บางแง่มุ่มเกี่ยวกับอาสนวิหารใหม่อุบลฯ
เมื่อวันที่
10
ธันวาคม ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา
ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีเปิดและถวายอาสนวิหารแม่พระนิรมลของสังฆมณฑลอุบลราชธานี เพื่อร่วมความยินดีกับพระสังฆราช
พระสงฆ์ นักบวชและคริสตชนสังฆมณฑลอุบลราชธานี ในฐานะที่อุบลฯ
เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารในภาคอีสาน และเดิมทีเดียวเป็นสังฆมณฑลเดียวกันคือ
“มิสซังลาว” ที่กินอาณาบริเวณภาคอีสานทั้งหมดและประเทศลาว
ขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับสังฆมณฑลอุบลราชธานี
ที่ได้อาสนวิหารใหม่ใหญ่โตสวยงาม สมกับเป็นที่ประทับของพระเจ้า
ศูนย์กลางการประกาศข่าวดี และศูนย์รวมความเชื่อคริสตชน ซึ่งสำเร็จลงได้ด้วยแรงศรัทธาอย่างแท้จริง
อีกทั้งชื่นชมบรรดาพระสงฆ์ นักบวชและสัตบุรุษในสังฆมณฑล ที่ช่วยกันเตรียมงานและจัดงานเปิดและถวายอาสนวิหารใหม่ได้อย่างยิ่งใหญ่และสมบูรณ์
ในความรู้สึกส่วนตัว
ยังเสียดายอาสนวิหารเก่าที่มิได้เก็บรักษาไว้
เพราะโบสถ์หรือวิหารไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางจิตใจในฐานะที่เป็นมรดกทางความเชื่อที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
แต่ก็เข้าใจถึงข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่คับแคบ ไม่สามารถจะเก็บรักษาไว้ได้
อย่างน้อย ยังเหลือหอระฆังไว้เป็นอนุสรณ์และเครื่องเตือนใจถึงความทุ่มเทและเสียสละของมิชชันนารีสำหรับอนุชนรุ่นหลัง
(ไม่เหมือนวัดท่าแร่และวัดหนองแสง หอระฆังก็ไม่เหลือซาก)
อาสนวิหารแม่พระนิรมล
อุบลราชธานี ถือเป็นวัดคาทอลิกแรกในภาคอีสาน ที่คุณพ่อยอห์น
บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก สองมิชชันนารีผู้บุกเบิกได้ซื้อบ้านไม้ที่มีใต้ถุนสูง
ทำเป็นโรงสวดและบ้านพักในเวลาเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม
ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) ก่อนจะสร้างวัดถาวร
(หลังที่ 2 ) โดยใช้ไม้ทำเป็นเสา ผนังก่ออิฐถือปูน
มีพิธีเสกโดยคุณพ่อโปรดม เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1898
(พ.ศ. 2441) วัดทั้งสองหลังไม่หลงเหลืออะไรให้เห็นอีกแล้ว
ส่วนวัดคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานเวลานี้คือ วัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม
เสกวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)
นับเนื่องถึงปัจจุบันจะมีอายุ 107 ปี
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ
ภาพประกอบในหนังสือ “พิธีเปิดและถวายอาสนวิหาร แม่พระนิรมลอุบลราชธานี 10 ธันวาคม ค.ศ. 2014” หัวข้อ
“วัดแม่พระนิรมลทิน (วัดหนังที่ 2)”
หน้า 29
ที่มีภาพพระคุณเจ้าบาเยยืนหลังศิลาฤกษ์ขนาดใหญ่
ภาพนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการก่อสร้างวัดแม่พระนิรมลทิน (หลังที่ 2) แต่อย่างใด เพราะภาพนี้ เป็นพิธีวางศิลาฤกษ์ตึกฟาติมาท่าแร่ เมื่อวันที่ 6
พฤษภาคม ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ในภาพจะเห็นคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล กับ คุณพ่ออินทร์ นารินรักษ์ (ดูภาพ
พระคุณเจ้าบาเยกับศิลาฤกษ์ประกอบ)
อีกภาพหนึ่งในหน้า 32 หัวข้อ “เมืองอุบลในอดีต” ภาพที่ 2 ขวาสุดนับจากข้างล่าง เป็นภาพพระคุณเจ้าบาเย ยืนอยู่ข้างหลังโต๊ะที่คุณพ่อท่านหนึ่งกำลังเขียนบันทึก ภาพนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเมืองอุบลในอดีตเช่นกัน เพราะเป็นภาพการขุดหลุมศพมรณสักขีทั้ง 7 แห่งสองคอน ณ สุสานวัดสองคอนที่ฝังรวมกัน เพื่อพิสูจน์ทางการแพทย์ก่อนแยกฝัง สมัยพระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ คนที่จดบันทึกคือคุณพ่อเสนีย์ สกนธวัฒน์ ส่วนสังฆราชที่เห็นยืนหันข้างคือ พระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ อีกท่านหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์คือ คุณพ่อคำจวน ศรีวรกุล ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระนิรมลทินอุบลฯ (ดูภาพอื่นในเหตุการณ์เดียวกันประกอบ)
ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอีกด้าน
และเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอุบลฯ-ท่าแร่
ในฐานะที่เคยเป็นมิสซังเดียวกันคือมิสซังลาว พระสงฆ์จากท่าแร่ไปทำงานทางเขตอุบลฯ
เช่น คุณพ่อเสนีย์ สกนธวัฒน์ คุณพ่อคำจวน ศรีวรกุล และพระสงฆ์จากอุบลมาทำงานทางเขตท่าแร่
อาทิ คุณพ่อสมชาย สลับเชื้อ คุณพ่อบุปผา สลับเชื้อ คุณพ่อล้วน นักพรรษา ก่อนหน้าที่จะมีการแยกมิสซังเมื่อวันที่
7
พฤษภาคม ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) ปัจจุบันก็มีคุณพ่อลิขิต เหลือหลายกับคุณพ่อญาณารณพ มหัตกุล ที่ทำงานในสังฆมณฑลอุบลฯ
ประวัติศาสตร์บอกเราว่า
เรามีจุดกำเนิดเดียวกันและเป็นผลผลิตของบรรดามิชชันนารีในอดีต ภายใต้การนำของคุณพ่อโปรดมและคุณพ่อเกโก
ที่ทุ่มเท เสียสละและอุทิศชีวิตเพื่อการประกาศข่าวดีในแผ่นดินอีสานและประเทศลาว เหนือสิ่งอื่นใด
พระศาสนจักรไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก ต่างเป็นพระศาสนจักรเดียวกัน
ซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระเจ้า ควรที่เรารุ่นหลังจะได้สานต่อพันธกิจและความเป็นหนึ่งเดียวนี้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
11
ธันวาคม 2014
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น