วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กระท่อมฟางข้าว

 กระท่อมฟางข้าว


หากใครผ่านทุ่งนาช่วงนี้จะเห็นกองฟางอยู่ทั่วไป ซึ่งเกิดจากการปั่นข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านมักเรียกรถปั่นข้าวว่า “รถสีข้าว” คงเป็นเพราะต้องนำฟ่อนข้าวป้อนเข้าเครื่องและได้ข้าวเปลือกออกมา (กระบวนการเดียวกันกับโรงสี ต่างกันตรงที่โรงสีจะได้เป็นข้าวสาร) ข้าวเปลือกที่ได้จะบรรจุใส่กระสอบปุ๋ยเตรียมขายหรือเก็บในยุ้งฉางได้ทันที เศษฟางจะถูกพ่นไปรวมกันเป็นกองใหญ่อย่างที่เห็นตามทุ่งนา

ขั้นตอนในการนวดข้าวปัจจุบันนี้สั้นมากเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว นับเป็นผลดีสำหรับเจ้าของไม่ต้องนอนเฝ้าข้าว เกี่ยวเสร็จ รีบปั่น รีบเก็บขึ้นยุ้ง มิฉะนั้นอาจถูกมิจฉาชีพขนเอาไปยามค่ำคืนได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในยุคนี้มีน้อยมาก บางรายออกไปดูข้าวที่นา จากนั้นมาบอกญาติพี่น้องให้ไปช่วยเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น พอไปถึงนาเข่าอ่อนลมจับเพราะข้าวถูกมือดีเกี่ยวไปเรียบร้อยเมื่อคืน เรียกได้ว่าไม่ใช่แต่ขโมยฟ่อนข้าวที่เกี่ยวแล้ว ที่ยังไม่เกี่ยวก็หาความปลอดภัยไม่ได้ เรื่องราว “เจ้าของนายิงแก็งขโมยข้าวดับ 5 ศพ” ในท้องที่จังหวัดอุดรธานี จึงเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนได้ระวังกัน

เวลาเห็นกองฟางทำให้คิดถึง “ลานนวดข้าว” ซึ่งใช้ผืนนาที่ใกล้เถียงนาที่สุด ตัดซังข้าวออกไปและปรับให้เรียบ เอาขี้ควายผสมน้ำละเลงให้ทั่ว ใช้ซังข้าวที่มัดปลายเป็นไม้กวาดปาดน้ำขี้ควายให้ทั่วบริเวณที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นสามารถนำข้าวที่มัดเป็นฟ่อนมาเรียงเป็นตับทั้งสี่ด้านสูงท่วมหัว เตรียมไว้สำหรับการนวดข้าวเมื่อการเก็บเกี่ยวจบลง

สิ่งที่หายไปคือการนวดข้าวด้วยไม้นวด ซึ่งเป็นไม้ขนาดเหมาะมือยาวประมาณ 1 เมตร มีเชือกร้อยตรงปลายสำหรับใช้รัดฟ่อนข้าวฟาดลงบนขอนไม้ หรือไม้กระดานให้เม็ดข้าวหล่นจากฟ่อน ส่วนใหญ่จะนวดกันตอนกลางคืนซึ่งอากาศไม่ร้อน และต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะเสร็จ ใครที่เสร็จก่อน “ข้าวขึ้นเล้า” เป็นที่เรียบร้อยจะมาช่วยคนที่ยังไม่เสร็จ ถือเป็นการพึ่งพากันโดยไม่ต้องไหว้วาน

เวลานวดข้าว ฟ่อนข้าวที่ฟาดเสร็จแล้วจะถูกซัดไปกองรวมกันที่ใดที่หนึ่ง การซัดฟ่อนข้าวยังเป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่าคนนวดเป็น “มืออาชีพ” ใครที่ซัดได้ใกล้และไม่เป็นระเบียบจะถูกข่อนขอดว่า “อ่อนหัด” ส่วนการนำฟ่อนข้าวที่นวดเสร็จแล้วไปมัดเป็นฟ่อนใหญ่ (สำหรับเป็นอาหารสัตว์หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น) ถือเป็นหน้าที่ของผู้หญิง

มัดฟางพวกนี้แหละที่บรรดาเด็กๆ จะนำไปเรียงทำเป็น “กระท่อมฟางข้าว” สามารถป้องกันลมหนาวให้ความอบอุ่นแก่คนนอนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการนวดข้าวต้องใช้เวลานานอย่างที่บอกและเป็นช่วงฤดูหนาว (บางปีย่างเข้าปีใหม่กว่าจะเสร็จ) ดังนั้น การนอนกระท่อมฟางข้าวจึงช่วยป้องกันภัยหนาวได้ดีนัก และเป็นประสบการณ์พิเศษที่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้รับรู้

อย่างไรก็ดี ได้เห็นเด็กที่นาบัวเล่นสนุกสนานที่กองฟางหลังเลิกเรียน พวกเขาเรียนรู้ประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ต่างออกไป กองฟางสำหรับพวกเขาคือที่เล่นซ่อนหา เป็นเบาะยืดหยุ่นขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ ที่พวกเขาสามารถกระโดดจากที่สูง หรือตีลังกา ม้วนหน้า ม้วนหลังได้ตามใจชอบ ช่วงนี้ที่นาบัว ลมหนาวเริ่มมาเยือนแล้ว ทำให้นึกถึง “กระท่อมฟางข้าว” ขึ้นมาจับใจ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 พฤศจิกายน 2010

1 ความคิดเห็น:

  1. ทำให้คิดถึงวัยเด็ก ที่ชอบเล่นกองฟางคิดถึงกลิ่นฟางข้าว นอนกระท่อมฟางข้าว นอนเฝ้ากองข้าวที่กระท่อมใกล้ๆกองข้าวที่นวดเสร็จ คึดฮอดหลายเ่ด่ นอนซุ่มเฟืองเฝ้าลานข้าว

    ตอบลบ