วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

การตักเตือนกันฉันพี่น้อง


 การตักเตือนกันฉันพี่น้อง 

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
ปี A
อสค 33:7-9
รม 13:8-10
มธ 18:15-20

บทนำ

ถ้าแม่คนหนึ่งพบว่าลูกสาววัย 5 ขวบของตนขโมยขนมจากร้านค้า หากเราเป็นแม่คนนั้น เราจะทำอย่างไร กรณีที่สอง ถ้าลูกชายวัยรุ่นคนหนึ่งพูดกับพ่อว่า “ผมไม่เรียนต่อละนะและไม่ไปทำงานที่ไหน ผมจะค้ายาบ้า ได้เงินดีด้วย” หากเราเป็นพ่อคนนั้น เราจะบอกลูกของเราอย่างไร อีกกรณีหนึ่ง ลูกชายวัย 12 ขวบคุยโทรศัพท์กับเพื่อนว่า “ส่งอีเมลการบ้านที่แกทำเสร็จแล้วมาให้ที จะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำ” หากเราเป็นผู้ปกครองได้ยินลูกพูดเช่นนี้ จะทำอย่างไร

ช่วงนี้ข่าวการจลาจลในเรือนจำมีความถี่มากขึ้นซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพของการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังให้เป็นคนดีกลับสู่สังคมอีกครั้งลดน้อยลง จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วกระทำผิดซ้ำอีก และถูกจับกลับเข้าคุกอีกครั้ง จนกลายเป็นปัญหาคนล้นคุก ไม่มีที่เพียงพอสำหรับคุมขังคนที่กระทำความผิด ต้องร้องขอให้สร้างคุกเพิ่ม

หากบิดามารดาให้ความสนใจตักเตือนบุตรหลานของตนตั้งแต่วัยเยาว์ หากสามีภรรยาและเพื่อนมีความซื่อสัตย์ในความรักและมิตรภาพ กล้าตักเตือนซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง บางทีรัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณสร้างทัณฑสถานเพิ่ม ปัจจุบัน มีเด็กจำนวนมากซึ่งถูกตามใจจนเคยตัวหรือปล่อยปละละเลย ถูกโอ๋เอาอกเอาใจจนเกิดเหตุ ชีวิตของพวกเขากำลังเดินเข้าสู่ประตูคุก เนื่องจากไม่มีใครคอยว่ากล่าวตักเตือน ทำให้ดวงตามืดบอดต่อความผิดของตนเองจนสายเกินแก้


1.  การตักเตือนกันฉันพี่น้อง

พระวรสารวันนี้พูดถึงหน้าที่ที่คริสตชนพึงปฏิบัติต่อกันและกัน คริสตชนไม่เพียงมีหน้าที่ต้องทำสิ่งถูกต้อง แต่ยังต้องช่วยคนอื่นให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วย เราจะต้องเป็นเกลือและแสงสว่างส่องโลก ที่ฉายแสงให้คนอื่นได้เห็นถึงความรักของพระเจ้า (ดู มธ 5:13-16) พระเยซูเจ้าได้กำหนดหลักพื้นฐานที่เราพึงมีต่อเพื่อนพี่น้อง “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) ความรักจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิบัติต่อกัน

หนังสือเลวีนิติ ได้วางระเบียบให้ชาวฮีบรูได้ตักเตือนซึ่งกันและกันระหว่างกำลังเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร โดยได้ให้แนวทางเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “อย่าเกลียดชังพี่น้องของเจ้าอยู่ในใจ แต่เจ้าจงตักเตือนเพื่อนบ้านของเจ้า เพื่อเจ้าจะไม่ต้องรับโทษเพราะเขา” (ลนต 19:18) พระเยซูเจ้าทรงรับเอาคำสอนนี้มาปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา (มธ 18:15)

นี่คือ หน้าที่แห่งความรักที่เราพึงปฏิบัติต่อพี่น้องของเรา อย่าสะดุดใจเมื่อพี่น้องประพฤติผิด เพราะพระศาสนจักรหรือกลุ่มคริสตชน มิใช่หมู่คณะของนักบุญที่มีความสมบูรณ์พร้อม  แต่เป็นหมู่คณะของคนบาปอ่อนแอและบกพร่อง ที่กำลังมุ่งไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เราต้องก้าวเดินไปด้วยกันด้วยความรักและห่วงใยกัน ไม่ทิ้งคนหนึ่งไว้ข้างหลัง แต่พยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้คนที่กระทำผิดได้สำนึกตัว กลับใจและเดินในหนทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพราะว่า “พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์... ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป” (มธ 18:14)

