บทอ่านที่ 1: บสร 3:17-19, 27-29
บทอ่านที่ 2: ฮบ 12:18-19, 22-24ก
พระวรสาร: ลก 14:1, 7-14
ความสุภาพถ่อมตน คือพื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง |
บทนำ
มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศเยอรมันเพื่อชมห้องที่บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven: 1770-1827) นักดนตรีเอกของโลกชาวเยอรมัน เคยอยู่และทำงาน รวมถึงเปียโนตัวที่ใช้ประพันธ์เพลง “มูนไลท์ โซนาต้า” (Moonlight Sonata) เด็กสาวคนหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวได้นั่งลงที่เปียโนและเล่นท่อนหนึ่งของเพลงโซนาต้า เมื่อเธอเล่นจบได้พูดกับมัคคุเทศก์ว่า “ดิฉันเข้าใจว่านักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกคงมาเยี่ยมชมที่นี่ทุกปี” มักคุเทศก์ตอบว่า “ใช่ ท่านเพเดเรฟสกี้ (Ignacy Jan Paderewski: 1860-1941) เพิ่งมาเยี่ยมที่นี่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง”
เด็กสาวรู้สึกภาคภูมิใจและพูดอย่างมั่นใจว่า “ดิฉันแน่ใจว่าเขาต้องทำเหมือนที่ดิฉันทำ คือนั่งลงตรงเปียโนตัวนี้และเล่นเพลงโซนาต้า ใช่ไหมค่ะ” แต่มัคคุเทศก์ตอบว่า “เปล่าเลยครับคุณผู้หญิง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนขอร้องให้เขาเล่น แต่เขาบอกว่า ‘ไม่ได้ ผมไม่คู่ควรที่จะทำเช่นนั้น’” เด็กสาวคนนั้นรู้สึกละอายที่ตนได้ถือวิสาสะเล่นเปียโนของบีโธเฟน ขณะที่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวโปแลนด์อย่าง เพเดเรฟสกี้ มีความสุภาพเกินกว่าที่จะเล่นเพลงของบีโธเฟนด้วยเปียโนตัวเดียวกัน
พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้พูดถึงเรื่อง “ความสุภาพถ่อมตน” หนังสือบุตรสิราสอนเราให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เลือกนั่งในที่สุดท้ายในงานเลี้ยง แล้วเราจะได้รับเกียรติ และกระทำดีหรือช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถตอบแทนเราได้ แล้วเราจะได้รับตอบแทนจากพระเจ้าผู้ชอบธรรม คนที่มีความสุภาพถ่อมตน ย่อมเป็นที่รักของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ความสุภาพจึงเป็นเหมือนกับความมืดที่เผยแสดงให้เห็นแสงแห่งสวรรค์
1. ความสุภาพ: พื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง
หนังสือบุตรสิราสอนเรา ให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ยิ่งเป็นคนใหญ่โตมากเท่าใด ยิ่งต้องถ่อมตนลงมากเท่านั้น เพื่อว่าเราจะได้เป็นที่รักและโปรดปรานของพระเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระเจ้าทรงได้รับเกียรติจากคนต่ำต้อย มิใช่จากคนเย่อหยิ่งทะนงตน นักบุญเอากุสตินจึงกล่าวว่า “ท่อธารแห่งพระหรรษทานของพระเจ้าจะไม่ไหลผ่านภูเขาแห่งความหยิ่งทะนง แต่ไหลผ่านหุบเหวแห่งความถ่อมตน” เนื่องจากคนที่มีใจสุภาพย่อมเปิดใจของตนต่อพระเจ้า
มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther: 1483-1546) ได้เล่าเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสุภาพให้ผู้ติดตามฟังว่า แพะภูเขาสองตัวเดินทางมาจ๊ะเอ๋กันบนทางแคบๆ ที่ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชันและอีกด้านเป็นเหวลึก สามารถเดินผ่านได้แค่ตัวเดียว พวกมันจะทำอย่างไร เพราะทางแคบเกินกว่าที่จะเดินสวนกันได้ จะหันหลังกลับก็อันตรายเกินไป หากสู้กันให้แพ้ชนะกันไปข้างมีโอกาสสูงที่จะตกหน้าผาตายด้วยกันทั้งคู่ แต่แพะตัวที่แก่กว่าเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด มันนอนลงและให้อีกตัวเดินบนตัวของมันข้ามไป แพะทั้งสองตัวเลยรอด
ขงจื้อ นักปราชญ์จีนโบราณสอนว่า “ความสุภาพถ่อมตนคือพื้นฐานที่แข็งแกร่งของคุณธรรมทุกอย่าง” (Humility is the solid foundation of all the virtues) คนที่ถ่อมตนคือคนที่คิดถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง เขาไม่คิดถึงตัวเองเลยเพราะไม่ปรารถนาให้ใครได้รู้จักหรือแสวงหาเกียรติใดๆ ความสุภาพจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นมหาบุรุษ ที่ทำให้เขากลายเป็นคนยิ่งใหญ่ ดังสุภาษิตของชาวยิวที่ว่า “จงอย่าทำตัวเองให้ใหญ่ แล้วท่านจะไม่เป็นคนเล็กน้อย”
