วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2



พระธาตุนักบุญนักบุญยอห์น ที่ 23 และยอห์น ปอล ที่ 2
พระสันตะปาปา (ต่อ)
2.   นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา

2.1    พระประวัติ
นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา มีพระนามเดิมว่า คาโรล โจเซฟ วอยติวา (Karol Józef Wojtya) เกิดวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ที่เมืองวาโดวิเช ประเทศโปแลนด์ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 264 วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 ขณะที่มีพระชนมายุ 58 พรรษา สิ้นพระชนม์ วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2003 ได้รับสถาปนาเป็นบุญราศี วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 โดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 และได้รับสถาปนาเป็นนักบุญ วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 โดยพระสันตะปาปาฟรังซิส

พระองค์เป็นพระสันตะปาปาที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียนองค์แรกในรอบ 455 ปี และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เป็นชาวโปแลนด์ รวมทั้งยังเป็นพระสันตะปาปาที่ได้รับเลือกขณะที่มีอายุน้อยที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ทรงเดินทางรอบโลกเพื่อเยี่ยมเยียนคริสตชนมากกว่าพระสันตะปาปาในอดีตที่ผ่านมา ทรงต่อต้านกระแสทุนนิยมที่ไร้ขอบเขต การกดขี่ทางการเมือง และต่อต้านการทำแท้ง

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย พระองค์ได้เสด็จเยือนประเทศไทย วันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเยี่ยมค่ายอพยพที่พนัสนิคม จ.ชลบุรี ทรงถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ และบวชพระสงฆ์ 23 องค์ ณ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งหนึ่งในผู้ได้รับศีลบวชวันนั้นคือ คุณพ่อเปโตร สุรพงค์ นาแว่น จากอัครสังฆมณฑลของเรา

อีกทั้ง พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของประเทศไทย ได้สถาปนาบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989 และบุญราศีนิโคลัส บุญเกิด กฤษบำรุง วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000 ได้ทรงแต่งตั้งพระสังฆราชคาทอลิกไทย 7 องค์ รวมถึง พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน และพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ของเราด้วย

2.2  ความยิ่งใหญ่ของนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2

เว็บไซต์ Romereport.com ได้นำเสนอประเด็นหลัก 7 ประการ เพื่อเชิดชูว่าพระองค์ทรงเป็น “พระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่”

1)   ความเป็นปุถุชนคนธรรมดา (Humanity) พระองค์ทรงชื่นชอบงานศิลปะ บทกวี และบทละคร พระองค์เคยเป็นนักแสดงและคนเขียนบทก่อนจะได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ อีกทั้งเคยทำงานในโรงงานที่ทำให้พระองค์เข้าใจชีวิตผู้คน

2)    พระองค์ไม่ทรงกลัว (He wasn’t afraid) พระองค์ทรงมีความเชื่อลึกซึ้ง ทรงวางพระทัยในพระเจ้า ทรงท้าทายทุกคนอยู่เสมอต่อความยากลำบากในชีวิต และมักตรัสอยู่เสมอว่า “อย่ากลัวเลย” แม้ในห้วงเวลาที่พระองค์มีปัญหาด้านสุขภาพ

3) พระสันตะปาปาผู้เดินทาง (The travelling Pope)  พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาผู้เดินทางมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทรงเสด็จเยี่ยม 129 ประเทศ ทรงเดินทางทั้งสิ้น 146 ครั้งนอกประเทศอิตาลีเพื่อพบปะกับประชาชนทุกรูปแบบ

4)   พระองค์ผู้น้อมขอโทษ (He asked for forgiveness) ในช่วงปี “ปีติมหาการุญ” ค.ศ. 2000 พระองค์ทรงขอโทษสำหรับบาปทั้งมวลของพระศาสนจักรในอดีต อีกทั้ง ทรงให้อภัยอาลี อักกา ผู้พยายามสังหารพระองค์ ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร (13 พฤษภาคม 1981)

5)    นักบุญใครก็เป็นได้ (Accessible Saints) ในสมณสมัยของพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งบุญราศี 1,340 องค์ และนักบุญ 483 องค์จากทุกฐานะอาชีพเพื่อเป็นแบบอย่างความเชื่อ ซึ่งมากกว่าจำนวนนักบุญที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนหน้ารวมกันทั้งหมด

6)           เยาวชน (Youth) พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของเยาวชนและกระตุ้นให้มีการพบปะรวมตัวกันทุก 2-3 ปี อันเป็นจุดเริ่มต้นของงานชุมนุมเยาวชนโลก ทำให้พระองค์เป็นที่รักของบรรดาเยาวชน

