พระเมตตาของพระเจ้า
สัปดาห์ที่ 2
เทศกาลปัสกา
(ฉลองพระเมตตา)
|
กจ 10:34ก, 37-48
คส 3:1-4
ยน 20:1-9
|
บทนำ
ปี ค.ศ. 1984 นิตยสารไทม์ได้ขึ้นปกเรือนจำแห่งหนึ่ง สถานที่ซึ่งชายสองคนกำลังสนทนากันบนเก้าอี้อย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง
เขาทั้งสองพูดคุยกันเบาๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้คนอื่นได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังสนทนา
ชายคนหนึ่งคือ เมเหม็ด อาลี อักกา ชายหนุ่มที่ลั่นกระสุนหมายสังหารพระสันตะปาปา
ชายอีกคนคือ พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ผู้เป็นเหยื่อและเป้าหมายของการสังหาร
พระสันตะปาปาได้สัมผัสมือที่ลั่นกระสุนใส่ร่างของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ฉากนี้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก
ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ ความแตกแยกรุนแรงและความเกลียดชังไม่ยอมให้อภัย
นี่คือภาพลักษณ์ของพระเมตตาที่มีชีวิต
พระสันตะปาปากำลังสอนการให้อภัยและการคืนดีอย่างแน่วแน่มั่นคง
การกระทำที่พระองค์แสดงต่ออาลี อักกามีค่ายิ่งกว่าคำพูดพันคำ
พระองค์ได้สวมกอดและยกโทษให้ผู้ที่พยายามจะสังหารพระองค์
เมื่อการสนทนาสิ้นสุดลง อาลี อักกาได้ยกพระหัตถ์ของพระสันตะปาปาแตะที่หน้าผากของเขาเป็นเครื่องหมายของการแสดงความเคารพ
พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงสัมผัสมือของเขาเบาๆ
เมื่อพระสันตะปาปาเสด็จออกจากเรือนจำ พระองค์ตรัสว่า “พ่อได้พูดกับเขาอย่างพี่น้อง
ผู้ซึ่งพ่อได้ยกโทษและวางใจเขาอย่างสิ้นเชิง”
นี่คือแบบอย่างของพระเมตตาของพระเจ้า
เป็นพระเมตตาแบบเดียวกับที่นักบุญโฟสตินาได้เป็นพยาน
พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ได้แต่งตั้งบุญราศีโฟสตินาเป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 30
เมษายน ค.ศ. 2000 ในสัปดาห์ที่สองของเทศกาลปัสกา ซึ่งนักบุญองค์ใหม่นี้ได้เป็นพยานด้วยชีวิตของเธอ เพื่อให้เราได้รักษาความเชื่อและความหวังในพระเจ้าพระบิดา
ผู้ทรงพระเมตตาอย่างล้นเหลือและทรงช่วยเราให้รอดด้วยพระโลหิตของพระบุตรพระองค์
พระเยซูเจ้าได้มอบหลักปฏิบัติพื้นฐาน 3 ประการให้แก่นักบุญโฟสตินา: 1) ภาวนาเพื่อวิญญาณทั้งหลายจะได้วางใจในพระเมตตาที่ไม่สามารถเข้าใจได้ของพระเจ้า;
2) บอกให้โลกได้รับรู้ถึงพระเมตตาอันอุดมของพระเจ้า; 3) ให้เริ่มก่อตั้งกลุ่มพระเมตตาในพระศาสนจักร
1.
พระเมตตาของพระเจ้า
บทอ่านในสัปดาห์นี้เกี่ยวข้องกับพระเมตตา ความวางใจและการให้อภัยบาป พระเจ้าได้แสดงความเตตาของพระองค์ต่อเราด้วยการส่งบุตรสุดที่รักของพระองค์ให้มาเป็นพระผู้ไถ่เราให้รอด
ผ่านทางพระทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระองค์
พระเมตตาของพระเจ้าได้ประทานให้เราในการเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์
ในบทอ่านแรก
หนังสือกิจการอัครสาวกได้ให้บทสรุปเกี่ยวกับชีวิตคริสตชนในระยะเริ่มแรก ที่ปฏิบัติต่อกันความรัก
ความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาของพระเจ้าตามที่พระเยซูเจ้าทรงสอน เป็นหมู่คณะที่เป็นพยานถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ซึ่งได้รับพลังจากการภาวนาร่วมกันในพิธีบิขนมปังและปฏิบัติตามคำสอนของบรรดาอัครสาวกที่เน้นงานเมตตากิจ
ในบทอ่านที่สอง จดหมายของนักบุญยอห์นฉบับที่หนึ่ง
เน้นที่พันธะแห่งความรักระหว่างคริสตชนกับพระเจ้าพระบิดา
บนพื้นฐานแห่งความเชื่อในการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งอาศัยความเชื่อนี้ทำให้เราเป็นบุตรบุญธรรมของพระบิดาเจ้า
ในพระวรสารวันนี้
เราระลึกถึงการปรากฏพระองค์ของพระเยซูเจ้าแก่บรรดาสาวกในตอนค่ำวันต้นสัปดาห์
การปรากฏมานี้เตือนใจเราถึงศีลแห่งการคืนดี
ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเมตตาของพระเจ้าในการอภัยบาป
ซึ่งพระเยซูเจ้าประทานแก่บรรดาสาวก “ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด
บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด
บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย” (ยน 20:19-23) พระวรสารยังได้เน้นถึงความสำคัญของความเชื่อในการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพ
ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งพระเมตตาในกลุ่มคริสตชน เราเชื่อแม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นด้วยตา
เราได้รับการเชื้อเชิญให้ยอมรับและเชื่อในพระเมตตาของพระเจ้าโดยไม่ลังเลอย่างปราศจากความคลางแคลงสงสัย
2.
ความหมายสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในสัปดาห์นี้
มีความหมายและให้แนวปฏิบัติสำหรับเราในการดำเนินชีวิตคริสตชนหลายประการ
ประการแรก
เราต้องปฏิบัติตนบนพื้นฐานของความเมตตาของพระเจ้า
พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระเมตตาของพระเจ้าผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี
การหมั่นมารับศีลอภัยบาปจึงเป็นหนทางที่เราจะดำเนินชีวิตในความเมตตาของพระเจ้า
พระเยซูเจ้าบอกเราว่า “จงเป็นคนดีบริบูรณ์ เหมือนพระบิดาเจ้าทรงความดีบริบูรณ์”
เราจึงต้องแสดงความเมตตาต่อเพื่อนพี่น้องทุกที่ ทั้งในคำพูด กิจการและการภาวนา
ประการที่สอง เราต้องรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์ทุกคน
การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อช่วยเราให้สามารถมองเห็นพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพในทุกคน
และช่วยเราให้มีความปรารถนาจะรับใช้กันและกันด้วยความรัก คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา
ได้ใช้แนวทางนี้ในการสอนสมาชิก “ถ้าเราภาวนา เราจะเชื่อ; ถ้าเราเชื่อ เราจะรัก; ถ้าเรารัก เราจะรับใช้
ซึ่งเป็นการทำให้ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าปรากฏเป็นจริงในกิจการ”
ประการที่สาม เราต้องแสดงความเมตตาด้วยการแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่ผู้อื่น
เรื่องราวกลุ่มคริสตชนแรกที่เราได้ยินในบทอ่านที่หนึ่ง บอกให้เราทราบว่าพวกเขาได้นำที่สิ่งที่ตนเองมีมาวางเป็นกองกลาง
เพื่อให้บรรดาอัครสาวกแบ่งปันแก่ผู้ขัดสนและต้องการความช่วยเหลือ
นี่คือเครื่องหมายแห่งความเมตตาของพระเจ้าในภาคปฏิบัติ ที่ทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างพี่น้อง
ในกลุ่มคริสตชนแรกจึงไม่มีใครขัดสน และนี่คือหนทางที่ทำให้พวกเขามีสันติสุขแท้
บทสรุป
พี่น้องที่รัก ทุกครั้งที่เรามอบสันติสุขให้แก่กันในพิธีบูชาขอบพระคุณ
ขอให้เป็นการแสดงออกถึงท่าทีแห่งความเมตตา การให้อภัยและการมอบสันติสุขที่แท้จริงจากใจเราแก่กันและกัน
สันติสุขจะบังเกิดขึ้นในใจเราก็ต่อเมื่อ
·
เราได้ปฏิบัติตามบัญญัติแห่งความรักที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา “รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ
สิ้นสุดสติปัญญา และสิ้นสุดกำลังความสามารถ และรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง”
· เราได้ใส่ใจในความต้องการของเพื่อนพี่น้อง
“ทุกสิ่งที่ท่านทำกับพี่น้องที่ต่ำต้องที่สุด ท่านทำกับเราเอง”
ให้เราได้สานต่อพันธกิจของพระเยซูเจ้า
ในงานเมตตากิจ งานแห่งความรักและการให้อภัยไม่สิ้นสุดในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อเราจะได้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติสุขในสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง
และความแตกแยกรุนแรงมีการแบ่งสีเลือกข้างอย่างในปัจจุบัน เพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นในครอบครัว
หมู่คณะและหมู่บ้านของเรา
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
13 เมษายน 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น