วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

การนับอายุบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่

 

การนับอายุบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่

บ้านเณรเล็กท่าแร่ที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ปี 1952

ผู้เขียนเคยบรรยายและแบ่งปันเรื่องการนับอายุของบ้านเณรเล็กท่าแร่ (Seminarii Minoris Tharensis)  หรือบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่หลายครั้ง โดยเฉพาะกับศิษย์เก่าฟาติมา คณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และสัตบุรุษในการเทศน์เตรียมจิตใจโอกาสฉลองบ้านเณร หลายท่านเสนอความเห็นว่า ควรเขียนบทความและนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้รุ่นหลังได้ศึกษา และนี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้

การนับอายุของบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่ เริ่มนับปี 1954 (2497) ซึ่งเป็นปีที่ตึกฟาติมาสร้างเสร็จ และมีพิธีเสกเมื่อ 13 ตุลาคม 1954 (2497) อันเป็นวันฉลองพระนางมารีย์พรหมจารีแห่งฟาติมา  (Our Lady of Fatima)โดยพระสังฆราชเกลาดิอุส เบเย เป็นผู้ทำพิธีเสก และพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต เป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณที่ปะรำพิธีหน้าอาคารใหม่  พร้อมกับพระสังฆราช พระสงฆ์ และสัตบุรุษ และได้ถวายบ้านเณรแห่งนี้แด่พระมารดาแห่งฟาติมา

หากดูเฉพาะข้อมูลนี้ ย่อมเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่นับอายุของบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่ ณ ปี 1954 (2497) แต่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะ ชื่อบ้านเณรแม่พระฟาติมามิใช่จุดเริ่มต้น แต่เป็นรอยต่อของประวัติศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1947 (2490) ปกติการนับอายุบุคคล หรือสถานที่ต้องเริ่มที่ “จุดกำเนิด” หรือ “จุดเริ่มต้น” แต่บ้านเณรแม่พระฟาติมาไม่ใช่จุดเริ่มต้นแต่อย่างใด หลักฐานและเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนเรื่องนี้มี 3 อย่าง

วันเปิดตึกฟาติมาและเสกระฆังโดย พระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต 13 ตุลาคม 1954
1             รายชื่อสามเณร

ต้องสารภาพว่า ผู้เขียนได้เข้าใจผิดเรื่องนี้มาตลอด ได้เขียนบทความเกี่ยวกับบ้านเณรแห่งนี้แบบผิด ๆ มาหลายครั้ง โดยอิงกับการฉลองครบรอบ 25 ปี และ 50 ปี ในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อได้เห็นรายชื่อสามเณร ซึ่งเป็นสมุดปกแข็งขนาด 16 หน้ายก หนา 300 หน้า พบรายชื่อสามเณรลำดับที่ 1 ถึงลำดับที่ 750 ถึงได้เกิดความกระจ่าง เนื่องจากรายชื่อสามเณรเป็นการนับแบบต่อเนื่อง (Running Number) ตั้งแต่ปีเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างผู้เขียนเข้าบ้านเณรปี 1978 (2521) เลขที่ 1083

รายชื่อสามเณรในระยะเริ่มต้นถึงปี 1964 (2507) เขียนด้วยอักษรโรมัน พบรายชื่อลำดับที่ 1 คือ Antonius, Ngia  Ho-ngiem, Thare, 15a Aprilis 1947, Roma, Pretre (ดูภาพประกอบ) ซึ่งต่อมาคือ คุณพ่ออันตน เสงี่ยม  ศรีวรกุล ประเด็นสำคัญคือวันที่เข้าบ้านเณร 15 เมษายน 1947 นี่คือจุดเริ่มต้นของบ้านเณรเล็กท่าแร่อย่างแท้จริง ฉะนั้น การนับอายุที่ถูกต้องและตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือปี 1947 (2490) ไม่ใช่ปี 1954 (2497) แต่อย่างใด

สมุดปกแข็งบันทึกรายชื่อสมเณรขนาด 300 หน้า และรายชื่อสามเณรหน้าแรก

         สอดคล้องกับประวัติศาสตร์พระศาสนจักรภาคอีสาน หลังภาวะสงครามและการเบียดเบียนศาสนาสิ้นสุดลง ผู้ใหญ่ของมิสซังโดยการนำของ คุณพ่อเกลาดิอุส  บาเย คุณพ่อเปาโล ศรีนวล  ศรีวรกุล และคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง  ยวงบัตรี ได้ปรึกษากันเรื่องการตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ขึ้น โดยเห็นพ้องกันว่า สถานที่เดิมที่หนองแสง นครพนมไม่เหมาะสำหรับสร้างบ้านเณรอีก จึงได้ตัดสินใจย้ายไปสร้างที่บ้านท่าแร่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร

