วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา
ปี C
|
กจ 13:14, 43-52
วว 7:9, 14ข-17
ยน 10:27-30
|
บทนำ
ในระหว่างสงครามเวียตนาม มีทหารอเมริกันเป็นจำนวนมากถูกจับไปเป็นเชลยที่ค่ายแห่งหนึ่งของเวียตนามเหนือที่เรียกกันว่า “ฮาวลาว” แต่ทหารอเมริกันเรียกมันว่า “อานอย ฮิลตัน” (Hanoi Hilton) ในคืนก่อนวันคริสต์มาส ปี ค.ศ. 1971 ผู้คุมค่ายได้มอบหนังสือพระคัมภีร์เล่มหนึ่งแก่บรรดาเชลยเพื่อเป็นของขวัญคริสต์มาส และบอกกับพวกเขาว่าจะเก็บคืนในวันวันคริสต์มาส พวกเขาวางแผนที่จะใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด
บรรดาเชลยอเมริกันเหล่านั้นทำปากกาด้วยเส้นลวด ทำหมึกจากอิฐที่ถูกทุบจนละเอียดเป็นฝุ่นผสมกับน้ำ และใช้กระดาษชำระในห้องน้ำเป็นกระดาษในการเขียนข้อความจากพระคัมภีร์ที่ได้รับนั้น เพื่อจะได้ใช้อ่านในการภาวนาถึงพระเจ้าในช่วงเวลาที่พวกเขาถูกจองจำอยู่ในค่าย ข้อความที่พวกเขาคัดลอกไว้คือคำอุปมาเรื่องแกะที่หายไป และบทเพลงสดุดีที่ 23 ที่บอกว่า “พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจลูกแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน...” (สดด 23:1-4) บรรดาเชลยมองว่าพวกเขาเหมือนแกะที่เดินในความมืด แต่พวกเขาไม่กลัวเพราะพวกเขารู้ว่าพระเจ้าทรงอยู่กับพวกเขา
ในดินแดนปาเลสไตน์อาชีพเลี้ยงแกะถือเป็นอาชีพหลัก ชาวยิวเลี้ยงแกะไว้เพื่อตัดขนมากกว่าเป็นอาหาร แกะแต่ละตัวจึงมีอายุยืนและอยู่กับคนเลี้ยงจนรู้จักและจดจำได้ โดยนิยมตั้งชื่อแกะตามลักษณะของมัน ปกติคนเลี้ยงจะเดินนำหน้าฝูงแกะเพื่อดูให้แน่ใจว่าหนทางข้างหน้าปลอดภัย และคอยส่งเสียงร้องเป็นครั้งคราวเพื่อให้แกะรู้ตำแหน่งที่อยู่ของตน ลักษณะพิเศษของแกะคือจะฟังเสียงและติดตามคนเลี้ยงเสมอ หากได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคยจะหยุดอยู่กับที่และจะหันหลังวิ่งหนีทันทีหากได้ยินเสียงนั้นอีกครั้ง
ภาพพจน์เรื่องนายชุมพาและฝูงแกะ จึงเป็นภาพพจน์ที่รู้จักแพร่หลายในพระคัมภีร์ ตั้งแต่แรกเริ่มชาวยิวมองว่า พระเจ้าคือนายชุมพาที่ทรงเลี้ยงดูพวกเขาดุจลูกแกะ (สดด 23) ในเวลาต่อมาคำว่า “นายชุมพา” หรือ “ผู้เลี้ยงแกะ” ได้ใช้หมายถึงผู้นำชาวยิว ซึ่งเป็นตัวแทนของพระเจ้าพระยาเวห์ในโลก แต่ในความเป็นจริงผู้เลี้ยงแกะเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงที่ดีสมกับการเป็นตัวแทนของพระองค์ อันเป็นที่มาของคำกล่าวโทษผู้เลี้ยงแกะแห่งอิสราแอลของประกาศกเอเสเคียล “วิบัติแก่ผู้เลี้ยงแกะแห่งอิสราแอลผู้เลี้ยงตัวเอง... เจ้าฆ่าแกะตัวอ้วนๆ เจ้าหาได้เลี้ยงแกะไม่” (อสค 34:2)
1. ลักษณะของผู้เลี้ยงแกะที่ดี
ในพระวรสารวันนี้พระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า พระองค์เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับผู้เลี้ยงแกะแห่งอิสราแอล พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เรารู้จักแกะของเรา และแกะของเราก็รู้จักเรา... เรายอมสละชีวิตเพื่อแกะของเรา” (ยน 10:14-15) พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่บรรดาประกาศกในพระธรรมเก่ากล่าวถึง พระวรสารได้ให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นถึงการเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของพระเยซูเจ้าใน 3 ลักษณะ
ประการแรก พระองค์ทรงรู้จักศิษย์ของพระองค์เป็นอย่างดี “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักมัน และมันก็ตามเรา” เป็นเรื่องของความรักความผูกพันระหว่างกัน โดยมีรากฐานมาจากความรักระหว่างพระองค์กับพระบิดาที่ผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง การรู้จักหมายถึงรัก การรักจึงหมายถึง การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา หรือดำเนินชีวิตตามที่พระบิดาพึงประสงค์
ประการที่สอง พระองค์ทรงประทานชีวิตนิรันดรแก่ศิษย์ของพระองค์ “เราให้ชีวิตนิรันดรแก่แกะเหล่านั้น” ชีวิตนิรันดรที่ผู้เลี้ยงที่ดีประทานให้คือ ชีวิตใหม่ในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง ซึ่งพระองค์ประทานให้เราแล้วตั้งแต่ในโลกนี้หากเราดำเนินชีวิตในความรักต่อกัน “เราก็รู้ว่าเราพ้นจากความตายมามีชีวิตใหม่แล้ว เราทราบดังนี้เพราะเรารักพี่น้องของเรา คนใดที่ไม่มีใจรักคนอื่นก็เป็นเหมือนคนตาย” (1 ยน 3:14)
