วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การหย่าร้างมิได้


การหย่าร้างมิได้
ศุกร์
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
ยก 5:9-12
มก 10:1-12
พระวรสารวันนี้ ชาวฟาริสีบางคนได้ถามพระเยซูเจ้าหมายจับผิดว่า “หย่าร้างได้หรือไม่” โดยอ้างว่า โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างได้ พระเยซูเจ้าทรงทราบดีถึงจิตตารมย์ของบทบัญญัติ โมเสสอนุญาตให้หย่าร้างกันได้เพราะใจดื้อแข็งกระด้างของพวกเขา แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นมิได้เป็นเช่นนั้น พระเจ้าทรงประสงค์ให้การแต่งงานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่รวมชายหนึ่งหญิงหนึ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเอกภาพที่ไม่แบ่งแยก
ครอบครัวถือเป็นหน่วยแรกที่สำคัญที่สุด เราถือกำเนิดในครอบครัวและได้รับการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวซึ่งเริ่มต้นด้วยการแต่งงาน สำหรับคริสตชนถือว่า การแต่งงานมีต้นกำเนิดมาจากพระเจ้า ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ให้เป็นชายและหญิง (เทียบ ปฐก 1:26-27) และพระเยซูเจ้าทรงย้ำคำสอนนี้อีกครั้ง “ชายจะละบิดามารดา และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน... สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:7-9) 
การแต่งงานแบบคริสตชนเป็นพันธสัญญา ซึ่งแสดงถึงการมอบตนเองทั้งครบและความวางใจกันอย่างอิสระ บนพื้นฐานของความรักและความซื่อสัตย์ต่อกันจนวันตาย ทำให้การแต่งงานเป็นพันธะที่แยกจากกันไม่ได้ การหย่าร้างจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะขัดกับแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า ตรงข้ามกับเป้าหมายเพื่อความดีของบ่าวสาวและการให้กำเนิดบุตร อีกทั้ง ขัดแย้งกับการเป็นหุ้นส่วนชีวิตกันซึ่งเรียกร้องความมั่นคงยาวนานของชีวิตคู่
พระเยซูเจ้าทรงวางหลักปฏิบัติให้สามีภรรยาดำเนินชีวิต “เป็นเนื้อเดียวกัน” บนพื้นฐานของความรักแบบคริสตชน ซึ่งเป็นความรักแท้ตามแบบอย่างของพระองค์ นั่นคือ 1) ความรักที่เสียสละ คิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ ยอมลำบากเพื่อให้อีกฝ่ายมีความสุข, 2) ความรักที่ซื่อสัตย์ ยอมรับทั้งข้อดีและข้อบกพร่องของกันและกันเพราะไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม  และ 3) ความรักที่ให้อภัย รู้จักลืม ไม่จดจำความผิด และยกโทษกันด้วยใจจริง
เป้าหมายของการแต่งงานแบบคริสตชนคือทำให้คู่แต่งงานเป็นนักบุญ ในความรักซึ่งกันและกัน ที่พวกเขาได้ให้คำมั่นสัญญาในวันแต่งงานว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ศิษย์พระคริสต์ต้องรักษาคำมั่นสัญญาของการสมรส บนพื้นฐานของความรักที่เสียสละ ซื่อสัตย์ และให้อภัยกัน ยึดพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิตและร่วมมือกับพระหรรษทานของพระองค์ ในการสร้างครอบครัวให้เป็นสุข จนกว่าจะตายจากกัน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
28 กุมภาพันธ์ 2019
ภาพ : คู่สมรสจากโนนค้อฉลองครบรอบแต่งงาน, วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก, อากาศอำนวน, สกลนคร; 2018-10-21