เดือนพฤษภาคม ปี 1947 (2490) คุณพ่อเปาโล ศรีนวล  ศรีวรกุล ได้ยื่นขออนุญาตเปิดโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่เป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้การศึกษาอบรมแก่สามเณรและเณรี  แต่ไม่ปฏิเสธการรับนักเรียนในพื้นที่  มีสามเณรจากทั่วภาคอีสานสมัครเข้าบ้านเณรในปีแรกจำนวน 28 คน  โดยให้บรรดาสามเณรพักอาศัยที่อาคารของโรงเรียน มีคุณพ่อเปโตร วันดี  พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นอธิการ โรงเรียนแห่งนี้เป็นทั้งโรงเรียนและบ้านเณรในเวลาเดียวกัน

ลายมือชื่ออธิการบ้านเณรในเอกสารรับรองศิษย์คนแรกไปเรียนที่กรุงโรม 5 กุมภาพันธ์ 1955 ยังคงใช้ชื่อบ้านเณรเล็กท่าแร่ และสรุปจำนวนสามเณรในแต่ละรุ่น
2             
ความต่อเนื่องของการอบรมและความภูมิใจของศิษย์เก่า

การอบรมสามเณรได้เริ่มต้นที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ในบริเวณอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เมื่อจำนวนสามเณรเพิ่มมากขึ้น ผู้ใหญ่ของมิสซังได้คิดสร้างบ้านเณรในที่ดินของมิสซังทางทิศตะวันตกของบ้านท่าแร่ โดยแยกเป็นเอกเทศจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ปี 1949 (2492) คุณพ่อยอแซฟ อินทร์  นารินรักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบ้านเณรขณะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่และผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ 

การก่อสร้างบ้านเณรเริ่มขึ้นหลังพิธีวางศิลาฤกษ์โดย พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย เมื่อ 6 พฤษภาคม 1952 (2495) มี คุณพ่อราฟาแอล คาร โสรินทร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ปี 1954 (2497) บ้านเณรเล็กท่าแร่แม้มีอายุเพียง 7 ปี แต่ในวันย้ายบ้านเดือนมิถุนายน ปี 1954 (2497) มีจำนวนสามเณรถึง 70 คน  ตามคำบอกเล่าของ อ.ศรีสมุทร สวนียานันท์ (โพธิ์ดำ) เลขที่ 129 และอดีตครูใหญ่โรงเรียนวรธรรมพิทยาคาร ทุกคนต่างดีใจและตื่นเต้นกับการได้อยู่บ้านใหม่

พิธีวางศิลาฤกษ์บ้านเณรบนที่ดินทางทิศตะวันตกของบ้านท่าแร่โดย พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย 6 พฤษภาคม 1952

        สามเณรที่ผ่านการอบรมจากบ้านเณรเล็กท่าแร่ก่อนย้ายบ้านมีทั้งหมด 7 รุ่น รวม 194 คน ได้บวชเป็นพระสังฆราช 1 องค์ คือ พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร  สันติสุขนิรันดร์ เลขที่ 193 (รุ่นที่ 7) และได้บวชเป็นพระสงฆ์ 7 องค์ ได้แก่ 1) คุณพ่ออันตน เสงี่ยม  ศรีวรกุล เลขที่ 1 (รุ่นที่ 1), 2) คุณพ่อเปาโล พิชิต ศรีอ่อน เลขที่ 52 (รุ่นที่ 3), 3) คุณพ่อลอเรนซ์ ชาย ขันทะโฮม, C.Ss.R.  เลขที่ 53 (รุ่นที่ 3), 4) คุณพ่อมาร์เซลลูส วาท  อินทนาม เลขที่ 63 (รุ่นที่ 3), 5) คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม เลขที่ 73 (รุ่นที่ 4), 6) คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ หลิ่ง  เหวี่ยน (นรินทร์  ศิริวิริยานันท์) เลขที่ 119 (รุ่นที่ 6) และ 7) คุณพ่อเปโตร เล้ง  โคธิเสน, C.Ss.R. เลขที่  178 (รุ่นที่ 7)

นอกจากพระสังฆราช และพระสงฆ์ที่กล่าวมา บ้านเณรแห่งนี้ยังมีศิษย์เก่าอีกมากมาย รวม 194 คน หลายคนไม่ได้ย้ายเข้าอยู่ที่บ้านใหม่เพราะเปลี่ยนกระแสเรียกก่อน แต่ภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์ของบ้านเณรแม่พระฟาติมาตามชื่อใหม่ที่ได้รับ โดยข้อเท็จจริงบ้านเณรแห่งนี้เป็นบ้านเณรเดียวกัน มีความก้าวหน้าและเติบโตเป็นลำดับนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง 1947 (2490) จวบจนปัจจุบัน การอบรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีขาดช่วงและเป็นความภูมิใจของศิษย์เก่าทุกรุ่น ทุกคน

รายชื่อสามเณร Paul Pichit Sion, Laurentius Xai Khanthahom และรายชื่อสมเณร Ludovicus Chamnien Dong (พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร  สันติสุขนิรันดร์)

