วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นักบุญยอห์น ที่ 23



พระธาตุนักบุญนักบุญยอห์น ที่ 23 และยอห์น ปอล ที่ 2
พระสันตะปาปา
บทนำ
ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่พระศาสนจักรไทย ได้รับมอบพระธาตุชั้นหนึ่งของนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ร่วมสมัยคือ นักบุญยอห์น ที่ 23 และยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา เพื่อให้คริสตชนไทยได้แสดงความเคารพและขอพรอย่างใกล้ชิด ในโอกาสที่พระศาสนจักรไทยกำลังจัดการประชุมสมัชชาเรื่องการประกาศข่าวดีใหม่ (New Evangelization) โอกาสครบรอบ 350 ปี แห่ง การประชุมสมัชชาแห่งพระศาสนจักรสยาม ปี ค.ศ. 1664 และครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาพระฐานานุกรมของ 8 สังฆมณฑล (Diocese) ในประเทศไทยในปี ค.ศ. 2015
พระธาตุของนักบุญยอห์น ที่ 23 เป็นพระมังสะ (เนื้อ) ของพระองค์ กล่าวคือ เป็นส่วนหนึ่งของพระวรกายที่ไม่เปื่อยเน่า จึงถือว่าเป็นพระธาตุชั้นหนึ่ง ส่วนพระธาตุของนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 นั้น เป็นหยดพระโลหิตของพระองค์ที่โรงพยาบาลเก็บรักษาไว้ขณะที่พระองค์เข้ารับการรักษา จึงเป็นพระธาตุชั้นหนึ่งเช่นเดียวกัน
เวลานี้พระธาตุของนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ทั้งสอง ได้กำหนดเดินทางมาถึงอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงของเรา ในวันที่ 10 ธันวาคม 2014 ต่อจากสังฆมณฑลอุบลราชธานี โดยเริ่มต้นที่สองคอนดินแดนแห่งมรณสักขีเป็นแห่งแรก วันเสาร์ที่13 ธันวาคม 2014 โอกาสฉลองประจำปีบุญราศี ก่อนจะส่งมอบไปยังวัดต่างๆ ทั้ง 4 เขต เพื่อให้คริสตชนทุกหมู่เหล่าทั่วสังฆมณฑลได้แสดงความเคารพและวอนขอพระพรเป็นพิเศษ
1.    นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา
1.1  พระประวัติ
นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา มีพระนามเดิมว่า อันเจโล จูเซปเป รอนกัลลี (Angelo Giuseppe Roncalli) เกิดวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1881 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 13 คนของครอบครัวชาวนาที่เมืองซอตโต อิลมอนเต ประเทศอิตาลี ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 261 วันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1958 ขณะที่มีพระชนมายุ 77 พรรษา สิ้นพระชนม์วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1963 ได้รับสถาปนาเป็นบุญราศีวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2000 โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 และได้รับสถาปนาเป็นนักบุญวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 โดยพระสันตะปาปาฟรังซิส
แม้จะอยู่ในตำแหน่งเพียงสี่ปีครึ่ง แต่พระองค์ได้ทำในสิ่งที่เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่สำหรับพระศาสนจักร นั่นคือ การเรียกประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ทรงมีพระดำรัสว่า พระศาสนจักรจะต้องก้าวไปข้างหน้า ด้วยการแสดงให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของความเชื่อ แทนที่จะแสดงถึงสิ่งที่เป็นการให้ร้ายแก่กัน ซึ่งเป็นการเปิดพระศาสนจักรสู่ความทันสมัย มีชีวิตชีวา และทำให้การประกาศพระวรสารสอดคล้องกับความเจริญของยุคปัจจุบัน
ในส่วนที่เกี่ยวของกับประเทศไทย พระองค์ได้ทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จเยือนนครรัฐวาติกันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างวาติกันกับประเทศไทย

1.2    มุมมองของ CNN เกี่ยวกับนักบุญยอห์น ที่ 23 พร ะสันตะปาปา
1)       ทรงเกิดเป็นคนจนและภูมิใจในความยากจน  พระองค์เกิดในครอบครัวเกษตรกร และไม่เคยลืมสถานะนี้แม้จะเป็นพระสันตะปาปาแล้ว ทรงบันทึกไว้ว่า ข้าพเจ้าเกิดเป็นคนจน ...และยินดีที่จะตายอย่างคนจน และ ข้าพเจ้าโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระคุณแห่งความยากจน ซึ่งข้าพเจ้าปฏิญาณที่จะถืออย่างสัตย์ซื่อตั้งแต่วัยหนุ่ม... ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมพลังแก่ความตั้งใจของข้าพเจ้าที่จะไม่เรียกร้องสิ่งใด ไม่ว่าตำแหน่ง เงินทอง หรือชื่อเสียง ทั้งสำหรับตัวเอง หรือญาติพี่น้อง
