วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันต่อต้านยาเสพติด


คำกล่าวเปิดงานวันต่อต้านยาเสพติด

วันที่ 26 มิถุนายน 2556 ณ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
 
เวลาเป็นเด็ก ยังจำคำขวัญที่ได้ยินอยู่บ่อยทางวิทยุ “ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” เมื่อโตขึ้นได้เห็นถึงพิษภัยของยาเสพติด คนที่ตกเป็นทาสของยาเสพติดได้กลายเป็นปัญหาของสังคม เริ่มจากลักเล็กขโมยน้อย ฉกชิงวิ่งราว ปล้นจี้ บางคนสามารถฆ่าบิดามารดาผู้ให้กำเนิดได้ เพราะขอเงินไปซื้อยาบ้าไม่ได้ อย่างที่เราได้ยินเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ
 
ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ทำให้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี  เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลกมาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน  นั่นแสดงว่าประชาคมโลกให้ความสำคัญและมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด

ยาเสพติดเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และมีแนวโน้มแพร่ระบาดรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งในแง่เศรษฐกิจถือเป็นการสูญเสียโอกาส เพราะเด็กและเยาวชนคือผู้ที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง

โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ ถือเป็นหน้าที่ที่จะร่วมกันป้องกันและเฝ้าระวัง มิให้ยาเสพติดเข้ามาระบาดในโรงเรียน คณะผู้บริหารและครูทุกคนต้องช่วยกันให้ความรู้ และปลุกจิตสำนึกให้นักเรียนทุกคนเข้าใจถึงพิษภัยและห่างไกลยาเสพติด ดังกิจกรรม “คนไทยหัวใจสีขาว ร่วมต้านยาเสพติด” ที่เราจัดขึ้นในวันนี้ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ยาเสพติดจะพินาศ คนไทยทั้งชาติต้องร่วมมือกัน”

พ่อขอให้ลูกๆ เซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ทุกคน ได้ตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติด ไม่ข้องแวะกับยาเสพติดทุกชนิดเหมือนป้ายรณรงค์ที่เราบอกใครต่อใครว่า “เด็กยุคใหม่ ห่างไกลยาเสพติด” เราสามารถ เท่...ดี...ได้ โดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติด ขอให้รู้จักดูแลตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีเหตุมีผลและแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้อง และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์หรือเชิงวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเราเองและสังคม

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว พ่อขอเปิดงานวันต่อต้านยาเสพติด, วันสุนทรภู่และวันวิชาการ” ประจำปี พุทธศักราช 2556 ณ บัดนี้



คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
26 มิถุนายน 2556

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ท่านละว่าเราเป็นใคร


ท่านละว่าเราเป็นใคร

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
ปี C
2 ศคย 12:10-11
กท 3:26-29
ลก 9:18-24

บทนำ

 มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่เด็กหนุ่มวัย 15 ปีพร้อมกับพ่อของเขากำลังขับรถผ่านสนามบินเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐโอไฮโอ ทันใดนั้นเขาเห็นเครื่องบินฝึกหัดลำหนึ่งเสียการควบคุมขณะแล่นลงจอด เขาร้องบอกพ่อให้หยุดรถและเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งสองช่วยกันดึงร่างนักเรียนฝึกบินวัย 20 ปี ออกจากตัวเครื่อง เนื่องจากได้รับบาดเจ็บสาหัสมาก นักบินฝึกหัดคนนั้นได้สิ้นใจในอ้อมแขนของเขา

เมื่อเด็กหนุ่มคนนี้กลับถึงบ้าน เขาโผเข้ากอดแม่และร้องไห้ เขาบอกแม่ว่า นักบินฝึกหัดคนนั้นคือเพื่อนร่วมชั้นเรียนการบินของเขาเอง เขาได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานไปเข้าเรียนที่โรงเรียนการบิน โดยมีความมุ่งมั่นว่าจะได้ใบอนุญาตขับเครื่องบิน และเป็นนักบินเมื่อโตขึ้น แต่เหตุการณ์วันนั้นสะเทือนใจเขามาก ทำให้เขาเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียวในห้อง พ่อกับแม่ต่างคิดว่าเขาคงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนักบินแล้ว

