วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

นักบุญเทเรซา ผู้มีหัวใจธรรมทูต


นักบุญเทเรซา ผู้มีหัวใจธรรมทูต
1 ตุลาคม
ฉลอง น.เทเรซาแห่งพระกุมารเยซู 
พรหมจารีและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร
อสย 66:10-14
มธ 18:1-4
วันนี้พระศาสนจักรให้เราฉลองนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู องค์อุปถัมภ์ของงานแพร่ธรรม เทเรซา มาร์ตินเกิดที่ลีซีเออ แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวที่ศรัทธาในพระเจ้าและหล่อหลอมเด็กหญิงเทเรซาให้มีความเชื่อลึกซึ้ง กล้าติดตามพระเจ้าในชีวิตแบบนักพรตในอารามคาร์แมลที่ลีซีเออขณะอายุเพียง 15 ปี ตามอย่างพี่สาวอีกสองคน โดยได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13
ตลอดเวลา 9 ปีของชีวิตในอาราม เป็นห้วงเวลาของการเจริญชีวิตเข้มข้นเป็นพิเศษ ทำให้เทเรซากลายเป็นดอกไม้ช่อน้อยถวายแด่พระเจ้า ด้วยการเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กน้อย และทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มพระเกียรติและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า เจริญชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้าในความสุภาพถ่อมตนเหมือนเด็กเล็ก ๆ “ผู้ใดที่ถ่อมตนลงเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ คนนี้ ผู้นั้นจะยิ่งใหญ่ที่สุดในพระอาณาจักรสวรรค์” (มธ 18:4) และคำสอนเรื่องความสุขแท้ 8 ประการ
ในห้วงเวลาทำหน้าที่เป็นนวกจารย์ เทเรซาได้เขียนประสบการณ์ชีวิตภายในลึกซึ้งของเธอ ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือ “ประวัติชีวิตฝ่ายวิญญาณ” ที่เป็นหนทางเล็ก ๆ แห่งชีวิตฝ่ายจิตของเธอและเป็นต้นแบบของชีวิตผู้อุทิศตน เธอสิ้นใจเมื่อ 30 กันยายน 1897 ในวัยเพียง 24 ปี ต่อมาได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปา ปีอุส ที่ 11 เมื่อ 17 พฤษภาคม 1925 และบิดามารดาของเธอได้รับการประกาศเป็นนักบุญเช่นกันเมื่อตุลาคม ปี 2015
นักบุญเทเรซามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เธอมีกระแสเรียกของการแพร่ธรรมและรักงานธรรมทูตเป็นพิเศษ แม้ไม่เคยเดินทางไปแพร่ธรรมยังดินแดนใดเลย แต่เธอได้อธิษฐานภาวนาและทำสิ่งเล็กน้อยสุดความสามารถในชีวิตประจำวัน เพื่องานแพร่ธรรมและการขยายพระอาณาจักรของพระเจ้า ได้รับการประกาศเป็นองค์อุปถัมภ์ของงานแพร่ธรรมในดินแดนมิสซังปี 1927 และได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรปี 1997
คริสตชนทุกคนมีหน้าที่แพร่ธรรมผ่านทางแบบอย่างชีวิตดีงาม การอธิษฐานภาวนา การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และการบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูเจ้าในชีวิตประจำวันของตน ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู ในความรักต่อพระเจ้าเปี่ยมล้นหัวใจ ในความสุภาพถ่อมตนเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่วางใจพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และในการทำสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวันด้วยความรักยิ่งใหญ่ 
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
30 กันยายน 2018
ภาพ : รูปเหมือนนักบุญเทเรซา, มหาวิหารนักบุญเทเรซา, ลีซีเออ, ฝรั่งเศส; 2012-09-26

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ, ปีที่ 1 ฉบับที่ 20


สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ

ปีที่ 1  ฉบับที่ 20;  อาทิตย์ที่ 30  กันยายน 2018 (2561): http.//dondaniele.blogspot.com

107 หมู่ 6 บ้านดอนม่วย ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130È086-231-3231

สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
อบรมครูคำสอนภาคอีสาน ศาลาปีติมหาการุญย์ ท่าแร่ 26 กันยายน 2018
พี่น้องที่รัก บทอ่านวันนี้เตือนเราอย่างร้อนแรงเรื่องความอิจฉาริษยา การขาดความอดทน และการเป็นที่สะดุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญชีวิตร่วมกันแบบหมู่คณะ เราพบความไม่อดทนในหมู่อัครสาวกของพระเยซูเจ้า ยอห์นได้บ่นกับพระองค์ถึงการที่มีคนหนึ่งขับไล่ผีในนามของพระองค์ และต้องการห้ามเขาไม่ให้ทำเช่นนั้นเพราะไม่ใช่พวกเดียวกัน
 พระเยซูเจ้าได้ให้บทเรียนแก่บรรดาศิษย์ถึงความอดทนและความใจกว้างของพระองค์ อีกทั้งยังเตือนบรรดาศิษย์อย่างร้อนแรงมิให้ทำตัวเป็นที่สะดุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้บริสุทธิ์ เด็กเล็กๆ และสมาชิกใหม่ของหมู่คณะที่เพิ่งเริ่มต้น เพราะอาจทำให้พวกเขาตกในบาปหรือเสียความเชื่อได้ พระองค์ทรงเตือนบรรดาศิษย์และเราแต่ละคนให้เอาจริงเอาจังในการเอาชนะความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ ในการติดตามพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องมือแห่งความรัก การรักษาและการให้กำลังใจของพระองค์
 ประชุมพลมารีย์เปรซิเดียมแม่พระแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ ดอนม่วย
บทอ่านแรก หนังสือกันดารวิถีได้พูดถึงจิต ซึ่งมิได้หมายถึงพระจิตเจ้า แต่เป็นพระพรพิเศษในการเผยพระวจนะ โมเสสได้รับพระพรนี้และแบ่งปันแก่ผู้อาวุโสเจ็ดสิบคน ยังมีคนอื่นที่ได้รับจิตนี้โดยตรงจากพระเจ้าแต่โยชูวาไม่ได้รับ ทำให้เกิดความอิจฉา เรื่องนี้สอนเราว่า พระพรของพระเจ้ามิได้จำกัดอยู่เพียงบางคน ไม่ควรอิจฉาริษยาแต่ต้องใช้เพื่อกันและกัน
บทอ่านที่สอง นักบุญยากอบตักเตือนคนรวยที่เอารัดเอาเปรียบคนยากจนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง คนมั่งมีที่ทำบุญให้ทานเป็นจำนวนมาก แต่ผิดต่อความยุติธรรมทางสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นคนที่หน้าไหว้หลังหลอก ตัวอย่างที่ท่านพูดถึงคือการโกงค่าจ้างแรงงานของกรรมกร ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเสียงร้องนี้พระเจ้าทรงได้ยิน
พระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรามีความอดทนและใจกว้าง ในการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักแก่คนอื่น โดยทรงยืนยันว่า “ผู้ใดที่ไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา” พระองค์ทรงสอนให้เราเป็นคนดีบริบูรณ์เหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ ที่ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก
 แม่บ้านเตรียมอาหารสำหรับช่างทาสี 23 กันยายน 2018
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1.      ขอคำภาวนาเพื่อคุณพ่อกรไกร พิลาจันทร์ ซึ่งหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตั้งแต่เสาร์ที่ 22 กันยายน 2019 ขณะนี้ยังอยู่ในสภาพไม่ตอบสนองต่อการรักษาและเฝ้าระวังการติดเชื้อ ขอบุญราศีแห่งสองคอนได้เสนอวิงวอนเพื่อคุณพ่อ เทอญ
2.      แจ้งเรื่อง 1) การสวดเดือนแม่พระ: วันเปิดวัดดอนม่วย 1 ตุลาคม, วัดโนนค้อ 2 ตุลาคม, สวดตามคุ้มตามที่เคยปฏิบัติ, เสาร์สวดที่วัด และวันปิดพร้อมกันที่สุสาน 31 ตุลาคม, 2) เสกสุสาน: เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 8.00 น., มีพิธีบูชาขอบพระคุณที่สุสาน 3 คืน เวลา 19.30 น. และ 3) การพัฒนาสุสาน เริ่มเสาร์ที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป
3.      เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2018 งานผู้สูงอายุที่สองคอน รถยนต์ประธานวิษณุ นาพรม ออกเดินทาง 07.00 น. ที่บ้าน อบต.สมหวัง
4.      เสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2018 ขอเชิญร่วมฉลองบ้านเณรฟาติมาท่าแร่ พิธีบูชาขอบพระคุณโดยพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เวลา 10.00 น. และบ้านเณรขอความอนุเคราะห์โรงทานจากวัดของเราด้วย
5.      ขอเชิญนักเรียนหญิงชั้น ป.6 เข้าร่วมค่ายกระแสเรียก 1) คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร 18-20 ตุลาคม 2018 ที่โรงเรียนเซนต์โยแซฟท่าแร่, 2) คณะรักกางเขนแหงท่าแต่ 22-25 ตุลาคม 2018 ที่อารามรักกางเขนแห่งท่าแร่ และสำหรับเด็กชาย 3) ค่ายกระแสเรียกคณะพระมหาไถ่ 18-20 ตุลาคม 2018 ที่บ้านเณรพระมารดานิจจานุเคราะห์ ศรีราชา
6.      รายชื่อผู้บริจาคซื้อทีวี: 5) ครอบครัวยายอนงค์ลักษณ์ กลิ่นชะเอม 1,000.- บาท รวมเป็นเงิน 4,200.- บาท
7.      เงินทาน อาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2018: ดอนม่วย 1,575.- บาท และ โนนค้อ 1,179.- บาท
8.      ขอบคุณ กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 1-2 ที่มาทำความสะอาดวัด สัปดาห์หน้ากลุ่มที่ 3-4 (โนนค้อ: กลุ่มที่ 1)
 เด็กคำสอนวัดดอนม่วยเรียนรู้การฉลองครบรอบ 350 ปีมิสซังสยาม
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
30
07.00 น.
08.30 น.
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
สุขสำราญพี่น้องชาวโนนค้อ-ดอนม่วย
จันทร์
1
06.00 น.
ฉลอง น.เทเรซาแห่งพระกุมารเยซู
เปิดเดือนแม่พระที่ดอนม่วย
อังคาร
2
06.00 น.
ระลึกถึง น.ทูตสวรรค์ผู้อารักขา
เปิดเดือนแม่พระที่โนนค้อ
พุธ
3
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา

