกับพระหรรษทานของพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 กันยายน 2011

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

บ่อน้ำช้างแก้ว

125 ปี คริสตชุมชนนาบัว (3)

ปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) พระสังฆราชอังเยโล-มารีย์  แกวง ได้แต่งตั้ง คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง  ยวงบัตรี ซึ่งเพิ่งได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์มาเป็นผู้ช่วยคุณพ่อลากอล์ม ที่วัดพระตรีเอกานุภาพ ช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม โดยมอบหมายให้ดูแลวัดนบัวด้วย ที่สุด พระสังฆราชแกวง ได้แต่งตั้ง คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวอย่างเป็นทางการ ตลอดเวลา 18 ปีที่อยู่นาบัวคุณพ่อได้พัฒนาวัดและหมู่บ้านหลายอย่างให้เจริญก้าวหน้า เช่น ตัดถนนและวางผังหมู่บ้านอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางด้านศาสนาคุณพ่อได้ตั้งกลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มเยาวชนชาย-หญิง

1.4  บ่อน้ำช้างแก้ว

ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาสำคัญของภาคอีสานมาช้านานไม่เว้นแม้ที่นาบัว นอกจากอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ยังต้องขุดบ่อลึกลงไปในดินเพื่อจะได้น้ำที่บริสุทธิสำหรับอุปโภคและบริโภค คุณพ่อแท่ง มีความสามารถพิเศษในการหาแหล่งน้ำ โดยใช้อุปกรณ์เพียงไม้สามง่ามที่ช่วยให้รู้ทันทีว่าบริเวณไหนมีตาน้ำควรขุดบ่อหรือเจาะบาดาล หลังจากใช้ไม้สามง่ามเดินดูทั่วบริเวณ คุณพ่อได้ชี้จุดสำหรับการขุดบ่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ 1 เมตรใกล้บ้านคุณพ่อนั่นเอง

ตามคำบอกเล่าของนายบุญเถิง มุลสุทธิ วัย 86 ปี (บิดาของคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ) ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อแท่งเล่าให้ฟังว่า ชาวนาบัวได้ร่วมใจกันขุดบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 2-3 เมตร ใช้เวลาขุดนานหลายเดือน ลึกประมาณ 6-8 เมตร จึงพบดินดำมีกลิ่นฉุน เมื่อขุดต่อไปก็พบแท่งหินขนาดใหญ่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงช่วยกันขุดต่อไป จนเห็นรูปช้างหินตัวขนาดย่อม ซึ่งนายบุญเถิงเล่าว่าขนาดพอดีนั่งขี่หลังได้ มีโซ่หินผูกติดกับหลักหิน

ข่าวการพบช้างหินได้รับการเล่าขานบอกต่อกันแบบปากต่อปาก จึงมีชาวนาบัวเป็นจำนวนมากได้มาดูช้างหินนี้ ซึ่งสามารถมองเห็นจากปากบ่อได้อย่างชัดเจน เมื่อขุดเลยท้องช้างตัวนี้ไปได้สักพักก็พบตาน้ำที่ไหลไม่หยุด คุณพ่อแท่งจึงให้ทำผนังไม้เรียงสลับซ้อนกันไปมาเพื่อกันดินพัง ประกอบกับมืดค่ำแล้วการขุดจึงหยุดลง รอมาขุดต่อในวันรุ่งขึ้นให้เสร็จ แต่เมื่อมาถึงปากบ่อในเช้าวันต่อมา สิ่งที่ทุกคนเห็นคือผนังไม้ที่ทำกั้นดินไว้นั้นได้พังลงจนถมตัวช้าง คุณพ่อแท่งและชาวนาบัวได้พยายามขุดใหม่และทำผนังไม้กั้นดินที่แข็งแรงกว่าเดิม แต่พอวันรุ่งขึ้นก็พังลงมาอีกเช่นเดิม การขุดจึงยุติลงและทำผนังไม้กั้นดินจากจุดที่ดินพังนั่นเอง

เป็นที่เล่าลือกันในหมู่ชาวนาบัวว่า ช้างหินนี้น่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกขอม (บริเวณที่ตั้งบ้านนาบัวเคยเป็นหมู่บ้านขอมมาก่อน) ดังช้างแก้วคู่บ้านคู่เมือง จึงเรียกบ่อน้ำนี้ว่า “บ่อน้ำช้างแก้ว” สาเหตุที่ดินพังมาถมตัวช้างทุกครั้งไป คงเพราะไม่ต้องการให้ใครมารบกวน เล่ากันว่าเวลามีงานบุญประจำปีต้องใช้เครื่องทำไฟ (เครื่องปั่นไฟสมัยก่อนเนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้) หากวางเครื่องใกล้บ่อน้ำเครื่องจะไม่ทำงานต้องย้ายไปที่อื่น แม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งผ่านบ่อน้ำนี้เครื่องจะดับทันที เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก

ในสมัยคุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ มีความพยายามที่จะขุดบ่อน้ำนี้อีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ คุณพ่อทำได้เพียงเปลี่ยนผนังไม้เป็นท่อคอนกรีตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี บ่อน้ำแห่งนี้ชาวนาบัวได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคมาเป็นเวลาหลายปี เพราะน้ำที่ใสแม้จะมีความเป็นด่าง เหนียว ล้างทำความสะอาดออกยากก็ตาม ในสมัยคุณพ่อวีรพงษ์ มังกาย เป็นเจ้าอาวาส มีความพยายามจะขุดเพื่อนำช้างแก้วขึ้นมา แต่ชาวบ้านหลายคนทัดทานไว้ บ่อน้ำช้างแก้วแห่งนี้จึงยังคงเป็นปริศนา ที่รอคอยการพิสูจน์อีกต่อไป

