วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทุกครั้งที่เรารักและรู้จักให้นั่นคือคริสต์มาส


ทุกครั้งที่เรารักและรู้จักให้นั่นคือคริสต์มาส
วันที่ 24 ธันวาคม
สมโภชพระคริสตสมภพ
(มิสซากลางคืน)
อสย 9:2-7
ทต 2:11-14
ลก 2:1-14
บทนำ
ความกดอากาศต่ำและสายลมที่พัดผ่านทำให้ความหนาวแผ่ปกคลุมทุกพื้นที่  เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่บอกให้ทราบว่าคริสต์มาสมาถึงแล้ว แสดงให้เห็นถึงพระยุติธรรมของพระเจ้าที่โปรดให้ทุกคนได้สัมผัสกับความหนาวเย็นกันทั่วหน้า  จะต่างก็ตรงที่ว่า คนฐานะดีมีที่กำบังกายและเครื่องอำนวยความสะดวกช่วยให้ร่างกายได้รับความอบอุ่น ในขณะที่คนขัดสนไม่มีสิ่งเหล่านี้  ต้องอาศัยไออุ่นจากกองไฟเป็นเครื่องบรรเทาความหนาวเย็นในยามค่ำคืน
ในคืนอันหนาวเหน็บของวันคริสต์มาสนี้เอง พระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าผู้ไถ่โลกได้บังเกิดเป็นมนุษย์ การบังเกิดมาของพระองค์คือ เครื่องหมายแห่งความรักและความโปรดปรานของพระเจ้า ที่ทรงประทานพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์ให้มารับสภาพมนุษย์และประทับอยู่ท่ามกลางเรา กุมารนี้ทรงเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่จากพระเจ้าเหนือของขวัญล้ำค่าใดๆ ในโลก เพราะกุมารนี้คือองค์แห่งความรัก ความหวัง และสันติสุขที่แท้จริงสำหรับโลกและมนุษยชาติ
เรื่องราวการประสูติของพระกุมารเยซูที่เราได้ยินในพระวรสารโดยนักบุญลูกา (ลก 2:1-14) เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกัสตัส ได้ออกกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วอาณาจักรโรมัน จากบันทึกบนกระดาษปาไปรัส (Papyrus) ที่ค้นพบในอียิปต์ คือหลักฐานที่บอกให้ทราบว่ากรุงโรมจัดสำรวจสำมะโนประชากรบ่อยครั้ง (ทุก 14 ปี) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเพื่อประเมินรายได้จากการจัดเก็บภาษีและการเกณฑ์ทหาร ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องไปลงทะเบียนที่บ้านเกิดเมืองนอนของตน
1.  ไม่มีห้องว่างสำหรับท่าน
ด้วยเหตุนี้ ยอแซฟซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิดต้องพาพระนางมารีย์ที่ครรภ์แก่ เดินทางจากนาซาเร็ธแค้วนกาลิลีไปยังเบธเลเฮมแคว้นยูเดีย บ้านเกิดของกษัตริย์ดาวิด ระยะทางจากนาซาเร็ธถึงเบธเลเฮมประมาณ 130 กิโลเมตร  การเดินทางสมัยนั้นถือว่าไกลมากสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ยิ่งไปกว่านั้น เมืองเบธเลเฮมยังพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาลงทะเบียน จนกระทั่งไม่มีห้องว่างสำหรับยอเซฟและพระนางมารีย์ผู้กำลังจะคลอดบุตร
ไม่ว่าจะไปที่ไหนคำตอบที่ได้รับคือ “ไม่มีห้องว่างสำหรับท่าน” ยอแซฟต้องพาพระนางมารีย์ไปที่ถ้ำเลี้ยงสัตว์ เชื่อกันว่าอาจเป็นที่พักสำหรับคนเดินทางมีลักษณะคล้ายเพิงเลี้ยงสัตว์ซึ่งผู้พักแรมต้องนำอาหารติดตัวมาเอง  เจ้าของจะจัดเตรียมเพียงฟางหรือหญ้าแห้งสำหรับสัตว์เลี้ยงและไฟสำหรับปรุงอาหารไว้ให้เท่านั้น ยอแซฟกับพระนางมารีย์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากถ้ำเลี้ยงสัตว์หรือเพิงพักชั่วคราวสำหรับผู้เดินทางที่เมืองเบธเลเฮม
นี่คือสถานที่ซึ่งพระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าผู้ไถ่โลกทรงประสูติ พระองค์เลือกที่จะเกิดบนรางหญ้าในสภาพที่ยากจนขัดสน เพื่อสอนให้โลกรู้ว่า ความยากจนขัดสนไม่ใช่อุปสรรคสำหรับความรักของพระเจ้า ตรงข้ามความยากจนขัดสนและใจสุภาพถ่อมตนต่างหาก คือหนทางหรือโอกาสที่ทำให้เราได้พบกับพระกุมารเจ้า ผู้ร่ำรวยด้วยพระพรนานัปการ ทรงเป็นเพื่อนกับคนยากจนและร่วมทุกข์ในความยากลำบากของพวกเขา  กระทั่งมอบชีวิตของพระองค์บนกางเขนเพื่อช่วยพวกเขาให้พบหนทางแห่งสันติสุขและความรอด
