วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บุคคลสำคัญด้านการศึกษาและผู้ยากไร้



พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
บทนำ
พระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน เกิดที่บ้านทุ่งมน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471)  เป็นบุตรของนายคาน-นางจันที แสนพลอ่อน  ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่บ้านเณรพระหฤทัย หนองแสง จังหวัดนครพนม และได้ศึกษาต่อที่บ้านเณรบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่บ้านเณรใหญ่ เยเนรัล คอลเลจ บู เลาตีกุส ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) โดยพระสังฆราชมิแชล มงคล  (อ่อน) ประคองจิต
หลังบวชเป็นพระสงฆ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่และผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ทางทิศเหนือในบริเวณที่ตั้งอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)  ในช่วงที่บริหารโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่นั้น  ได้นำความเจริญมาสู่โรงเรียนในหลายๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสถานที่ ดนตรี กีฬา  ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง  และได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล  ถือเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในจังหวัดสกลนคร
ปี ค.ศ. 1967-1969 (พ.ศ. 2510-2512) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการและครูใหญ่โรงเรียนวรสารพิทยา  ยานนาวา  กรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งก่อตั้งใหม่  นับเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญที่ทำให้โรงเรียนวรสารพิทยาเจริญก้าวหน้า (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานาวา) ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบ้านเณรฟาติมาท่าแร่ บริหารโรงเรียนวรธรรมพิทยาคารซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับสามเณรในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512)
เมื่อรวมกิจการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่กับโรงเรียนวรธรรมพิทยาคารเข้าด้วยกัน  ในปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ได้กลับมาบริหารโรงเรียนเซนต์ยอแซฟอีกครั้งหนึ่ง จวบจนได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ให้เป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) และได้รับอภิเษกโดยพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปีเดียวกัน อยู่ในตำแหน่งพระสังฆราชปกครอง 24 ปี  ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) กระทั่งมอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้าเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 สิริอายุ 79 ปี
1.         งานด้านการศึกษา
ในวันที่ได้รับอภิเษกและเข้ารับตำแหน่ง  ฐานะทางการเงินของอัครสังฆมณฑลฯอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่น รายได้หลักเพียงอย่างเดียวขณะนั้นคือเงินช่วยเหลือจากกรุงโรม โรงเรียนวัดของอัครสังฆมณฑลทุกโรง ได้รับผลกระทบเมื่อรัฐบาลขยายโอกาสทางการศึกษา จำต้องหยุดหรือโอนกิจการให้รัฐบาลเพราะขาดงบประมาณและบุคลากรในการบริหารงาน โรงเรียนที่เหลือก็อยู่ในสภาพที่เลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น
ด้วยความที่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียน และคลุกคลีอยู่กับงานด้านการศึกษามาตลอดตั้งแต่บวชเป็นพระสงฆ์  ทำให้เข้าใจว่ามีเพียงงานโรงเรียนเท่านั้นที่จะเป็นแหล่งทุนสำหรับเลี้ยงอัครสังฆมณฑลในอนาคต  จึงนำเสนอความคิดก่อตั้งโรงเรียนในเครือเซนต์ยอแซฟตามจังหวัดและอำเภอที่มีขนาดใหญ่  เวลานั้นไม่มีใครเห็นชอบด้วย อีกทั้ง การสร้างโรงเรียนแต่ละแห่งต้องใช้เงินลงทุนสูงในขณะที่อัครสังฆมณฑลแทบไม่มีเงินเลย
กระนั้นก็ดี ที่ประชุมยังเปิดกว้างให้หาเงินทุนมาดำเนินการเองได้ อันเป็นที่มาของการหาทุนจากในและต่างประเทศ เพื่อซื้อที่ดินและก่อตั้งโรงเรียนในเครือเซนต์ยอแซฟขึ้นตามที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
1)           โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร                .. 1979 (.. 2522)  
2)           โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกาฬสินธุ์                 .. 1985 (.. 2528)
3)           โรงเรียนเซนต์ยอแซฟมุกดาหาร                .. 1989 (.. 2532)
4)           โรงเรียนเซนต์ยอแซฟนาแก                      .. 1992 (.. 2535)  
5)           โรงเรียนเซนต์ยอแซฟศรีสงคราม              .. 2000 (.. 2543)
6)           โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์             ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)
นับว่าพระอัครสังฆราชคายน์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  ในการวางรากฐานและขยายงานด้านการศึกษาของสังฆมณฑลให้เจริญก้าวหน้า  จนกระทั่งกลายเป็นสถานศึกษาที่มั่นคงในการให้การศึกษาอบรมแก่เด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ โรงเรียนจึงเป็นสนามงานหนึ่งของการแพร่ธรรม อีกทั้งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้สำหรับเลี้ยงอัครสังฆมณฑลในปัจจุบัน 