มรดกของคุณพ่อแท่ง อย่างหนึ่งที่ยังคงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ “ระฆัง” ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ระฆังใบนี้ชาวนาบัวได้มีส่วนในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ด้วยการบริจาคทรัพย์สินที่มีค่าที่ตนเองมี เช่นทองคำ กล่าวกันว่าชาวนาบัวได้บริจาคสร้อยคอ แหวน ต่างหู กำไร ได้ทองคำหลายกิโลเพื่อสนับสนุนในการสร้างระฆังใบนี้ ซึ่งสั่งหล่อจากประเทศฝรั่งเศส ในระฆังจึงพบคำจารึกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า A MARIE REINE DELA PAIX HOMMAGE DE SES FIES DE NABUA, MAIO 1939, J.B.THENG RETTORE, GOUIN EPISCOPALIS” (พระนางมารีย์ราชินีแห่งสันติภาพ ซึ่งเป็นที่เคารพของลูกๆ ชาวนาบัว, พฤษภาคม 1939, คุณพ่อ ย.บ. แท่ง เจ้าอาวาส, พระสังฆราชแกวง) ดังนั้น ระฆังใบนี้จึงเก่าแก่และอยู่คู่วัดนาบัวมากว่า 70 ปี

นอกจากนั้น คุณพ่อแท่งยังมีพรพิเศษในการรักษาคนป่วยด้วยยาเซียงเมี่ยง ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมารับการรักษาจากคุณพ่อที่วัด บางรายเมื่อหายจากโรคแล้วได้เรียนคำสอนกลับใจ เช่น นายเทพ ขันละ  ในระหว่างเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน คุณพ่อได้ถูกทางราชการจับกุมและขังคุกหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งคุณพ่อถูกจับขณะขุดเจาะบ่อบาดาลที่บ้านโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ในข้อหาขุดค้นวัตถุโบราณและนำไปขังคุกที่อุดรธานี  ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติคุณพ่อได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวต่ออีก 2 ปี จากนั้นได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 72

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 2 ฉบับที่ 72 วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
เลขที่ 154 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231


สมาชิกใหม่ของวัดนาบัว จำนวน 5 คน ที่ได้รับศีลล้างบาปเมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายน
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา

พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเชื้อเชิญเราให้มีอิสระที่จะ “ตอบรับ” หรือ “ตอบปฏิเสธ” ต่อพระเจ้า เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นเป็นผู้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า เราต้องตอบรับต่อแผนการของพระองค์ด้วยหัวใจทั้งครบ ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังและด้วยใจยินดี เหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระบิดาเจ้าจนถึงที่สุดคือ ความตายบนไม้กางเขน

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ท้าทายเราให้ลงมือปฏิบัติมากกว่าการพูดเฉยๆ เพราะการกระทำย่อมดีกว่าคำพูดเป็นไหนๆ ให้เราได้กราบขอสมาโทษพระเจ้าหากเราได้ละเลยในการปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า เป็นต้นกับเพื่อนพี่น้องของเรา เพื่อเราจะได้เหมาะสมสำหรับการเป็นหนึ่งเดียวในการร่วมโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ในอาทิตย์นี้
 ตอไม้ขนาดใหญ่ที่พยายามพลิกมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกเอเสเคียล อสค 18:25-28

ถ้าพระเจ้าทรงเป็นองค์ความดีและความยุติธรรม ทำไมพระองค์ถึงปล่อยให้มีความชั่วในโลก ประกาศกเอเสเคียลได้ตอบปัญหานี้ว่า บาปเป็นต้นเหตุแห่งความตาย เมื่อมนุษย์ละทิ้งบาปเขาก็จะมีชีวิตใหม่ ประกาศกได้เชื้อเชิญประชากรอิสราแอลให้เปลี่ยนแปลงชีวิตของตน หนีห่างจากบาปและหันกลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี ฟป 2:1-11

เปาโลเตือนกลุ่มคริสตชนที่ฟิลิปปีให้เป็นหนึ่งเดียวกันและรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก “อย่ากระทำการใดเพื่อชิงดีกันหรือเพื่อโอ้อวด แต่จงถ่อมตนคิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จงเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย” พระเยซูเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของการรับใช้ด้วยความรัก ทรงถ่อมพระองค์และยอมรับแม้ความตาย

พระวรสาร: นักบุญมัทธิว มธ 21:28-32

คำอุปมานี้ได้สะท้อนหลักสำคัญที่ว่า บุตรทั้งสองคนไม่มีใครดีพร้อม แม้ว่าคนแรกจะดีกว่าคนที่สองก็ตาม แต่ทั้งคู่ได้ทำให้บิดารู้สึกเจ็บปวด ลักษณะของบุตรที่ทำให้บิดาปลื้มปีติคือ คนที่พร้อมรับคำสั่ง เชื่อฟังและปฏิบัติตามด้วยใจยินดี พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มีอิสระที่จะตอบรับต่อพระองค์ในการกระทำ ในการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์
 มาสำเร็จด้วยแรงคนล้วนๆ โดยฝีมือของช่างทับจากหนองเดิ่น (23 ก.ย.)

