วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จงพยายามเข้าทางประตูแคบ

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา ปี C
บทอ่านที่ 1: อสย 66:18-21
บทอ่านที่ 2: ฮบ 12:5-7
พระวรสาร: ลก 13:22-30
ศีลล้างบาปไม่ใช่หลักประกันของความรอด
บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า พระสงฆ์หนุ่มองค์หนึ่งประสบอุบัติเหตุและตายไป เนื่องจากเคยกระทำความผิดอย่างหนึ่งเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่โดยที่ยังไม่ได้คืนดีจึงถูกตัดสินให้ไปรับโทษในไฟนรก เมื่อปีศาจพาไปที่นรก พระสงฆ์หนุ่มอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นผู้คนมากมาย พลันเหลือบไปเห็นคุณพ่อเจ้าวัดที่ตนเองเคยอยู่ด้วย ซึ่งสิ้นใจก่อนหน้านั้นไม่นาน จึงเอ่ยปากถามว่า “คุณพ่อก็อยู่ที่นี่ด้วยหรือ”

คุณพ่อเจ้าวัดรีบดึงตัวพระสงฆ์หนุ่มองค์นั้นเข้ามาใกล้ เอานิ้วแตะที่ปากเพื่อไม่ให้พูดอะไรต่อ พร้อมกับกระซิบเบาๆ ว่า “อย่าเอ็ดไป พระสังฆราชของเราอยู่ข้างล่างสุดโน่น”

เป็นเรื่องเล่าสนุกๆ แต่ก็สะท้อนความจริงหลายอย่างทีเดียวว่า การเป็นพระสงฆ์หรือพระสังฆราช ไม่ใช่หลักประกันว่าจะได้รับความรอดนิรันดร รวมถึงการเป็นคริสตชนด้วย ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า “ได้รับศีลล้างบาปแล้วคงเพียงพอสำหรับการไปสวรรค์” ซึ่งไม่ต่างจากชาวยิวที่ภูมิใจในความเป็นชนชาติที่เลือกสรร เป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า คิดว่ามีแต่พวกเขาเท่านั้นที่จะได้รับความรอด

พระเยซูเจ้าทรงเตือนสติพวกเขาว่า พวกเขาจะถูกปฏิเสธหากไม่กลับใจ เปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินชีวิต จะมีผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาในอาณาจักรของพระเจ้า ดังนั้น เราควรตระหนักว่าการเป็นคริสตชนหรือการได้รับศีลล้างบาป ไม่ใช่หลักประกันของการเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ นอกเสียจากว่า เราจะดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสารที่พระเยซูเจ้าทรงสอน และเลียนแบบอย่างของพระองค์

1. จงพยายามเข้าทางประตูแคบ

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับประตูแคบเพื่อตอบคำถามที่ว่า “มีคนน้อยใช่ไหมที่รอดพ้นได้” ผู้ที่พยายามเข้าทางประตูแคบจะได้ร่วมงานเลี้ยงนิรันดร์กับพระบิดาเจ้า ในขณะที่ผู้ไม่ดำเนินชีวิตตามความเชื่ออยู่ข้างนอก ซึ่งได้แก่ คริสตชนที่ใจเย็นเฉย พวกเขารู้จักเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เคยกินดื่มด้วยกันและคิดว่าตนเองจะได้รับสิทธิพิเศษ แต่เวลานี้พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างนอก ไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้

เป้าหมายแห่งชีวิตคริสตชนคือ การอยู่กับพระคริสตเจ้าทุกเวลาและตลอดนิรันดร ทำไมเราถึงมาวัด คำตอบคงมากกว่าการมาร่วมพิธีมิสซาตามธรรมเนียมที่เราถือปฏิบัติ เรามาที่นี่เพราะต้องการอยู่กับพระเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ไม่ใช่เพียงแค่ชั่วโมงเดียวในหนึ่งอาทิตย์ที่วัด แต่เราจะต้องนำพระองค์กลับออกไปพร้อมกับเราในชีวิตจริงที่บ้าน ในสังคม และในที่ต่างๆ ที่เราจะไป เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดเวลาและพบพระองค์ในบุคคลต่างๆ ที่เราพบเห็น

ทุกวันนี้ คริสตชนถูกท้าทายด้วยกระแสและค่านิยมของโลกหลายรูปแบบ โดยเฉพาะค่านิยมที่ว่า “คนอื่นก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น” เช่นคดโกง เอารัดเอาเปรียบ หรือประพฤติผิดศีลธรรมต่างๆ หากเราทำบ้างคงไม่เป็นไร เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ทำกัน เป็นการง่ายที่จะเข้าทางประตูกว้างหรือทำอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำกัน แต่การเดินสวนกระแสย่อมยากกว่าเสมอ แต่นี่คือการเดินทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเข้าทางประตูแคบ เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทความสัมพันธ์กับพระเจ้า และร่วมส่วนในงานเลี้ยงนิรันดร์กับพระองค์