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บาปของการเป็นที่สะดุด


บาปของการเป็นที่สะดุด
พฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
ยก 5:1-6
มก 9:41-50
พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงมอบแบบอย่างที่ง่ายต่อการปฏิบัติ เพื่อการเป็นคริสตชนแท้ ผู้ใดที่ให้น้ำท่านดื่มเพียงแก้วหนึ่งเพราะท่านเป็นคนของพระคริสตเจ้า... เขาจะได้บำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน” (มก 9:41) น้ำดื่มแก้วหนึ่งเป็นเครื่องหมายของการรับใช้เล็กน้อยต่อศิษย์ พระองค์ทรงถือว่า คริสตชนทุกคนเป็นคนของพระองค์และทรงให้ความสำคัญกับกิจการเล็กน้อยเป็นพิเศษ ถือเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระองค์
พระเยซูเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการหลีกหนีบาปและการไม่เป็นที่สะดุด “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดา ๆ ที่มีความเชื่อเหล่านี้ทำบาป ถ้าเขาจะถูกผูกคอด้วยหินโม่ถ่วงในทะเลก็ยังดีกว่ากระทำดังกล่าว” (มก 9:42) พระองค์ทรงมองว่า การเป็นที่สะดุดทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกในบาป เป็นเรื่องใหญ่และถือเป็นความผิดหนัก สมควรเอาหินโม่ผูกคอถ่วงทะเล หินโม่ที่ชาวยิวใช้บดข้าวสาลีหรือลูกมะกอกเทศ ทำจากหินขนาดใหญ่มาก ต้องใช้สัตว์หลายตัวลากถึงทำงานได้
การเป็นที่สะดุดคือการเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นล้มลง หรือหลงผิด ชาวยิวถือว่า บาปที่ให้อภัยไม่ได้คือการสอนผู้อื่นให้ทำบาป เพราะการทำเช่นนั้นก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบบลูกโซ่ เมื่อเขาได้รับการสอนให้ทำบาป เขาย่อมสอนผู้อื่นให้ทำบาปจนทุกคนตกในบาปเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ความเชื่อยังน้อย หากได้รับการชักนำ หรือเห็นแบบอย่างไม่ดีของเรา ย่อมทำให้เขาหลงผิด หรือตกในบาปได้ง่าย บาปแห่งการเป็นที่สะดุดจึงเป็นเรื่องร้ายแรงและไม่น่าให้อภัย
เป้าหมายของชีวิตมนุษย์คือชีวิตนิรันดรและการอยู่กับองค์พระเจ้า การเป็นสาเหตุให้ใครคนหนึ่งถอยห่างจากพระเจ้าและชีวิตนิรันดร เท่ากับว่า ทำให้เขาตกนรกซึ่งเป็นความผิดมหันต์ พระเยซูเจ้าทรงจริงจังและให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก หากอวัยวะใดเป็นสาเหตุทำให้เราตกในบาปต้องตัดมันทิ้งเสีย ยังดีกว่าตกนรกในไฟไม่รู้ดับด้วยอวัยวะครบสามสิบสอง (ดู มก 9:43-47) แม้เป็นการพูดแบบเกินจริง แต่เพื่อได้ชีวิตนิรันดรเราต้องพร้อมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง
คริสตชนปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบจากการเบียดเบียน เหมือนบรรดาศิษย์ได้รับขณะที่นักบุญมาระโกเขียนพระวรสาร แต่ความเชื่อและชีวิตนิรันดรของเรากำลังได้รับการท้าทายจากค่านิยมของโลกปัจจุบัน ศิษย์พระคริสต์ต้องดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่างดีสำหรับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุด รู้จักระมัดระวังคำพูด การกระทำ และกิริยาท่าทางของตน เพื่อมิให้เป็นสาเหตุให้ผู้อื่นตกในบาป
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
27 กุมภาพันธ์ 2019
ที่มาภาพ : http://www.democracyattwilight.org/DemocPages/Mayor%20as%20Role%20Mode.htm

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แนะนำหนังสือ “เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน”


