วัดพระแม่มารีย์
กาฬสินธุ์
ในโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกาฬสินธุ์ เลขที่ 88 ถนนถีนานนท์ อำเภอเมือง
จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000
1.
ประวัติความเป็นมา
เดิมทีเดียวมีคริสตชนหลายครอบครัวอพยพมาจากที่ต่างๆ
เพื่อประกอบอาชีพในตัวเมืองกาฬสินธุ์ อาทิ
ค้าขาย รับจ้าง รับราชการ ฯลฯ บางครอบครัวได้ตั้งหลักปักฐานอย่างถาวร เช่น ครอบครัวชาวเวียดนามจากวัดนักบุญอันนาหนองแสง
นครพนม และคริสตชนชาวจีนจากนครนายก
ประมาณปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ครอบครัว นายประสงค์-นางเทวี สุวรรณราช ได้มาอาศัยอยู่ในตัวเมืองกาฬสินธุ์
เพื่อประกอบอาชีพค้าขายและได้มีอีกหลายครอบครัวติดตามมาภายหลัง ทำให้จำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้นเป็น 10
กว่าครอบครัว เนื่องจากยังไม่มีวัด
คริสตชนเหล่านั้นต้องไปร่วมพิธีทางศาสนาในวัดที่อยู่ใกล้ที่สุดเช่นที่มหาสารคามหรือขอนแก่น บางครั้งจะกลับไปร่วมพิธีทางศาสนาในโอกาสสมโภชปัสกา
คริสตสมภพ และวันปีใหม่กับญาติพี่น้องที่นครพนม
ปี ค.ศ. 1967-1972 (พ.ศ. 2510-2517) พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ติดตามเยี่ยมเยียนคริสตชนที่กาฬสินธุ์
และได้ปรึกษาหารือกันถึงความเป็นไปได้ในการติดต่อหาซื้อที่ดินสำหรับการสร้างวัด ด้วยความช่วยเหลือของนายประสงค์-นางเทวี ที่สุดในปีเดียวกันนั้น พระอัครสังฆราชมีคาแอล
เกี้ยน ได้มอบหมายให้ นายแก้ว เจริญพงศ์และนายชอบ ตรงกะพงษ์ เป็นตัวแทนในการซื้อที่ดินในนามอัครสังฆมณฑลจำนวน 15
ไร่ และได้เพิ่มเติมภายหลังอีก 4 ไร่
รวมเป็นที่ดินผืนเดียวกันจำนวน 19 ไร่
ปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) หลังจากได้ซื้อที่ดินเพื่อการสร้างวัดแล้ว พระอัครสังฆราชมีคาแอล
เกี้ยน ได้มอบหมายให้คุณพ่อยอแซฟ อินทร์ นารินรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระจิตเจ้าโนนหัวช้าง
เป็นผู้รับผิดชอบคริสตชนในเขตกาฬสินธุ์ทั้งหมด
โดยคุณพ่อได้ติดตามเยี่ยมเยียนคริสตชนที่กาฬสินธุ์ปีละ 2-3
ครั้ง ในโอกาสปัสกา คริสตสมภพและในกรณีพิเศษ เช่น ป่วยหนัก
เสียชีวิต หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
เนื่องจากยังไม่มีวัด คุณพ่อยอแซฟ อินทร์ ได้ถวายมิสซาที่บ้านของนายประสงค์-นางเทวี
มีผู้มาร่วมพิธีมากพอสมควร
โดยมีนายประสงค์-นางเทวี เป็นผู้เชิญชวนและนัดหมายคริสตชนที่กาฬสินธุ์ให้รวมตัวกัน
ตามวันที่คุณพ่อนัดหมายเป็นครั้งคราว ต่อมาคุณพ่อทราบว่าที่อำเภอยางตลาด
จังหวัดกาฬสินธุ์ มีคริสตชนชาวเวียดนามและชาวจีนประมาณ 4-5 ครอบครัว
จึงได้ไปเยี่ยมและถวายมิสซาที่บ้านของนายตุง-นางเชาวลักษณ์
พนมอุปถัมภ์ คริสตชนที่อพยพมาจากวัดนักบุญอันนาหนองแสงอีกแห่งหนึ่ง
