ปลา 153 ตัว
วันศุกร์
อัฐมวารปัสกา
|
กจ 4:1-12
ยน 21:1-14
|
ในพระวรสารวันนี้ เราได้ยินเรื่องราวพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนชีพได้ปรากฏมาแก่บรรดาอัครสาวกเป็นครั้งที่สาม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นริมทะเลสาบทิเบเรียส
ขณะที่บรรดาอัครสาวกโดยการนำของเปโตรออกไปจับปลา อาชีพดั้งเดิมที่พวกเขาเคยเลี้ยงชีพ
แต่จับปลาทั้งคืนไม่ได้เลย
รุ่งเช้าพระเยซูเจ้าปรากฏมาบนฝั่งแต่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้ พระองค์ได้บอกให้พวกเขาเหวี่ยงแหทางกราบเรือด้านขวา
และได้ปลาเป็นจำนวนมาก
นักบุญยอห์นบันทึกไว้ว่า “มีปลาตัวใหญ่ติดอยู่เต็ม
นับได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว” (ยน 21:11)
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ยอห์นระบุว่าได้ปลา 153 ตัว บางคนให้เหตุผลว่า
ปกติชาวประมงจะนับปลาที่จับได้เพื่อแบ่งส่วนกันระหว่างผู้ร่วมงานอยู่แล้ว อีกทั้ง
การได้ปลาเป็นจำนวนมากเช่นนี้ถือเป็นเรื่องพิเศษยอห์นจึงได้บันทึกไว้ อย่างไรก็ตาม
เป็นไปได้ว่าการที่ยอห์นระบุจำนวนปลาที่จับได้ไว้
เพื่อต้องการสื่อความหมายถึงความจริงบางอย่างที่ซ่อนอยู่
นักบุญซีริลแห่งอเล็กซานเดรีย (Cyril
of Alexandria) อธิบายว่า จำนวน 153 ประกอบด้วย 3 สิ่งคือ
1) จำนวน 100
หมายถึงคนต่างศาสนาทั้งหมด เพราะว่าจำนวน 100 บ่งบอกถึง “จำนวนเต็ม” เช่น
ฝูงแกะมีจำนวน 100 ตัว เมล็ดพืชบังเกิดผล 100 เท่า เป็นต้น
2) จำนวน 50
หมายถึงชาวอิสราเอลที่หลงเหลือทั้งหมด
3) จำนวน 3
หมายถึงพระตรีเอกภาพผู้ซึ่งเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง
ในความเห็นของนักบุญซีริล
จำนวน 153 หมายถึงมนุษย์ทุกคน ทั้งชาวยิวและคนต่างศาสนา
ส่วนนักบุญเยโรมอธิบาย จำนวน 153 อย่างตรงไปตรงมาว่า
หมายถึงปลาในทะเลสาบทีเบเรียสซึ่งมีทั้งหมด 153 ชนิด จึงเท่ากับว่าแหของเปโตรจับปลาได้ทุกชนิด
จำนวน 153 จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ยอห์นใช้เพื่อสื่อความหมายว่า
สักวันหนึ่งมนุษย์ทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา จะถูกรวบรวมมาหาพระเยซูเจ้าทางพระศาสนจักร
นอกจากระบุจำนวนปลาที่จับได้
ยอห์นยังเสริมด้วยว่า “แต่ทั้งๆ ที่ติดปลามากเช่นนั้น
แหก็ไม่ขาด” (ยน 21:11) “แห” คือพระศาสนจักร นั่นหมายความว่า
พระศาสนจักรมีที่เพียงพอสำหรับมนุษย์ทุกคน สำหรับยอห์นแล้ว
พระศาสนจักรของพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนชีพมีไว้สำหรับทุกคน โดยไม่เว้นใครเลย นี่คือ
ความเป็นสากลพระศาสนจักร
พี่น้องที่รัก
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าผู้กลับคืนชีพทรงปรากฏพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกขณะกลับไปทำงานอาชีพดั้งเดิมที่พวกเขาคุ้นเคย
คือการจับปลาและทรงร่วมกินอาหารเช้ากับพวกเขา ปัจจุบัน พระองค์ยังทรงประทับอยู่ในใจเรา
ในบุคคลต่างๆ ที่เราพบเห็นและในกิจการดีทุกอย่างที่เราทำ ปัญหาก็คือ เราจำพระองค์ได้หรือเปล่า
สำนึกถึงการประทับอยู่และเชื่อฟังพระองค์มากน้อยแค่ไหน ในชีวิตประจำวันของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์
นาบัว4 เมษายน 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น