ประการสุดท้าย พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” ความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระบิดาเกิดจากการปฏิบัติตามพันธกิจที่พระบิดาทรงมอบหมาย “เรามาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา” โดยมีพื้นฐานอยู่บน ความรัก “ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) ความรักจึงเป็นพื้นฐานของความเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” พระองค์ต้องการบอกเราว่า พระองค์ทรงรักพระบิดาจนถึงที่สุด และทรงพิสูจน์ความรักของพระองค์ด้วยการนบนอบเชื่อฟังพระบิดาจนกระทั่งยอมตายบนไม้กางเขน สำหรับพระองค์ ความเป็นหนึ่งเดียวกันจึงหมายถึง ความรักและการนบนอบเชื่อฟัง ดังนั้น หากเราอยากเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ด้วยการรักซึ่งกันและกันและนบนอบเชื่อฟังต่อพระประสงค์ของพระเจ้ามิใช่น้ำใจของเรา
2. บทเรียนสำหรับเรา
พระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันสำหรับเราหลายประการ
ประการแรก เราต้องเป็นผู้เลี้ยงและผู้นำที่ดี เราจะกลายเป็นผู้เลี้ยงที่ดีได้ในความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้อง ภาวนาเพื่อเขา ให้เวลาและใช้พระพรพิเศษต่างๆ ที่เรามีเพื่อผู้อื่น ในการส่งเสริมความรักและความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า หากเราต้องการเป็นผู้เลี้ยงที่ดีเช่นเดียวกับพระองค์ เราจะต้องมีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระบิดาเจ้า ในการรักซึ่งกันและกันและนบนอบเชื่อฟังต่อพระองค์
ประการที่สอง เราต้องเป็นแกะที่ดีในฝูงแกะของพระเยซูเจ้า ด้วยการฟังเสียงผู้เลี้ยงของเรา อย่างบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เจ้าอาวาสหรือพระสังฆราชของเรา ปฏิบัติตามคำแนะนำและร่วมมือกับท่านในงานหน้าที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายด้วยความรับผิดชอบ มิใช่การหลงไปตามเสียงอื่น เช่น เสียงเรียกร้องของความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง ความมักได้เห็นแก่ตัว หรือความสะดวกสบายฝ่ายโลก สิ่งเหล่านี้คือเสียงที่ทำให้เราสับสนและหันเหไปจากการนำของพระองค์
ประการที่สาม เราต้องภาวนาเพื่อกระแสเรียกและชีวิตผู้อภิบาล พระศาสนจักรได้ใช้อาทิตย์นี้ในการภาวนาเพื่อกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์ และชีวิตแห่งการอุทิศตนเพื่อพระเจ้า คริสตชนแต่ละคนมีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนกระแสเรียก “แม้เราจะเป็นนักบวชหรือพระสงฆ์ไม่ได้ แต่เราสามารถสนับสนุนใครบางคนให้เป็นนักบวชหรือพระสงฆ์ได้”
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงยืนยันกับเราในวันนี้ว่า พระองค์เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ทรงรักและรู้จักแกะทุกตัว ทรงดูแลเอาใจใส่แกะแต่ละตัวเป็นอย่างดี และทรงปกป้องฝูงแกะจากสุนัขป่าและอันตรายต่างๆ ด้วยชีวิตของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทิ้งฝูงแกะแล้วหนีไป ปล่อยให้แกะอยู่ตามยถากรรม หรือทิ้งให้เผชิญกับอันตรายตามลำพังเหมือนผู้รับจ้างทั่วไป แต่พระองค์ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้แกะทุกตัวปลอดภัยและไม่กระจัดกระจายไป เพื่อว่า “จะมีแกะแต่ฝูงเดียวและนายชุมพาบาลแต่ผู้เดียว”
พระวรสารวันนี้บอกเราว่า ใครที่มาหาพระเยซูเจ้าและฟังเสียงของพระองค์จะไม่หลงทางและจะได้รับชีวิตนิรันดร ให้เราเลียนแบบความรักของพระเยซูเจ้า ผู้เลี้ยงแกะที่ดี ในการปฏิบัติต่อผู้อื่น ดำรงตนในความรักของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักต่อผู้อื่น “ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13:35) ที่สำคัญมากกว่านั้น หากเราต้องการเป็นผู้เลี้ยงที่ดีเช่นเดียวกับพระองค์ เราก็จะต้องมีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระบิดาเจ้า ในการรักซึ่งกันและกันและนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
19 เมษายน 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น