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณสภาอภิบาลที่ไปร่วมการอบรม “ศีลมหาสนิทกับชีวิตคริสตชน” ที่ดอนทอย เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา

2) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 3 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 4

3) ขอขอบคุณครอบครัวนายทองใบ-นางสี วินบาเพชร และคุณวิไลยพร วินบาเพชร ที่ได้บริจาคเงินจำนวน 100,000.- บาท เพื่อสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้ของเรา ขอพระเจ้าอวยพรและตอบแทนน้ำใจดีร้อยเท่าพันทวี
 คุณวิไลยพร วินบาเพชร บริจาคเงิน 100,000.- บาท เพื่อบูรณะวัดไม้ (21 ก.ย.)

4) เดือนตุลาคมเป็นเดือนแม่พระแห่งสายประคำ วัดของเราจะมีการสวดสายประคำตามบ้านในกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อคริสตชนและความเป็นหนึ่งเดียวกันในกลุ่มในคุ้มของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เงินเดือนแม่พระทั้งหมดจะใช้เพื่อสร้างซุ้มและพระรูปแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ (ด้านหน้าหอระฆัง)

5) ขอเชิญร่วมแห่แม่พระและร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณเปิดเดือนแม่พระ วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคมนี้ เริ่มแห่เวลา 19.00 น.

6) เงินทานวันเสาร์ 429.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 6,171.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 484.- บาท
 ความก้าวหน้าของซุ้มประตูโรมันด้านหน้าวัด หลังส่งมอบงานงวดที่สอง

คำพูดและการกระทำ

 คำพูดและการกระทำ

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา ปี A
อสค 18:25-28
ฟป 2:1-11
มธ 21:28-32

บทนำ

ณ วัดแห่งหนึ่ง หลังพิธีบูชาขอบพระคุณ สงฆ์หนุ่มที่เพิ่งย้ายมาใหม่ได้ถามความเห็นสัตบุรุษว่า “เราจะจัดศึกษาพระคัมภีร์เพื่อเรียนรู้พระวาจาของพระเจ้าให้ดียิ่งขึ้น ดีไหม” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นความคิดที่เยี่ยมมาก” สงฆ์หนุ่มรู้สึกดีใจที่ทุกคนเห็นดีด้วยจึงนำความเห็นไปเสนอเจ้าอาวาส คุณพ่อเจ้าอาวาสซึ่งผ่านประสบการณ์มามาก ได้บอกไปถามสัตบุรุษอีกครั้งว่า “จะมีใครมาเรียนบ้าง” อาทิตย์ต่อมาเขาจึงประกาศว่า “ใครที่สนใจจะร่วมโครงการศึกษาพระคัมภีร์ให้มาลงชื่อ” ปรากฏว่ามีมาแค่สองคน

ทำให้พระสงฆ์หนุ่มองค์นั้นตระหนักว่า การตอบรับต่อข้อเสนอกับการลงมือปฏิบัติจริงเป็นคนละเรื่อง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเกิดวาทะกรรมที่ว่า “ดีแต่พูด” สังคมไม่ไว้ใจคนที่ดีแต่พูด แต่ไม่ทำอะไร ซึ่งสอดรับกับคำอุปมาเรื่องบุตรสองคนในพระวรสารวันนี้ ที่พูดถึงเรื่อง “คำพูดและการกระทำ” ชายเจ้าของสวนองุ่นมีบุตรสองคน เขาได้ไปหาบุตรคนแรกร้องขอให้ไปทำงานที่สวนองุ่นในวันนั้น แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดีในตอนแรก ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนใจไปทำงานที่สวนองุ่น ขณะที่บุตรคนที่สองสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะกับบิดาว่าจะไป แต่สุดท้าย ไม่ได้ไป

คำอุปมานี้เกิดขึ้นในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม สามวันก่อนที่พระเยซูเจ้าจะถูกจับรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนกางเขน พระองค์ทรงโต้แย้งกับพวกหัวหน้าสมณะและพวกผู้อาวุโสของประชาชน (มธ 21:23) บุตรคนแรกเป็นตัวแทนของคนเก็บภาษี หญิงโสเภณีและคนบาป ซึ่งเจริญชีวิตในบาปในสายตาของชาวยิวทั่วไป แต่เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพวกเขาได้เชื่อฟังพระองค์และเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ บุตรคนที่สองเป็นตัวแทนของพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นคนชอบธรรมและถือตามธรรมบัญญัติมาตลอดชีวิต แต่เมื่อบุตรพระเจ้าเสด็จมา พวกเขากลับปฏิเสธและจับพระองค์ไปตรึงกางเขน

1. คำพูดและการกระทำ

คำอุปมาเรื่องบุตรสองคนได้สอนความจริงเราว่า คำพูดไม่อาจทดแทนการกระทำได้ บุตรทั้งสองตอบรับต่อคำร้องขอของบิดาแตกต่างกัน คนแรกตอบปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ขณะที่คนที่สองตอบอย่างสุภาพ แต่ไม่ไป คำตอบรับที่สุภาพของเขาไม่อาจใช้แทนการกระทำได้ การกระทำเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักแท้ เวลาเป็นเด็กเราคงเคยบอกรักแม่ และแม่มักจะตอบว่า “แม่หวังว่าลูกจะทำให้แม่เห็นมากกว่านี้”

คำอุปมานี้สะท้อนคนสองประเภท ซึ่งเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ทั้งคู่และไม่มีค่าควรแก่การยกย่อง คนแรกจะดีกว่าคนที่สองในแง่ที่เขายอมปฏิบัติตามในตอนท้าย การกระทำของเขาดีกว่าคำพูด มีคนเป็นจำนวนมากจัดอยู่ในประเภทนี้ แม้ไม่ได้อ้างตัวเป็นคริสตชนหรือไม่รู้จักนามเยซูด้วยซ้ำ แต่ชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างที่ดี มีคุณธรรมยิ่งกว่าคนที่เป็นคริสตชนเสียอีก