2.  บทเรียนสำหรับเรา

พระวรสารในวันนี้ได้ให้ภาพที่สวยงามของกลุ่มคริสตชน ที่เต็มไปด้วยความรักและความห่วงใยกันและกัน โดยได้ให้แนวปฏิบัติที่ทำให้เราสามารถสร้างมิตรภาพแบบคริสตชนที่แท้จริง ให้บังเกิดขึ้น

ประการแรก  จงตักเตือนคนที่ทำผิดด้วยความรักแบบพี่น้อง ไม่ตำหนิ กล่าวโทษหรือด่วนตัดสินจากความผิดที่เขาได้กระทำ พระเยซูเจ้าได้ให้ 3 ขั้นตอนในการตักเตือนกันและกัน เริ่มจากไปพูดกับเขาเป็นการส่วนตัวอย่างเงียบๆ และโน้มนำเขาด้วยความรักและความห่วงใย เพื่อสร้างมิตรภาพที่เสียไปให้กลับคืนมาใหม่ หากความพยายามนี้ไร้ผล จงพาอีกคนหรือสองคนไปด้วยเพื่อเป็นพยาน สุดท้ายจึงแจ้งให้หมู่คณะทราบ เพื่อให้เขาได้ตระหนักว่า หมู่คณะใส่ใจในตัวเขาและต้องการให้เขากลับคืนมา

ประการที่สอง จงภาวนาให้คนที่กระทำผิด พระเยซูเจ้าทรงเน้นความสำคัญของการภาวนาแบบหมู่คณะ “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราจะประทานให้ เพราะว่า ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:19-20) คำภาวนาของหมู่คณะสามารถทำให้ความบาดหมางยุติลง และนำความเป็นหนึ่งเดียวกลับคืนมาอีกครั้ง

ประการที่สาม จงรักและให้อภัยคนที่กระทำผิด พระเจ้าคือองค์ความรัก ที่ใดมีความรักที่นั่นมีพระเจ้า ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าต้องแสดงออกต่อเพื่อนพี่น้อง และถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสุข สันติภาพและความชื่นชมยินดี เพราะเหตุนี้เองนักบุญเปโลจึงกล่าวว่า “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8) และความรักที่แท้จริงคือการให้อภัยความผิดของกันและกันด้วยใจกว้าง ไม่ถือโทษโกรธเคืองหรือจดจำความผิด

บทสรุป

พี่น้องที่รัก แม้การตักเตือนซึ่งกันและกันจะเป็นเรื่องลำบากใจ แต่ในฐานะที่เราอยู่ในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ เรามีความรับผิดชอบต่อสังคมและหมู่คณะของเรา พระเจ้าทรงมอบบางคนให้อยู่ในความรับผิดชอบของเรา เช่น บุตรหลาน ลูกศิษย์ ลูกน้อง เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน คู่ชีวิตหรือสมาชิกในคณะ ฯลฯบุคคลเหล่านี้ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของเรา ที่เราต้องช่วยเขาให้เดินในหนทางที่ถูกต้อง

เราคริสตชนมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องตักเตือนซึ่งกันและกัน ด้วยความรักและความใส่ใจแบบพี่น้อง ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญ ความอดทน ความสุภาพอ่อนโยน ความจริงใจและความปรีชาฉลาด ทั้งนี้เพื่อรักษาชื่อเสียงและช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้กระทำสิ่งถูกต้อง โดยเริ่มจากในครอบครัวของเราเป็นอันดับแรก พ่อแม่มีหน้าที่ตักเตือนบุตรหลาน พี่ตักเตือนน้อง ผู้อาวุโสตักเตือนผู้น้อยกว่า และผู้น้อยจะต้องเชื่อฟังคำว่ากล่าวของผู้ที่อาวุโส นี่คือหน้าที่แห่งความรักที่เราไม่อาจปฏิเสธได้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
2 กันยายน 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น