วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ต้องให้อภัยเสมอ

ต้องให้อภัยเสมอ
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
ปี A
บสร 27:30-28:7
รม 14:7-9
มธ 18:21-35
บทนำ
คอร์รี่ บูม อาศัยอยู่ที่อัมสเตอร์ดัมระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของร้านขายนาฬิกา เมื่อทหารนาซีบุกยึดเนเธอร์แลนด์ ครอบครัวของเธอได้ให้ความช่วยเหลือชาวยิวจำนวนมากไม่ให้ถูกกวาดต้อนไปค่ายมรณะเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ที่สุด มีคนรู้สิ่งที่ครอบครัวเธอกำลังทำอยู่ ทำให้เธอและน้องสาวชื่อเบทซีถูกส่งตัวไปค่ายกักกันราเวนบรัค (Ravenbruck)
มีเพียงคอร์รีที่รอดชีวิตจากการทรมานในค่ายกักกัน เมื่อสงครามสงบเธอได้เดินทางไปทั่วยุโรป บรรยายเรื่องการให้อภัยและการคืนดี หลังการบรรยายครั้งหนึ่งที่มิวนิค ประเทศเยอรมัน ชายคนหนึ่งได้ก้าวออกมาข้างหน้า ขอบคุณเธอสำหรับการบรรยายที่ดีเยี่ยม คอรร์รีแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง เขาคือทหารนาซีจากค่ายราเวนบรัค ชายคนนั้นยื่นมือเพื่อสัมผัสมือเธอ คอร์รีตัวแข็งทื่อไม่สามารถสัมผัสมือเขาได้ ทั้งๆ ที่เพิ่งพูดเรื่องการให้อภัยและการคืนดีกัน
ความเลวร้ายซึ่งคอร์รีได้รับที่ค่ายกักกัน และความตายของน้องสาวหวนกลับคืนมาอีกครั้ง กระทั่งเธอภาวนาในใจว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกไม่สามารถอภัยชายคนนี้ได้ โปรดยกโทษให้ลูกด้วย” เวลานั้นเอง เธอสามารถสัมผัสมือและอภัยเขาได้อย่างสนิทใจ ประสบการณ์วันนั้นทำให้เธอเข้าใจว่าพระหรรษทานและความช่วยเหลือของพระเยซูเจ้า ทำให้เธอสามารถอภัยและยกโทษคนที่ทำผิดต่อเธอได้

1.        ต้องให้อภัยเสมอ
พระวรสารวันนี้เตือนเราถึงหน้าที่และพันธกิจสำคัญของการเป็นคริสตชน ในการเดินตามรอยเท้าและก้าวย่างของพระองค์ อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้แบบอย่างเรื่องการให้อภัย ขณะถูกตรึงบนไม้กางเขนพระองค์ได้ร้องขอพระบิดาให้อภัยผู้ที่ประหารพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) นี่คือ ความรักที่เปี่ยมล้นหัวใจของพระองค์ แม้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของชีวิต
เราต้องขอบคุณนักบุญเปโตรที่ยกปัญหาถามพระเยซูเจ้า “ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่” (มธ 18:21) เปโตรหวังได้รับคำชมจากพระเยซูเจ้า เพราะเลขเจ็ดถือเป็นเลขที่สมบูรณ์ อีกทั้ง คำสอนของอาจารย์ชาวยิว การยกโทษคนที่ทำผิดต่อเราสามครั้งถือว่ามากที่สุดแล้ว แต่พระเยซูเจ้าตอบเปโตรว่า “ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มธ 18:22) ซึ่งหมายถึง “จำนวนที่ไม่จำกัด” ต้องยกโทษหรือให้อภัยเสมอไป
การให้อภัยเป็นเรื่องที่ทำได้ยากทั้งแนวคิดและวิธีปฏิบัติ เพราะเราคุ้นเคยกับการแก้แค้นแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” แต่พระเยซูเจ้าสอนว่าเพื่อมีความสุขแท้จริง ต้องให้อภัยเสมอ คำอุปมาที่พระองค์เล่า ชี้ให้เห็นถึงจำนวนเงินมหาศาลที่ผู้รับใช้เป็นหนี้กษัตริย์ ในแบบที่ไม่อาจใช้คืนได้เลย  แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเงินเพียงเล็กน้อยที่เพื่อนเป็นหนี้เขา สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักว่าผู้ที่ทำผิดต่อเรา เทียบไม่ได้กับความผิดที่เราทำต่อพระเจ้า