ขณะที่อีกคนให้คำมั่นสัญญาหนักแน่น แต่กระทำในสิ่งที่ตรงข้าม เข้าทำนอง “พูดอย่าง ทำอย่าง” “มือถือสาก ปากถือศิล” ชีวิตจริงหรือความประพฤติของเขาไม่สอดคล้องกับคำพูดหรือสิ่งที่เขาสอน คนประเภทนี้มักอ้างตัวอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติตัวตรงกันข้าม คำพูดของเขาจึงไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ ในความเป็นจริง “ไม่มีใครต้องการฟังว่าเราจะพูดอะไร แต่เขาต้องการดูว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไรต่างหาก” คนประเภทนี้จึงเป็นที่รังเกียจของสังคมและหมู่คณะ

2. บทเรียนสำหรับเรา

คำอุปมาเรื่องบุตรสองคนที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับชีวิตคริสตชนของเราหลายประการ

ประการแรก จงกระทำมากกว่าพูด เป็นการง่ายที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำให้ความคิดเห็นนั้นมีคุณค่าและเกิดผลคือ การลงมือปฏิบัติ “การกระทำย่อมดังกว่าคำพูดเสมอ” หลายครั้งเราบอกเตือนบุตรหลานให้มาวัดวันอาทิตย์ ให้ถอยห่างจากการพนันและยาเสพติด แต่เรากลับเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับพวกเขา นักบุญยอห์นบอกเราว่า “อย่ารักกันแต่ปากเพียงด้วยคำพูดเท่านั้น แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริง” (1 ยน 3:18)

ประการที่สอง จงลงมือทำเดี๋ยวนี้ บิดาพูดกับบุตรทั้งสองว่า “ลูกเอ๋ย วันนี้ จงไปทำงานในสวนองุ่นเถิด” เรามีชีวิตอยู่ใน “วันนี้” เท่านั้น ยังไม่รู้ว่า “พรุ่งนี้” จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ดังนั้น เวลาที่สำคัญที่สุดคือขณะนี้ วันนี้ ไม่ใช่การผัดวันประกันพรุ่ง เอาไว้ให้รวยกว่านี้ถึงจะทำบุญ หรือรอให้ถึงแก่เฒ่าก่อนถึงจะเข้าวัดเข้าวา แต่จงลงมือทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะ “วันพรุ่งนี้เป็นวันที่คนเกียจคร้านทำงาน และคนโง่เขลาเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ประการที่สาม จงตอบรับต่อพระเจ้า พระเจ้าทรงเรียกและเชื้อเชิญเราให้เปลี่ยนแปลงตนเองและตอบรับต่อพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงตอบรับต่อพระบิดาเจ้าและนอบน้อมเชื่อฟังจนถึงที่สุดคือ ความตายบนไม้กางเขน การตอบรับของพระองค์หมายถึงการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า “ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา...นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้” (มธ 7:21) อีกทั้งยังหมายถึงการรับใช้ “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:28) ความสุขและความรอดของเราจึงขึ้นอยู่กับการตอบรับต่อพระเจ้าดังเช่นพระเยซูเจ้าทรงกระทำ

บทสรุป

พี่น้องที่รัก คำอุปมานี้ได้สะท้อนหลักสำคัญที่ว่า บุตรทั้งสองคนไม่มีใครดีพร้อม แม้ว่าคนแรกจะดีกว่าคนที่สองก็ตาม แต่ทั้งคู่ได้ทำให้บิดารู้สึกเจ็บปวด ลักษณะของบุตรที่ทำให้บิดาปลื้มปีติคือ คนที่พร้อมรับคำสั่ง เชื่อฟังและปฏิบัติตามด้วยใจยินดี พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มีอิสระที่จะตอบรับต่อพระองค์ในการกระทำ ในการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ ในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง เห็นอกเห็นใจและให้อภัยกันด้วยใจกว้าง

คำอุปมานี้จบลงด้วยการเน้นที่การมาหาพระเยซูเจ้าของคนบาป พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีคิดว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรมไม่ต้องพึ่งพระเจ้า ตรงข้ามกับคนเก็บภาษี หญิงโสเภณีและคนบาปที่ตระหนักในของขวัญล้ำค่าที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้ พวกเขาจึงกลับใจมาหาพระองค์ และรับใช้พระองค์ด้วยความกระตือรือร้น เราถูกเรียกร้องให้ทำเช่นเดียวกัน มิใช่ดีแต่พูด ความเชื่อของเราต้องแสดงออกในภาคปฏิบัติ เพื่อเราจะได้ชื่อว่าเป็นคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นศิษย์ที่แท้จริงของพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
23 กันยายน 2011

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

สงฆ์เขตตะวันตกประชุมที่ช้างมิ่ง

 พระสงฆ์เขตตะวันตก ประชุมที่ช้างมิ่ง


พรรณานิคม  พระสงฆ์เขตตะวันตก โดยการนำของคุณพ่อพรทวี โสรินทร์ หัวหน้าเขต พบปะประชุมกันที่วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีคุณพ่อเฉลิมศิลป์ จันลา เจ้าอาวาส คุณพ่อสลัน ว่องไว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและพี่น้องสัตบุรุษชาวช้างมิ่งให้การต้อนรับ
 
 