แนะนำหนังสือ
“เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน”
หนังสือ “เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน” โดย คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ เล่มนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคริสตชน เพื่อใช้เวลาพิเศษในเทศกาลอันสำคัญยิ่งนี้ ไตร่ตรอง พิจารณาความเชื่อของเราจากการที่พระเจ้าตรัสกับเราผ่านทางบทอ่านต่าง ๆ จากพระคัมภีร์ในมิสซาประจำเทศกาลนี้
หนังสือประเภทช่วยให้ข้อคิดจากพระวาจาของพระเจ้าทางบทอ่านต่าง ๆ ในมิสซานั้น เราไม่ค่อยได้พบเห็นง่ายนักโดยเฉพาะในภาษาไทย ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้อธิบายและให้ข้อคิด ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เข้ากับการดำเนินชีวิตและมีข้อสรุปในการปฏิบัติตาม สั้น ๆ แต่ได้สาระที่ค่อนข้างครบถ้วนและเหมาะสม “ในการเข้าใจถึงวิถีชีวิตคริสตชนที่ต้องติดตามพระเยซูเจ้า ทุกก้าวย่างของชีวิต” ตามที่ผู้เขียนได้ปรารภและตั้งความหวังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลมหาพรตที่สำคัญยิ่งของบรรดาคริสตชน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้เตรียมรำพึงและไตร่ตรอง พระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเรา เพื่อนำไปดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพระวาจาที่ตนได้รับฟังในเทศกาลมหาพรตนี้
จาก "คำนิยม" ของ คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม

ทุกคนมีส่วนในงานของพระเจ้า


ทุกคนมีส่วนในงานของพระเจ้า
พุธ
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
ยก 4:13-17
มก 9:38-40
พระวรสารวันนี้ บรรดาอัครสาวกของพระเยซูเจ้าได้รายงานให้พระองค์ทราบว่า พวกเขาได้ห้ามคนหนึ่งมิให้ขับไล่ปีศาจในนามของพระองค์ เพราะเขาไม่ใช่พวกเดียวกัน (มก 9:38) ซึ่งพระเยซูเจ้าได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับพวกเขาให้มีใจกว้างและท่าทีที่ถูกต้องต่อผู้อื่น เพราะทุกคนต่างเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน ไม่มีใครสามารถทำสิ่งดีได้หากไม่ได้รับพระหรรษทานจากพระเจ้า และทุกกิจการมีความหมายในสายพระเนตรของพระเจ้า
คนที่ขับไล่ปีศาจออกไปในนามของพระเยซูเจ้าย่อมเป็นคนดี เป็นบุคคลแห่งการอธิษฐานภาวนาที่มีชีวิตสนิทสัมพันธ์กับองค์พระเจ้า แต่บรรดาศิษย์ห้ามปรามเนื่องจากเขาไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับตน พระเยซูเจ้าทรงทำให้พวกเขาเข้าใจใหม่อย่างถูกต้อง ผู้ทำความดีย่อมเป็นสิ่งดีงาม สมควรได้รับคำชมและส่งเสริมให้ทำต่อ ทรงเรียกร้องให้เรากระทำความดีและหลีกหนีความชั่ว ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกและถือเขาถือเรา
พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้มีใจกว้างและเคารพผู้อื่น หากเราขาดความเคารพความเป็นบุคคลของผู้อื่น การรักผู้อื่นย่อมเป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถรักผู้ที่เราไม่เคารพได้ เราพึงมีความใจกว้างต่อผู้อื่นและศาสนาอื่น พระเจ้าประทานมโนธรรมในใจมนุษย์ นั่นเป็นเสียงของพระเจ้า เราต้องเคารพเสียงของพระเจ้าในผู้อื่น เราไม่อาจตัดสินได้ว่า เขาผิดหากเขาเคารพเสียงของพระเจ้าในใจของตน
พระเยซูเจ้าทรงให้กำลังใจเราในการแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกันและสันติภาพ “ผู้ใดไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา” (มก 9:40) เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ความใจแคบ ความอยุติธรรม และการวิพาษวิจารณ์ที่ไร้ประโยชน์ เราสามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เมื่อเรามีใจกว้างและมองเห็นความดีของกันและกัน และตระหนักว่า “ทุกคนมีส่วนในงานของพระเจ้า” ทำให้โลกสวยงามและน่าอยู่
พระเยซูเจ้าทรงให้กำลังใจเราในการทำงานกับผู้ที่นับถือต่างนิกาย ศาสนาอื่น หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันสร้างสะพานมากกว่าสร้างกำแพง ศิษย์พระคริสต์ต้องมองเห็นความเป็นพี่น้องในบุคคลต่าง ๆ ที่พยายามทำความดีและทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างตรงไปตรงมา มอบความวางใจในพระจิตเจ้า มีทัศนคติที่เปิดกว้างและเคารพผู้อื่นเหมือนพระเยซูเจ้า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
26 กุมภาพันธ์ 2019
ภาพ : พี่น้องดอนม่วยช่วยกันเตรียมฉลองวัด, วัดดอนม่วย, สกลนคร; 2019-02-26