เช้าวันรุ่งขึ้น แม่ของเด็กคนนี้ได้เข้าไปในห้องของเขาและพบสมุดบันทึกที่เปิดทิ้งไว้ เธอพบข้อความที่เขียนในหน้าหนึ่งว่า “ลักษณะของพระเยซูเจ้า” พร้อมกับข้อความที่ให้รายละเอียดด้านล่างว่า “พระเยซูไม่มีบาป สุภาพอ่อนโยน เป็นขวัญใจคนจน เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดพระเจ้า...” แม่เข้าใจทันทีว่า ลูกชายได้หันหน้าพึ่งพระเยซูเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงนำทาง

เด็กหนุ่มคนนี้คือ นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดกลับมายังโลก เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไปถึงจุดนั้นคือพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพละกำลังและนำทางเขาในช่วงเวลาของความยากลำบากจากเหตุการณ์ที่เขาเผชิญในวัยหนุ่ม เรื่องนี้ ยังได้ให้คำตอบต่อคำถามของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ว่า “ท่านละว่าเราเป็นใคร”

1.     ท่านละว่าเราเป็นใคร

นีล อาร์มสตรอง ได้ตอบคำถามนี้อย่างซื่อๆ ว่า “พระองค์ไม่มีบาป พระองค์ไม่เห็นแก่ตัว พระองค์คือคนที่คิดถึงผู้อื่น...” เป็นคำตอบที่ออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ และจากประสบการณ์ของเขาเองที่มีกับพระเยซูเจ้า เราแต่ละคนต้องทำเช่นเดียวกัน  เราต้องตอบคำถามของพระเยซูเจ้า “ท่านละว่าเราเป็นใคร” จากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของเรากับพระองค์ การได้ชื่อว่าเป็นคริสตชน คือการมีประสบการณ์โดยตรงกับพระเจ้า  เป็นการค้นพบด้วยตนเองว่า พระเยซูเจ้าเป็นใคร และมีความหมายต่อชีวิตเราอย่างไร

สำหรับบางคน พระเยซูเจ้าคือผู้นำทางที่เขาสามารถมาหา เพื่อพึ่งพาการนำทางของพระองค์ได้ในช่วงเวลาของความสับสนวุ่นวายในชีวิต สำหรับบางคน พระองค์คือพละกำลังที่สามารถทำให้เขามีความเข้มแข็งในช่วงเวลาของการทดลอง แต่เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์คือบุคคลที่เข้าใจเราและอยู่เคียงข้างเราเสมอ ไม่เคยทอดทิ้งเรา แม้ในห้วงเวลาที่เราไม่เข้าใจตัวเราเองหรือไม่ต้องการพระองค์เลยก็ตาม หากเราไม่รู้จักพระองค์ด้วยตัวเราเอง ก็เท่ากับว่าเรากำลังลดระดับศาสนาของเราให้เป็นเพียงเทพนิยายที่เล่าสืบต่อกันมา

ในส่วนที่สองของพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเรา ด้วยการประกาศกับบรรดาศิษย์ว่า  พระองค์จะทรงรับทนทรมาน ถูกปฎิเสธและสิ้นพระชนม์ หนทางที่พระองค์ได้เลือกคือหนทางแห่งไม้กางเขน กางเขนจึงเป็นหนทางของผู้ที่ปรารถนาจะติดตามพระองค์ทุกคน ดังนั้น พระศาสนจักรจึงประกาศเรื่องพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน (ดู 1 คร 1:23) แม้จะฟังดูเป็นเรื่องโง่เขลาในสายตาของคนทั่วไปที่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้า แต่ละคนต่างแสวงหาความสะดวกสบายและความสุขในชีวิตเป็นลำดับแรก เราจะติดตามพระคริสตเจ้าในโลกปัจจุบันอย่างไร

2.     บทเรียนสำหรับเรา

เงื่อนไขที่พระเยซูเจ้าทรงวางไว้สำหรับเรา ในการเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ในพระวารสารวันนี้คือ “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตัวเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวันและติดตามเรา” (ลก 9:23)