พฤหัสบดี
4
06.00 น.
ระลึกถึง น.ฟรังซิส อัสซีซี

ศุกร์-เสาร์
5-6
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา


พี่น้องชาวโนนค้อช่วยกันทาสีซุ้มพระเมตตาแห่งพระเยซูเจ้า 23 กันยายน 2018













ความอิจฉาริษยา


ความอิจฉาริษยา
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
ปี B
กดว 11:16-17,25-29
ยก 5:1-6
มก 9:38-43, 45, 47-48
บทนำ
 มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งปีศาจเดินทางข้ามทะเลทรายและพบผู้คนกำลังล่อลวงฤาษีผู้ศักดิ์สิทธิ์ตนหนึ่ง แต่ฤาษีสามารถรับมือการประจญทุกอย่างของพวกเขาได้อย่างง่ายดาย หลังจากเฝ้าดูความล้มเหลวของพวกเขา ปีศาจได้ได้บอกพวกเขาว่า “พวกเจ้ามือยังไม่ถึง ซื่อเกินไป คอยดูฉันนะ” แล้วปีศาจได้ไปกระซิบที่หูของฤาษีว่า “น้องชายของท่านเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช” ได้ผลทันที ความอิจฉาปรากฎบนใบหน้าของฤาษีจนทนอยู่ไม่ได้
บ่อยครั้งความอิจฉาริษยาอาจบดบังตาคนเราให้บอดมืด ทำให้เดินทางผิดและปิดกั้นเรามิให้เติบโตในความดี ความอิจฉาริษยาคือรากเหง้าและที่มาของการทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดความร้าวฉานและแตกแยก ไม่เพียงในพระศาสนจักรเท่านั้นแต่ในสังคมและครอบครัว ระหว่างพรรคพวกเพื่อนฝูง สามีภรรยา โดยเฉพาะในสังคมไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีความแตกแยกรุนแรง มีการแบ่งสีเลือกข้าง จนยากที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้
ในอดีตพระศาสนจักรเคยมีคำสอนที่ว่า “นอกพระศาสนจักรแล้วไม่มีความรอด” (Extra Ecclesiam nulla salus) ซึ่งเป็นความคิดของนักบุญซีเปรียนที่มีอิทธิพลอย่างมากก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2 แต่ในความเป็นจริง เราพบคนมีคุณธรรมสูงส่งนอกพระศาสนจักร แม้พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นคริสตชน แต่กลับมีชีวิตดีงามและน่ายกย่องกว่าคริสตชนเสียอีก ความโน้มเอียงในลักษณะนี้คือสิ่งที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้
1.       ความอิจฉาริษยา
บรรดาสาวกไม่เข้าใจและรับไม่ได้ที่เห็นคนหนึ่งขับไล่ปีศาจในนามของพระเยซูเจ้า จึงได้ห้ามปรามเพราะ “เขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา” (มก 9:38) ท่าทีเช่นนี้คือท่าทีของการแบ่งพรรคแบ่งพวก ถือเขาถือเรา ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับทัศนคติของพระเยซูเจ้า “ไม่มีใครสามารถทำอัศจรรย์ในนามของเรา แล้วต่อมาจะว่าร้ายเราได้” (มก 9:39) ทรงประสงค์ให้เราทำงานเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและสันติสุข มิใช่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างอยุติธรรมเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหลายครั้งมาจากความความอิจฉาริษยาและอคติ
พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรามีความอดทนและความใจกว้าง ในการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักแก่คนอื่น โดยทรงยืนยันว่า “ผู้ใดไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา” (มก 9:40) พระองค์ทรงสอนให้เราเป็นคนดีบริบูรณ์เหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ ผู้ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก “พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม (มธ 5:45)
ตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสอย่างชัดเจนและหนักแน่น เรื่องการเป็นที่สะดุด “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ ที่มีความเชื่อเหล่านี้ทำบาป ถ้าเขาจะถูกผูกคอด้วยหินโม่ถ่วงในทะเลก็ยังดีกว่า” (มก 9:42) ทรงเรียกร้องให้เราใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการเอาชนะบาปและความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ ทรงสอนว่าชีวิตนิรันดรประเสริฐยิ่งกว่าอวัยวะ เช่น มือ เท้า ตา ฯลฯ ผู้ที่สามารถบังคับควบคุมตนเองได้คือมีมโนธรรมบริสุทธิ์ย่อมบรรลุถึงชีวิตนิรันดร
2.       บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับเราหลายประการ
ประการแรก เราต้องเป็นผู้สร้างความเป็นหนึ่งเดียว เราสามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โดยเริ่มจากครอบครัวของเรา สังคมรอบข้างและวัดของเรา ไม่ทำตัวเป็นตัวปัญหาที่ขัดขวางความเจริญของส่วนรวม ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องเคารพความคิดเห็นแตกต่าง เพราะแต่ละคนต่างมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของตน ดังเช่น วอลแตร์ ได้มอบหลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ข้าพเจ้าเกลียดสิ่งที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าจะยอมตายเพื่อให้สิทธิท่านได้พูด”
ประการที่สอง เราต้องเคารพความเชื่อที่แตกต่าง เปิดใจกว้างต่อความจริงในศาสนาอื่น การเคารพความเชื่อที่แตกต่างนำไปสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา รับรู้คุณค่าที่มีในแต่ละศาสนา และร่วมมือกันสร้างสรรภราดรภาพและสันติภาพในสังคม สังคายนาวาติกันที่ 2 ย้ำว่า พระศาสนจักรพิจารณาด้วยความเคารพอย่างจริงใจในวิธีปฏิบัติและการดำรงชีวิต ตลอดจนกฎและพระธรรมคำสอนเหล่านี้ของศาสนาอื่นๆ ซึ่งถึงแม้จะแตกต่างจากที่พระศาสนจักรสอนหลายประการ แต่บ่อยครั้ง ก็นำแสงสว่างแห่งความจริงมาส่องสว่างให้แก่มนุษย์ทุกคน”
ประการที่สาม เราต้องไม่ทำตัวเป็นที่สะดุด ไม่เป็นสาเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ต้องตกในบาปเพราะความประพฤติไม่ดีของเรา พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการต่อสู้และเอาชนะความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ ในตัวเรา ความรอดนิรันดรต้องเป็นเป้าหมายสำคัญและประเสริฐกว่าสิ่งใดที่เราต้องมุ่งไปถึง แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญไปก็ต้องทำ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความจริง ความดี และความถูกต้อง
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระวาจาของพระเจ้าเตือนเรามิให้อิจฉากัน มีความอดทนต่อกัน และไม่ทำตัวเป็นที่สะดุด ในบท “ข้าแต่พระบิดา” เราอธิษฐานภาวนาว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” ดังนั้น เราต้องมีความอดทน ใจกว้าง และปฏิเสธตนเอง เพื่อให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ การปฏิบัติตนเช่นนี้นำมาซึ่งสันติสุขและความรอดนิรันดรสำหรับเรา
ขอให้การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทที่เรามาร่วมทุกสัปดาห์ ได้เปิดตาเราให้มองเห็นความดีของผู้อื่น จงทำดีแม้ไม่มีใครเห็นหรือให้รางวัล ทั้งนี้เพื่อสรรเสริญและถวายเกียรติแด่พระเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวง ศิษย์พระคริสต์ต้องดำเนินชีวิตดีงามตามพระประสงค์ของพระเจ้า มีความเพียรทนในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถือเขาถือเรา ไม่คิดว่าตนเองคือความถูกต้องหรือดีกว่าคนอื่น และไม่เป็นสาเหตุให้ผู้อื่นตกในบาป
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, พรรณานิคม
29 กันยายน 2018
ที่มาภาพ: https://lifeteen.com/cym/blog/arise-and-shine-mark-938-43-45-47-48/

