วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การระลึกถึงผู้ล่วงลับ



การระลึกถึงผู้ล่วงลับ
วันที่ 2 พฤศจิกายน
วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
รม 5:5-11
ยน 6:37-40
บทนำ
ในขณะที่เรียนอยู่ที่ประเทศอิตาลี เวลาปิดภาคฤดูร้อนได้มีโอกาสไปช่วยงานที่วีโกเน (Vigone) หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตโตรีโน (Torino) แคว้นปีเอมอนเต (Piemonte) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ทุกวันต้องปั่นจักรยานผ่านสุสานของวีโกเน ได้สังเกตเห็นผู้คนหลายคนในสุสานกำลังทำความสะอาดหลุมศพ บ้างรดน้ำต้นไม้ บ้างเปลี่ยนดอกไม้ในแจกันหรือสวดภาวนา ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะที่วีโกเนเท่านั้น หลายหมู่บ้านที่ไปมาจะพบเห็นบรรยากาศเช่นนี้เสมอ 
สุสานจึงกลายเป็นที่พบปะของผู้คน สงบ ร่มรื่นและสวยงาม ไม่มีบรรยากาศของความวังเวงน่ากลัวเหมือนอย่างเมืองไทย  คงเป็นเพราะความเชื่อศรัทธาหรือความผูกพันของผู้คนที่นั่น (อิตาลี) ที่มีต่อญาติพี่น้องผู้ล่วงลับจึงแวะเวียนไปเยี่ยมที่สุสานเป็นประจำ บางคนไปทุกวัน วันเว้นวันหรือสองสามวันครั้ง  มิใช่คิดถึงหรือไปหาปีละครั้งเฉพาะวันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับเหมือนบ้านเรา 
ยิ่งเวลาที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ยิ่งเห็นชัดถึงข้อดีของเขา เพราะหากเรารักใครสักคน แม้เขาจากเราไปแล้วแต่เรายังรักและผูกพันกันอยู่  โดยเฉพาะกับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและมีพระคุณด้วยแล้ว ยิ่งต้องรักและคิดถึงให้มาก ไปหาทุกวันได้ยิ่งดี ในแต่ละวันจึงมีผู้คนมากมายไปที่สุสาน บางหมู่บ้านมีมิสซาบ่อยครั้งที่สุสานอย่างที่เชร์เชนาสโก (Cercenasco) (คุณพ่อเจ้าอาวาสที่อยู่ด้วยถึงกับพูดติดตลกว่า สาเหตุที่มาทำมิสซาที่สุสานเพราะคนมาสุสานมากกว่าวัด)
วันนี้พระศาสนจักรให้เราภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วันเสกสุสาน” เพื่อภาวนาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับของเรา เป็นการระลึกถึงวิญญาณทุกดวงที่กำลังทนทุกข์ในไฟชำระ เพื่อรอการชำระล้างให้บริสุทธิ์และคู่ควรกับการอยู่กับพระเจ้าในสวรรค์นิรันดร ธรรมเนียมการภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับในพระศาสนจักร เริ่มเป็นครั้งแรกในอารามฤษีในช่วงต้นศตวรรษที่ 6 ที่พากันระลึกถึงสมาชิกที่ล่วงลับไปแล้ว จนกระทั่งศตวรรษที่ 9 ธรรมเนียมนี้ได้เป็นที่แพร่หลายในพระศาสนจักร

1.         การระลึกถึงผู้ล่วงลับ
เมื่อวาน (1 พฤศจิกายน) เราสมโภชนักบุญทั้งหลาย เราแต่ละคนซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ (พระศาสนจักรที่กำลังต่อสู้) เป็นหนึ่งเดียวกับบรรดานักบุญซึ่งได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์ (พระศาสนจักรที่ได้รับชัยชนะ) และวันนี้ (2 พฤศจิกายน) เราเฉลิมฉลองความเป็นหนึ่งเดียวกับญาติพี่น้องที่อยู่ในไฟชำระ วิญญาณที่ยังไม่พร้อมจะอยู่กับพระเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์ (พระศาสนจักรที่กำลังทนทุกข์) ซึ่งความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวนี้รวมเรียกว่า “สหพันธ์นักบุญ”
เราคริสตชนเชื่อในสิ่งสุดท้าย 4 อย่างได้แก่ ความตาย การพิพากษา สวรรค์และนรก แต่ “ไฟชำระ” ไม่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในสิ่งสุดท้าย ทั้งนี้เพราะ ไฟชำระเป็นส่วนหนึ่งของสวรรค์ วิญญาณที่อยู่ในไฟชำระคือวิญญาณที่ถูกพิพากษาว่ายังไม่คู่ควรกับสวรรค์ วิญญาณเหล่านี้จะต้องได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เสียก่อน อย่างที่นักบุญยอห์นกล่าวถึงในหนังสือวิวรณ์ “สิ่งที่เป็นมลทิน หรือผู้ที่มีความประพฤติน่ารังเกียจ หรือผู้พูดเท็จจะไม่ได้เข้าในนครนี้” (วว 21:27)