ประการแรก การไม่นึกถึงตัวเอง คือการปฏิเสธตัวเอง ไม่ใส่ใจในตนเอง หรือคิดถึงตัวเองให้น้อยลงเพื่อจะได้ให้เวลาและคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและอยู่เหนือคนอื่น หรือถือว่าตัวเองคือความถูกต้องโดยไม่ฟังใคร อีกทั้งไม่ยึดติดกับข้าวของเงินทองฝ่ายโลก เพื่อจะสามารถปฏิบัติได้อย่างนักบุญเปาโลที่ว่า “งานทุกอย่างเป็นไปเพื่อความดีของผู้ที่รักพระเจ้า”

ประการที่สอง การแบกกางเขนของตน คือการพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากต่างๆ แม้กระทั่งยอมทนทุกข์เพื่อเห็นแก่พระเจ้า ผู้ที่แบกกางเขนของตนทุกวันจึงเป็นผู้ที่ติดตามพระองค์อย่างซื่อสัตย์  และพระองค์จะประทานพลังและพระหรรษทานที่จำเป็นแก่เขาในการเอาชนะอุปสรรคทุกอย่าง

ประการสุดท้าย การติดตามพระองค์ทุกวัน เครื่องหมายของการติดตามพระคริสตเจ้า คือการเลียนแบบอย่างและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ในชีวิตประจำวัน ในความรัก ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการแบ่งปันรับใช้ซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะยื่นมือช่วยเหลือคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยใจกว้าง ประการสำคัญคือการให้อภัยความผิดของกันและกัน เหมือนพระบิดาเจ้าผู้ทรงความดีบริบูรณ์และให้อภัยทุกคนเสมอไม่สิ้นสุด

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เราคริสตชนไม่มีหนทางอื่นในการติดตามพระเยซูเจ้า นอกจากหนทางของพระคริสตเจ้าคือ หนทางแห่งไม้กางเขนและการทรมาน กางเขนนำไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ และความทรมานนำไปสู่ความรอดพ้น กางเขนนำมาซึ่งชัยชนะ และการทรมานยอมลำบากเพื่อผู้อื่นนำมาซึ่งสันติสุขที่แท้จริง  ปัญหาก็คือ เราได้เลียนแบบพระเยซูเจ้าและติดตามพระองค์อย่างซื่อสัตย์ หรือเพียงแค่ชื่นชมพระองค์เท่านั้น

เราได้แบกกางเขนของตนและติดตามพระองค์ในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน หรือว่ากำลังนั่งอยู่ริมทางเพื่อชื่นชมและปรบมือให้พระองค์ ปล่อยให้พระองค์แบกไม้กางเขนโดยลำพัง พระวรสารวันนี้ได้ท้าทายเราด้วยคำถามที่สำคัญสองประการ พระเยซูเจ้ามีความหมายสำหรับชีวิตของเราอย่างไร และเราเป็นใครในชีวิตของพระเยซูเจ้า ไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้แทนเราได้ นอกจากตัวเราเองเท่านั้น

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
21 มิถุนายน 2013

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อิตาลีรำลึก (จบ)


รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศอิตาลี จะบอกว่ารัฐบาลอิตาลีปัจจุบันกินบุญเก่าของอาณาจักรโรมันในอดีตคงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะล่องรอยทางอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรมและการปกครองในยุคโรมันโบราณ ที่พบเห็นทั่วไปในอิตาลีได้สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศและชาวอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรุงโรมซึ่งเต็มไปด้วยโบราณสถานล้ำค่ามากมาย ได้ทำให้อมตะนครแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวสีสันและกลายเป็น “นครที่ไม่มีวันตาย”
โคโลเซียม หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ทุกคนรู้จัก
1.     โคโลสเซียม

โคโลสเซียม (Colosseum) หรือที่ชาวอิตาลีเรียกว่า โคโลเซว (Coloseo) เป็นสนามกีฬากลางแจ้งใหญ่ที่สุดของอาณาจักรโรมัน แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ทางด้านการออกแบบ สถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของชาวโรมันเมื่อเกือบสองพันปีก่อน ที่สามารถสร้างสิ่งยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ทุกคนรู้จัก ถือเป็นหน้าตาและสัญลักษณ์ของกรุงโรมที่ใครต่อใครต้องมาแวะ มิฉะนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงกรุงโรม โคโลเซวจึงไม่เคยว่างเว้นนักท่องเที่ยว