2)          ทรงช่วยชีวิตชาวยิวจำนวนมากให้รอดจากการตามฆ่าของพวกนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งพระอัครสังฆราชและสมณทูตวาติกันประจำประเทศกรีซ  พระองค์ได้ใช้ตำแหน่งเหล่านี้ช่วยออกเอกสารศีลล้างบาป (Baptismal Certificates) เพื่อช่วยชาวยิวจำนวนมากให้สามารถหลบหนีออกจากยุโรป รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพวกนาซี
3)           พระองค์มิใช่พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 องค์แรก เพราะช่วงปี ค.ศ. 1410-1415 พระศาสนจักรมีการแตกแยกและมีพระสันตะปาปาซ้อน  (Anti-Pope) องค์หนึ่งชื่อยอห์น ที่ 23 (มีข้อมูลผิดพลาดในการนับลำดับพระสันตะปาปาที่ใช้พระนามยอห์นว่า ยอห์นที่ 20 ไม่มีตัวตน ดังนั้น Anti-pope ยอห์น ที่ 23 จึงเป็นยอห์นที่   22 นักบุญยอห์นที่ 23 จึงเป็นลำดับที่ถูกต้อง) ประการสำคัญทรงเลือกชื่อนี้เพราะทรงนึกถึงบิดาที่ชื่อยอห์น วัดในวัยเด็ก และพระสันตะปาปาหลายพระองค์ที่ชื่อยอห์น
4)           พระองค์มีบทบาทสำคัญในวิกฤติกาลด้านขีปนาวุธที่คิวบา  ในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียกำลังถึงจุดตึงเครียด พระองค์ทรงวิงวอนผ่านวิทยุวาติกัน ข้าพเจ้าขอวิงวอนบรรดาผู้นำประเทศ โปรดอย่าปิดหูต่อเสียงร้องของมนุษยชาติที่ร้องขอสันติภาพ  คำวิงวอนของพระสันตะปาปาได้ไปถึงหู นิกิต้า ครุสซอฟ (Khrushchev) ผู้นำรัสเซีย ไม่กี่วันหลังจากนั้นรัสเซียได้ถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาทำให้ภาวะตึงเครียดลดลง 
5)           พระองค์แตกต่างจากนักบุญองค์อื่นตรงที่มีอัศจรรย์เพียงครั้งเดียว  ตามระเบียบต้องมีอัศจรรย์ยืนยัน 2 ครั้ง แต่นักบุญยอห์น ที่ 23 ทำอัศจรรย์เพียงครั้งเดียว  ยังไม่มีอัศจรรย์ที่ 2 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงใช้สิทธิ์ยกเว้นกฎเรื่องอัศจรรย์ที่ 2 เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่แห่งสังคายนาวาติกันที่ 2 ควรได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ
1.2    แบบอย่างและคำสอน
1)       ผู้นำพระศาสนจักรต้องเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ ทรงบันทึกไว้ว่า “ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าแก่ประวัติศาสตร์และแก่ชีวิตมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดที่จะมีคุณค่าแก่พระศาสนจักรและแก่วิญญาณมนุษย์มากกว่าที่ผู้นำพระศาสนจักรเองเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในการกระทำและความรับผิดชอบของตำแหน่ง”
2)       ผู้นำพระศาสนจักรต้องเป็นแบบอย่างในเรื่องความยุติธรรม พระองค์ทรงสนพระทัยในความเป็นอยู่ของคนในงานอภิบาล โดยเฉพาะคนยากจน เช่น คนงานของวาติกันในการเพิ่มค่าจ้างแรงงาน ทรงย้ำว่า “เราจะคาดหวังให้คนอื่นทำตามที่พระศาสนจักรสอนเรื่องความยุติธรรมในสังคมได้อย่างไร ถ้าหากเราเองไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้นในบ้านของเรา พระศาสนจักรต้องเป็นผู้นำในเรื่องความยุติธรรมในสังคมด้วยตัวอย่างที่ดีของตน”
3)       ทุกคนต้องร่วมมือกันในการสร้างสันติสุข  พระองค์ได้ออกสมณสาส์น สันติสุขบนแผ่นดิน (Pacem in Terris) ซึ่งพูดถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิพื้นฐานต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่เป็นสากลและล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นบนแผ่นดิน
นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่พระศาสนจักร ทรงเป็นคนง่ายๆ ตรงไปตรงมา เพียบพร้อมด้วยคุณงามความดีและถือความยากจน นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ในชีวิตของพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงไม่ต้องการการอัศจรรย์ใดๆ อีก ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงยืนยันว่า “...ข้าพเจ้าเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยอห์น ที่ 23 พระองค์เหมาะสมแล้วที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
27 พฤศจิกายน 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น