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เครื่องหมายของการเป็นผู้ยิ่งใหญ่

เครื่องหมายของการเป็นผู้ยิ่งใหญ่
อังคาร
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
บสร 2:1-11
มก 9:30-37
แม่คนหนึ่งเตรียมขนมแพนเค้กสำหรับบุตรชายสองคนของนาง เควินวัย 5 ขวบ และไรอันวัย 3 ขวบ ทั้งสองถกเถียงกันว่า ใครจะได้กินแพนเค้กเป็นคนแรก แม่เห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะสอนบทเรียนทางศีลธรรมกับบุตรทั้งสอง จึงพูดว่า “หากพระเยซูนั่งอยู่ตรงนี้ พระองค์คงตรัสว่า  ให้แพนเค้กน้องชายก่อน ผมรอได้’” เควินหันมาทางน้องชายและพูดว่า “ไรอัน แกเป็นพระเยซูนะ”
บรรดาอัครสาวกเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าเป็นเวลากว่าสองปี พระวรสารวันนี้แสดงถึงการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของพวกเขา โดยถกเถียงกันว่า “ใครสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกเขา” แต่ละคนต่างต้องการเป็น “ที่หนึ่ง” เป็นความทะเยอทะยานที่มีในบรรดาอัครสาวกและเราแต่ละคน สะท้อนความอิจฉาริษยา การแก่งแย่งแข่งขัน และการชิงดีชิงเด่นกันซึ่งมีอยู่ทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน
พระเยซูเจ้าตรัสว่า ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระอาณาจักรสวรรค์คือ ผู้ที่สุภาพถ่อมตนและรับใช้ทุกคน “ถ้าผู้ใดอยากเป็นที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตัวเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” (มก 9:35) ทรงใช้เด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมายืนท่ามกลางพวกเขา เพื่ออธิบายความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในพระอาณาจักรสวรรค์ ทั้งนี้เพราะเด็กในสมัยนั้นไม่มีสถานะตามกฎหมายและช่วยตัวเองไม่ได้  ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไร้ตำแหน่ง หรือสิทธิพิเศษ ต้องขึ้นอยู่กับบิดามารดา หรือผู้ปกครองเท่านั้น
พระเยซูเจ้าทรงต้องการแสดงให้เห็นว่า เด็กเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสุภาพถ่อมตน ความวางใจ ความเชื่อฟัง ความไร้เดียงสา และการพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นสำหรับพระอาณาจักรของพระเจ้าและเครื่องหมายของการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ การเป็นผู้รับใช้หมายถึง การมีจิตใจเหมือนเด็กที่ตระหนักว่า ไม่สามารถพึ่งตนเองได้โดยลำพัง ต้องวางใจในพระเจ้าและพร้อมรับใช้ทุกคน
คริสตชนต้องทำตัวว่างเปล่า ไม่ติดยึดกับตำแหน่ง เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความภูมิใจใดใด เพื่อเป็นเครื่องมือที่ดีในพระหัตถ์ของพระเจ้า เหมือนพระเยซูเจ้า ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) ศิษย์พระคริสต์ถูกเรียกให้เป็นผู้รับใช้ มิใช่ให้ผู้อื่นรับใช้ การรับใช้เป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการเป็นพยานความรักต่อพระเจ้าและผู้อื่น พระเยซูเจ้าทรงเป็นต้นแบบของเรา พระองค์เสด็จมามิใช่เพื่อให้ผู้อื่นรับใช้แต่เพื่อรับใช้ทุกคน (ดู มธ 20:28)
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
25 กุมภาพันธ์ 2019
ภาพ : ยายหลานช่วยกวาดถนน, วัดดอนม่วย, สกลนคร; 2019-02-25

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ, ปีที่ 1 ฉบับที่ 41


สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ

ปีที่ 1  ฉบับที่ 41;  อาทิตย์ที่ 24  กุมภาพันธ์ 2019 (2562): http.//dondaniele.blogspot.com

