วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เก็บมาฝาก จากสิงคโปร์



ความจริงผู้เขียนตั้งใจที่จะไปสิงคโปร์นานมาแล้ว แต่ยังหาโอกาสเหมาะไม่ได้ บังเอิญเพื่อนรุ่นน้อง (แต่อายุมากกว่า) คนหนึ่ง ซึ่งรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีตั้งแต่บ้านเณรเล็กจนถึงบ้านเณรใหญ่ ชื่อ วิชัย สิงห์แขก จากบ้านเชียงยืน ตำบลเวินพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มาตั้งหลักปักฐานเปิดร้านอาหารที่สิงคโปร์นับสิบปี วันหนึ่งเขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองไทยพร้อมครอบครัว ได้พบปะเพื่อนฝูงและออกปากเชิญให้ไปเยี่ยมที่สิงคโปร์บ้าง

เมื่อโอกาสเหมาะและทุกอย่างเอื้ออำนวยเลยได้โอกาสไปเยือนสิงคโปร์ โดยออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2010 เวลา 07.30 น. ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ช้ากว่ากำหนดร่วมครึ่งชั่วโมง เนื่องมาจากเป็นสายการบินราคาประหยัด (Low Cost) จึงต้องรอผู้โดยสาร มีบริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องเหมือนสายการบินทั่วไปแต่ต้องจ่ายเพิ่ม แถมด้วยการขายสินค้าและของที่ระลึกซึ่งดูแปลกไปอีกแบบ ทำไงได้ เมื่อเลือกที่จะประหยัดเงินในกระเป๋าก็ต้องทำใจกับบริการแบบนี้

ที่สุด เครื่องแอร์บัส A320-200 ได้นำพวกเราและผู้โดยสารถึงสนามบินนานาชาติชางฮี (Changi International Airport) ของประเทศสิงคโปร์อย่างปลอดภัยในเวลา 10.30 น. ตามเวลาของสิงคโปร์ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่เมืองไทย 1 ชั่วโมง สนามบินชางฮีได้ชื่อว่าเป็นสนามบินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเรื่องความสะดวกและบริการ ถือเป็นศูนย์กลางทางการบินที่คับคั่งแห่งหนึ่งของโลก แต่ในเวลาที่พวกเรามาถึงไม่เห็นบรรยากาศที่พลุ่กพล่านเหมือนสุวรรณภูมิบ้านเราเลย อาจเป็นเพราะว่าสิงคโปร์ได้สร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่แห่งที่สาม และมีการจัดการที่ดีเยี่ยมเราจึงไม่เห็นบรรยากาศดังกล่าว

เล็กพริกขี้หนู

สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่ากรุงเทพฯ เกือบสามเท่าเมื่อเทียบขนาดของพื้นที่ แต่อะไรที่ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นประเทศที่มีความเจริญ ความทันสมัย และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับแถวหน้าของเอเชีย เทียบเท่าประเทศแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นระเบียบและความมีคุณภาพของประชากร จนกลายเป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวและลงทุน ทั้งๆ ที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไร แต่กลายเป็นนายหน้าค้าทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

สิงคโปร์ตั้งอยู่บนเกาะปลายสุดของแหลมมาลายู มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่รายล้อมอีก 63 เกาะ เป็นสถานีพักสินค้าของพ่อค้าทั่วโลกมาตั้งแต่โบราณ ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้ามาตั้งแต่อดีต แต่ที่ตั้งอย่างเดียวหาใช่องค์ประกอบที่สำคัญไม่ ดูอย่างประเทศปานามาที่มีคลองปานามาเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก หรือประเทศอียิปต์ที่มีคลองสุเอสเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงสู่มหาสมุทรอินเดีย สามารถย่นระยะทางการเดินเรือได้มาก แต่ทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการค้าแต่อย่างใด

สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์มีความเจริญทุกด้านคือ ความมั่นคงทางการเมืองและความมีคุณภาพของประชากร การมีนโยบายที่ชัดเจนและสามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายอย่างต่อเนื่องของพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ที่สร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน และทำให้โครงการต่างๆ ที่วางไว้ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น สิงคโปร์จึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก น่าเสียดายที่ประเทศไทยของเราร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนที่สิงคโปร์จะได้รับเอกราชด้วยซ้ำ แต่เรายังไปไม่ถึงไหน

สิงคโปร์ได้รับเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) โดยปกครองในรูปของสาธารณรัฐ ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเป็นเวลาถึง 25 ปี คือ นาย ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) ทั้งนี้เพราะพรรคกิจประชาชนซึ่งนายลี เป็นผู้ก่อตั้งชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้นำรุ่นใหม่อย่าง นายโก๊ะ จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) ในทศวรรษที่ 1990 จนถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายลี เซียน ลุง (Lee Xian Lung) บุตรชายของนายลี กวน ยู นั่นเอง