เนื่องจากคุณพ่อยอแซฟ อินทร์ มีกลุ่มคริสตชนที่ต้องอภิบาลหลายกลุ่มในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์
จึงได้ปรึกษากับพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน
เพื่อขอความช่วยเหลือจากสังฆมณฑลอุบลราชธานี
โดยขอพระสงฆ์ที่ประจำที่มหาสารคามช่วยอภิบาลคริสตชนที่อำเภอยางตลาดและในตัวเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากอยู่ใกล้และไปมาสะดวกกว่า ห่างกันไม่ถึง
40 กิโลเมตร คริสตชนเหล่านั้นจึงอยู่ในความรับผิดชอบของสังฆมณฑลอุบลฯ
เป็นการชั่วคราว ในความดูแลของ คุณพ่อแบร์นาร์ด
กิลเลอแมงด์, คุณพ่อหลุยส์ เลอดึกและคุณพ่อฟรังซิโน ตามลำดับ
ปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ได้ดำริจะตั้งโรงเรียนวรธรรมพิทยากาฬสินธุ์ ในที่ดินที่ได้ซื้อไว้สมัยพระอัครสังฆราชมีคาแอล
เกี้ยน โดยมอบหมายให้
คุณพ่อหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมกับทำหน้าที่อภิบาลคริสตชนที่กาฬสินธุ์แทนพระสงฆ์จากสังฆมณฑลอุบลฯ เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนเริ่มขึ้น
คุณพ่อมีคาแอล
ประสงค์ เด่นไชยรัตน์ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการก่อสร้าง พร้อมกับอภิบาลคริสตชนด้วย เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้ใช้ห้องหนึ่งของอาคารเซนต์หลุยส์เป็นที่ถวายมิสซาชั่วคราว
เมื่อสร้างอาคารเซนต์ยอแซฟแล้วเสร็จได้ใช้ห้องเรียนชั้นที่ 3
ของอาคารที่ยังไม่ได้เปิดใช้เป็นที่ถวายมิสซา ต่อมาภายหลังเมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น
จึงได้ย้ายลงมาใช้ห้องหนึ่งของอาคารเซนต์หลุยส์เป็นวัดน้อยสำหรับถวายมิสซาเรื่อยมา
กระทั่งจำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้นทำให้วัดน้อยดูคับแคบ หลายฝ่ายเริ่มคิดถึงการก่อสร้างวัดถาวรสำหรับคริสตชนในละแวกกาฬสินธุ์
และเริ่มหาทุนสำหรับการสร้างวัด
โครงการสร้างวัดเริ่มอย่างจริงจังในสมัยคุณพ่อมีคาแอล นิเวศน์
อินธิเสน โดยได้รับอนุมัติจากอัครสังฆมณฑลให้ก่อสร้างในปี ค.ศ. 2007
(พ.ศ. 2550) เป็นวัดตามแบบสถาปัตยธรรมโรมัน มีเสาโรมัน
12 ต้น สัญลักษณ์หมายถึงอัครสาวกทั้ง 12 ที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกสรร มีรูปกระจกสีพระรูปพระนางมารีย์ตรงประตูทางเข้าวัด
หมายถึงแม่พระเป็นผู้เฝ้าประตูสวรรค์ในฐานะคนกลางแจกจ่ายพระหรรษทาน และรูปพระตรีเอกภาพด้านหลังเหนือพระแท่น
ทำให้วัดแลดูโดดเด่นสวยงามแก่ผู้พบเห็น มีพิธีเสกและเปิดโดยพระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2008
(พ.ศ. 2551)
ปัจจุบัน มีคุณพ่อเบอร์นาร์ด วีรพงษ์ โพธิมล เป็นเจ้าอาวาส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น