วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

คำพูดและการกระทำ

 คำพูดและการกระทำ

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา ปี A
อสค 18:25-28
ฟป 2:1-11
มธ 21:28-32

บทนำ

ณ วัดแห่งหนึ่ง หลังพิธีบูชาขอบพระคุณ สงฆ์หนุ่มที่เพิ่งย้ายมาใหม่ได้ถามความเห็นสัตบุรุษว่า “เราจะจัดศึกษาพระคัมภีร์เพื่อเรียนรู้พระวาจาของพระเจ้าให้ดียิ่งขึ้น ดีไหม” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นความคิดที่เยี่ยมมาก” สงฆ์หนุ่มรู้สึกดีใจที่ทุกคนเห็นดีด้วยจึงนำความเห็นไปเสนอเจ้าอาวาส คุณพ่อเจ้าอาวาสซึ่งผ่านประสบการณ์มามาก ได้บอกไปถามสัตบุรุษอีกครั้งว่า “จะมีใครมาเรียนบ้าง” อาทิตย์ต่อมาเขาจึงประกาศว่า “ใครที่สนใจจะร่วมโครงการศึกษาพระคัมภีร์ให้มาลงชื่อ” ปรากฏว่ามีมาแค่สองคน

ทำให้พระสงฆ์หนุ่มองค์นั้นตระหนักว่า การตอบรับต่อข้อเสนอกับการลงมือปฏิบัติจริงเป็นคนละเรื่อง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเกิดวาทะกรรมที่ว่า “ดีแต่พูด” สังคมไม่ไว้ใจคนที่ดีแต่พูด แต่ไม่ทำอะไร ซึ่งสอดรับกับคำอุปมาเรื่องบุตรสองคนในพระวรสารวันนี้ ที่พูดถึงเรื่อง “คำพูดและการกระทำ” ชายเจ้าของสวนองุ่นมีบุตรสองคน เขาได้ไปหาบุตรคนแรกร้องขอให้ไปทำงานที่สวนองุ่นในวันนั้น แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดีในตอนแรก ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนใจไปทำงานที่สวนองุ่น ขณะที่บุตรคนที่สองสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะกับบิดาว่าจะไป แต่สุดท้าย ไม่ได้ไป

คำอุปมานี้เกิดขึ้นในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม สามวันก่อนที่พระเยซูเจ้าจะถูกจับรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนกางเขน พระองค์ทรงโต้แย้งกับพวกหัวหน้าสมณะและพวกผู้อาวุโสของประชาชน (มธ 21:23) บุตรคนแรกเป็นตัวแทนของคนเก็บภาษี หญิงโสเภณีและคนบาป ซึ่งเจริญชีวิตในบาปในสายตาของชาวยิวทั่วไป แต่เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพวกเขาได้เชื่อฟังพระองค์และเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ บุตรคนที่สองเป็นตัวแทนของพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นคนชอบธรรมและถือตามธรรมบัญญัติมาตลอดชีวิต แต่เมื่อบุตรพระเจ้าเสด็จมา พวกเขากลับปฏิเสธและจับพระองค์ไปตรึงกางเขน

1. คำพูดและการกระทำ

คำอุปมาเรื่องบุตรสองคนได้สอนความจริงเราว่า คำพูดไม่อาจทดแทนการกระทำได้ บุตรทั้งสองตอบรับต่อคำร้องขอของบิดาแตกต่างกัน คนแรกตอบปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ขณะที่คนที่สองตอบอย่างสุภาพ แต่ไม่ไป คำตอบรับที่สุภาพของเขาไม่อาจใช้แทนการกระทำได้ การกระทำเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักแท้ เวลาเป็นเด็กเราคงเคยบอกรักแม่ และแม่มักจะตอบว่า “แม่หวังว่าลูกจะทำให้แม่เห็นมากกว่านี้”

คำอุปมานี้สะท้อนคนสองประเภท ซึ่งเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ทั้งคู่และไม่มีค่าควรแก่การยกย่อง คนแรกจะดีกว่าคนที่สองในแง่ที่เขายอมปฏิบัติตามในตอนท้าย การกระทำของเขาดีกว่าคำพูด มีคนเป็นจำนวนมากจัดอยู่ในประเภทนี้ แม้ไม่ได้อ้างตัวเป็นคริสตชนหรือไม่รู้จักนามเยซูด้วยซ้ำ แต่ชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างที่ดี มีคุณธรรมยิ่งกว่าคนที่เป็นคริสตชนเสียอีก