การประชุมครั้งนี้เริ่มเวลา 10.30 น. โดยคุณพ่อพรทวี โสรินทร์ กล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่และเก่าที่ทำงานในเขตตะวันตก ได้แก่ คุณพ่อไพศาล ว่องไว (พักประจำและช่วยงานวัดนาบัว) คุณพ่อชัยวิชิต บรรเทา (เจ้าอาวาสวัดนาจาร) คุณพ่อสลัน ว่องไว (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดช้างมิ่ง) และสังฆานุกรวัลลภ จันทร์ดวง (ช่วยงานวัดดอนทอย) จากนั้นได้พบปะพูดคุยและปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการทำงานในเขตวัดที่ตนเองรับผิดชอบ รวมถึง ติดตามและประเมินผลการอบรมพระคัมภีร์ครั้งที่สอง สำหรับผู้นำชุมชนคริสตชนพื้นฐานในเขตตะวันตก ซึ่งจัดที่วัดนักบุญยอแซฟดอนทอยที่ผ่านมา
 

หลังการประชุม สมาชิกทั้งหมดได้แสดงความยินดีกับคุณพ่อเฉลิมศิลป์ จันลา โอกาสฉลองศาสนนามอัครเทวดามีคาแอล (29 กันยายน) ก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมกับคณะซิสเตอร์ที่มาแพร่ธรรมที่ช้างมิ่ง ตอนบ่ายคุณพ่อเฉลิมศิลป์ จันลา ได้จัดโปรแกรมปั่นจักรยานออกกำลังกายและชื่นชมธรรมชาติสองข้างทางจากวัดช้างมิ่งสู่เขื่อนน้ำอูน เขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นชื่อของชาวสกลนคร รวมระยะทางไป-กลับประมาณ 20 กิโลเมตร อนึ่ง ชมรมจักรยานของพระสงฆ์ในเขตตะวันตกมีคุณพ่อสุรวุฒิ สมงาม (เจ้าอาวาสวัดหนองบก) เป็นประธานชมรม
 
 
Don Daniele ภาพ/รายงาน
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
21 กันยายน 2011

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 71

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 2 ฉบับที่ 71 วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
เลขที่ 154 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231
พิธีต้อนรับคุณพ่อไพศาล ว่องไว หลังมิสซาวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน

สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา

พระเจ้าคือองค์ความดีบริบูรณ์และความรักอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์มิได้มีจิตใจคับแคบเหมือนอย่างที่มนุษย์เป็น แต่ทรงพระทัยดีอย่างล้นเหลือ ทรงเมตตากรุณาและให้อภัยไม่สิ้นสุด ทรงประทานพระหรรษทานของพระองค์แก่มนุษย์ทุกคนเท่าเสมอกัน เพื่อช่วยให้ได้รับความรอดและร่วมสุขกับพระองค์ในพระอาณาจักรสวรรค์

ให้เราได้เงียบสักครู่หนึ่ง กราบขอสมาโทษพระเจ้า หากเราไม่ได้ตระหนักถึงพระทัยดีและความรักเมตตาของพระองค์ที่มีต่อเรา ด้วยการมองและตัดสินพระองค์ด้วยจิตใจที่คับแคบอย่างมนุษย์ อิจฉาริษยาและบ่นว่าพระองค์ เป็นต้นกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง เพื่อเราจะได้เหมาะสมสำหรับการร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้
 คุณพ่อไพศาล ว่องไว ได้รับแต่งตั้งให้มาช่วยงานวัดนาบัวและโพนสวาง

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกอิสยาห์ อสย 55:6-9

โดยมากเราจะมองดูพระเจ้าด้วยความคิดแบบมนุษย์ โดยคิดว่าพระองค์ทรงมีจิตใจที่คับแคบเหมือนอย่างเรา แต่ประกาศกอิสยาห์บอกเราว่า “ความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของท่าน ทางของท่านก็ไม่ใช่ทางของเรา” ประกาศกเตือนเราให้วางใจในพระเจ้า “จงแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าเมื่อพระองค์ทรงยอมให้เราพบ จงทูลขอเมื่อพระองค์อยู่ใกล้”

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี ฟป 1:20ค-24,27ก

นักบุญเปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะถูกจองจำอยู่ในคุกรอคอยความตาย และเกิดความคิดสองอย่างในตัวท่าน ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อรับใช้กลุ่มคริสตชนหรือไปอยู่กับพระเยซูเจ้า ท่านได้ภาวนาขอให้เป็นไปตามที่พระเจ้าทรงประสงค์สำหรับตัวท่าน และท่านได้ตอบรับต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการ

พระวรสาร: นักบุญมัทธิว มธ 20:1-16

พระเจ้าทรงเรียกทุกคนให้มาทำงานในอาณาจักรของพระองค์ด้วยความรัก เพื่อให้ทุกคนได้พบความรอดนิรันดร เราจึงควรทำงานหรือทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มิใช่เพื่องานหรือหวังสินจ้างรางวัล แต่เพื่อการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องด้วยความยินดี คุณค่าแห่งการรับใช้ของเราวัดได้จากความรักและความใจกว้างที่เราแสดงออกต่อกัน
 พี่น้องชาวนาบัวผูกข้อต่อแขนต้อนรับคุณพ่อไพศาลตามประเพณี

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ซิสเตอร์อรมัย คำควร ได้ฝากขอบคุณพวกเราทุกคนที่ไปร่วมงานฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการปฏิญาณตน ในโอกาสฉลองอารามเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา

2) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 2 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 3

3) วันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้ คุณพ่อทั้งสองจะไปประชุมพระสงฆ์ในเขตตะวันตก ที่วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง ขอคำภาวนาจากพี่น้องเพื่อการประชุมของบรรดาพระสงฆ์ในเขตเราด้วย

4) ขอเชิญสภาอภิบาลเข้ารับการอบรมในหัวข้อ “ศีลมหาสนิทกับชีวิตคริสตชน” ในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน ณ วันนักบุญยอแซฟ ดอนทอย ลงทะเบียนเวลา 08.00 น.

