วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

พระวรสารโดยนักบุญมาระโก


พระวรสารโดยนักบุญมาระโก

1   ผู้เขียน

เราพบชื่อยอห์นมาระโกหลายครั้งในหนังสือกิจการอัครสาวกและจดหมาย มารดาของท่านมีบ้านที่เยรูซาเล็มซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มคริสตชนยุคแรก (กจ 12:12) ได้กลับใจรับศีลล้างบาปกับเปโตร ดังที่เปโตรเรียกท่านว่า “บุตรของข้าพเจ้า” (1 ปต 5:13) เป็นลูกพี่ลูกน้องกับบานาบัสเพื่อนร่วมงานของเปาโล เป็นที่ไว้ใจและเคยร่วมงานกับเปาโล และเป็นศิษย์รักของเปโตร

พระวรสารนักบุญมาระโก เป็นพระวรสารที่สั้นที่สุดและเขียนขึ้นเป็นเล่มแรกที่กรุงโรมในปี ค.. 64 โดยบันทึกเรื่องราวคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ท่านได้ยินจากเปโตรโดยตรง และบรรดาผู้ฟังที่กรุงโรมได้สนับสนุนให้ท่านเขียนขึ้น และนี่เป็นเหตุให้พระวรสารเล่มนี้บันทึกอย่างเห็นภาพชัดเจน มาระโกมักอธิบายธรรมเนียมยิว ทำให้เรารู้ว่า มาระโกจงใจเขียนพระวรสารสำหรับคนที่มิใช่ยิวอ่าน

สิ่งที่มาระโกเขียนเป็นคำเทศน์สอนของเปโตร รวมถึงคำเทศน์สอนของบรรดาสาวกองค์อื่นๆ ในพระวรสารของมาระโกจึงพบหลักฐานเฉพาะที่เปโตรได้เป็นพยาน โดยการเริ่มต้นภารกิจของพระเยซูเจ้าด้วยการเรียกเปโตร (มก 1:16-18) ซึ่งเปโตรได้พบกับพระเยซูเจ้าเป็นครั้งแรก ทรงเปลี่ยนชื่อจาก “ซีมอน” เป็น “เปโตร” และได้รับการเลือกให้เป็นพยานในเหตุการณ์พิเศษบางอย่าง เช่น การรักษาบุตรสาวของไยรัส (มก 8:29), การจำแลงพระกาย (มก 9:2), เหตุการณ์ในสวนเกทเสมนี (มก 14:33-37)

2  จุดประสงค์และคำสอนหลักของมาระโก

มาระโกเขียนพระวรสารที่กรุงโรม โดยตั้งใจเรียบเรียงให้ชาวโรมันอ่าน ชาวโรมันในขณะนั้นเป็นทาสกันมาก มาระโกเน้นเรื่องพระแมสสิยาห์ซึ่งปรากฏมาแต่ผู้คนไม่ยอมรับ กลับประหารพระองค์ด้วยการตรึงกางเขนเสีย มาระโกต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงยอมรับทรมานและความตาย เพื่อเป็นสินไถ่มนุษย์ให้พ้นจากอำนาจของบาป ซึ่งถูกใจชาวโรมันมาก ทาสกลับใจแล้วมีความกล้าหาญอดทน อโหสิให้ทุกคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ นายกลับใจแล้วปล่อยทาสให้เป็นไทหรือเลี้ยงดูต่อไปอย่างพี่น้อง

            มาระโกเรียบเรียบเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ค่อยละเอียดนัก  โดยบันทึกแบบคร่าวๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างถึงเหตุการณ์ที่ไม้กางเขนและการกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย ไม่ได้เน้นเสนอคำสอนของพระเยซูเจ้าเท่าใดนัก แต่เน้น การอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าและภารกิจที่ทรงกระทำในสถานที่ต่างๆ อันทำให้เราแน่ใจว่า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า

เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเปโตร เราจึงเห็นมาระโกอ้างคำพูดของเปโตรกับพระเยซูเจ้าบ่อยๆ เช่น คำสารภาพของเปโตร “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (มก 8:29), “พระอาจารย์ ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด…” (มก 9:5), “ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละทุกสิ่งและติดตามพระองค์แล้ว” (มก 10:28), “แม้ว่าทุกคนจะทอดทิ้งพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ทอดทิ้งพระองค์เลย” (มก 14:29) ดังที่นักบุญอีเรเนอุส กล่าวว่า “มาระโกเป็นศิษย์และผู้แปลคำคำสอนของเปโตร และทำให้คำสอนของเปโตรตกทอดมาถึงเราในรูปของงานเขียน” ดังนั้น เมื่อเราอ่านพระวรสารของมาระโก เท่ากับว่าเรากำลังฟังเปโตรเทศน์สอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น