107 หมู่ 6 บ้านดอนม่วย ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130È086-231-3231

สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
ฉลองวัดพระเมตตาแห่งพระเยซูเจ้า โนนค้อ; เสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2019
พี่น้องที่รัก บทอ่านวันนี้มีความสัมพันธ์กันเรื่องการรักศัตรูและการให้อภัย มาตรฐานของความรักแบบคริสตชน ซึ่งเรียกร้องการให้อภัยกันโดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งยังให้คำแนะนำเราเกี่ยวกับการเลือกที่ถูกต้องและการเลือกที่ผิด การเลือกที่ถูกต้องนำเราไปหาพระเจ้า และการเลือกผิดทำให้ความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องถูกตัดขาด
พระเยซูเจ้าทรงวางกรอบสำหรับผู้อยากเป็นศิษย์ของพระองค์ เพื่อการดำเนินชีวิตในความรักครบครัน โดยเฉพาะในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง ซึ่งสามารถเข้าใจได้ใน 2 ลักษณะคือ การทำดีต่อทุกคนและต้อนรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก แต่ความรักยิ่งใหญ่กว่าคือ การรักศัตรูและให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดในชีวิตของพระเยซูเจ้า ในแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน
 "สาวเข็นฝ้าย" แม่บ้านวัดโนนค้อโอกาสฉลองวัด
บทอ่านที่ 1 หนังสือซามูเอลได้แสดงให้เราเห็นว่าดาวิดได้เลือกให้ความเคารพ ไม่กล้าแตะต้องผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมตั้งให้เป็นกษัตริย์ ดาวิดได้ไว้ชีวิตและการให้อภัยสิ่งที่กษัตริย์ซาอูลทรงกระทำกับตนเอง ขณะที่กษัตริย์ซาอูลยังคงเลือกสิ่งผิดด้วยการแก้แค้น
บทอ่านที่ 2 นักบุญเปาโลเปรียบเทียบพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพกับอาดัมในหนังสือปฐมกาล โดยได้บอกชาวโครินธ์ถึงสิ่งที่อาดัมคนแรกได้กระทำผิด เพราะการไม่เชื่อฟังซึ่งนำไปสู่ความตาย ขณะที่พระเยซูเจ้า อาดัมคนใหม่ทรงเลือกสิ่งถูกต้องคือ การทำให้แผนการช่วยมนุษย์ให้รอดบรรลุถึงความสมบูรณ์
บทพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงต้องการวางกรอบสำหรับผู้อยากเป็นศิษย์ของพระองค์ เพื่อการดำเนินชีวิตในความรักครบครัน โดยเฉพาะในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง ซึ่งสามารถเข้าใจได้ใน 2 ลักษณะคือ การทำดีต่อทุกคนและต้อนรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก และการรักศัตรูและให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา
 เยาวชนกำลังกลัดดอกไม้ต้อนรับผู้มาเยือน
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1.         ขอบคุณพี่น้องที่ทำโรงทานและไปร่วมฉลองวัดพระเมตตาแห่งพระเยซูเจ้า โนนค้อ
2.         เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2019 เชิญร่วมฉลองวัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย และวัดแม่พระที่พึ่งคริสตชน ป่าหว้าน
3.         ขอการสนับสนุนซองขอมิสซา ของรางวัลเซียมซี และโรงทานน้ำใจจากพี่น้อง เชิญชวนพี่น้องได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการพัฒนาวัดเพื่อเตรียมฉลองวัดของเรา เป็นต้นการคืนดีกับพระเจ้าและร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณเอกวาร โดยคุณพ่อญาณารณพ มหัตกุล
4.         เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2019 เชิญร่วมฉลองวัดนักบุญยอแซฟ ดอนดู่ พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น.
5.         เสาร์ที่ 16 มีนาคม 2019 เชิญร่วมฉลองวัดพระจิตเจ้า โนนหัวช้าง พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น.
6.         อังคารที่ 19 มีนาคม 2019 เชิญร่วมฉลองวัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น.
7.         เงินทาน อาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2019: ดอนม่วย 1,568.- บาท; โนนค้อ 1,264.- บาท และรายรับฉลองวัด 138,080.- บาท
8.         เงินโครงการก่อสร้างวัดโนนค้อ: 18) คุณขันทอง ลามอร์ 1,120.- บาท และ 19) อุทิศ ยอแซฟเหล็ก-กาทารีนา เชย มณีนพ 540.- บาท ยอดเงินในบัญชีโครงการก่อสร้างวัดฯ จำนวน 207,299.33 บาท
9.         ขอบคุณ กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 3-4 ที่มาทำความสะอาดวัด สัปดาห์หน้ากลุ่มที่ 5-6 (โนนค้อ: กลุ่มที่ 1)
 แม่บ้านกำลังกลัดดอกไม้ต้อนรับผู้มาเยือน
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
24
07.00 น.
08.30 น.
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
สุขสำราญพี่น้องชาวโนนค้อ
† สุขสำราญพี่น้องชาวดอนม่วย
จันทร์-เสาร์
25-2
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา

 นักฟ้อนรำโอกาสฉลองวัด; เสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2019












วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

มาตรฐานความรักแบบคริสตชน


มาตรฐานความรักแบบคริสตชน
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
ปี C
1 ซมอ 26:2,7-9, 12-13, 22-23
1 คร 15:45-46
ลก 6:27-28
บทนำ
ปี 1947 อังกฤษได้แบ่งอินเดียของเป็นฮินดูอินเดียกับมุสลิมอินเดีย (ปากีสถาน) มหาตะมะ คานธีได้อดอาหารประท้วงเพื่อหยุดความรุนแรงที่ปะทุขึ้นระหว่างฮินดูกับมุสลิม ในห้วงเวลานั้นมีฮินดูคนหนึ่งมาหาคานธีและสารภาพว่า “ผมคงต้องตกนรกและไม่มีใครช่วยผมได้” คานธีถามชายคนนั้นว่าทำไมเขาถึงคิดว่าตนเองต้องตกนรก ชายนั้นตอบว่าเขาเป็นฮินดูและมุสลิมได้ฆ่าลูกของเขาระหว่างเกิดการจลาจล
เพื่อแก้แค้นชายฮินดูได้ฆ่าเด็กมุสลิมและพ่อแม่ของเขา แต่หลังจากนั้นเขารู้สึกผิดมาก คานธีกล่าวว่า “ฉันรู้วิธีหนึ่งสามารถช่วยท่านมิให้ตกนรก จงไปหาเด็กมุสลิมคนหนึ่งที่สูญเสียบิดามารดา นำเขากลับบ้าน ให้การศึกษาและเลี้ยงดูเขาให้เติบโตขึ้นแบบมุสลิม แล้วท่านจะไม่ตกนรก” เมื่อคานธีถูกลอบสังหารปี 1948 อริยบทสุดท้ายที่คานธีกระทำคือ ประนมมือขึ้นแต่ริมฝีปาก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้อภัยตามแบบฮินดู
คานธีเป็นผู้เข้าใจความหมายของ การรักศัตรูและการให้อภัย” ซึ่งเป็นมาตรฐานความรักแบบคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอน ทั้งนี้เพราะพระองค์ตระหนักว่าความชั่วไม่สามารถชนะได้ด้วยความรุนแรงและการแก้แค้น แต่ชนะได้ด้วย “ความดี ความรัก และการให้อภัย” ดังนั้น คริสตชนต้องรักศัตรูและให้อภัยผู้ที่กระทำผิดต่อเรา
1.       มาตรฐานความรักแบบคริสตชน
พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าต้องการวางกรอบสำหรับผู้อยากเป็นศิษย์ของพระองค์ เพื่อการดำเนินชีวิตในความรักครบครัน โดยเฉพาะในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง ซึ่งสามารถเข้าใจได้ใน 2 ลักษณะคือ การทำดีต่อทุกคนและต้อนรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก แต่ความรักยิ่งใหญ่กว่าคือ การรักศัตรูและให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดในชีวิตของพระเยซูเจ้า ในแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน
 “การรักศัตรูและการให้อภัย” เป็นมาตรฐานของความรักแบบคริสตชน ซึ่งสะท้อนความรักของพระเจ้าที่ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ไม่มีเงื่อนไข และไร้ขีดจำกัด แต่ธรรมชาติและความอ่อนแอตามประสามนุษย์ทำให้เรารักศัตรูได้ยาก เราเลือกรักเฉพาะผู้รักเราและทำดีต่อเรา พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจและรู้ถึงความยากลำบากนี้ พระองค์ทรงท้าทายเราให้ออกจากตัวเอง “ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร” (ลก 6:32)