5) ทางวัดได้ตกลงว่าจ้างช่างทับ จากบ้านหนองเดิ่นให้มายกและย้ายป้ายวัดตรงประตูทางเข้าวัดทั้งสองด้าน เพื่อให้รับกับซุ้มประตูโรมันที่กำลังก่อสร้าง ในราคา 28,000.- บาท

6) เงินทานวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 4,454.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 600.- บาท

การยกและเคลื่อนย้ายป้ายวัดทั้งสองข้าง เพื่อให้รับกับประตูโรมัน
 
     
ย้ายออกไปด้านข้างประมาณ 1-2 เมตร สูงจากฐานเดิม 40 ซ.ม.

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

พระเจ้า ผู้ทรงพระทัยดี

พระเจ้า ผู้ทรงพระทัยดี


วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา ปี A
อสย 55:6-9
ฟป 1:20ค-24,27ก
มธ 20:1-26

บทนำ

การทำงาน ทำให้คนมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ซึ่งมักจะผูกติดกับค่าจ้างหรือ “เงิน” จึงมีคำพูดของผู้นำในยุคหนึ่ง (จอมพลถนอม กิตติขจร) ที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ปัญหาแรงงานจึงเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมมาทุกยุคทุกสมัย การว่างงานเป็นแผลเรื้อรังของสังคม คนที่ตกงานไม่เพียงทำให้ชีวิตของตนและครอบครัวยากลำบาก แต่ยังกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้รู้สึกว่าตนเองด้อยศักดิ์ศรี ถูกสบประมาท เป็นกาฝากของสังคม ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้อื่น

คำอุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่น สะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมยิวสมัยพระเยซูเจ้า คนที่ถูกว่าจ้างมาจะทำงานตลอดทั้งวันและรับค่าจ้างตอนสิ้นสุดวัน ดังพระดำรัสของพระเจ้าที่ว่า “เจ้าอย่าบีบคั้นเพื่อนบ้านหรือปล้นเขา อย่าให้ค่าจ้างของลูกจ้างค้างอยู่กับเจ้าจนถึงรุ่งเช้า” (ลนต 19:13) “ท่านจงจ่ายเงินค่าจ้างวันนั้นให้แก่เขา ก่อนดวงอาทิตย์ตก ด้วยเกรงว่าเขาจะกล่าวหาท่านต่อพระเจ้าและจะเป็นความบาปแก่ท่าน” (ฉธบ 24:15) ค่าจ้างแรงงานในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนขัดสนเหล่านี้

ในฤดูเก็บผลองุ่น (ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน) เจ้าของสวนต้องการคนงานมาก เพราะต้องเร่งเก็บผลองุ่นให้เสร็จก่อนฤดูฝนจะมา (กลางเดือนกันยายน) ส่วนเวลาทำงานสำหรับชาวยิวเริ่มต้นตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น นายจ้างอาจจ้างคนมาทำงานตอน หกโมงเช้า เก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมงและห้าโมงเย็น จึงเป็นไปได้ที่เจ้าของจะออกไปว่าจ้างคนงานที่ตลาดตอนห้าโมงเย็น เงินหนึ่งเหรียญคือ ค่าจ้างต่อวันที่คนหนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน

1. พระเจ้า ผู้ทรงพระทัยดี

จากประสบการณ์ของเราแต่ละคนทำให้เราทราบว่า ความอิจฉาริษยาสร้างปัญหาให้กับเราแต่ละคนและหมู่คณะเป็นอย่างมาก อย่างที่เราได้ยินในพระวรสาร คำอุปมาที่พระเยซูเจ้าเล่าได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่คนจำนวนหนึ่ง “ทำไมเจ้าของสวนจึงจ่ายค่าจ้างแก่คนงาน ที่ทำงานมาตลอดทั้งวัน (12 ชั่วโมง) กับคนที่ทำงานเพียงชั่วโมงเดียวในจำนวนที่เท่ากัน ดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย เพราะคนที่ทำงานมากกว่า สมควรได้รับค่าจ้างมากกว่า” นี่เป็นวิธีคิดและการตัดสินแบบโลก

คำอุปมานี้ได้เปิดเผยให้เราได้ทราบถึง พระทัยดีและความรักของพระเจ้าที่เปิดต่อทุกคนเท่าเสมอกัน พระเจ้าเป็นเหมือนบิดาที่ใจดี บิดาย่อมไม่รักบุตรคนโตมากกว่าคนเล็ก แม้ว่าคนโตจะอายุมากกว่าคนเล็กถึงสิบปี ความรักย่อมไม่สามารถคิดคำนวณออกมาเป็นจำนวนว่ามากน้อยเพียงใด สมาชิกของครอบครัวย่อมเป็นที่รักของบิดาเท่ากัน เพราะต่างเป็นบุตรชาย-หญิงของบิดาเหมือนกัน ดังนั้น ในครอบครัวของพระเจ้า ทุกคนจึงเป็นที่รักของพระเจ้าเท่าเทียมกัน