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

ท่านละว่าเราเป็นใคร


ท่านละว่าเราเป็นใคร
ศุกร์
สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
ปญจ 3:1-11
ลก 9:18-22
พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากไม่รู้จักพระองค์ เนื่องจากไม่เคยเห็นพระองค์ หรือไม่มีใครพูดถึงพระองค์ให้พวกเขาฟัง คำถามที่ว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร” จึงเป็นคำถามที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด และมีผู้ให้คำตอบมากมายหลายแบบแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงถามบรรดาศิษย์และเราแต่ละคน ท่านละว่าเราเป็นใคร” (ลก 9:20)
พระเยซูเจ้าทรงถามความเห็นจากบรรดาศิษย์ว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” (ลก 9:18) สมัยนั้นยังไม่มีการสำรวจประชามติ (Poll) วิธีง่ายที่สุดคือถามความเห็นจากคนใกล้ชิด และบรรดาศิษย์ได้สะท้อนคำตอบของประชาชนในลักษณะต่าง ๆ อาทิ ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ประกาศกเอลิยาห์ หรือประกาศกคนใดคนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญสำหรับพระเยซูเจ้ามิใช่ความเห็นของประชาชน แต่เป็นคำตอบของบรรดาศิษย์และเราแต่ละคน ท่านละว่าเราเป็นใคร”
เปโตรได้ประกาศความเชื่อว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” (ลก 9:20) คำว่า “พระคริสต์” หมายถึง “พระเมสสิยาห์” หรือ “ผู้ได้รับเจิม” ตลอดเวลายาวนานชาวยิวรอคอยพระเมสสิยาห์ หรือพระผู้ช่วยให้รอดมาปลดปล่อยพวกเขาจากการกดขี่ของพวกโรมัน ซึ่งเป็นความเข้าใจทางการเมืองเหมือนอัศวินขี่ม้าขาว พวกเขาไม่เคยคิดว่า พระผู้ช่วยให้รอดเป็น “พระคริสตเจ้า ผู้รับการทรมาน” เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากบาป
พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้บรรดาศิษย์ทราบเป็นครั้งแรกว่า พระองค์จะต้องรับการทรมาน ถูกประหารชีวิตและกลับคืนชีพในวันที่สาม (ดู ลก 9:22) เราต้องพร้อมติดตามพระองค์แม้ในความทุกข์ทรมาน เราต้องตอบด้วยตนเองว่า พระองค์เป็นใครสำหรับเรา ทรงเป็นผู้ที่เราเชื่อและรักมากที่สุด ทรงเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตและเป็นทุกอย่างสำหรับเรา ปราศจากพระองค์เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย มีเพียงพระองค์ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย ทรงเป็นผู้ที่เราเชื่อและรักมากที่สุด ด้วยการมาหาพระองค์บ่อย ๆ ทางศีลศักดิ์สิทธิ์  ในพิธีบูชาขอบพระคุณ และการอธิษฐานภาวนา ศิษย์พระคริสต์ต้องเจริญชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ชีวิตของเราต้องเป็นพยานแห่งพระวรสารและเครื่องหมายที่มองเห็นได้ ทำให้คนอื่นได้รู้ว่า พระเยซูเจ้าเป็นใครและมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
27 กันยายน 2018
ที่มาภาพ : https://thoughtsmadereal.files.wordpress.com/2012/07/passion_of_the_christ_by_saviourmachine.jpeg

