ถ้อยแถลงการประชุมสัมมนาประจำปี 2556
ของสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 43
หัวข้อ “โรงเรียนคาทอลิกในมาตรฐานสากล”
วันที่ 18-21 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมเอเชีย พัทยา จังหวัดชลบุรี
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมสัมมนาประจำปีการศึกษา
2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างปีแห่งความเชื่อ และเป็นปีที่บรรดาคาทอลิกทั่วโลก รู้สึกปีติยินดีที่ได้มี พระประมุของค์ใหม่ คือ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ผู้ซึ่งนอกจากเป็นพระประมุขที่ทรงมีชีวิตเป็นพยานถึงองค์พระคริสต์แล้ว ยังเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์
นักเคมี และนักบริหารการศึกษาคาทอลิกอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย
ผู้เข้าสัมมนาจำนวน 447 คน
ได้ร่วมกันพิจารณาไตร่ตรองการแบ่งปันของวิทยากร และ พบว่า สถานการณ์สังคมในปัจจุบันมิใช่เพียงแตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอีกด้วย
เป็นสังคมโลกยุคดิจิตอลและยุคโลกาภิวัตน์ ที่แม้ว่าได้เสนอสิ่งดีงามและสร้างสรรค์มากมาย
แต่ขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดวิกฤตด้านคุณค่าในกระแสค่านิยมต่างๆ
โดยเฉพาะโลกียนิยม ซึ่งปฏิเสธความจริงและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังส่งผลให้มีวิกฤตด้านความเชื่อ ทำให้ผู้คนไม่ยอมรับ
ไม่เชื่อถือ และไม่เห็นคุณค่าความเชื่อ คริสตชนและธรรมะศาสนาต่างๆ
ผลงานวิจัยเกี่ยวกับคนไทยได้สะท้อนให้เห็นผลของภาวะการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า
คนไทยมีความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติด อาชญากรรมและคอร์รัปชั่น
ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ความใกล้ชิด การใช้เวลาร่วมกัน และความสัมพันธ์ในครอบครัวล่มสลาย
การศึกษาที่ดูเหมือนมีความสำเร็จเพิ่มขึ้น แต่โอกาสพัฒนาตัวเองที่ลงลึกถึงจิตวิญญาณกลับลดลง
ผลการวิจัยยังทำให้ตระหนักอีกว่า ในขณะนี้สังคมไทยฝากความหวังและอนาคตไว้กับโรงเรียน
ที่จะสร้างทักษะและสมรรถนะต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าศาสนา
พร้อมทั้งจัดการเรียนการสอนที่เน้นการไตร่ตรอง เพื่อเปลี่ยนชีวิตให้มีคุณค่าและความหมายที่แท้จริง
ขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนคาทอลิกเห็นความจำเป็น
ที่จะต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรองนี้
เพื่อนักเรียนไม่เพียงแต่รู้ว่า “ฉันได้เรียนรู้อะไร” แต่ยังรู้ด้วยว่า “ฉันเข้าใจได้อย่างไร” และ “ทำไมฉันจึงต้องเรียนเรื่องนี้” จนกระทั่งในบางโอกาสสามารถสัมผัสความน่าพิศวงของกลไกธรรมชาติ
ที่พระผู้สร้างประทานให้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเปลี่ยนชีวิตจากภายใน ของตน และสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้
โดยมีครูเป็นต้นแบบและเพื่อนร่วมทางของนักเรียนบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้
นอกนั้นโรงเรียนคาทอลิกยังต้องให้ความสำคัญในการมีวิชา หลักสูตร
และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้เท่าทันเทคโนโลยีและสื่อ
ครูมีโอกาสพัฒนาการใช้สื่อดิจิตอลในการเรียนรู้และถ่ายทอด
อีกทั้งทำงานร่วมกันเป็นชุมชนในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งๆ
ขึ้นอยู่เสมอ เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมที่จะมีชีวิตการทำงานในยุค โลกาภิวัตน์อย่างมีศักดิ์ศรี
ในการนำอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก สู่ภาคปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์ โรงเรียนคาทอลิกในมาตรฐานสากลยังต้องมุ่งมั่น ที่จะปฏิรูปโรงเรียนให้เป็นสนามแห่งการอบรม
และเป็นฐานแห่งการประกาศข่าวดีอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งต้องเป็นการประกาศข่าวดีใหม่ ด้วยชีวิตก่อนและติดตามด้วยวาจา มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสติปัญญาของนักเรียน
ให้รับรู้ถึงสิ่งที่เป็นความจริง ความดี และความงาม รวมทั้งด้านความเป็นมนุษย์ บนพื้นฐานของคุณค่าสำคัญสองประการคือ
“อิสรภาพและการรับใช้” เพื่อให้นักเรียนมีอิสรภาพด้วยการรู้จักไตร่ตรอง ก่อนการเลือกและตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามอย่างกล้าหาญและรับผิดชอบ
พร้อมทั้งเปิดตัวออกจากตนเอง เพื่อรับใช้ผู้อื่น ชุมชน และสังคมโลก
เนื่องด้วยภารกิจในถ้อยแถลงดังกล่าวนี้ เป็นกระบวนการที่เรียกร้องให้นักการศึกษาคาทอลิกทุกคนทุ่มเทและอุทิศตนอย่างจริงจัง
ผู้เข้าร่วมสัมมนาจึงตั้งปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรองและเพื่อการเปลี่ยนชีวิต
ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง อีกทั้งทำให้ทุกคนได้ทราบข่าวดีของพระเยซูคริสต์เจ้า
โดยตระหนักดีว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รู้จักและสัมผัสความรักของพระองค์ ดังที่พระองค์ได้เคยตรัสว่า “ท่านทั้งหลายก็จะเป็นพยานให้เราด้วย
เพราะท่านอยู่กับเราตั้งแต่แรกแล้ว” (ยอห์น 15:27)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น