คนงานที่ไม่พอใจและอิจฉาริษยา เพราะความเห็นแก่ตัวของพวกเขา ที่ไม่เปิดใจต่อพระทัยดีของพระเจ้า ซึ่งสะท้อนชีวิตของพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ที่คิดว่าพวกเขาต้องเป็นพวกแรกในพระอาณาจักรและดีกว่าคนอื่น ทำให้พวกเขาแยกตัวออกไปจากคนอื่นและหมู่คณะ อีกทั้ง ยังตำหนิชาวยิวที่คิดว่าตนเองเป็นชนชาติที่ได้รับเลือกสรรจากพระเจ้าและควรได้รับสิทธิพิเศษ พวกเขาจึงรู้สึกไม่พอใจที่พระเจ้าให้สิทธิพิเศษแก่คนต่างชาติที่มาทีหลัง

2. บทเรียนสำหรับเรา

คำอุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่น ถือเป็นคำอุปมาที่ดีและมีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งของพระเยซูเจ้า ซึ่งได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่เราหลายประการ

ประการแรก พระเจ้าทรงรักทุกคน พระเจ้าทรงรักมนุษย์โดยเฉพาะคนที่ขัดสน ไม่มีสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต พระเจ้าทรงพอพระทัยนำเขามาทำงานในอาณาจักรของพระองค์ “จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด ฉันจะให้ค่าจ้างตามสมควร” (มธ 20:4) เพื่อให้เขาได้มีความสุขกับพระองค์ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นคริสตชนช้าหรือเร็ว เราต่างเป็นที่รักของพระเจ้า ที่ทรงรักเราและต้อนรับทุกคน

ประการที่สอง พระเจ้าทรงพระทัยดีอย่างล้นเหลือ สิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา แต่เป็นพระทัยดีของพระองค์ที่แสดงออกต่อทุกคน แม้คนบาปและคนต่างศาสนา พระหรรษทานของพระเจ้าคือสิ่งจำเป็นสำหรับการเข้าในอาณาจักรของพระองค์ ทรงประทานให้ทุกคนเท่าเสมอกัน มากกว่าที่เราสมควรจะได้รับเสียอีก เราจึงควรตอบสนองต่อพระทัยดีของพระองค์ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ในครอบครัว หมู่บ้านหรือหมู่คณะของเรา จึงไม่ควรมีใครเดือดร้อนหรือขัดสนโดยที่เราไม่ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และไม่ควรมีการบ่นว่าหรืออิจฉาริษยากัน

ประการที่สาม พระเจ้าทรงห่วงใยคนมากกว่าสิ่งของ พระเจ้าไม่ได้มองดูที่งานหรือความดีที่เราทำ แต่ทรงมองดูที่ความจำเป็นของเรา เจ้าของสวนจ่ายค่าจ้างให้คนงานคนละหนึ่งเหรียญเท่ากันหมด โดยไม่คิดถึงผลกำไรเลย แสดงให้เห็นว่า เจ้าของสวนคิดถึงคนและใช้เงินที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือทุกคน เงินหนึ่งเหรียญคือค่าจ้างที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในหนึ่งวัน หากได้น้อยกว่านี้ จะทำให้ครอบครัวของเขาต้องหิวโหยในคืนนั้นและวันรุ่งขึ้นอย่างแน่นอน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเจ้าทรงเรียกทุกคนให้มาทำงานในอาณาจักรของพระองค์ด้วยความรัก เพื่อให้ทุกคนได้พบความรอดนิรันดร เราจึงควรทำงานหรือทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มิใช่เพื่องานหรือหวังสินจ้างรางวัล แต่เพื่อการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องด้วยความยินดี คุณค่าแห่งการรับใช้ของเราวัดได้จากความรักและความใจกว้างที่เราแสดงออกต่อกัน

ดังนั้น การงานหรือการกระทำของเราต้องเปิดเผยให้เห็นถึงความดีบริบูรณ์และความเมตตากรุณาของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและความใจกว้าง เป็นต้นคนที่ขัดสน เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือในครอบครัว สังคมและหมู่คณะของเรา เพื่อเราจะสามารถกล่าวได้อย่างนักบุญเปาโลที่ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าการมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า และการตายก็เป็นกำไร” (ฟป 1:21)

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
16 กันยายน 2011

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

กางเขน เครื่องหมายแห่งความรอด


กางเขน เครื่องหมายแห่งความรอด

14 กันยายน
ฉลองเทิดทูนไม้กางเขน
ของพระเยซูเจ้า
กดว 21:4-9
ฟป 2:6-11
ยน 3:13-17

บทนำ

ปัจจุบัน กางเขนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสตชนทั่วโลกที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น บนยอดวัด หลุมฝังศพ หรือซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านคริสตชน เมื่อเราเห็นใครทำเครื่องหมายกางเขน เช่น นักกีฬาทำเครื่องหมายกางเขนก่อนลงสนามหรือเริ่มการแข่งขัน เราทราบทันทีว่าเขาเป็นคริสตชน นอกนั้น กางเขนยังได้กลายเป็นเครื่องประดับที่แพร่หลายซึ่งผู้คนสวมใส่ตามแฟชั่น อาทิ สร้อยคอ ต่างหู ที่เราพบเห็นกันทั่วไปในหมู่ดารา นักแสดง นักร้อง แม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นคริสตชนก็ตาม

วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนที่เราฉลองในวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เป็นการเทิดเกียรติกางเขนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าได้สิ้นพระชนม์ด้วยความรักต่อมนุษย์ เพื่อนำความรอดพ้นมาสู่โลก กางเขนของพระเยซูเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่พระเจ้าทรงช่วยเราให้รอด การฉลองเทิดทูนไม้กางเขนเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 4 เริ่มจากการที่พระนางเฮเลนา (นักบุญเฮเลนา) พระมารดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินได้ค้นพบกางเขนของพระเยซูเจ้าอย่างอัศจรรย์ ขณะไปแสวงบุญที่เยรูซาเลม เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 326

