วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

วันอาทิตย์ สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ปี C
2ซมอ 5:1-3
คส 1:12-20
ลก 23:35-43

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า ทหารอเมริกันคนหนึ่งขณะกำลังนั่งรถโดยสารประจำทางในประเทศสวีเดน ได้บอกกับชายที่นั่งถัดจากเขาว่า “สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ที่อเมริกาประชาชนทั่วไปสามารถไปพบประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาวได้ และสามารถพูดจาถกเถียงกับประธานาธิบดีได้ทุกเรื่อง” ชายที่นั่งติดกันกับเขาพูดขึ้นบ้างว่า “นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ในประเทศสวีเดนกษัตริย์และประชาชนเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถประจำทางคันเดียวกัน”

เมื่อทหารอเมริกันคนนั้นลงจากรถโดยสาร ผู้โดยสารที่เห็นเหตุการณ์ได้บอกให้เขาทราบว่า ชายที่นั่งติดกับเขาและพูดกับเขาคือ กษัตริย์กุสตาฟ อด๊อฟ ที่ 6 (Gustaf VI Adolf: 1882-1973) แห่งประเทศสวีเดน ปัจจุบันระบอบกษัตริย์ในประเทศยุโรป ได้เสื่อมความนิยมลงและหมดความสำคัญไป คงเหลือเพียงไม่กี่ประเทศ และที่เหลืออยู่ก็เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเช่นอดีต

นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยเรา ที่สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เนื่องจากพระองค์ทรงไว้ซึ่งทศพิศราชธรรม “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ประชาชนไทยทุกคนประจักษ์ชัดถึงพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ทำให้เราคริสตชนไทยเข้าใจความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรให้เราทำการฉลองในสัปดาห์สุดท้ายของปีพิธีกรรม ได้ดียิ่งขึ้น

1. ราชันแห่งราชาทั้งหลาย

แม้ว่าพระคัมภีร์จะกล่าวถึงความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าอย่างชัดแจ้ง เช่น การสืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด การที่โหราจารย์จากทิศตะวันออกเดินทางมานมัสการกษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติ หรือคำตอบที่พระองค์ที่พระองค์ให้กับปีลาโตเมื่อถูกถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์หรือ” แต่ต้องรอถึงปี ค.ศ. 1925 พระศาสนจักรจึงได้กำหนดให้มีวันฉลองการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า โดยพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 ทั้งนี้เพื่อเป็นคำตอบสำหรับประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของบรรดากษัตริย์ในต้นศตวรรษที่ 20

บรรดากษัตริย์เหล่านั้นได้ปกครองประชาชนด้วยอำนาจเผด็จการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และมองข้ามบทบาทของพระเจ้าในการนำทางชีวิตของประชาชน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร พระศาสนจักรได้แสดงให้เห็นว่า อาณาจักรไม่ได้มีอำนาจสูงสุดแต่อย่างใด มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่มีอำนาจสูงสุด และในฐานะคริสตชนเราทราบว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นราชันแห่งราชาทั้งหลาย ซึ่งนักบุญเปาโลได้ย้ำในบทอ่านที่สองว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของสิ่งสร้างทั้งหลาย ทุกสิ่งถูกสร้างมาผ่านทางพระองค์และเพื่อพระองค์

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้ามีลักษณะแตกต่างจากบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ไม่มีข้าทาสบริวาร ไม่มีวังที่ประทับ ไม่มีคทาที่แสดงถึงการเป็นกษัตริย์ ในทางกลับกัน พระองค์มีมงกุฎหนามสวมพระเศียร ร่างกายเปลือยเปล่า พระพักตร์ชุ่มไปด้วยเลือด พระองค์ถูกทิ้งให้อยู่โดยลำพัง ขณะที่คนที่เคยติดตามพระองค์ต่างหนีเอาตัวรอด พระองค์ถูกสบประมาทและเยาะเย้ยจากผู้นำชาวยิวและทหาร

2. กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า ได้เผยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเวลาที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน นี่คือ ฉากสำคัญที่นักบุญลูกาได้แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ในพระวรสารวันนี้ บนไม้กางเขนเหนือศีรษะของพระองค์มีข้อความเขียนเป็นภาษากรีก ลาตินและฮีบรูว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว” พระองค์ทรงครองราชย์ ณ เชิงเขากัลวารีโอ โดยมีโจรสองคนเป็นพยาน (ตามกฎของโมเสส) โจรคนหนึ่งได้พูดจาดูหมิ่นพระองค์ แต่อีกคนหนึ่งคัดค้าน “สำหรับเราก็ยุติธรรมแล้ว... แต่ท่านผู้นี้ไม่ได้ทำผิดเลย”

พระเยซูเจ้าทรงปกครองจากไม้กางเขน ขณะที่พระองค์กำลังสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอภัยบาปโจรคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ เพราะเขาสำนึกผิดและประกาศว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์ทรงสัญญาจะประทานความรอดให้เขา “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” พระองค์ไม่เพียงให้อภัยโจรที่สำนึกผิด แต่ยังทรงวอนขอพระบิดาให้อภัยคนที่ประหารพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรลงไป” (ลก 23:33)

อาณาจักรของพระเยซูเจ้าจึงเป็นอาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัย อำนาจปกครองที่พระองค์มีคือ ความรักที่พร้อมจะให้อภัยเสมอ (Forgiving love) ดังคำกล่าวของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope: 1688-1744) นักประพันธ์ชาวอังกฤษที่ว่า “ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า” (to err is human, to forgive divine.) พระองค์ไม่ทรงจดจำความผิดหรือแก้แค้นใคร แต่ทรงให้อภัยโดยไม่มีขอบเขต เพื่อทุกคนจะเข้าในอาณาจักรของพระเจ้าได้

บทสรุป

พี่น้องที่รัก กษัตริย์ในบริบทของชาวยิว แตกต่างจากกษัตริย์ในบริบทของชนชาติอื่น พระเจ้าทรงกำหนดให้กษัตริย์ที่ปกครองประชากรที่ทรงเลือกสรรในนามของพระองค์นั้น ต้องเป็นทั้งผู้เลี้ยงแกะและผู้ปกครอง และพระเยซูเจ้าได้ทรงสืบทอดเจตนารมณ์นี้ ทรงยืนยันความเป็นกษัตริย์ของพระองค์บนไม้กางเขนขณะที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีที่ยอมสละชีวิตเพื่อฝูงแกะของพระองค์

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าแตกต่างจากบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่รักโดยไม่มีเงื่อนไข รักแม้กระทั่งศัตรู ทรงเป็นกษัตริย์ที่รับใช้และมอบชีวิตเพื่อคนอื่น มิใช่ให้คนอื่นรับใช้ และทรงเป็นกษัตริย์ที่ให้อภัยเสมอ ให้อภัยแม้คนที่ประหารพระองค์ อาณาจักรของพระองค์จึงเป็น อาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัย

พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ของเราทุกคน ที่จะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ในวาระสุดท้าย ทุกครั้งและทุกแห่งที่เราทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ในการรัก รับใช้ และให้อภัยซึ่งกันและกัน อาณาจักรของพระองค์อยู่ที่นั่น และที่ไหนที่พระเจ้าทรงปกครอง ที่นั่นจะมีแต่ความยุติธรรม สันติภาพ และความสุข ดังนั้น ขอให้เราได้ดำเนินชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีในอาณาจักรของพระองค์ ในความรัก การรับใช้ และการให้อภัยซึ่งกันและกันด้วยใจกว้าง เป็นต้น ในครอบครัว ในที่ทำงาน และในหมู่บ้านของเรา

ดอกผักสะแงง ซึ่งพระเยซูเจ้าเปรียบว่ากษัตริย์ซาโลมอนในวันที่ทรงเครื่องยศกษัตริย์ ยังงดงามสู้ดอกหญ้าไม่ได้

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
19 พฤศจิกายน 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น