อสย 2:1-5
รม 13:11-14
มธ 24:37-44
บทนำ
จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ได้เล่าเรื่องที่มีความหมายมากเรื่องหนึ่ง ในการปราศรัยรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1960 เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้พันดาเวนพอร์ท (Colonel Davenport) โฆษกสมาชิกสภารัฐคอนเนกติกัทซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประชุมสภาในปี ค.ศ. 1789 ขณะที่กำลังประชุมกันอยู่นั้น ได้เกิดท้องฟ้ามืดมัวแบบไม่เคยเป็นมาก่อน สมาชิกสภาบางคนมองผ่านหน้าต่างและคิดว่า นี่คือเครื่องหมายว่าวาระสุดท้ายของโลกได้มาถึงแล้ว
เหตุการณ์วันนั้น ทำให้บรรดาสมาชิกสภาร้องเอ็ดอึงลั่นห้องประชุมขอให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ผู้พันดาเวนพอร์ทยืนขึ้นและกล่าวว่า “ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ วันพิพากษากำลังจะมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ หากยังมาไม่ถึงก็ไม่มีเหตุผลที่พวกเราจะเลื่อนการประชุมออกไป แต่ถ้ามาถึงแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกที่จะตายในหน้าที่ ดังนั้น ข้าพเจ้าขอให้จุดเทียนเพื่อจะได้ประชุมต่อ” ได้มีการนำเทียนมาจุดและเริ่มการประชุมต่อไป
เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ไม่เพียงเป็นการเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระคริสตเจ้า แต่ยังเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เราอยู่ระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกที่เบธเลแฮม กับการเสด็จมาครั้งที่สองในวาระสุดท้ายเพื่อทรงพิพากษาทุกคน เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ไตร่ตรองถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า ด้วยการเชิญเสด็จพระองค์เข้ามาในจิตใจของเราและตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเราและเพื่อนพี่น้องเสมอ
1. การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า
พระวรสารวันนี้พูดถึงการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในวาระสุดท้ายของโลก เราจะเตรียมตัวรับสถานการณ์นี้อย่างไร ในโลกปัจจุบันมีคนสองกลุ่มที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า กลุ่มหนึ่งเตรียมตัวด้วยความวิตกทุกข์ร้อนหวาดระแวง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระวรสารบอกอะไรเราเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโลก และเราจะต้องเตรียมตัวเผชิญกับเหตุการณ์นี้อย่างไร
พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพพจน์สองอย่างเพื่ออธิบายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด (มธ 24:42ข) อย่างแรกคือน้ำวินาศที่กวาดผู้คนที่กำลังกินดื่มสนุกสนานในสมัยของโนอาห์จนหมดสิ้น อีกภาพพจน์หนึ่งคือขโมยที่มาในเวลากลางคืนที่เจ้าของบ้านไม่ได้เฝ้าระวัง การเสด็จมาครั้งที่สองและวาระสุดท้ายของโลกอย่างที่พระเยซูเจ้าบอกเราในพระวรสาร จะเกิดขึ้นโดยทันทีแบบไม่มีใครคาดฝัน ไม่มีการบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
การดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่ต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ด้วยการทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเหมือนอย่างผู้พันดาเวนพอร์ท ที่พร้อมจะตายในหน้าที่ประจำวันที่กำลังทำอยู่ ไม่ตื่นตระหนกไปกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การตื่นเฝ้ายังหมายถึงการเรียนรู้เครื่องหมายแห่งกาลเวลา เพื่อจะได้เข้าใจถึงความหมายที่พระเจ้าต้องการจะบอกเราให้ทราบ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำวันจนถึงที่สุด ดังนั้น การตื่นเฝ้าจึงเป็นการเจริญชีวิตแห่งการรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติและดำรงตนในฐานะแห่งพระหรรษทาน เหมือนคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัด
2. ความหมายสำหรับเรา
การตื่นเฝ้าแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่เป็นศิษย์ ซึ่งมุ่งหวังและรอคอยพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมา การเฝ้าคอยนี้ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญในการรำพึงภาวนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เราต้องฉลองการตื่นเฝ้าด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การทดลอง” (มก 14:38) หรือปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ที่เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาและทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน (ลก 6:12)
ประการสำคัญ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบถึงวาระสุดท้ายของโลกและการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูเจ้า ดังนั้น ชีวิตของเราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระองค์ นี่คือ หน้าที่ที่เราต้องกระทำ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯจึงท้าทายเราด้วยคำถามที่สำคัญสามข้อ: 1) เราจะทำอะไรขณะนี้ เพื่อสร้างอาณาจักรของพระเจ้าในโลก, 2) เราควรจะทำอะไรเวลานี้ และ 3) เราจะเริ่มทำอะไรบ้างตอนนี้ ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ในช่วงเวลาที่กำลังรอคอยการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งนี้ พระคริสตเจ้าทรงเสด็จมาหาเราทุกวันในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน เป็นต้นในคนยากจนและคนต้องการความช่วยเหลือ คริสตชนจะต้องเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ด้วยการเปิดใจเราต้อนรับพระองค์และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนพี่น้อง เวลาใดก็ตามที่เราทำตามหน้าที่ของเราเพื่อพระองค์ พระองค์จะเสด็จมาหาเรา และเวลาใดก็ตามที่เราภาวนาร่วมกันในนามของพระองค์ พระองค์จะประทับอยู่กับเรา
บทสรุป
พี่น้องที่รัก บ่อยครั้งที่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายซื้อของขวัญเพื่อมอบแก่กันและกัน ของขวัญคริสต์มาสที่แท้จริงมีเพียงอย่างเดียวคือ องค์พระคริสต์เจ้า ผู้ทรงเป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าที่ทรงมอบแก่เราในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ และพระบิดาเจ้าปรารถนาจะมอบของขวัญนี้แก่เราเสมอทุกวัน
เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของรื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้า เป็นช่วงเวลาแห่งความเพียรทนในการภาวนาด้วยความเชื่อไว้ใจ และเปิดใจของเราต้อนรับพระองค์ในเพื่อนพี่น้อง เป็นต้นในคนยากจนและต้องการความช่วยเหลือ พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของการก้าวเดินออกจากความมืดด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อเดินในแสงสว่างขององค์พระคริสตเจ้า
พระศาสนจักรให้เราเริ่มต้นปีพิธีกรรมด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เพื่อท้าทายและกระตุ้นเตือนเราให้คิดถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา ในการมุ่งหน้าไปพบพระเจ้าที่กำลังเสด็จมา ด้วยการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ในการทำให้พระคริสตเจ้าปรากฏเป็นจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อพระองค์ คริสตชนแต่ละคนจะต้องถอดแบบพระคริสตเจ้าในความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้อง “ป่วยการที่จะแสวงหาพระเจ้าในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากเราได้สูญเสียพระองค์ไปจากใจเรา” (Anthony de Mello)
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว26 พฤศจิกายน 2010
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น