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

พระเยซูเจ้าเป็นใคร


พระเยซูเจ้าเป็นใคร
พฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
ปญจ 1:2-11
ลก 9:7-9
พระวรสารวันนี้เป็นตอนสั้น ๆ เพียงสามข้อ กษัตริย์เฮโรดได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า สะท้อนความจริงว่า “ข่าวเดินทางไกลและรวดเร็ว” แม้สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือสื่อสารทันสมัยอย่างในปัจจุบัน พระเยซูเจ้าทรงเริ่มพันธกิจอย่างเปิดเผย ด้วยการเทศน์สอนอย่างทรงอำนาจและทำอัศจรรย์มากมาย อาทิ การรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย การช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ทรมานให้ได้รับความบรรเทา พระองค์เสด็จไปที่ไหนทรงกระทำแต่ความดี
พระเยซูเจ้าได้ทรงส่งอัครสาวกสิบสององค์ออกไปประกาศข่าวดีและรักษาคนเจ็บป่วย ทำให้ข่าวดีของพระองค์กระจายไปทั่วและไปถึงหูของกษัตริย์เฮโรด ผู้ครองแคว้นกาลิลี เฮโรดไม่เคยเห็นพระเยซูเจ้ามาก่อน ได้ยินแต่สิ่งที่ประชาชนพูดถึงพระองค์ในลักษณะต่าง ๆ “บางคนพูดว่ายอห์นได้กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย บางคนพูดว่าประกาศเอลียาห์ได้ปรากฏแล้ว บางคนว่าประกาศกในอดีตคนหนึ่งได้กลับคืนชีพ” (ลก 9:8)
เฮโรดทรงรู้สึกสับสน สิ่งหนึ่งที่เฮโรดแน่ใจคือ “ยอห์นนั้นเราได้ตัดศีรษะแล้ว” (ลก 9:9) แต่พระเยซูเจ้าเป็นใคร เฮโรดแปลกใจมาก อยากรู้อยากเห็นและต้องการพบพระองค์ เฮโรดเป็นคนอ่อนแอ ตื้นเขิน และไม่ได้ลึกซึ้งจริงจังอะไร นักบุญลูกาบอกให้เราทราบว่า เฮโรดต้องการพบพระองค์เพราะความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่เพราะเห็นว่า พระองค์เป็นประกาศก หรือพระเมสสิยาห์ เมื่อปีลาตส่งพระองค์มาให้เฮโรดไต่สวนก็ไม่ได้ใช้โอกาสนั้นเพื่อรู้จักพระองค์
มีคนจำนวนมากเป็นอย่างเฮโรด ต้องการพบพระเยซูเจ้าเพราะความอยากรู้อยากเห็น หรือเพราะทำตามอย่างคนอื่น ไม่ได้เกิดจากความเชื่อศรัทธาแต่อย่างใด พระเยซูเจ้าเป็นใครสำหรับเรา เราได้แสวงหาเพื่อรู้จักพระองค์ในฐานะพระผู้ไถ่ องค์พระเจ้า และบุตรพระเจ้าหรือเปล่า พระองค์มีความหมายอย่างไรสำหรับชีวิตของเราในปัจจุบัน พระองค์ทรงพระชนม์อยู่อย่างแท้จริงสำหรับเราในพิธีกรรม ในพระศาสนจักร และในคนที่เราพบหรือเปล่า
คริสตชนต้องเลียนแบบพระพระเยซูเจ้าในการทำแต่ความดี พร้อมช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อน และบอกเล่าเรื่องราวของพระองค์ให้ผู้อื่นได้รับรู้ นี่คือการทำให้พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในปัจจุบัน ศิษย์พระคริสต์ต้องรู้จักพระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัว พบพระองค์ทุกวันในการอธิษฐานภาวนา การรำพึงพระวาจา การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และนำพระองค์ไปสู่บุคคลต่าง ๆ ที่เราพบ เพื่อให้พวกเขาได้รู้จักและพบสันติสุขในพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
26 กันยายน 2018
ภาพ : พระเยซูเจ้าถูกตัดสินประหารชีวิต, วัดพระเยซูเจ้าทรงถูกตัดสิน, เยรูซาเล็ม, อิสราเอล; 2018-04-17