เราต้องรักศัตรูเพราะการรักศัตรูเป็นรูปแบบหนึ่งของการประกาศพระวรสาร “ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13:35) อีกทั้ง ดำเนินชีวิตตากกฎทองที่พระเยซูเจ้าตรัสถึง “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด” (ลก 6:31)  ด้วยการเลียนแบบพระบิดาเจ้าสวรรค์ในความดีและความเมตตากรุณา  “เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและคนชั่วร้าย” (ลก 6:35)
2.       บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องมีหัวใจแห่งการให้อภัย พระเยซูเจ้าได้วางแนวทางสำหรับศิษย์ของพระองค์บนพื้นฐานของ “ความรักศัตรูและการให้อภัย” ในการปฏิบัติต่อผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา ที่ทำให้เราต้องลำบากเดือดร้อนหรือไม่มีความสุข พระองค์บอกเราว่าเราต้องยกโทษและให้อภัยด้วยใจกว้าง แม้เป็นเรื่องยากลำบากในการรักตอบ แต่อย่างน้อยเราต้องไม่ถือโทษโกรธเคืองหรือผูกพยาบาท นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงท้าทายคริสตชนแต่ละคน
ประการที่สอง เราต้องรักและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ทำร้ายเรา สิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัส “จงรักศัตรู... จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน” (ลก 6:27-28) ชัดเจนในตัวมันเอง เพราะเวลาที่เราเกลียดชังและแค้นเคือง ผลสุดท้ายคือการทำลายตัวเราเองมากกว่าทำลายศัตรูของเรา ทำให้เราวุ่นวายใจ ไม่เป็นสุข ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความเกลียดชังไม่ได้ทำอะไรศัตรูของเรา “กระสุนแห่งความเกลียดชังและแค้นเคืองจะทำลายศัตรูของเราได้ เมื่อมันทะลุผ่านร่างของเราแล้วเท่านั้น”
ประการที่สาม เราต้องดำเนินชีวิตตามกฎทอง “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด” (ลก 6:31)  เราต้องพยายามดำเนินชีวิตเยี่ยงพระบิดาเจ้าสวรรค์ที่ทรงรักทั้งคนดีและคนชั่ว คนชอบธรรมและคนอธรรม ความรักจึงเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความครบครันเหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเราให้รักเพื่อนมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ต้องรักแบบไร้ข้อจำกัดและไม่มีกรณียกเว้น มาตรฐานความรักแบบคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดและทำให้เห็นด้วยชีวิตของพระองค์คือ การรักศัตรูและการให้อภัย ให้เราได้รักและให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเราด้วยใจกว้าง ตอบแทนความชั่วด้วยความดี แม้เป็นสิ่งที่ทำได้อยาก แต่อย่างน้อยเราต้องอธิษฐานภาวนาเพื่อเขา
คริสตชนต้องเป็นคนดีและปฏิบัติต่อกันเยี่ยงพระบิดาเจ้าสวรรค์ที่ทรงความดีบริบูรณ์ ทัศนคติและกิจการทุกอย่างที่เราทำต้องเลียนแบบพระเจ้าในความใจดี มีเมตตา และความรัก เป็นการง่ายที่จะรักคนที่รักเรา แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราทำมากกว่านั้น ศิษย์พระคริสต์ต้องรักศัตรู ทำดีต่อผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา และอธิษฐานภาวนาเพื่อเขา เราถูกเรียกให้เป็นผู้ให้อภัย มีความเมตตากรุณาและไม่แก้แค้น
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
23 กุมภาพันธ์ 2019
ที่มาภาพ: http://www.tellthelordthankyou.com/blog/2017/9/28/luke-627-28-enemies