วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทข้าแต่พระบิดา บทภาวนาสำหรับคริสตชน

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
อสย 55:10-11
มธ 6:7-15

 บทข้าแต่พระบิดา บทภาวนาสำหรับคริสตชน


เทศกาลมหาพรต เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับการภาวนา และพระวาจาของพระในวันนี้ต้องการแสดงให้เราทราบในทันทีถึงบทภาวนาที่เป็นแบบแผนของเราคริสตชนคือ “บทข้าแต่พระบิดา” ซึ่งเป็นบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้ภาวนาตามแนวทางของศาสนาใหม่ที่พระองค์นำมา เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ทำให้เราสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้โดยง่าย ไม่ใช่ในฐานะพระผู้สร้างที่ทรงสรรพานุภาพ แต่เป็นดังพ่อ (Abba) หรือบิดาที่ใจดีที่เราสามารถวางใจและพูดกับพระองค์ได้อย่างสนิทใจ โดยปราศจากความหวาดกลัวใดๆ

เรามีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกันซึ่งรู้ถึงความต้องการของเราแต่ละคน พระเยซูเจ้าทรงเน้นให้เห็นว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้ทุกคนศักดิ์สิทธิ์ผ่านทางพระโลหิตของพระองค์บนไม้กางเขน “บทข้าแต่พระบิดา” จึงเป็นบทภาวนาที่แสดงถึงความเป็นบุตรและการเป็นพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสอนให้เรารู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน เราแต่ละคนเป็นคนบาป อ่อนแอ และบกพร่อง แต่ยังสามารถเรียกพระเจ้าว่าเป็น “บิดาของเรา” ภายใต้เงื่อนไขของการให้อภัยหรือการยกโทษความผิดของเพื่อนพี่น้องจากส่วนลึกของจิตใจ

บทข้าแต่พระบิดา จึงเป็นบทภาวนาพิเศษสำหรับเราคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและมอบไว้ให้ ถือเป็นบทภาวนาที่สำคัญและบ่งบอกให้รู้ว่า “คริสตชนเป็นใคร” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการภาวนาของพวกฟารีสีและคนต่างศาสนาที่เน้นการพูดจายืดยาวและรูปแบบภายนอกเท่านั้น เราเริ่มต้นด้วยคำว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” คือการที่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ให้เราทราบ และเราตอบรับการเผยแสดงนี้ด้วยความเชื่อ ความวางใจ ความรัก และการให้อภัย ซึ่งถือเป็นบทสรุปของพระวรสารทั้งหมด

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในบทข้าแต่พระบิดา พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้ภาวนาต่อพระบิดาเจ้าเยี่ยงบุตร แสดงถึงสัมพันธภาพใหม่ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในคริสตศาสนาว่า เป็นเหมือนความสัมพันธ์ในครอบครัว (กท 4:6; รม 8:15) ซึ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดในพระธรรมใหม่ที่พระเจ้าทรงรักบุตรของพระองค์ทุกคน นอกนั้น ยังเป็นคำภาวนาของหมู่คณะ เมื่อใครคนหนึ่งภาวนาถึงพระบิดาเจ้า ทุกคนก็ภาวนาร่วมกับเขาและพร้อมกันกับเขา

บทข้าแต่พระบิดา ยังแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าคือผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้งานไถ่กู้และอาณาจักรสวรรค์ปรากฏเป็นจริงตั้งแต่ในโลกนี้ “พระอาณาจักรจงมาถึง” ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การให้อภัยความผิดของกันและกัน “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญและเครื่องหมายแสดงว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นพี่น้องกัน มีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกันที่ทรงรักและให้อภัยความผิดของเราเสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า” (To err is human, to forgive divine: Alexander Pope)

ดังนี้ พระศาสนจักรได้ให้เราสวด “บทข้าแต่พระบิดา” ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ก่อนจะรับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท เพื่อเตือนใจเราว่า ทุกคนเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน เป็นพี่น้องกันโดยไม่แบ่งแยก และได้ให้อภัยความผิดของกันและกันแล้ว ปัญหาก็คือ หากเรายังไม่สามารถยอมรับได้ว่าทุกคนเป็นพี่น้องและอภัยความผิดของกันและกันได้อย่างสนิทใจแล้ว ก็เท่ากับว่า เราสวด “บทข้าแต่พระบิดา” ยังไม่จบ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
23 กุมภาพันธ์ 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น