ข้อคิดจากคุณพ่อแพทริก มัชโชนี
S.D.B.
การรักและรับใช้
ภารกิจของพระสงฆ์เป็นภารกิจแห่งรักและรับใช้ บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา
ยอห์นปอลที่ 2 ได้ย้ำเตือนเรื่องนี้ในเอกสารครบรอบ
50 ปีแห่งชีวิตสงฆ์ของพระองค์ว่า “ผู้นำประเทศเดินบนพรม
แต่ผู้นำพระศาสนจักรจะต้องเป็นเหมือนพรม เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเดินบนชีวิตของเรา
เพื่อเขาจะได้รู้จักความจริงและพบความรอดพ้น”
พรมเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่และสง่างาม แต่เราต้องเป็นพรมที่ถ่อมตัวลงเพื่อรับใช้ผู้อื่นอันเป็นภารกิจสำคัญของเรา
หน้าที่แรกของพระสันตะปาปาคือหน้าที่แห่งการรับใช้ “ผู้รับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลาย”
และเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในอำนาจแห่งการรับใช้นี้
การปกครองของเราไม่เหมือนการปกครองในระบบราชการที่มีอำนาจสั่งการ
แต่เราใช้อำนาจความรักในการปกครองดูแล ดังนั้น ขอให้เรารักทุกคนที่อยู่ในความดูแลของเรา
ไม่ทิ้งวัด ไม่ทิ้งสัตบุรุษ ไม่ลืมคนเจ็บป่วยและคนชรา เราควรอยู่ใกล้ชิดพวกเขา
โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีความทุกข์ เนื่องจากพระเจ้าได้ฝากพวกเขาไว้ให้เราดูแล
การภาวนาและศีลศักดิ์สิทธิ์
เป็นสิ่งแรกที่บรรดาสัตบุรุษเหล่านั้นต้องการมากกว่าสิ่งอื่นใด ขอให้เรากระตือรือร้นในการรักและรับใช้ทุกคน
ซื่อสัตย์ต่อพระศาสนจักรของพระเยซูเจ้า โดยมีความรักและการรับใช้เป็นเครื่องนำทางและหลักประกันความสำเร็จ
“พระองค์ไม่ต้องการความสำเร็จของเรา แต่ต้องการความซื่อสัตย์ของเราต่อพระองค์” (บุญราศีแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา)
พระสงฆ์เป็นใคร
เราคงจำเรื่องราวและคำพูดของคุณพ่อมักซิมิเลียน กอลเบย์
ที่ยอมตายแทนชายเคราะห์ร้ายได้ “ผมเป็นพระสงฆ์คาทอลิก
เขายังมีครอบครัวแต่ผมไม่มี ผมยินดีตายแทนเขา”
ศีลบวชทำให้เราละม้ายคล้ายกับพระเยซูเจ้าผู้เป็นมหาสงฆ์
นี่เป็นความคิดทางเทววิทยาและคำสอนของพระศาสนจักร เอกลักษณ์การเป็นสงฆ์ต้องปรากฏชัดและเราต้องกล้ายืนยันในสิ่งที่เราเป็น
การเป็นพระสงฆ์ต้องเดินในเส้นทางเดียวกับพระคริสตเจ้า
ซื่อสัตย์ต่อเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีแห่งการเป็นสงฆ์
พระศาสนจักรต้องการพระสงฆ์ที่ซื่อสัตย์และพระเยซูเจ้าทรงต้องการเช่นเดียวกัน
เราจะต้องซื่อสัตย์ต่อพระบุคคลของพระคริสตเจ้า ผู้เป็นเจ้าบ่าว และพระศาสนจักร
ผู้เป็นเจ้าสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการภาวนา ปราศจากพระคริสตเจ้าแล้วเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย
ชีวิตเราจึงต้องเชื่อมโยงกับพระคริสตเจ้า
รับทุกอย่างจากพระองค์เพื่อแจกจ่ายให้ผู้อื่น โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ
เราจะต้องไม่ละเลยที่จะถวายมิสซาแม้ไม่มีสัตบุรุษ เพราะผู้ที่ต้องการมิสซามากที่สุดคือพระสงฆ์นั่นเอง
เราจะต้องกลายเป็นศีลมหาสนิทที่เรากำลังแจกและยืนยันว่า “นี่คือกายของเรา
นี่คือโลหิตของเรา” เราจะต้องย้ำเตือนตนเองเหมือนบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา
ยอห์นปอลที่ 2 “มิสซาเป็นศูนย์กลางสูงสุดของชีวิตพ่อ”
ให้เราได้รื้อฟื้นบูชานี้ด้วยความศรัทธา
และแบ่งปันชีวิตสงฆ์กับเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกัน เพราะเราต่างมีส่วนร่วมในสังฆภาพ
อีกทั้ง ต้องการฆราวาสคอยสนับสนุนชีวิตสงฆ์ของเราให้บรรลุความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น
แต่จะต้องไม่สร้างมิตรภาพในลักษณะเลือกปฏิบัติกับฆราวาสบางคน
เพราะนั่นอาจทำให้เราเป็นพระสงฆ์ที่น่าเคารพแต่ไม่น่าบูชา
Don Daniele สรุปความ
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
19 พฤศจิกายน 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น