สิงโตพ่นน้ำ

สิงคโปร์เดิมชื่อว่า เทมาเส็ก (เมืองแห่งทะเล) เป็นจุดนัดพบทางธรรมชาติของเส้นทางเดินเรือ จึงกลายเป็นจุดแวะพักของเรือเดินสมุทรหลายประเภท ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีเจ้าผู้ครองนครปาเล็มบังเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมืองแต่เรือเกิดอับปาง พระองค์ได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่งแล้วเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างลำตัวสีแดงหน้าอกขาวหัวดำคล้ายสิงโต จึงถามคนติดตามว่า “นั่นตัวอะไร” คนติดตามตอบว่า “สิงโตทะเล” (Merlion) พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น “สิงหปุระ” (สิงห์บุรี) ทางการสิงคโปร์จึงได้สร้างรูปสิงโตพ่นน้ำขึ้นที่อ่าวมารีน่า (Marina Bay) ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสิงคโปร์ ใครที่มาสิงคโปร์ต้องไปถ่ายรูปที่นั่นมิฉะนั้นจะถือว่ายังมาไม่ถึง

ในยุคการล่าอาณานิคม โปรตุเกสนับเป็นชาติแรกที่ครอบครองสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1511 (พ.ศ. 2054) ก่อนที่จะถูกฮอลันดาหรือเนเธอแลนด์แย่งไป ประมาณปี ค.ศ. 1817 (พ.ศ. 2360) อังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินได้ส่ง เซอร์โทมัส แสตมฟอร์ด บิงก์เลย์ แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Bingley Raffles) มาสำรวจดินแดนสิงคโปร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่าน เพื่อตั้งสถานีการค้าของอังกฤษขึ้นในชื่อบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) ที่สุด อังกฤษได้ยึดสิงคโปร์ไว้เป็นอาณานิคม (Crown Colony) จนกระทั่งปี 1946 (พ.ศ. 2498) จึงได้ยกฐานะให้เป็นอาณานิคมแบบเอกเทศ (Separate Crown Colony)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและเข้ายึดครองสิงคโปร์ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงอังกฤษได้ครอบครองสิงคโปร์เหมือนเดิม จนกระทั่งประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์ได้ขอรวมชาติเข้ากับมาเลเซียด้วยเพื่อจะได้ไม่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หลังจากรวมชาติกับมาเลเซียได้เพียง 2 ปี สิงคโปร์เริ่มไม่พอใจมาเลเซียเพราะการเหยียดชนชาติ ต้องเข้าใจว่าสิงคโปร์ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวจีน มาเลย์ อินเดีย และลูกหลานชาวยุโรป (Eurasian) ทำให้นายลี กวน ยู ได้ขอแยกสิงคโปร์เป็นอิสระจากมาเลเซีย กลายเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างในปัจจุบัน

สิงโตเจ้าเศรษฐกิจ

ช่วงเวลาเพียงไม่นาน เมืองสิงโตแห่งนี้ได้เติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม บทบาทในฐานะจุดพักสินค้าในอดีตถูกแทนที่ด้วยท่าเรือปลอดภาษี ทำให้มีบริษัทเดินเรือกว่า 600 รายส่งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ เรือบรรทุกสินค้า และเรือโดยสารประเภทต่างๆ มาใช้น่านน้ำของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ สิงคโปร์จึงกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก รวมถึงอุตสาหกรรมการต่อเรือและการซ่อมเรือ อีกทั้ง ยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์รายใหญ่

นอกนั้น สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย การเจรจาทางธุรกิจดำเนินไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย ผ่านระบบดาวเทียมและเครือข่ายที่โยงใยทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ย่านธุรกิจการเงินของสิงคโปร์(ที่ต้องติดต่อกับโลกตะวันตก) จึงต้องเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตัดสินใจเปิดบ่อนกาสิโนและธุรกิจบันเทิงที่ย่านมารีนาและเกาะเซนโตซ่า (Sentosa) เลยยิ่งทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และความบันเทิงแบบครบวงจร

สิงคโปร์ แม้จะเป็นประเทศที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ บ้านเมืองสวยงาม ทันสมัย และน่าอยู่ โครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดวางอย่างเป็นระบบ ถนนหนทางสะอาดไม่มีสายระโยงระยางเพราะทุกอย่างถูกร้อยสายไว้ใต้ถนน ที่โผล่ให้เห็นมีเพียงเสาไฟส่องสว่าง สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรสภาพภูมิอากาศจึงคงที่ มีอุณหภูมิสม่ำเสมอและมีฝนตกชุก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 22 ถึง 34 องศาเซลเซียส ประชาชนมีระเบียบ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดทำให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นเสือเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน

พระศาสนจักรในสิงคโปร์

สิงคโปร์มีประชากร 4.99 ล้านคน (สถิติ ปี ค.ศ. 2009) แยกเป็นชาวจีน 74.2% ชาวมาเลย์ 13.4% ชาวอินเดีย 9.2% และอื่นๆ 3.2% ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ 42.5% รองลงมาคืออิสลาม 14.9% คริสต์ 14.6% เต๋า 8.5% ฮินดู 4% ตามลำดับ รวมถึงผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ 14.8% ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทางวัตถุทั้งหลาย สำหรับพระศาสนจักรคาทอลิกในสิงคโปร์ มีอยู่ประมาณ 210,000 คน คิดเป็น 4.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวตะวันตก ชาวจีน ฟิลิปปินส์และอินเดีย