ในทางจิตวิทยา การไม่ให้อภัยนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานในจิตใจ การให้อภัยไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพจิต แต่ยังส่งผลดีต่อชีวิตฝ่ายจิตด้วย ดังนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เรารักผู้อื่นแม้เขาทำไม่ดีต่อเรา ให้อภัยเขาด้วยใจกว้าง หากเราไม่ทำเช่นนี้ ไม่ใช่พระเจ้าที่ลงโทษเรา แต่เป็นเราที่ทำร้ายตัวเอง เราจะรู้สึกทุกข์ใจไม่เป็นสุข แต่เวลาใดที่เรายอมให้อภัย จิตใจเราจะพบความสุขสงบและความยินดี
2.        บทเรียนสำหรับเรา
คำอุปมาในพระวรสารได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก  ต้องให้อภัยเสมอ การให้อภัยเพื่อนพี่น้องด้วยจริงใจเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากเราต้องการให้พระเจ้าอภัยบาปเรา “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” (มธ 6:12) การคืนดีกับเพื่อนพี่น้องย่อมประเสริฐกว่าการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า เราคืนดีกับพระเจ้าไม่ได้หากเราไม่คืนดีกับเพื่อนพี่น้อง เราให้อภัยพี่น้องเพราะพระเจ้าได้ให้อภัยเราก่อน “ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า” (Alexander Pope)
ประการที่สอง ต้องเป็นผู้ใจดีมีเมตตา พระเจ้าทรงความเมตตากรุณาต่อเราก่อนเสมอ โปรดให้ดวงอาทิตย์...ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม (มธ 5:45) ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในโลกเพราะความรัก เราต้องมีใจเมตตาต่อผู้อื่น “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา” (มธ 5:7) ผู้รับใช้ไร้เมตตาคนนั้นได้รับโทษ เพราะขาดความเมตตาต่อเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน
ประการที่สาม ต้องเป็นคนแรกที่ให้อภัย การให้อภัยเป็นเรื่องที่ยากลำบากเสมอ โดยเฉพาะกับคนที่ปฏิเสธการให้อภัยของเรา แต่ความรักของพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนพี่น้อง เรียกร้องให้เราเป็นคนแรกที่ให้อภัยเสมอ เพราะพระเจ้าทรงรักและให้อภัยเราอย่างไม่มีสิ้นสุด แม้เราได้กระทำผิดต่อพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พระองค์ไม่ทรงจดจำความผิดและไม่เคยถือโทษโกรธเคือง
บทสรุป
พี่น้องที่รัก การให้อภัยเป็นเครื่องหมายของการเป็นคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่ ที่เอาใจใส่ต่อเพื่อนพี่น้องด้วยความรัก เป็นต้นในครอบครัว สังคม หรือหมู่คณะ เพื่อสร้างสัมพันธภาพใหม่ระหว่างสามีภรรยา พ่อแม่ลูก เพื่อนฝูง สมาชิกในคณะ หรือแม้กระทั่งศัตรูให้กลับคืนมาอีกครั้ง บนพื้นฐานแห่งความรักแบบคริสตชน ที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราได้เห็นบนไม้กางเขน ในการให้อภัยผู้ที่ประหารพระองค์
ศิษย์พระคริสต์ต้องให้อภัยเสมอ ให้อภัยทุกคนและตลอดไป เพราะแต่ละคนล้วนเป็นคนบาปเคยกระทำความผิดมาด้วยกันทั้งนั้น เราต้องการการให้อภัยและต้องเป็นคนแรกที่พร้อมให้อภัย  “ใครที่ไม่ยอมให้อภัย เท่ากับว่าเขาได้ทำลายสะพานที่ต้องใช้ข้าม” (Wilfred Peterson) ดังนั้น จงให้อภัยและลืมความผิดของกันและกัน ทั้งนี้เพราะการให้อภัยนำสันติสุขแท้มาสู่จิตใจของผู้ให้อภัยและผู้ได้รับการอภัย
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์
15 กันยายน 2017
ภาพประกอบ: เด็กชาวอิตาเลียน, โบฟฟาโลรา, มิลาน อิตาลี; 2008-07-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น