ต่อมาภายหลังจักรพรรดิคอนสแตนตินได้สร้างวิหารขึ้น 2 หลัง บนเนินกัลวารีโอและ ณ สถานที่ฝังพระศพของพระเยซูเจ้า และโปรดให้มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 13 และ 14 กันยายน ส่วนการฉลองนี้เป็นที่แพร่หลายในพระศาสนจักรตะวันตกในศตวรรษที่ 7 หลังจากจักรพรรดิเฮราคลิอุสแห่งคอนสแตนติโนเปิล ได้ยึดครองกางเขนของพระเยซูเจ้าคืนจากพวกเปอร์เซีย และนำกลับกรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า


1.           กางเขน เครื่องหมายแห่งความรอด

ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าตรัสกับเราถึงการที่พระองค์จะถูกยกขึ้นบนกางเขน เพื่อช่วยเราให้รอดพ้น โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่โมเสสได้ยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดาร อันเนื่องมาจากการถูกงูพิษกัดเพราะการบ่นว่าพระเจ้าของชาวอิสราแอล การถูกยกขึ้นบนกางเขนของพระองค์ได้แสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ ที่พระเจ้าทรงเรียกมาเพื่อรับใช้และสรรเสริญพระองค์ ดังที่นักบุญยอห์นบอกเราว่า “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)

ในอดีต กางเขนคือเครื่องประหารที่ชาวโรมันใช้ประหารนักโทษอุฉกรรจ์ กางเขนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการทรมาน ความตาย ความพ่ายแพ้และการดูหมิ่นเหยียดหยาม ที่ทุกคนหวาดกลัวและขยะแขยง พระเยซูเจ้าได้แปรเปลี่ยนเครื่องหมายนี้ให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด ด้วยการรับทนทรมาน ถูกตรึงบนกางเขน สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนม์ชีพ กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายที่เตือนคริสตชนให้ระลึกถึงความรักของพระเจ้าและความรอดพ้นที่พระเยซูเจ้านำมาสู่โลก ผ่านทางการมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเราบนไม้กางเขน

กางเขนยังเตือนคริสตชนให้ระลึกถึงชัยชนะของพระเยซูเจ้าเหนือบาปและความตาย ผ่านทางการสิ้นพระชนม์บนกางเขนและการกลับคืนชีพ พระเยซูเจ้าทรงชนะความตายและมอบชีวิตใหม่ให้แก่เรา กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะและความรักที่ช่วยให้รอดของพระเจ้าสำหรับเราคริสตชน นอกนั้น กางเขนยังเป็นเครื่องหมายแห่งการให้อภัย ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงกระทำสิ่งนี้ในห้วงเวลาที่กำลังทรมานอย่างแสนสาหัสบนกางเขน ด้วยการวอนขอพระบิดาให้อภัยผู้ที่ประหารพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)

2.           บทเรียนสำหรับเรา

โอกาสฉลองเทิดทูนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า และเมื่อมองดูกางเขนของพระองค์ เราได้บทเรียนที่สำคัญอะไรบ้าง

ประการแรก  จงมีความถ่อมตน กางเขนของพระเยซูเจ้าสะท้อนให้เห็นถึงการถ่อมตนจนถึงที่สุดของพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอด เราในฐานะเป็นศิษย์ของพระองค์ต้องมีใจสุภาพถ่อมตน ปฏิเสธตัวเอง ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือสำคัญผิดว่าตัวเองคือความถูกต้อง แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้นส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง (ยน 3:30)

ประการที่สอง จงเทิดทูนไม้กางเขน ทุกวันนี้มีการประดับกางเขนด้วยเพชร นิล จินดา แต่เครื่องประดับที่มีค่าที่สุดคือ การช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความรักและการช่วยให้รอดของพระเจ้าบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้ชนะบาปและความตายแล้ว มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้ได้รับชัยชนะและเดินในหนทางที่ถูกต้อง

ประการที่สาม จงดำเนินชีวิตบนหนทางแห่งไม้กางเขน ทุกครั้งที่เรามองดูกางเขนหรือทำสำคัญมหากางเขน ต้องเตือนตัวเราให้เลียนแบบพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขน บนเส้นทางแห่งการรับใช้ ความรักและการให้อภัยอย่างหาที่สุดมิได้  พระเจ้ามิได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อพิพากษาโลก แต่เพื่อช่วยโลกให้รอด เราจึงไม่ควรบ่นว่าหรือตำหนิกันและกัน  แต่สนับสนุนส่งเสริมและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก การฉลองเทิดทูนไม้กางเขน เตือนใจเราให้ตระหนักถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่มีต่อเรา ผ่านทางกางเขนของพระเยซูเจ้าเราได้รับการช่วยให้รอด กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด บ่อเกิดแห่งชีวิต การให้อภัยและพระทัยเมตตาของพระเจ้า ที่เราจะต้องแบกด้วยความยินดี เพื่อช่วยโลกให้ตระหนักถึงความรักของพระคริสตเจ้าที่ถูกตรึงเพื่อความรอดของทุกคน

พระเยซูเจ้าทรงไถ่เราด้วยกางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายในสมัยนั้นให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดนิรันดร ให้เราได้เทิดทูนกางเขนและนำเครื่องหมายที่นำความรอดนี้ไปสู่ทุกคน เพื่อช่วยทุกคนให้ได้พบความรักของพระเจ้าและความรอดนิรันดร ผ่านทางแบบอย่างชีวิตของเรา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
13 กันยายน 2011