โคโลเซว ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของโรมันฟอรั่ม (Romano Foro) สร้างขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 70-72 สมัยจักรพรรดิเวนปาเซียน (Vespasian) เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 80 สมัยจักรพรรดิทิตุส (Titus) และได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในสมัยของจักรพรรดิโดมิเซียน (Domitian) สามารถบรรจุผู้ชมได้ 50,000 คน ใช้เพื่อความบันเทิงในการชมการแข่งขันการต่อสู้ของเหล่านักสู้ที่เรียกว่า กลาดิเอเตอร์” (Gladiators) และชมการแสดงต่างๆ นอกจากนี้ โคโลเซวยังใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ ทั้งนักโทษการเมือง เชลยสงครามและนักโทษทางศาสนา ซึ่งหมายถึงบรรดาคริสตชนที่ถูกโรมันเบียดเบียนเป็นเวลากว่า 200 ปี

กล่าวกันว่ามีผู้คนประมาณ 5 แสนคนที่ต้องจบชีวิต ณ สนามแห่งนี้ นับตั้งแต่จักรพรรดิเนโรกล่าวหาว่าคริสตชนเป็นผู้เผากรุงโรมในปี ค.ศ. 60 คริสตศาสนาได้กลายเป็นศาสนาต้องห้ามและมีโทษประหารชีวิต คริสตชนต้องหลบซ่อนตัวตามอุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า กาตากอมป์” (Catacomba) การเบียดเบียนศาสนาสิ้นสุดในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน หลังจากได้รับชัยชนะจากสงครามอย่างอัศจรรย์ด้วยเครื่องหมายกางเขนบนท้องฟ้า และได้ประกาศให้คริสตศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอาณาจักรโรมันในปี ค.ศ. 305


ส่วน โรมันโฟรั่ม คือซากเมืองเก่าโบราณซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ในอดีต ตามตำนานเล่าขานกันว่าพี่น้องฝาแฝดที่ชื่อโรมูลุสและเรมุส (Romulus et Remus) เป็นผู้สร้างกรุงโรมตรงจุดนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน ในปี 753 ก่อนคริสตกาล โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนานหลายปี ทำให้คิดถึงสำนวนที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียรพยายามกว่าจะประสบผลสำเร็จหรือเจริญเติบโตถึงขีดสุด แต่ที่สุดแล้วก็ถึงคราวเสื่อมสลายตามกาลเวลา เหลือไว้แต่เพียงซากปรักหักพังอันแสดงถึงรุ่งเรืองในอดีต นี่คือสัจธรรมที่แสดงถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง
น้ำพุเทรวี น้ำพุที่ใหญ่และสวยงามที่สุดและเป็นสัญลักษณ์ของกรุงโรม
2.     น้ำพุเทรวี

น้ำพุเทรวี (Trevi) เป็นน้ำพุที่ใหญ่และสวยงามที่สุดจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงโรม ชื่อ “เทรวี” มาจากคำ Tre vie ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า ถนน 3 สาย น้ำพุแห่งนี้สร้างตรงจุดเชื่อมต่อของถนน 3 สาย และเป็นจุดปลายทางของท่อส่งน้ำที่มีชื่อว่า อากวา วีร์โก” (Aqua Virgo) เล่ากันว่าทหารโรมันได้รับคำสั่งให้หาแหล่งน้ำ เด็กหญิงคนหนึ่งได้ชี้ให้มาพบแหล่งน้ำนี้ ปรากฏว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์คุณภาพดี จึงได้ชื่อว่า น้ำแห่งผู้บริสุทธิ์ หรือ Aqua Virgo นับเป็นท่อส่งน้ำที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงโรมที่ส่งไปเลี้ยงกรุงโรมไกลถึง 13 กิโลเมตร ท่อส่งน้ำนี้ใช้งานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง จนกระทั่งถูกพวกโกธ (Goth) เข้าปล้นกรุงโรมได้ทำลายไปในปี ค.ศ. 537-538 ตามปกติแล้วชาวโรมันจะสร้างน้ำพุไว้บริเวณปลายทางของท่อส่งน้ำ