7)   การเสวนากับศาสนาต่างๆ (Dialogue with Religions) พระองค์ทรงยื่นไมตรีกับทุกฝ่าย ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เสด็จเยี่ยมโบสถ์ยิวและเรียกชุมชนชาวยิวว่า “พี่ชายของเรา” ทรงสร้างความสัมพันธ์กับออร์โธดอกซ์ แองกลิกัน โปรเตสแตนท์ และผู้นำศาสนาต่างๆ

2.2  แบบอย่างและคำสอน

1)   ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี พระองค์ทรงห่วงใยมวลคริสตชนและเอาพระทัยใส่งานอภิบาลพระศาสนจักรอย่างเต็มที่ ทรงปกครองพระศาสนจักรด้วยจิตวิญญาณธรรมทูต และอุทิศพละกำลังอย่าไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ในการเสด็จเยี่ยมคริสตชนทั่วโลก 129 ประเทศ เสด็จเยี่ยมชุมชนคริสตชนในอิตาลีถึง 317 แห่ง

2)     ทรงรักและห่วงใยเยาวชนและครอบครัว พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของเยาชน ครอบครัวและฆราวาส ทรงรักและเอาพระทัยใส่เยาวชนโดยการริเริ่มงานชุมนุมเยาวชนโลก ทรงเป็นศูนย์รวมให้เยาวชนหลายล้านคนได้มาพบกัน อีกทั้งทรงริเริ่มจัดงานชุมนุมครอบครัวโลก เพื่อย้ำถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว

3)   ทรงส่งเสริมเอกภาพในพระศาสนจักรและการเสวนาระหว่างศาสนา พระองค์ทรงพบปะผู้นำต่างนิกายและส่งเสริมความปองดองระหว่างศาสนา กับผู้แทนศาสนายิวและศาสนาอื่นๆ ในอันที่จะสร้างความเข้าใจอันดีและร่วมใจกันภาวนาเพื่อสันติภาพ

4)   ทรงย้ำความสำคัญของสื่อสมัยใหม่เพื่อการประกาศข่าวดี พระองค์ทรงห่วงใยมนุษยชาติ โดยเฉพาะครอบครัว เด็ก และเยาวชน ที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อ ดังนั้น พระศาสนจักรต้องนำสื่อสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศข่าวดี การสอนคำสอน และการอบรมอย่างเหมาะสมและรับผิดชอบ

5)    ทรงขอโทษและให้อภัย พระองค์ได้แสดงถึงความสำนักผิดโดยทรงขอโทษสำหรับบาปทั้งมวลที่พระศาสนจักรได้เคยกระทำ เช่น การทำสงครามครูเสด การกวาดล้างพวกนอกรีต การเบียดเบียนชาวยิว การเหยียดสีผิว อีกทั้งได้ทรงให้อภัย อาลี อักกา ผู้พยายามสังหารพระองค์ โดยเสด็จไปพบถึงเรือนจำและสวมกอดเยี่ยงพี่น้อง
บทสรุป
นักบุญยอห์น ที่ 23 และนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา คือ ผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์โลกและนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่พระศาสนจักร ทั้งสองพระองค์ทรงอุทิศตนเพื่อพระคริสตเจ้าอย่างจริงจัง ศรัทธาต่อแม่พระ สัตย์ซื่อต่อคำสอนของพระศาสนจักร ทรงเฉลียวฉลาด ขยัน ทำงานหนัก เป็นผู้รอบรู้ และเป็นนักคิด สมแล้วที่ได้ชื่อว่านักบุญ “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” และ “ผู้ยิ่งใหญ่”

นักบุญทั้งสองถือเป็นนักบุญร่วมสมัย ที่นำความชื่นชมยินดีมาสู่พระศาสนจักรทั่วโลก และเป็นพิเศษสำหรับพระศาสนจักรประเทศไทย ที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับประเทศของเรา ดังนั้น การที่พระธาตุของนักบุญทั้งสองเดินทางมาถึงแผ่นดินไทยและอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงของเรา จึงควรเป็นโอกาสให้คริสตชนทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความกตัญญูและความเคารพ

อีกทั้ง เป็นแรงกระตุ้นและพลังให้แต่ละคนได้เลียนแบบอย่างท่านนักบุญทั้งสอง ในความเชื่อและความวางใจพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม มีความเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อที่เป็นผู้ใหญ่และการดำเนินชีวิตคริสตชน บนพื้นฐานของความรักเมตตา การรับใช้ และการให้อภัย เพื่อทำให้พระอาณาจักรพระเจ้าปรากฏเป็นจริงในครอบครัว วัด หมู่คณะ และประเทศไทยของเราอย่างยั่งยืน ขอท่านนักบุญทั้งสอง ช่วยวิงวอนเทอญ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์


สำนักอัครสังฆมณฑลฯ สกลนคร

2 ธันวาคม 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น