2. คริสตชนสามประเภท

มีบางคนบอกว่า คริสตชนเปรียบได้กับเรือ 3 ประเภท คือ 1) เรือลากจูง 2) เรือใบ และ 3) เรือแพ กล่าวคือ คริสตชนแบบเรือลากจูง ได้แก่ คนที่สามารถติดตามพระเยซูเจ้าได้ทุกสถานการณ์ มีพลังและความร้อนรนสามารถลากจูงคนอื่นได้ พวกเขาไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ไม่ใช่เพราะต้องไป แต่เพราะสำนึกในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายที่ว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22:19) พวกเขาช่วยเหลือคนอื่นเพราะตระหนักในพระดำรัสที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) พวกเขาเป็นเหมือนกับคนที่พยายามเข้าทางประตูแคบ ตามที่พระองค์ตรัสในพระวรสารวันนี้

คริสตชนแบบเรือใบ ได้แก่ คนที่ติดตามพระเยซูเจ้าเฉพาะเวลาที่มีคลื่นลมเหมาะสมเท่านั้น พวกเขามาวัดวันอาทิตย์ตามโอกาส เช่น คริสต์มาส ปัสกา หรือตามคนอื่น หากไม่มีใครพามาหรืออยู่ตามลำพังจะไม่มา พวกเหล่านี้คือผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้าผ่านทางประตูกว้าง และรู้สึกลังเลที่จะติดตามพระองค์ทางประตูแคบ แนวโน้มของพวกเขาคือทำตามอย่างคนอื่น “เฮ็ดคือบ้านคือเมือง” แทนที่จะทำตามคุณค่าพระวรสาร

ประเภทสุดท้าย คริสตชนแบบเรือแพ ได้แก่ คริสตชนแต่ชื่อ หรือคริสตชนเฉพาะในทะเบียนบ้าน พวกเขาไม่ได้ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง แม้ในเวลาที่คลื่นลมและโอกาสอำนวย พวกเขาจะไปวัดก็ต่อเมื่อมีอะไรที่ผลักดันพวกเขาให้ไป เช่น ผลประโยชน์ พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจไม่ใช่เพราะเห็นคุณค่า แต่เพราะเงื่อนไขบางอย่างที่บังคับพวกเขาให้ทำ ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นคริสตชนแต่ชื่อ แต่ไม่ใช่ในกิจการ

เราเป็นคริสตชนแบบไหนในสามประเภทนี้ แบบเรือลากจูงที่พร้อมจะติดตามพระคริสตเจ้าในทุกสถานการณ์ทั้งในเวลาที่มีความยินดีและยากลำบาก หรือแบบเรือใบ ที่ติดตามพระคริสตเจ้าแต่เฉพาะเวลาที่มีความยินดีเท่านั้น หรือแบบเรือแพ ที่เป็นคริสตชนแต่ชื่อเท่านั้น นี่คือ สิ่งที่พระวาจาของพระเจ้าท้าทายและบอกกับเราในวันนี้ ไม่มีใครสามารถตอบแทนเราได้ เป็นเราที่จะต้องตอบกับพระเจ้าด้วยตัวเอง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เป็นธรรมดาอยู่เองที่ดอกและผลจะไม่ออกพร้อมกับการเพาะปลูก ทุกอย่างย่อมมีเวลาของมัน การติดตามพระคริสตเจ้าเป็นสิ่งที่ท้าทาย ยิ่งเรามีความเพียรอดทนต่อการท้าทายนี้มากเท่าใด ทางแห่งความรอดจะเปิดกว้างสำหรับเรา ในทางกลับกัน หากเราท้อถอย หมดหวัง เบื่อหน่าย เราจะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายนั้น ผู้ที่ติดตามพระคริสตเจ้าด้วยความเพียรทน ย่อมได้รับผลที่คุ้มค่ากับการรอคอย

ความจริง พระเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รอดและอยู่กับพระองค์อย่างมีความสุขตลอดไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน พระเจ้าทรงให้อิสระกับเราที่จะเลือกหรือปฏิเสธ (ความรอด) ดังนั้น ความรอดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าเท่านั้น แต่ขึ้นกับเราและเป็นหน้าที่ของเราด้วย เราจะต้องทำส่วนของเราให้ดีที่สุดขณะที่ยังมีเวลาและชีวิตอยู่ หากเราซื่อสัตย์ต่อหน้าที่คริสตชนและดำเนินชีวิตตามแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า เป็นต้น ในความรักต่อกัน ความยินดีในสวรรค์จะเป็นของเรา

แน่นอนว่าไม่มีทางลัดสำหรับการไปสวรรค์ “อาณาจักรสวรรค์ต้องการความอดทนและความพยายาม ผู้ที่ใช้ความอดทนและความพยายามเท่านั้น จึงจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ได้” (มธ 11:12) ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตคือการตีสอนของพระเจ้า อย่างที่จดหมายถึงชาวฮีบรูบอกเราในวันนี้ นักบุญเปาโล เป็นตัวอย่างสำหรับเราในเรื่องนี้ “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทม 4:7) ดังนั้น เราจึงไม่ควรท้อถอยในการทำความดีและและทำหน้าที่คริสตชน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
21 สิงหาคม 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น