ในหนังสือคำสอนของพระศาสนจักร ได้อ้างคำอธิบายของนักบุญเกรโกรีที่ว่า “ทุกคนที่สิ้นใจในมิตรภาพและพระพรของพระเจ้าแต่ยังไม่บริสุทธิ์ จะบรรลุถึงความรอดนิรันดรเมื่อพวกเขาได้รับการชำระให้บริสุทธิ์หลังความตายแล้วเท่านั้น ถึงจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์ที่จำเป็นสำหรับการเข้ารับความชื่นชมยินดีในสวรรค์” ซึ่งพระศาสนจักรเรียกว่า “ไฟชำระ” เป็นการชำระให้บริสุทธิ์ด้วยไฟอย่างที่นักบุญเปโตรพูดถึง (ดู 1 ปต. 1:7)
2.         บทเรียนสำหรับเรา
การภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับที่เราระลึกในวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องตระหนักในความรักของพระเจ้า ไม่มีใครที่มีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม แม้เราจะได้รับศีลล้างบาปได้ชื่อว่าเป็นคริสตชนแล้ว แต่ความรักของพระเจ้ายิ่งใหญ่และไม่มีเงื่อนไข พระองค์ทรงรักเราแม้เราจะไม่สมบูรณ์ ประการสำคัญ พระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งวิญญาณของพี่น้องชายหญิงของเราที่ล่วงหน้าเราไปก่อน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ดำเนินชีวิตคู่ควรกับความเป็นคริสตชนก็ตาม (เว้นแต่ว่า พวกเขาตั้งใจที่จะปฏิเสธพระองค์)
ประการที่สาม เราต้องระลึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับอยู่เสมอ ความตายมิใช่จุดจบ แต่เรายังเป็นหนึ่งเดียวกับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ในสายสัมพันธ์แห่งความเชื่อและความรัก ที่สำคัญ วิญญาณญาติพี่น้องของเราซึ่งอยู่ในไฟชำระ ไม่สามารถช่วยตนเองได้เหมือนเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นหน้าที่และมีเพียงเราที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ที่จะช่วยพวกเขาได้ พวกเขาต้องการคำภาวนาและพิธีบูชาขอบพระคุณจากเรา เพื่อพวกเขาจะได้รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ เราจึงไม่ควรระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักของเรา (ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ญาติพี่น้อง) เฉพาะแต่ในวันนี้เท่านั้น
ประการที่สาม เราต้องตระหนักในชีวิตของเรา การมารวมกันที่สุสานต่อหน้าหลุมศพญาติพี่น้องของเรา สะท้อนความจริงที่ว่า ชีวิตในโลกนี้สั้น ไม่จีรังยั่งยืน บางคนจึงบอกว่า “ชีวิตของเรานั้นสั้นเกินกว่าจะเห็นแก่ตัว” แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังเห็นแก่ตัวอยู่ ยังมีความโลภ โกรธ หลง เมื่อเราอยู่ต่อหน้าหลุมศพเราต้องตระหนักว่า ต่อไปเราก็ต้องเป็นแบบนี้ สิ่งนี้เป็นกฎธรรมชาติ และทุกชีวิตไม่มีใครหลีกพ้น ประการสำคัญเราไม่รู้ว่าวันเวลาของเราจะมาถึงเมื่อไหร่ เราจึงต้องสร้างบุญสร้างกุศลและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
บทสรุป
พี่น้องที่รัก วันนี้เราระลึกถึงพี่น้องของเราที่กำลังทนทุกข์ในไฟชำระเพราะผลของบาป เป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างผู้เป็นกับผู้ตาย ในสายสัมพันธ์แห่งความเชื่อและความรัก ให้เราได้ส่งคำภาวนาและอุทิศส่วนกุศลในพิธีบูชาขอบพระคุณแด่พวกเขา มิใช่แต่เฉพาะในวันนี้เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาและปลดปล่อยพวกเขาให้ได้รับการชำระล้าง และคู่ควรกับการอยู่กับพระเจ้าในสวรรค์
ที่สุด เราต้องตระหนักถึงพระพรแห่งชีวิตที่เราได้รับจากพระเจ้า ทุกครั้งที่เราอยู่ต่อหน้าหลุมศพ เราต้องตระหนักว่า ต่อไปเราก็ต้องเป็นแบบนี้ สิ่งนี้เป็นกฎธรรมชาติ และทุกชีวิตไม่มีใครหลีกพ้น นี่คือสัจธรรมแห่งชีวิต ประการสำคัญเราไม่รู้ว่าวันเวลาของเราจะมาถึงเมื่อไหร่ เราจึงต้องสร้างบุญสร้างกุศลและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินชีวิตในความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เพราะในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต พระเจ้าจะไม่ถามว่าเราได้ทำอะไรบ้าง แต่จะถามว่า “เราได้รักอย่างไร”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
01 พศจิกายน 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น