น้ำพุเทรวี เป็นศิลปะแบบบารอค (Baroque) ซึ่งเน้นความสง่างามและความยิ่งใหญ่ พระสันตะปาปา นิโคลาส ที่ 5 ซ่อมแซมท่อส่งน้ำนี้ขึ้นมาใช้การใหม่ในปี ค.ศ. 1453 และได้สร้างน้ำพุขึ้นมา  พระสันตะปาปา อูร์บาโน ที่ 8 ได้ให้ ปิเอโตร แบร์นินี (Pietro Bernimi: 1562-1629) ออกแบบบูรณะน้ำพุแห่งนี้ให้ดูตระการตามากขึ้นในปี ค.ศ. 1629 แบร์นินีได้ขยายน้ำพุให้หันหน้าไปยังพระราชวังฤดูร้อนของพระสันตะปาปา (Quirinale) (ปัจจุบันเป็นที่พำนักของประธานาธิบดีอิตาลี) ต่อมานิโกลา ซัลวี (Nicola Salvi: 1697-1751) ออกแบบและต่อเติมน้ำพุนี้ให้เป็นศิลปะแบบบารอคในปี ค.ศ. 1732-1762 ส่วนปราสาทด้านหลังของน้ำพุเป็นปราสาทประจำตระกูลคอนติ (Conti) มีตำแหน่งเป็นท่านดยุ๊ค (Duke)

พูดถึงตำนานเกี่ยวกับน้ำพุเทรวีมีหลายเรื่อง แต่ตำนานที่เล่าอยู่ในหลักสูตรและในตำราเรียนของอิตาเลียนมีว่า “ผู้ใดปรารถนาจะพบรักแท้ ให้โยนเหรียญ 1 เหรียญ (เลข 1 แทนรักเดียวใจเดียว), ผู้ใดปรารถนาจะได้โชคลาภ ให้โยนเหรียญ 2 เหรียญ (เลข 2 มีความหมายเท่ากับทวีคูณ) และผู้ใดปรารถนาจะกลับมาที่กรุงโรมอีกครั้ง ให้โยนเหรียญ 3 เหรียญ (เลข 3 หมายถึงนิรันดรกาลตามความหมายในพระคัมภีร์)” ด้วยความเชื่อตามตำนานดังกล่าว นักท่องเที่ยวที่มาเยือนน้ำพุเทรวีต้องหันหลังโยนเหรียญลงไปในน้ำพุทุกครั้งไป

ตลอดเวลาสองปีที่ผู้เขียนเรียนที่กรุงโรม ได้แวะเวียนมาที่น้ำพุแห่งนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยโยนเหรียญลงไปเลยสักครั้งเดียว ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ ไม่มีเงิน แต่ถึงกระนั้นยังได้มีโอกาสกลับมาที่กรุงโรมอีกครั้ง (แสดงว่าตำนานดังกล่าวจึงไม่น่าจะจริง) แต่ที่จริงแท้แน่นอนคือ มีคนโยนเหรียญลงในน้ำพุเฉลี่ยวันละ 3,000 ยูโร เป็นจำนวนเงินที่มากพอสำหรับสร้างประโยชน์แก่สังคมได้ นี่คือเหตุผลที่ยังคงต้องมีตำนานดังกล่าวอยู่ถึงทุกวันนี้
 
ส่งท้าย

การไปแสวงบุญฝรั่งเศสและอิตาลีครั้งนี้ ทำให้นึกถึงสำนวนภาษาฝรั่งเศสบทหนึ่งที่เคยเรียนเวลาเป็นเด็ก Le voyage forme la geneses.” แปลว่า การเดินทางช่วยกล่อมเกลาเยาวชน เด็กๆ ย่อมสนุกกับการเดินทางเพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน แม้ผู้เขียนและคณะที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันจะเลยวัยเยาว์กันมานานมากแล้ว แต่การได้เดินทางไปแสวงบุญต่างแดน ได้พบเห็นสถานที่ บุคคลและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป ย่อมเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นและช่วยเพิ่มพูนความเชื่อศรัทธาของตน ได้ไม่น้อยเช่นกัน
 บันไดสเปนและที่พำนักของประธานนาธิบดีอิตาลี
 