ขณะที่อีกคนให้คำมั่นสัญญาหนักแน่น แต่กระทำในสิ่งที่ตรงข้าม เข้าทำนอง “พูดอย่าง ทำอย่าง” “มือถือสาก ปากถือศิล” ชีวิตจริงหรือความประพฤติของเขาไม่สอดคล้องกับคำพูดหรือสิ่งที่เขาสอน คนประเภทนี้มักอ้างตัวอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติตัวตรงกันข้าม คำพูดของเขาจึงไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ ในความเป็นจริง “ไม่มีใครต้องการฟังว่าเราจะพูดอะไร แต่เขาต้องการดูว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไรต่างหาก” คนประเภทนี้จึงเป็นที่รังเกียจของสังคมและหมู่คณะ

2. บทเรียนสำหรับเรา

คำอุปมาเรื่องบุตรสองคนที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับชีวิตคริสตชนของเราหลายประการ

ประการแรก จงกระทำมากกว่าพูด เป็นการง่ายที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำให้ความคิดเห็นนั้นมีคุณค่าและเกิดผลคือ การลงมือปฏิบัติ “การกระทำย่อมดังกว่าคำพูดเสมอ” หลายครั้งเราบอกเตือนบุตรหลานให้มาวัดวันอาทิตย์ ให้ถอยห่างจากการพนันและยาเสพติด แต่เรากลับเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับพวกเขา นักบุญยอห์นบอกเราว่า “อย่ารักกันแต่ปากเพียงด้วยคำพูดเท่านั้น แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริง” (1 ยน 3:18)

ประการที่สอง จงลงมือทำเดี๋ยวนี้ บิดาพูดกับบุตรทั้งสองว่า “ลูกเอ๋ย วันนี้ จงไปทำงานในสวนองุ่นเถิด” เรามีชีวิตอยู่ใน “วันนี้” เท่านั้น ยังไม่รู้ว่า “พรุ่งนี้” จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ดังนั้น เวลาที่สำคัญที่สุดคือขณะนี้ วันนี้ ไม่ใช่การผัดวันประกันพรุ่ง เอาไว้ให้รวยกว่านี้ถึงจะทำบุญ หรือรอให้ถึงแก่เฒ่าก่อนถึงจะเข้าวัดเข้าวา แต่จงลงมือทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะ “วันพรุ่งนี้เป็นวันที่คนเกียจคร้านทำงาน และคนโง่เขลาเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ประการที่สาม จงตอบรับต่อพระเจ้า พระเจ้าทรงเรียกและเชื้อเชิญเราให้เปลี่ยนแปลงตนเองและตอบรับต่อพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงตอบรับต่อพระบิดาเจ้าและนอบน้อมเชื่อฟังจนถึงที่สุดคือ ความตายบนไม้กางเขน การตอบรับของพระองค์หมายถึงการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า “ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา...นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้” (มธ 7:21) อีกทั้งยังหมายถึงการรับใช้ “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:28) ความสุขและความรอดของเราจึงขึ้นอยู่กับการตอบรับต่อพระเจ้าดังเช่นพระเยซูเจ้าทรงกระทำ

บทสรุป

พี่น้องที่รัก คำอุปมานี้ได้สะท้อนหลักสำคัญที่ว่า บุตรทั้งสองคนไม่มีใครดีพร้อม แม้ว่าคนแรกจะดีกว่าคนที่สองก็ตาม แต่ทั้งคู่ได้ทำให้บิดารู้สึกเจ็บปวด ลักษณะของบุตรที่ทำให้บิดาปลื้มปีติคือ คนที่พร้อมรับคำสั่ง เชื่อฟังและปฏิบัติตามด้วยใจยินดี พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มีอิสระที่จะตอบรับต่อพระองค์ในการกระทำ ในการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ ในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง เห็นอกเห็นใจและให้อภัยกันด้วยใจกว้าง

คำอุปมานี้จบลงด้วยการเน้นที่การมาหาพระเยซูเจ้าของคนบาป พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีคิดว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรมไม่ต้องพึ่งพระเจ้า ตรงข้ามกับคนเก็บภาษี หญิงโสเภณีและคนบาปที่ตระหนักในของขวัญล้ำค่าที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้ พวกเขาจึงกลับใจมาหาพระองค์ และรับใช้พระองค์ด้วยความกระตือรือร้น เราถูกเรียกร้องให้ทำเช่นเดียวกัน มิใช่ดีแต่พูด ความเชื่อของเราต้องแสดงออกในภาคปฏิบัติ เพื่อเราจะได้ชื่อว่าเป็นคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นศิษย์ที่แท้จริงของพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
23 กันยายน 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น