วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่

 ฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่


วันนี้พระศาสนจักรให้เราทำการฉลองนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ องค์อุปถัมภ์ของมิสซัง อันเนื่องมาจากงานแพร่ธรรมที่ท่านได้ประกาศกับผู้คนจำนวนมาก ที่มีความแตกต่างกันด้านภาษาและวัฒนธรรม ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลกันนับพันไมล์ ในห้วงเวลาที่การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ท่านได้ไปประกาศพระวรสารในหลายประเทศ อาทิ อินเดีย อาณานิคมของโปรตุเกสในคาบสมุทรมาลายู อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

ฟรังซิส เซเวียร์ เป็นชาวสเปน เกิดในตระกูลสูงที่มั่งคั่งแห่งอาณาจักรนาวารา ซึ่งเป็นแคว้นทางตอนเหนือของประเทศสเปน เป็นเพื่อนรุ่นแรกของนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา ผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต หลังบวชเป็นพระสงฆ์ ฟรังซิสได้รับเลือกให้เดินทางไปแพร่ธรรมที่เมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดีย โดยออกเดินทางจากกรุงลิสบอนเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1541 ใช้เวลาเดินทาง 13 เดือน ต่อมาได้เดินทางไปที่มะละกาและเกาะโมลูกัส ที่มะละกานี้เองท่านพบกับชาวญี่ปุ่นชื่อ “อันจิโร” (Anjiro) ซึ่งทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปแพร่ธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น
วิหารแห่งพระเยซูเจ้า (Tempio di Gesu) ศูนย์กลางคณะเยซูอิตในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

ที่สุด ฟรังซิส เซเวียร์ได้เดินทางไปญี่ปุ่น ถึงเมืองคาโกชิมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1549 ซึ่งการแพร่ธรรมที่นั่นเกิดผลดีมาก ต่อมาเมื่อทราบว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมจีน จึงมีความปรารถนาที่จะเดินทางไปแพร่ธรรมในจีน เหตุการณ์ที่น่าสนใจช่วงนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระศาสนจักรสยามและต่อประเทศไทยมาก นั่นคือ ท่านแสดงความตั้งใจที่จะเข้ามาในสยามเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจีน อันเป็นความปรารถนาสูงสุดของท่าน (เนื่องจากไม่มีหนทางอื่นเพราะจีนปิดประเทศ) โดยขอให้รัฐบาลโปรตุเกสได้ช่วยให้ท่านสามารถร่วมเดินทางไปกับคณะทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ที่ส่งไปเจริญสันถวไมตรีกับจักรพรรดิจีนในเวลานั้น

ฟรังซิส เซเวียร์ ไม่สามารถเดินทางไปได้เพราะป่วยหนักและมรณะเสียก่อน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1552 ที่เมืองซานเซียน พร้อมกับกล่าวคำพูดสุดท้ายว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ลูกมีความเชื่อมั่นในพระองค์ตลอดมา ลูกจะไม่มีวันสับสนชั่วนิรันดร์” (In thee, O Lord, I have hoped; I shall not to be confounded forever.) ประชาชนได้ฝังร่างของท่านไว้ที่นั่น อีกสองเดือนให้หลังได้มีการขุดศพของท่านและพบว่าไม่เน่าเปื่อยจึงได้นำมาที่มะละกา และส่งต่อไปเก็บรักษาไว้ที่เมืองกัวซึ่งได้กลายเป็นที่แสวงบุญของผู้คนทั่วอินเดีย ส่วนมือข้างขวาของท่านที่ล้างบาปผู้คนมากกว่าสามหมื่นคน ได้แยกไปเก็บไว้ที่วิหารพระเยซูเจ้า ศูนย์กลางของคณะเยซูอิตในกรุงโรม ประเทศอิตาลี
มือข้างขวาของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ที่นำมาจากเมืองกัว ในวิหารแห่งพระเยซูเจ้า กรุงโรม

แม้ว่าฟรังซิส เซเวียร์จะมิได้เดินทางมาสยามอย่างที่ตั้งใจ เพียงแค่เอ่ยชื่อสยามในจดหมายของท่านเท่านั้นก็นับว่าเป็นเกียรติต่อพระศาสนจักรสยามแล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุดในใจของท่านก็มีเราชาวสยามอยู่บ้าง นอกนั้น ท่านยังได้ช่วยคลี่คลายข้อข้องใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชื่อประเทศ “สยาม” ของเรา นั่นคือ ชื่อสยามอาจไม่เป็นที่รู้จักของชาวสยาม แต่เป็นคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกชื่อประเทศของเรา

ชีวิตของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ได้กลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับเราในปัจจุบันว่า เรามีหน้าที่ในการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารแก่ทุกคนที่อยู่รอบข้างเรา และใช้ทุกโอกาสในการนำคนอื่นให้มารู้จักพระคริสตเจ้า นี่คือกระแสเรียกและงานของเรา คริสตชนแต่ละคนสามารถเป็นข้ารับใช้ของพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกับท่าน ที่ได้ใช้เวลาทั้งหมด ความพยายามทุกอย่าง และชีวิตจนลมหายใจสุดท้ายในการนำประชาชนให้มาหาพระคริสตเจ้า

นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ได้สำนึกในหน้าที่ในการประกาศข่าวดีเช่นเดียวกับนักบุญเปาโลที่ว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้าหากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี”(1คร 9:16) และ “ข้าพเจ้าทำทุกอย่างเพราะเห็นแก่ข่าวดี” (1คร 9:16) ขอให้เราได้สำนึกในหน้าที่นี้เช่นเดียวกัน และขอร่วมความยินดีกับผู้มีนามนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ทุกคน
ด้วยมือนี้แหละที่นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ได้ล้างบาปผู้คนในทวีปเอเซียมากกว่าสามหมื่นคน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
2 ธันวาคม 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น