วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การให้อภัยและการคืนดี

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
อสค 18:21-18
มธ 5:20-26

 การให้อภัยและการคืนดี

ในดินแดนที่มีความขัดแย้งรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างอินเดีย มีสงครามศาสนาระหว่างฮินดูกับมุสลิมไม่เว้นแต่ละวัน มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งถูกมุสลิมฆ่าตาย หลังจากจัดงานศพเป็นที่เรียบร้อยครอบครัวนี้ได้ไปหา มหาตะมะ คานธี และถามว่าจะให้ทำอย่างไร คานธีก็บอกว่า ให้ไปหาเด็กหนุ่มมุสลิมอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับบุตรชายที่ตายไป “ดี! เราจะฆ่ามันให้ตาย” สองสามี-ภรรยาพูดด้วยความแค้น “ไม่ใช่ให้แก้แค้น” คานธีกล่าว “แต่พวกท่านจะต้องเลี้ยงดูเขาเหมือนลูกของพวกท่านเอง”

มหาตะมะ คานธี บิดาผู้สร้างชาติอินเดีย เป็นผู้หนึ่งที่เข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้าในเรื่องการให้อภัยและการคืนดี ท่านกล่าวว่า คำสอนของพระเยซูเจ้าดีมากแต่เป็นบรรดาคริสตชนที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม ในพระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึงบุคคล 2 กลุ่มคือ ธรรมาจารย์และฟาริสี “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้ว ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย(มธ 5:20)

ธรรมาจารย์ คือผู้มีอาชีพศึกษาและอธิบายพระบัญญัติกับธรรมประเพณี พร้อมทั้งออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น ในวันสะบาโตห้ามทำการ 39 อย่าง อาทิ ห้ามเก็บเกี่ยว ห้ามนวดข้าว รวมถึงการเด็ดรวงข้าว (ลก 6:1-2) พวกนี้รักษากฎระเบียบหยุมหยิมของธรรมประเพณีจนลืมรากฐานที่สำคัญของพระบัญญัติ (มก 7:1-13) อีกกลุ่มหนึ่งคือ ชาวฟาริสี กลุ่มนี้เคร่งครัดในการรักษาความบริสุทธิ์ทางศาสนา โดยเน้นการรักษาพระบัญญัติและธรรมประเพณี พยายามแยกตัวออกไปจากสังคมยิวเพราะคิดว่า “ฉันบริสุทธิ์กว่าคนอื่นทั้งหลาย”

สำหรับพระเยซูเจ้า ความชอบธรรมไม่ได้อยู่ที่การถือตามบัญญัติ แต่อยู่ที่การปฏิบัติความรักต่อเพื่อนพี่น้องความรักคือ บัญญัติเอกที่ทรงมอบให้เรา และเครื่องหมายแห่งความรักที่แท้จริงคือ การให้อภัยความผิดของกันและกันด้วยใจกว้าง ทั้งนี้ก็เพราะพระเจ้าได้ให้อภัยเราก่อน แม้ว่าเราจะทำความผิดใหญ่หลวงเพียงใดก็ตาม “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) ดังนี้ เวลาที่เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยนั่นคือจุดเริ่มต้นของสันติสุข ดังสุภาษิตแอฟริกาที่ว่า “ผู้ที่ให้อภัยยุติความขัดแย้ง” (He, who forgives, ends the quarrel.)

พระเยซูเจ้ายังบอกเราว่า ไม่เพียงการยกโทษหรือให้อภัยความผิดของเพื่อนพี่น้องที่ทำผิดต่อเราเท่านั้น แต่เราต้องคืนดีกันแม้ความผิดนั้นเขาจะเป็นต้นเหตุก็ตาม “จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น” (มธ 5:24) พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเปิดใจกว้างในการเสวนา ฟัง และยอมรับเพื่อนพี่น้องในสิ่งที่เขาเป็น ยอมแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเรา หากเราทำได้ดังนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวและสันติสุขจะกลับคืนมา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
26 กุมภาพันธ์ 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น