ขอบคุณเป็นพิเศษ คุณแม่โดนาตา พีรพงศ์พิพัฒน์ มหาธิการิณีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ผู้เขียนให้ร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย แต่ละแห่งที่ไปและเรื่องราวที่กล่าวถึง เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งที่ได้รับรู้จากการศึกษาค้นคว้าและเห็นมา จึงนำมาแบ่งปันแบบเล่าสู่กันฟัง อาจไม่สมบูรณ์หรือมีสีสันเหมือนมืออาชีพ แต่ถือเป็นสิ่งละอันพันละน้อยและของฝากจากแดนไกลสำหรับคนที่ยังไม่เคยไปมาก่อน และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะเดินทางไปเยี่ยมชมในอนาคตข้างหน้าได้บ้าง

กล่าวกันว่า หากอิฐแต่ละก้อนที่ทับซ้อนกันเป็นซากปรักหักพังของโบสถ์วิหารหรือกำแพงเมือง ในแต่ละแห่งมีชีวิต คงสามารถบอกเล่าเรื่องราวและความจริงที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนให้เราได้ทราบมากกว่านี้ และด้วยข้อจำกัดของสติปัญญามนุษย์ อีกทั้งเวลาและหน้ากระดาษที่ไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้ทั้งหมด แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของการแสวงบุญ แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและชวนศรัทธา เมื่อถึงคราวที่จะต้องกล่าวคำอำลาและจากบุคคลหรือสถานที่แห่งนั้น ย่อมเป็นเวลาแห่งความเจ็บปวดและโศกเศร้าเสมอ ดังสำนวนภาษาฝรั่งเศสที่ว่า “Partir c'est mourir un peu.” ลาก่อนอิตาลี Ciao Italia!
Don Daniele เรียบเรียง/ภาพ

 

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข่าวดีแห่งการให้อภัย


ข่าวดีแห่งการให้อภัย

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา
ปี C
2 ซมอ 12:7-10, 13
กท 2:16, 19-21
ลก 7:36-8:3

บทนำ

 มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อสมหมายได้เล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้พระสงฆ์ท่านหนึ่งฟังว่า พ่อของเขาได้แยกทางกับแม่ของเขาตอนเขาอายุได้ 11 ขวบ ทำให้ครอบครัวของเขาล่มสลาย ทุกคนในครอบครัวตกอยู่ในความทุกข์ระทมยกเว้นตัวเขาเอง เขาเริ่มเกลียดพ่อของตัวเอง โดยเฉพาะสิ่งที่พ่อทำให้แม่ที่เขารักมากต้องเจ็บปวด เมื่ออายุได้ 12 ปี เขาได้หันเข้าหายาเสพติด อบายมุขและอาชญากรรม

วันหนึ่ง แม่ซึ่งเป็นคริสตชนได้ชักชวนเขาให้มาเข้าเงียบกับบรรดาเยาวชนที่ทางวัดจัดขึ้น เขาเพียงแค่อยากให้แม่สบายใจจึงไปเข้าเงียบอย่างเสียไม่ได้ ในระหว่างการเข้าเงียบ เขามีความรู้สึกอยู่ในภวังค์เหมือนตนเองกำลังคุกเข่าอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน บาปมากมายที่เขาทำทับโถมบนตัวเขาจนหนักอึ้ง  เขาร้องไห้และขอให้พระเยซูเจ้าอภัยบาปเขา และพระองค์ได้อภัยบาปเขา ทรงรักเขาในสภาพที่เขาเต็มไปด้วยบาปสิ่งสกปรก

หลังตื่นจากภวังค์เขาได้กลับใจคืนดีกับพระเจ้า เลิกกินดื่มเที่ยวเตร่อย่างที่เคยทำ การได้มีโอกาสภาวนาอยู่กับพระเจ้าทำให้เขาคิดถึงพ่อที่ไม่ได้พบกันหลายปี เขาตัดสินใจไปหาพ่อ เมื่อพบหน้าพ่อเขาได้ขอให้พ่ออภัยเขาสำหรับความเกลียดชังและสิ่งที่เขาได้กระทำกับพ่อที่แล้วมา พ่อไม่พูดอะไรแต่ได้หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งมีข้อความว่า “ไม่ว่าแกจะคิดว่าตัวเองเป็นใคร และกำลังทำอะไรอยู่ ขอให้รับรู้ว่าฉันเกลียดแก และจะไม่ขอรับสิ่งใดจากแกอีกเลยในชีวิต” จาก สมหมาย ลูกที่ไม่เคยมีพ่อ