พระเยซูเจ้า คือแบบอย่างแห่งความสุภาพของคริสตชน |
2. พระเยซูเจ้า: แบบอย่างความสุภาพของคริสตชน
คนที่ถ่อมตนจะไม่ขัดสู้คนที่ทำร้ายเขา แต่หันแก้มอีกข้างให้ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนขี้ขลาด แต่ความสุภาพเรียกร้องเขาให้มีความกล้าหาญในขั้นที่สูงกว่า ที่จะเลือกสิ่งที่ต่ำต้อยมากกว่าสิ่งที่เขาสมควรจะได้รับ เลือกที่จะเงียบมากกว่าโพนทะนาความดีของตน เลือกที่จะถูกดูแคลนและถูกกล่าวหาว่าเป็นคนผิดเพื่อจุดประสงค์ที่สูงกว่า พระเยซูเจ้าคือแบบอย่างแห่งความสุภาพของคริสตชน เพราะเมื่อพระองค์ถูกประจานพระองค์ไม่ได้โต้ตอบ เมื่อพระองค์ถูกทรมานโดยปราศจากความผิด พระองค์มิได้ข่มขู่หรือแก้แค้น
ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงเป็นต้นแบบของความสุภาพถ่อมตนในแบบที่สวยงามและลึกซึ้งที่สุด “จงเลียนแบบอย่างจากเราเพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (เทียบ มธ 11:29) พระองค์ตรัสกับเราว่า “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มก 10:45) ดังนั้น ความสุภาพสำหรับคริสตชนจึงหมายถึงการเจริญชีวิตตามแบบพระคริสตเจ้า ไม่ใช่เพื่อตนเองแต่เพื่อคนอื่น ใช้พระพรต่างๆ ที่เราได้รับมา ไม่ใช่เพื่อเกียรติของตนแต่เพื่อคนอื่น โดยเฉพาะคนขัดสนและต้องการความช่วยเหลือ
ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องแสดงออกถึงความรักแม้กระทั่งศัตรู ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และไม่คาดหวังว่าเขาจะสำนึกบุญคุณ ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเราในพระวรสารวันนี้ว่า “เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้” (ลก 14:13-14) อีกทั้งยังตรัสว่า “ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ทำเช่นนั้นด้วย” (ลก 6:33)
บทสรุป
พี่น้องที่รัก เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่กลับเป็นคนที่สำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) นักบุญฟรังซิสอัสซีซี พูดถึงตัวเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” เพราะเมื่อเปรียบเทียบความดีของเรากับพระเจ้าแล้วไม่มีอะไรที่จะต้องอวดตัว นอกจากจะกล่าวเหมือนเปโตรว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8)
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องผู้ที่ติดตามพระองค์ไม่ให้เลือกที่ที่มีเกียรติในงานเลี้ยง และให้ปฏิบัติต่อผู้ต่ำต้อยที่ไม่สามารถจะตอบแทนเราได้ เราทราบดีว่าท่าทีเช่นนี้ตรงข้ามกับกระแสของโลกและทำได้ยาก เพราะเกียรติยศชื่อเสียงคือยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าใครต่างชอบที่มีเกียรติและมีหน้ามีตาในสังคม ทำดีเพื่อหวังให้คนชม แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ทำในสิ่งที่ตรงข้าม สำหรับผู้ที่เป็นศิษย์ของพระองค์ เกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งแต่อยู่ที่ “การรับใช้” ดำเนินชีวิตโดยไม่คิดถึงตนเองและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก ตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า
มีคำกล่าวว่า “พระเจ้ามีสองพระบัลลังก์ คือแห่งหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด อีกแห่งคือในหัวใจที่ต่ำต้อยที่สุด” (D. L. Moody) เพราะเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นว่า เฉพาะผู้ที่มีใจสุภาพเท่านั้นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงแห่งสวรรค์ บางคนถึงกับกล่าวว่า “ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น” ดังนั้น เราจึงต้องมีหัวใจที่สุภาพอย่างแท้จริง ตระหนักว่าตนเองเป็นคนเล็กน้อย และดำเนินชีวิตเลียนแบบอย่างพระองค์ ผู้เป็นต้นแบบแห่งความสุภาพของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว28 สิงหาคม 2010
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น