อีกทั้ง บุคคลกลุ่มแรกที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบข่าวดีเรื่องการประสูติมาของพระผู้ไถ่และได้พบกับพระกุมารคือบรรดาคนเลี้ยงแกะ ซึ่งถือเป็นผู้ที่ ต่ำต้อยและถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จากสังคมโดยเฉพาะคนเคร่งศาสนาอย่างบรรดาคัมภีราจารย์และชาวฟาริสี ทั้งนี้เพราะอาชีพเลี้ยงแกะที่ต้องร่อนเร่พเนจร ทำให้พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของชาวยิวได้สะดวกนัก แต่การเป็นคนยากจนและต่ำต้อยทำให้พวกเขาได้พบกับพระกุมารเจ้า นี่คือความสุขและความยินดียิ่งใหญ่ในชีวิต
2.  ทุกครั้งที่เรารักและรู้จักให้นั่นคือคริสต์มาส
การบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์ แม้เราจะยากจนขัดสนหรือต่ำต้อยด้อยค่าในสายตาของใครต่อใคร แต่สำหรับพระเจ้าแล้วไม่ใช่ ความรักของพระองค์สูงส่งไร้ขอบเขตและไม่มีเงื่อนไข พระองค์ได้มอบและให้พระเยซูเจ้าเป็นของขวัญที่ประเสริฐที่สุดสำหรับโลกและมนุษยชาติในสภาพที่ต่ำต้อยกว่าเราหลายเท่านัก
ดังนั้น เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรที่ช่วยให้เราได้ไตร่ตรองและตระหนักถึงความรักของพระเจ้า ด้วยการเปิดดวงใจของเราและประดับตกแต่งถ้ำแห่งดวงใจนี้ด้วยไฟแห่งความรักเพื่อให้องค์พระเจ้าได้บังเกิด และเป็น “อิมมานูแอล” พระเจ้าอยู่กับเราทุกจังหวะชีวิต นอกนั้นยังเป็นโอกาสที่เราจะถ่อมใจลงเลียนแบบอย่างจากพระองค์ในความยากจน และดำเนินชีวิตเป็นของขวัญและความยินดีสำหรับผู้อื่นอย่างแท้จริง
ชีวิตของเราจะเป็นของขวัญและความยินดีเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อ เราดำรงตนในความรักและความมีใจกว้างที่พร้อมจะให้เช่นเดียวกับพระเจ้า ดังคำกล่าวของ เดล อีเวนส์ (Dale Evans) นักเขียน นักร้องและนักแสดงที่ว่า “ทุกครั้งที่เรารัก ทุกครั้งที่เราให้นั่นคือคริสต์มาส” (Every time we love, every time we give, it’s Christmas) ความรักและการให้จึงเป็นจิตตารมณ์ที่สำคัญของคริสต์มาส เป็นโอกาสที่ความรักของพระเจ้าและความรักของมนุษย์จะขจัดความเกลียดชังและความยากจนให้หมดสิ้นไป
บทสรุป
พี่น้องที่รัก เทศกาลคริสต์มาส เป็นช่วงเวลาของการเสียสละแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่ผู้อื่น นักบุญฟรังซิส อัสซีซี กล่าวเอาไว้ว่า ถ้าในตู้เสื้อผ้าของท่าน มีเสื้อผ้าที่ท่านไม่ใช้แล้ว พึงรู้ไว้ด้วยว่านั่นเป็นของคนยากจนที่ไม่มีแม้เสื้อผ้าจะใส่ ถ้าในตู้กับข้าวของท่าน มีกับข้าวที่ท่านไม่ทานแล้ว พึงรู้ไว้ด้วยว่านั่นเป็นส่วนของคนที่กำลังอดอยาก หากเราไม่มีของขวัญอะไรจะให้ก็จงให้ความรักนั้นออกไป “ความรักคือความเชื่อในภาคปฏิบัติ” ตามคำสอนของคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา และความรักในภาคปฏิบัติคือการรับใช้หรือการให้
โลกเราทุกวันนี้มีคนที่ขาดความรัก อดอยาก และขาดแคลนมากมายที่รอคอยความรัก ของขวัญ และความช่วยเหลือจากเรา  พวกเขาเหล่านี้อาจอยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานของเรา  บางครั้งสิ่งของเครื่องใช้ที่เราไม่ใช้แล้วหรือไม่จำเป็นสำหรับเรา  อาจเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่และมีค่ายิ่งสำหรับพวกเขา คริสต์มาสปีนี้อย่าลืมให้ความรักและแบ่งปันสิ่งที่เรามีมอบเป็นความสุขสำหรับผู้ยากไร้และด้อยโอกาสทั้งหลาย  เพื่อว่า การบังเกิดมาของพระกุมารเยซูจะเป็นความชื่นชมยินดีสำหรับครอบครัวของเรา หมู่คณะและมนุษยชาติ
อย่าทำตัวเย็นชาเฉยเมยอย่างชาวเมืองเบธเลเฮมที่บอกยอแซฟว่า “ไม่มีห้องว่างสำหรับท่าน” แต่เปิดดวงใจของเราด้วยความรักและการเสียสละแบ่งปัน ทุกครั้งที่เรารักและรู้จักให้นั่นคือคริสต์มาส เช่นนี้เอง ความสุข ความยินดีและสันติภาพจะเกิดขึ้นในโลก และการฉลองคริสต์มาสในปีนี้จะมีคุณค่าและความหมายมากกว่าปีที่ผ่านมา “สุขสันต์วันคริสต์มาส”, Merry Christmas!, Buon Natale!
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
สมโภชพระคริสตสมภพ; 24 ธันวาคม 2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น