นี่เป็นข้อความที่เขาเขียนถึงพ่อของเขาเมื่อหลายปีก่อน พ่อดึงตัวเขามาสวมกอดและร้องไห้ นี่เป็นครั้งแรกที่เขาสัมผัสได้ถึงความรักของพ่อและมีความรู้สึกว่า ตนเองกำลังเดินออกจากประตูคุกแห่งความเกลียดชังที่จองจำเขาเป็นเวลานานหลายปี เขาได้สนทนากับพ่อนานพอควร ก่อนจะกล่าวคำอำลาและเดินทางกลับบ้านด้วยใจยินดี เขาขอบคุณพระเจ้าสำหรับความรักของพระองค์และช่วงเวลาที่วิเศษนี้

เรื่องราวชีวิตของเด็กหนุ่มสมหมาย สะท้อนเรื่องราวที่เราได้ยินในบทอ่านอาทิตย์นี้ ช่วยขยายความให้เราได้เข้าใจการให้อภัยของพระเจ้าที่มีต่อดาวิดในบทอ่านที่หนึ่ง และการให้อภัยของพระเยซูเจ้าที่มีต่อหญิงคนบาปที่บ้านของซีโมนฟาริสีที่เราได้ยินในพระวรสาร แสดงให้เห็นถึงการให้อภัยที่ไม่มีเงื่อนไข อีกทั้ง แสดงให้เราเห็นพลังที่น่าอัศจรรย์ของการให้อภัย ที่ทำให้สิ่งที่แตกสลายกลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม นี่คือ ข่าวดีแห่งการให้อภัยที่เราเฉลิมฉลองในวันของพระเจ้า

1.     ข่าวดีแห่งการให้อภัย

“การให้อภัย คือความต้องการและความสำเร็จสูงสุดของมนุษย์” (Horace Bushnell) เราทุกคนเป็นคนบาป ดังนั้นเราจึงต้องการการให้อภัย เพื่อเราจะได้รับการรักษาฝ่ายจิตใจ ทางความคิด แม้กระทั่งทางร่างกาย บาปได้ทำลายความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าและผู้อื่น ทำให้เราถอยห่างจากหนทางที่ถูกต้อง แต่พระเยซูเจ้าสามารถอภัยบาปเรา “บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” นี่คือ ท่าทีของพระเจ้าที่มีต่อคนบาป

ซีโมนฟาริสีที่เชิญพระเยซูเจ้าไปเลี้ยงที่บ้าน รู้สึกภูมิใจในตนเองและดูแคลนหญิงคนบาปคนนั้น เขาจึงไม่ได้รับการอภัย ขณะที่หญิงที่ถูกมองว่าเป็นคนบาป ร้องไห้สำนึกผิดและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในพระเยซูเจ้า เธอจึงได้รับการอภัย สิ่งที่ขวางกั้นมนุษย์ไม่ให้ได้รับพระหรรษทานของพระเจ้าคือ ความหยิ่งทะนงและภูมิใจในตนเอง คิดว่าตนเอง “ดีพอแล้ว”

ในความเป็นจริง คนที่มีความสุภาพถ่อมตนจะสำนึกในความบาปผิดของตน ดังตัวอย่างนักบุญเปาโล ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ท่านได้เขียนถึงทิโมธีว่า พระคริสตเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอดพ้น ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้ (1 ทธ 1:15) อีกคนหนึ่งคือนักบุญฟรังซิสอัสซีซี ที่บอกใครต่อใครว่า ในโลกนี้จะหาคนบาปที่หยาบช้าและน่าสมเพชมากกว่าข้าพเจ้าเป็นไม่มี สำหรับนักบุญเหล่านี้ บาปหนักที่สุดคือการคิดว่าตนไม่มีบาป

