นักบุญยอห์น ที่เกาะปัทมอส ประเทศกรีซ |
พระวรสารนักบุญยอห์นแตกต่างจากพระวรสารอีกสามเล่มที่กล่าวมาอย่างมาก เป็นพระวรสารที่เขียนขึ้นหลังสุดคือประมาณปี ค.ศ. 95 และดูเหมือนว่าผู้เขียนสรุปเอาว่าผู้อ่านรู้จักชีวิตของพระเยซูแล้ว โดยเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่และเน้น การตีความหมายเหตุการณ์ ท่านเลือก “หมายสำคัญ” ตอนที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่า พระเยซูเจ้าเป็นใคร ข้อมูลทุกตอนที่ท่านบันทึกต่างสนับสนุนจุดประสงค์ใหญ่ในการเขียน คือนำผู้อ่านให้เชื่อวางใจพระเยซูเจ้า (ยน 20:30-31)
3.1 ผู้เขียน
ปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับที่สี่ เป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อยที่เดียว และดูเหมือนจะยังไม่เป็นข้อยุติ ธรรมประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยแรกของพระศาสนจักรถือว่า “ยอห์นอัครสาวก” บุตรเศเบดี น้องชายของยากอบ เป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับที่สี่นี้ รวมทั้งจดหมายอีก 3 ฉบับและหนังสือวิวรณ์ โดยเฉพาะคำยืนยันของพระสังฆราชปาปิอัส ซึ่งเป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของยอห์นอัครสาวก เช่นเดียวกับที่ได้รับรองพระวรสารของมัทธิว มาระโก และลูกา
หลักฐานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายอีกชิ้นหนึ่งคือ ข้อเขียนของนักบุญอีเรเนอุส “หลังจากนั้น ยอห์นศิษย์ที่แนบศีรษะชิดพระอุระขององค์พระเจ้า ได้เขียนพระวรสารขณะที่อาศัยที่เอเฟซัสในเอเชีย” ผู้เขียนพระวรสารฉบับที่สี่พูดถึงตัวเองว่า“เป็นศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 21:20-25) โดยไม่ได้เอ่ยชื่อ ยอห์นอัครสาวกและเรียกยอห์น บัปติสต์ว่า “ยอห์น” เฉยๆ
อย่างไรก็ตาม หากเราอ่านตอนท้ายของพระวรสารฉบับที่สี่ดีๆ จะพบหลักฐานที่ชัดเจนว่า ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักเป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับนี้ ซึ่งพระวรสารบทสุดท้ายของยอห์น (บทที่ 21) เป็นตอนที่ศิษย์ของยอห์นได้เขียนขึ้นหลังความตายของท่าน “นี่คือศิษย์ที่เป็นพยานถึงเรื่องราวเหล่านี้ และเขียนบันทึกไว้ เพราะเรารู้ว่าคำพยานของเขาเป็นความจริง” (ยน 21:24) พระศาสนจักรสมัยแรกเชื่อและสอนว่า ยอห์นอัครสาวกเป็นผู้เขียนพระวรสารเล่มนี้ ประมาณปี ค.ศ. 95 ที่เมืองเอเฟซัส ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี
3.2 จุดประสงค์ของยอห์น
พระวรสารโดยนักบุญยอห์น เขียนขึ้นด้วยเจตนาส่งเสริมความเชื่อของคริสตชนให้มั่นคงในองค์พระเยซูเจ้ามากยิ่งขึ้น “เครื่องหมายเหล่านี้ได้ถูกบันทึกก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า และเมื่อเชื่อแล้วท่านจะได้มีชีวิตอาศัยพระนามของพระองค์” (ยน 20:31) ท่านต้องการจะให้มนุษย์ทุกคนเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อเหมือนกับเราคือพระแมสสิยาห์ที่ชาวยิวกำลังรอคอย พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า นอกจากนี้ยอห์นยังมีเจตนารอง ดังต่อไปนี้คือ
3.2.1 คัดค้านกลุ่มที่ให้ความสำคัญแก่ยอห์น บัปติสต์มากเกินไป
เนื่องจากมีศิษย์ของยอห์น บัปติสต์กลุ่มหนึ่งถือว่า ยอห์น บัปติสต์เหนือกว่าพระเยซูเจ้า เพราะท่านมาก่อนและได้ประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าด้วย ยอห์นกล่าวถึงยอห์น บัปติสต์ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาพยานของพระเยซูเจ้าเท่านั้น และนี่คือภารกิจโดยเฉพาะของยอห์น บัปติสต์
3.2.2 เพื่อต่อต้านคำสอนผิด
เนื่องจากมีบางลัทธิที่สอนว่าพระเยซูเจ้ามิได้บังเกิดจากหญิงพรหมจารี แต่เป็นบุตรของยอแซฟและมารีย์เหมือนมนุษย์คนอื่นทั้งหลาย ยอห์นจึงยืนยันอย่างชัดเจนว่า พระวจนาตถ์ (Logos) ทรงรับเอากายมาเป็นมนุษย์และมาประทับอยู่ท่ามกลางชาวเรา (ยน 1:14) ทรงเป็นอยู่กับพระบิดาตั้งแต่แรก และพระเยซูเจ้าชาวนาซาแรทคือพระคริสตเจ้า (ยน 20:31)
3.2.3 เพื่อต่อต้านลัทธิศาสนายิว
ยอห์นต้องการจะบอกว่าคำสอนของลัทธิยิวได้มาถึงจุดจบแล้ว เพราะว่ายุคใหม่ได้มาถึงแล้ว ยอห์นได้พยายามย้ำให้เห็นชัดว่า พันธสัญญาใหม่อยู่เหนือพันธสัญญาเก่า (ยน 2:13-22 พระวิหารใหม่; 4:21-24 คารวกิจใหม่; 6:33 อาหาร-มานนาใหม่)
3.3 ลักษณะพิเศษของพระวรสารฉบับที่สี่