2.         งานสงเคราะห์ผู้ยากไร้
งานด้านสังคมสงเคราะห์มีพื้นฐานมาจากบัญญัติแห่งความรักของพระเยซูเจ้า คำสอนของพระศาสนจักร และความใจดีมีเมตตาซึ่งมีอยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม  จากภูมิหลังการเป็นลูกชาวนาและเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ทำให้สนใจการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน  โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ ประกอบกับการที่เป็นประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย ในสภาพระสังฆราชฯ  เราจึงเห็นงานด้านนี้อย่างเด่นชัด มิใช่แต่เฉพาะคริสตชนเท่านั้นแต่กับทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ อาทิ
2.1  ผู้ต้องขัง
เนื่องจากเคยได้รับผลกระทบจากการเบียดเบียด ถูกทำทารุณต่างๆ และได้รับรู้ข่าวการถูกจับขังคุกของบรรดาพระสงฆ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เข้าใจดีว่ามีคนบริสุทธิ์เป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกกลั่นแกล้งและขังอยู่ในเรือนจำ เมื่อมีโอกาสได้ไปที่เรือนจำสกลนคร เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ต้องขังและแจกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น   จากการไปครั้งนั้นทำให้ทราบว่า มีคริสตชนหลายคนถูกขังอยู่ในเรือนจำด้วย  จึงได้ไปทำหน้าที่อภิบาลเป็นประจำทุกเดือน พร้อมกับได้สร้าง ศาลาเซนต์ลอเรนซ์ ขึ้นในเรือนจำนั้นเอง เพื่อใช้เป็นวัดน้อยในการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ สอนคำสอนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์
นอกนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำยังเชิญให้เทศน์สอนบรรดาผู้ต้องขังทั้งหมด เพื่อกล่อมเกลาจิตใจพวกเขาให้เข้าใจว่า ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า ช่วยให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าของตัวเองและพร้อมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สังคมยังให้โอกาส นับเป็นการประกาศความรักและการให้อภัยของพระเจ้า  ในดินแดนที่เคยจองจำพระสงฆ์ของพระองค์

2.2   ผู้ติดยาเสพติด
สำหรับผู้ที่ติดยาเสพติด ได้ช่วยเหลือด้วยการส่งไปบำบัดรักษาที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดตามที่ต่างๆ  และเมื่อเห็นว่าจำนวนผู้ติดยาเสพติดมีเป็นจำนวนมาก  จึงได้เปิดศูนย์บำบัดยาเสพติด Communita incontro ขึ้นที่บ้านโคกสะอาด อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) เพื่อช่วยเหลือ บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่อยู่ในเขตนี้ ทำให้บรรดาเยาวชนที่หลงผิดได้รับการบำบัดรักษา กลับมาเป็นลูกที่ดีของคุณพ่อคุณแม่และอนาคตของชาติอีกครั้งหนึ่ง
นอกนั้น ยังถือเป็นหน้าที่สำคัญในการตักเตือนบรรดาเด็กและเยาวชน ให้ห่างไกลยาเสพติดและการพนันต่างๆ เป็นต้นในหมู่คริสตชนตามวัดต่างๆ เวลามีงานศพ  ด้วยการออกประกาศระเบียบอัครสังฆมณฑล เรื่องการไม่มีมิสซาหน้าศพและพิธีปลงศพสำหรับบ้านที่อนุญาตให้มีการเล่นการพนันในงานอย่างเด็ดขาด ทำให้หมู่บ้านคริสตชนปลอดการพนันและกลายเป็นต้นแบบสำหรับทางราชการ
2.3   ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์
โรคเอดส์เป็นมหันตภัยที่กำลังคุกคามมนุษย์โลกปัจจุบันอย่างรุนแรง ที่บั่นทอนสุขภาพและชีวิตมนุษย์ ด้วยตระหนักในมหันตภัยดังกล่าวและในฐานะประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย ได้ออกสารว่าด้วยแนวปฏิบัติของคริสตชนต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์  เพื่อชี้ให้เห็นปัญหา ผลกระทบต่อครอบครัว และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าในพระวรสาร
โดยสอนให้มองบุคคลเหล่านี้ด้วยสายตาแห่งความรักและเมตตากรุณา  โรคเอดส์ จึงเป็น สัญญาณแห่งกาลเวลา อย่างหนึ่ง ที่เตือนเราให้ลงมือปฏิบัติจิตตารมณ์แห่งความรักอย่างจริงจัง  ด้วยการซื้อบ้านสำหรับเด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อ HIV ที่วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ หนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นที่พักอาศัยและสถานศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าศึกษาในระบบปกติได้  โดยมอบให้อยู่ในความดูแลของคณะภคินีธิดาเมตตาธรรม
บทสรุป
พระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน มีส่วนอย่างมากในการสานต่อและพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงให้เจริญก้าวหน้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายงานด้านการศึกษา การก่อสร้างวัดใหม่ในหลายหมู่บ้าน และการจัดให้มีการสัมมนาเพื่อกำหนดแผนแม่บทของอัครสังฆมณฑล อันนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) และแผนแม่บทของอัครสังฆมณฑลอย่างเป็นระบบในเวลาต่อมา  ถือเป็น ปูชนียบุคคล ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น