3           
เพชรยอดมงกุฎนามบุญราศียอแซฟ อุทัย  พองพูม

ศิษย์เก่าส่วนใหญ่ประสบผลสำเร็จในชีวิต มีบทบาทสำคัญทางสังคม การเมือง และพระศาสนจักร ถือเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ายิ่งซึ่งบ้านเณรแห่งนี้ได้สร้าง นอกจานั้น บ้านเณรแห่งนี้ยังมีเพชรเม็ดงามประดับยอดมงกุฎของพระศาสนจักรนาม บุญราศียอแซฟ อุทัย  พองพูม เป็นศิษย์รุ่นแรก (รุ่นคุณพ่ออันตน เสงี่ยม ศรีวรกุล) เลขที่ 26 จากบ้านคำเกิ้ม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เข้าบ้านเณรเมื่อ 15 เมษายน 1947 (2490) ออกจากบ้านเณรเมื่อ 30 สิงหาคม 1948 (2491)

หลังออกจากบ้านเณร อุทัย พองพูม ได้กลับไปอยู่บ้านที่คำเกิ้ม มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานวัด ได้เป็นครูคำสอน และเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของ คุณพ่อโนแอล เตอโนด์ ในการสอนคำสอน การเยี่ยมให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือตามหมู่บ้านต่าง ๆ ก่อนพลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยกันใกล้เมืองพะลานในการไปเยี่ยมคริสตชนเขตเซโปน แขวงสะหวันนะเขต, สปป. ลาว และได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสให้เป็น “บุญราศีแห่งเมืองลาว” พร้อมกับเพื่อนมรณสักขีรวม 17 องค์ เมื่ออาทิตย์ 11 ธันวาคม 2016 (2559)

บุญราศียอแซฟ อุทัย พองพูม เลขที่ 26 เข้าบ้านเณร 15 เมษายน 1947 ออก 30 สิงหาคม 1948 

         บุญราศียอแซฟ อุทัย พองพูมได้ดำเนินชีวิตความเชื่ออย่างซื่อสัตย์ รับใช้ประชากรของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ และสละชีวิตเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้า เพื่อทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความรักของพระเจ้าและข่าวดีแห่งพระวรสารที่พระเยซูเจ้าทรงสอน ศิษย์ฟาติมาท่านนี้ได้เลียนแบบพระเยซูเจ้าจนถึงที่สุดคือความตายบนไม้กางเขน และได้แสดงให้เห็นว่า ความตายมิใช่สิ่งน่ากลัวและสูญเปล่า แต่เป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีทำให้พระศาสนจักรเติบโต

บทสรุป

เมื่อบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่เป็นบ้านเณรเดียวกันกับบ้านเณรเล็กท่าแร่ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันแรก 15 เมษายน 1947 (2490) ที่รับสามเณรทั่วภาคอีสานรุ่นแรก จำนวน 28 คน เข้ารับการอบรมบ่มเพาะเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ ได้ก้าวหน้าและเติบโตมาเป็นลำดับจวบจนปัจจุบัน และได้กลายเป็น “หัวใจ” ของพระศาสนจักรอีสานในระยะเริ่มแรก และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในปัจจุบัน จึงควรนับอายุบ้านเณรจากจุดเริ่มต้นคือปี 1947 (2490)

ศิษย์เก่าเลขที่ 1 คุณพ่อเสงี่ยม ศรีวรกุล (บนขวา) และ เลขที่ 2 ผู้พิากษาบุญศรี กอบบุญ (บนซ้าย) วันฉลองบ้านเณร 4 ตุลาคม 2004 

        หากเรายังคงนับอายุบ้านเณรจากปี
1954 (2497) เหมือนที่กำลังทำอยู่ เท่ากับเป็นการมองแบบแยกส่วน ทำให้ศิษย์เก่า 7 รุ่น จำนวน 194 คนถูกตัดออกไป ซึ่งในจำนวนนี้มีพระสังฆราช 1 องค์ และพระสงฆ์ 7 องค์ ที่สำคัญคือเพชรประดับมงกุฎอย่าง บุญราศียอแซฟ อุทัย  พองพูม ย่อมถูกตัดออกไปด้วย สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือการขาดรากเหง้าและที่มา อีกทั้งไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจของศิษย์เก่าทุกรุ่นอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์หาใช่สิ่งที่ผ่านเลยไปเท่านั้น แต่เป็นที่มาของปัจจุบัน และเครื่องชี้อนาคตข้างหน้า อุปมาเหมือนคนเราเป็นใบไม้  ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าลำต้นและกิ่งก้านเป็นอะไร  มีรากเหง้าและที่มาอย่างไร  ดีที่สุดก็เป็นได้แค่ใบไม้ใบหนึ่งที่ปลิวตามลมไปมาเท่านั้น  การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงเป็นการเรียนรู้รากเหง้าแท้จริงของตนเอง  เพื่อการสร้างสรรค์ปัจจุบันให้น่าอยู่ และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เหนือสิ่งอื่นใด ควรเคารพรากเหง้าและที่มาของตน

คุณพ่อขวัญ  ถิ่นวัลย์

ID LINE : dondaniele

วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก, สกลนคร

24 มกราคม 2024

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น