เราจะสังเกตเห็นว่าพระวรสารฉบับที่สี่แตกต่างจากพระวรสารสามเล่มแรกอย่างชัดเจน ในพระวรสารสหทรรศน์ เราเห็นโครงสร้างเหมือนกันดังนี้ ปฐมวัย (ในมัทธิวและลูกา) – การเทศน์สอนของยอห์น บัปติสต์ - พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้วออกเทศน์สอนในแคว้นกาลิลี - เดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม - ถูกจับ รับทรมาน - สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ การเทศน์สอนของพระเยซูเจ้ามีเนื้อหาจิปาถะ เป็นประโยคสั้นๆ เป็นเรื่องเปรียบเทียบ และมีการเล่าถึงอัศจรรย์อยู่บ่อยๆ โดยใช้ภาษาและตัวอย่างธรรมดาๆ จากชีวิตประจำวัน
พระวรสารฉบับที่สี่ดูเหมือนมีโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไป ยอห์นเริ่มต้นพระวรสารของท่านด้วยการกล่าวถึง “พระวจนาตถ์” แล้วจึงกล่าวถึงภารกิจในแคว้นยูเดียและกาลิลีสลับกันไป และจบลงด้วยเรื่องพระทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า นอกจากนั้น พระวรสารฉบับที่สี่ยังมีลักษณะเฉพาะของตน เช่น
แนวความคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวกับความรู้ มีการใช้ศัพท์ “แสงสว่าง-ความมืด” “ความจริง-ความเท็จ” ทูตแห่งความสว่าง-ทูตแห่งความมืด”
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็น “เครื่องหมาย” สำคัญ ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่เข้าใจทั่วไป ความหมายที่ซ่อนเร้นเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนเมื่อพระองค์ “ทรงรับเกียรติมงคล” แล้ว (ยน 2:20)
ยอห์นให้ความสำคัญกับเรื่องพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเล่าภารกิจของพระเยซูเจ้าสัมพันธ์กับวันสำคัญและเทศกาลทางศาสนายิว เช่น ศีลล้างบาป (ยน 3:1-12) ศีลมหาสนิท (ยน 6)
จะเห็นได้ว่า พระวรสารฉบับที่สี่มิได้เสนอคำสอนของพระเยซูเจ้าโดยใช้พระวาจาของพระองค์โดยตรง แค่ถ่ายทอด “ความหมาย” และ “เจตนารมณ์” ของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นพระวาจาที่ได้ถูกย่อยและดูดซึมเข้าในชีวิตของคริสตชนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประสบการณ์ของยอห์นเอง ที่ได้ไตร่ตรองพระวาจาของพระองค์จนตกผลึก และถ่ายทอดออกมาเป็น พระวรสารฉับบที่สี่
บทสรุป
พระวรสารเขียนขึ้นเพื่อให้คริสตชนใช้แนะนำและอธิบายความเชื่อของตนแก่คนอื่น (ลก 1:3-4; ยน 21:31) บอกให้เราทราบถึงเรื่องราวของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับชีวิตและภารกิจของพระองค์ และได้แสดงให้เราเห็นถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์แห่งความรอดของมวลมนุษย์ คือการที่พระเจ้าทรงรับเอากายเป็นมนุษย์เพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ หากเราต้องการเป็นคริสตชนที่เข้มแข็งด้านความเชื่อ ต้องการรักและรับใช้พระองค์มากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องการนำพระองค์ไปมอบให้กับผู้อื่น เราต้องอ่านและทำให้พระวรสารของพระองค์กลายเป็นชีวิตของเรา
นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู เป็นผู้หนึ่งที่ได้พยายามอ่านและรำพึงพระวรสาร ท่านได้เขียนไว้ว่า “เหนืออื่นใด พระวรสารนี่แหละที่บำรุงการสวดภาวนาของฉัน พระวรสารนี่แหละที่ดิฉันสามารถตักตวงผลประโยชน์ สิ่งจำเป็นต่างๆ สำหรับวิญญาณดวงน้อยอย่างดิฉัน ฉันพบความสว่างอันสดใหม่อยู่เสมอ พร้อมข้อความธรรมล้ำลึกอีกด้วย” (บทที่ 8) แม้ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านยังพูดถึงพระวรสารว่า “ดิฉันไม่ต้องการหนังสืออื่นใด นอกจากพระวรสาร เพียงสิ่งนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับดิฉัน” (15 พฤษภาคม 1897)
เราได้ทำการศึกษาและเรียนรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพระวรสารทั้งสี่มาพอสังเขป แต่สิ่งที่พระเยซูเจ้าต้องการและเรียกร้องจากเรามากกว่านั้นคือ เราจะต้องเขียนพระวรสารวันละบท จากกิจการที่เรากระทำและคำพูดที่เรากล่าวออกไป เพื่อทำให้สิ่งที่เราอ่านกลายเป็นชีวิตของเรา “ขอบคุณพระวรสาร ซึ่งแม้เราไม่ได้เห็นพระเยซูเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมาในโลก แต่อาศัยพระวรสารนี้เองทำให้เราได้อยู่กับพระองค์ โดยเฉพาะในเวลาที่เราอ่านสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ” (นักบุญอัมโบส)
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว6 มิถุนายน 2011
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น