คริสตศาสนาในสิงคโปร์มีที่มาจากการที่โปรตุเกสยึดมะละกาในปี ค.ศ. 1511 (พ.ศ. 2054) และตั้งสังฆมณฑลมาลักกา (Diocese of Malacca) ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1558 (พ.ศ. 2101) เชื่อกันว่าธรรมทูตองค์แรกชาวโปรตุเกสจากมาลักกาได้เข้ามาในสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) เพื่อดูแลกลุ่มชาวยุโรปและชาวจีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในช่วงที่อยู่ภายใต้การครอบครองของโปรตุเกสระหว่างปี ค.ศ. 1511–1641 (พ.ศ. 2054-2184) มีการสร้างวัดและโรงเรียนหลายแห่ง อาสนวิหารนายชุมพาที่ดี (Cathedral of the Good Shepherd) ถือว่าเก่าแก่ที่สุดสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1843-1847 ส่วนวัดที่สวยงามที่สุดคือวัดพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ สร้างในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449)

ปัจจุบัน พระศาสนจักรในสิงคโปร์มี 1 สังฆมณฑลคือ อัครสังฆมณฑลสิงคโปร์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสังฆมณฑลมาลักกา ได้รับการสถาปนาเป็นอัครสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) มีพระอัครสังฆราชนิโคลัส เชีย เย็ก จู (Nicholas Chia Yeck Joo) เป็นพระสังฆราชปกครอง โดยเป็นส่วนหนึ่งของ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน (Catholic Bishops’ Conference of Malaysia, Singapore and Brunei) ในความดูแลของสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย

ภัตตาคาร Joe’s Kitchen

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่าได้มาสิงคโปร์เพราะเพื่อนรุ่นน้องที่ชื่อ วิชัย สิงห์แขก (Joe) ซึ่งมีความสามารถในการทำอาหารให้เพื่อนๆ ได้รับประทานตั้งแต่อยู่บ้านเณร ขณะที่เขียนบทความนี้ยังคิดถึงรสชาดแกงอ่อมเต๋าและผัดเผ็ดปลาสวายที่จับได้จากสระน้ำบ้านเณรฝีมือของเขาอยู่ หลังจากเรียนจบปรัชญาเขาได้เปลี่ยนกระแสเรียกไปเป็นครูอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะออกมาใช้พรสวรรค์ในการทำอาหารที่เขามีในตัวอย่างเต็มเปี่ยมเปิดร้านขายอาหาร จับพลัดจับพลูได้ไปเป็น Chef ที่ภัตตาคารอาหารไทยที่สิงคโปร์เป็นเวลา 6 ปี

ที่สุด ได้เปิดภัตตาคารอาหารไทยของตัวเอง ชื่อ “Joe’s Kitchen Thai Cuisine” ตั้งอยู่ที่ Bukit Merah Lane 1 ตรงข้ามกับโรงพยาบาลอเล็กซานดรา (Alexandra Hospital) ประเทศสิงคโปร์ ภัตตาคารแห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ทั้งนี้ เพื่อทำความฝันของเขาที่ต้องการมีภัตตาคารเป็นของตนเองให้เป็นจริง ที่เขาสามารถแสดงฝีมือปรุงรสกับข้าวไทยให้ลูกค้าได้ลิ้มลองอย่างเต็มที่ โดยมีเจมี (Jemie) ภรรยาชาวสิงคโปร์ของเขาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ

ภัตตาคาร Joe’s Kitchen ของเขาแม้จะมีขนาดเล็กแต่ติดอันดับ Top ten ในเรื่องรสชาดและบริการ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วสิงคโปร์ ที่รายการโทรทัศน์ของสิงคโปร์มาถ่ายทำไปออกอากาศบ่อยครั้ง มีลูกค้าประจำที่เป็นดารา นักการเมือง และผู้คนทั่วไป เรียกได้ว่าร้านเต็มตลอด จนต้องเพิ่มโต๊ะตามทางเดินหน้าร้าน โดยเปิดให้บริการทุกวัน ในเวลา 11.00-15.00 น. และ 17.00-22.00 น. ใครที่มีโอกาสไปเที่ยวสิงคโปร์ อย่าลืมไปอุดหนุนนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง ก่อนไปอาจศึกษาข้อมูลภัตตาคารของเขาได้ที่ www.joesthaikitchen.com หรือติดต่อกับเขาโดยตรงได้ที่ +65 9100 5185 ต้องขอบคุณเพื่อนคนนี้อีกครั้ง สำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นตลอด 2 คืน 3 วันที่สิงคโปร์

Don Daniele เรื่อง/ภาพ
23 July 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น