พระวรสารวันนี้เตือนใจเราว่า พระเจ้าคือองค์ความรักที่พร้อมจะให้อภัยเรา ทุกครั้งที่เราหันกลับมาหาพระองค์ด้วยใจสำนึกผิด พระองค์ได้ประทานศีลแห่งการคืนดีเพื่ออภัยบาปเราผ่านทางพระสงฆ์ นั่นแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งเราแม้จะเป็นคนบาป แต่ทรงช่วยเราให้กลับมาคืนดีกับพระบิดาเจ้า พระองค์ไม่เคยถือโทษแม้เราจะทำบาปผิดต่อพระองค์ เพราะพระทัยเมตตาของพระองค์ไม่มีขอบเขตจำกัด

2.     บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชน ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันหลายประการ

ประการแรก เราต้องแสดงออกถึงความรักและชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า หญิงคนบาปได้แสดงให้เห็นความรักที่ยิ่งใหญ่ของเธอ บาปของเธอจึงได้รับการอภัย ชีวิตของซีโมน ฟาริสีเตือนใจเราว่า เพียงแค่รู้จักพระเยซูเจ้าเท่านั้นไม่พอ เช่นเดียวกับการเป็นคริสตชน ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับศีลล้างบาป มาวัด ทำบุญให้ทานหรือภาวนาตามโอกาส เพราะหากปราศจากความรักและชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าแล้ว กิจการที่เราทำทั้งหมดก็ไร้ค่าเหมือนซีโมนฟาริสี

ประการที่สอง เราต้องแสดงออกถึงการสำนึกผิด หญิงคนบาปในพระวรสารได้แสดงถึงการสำนึกผิด ด้วยการร้องไห้เสียใจ ใช้น้ำตาชโลมพระบาทของพระเยซูเจ้า เพื่อจะได้รับการอภัยจากพระเจ้า เราต้องสำนึกผิดด้วยการไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ผ่านทางศีลแห่งการคืนดี พยายามหลีกหนีโอกาสบาปและตั้งใจที่จะไม่กระทำบาปนั้นอีก

ประการสุดท้าย เราต้องมีท่าทีแห่งการให้อภัยเพื่อนพี่น้อง แม้การให้อภัยจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เราต้องมีท่าทีเช่นนี้ในจิตใจ ไม่ถือโทษโกรธเคืองคนที่กระทำผิดต่อเรา เพื่อเราจะได้รับพระเมตตากรุณาและการให้อภัยจากพระเจ้า โดยเริ่มจากการทำส่วนของเราให้ดีที่สุด หาทางแก้ไขการทะเลาะเบาะแว้ง ความเข้าใจผิดและความไม่ลงรอยกันในทุกรูปแบบ และที่สุด เราต้องภาวนาให้ผู้ที่กระทำผิดหรือทำไม่ดีต่อเรา

บทสรุป

พี่น้องที่รัก หญิงคนบาปคนนั้นสอนเราว่า คนที่มีความสุภาพถ่อมตน ยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาปและสำนึกในความไม่มีอะไรของตน จะได้รับพระพรมากล้นจากพระเจ้า ใครที่มาหาพระเจ้าด้วยความรักและนมัสการพระองค์ด้วยจริงใจและความสัตย์จริง จะได้รับการตอบแทนอย่างล้นเหลือ ดังที่พระเยซูเจ้าทรงให้หลักประกันเราว่า “บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว จงไปเป็นสุขเถิด” (ลก 7:48) วันนี้เราเลือกที่จะเป็นอย่างซีโมนหรือหญิงคนบาป

เราทุกคนเคยทำบาป เคยผิดพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น ทุกครั้งที่เราผิดพลาด เราอยากให้คนรอบข้างเข้าใจ ให้โอกาส ให้กำลังใจและให้อภัย หากเวลาที่เราทำผิดมีแต่คนประณาม เหยียบย่ำซ้ำเติม  เราย่อมรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ หากไม่คิดที่จะให้กำลังใจใครก็อย่าซ้ำเติมกัน เพราะ พระเจ้าให้โอกาส ให้อภัยและไม่ซ้ำเติมใคร ดังนั้น วันนี้ขอให้เราเป็นผู้นำสารแห่งความรักเมตตาและการให้อภัยของพระเจ้าไปสู่ผู้อื่นในครอบครัว สังคม หมู่คณะและวัดของเรา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
14 มิถุนายน 2013